2/5


การเกิด “พุทธสถานสันติอโศก”
โดยเหตุที่ ‘สมณะโพธิรักษ์’ บวชที่ “วัดอโศการาม” และไปบรรยายธรรม บริเวณ “ลานอโศก” วัดมหาธาตุอยู่เนืองๆ จนได้สมญาว่า “ขวานจักตอก” จึงเป็นที่มาของ ชื่อหมู่กลุ่ม ผู้ศรัทธาเลื่อมใส ปฏิบัติตาม และร่วมเผยแพร่ธรรมะ จนเกิดกลุ่มพุทธบริษัทขึ้น อันมีทั้งนักบวช และฆราวาส ว่า “ ช า ว อ โ ศ ก ” ญาติธรรมรุ่นแรก ที่ศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันก่อตั้ง สถานที่ปฏิบัติธรรมถวาย มีสภาพเป็นสวน จึงได้ชื่อว่า “สวนอโศก” ตั้งอยู่ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี นับเป็นแห่งแรก ของสถานที่ปฏิบัติธรรม ของชาวอโศก แต่เนื่องจาก การไปมาไม่สะดวก และยังไม่ลงตัว ด้วยเหตุหลายประการ ต่อมาจึงได้มาลงตัว พอเป็นไปได้ ณ สถานที่แห่งใหม่ เรียกชื่อว่า “ธรรมสถานแดนอโศก” ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม นับเป็นการอุบัติขึ้น เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ และได้ใช้สถานที่นี้ อบรมบำเพ็ญธรรม จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ ที่เป็นเหตุให้ ‘สมณะโพธิรักษ์’ และหมู่สงฆ์ ต้องตัดสินใจ ประกาศตนเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติ ของทางฝ่าย คณะปกครองสงฆ์ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ณ วัดหนองกระทุ่ม จากนั้น ‘สมณะโพธิรักษ์’ จึงตัดสินใจ พาหมู่กลุ่ม มาใช้สถานที่เผยแพร่ธรรม ในกรุงเทพฯ คือที่ พุทธสถานสันติอโศก โดยก่อนหน้านี้คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ คุณกิติยา วีระพันธ์ ได้ถวายเรือนทรงไทย หลังใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของ พุทธสถานสันติอโศก ในปัจจุบัน ให้พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ไว้แล้ว เนื่องจากอยู่ในกรุงเทพฯ จึงเป็น “ศูนย์กลางอโศก” ซึ่งขณะนั้น มีสถานที่ปฏิบัติธรรม ของชาวอโศกอยู่แล้ว ๒ แห่ง คือ
พุทธสถานศีรษะอโศก อยู่ที่ ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เกิดขึ้นเมื่อ ๒๓ ม.ค. ๒๕๑๙
พุทธสถานศาลีอโศก ต.โคกเดื่อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ เกิดขึ้นเมื่อ ๖ มิ.ย. ๒๕๑๙
ส่วนธรรมสถานแดนอโศก ได้ย้ายมารวมกับ พุทธสถานปฐมอโศก ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ปีต่อมาคือ ๒๓ ก.ค. ๒๕๒๓ จึงเกิดเป็น พุทธสถานปฐมอโศก เมื่อท่านพาหมู่กลุ่ม มาลงหลักปักแหล่ง ณ ที่นี้ ก็ได้ตกลงใช้ชื่อว่า “พุทธสถานสันติอโศก” เนื่องจากเกิด ‘ธรรมสถาน’ คือ ธรรมสถานแดนอโศก แล้ว จึงใช้คำว่า ‘พุทธสถาน’ ส่วน “สันติ” หมายถึง ความสงบ และคำว่า “อโศก” ก็ยังคงใช้ชื่อ อันเป็นที่มาของหมู่กลุ่ม ส่วนคุณกิติยา วีระพันธ์ ผู้ถวายที่ดินแปลงนี้ ก็ได้ชื่อใหม่จากพ่อท่านว่า “สันติยา” เรือนไทยหลังใหญ่นี้เอง ได้เป็นจุดกำเนิดของ “พุทธสถานสันติอโศก” และ “พระวิหารพันปี เจดีย์บรมสารีริกธาตุ” ในปัจจุบัน
ย้อนมาถึงมูลเหตุที่ทำให้คุณสันติยา วีระพันธ์ ถวายที่ดินพร้อมบ้านทรงไทยหลังนี้ ให้พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ คุณสันติยาได้เคยบอกเล่าไว้ว่า เมื่อชีวิตประสบความทุกข์ใจอย่างมาก ได้อ่านพบข่าว การบรรยายธรรม ของสมณะโพธิรักษ์ ในสมัยนั้น จาก น.ส.พ.ฉบับหนึ่ง จึงได้ติดตามไปฟัง ที่วัดอาวุธฯ เกิดศรัทธาเลื่อมใส และเป็นช่วงที่กำลังสร้าง บ้านหลังนี้ อยู่พอดี จึงได้แจ้งความประสงค์ ถวายเรือนไทย ที่สร้างไว้ด้วยใจชอบนี้ แก่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ คิดว่าให้ท่านได้ใช้สอย เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง ดีกว่าจะมาอาศัย อยู่กันเพียง ไม่กี่คน ส่วนคุณสันติยาและลูกๆ ก็มาอยู่เรือนทรงธรรมดา ที่ได้สร้างไว้ ให้คนงานก่อสร้างเรือนไทยพัก นั่นเอง สมัยแรกๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ ยังเป็นแอ่งน้ำ โดยเฉพาะด้านหน้า ของพุทธสถานฯ มีแต่กอหญ้า และแอ่งน้ำอยู่ทั่วไป ตัวสภาพเรือนไทยเอง ก็ยังไม่เรียบร้อยนัก เวลาฝนตกลงมา แต่ละครั้ง ก็จะสาดไปทั่ว ได้ปรับปรุงกันเรื่อยมา ทั้งการถมที่ รอบบริเวณเรือนไทย การปลูกกุฏิ ตลอดทั้งการต่อเติม และซ่อมแซมเรือนไทย ให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น โดยชั้นบนของเรือนไทย ใช้เป็นโบสถ์ และสถานที่ทำงาน เผยแพร่ธรรมะ ส่วนชั้นล่าง เป็นที่แสดงธรรม ที่ฉันอาหาร พับกระดาษ เก็บเล่มทำหนังสือ ฯลฯ เรียกว่าเป็นที่ประกอบกิจวัตร และกิจกรรมของชาวอโศก ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ ณ ที่แห่งนี้
นับเป็นการถืออุบัติขึ้น ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๙ จากนั้น จึงเกิดองค์กรหลัก ๕ องค์กร

ก. องค์กรหลักของชาวอโศก

 ๑. มูลนิธิธรรมสันติ 
ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๐ ทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ ของนักบวช และ คนวัด โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

  • ช่วยธำรงรักษา บำรุงส่งเสริมการเผยแพร่สัจธรรม ของพระพุทธศาสนา
  • ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
  • สนับสนุนส่งเสริมการจัดตั้งการดำเนินงานเกี่ยวกับ การศึกษา พยาบาล สาธารณสุข หัตถกรรม อุตสาหกรรม การสื่อสาร การพาณิชย์(ระบบบุญนิยม ไม่แสวงหากำไร) และกฎหมาย
  • บำรุงสาธารณประโยชน์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

    กรรมการและผู้ทำงานของมูลนิธิ มีจำนวน ๑๕ ท่าน อยู่ในตำแหน่ง คราวละ ๕ ปี ทุกท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ถือศีล ๕, ศีล ๘ ส่วนใหญ่ เป็นนักมังสวิรัติ ลด ละ เลิก อบายมุข มาประชุมเดือนละ ๑ ครั้ง ไม่ได้รับค่าตอบแทน

    กิจกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิ เป็นไปตามแนวคำสอน ของพระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์ตน - ประโยชน์ท่าน สนับสนุนเกี่ยวกับการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งดำเนินงานของมูลนิธิ อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

    พุทธสถานสันติอโศก – ชุมชนสันติอโศก เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
    พุทธสถานศีรษะอโศก – ชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
    พุทธสถานศาลีอโศก – ชุมชนศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
    พุทธสถานปฐมอโศก – ชุมชนปฐมอโศก อ.เมือง จ.นครปฐม
    พุทธสถานสีมาอโศก – ชุมชนสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา
    พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ – ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
    สังฆสถานทักษิณอโศก - ชุมชนทักษิณอโศก อ.เมือง จ.ตรัง

    กิจกรรมสำคัญ

    ๑. พิมพ์หนังสือธรรมะ เพื่อเผยแพร่

    ๒. การศึกษา – โรงเรียนสัมมาสิกขา เป็นโรงเรียนเอกชนการกุศล ระดับมัธยมต้น และปลาย ประเภทการศึกษาสงเคราะห์ นักเรียนอยู่ประจำ เรียนฟรี ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ สอนฟรี ผู้บริหาร คณะครู และอาสาสมัคร ทำงานโดยไม่รับเงินเดือน มีปรัชญาของโรงเรียนว่า “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” คือ

    ๒.๑ โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก (สส.สอ.) สายสามัญ
    ๒.๒ โรงเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก (สส.ฐ.) สายสามัญ
    ๒.๓ โรงเรียนสัมมาอาชีวสิกขาปฐมอโศก (สอฐ.) สายอาชีพ
    ๒.๔ โรงเรียนสัมมาสิกขาศีรษะอโศก (สส.ษ) สายสามัญ มีสาขา ๓ แห่งคือ

    ๒.๔.๑ ที่ชุมชนศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
    ๒.๔.๒ ที่ชุมชนสีมาอโศก อ. เมือง จ.นครราชสีมา
    ๒.๔.๓ ที่ชุมชนราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

    ๒.๕ โรงเรียนสัมมาอาชีวสิกขาศีรษะอโศก (สอษ.) สายอาชีพ

    ๓. โครงการ “สามอาชีพกู้ชาติ” (ขยะวิทยา – ปุ๋ยสะอาด – กสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ) มีวัตถุประสงค์ คือ

    ๓.๑ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้บุคคลนำทรัพยากรโลก มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
    ๓.๒ เพื่อฝึกฝนการดำเนินชีวิต ตามวิถีทางธรรมชาติ
    ๓.๓ เพื่อให้เห็นคุณค่าของผู้ประกอบอาชีพ เกี่ยวกับขยะ และกสิกรรม ผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะ กสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ
    ๓.๔ ให้ความรู้และสร้างวินัยในการเลือกทิ้งขยะ ให้เหมาะสมกับประเภท และสถานที่
    ๓.๕ สร้างเจตคติในการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน
    ๓.๖ ให้บุคคลในชุมชนมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี

    ๔. โครงการชุมชนปฐมอโศก ตั้งอยู่ที่ ๖๖/๑ หมู่ ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

    ๔.๑ เพื่อรวมกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม ที่ประสงค์จะเข้าพัก อยู่ใกล้พุทธสถานปฐมอโศก

    ๔.๒ เพื่อฝึกฝนการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ประหยัด มักน้อย ลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ที่เกินความจำเป็นของชีวิต และอยู่ในกรอบของศีล ๕ หรือศีล ๘ และศีลสูงขึ้น ไปตามฐานะบุคคล

    ๔.๓ เพื่อฝึกพัฒนาจิตวิญญาณของตนเอง ให้มีความขยัน สร้างสรรค์ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เสียสละ สามัคคี มีความเมตตา และเห็นใจซึ่งกันและกัน และต่อมนุษยชาติทั้งหลาย

    ๔.๔ เพื่อรวมกลุ่มกันให้มีชีวิตที่อยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่ดี มีมิตรสหายดี มีสังคมสิ่งแวดล้อมดี สามารถพึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ และพึ่งตายกันได้ ด้วยญาติทางธรรม

    ๔.๕ เพื่อให้ชุมชนสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ ในด้านปัจจัยสี่และอื่นๆ โดยการที่จะสร้าง และผลิต สิ่งที่จำเป็น ในการดำเนินชีวิตขึ้นใช้เอง

    ๔.๖ เพื่อจัดให้มีกองกลาง สำหรับผลิตปัจจัยสี่ ของชุมชน

    ๔.๗ เพื่อให้ทุกคนได้เสียสละแรงงาน สิ่งของ เป็นงาน “บุญนิยม” และช่วยกองกลาง ผลิตปัจจัยสี่ ไว้ใช้ในชุมชนให้เพียงพอ ถ้าสามารถผลิตได้เหลือเฟือ เกินความจำเป็น ของชุมชน ก็ให้นำออกจำหน่าย จ่ายแจก สู่ชุมชนอื่น ได้อย่างเกื้อกูล เสียสละถูกๆ กระทั่งแจกฟรี

    ๔.๘ เพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติ และความสมดุลของชีวิต

    ๔.๙ เพื่อเผยแพร่ศาสนาทั้งในด้านรูปธรรม ด้วยสื่อสาร สื่อช่วยต่างๆ และด้านนามธรรม ทางจิตวิญญาณ ที่สามารถสัมผัสรู้ได้ ในลักษณะของชุมชนที่เป็นอาริยะ

    ๔.๑๐ เพื่อความเจริญความประเสริฐ (อาริยชน)สูงสุด สมที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อันเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่สุดในโลก อย่างแท้จริง

    ๕. โครงการฟื้นฟูและรักษาสุขภาพแวดล้อมในชุมชน มีวัตถุประสงค์ คือ

    ๕.๑ เพื่อส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามวิถีทางธรรมชาติที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ
    ๕.๒ สร้างค่านิยมที่ดีในการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน
    ๕.๓ สร้างจิตสำนึกให้บุคคลนำทรัพยากรโลก มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
    ๕.๔ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
    ๕.๕ สร้างระบบนิเวศในชุมชนให้สมดุล

    กิจกรรมสำคัญ

    • ปลูกต้นไม้ประเภทต่างๆ ในชุมชน ได้แก่ ไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ผักพื้นบ้าน โดยเริ่มจาก การทำดินให้สมบูรณ์ก่อน
      กิจกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากขยะ และแยกขยะ เป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ พืชสด เศษอาหาร เมล็ดพันธุ์ กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ ขยะติดเชื้อ หรือขยะอันตราย
    • กิจกรรมปุ๋ยสะอาด โดยนำเศษอาหาร เศษผักผลไม้พืชสด เศษใบไม้ร่วง ที่มีอยู่มากมาย ในชุมชน ไปทำปุ๋ยหมักตามกรรมวิธี โดยใช้น้ำจุลินทรีย์ ช่วยเร่งปฏิกิริยา เมื่อได้ปุ๋ยสะอาด ที่มีลักษณะเป็นดินดำ บริสุทธิ์มาแล้ว ก็นำมาใช้ทำกสิกรรมต่อไป
    • กิจกรรมผลิตจุลินทรีย์บำบัดกลิ่นและน้ำเสีย ใช้จุลินทรีย์ IMO (Indigenous Microorganism) หรือจุลินทรีย์ EM (Effective Microorganism) มีวิธีการแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
    • กิจกรรมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยใช้จุลินทรีย์
    • กิจกรรมจำหน่ายพืชผักผลไม้ไร้สารพิษ ได้แก่ ร้านกู้ดินฟ้า ศูนย์มังสวิรัติ
    • กิจกรรมร้านค้าเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บจก.พลังบุญ บจก.แด่ชีวิต บจก.ขอบคุณ
    • กิจกรรมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น บ้าน ทำจาก ไม้ ใบจาก ไม้ไผ่, ภาชนะ ทำจาก กะลามะพร้าว หรือการใช้ตะกร้า เข่ง, ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค เป็นต้น
    • กิจกรรมสร้างหมู่บ้าน(ชุมชน) แบบธรรมชาติ ไม่ใหญ่โตหรูหรา ปลูกต้นไม้ ในบริเวณบ้าน
    • กิจกรรมกลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้แก่ การสร้างลำธาร หาดทราย น้ำตก ภายในชุมชน เป็นการสร้าง ระบบนิเวศสมดุล กลับคืนสู่ธรรมชาติ
    • กิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำมาใช้จริง ในวิถีชีวิต เป็นการอนุรักษ์ วัฒนธรรมไทยด้วย เช่น
    • การทอผ้าฝ้ายใช้เอง, ใช้สมุนไพรรักษาโรค ทำยาสีฟันฯ, การลงแขกเกี่ยวข้าว ดายหญ้า ทำอาหารฯ, การสีข้าวด้วยเครื่องจักรพื้นบ้าน,
    • การทำน้ำตาลจากอ้อย เป็นต้น
    • กิจกรรมประหยัดพลังงาน ไม่ผลาญพร่าทรัพยากร โดยใช้เครื่องไฟฟ้า ของส่วนกลาง เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น หม้อต้มน้ำไฟฟ้า เตารีด ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ เป็นส่วนตัว และไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น
    • กิจกรรมอนุรักษ์สัตว์ ชาวชุมชนไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น งาช้าง เขากวาง ผ้าไหม เพราะการไม่ทำลายสัตว์ จะทำให้เกิดระบบนิเวศสมดุล

     

    ๖. ร่วมกิจกรรมพุทธศาสนาและสาธารณกุศล กิจกรรมที่สำคัญในรอบปี ได้แก่

    • งานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ จัดอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเวลา ๗ วัน ผู้มาร่วมอบรม ต้องถือศีล ๘ รับประทานอาหารมังสวิรัติ วันละ ๑ มื้อ เป็นต้น ณ พุทธสถานศาลีอโศก
    • งานปลุกเสกพระแทัๆ ของพุทธ เป็นการอบรมถือศีล ๘ เคร่ง ตลอด ๗ วัน ในช่วงเดือนเมษายน รับประทาน อาหารมังสวิรัติ วันละ ๑ มื้อ เป็นต้น ณ พุทธสถานศีรษะอโศก
    • งานมหาปวารณา และตักบาตรเทโว ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ณ พุทธสถานปฐมอโศก
      มหกรรมโรงบุญมังสวิรัติ ๕ ธันวามหาราช จัดทั่วประเทศ แจกอาหารมังสวิรัติ แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ไม่มีการเรี่ยไรใดๆ ทั้งสิ้น
    • งานตลาดอาริยะปีใหม่ ในตลาดมีการจำหน่ายสินค้า อุปโภคบริโภคที่จำเป็น ในราคาต่ำกว่าทุน งดผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ทั้งผู้จำหน่าย ก็ต้องถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทาน อาหารมังสวิรัติ ในงาน มีการแสดงธรรมเทศนาทุกเช้า มีประเพณีการตักบาตร มีวิทยากร และปฏิบัติกร มาบรรยายเรื่องราว ที่น่าสนใจ ตลอดช่วงกลางวัน มี ‘เวทีชาวบ้าน’ เสนอสิ่งบันเทิง และสาระประโยชน์ และภาคบันเทิงช่วงเย็น ซึ่งเป็นการแสดงบนเวที เพื่อรักษาไว้ซึ่ง ศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่มีการเก็บค่าดูใดๆ ทั้งสิ้น เลิกงานไม่เกิน ๓ ทุ่ม ทุกวัน
    • การบริจาคสิ่งพิมพ์ ให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ หน่วยงานของรัฐ และเอกชน และ ประชาชนทั่วไป อย่างสม่ำเสมอ
      ผู้สนใจสารัตถะสิ่งพิมพ์ของมูลนิธิฯ สามารถติดต่อได้ที่

    มูลนิธิธรรมสันติ ๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม
    กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐ โทร. ๐-๒๓๗๔–๕๒๓๐

 ๒. กองทัพธรรมมูลนิธิ 
ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๔ สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๖๕/๕ หมู่ ๕ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐ มีวัตถุประสงค์คือ

๒.๑ ส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่สัจธรรมในพระพุทธศาสนา
๒.๒ สนับสนุนให้ประชาชนรักษาศีลในพระพุทธศาสนา
๒.๓ ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๒.๔ ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด

ประธานกรรมการ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง มีกรรมการ ๒๐ ท่าน จากหลายอาชีพ และเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ถือศีล ๕ ละอบายมุขเป็นอย่างต่ำ ส่วนใหญ่ เป็นนักมังสวิรัติ มีการประชุมเดือนละ ๑ ครั้ง วาระการทำงาน ครั้งละ ๒ ปี

ทุกคนมาช่วยงานตามความสามารถ ด้วยความเสียสละ เต็มใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน จำนวนอาสาสมัคร มาช่วยงาน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมแต่ละครั้ง ว่ามีความต้องการ อาสาสมัคร มากหรือน้อย

กิจกรรมสำคัญ

๑. การอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ข้าราชการและประชาชน เพื่อนำคุณธรรม ที่ดีงามมาปฏิบัติ โดยเน้นการรักษาศีล ๕ และศีล ๘ มีการดำเนินชีวิตที่ ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร ซึ่งจะทำให้ตนเองเป็นสุข ครอบครัวก็เป็นสุข ชุมชนและสังคม ก็สงบสุข ส่งเสริมการดำเนินชีวิต ตามแนวทางไทย

๒. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

- สนับสนุนโครงการขยะวิทยา มีการสร้างเตาเผาขยะแบบไร้ควัน ผลจากการเผาขยะ จะได้แก๊ส นำมาหุงต้มอาหาร ที่ชุมชนปฐมอโศก ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม

- สนับสนุนการทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ การปลูกผักพื้นบ้าน และสมุนไพร เชิญเกษตรกร และ ผู้สนใจ มาร่วมสัมมนา ปีละไม่น้อยกว่า ๑ ครั้ง

๓. การจัดรายการวิทยุเผยแพร่สาระประโยชน์

- เผยแพร่ธรรม เพื่อเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ ให้กำลังใจ แก่ผู้ประสบปัญหา ด้านต่างๆ โดยแทรกความรู้ คู่คุณธรรม ให้ผู้ฟัง ยึดมั่นในหลักธรรม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และดำเนินชีวิต ให้ถูกต้องชอบธรรมในสังคม

- เผยแพร่การทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารเคมี และการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ แนะนำและให้กำลังใจ แก่เกษตรกร ให้รักและภูมิใจ ในงานอาชีพเกษตรกรรม ทำให้สามารถ ยืนหยัดงานพัฒนาอาชีพนี้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เพื่อยับยั้งปัญหา การละทิ้งพื้นที่ทำกิน เข้าสู่การใช้แรงงานในเมืองใหญ่

๔. สนับสนุนการจัดตั้งชุมชนพึ่งตนเอง ตามแนวทางพุทธศาสนา ได้แก่ “ชุมชนราชธานีอโศก” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ริมฝั่งแม่น้ำมูล ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เริ่มโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

 ๓. สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม 
ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๗ มีวัตถุประสงค์ คือ

๓.๑ ธำรงรักษา บำรุงส่งเสริม และเผยแพร่สัจธรรมของพระพุทธศาสนา
๓.๒ ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
๓.๓ ส่งเสริมการพิมพ์หนังสือธรรมะ เทปธรรมะ และอุปกรณ์ในการ เผยแพร่ธรรมะ ออกสู่สาธุชนทั่วไป
๓.๔ บำรุงสาธารณประโยชน์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

กิจกรรมสำคัญ

“สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม” ได้จัดทำหนังสือ “ดอกหญ้า” ราย ๒ เดือน แจกฟรีแก่สมาชิก ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีชมรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว มาเข้าร่วม และทั้งที่เกิดขึ้นภายหลัง ดังนี้

๑. ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๖

ปัจจุบันมี ๓ สาขา คือ ศูนย์มังสวิรัติ สาขาชมรมมังสวิรัติฯหน้าสันติอโศก, ร้านชมรมมังสวิรัติฯ จ.เชียงใหม่ และร้านชมรมมังสวิรัติฯ จ.นครราชสีมา

๒. ชมรมหัตถกรรมกะลาไท ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๗ เพื่อดำรงไว้ซึ่งชีวิต ความเป็นอยู่แบบไทย ที่เรียบง่าย

๓. ห้องสมุดสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๗ มีวัตถุประสงค์ คือ

๓.๑ เพื่อเก็บรวบรวมและให้บริการข้อมูลหลักฐาน หนักเน้นด้านศาสนา ธรรมะไม่มีข้อจำกัด
๓.๒ เพื่อช่วยการค้นคว้าข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ พระพุทธศาสนา
๓.๓ เพื่อเก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์ และให้บริการข้อมูลของ ‘ชาวอโศก’ ไว้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์
๓.๔ เพื่อเก็บรวบรวมและให้บริการความรู้เบื้องต้น ของทุกสาขา

๔. ชมรมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม (นศ.ปธ.) ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๘ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริม และสนับสนุน การปฏิบัติธรรม ให้เกิดความมีน้ำใจและจริงใจ ในหมู่นักศึกษา และมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ร่วมกันจัดโรงบุญ ๕ ธันวามหาราช, ขายอาหารมังสวิรัติ ที่ร้านแผง ๒๒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดอบรม ‘พุทธทายาท’ ในช่วงปิดภาคเรียน

๕. ชมรมสัมมาสิกขาพุทธธรรม ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๗ อบรมจริยธรรม ในวันอาทิตย์ แก่เยาวชน ที่มีอายุ ๔ - ๑๘ ปี และจัดทำวารสาร “ดอกบัวน้อย” ราย ๒ เดือน แจกฟรีแก่เยาวชนด้วย

๖. โรงสีสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม จ.ขอนแก่น ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๔ รับสีเฉพาะข้าวกล้อง

๗. โรงเจสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม จ.จันทบุรี ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๕ สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๖๗/๓๐ ซ.เทียมพร ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐ โทร. ๐-๒๓๗๔–๕๖๓๑


 ๔. ธรรมทัศน์สมาคม 

ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๑ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม งานเผยแพร่พุทธธรรม ด้วยสื่อสาระสัจจะ ทุกประเภท เช่น สิ่งพิมพ์ เท็ปเสียง วิทยุ โทรทัศน์ วีดีโอ ซีดี จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม เพลง ดนตรี แผ่นภาพ โปสเตอร์ ภาพยนตร์

สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๖๕/๑ ซ.เทียมพร ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
โทร. ๐-๒๗๓๓–๔๐๒๗, ๐-๒๓๗๕–๔๕๐๖

 ๕. มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน  

เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๔ มีวัตถุประสงค์ในการธำรงรักษา ส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติธรรม และการเผยแพร่ สัจธรรม ของพระพุทธศาสนา ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เป็นหลัก

สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๖๗/๒๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
โทร. ๐-๒๗๓๓–๕๕๕๐-๔ แฟกซ์ ๐-๒๗๓๓–๕๙๙๘

ทุกอย่างย่อมมีการเสื่อมไปตามสภาพธรรม เรือนทรงไทยหลังนี้ ได้รับการใช้ประโยชน์ อย่างมากมาย เพื่อมวลมนุษยชาติ มานาน จนกระทั่ง ชำรุดทรุดโทรม

เมื่อคุณตะวัน สิริวรวิทย์ มาสำรวจจึงพบว่า เสาเรือนเกือบทุกต้น มีปลวกกัดกิน จนกร่อน น่ากลัวว่าจะพังลงมา จึงได้มีการประชุมตกลงกัน เพื่อรื้อถอน และสร้างพระวิหารหลังใหม่ ขึ้นมาแทนที่ เรือนทรงไทยหลังนี้ จึงถูกรื้อถอน ออกไปทั้งหลัง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ และทำการก่อสร้าง “พระวิหารพันปี เจดีย์บรมสารีริกธาตุ” ซึ่งออกแบบโดย คุณอภิสิน ศิวยาธร ขึ้นมาแทนที่ ได้ตอกเสาเข็มลงเป็นต้นแรก เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ และยังคงดำเนิน การก่อสร้างอยู่ จนทุกวันนี้