2/2 Index Page Close

หน้าแรก >[04] กสิกรรม > คกร. > หลักสูตรสัจธรรมชีวิต

สารบัญ | โครงการ | ระเบียบการ | อุดมการณ์-ปรัชญา | หลักสูตร | เนื้อหา-กิจกรรม | ดำเนินการอบรม | ประเมินผล | กฎระเบียบพื้นฐาน | สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ | แผน-คู่มือฝึกอบรม

เนื้อหา และกิจกรรม

เนื้อหาและกิจกรรม ของหลักสูตรสัจธรรมชีวิต แบ่งออกเป็น 7 หมวดกิจกรรม คือ
1. วิชาการ
2. ปฏิบัติ

3. สาระบันเทิงและนันทนาการ
4. สำนึกกตัญญู 5 ส.
5. บริหารจิต บริหารกาย
6. ร้อยดวงใจ
7. ประชุมคนสร้างชาติ

แต่ละหมวดกิจกรรม ได้กำหนดเนื้อหาสาระ ระยะเวลา วิทยากรผู้ให้การอบรม สื่อ อุปกรณ์ และคำอธิบาย ไว้ดังนี้

(ค.) กิจกรรมสาระบันเทิงและนันทนาการ

(ค.) กิจกรรมสาระบันเทิง และนันทนาการ

18. เตรียมความพร้อม

เวลา คาบละ 5 - 10 นาที

กิจกรรม เตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนประจำฐาน หรือก่อนบทเรียน
(จัดตามความเหมาะสม)

วิทยากร นันทนากร, พิธีกร

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)
เพลงคนสร้างชาติ ...สื่อลำดับที่ 36 (1)

คำอธิบาย เปิดเสียงเพลงคนสร้างชาติ ออกเสียงตามสาย เป็นสัญลักษณ์เรียกผู้เรียนให้เข้า ห้องเรียน นันทนากร สาธิตการปรบมือ การเปล่งเสียง การแสดงท่า ตามจังหวะ แล้วผู้เรียนปฏิบัติตาม เป็นชุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียน ก่อนเข้าเรียน ประจำฐาน หรือก่อนเข้าสู่บทเรียน

19. คบคุ้นอุ่นใจ

เวลา 90 นาที

กิจกรรม -กลุ่มผู้เรียน 10 กลุ่ม พร้อมผ้าพันคอสัญลักษณ์กลุ่ม และป้ายชื่อ
-แนะนำตัวสมาชิกภายในกลุ่ม แนะนำพี่เลี้ยงของแต่ละกลุ่ม
-เกมส์ละลายพฤติกรรม
-บรรยากาศและอาณาบริเวณพุทธสถาน ชุมชน ศาลีอโศก

วิทยากร พิธีกร, พี่เลี้ยง

สื่อ-อุปกรณ์ ถาดใส่อาหาร, ผ้าพันคอสี จำนวน 10 สี (แต่ละสีเท่าจำนวนผู้เรียนของแต่ละ
กลุ่ม), ป้ายชื่อครบจำนวนผู้เรียน ...สื่อลำดับที่ 8

คำอธิบาย พิธีกร นำเล่นเกมจับกลุ่ม เมื่อสัญญาณรวมกลุ่มดังขึ้น ถ้าผู้เรียนคนใดไม่มีกลุ่ม หรือเข้ากลุ่มไม่ทัน ให้ออกไปแนะนำตัว ให้สมาชิกทั้งหมดทราบ จากนั้นให้สมาชิกแต่ละกลุ่มไถ่ถามประวัติของฝ่ายตรงข้าม ให้ได้มากที่สุด ภายในเวลาที่กำหนด แล้วพิธีกรจะสุ่มเรียกให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหลายกลุ่ม ออกไปรายงานว่า ตนรู้ข้อมูลและประวัติส่วนตัวของคู่สนทนาได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จัก สร้างความเป็นภราดรภาพระหว่างกันให้แน่แฟ้นยิ่งขึ้น

พิธีกร แบ่งจำนวนผู้เข้าอบรม ออกเป็น 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มให้มีชาย หญิง และเจ้าหน้าที่ ธกส. ในอัตราส่วนที่เท่ากัน แนะนำตัวสมาชิก พี่เลี้ยงประจำกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ ธกส. ของแต่ละกลุ่ม ใช้ผ้าพันคอสี เป็นเครื่องหมายประจำกลุ่ม ติดป้ายชื่อ เพื่อให้ผู้เรียน พี่เลี้ยง และเจ้าหน้าที่ ธกส. รู้จักกันเป็นเบื้องต้นก่อน และเรียกขานกันได้ถูกต้อง

พี่เลี้ยงนำเที่ยวชมสถานที่ พุทธสถาน และชุมชน ตามสมควร เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยแก่ผู้เรียน

20. วัฒนธรรมชุมชน

เวลา คาบละ 30 นาที (จำนวน 3 คาบ)

กิจกรรม สาธิต และ แสดงบทบาทสมมุติ หรือชมภาพวิดีโอ
1. เรื่อง วัฒนธรรมการล้างจาน ได้ล้างใจ
2. เรื่อง วัฒนธรรมการกิน
3. เรื่อง วัฒนธรรมการอยู่อาศัย และการนอน

วิทยากร พิธีกร, นักเรียนสัมมาสิกขา (ผู้แสดงบทบาทสมมุติ), ผู้กำกับเวที, เจ้าหน้าที่เทคนิคแสง เสียง และโสตทัศนูปกรณ์, เจ้าหน้าที่ศิลปกรรม

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 – 3
เวทีการแสดง

คำอธิบาย (1) นักเรียนสัมมาสิกขา (เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส.) แสดงบทบาทสมมุติ ประวัติ ที่มา สาเหตุ และความจำเป็น ของกิจกรรมล้างจาน สาธิตวิธีการล้างจาน ใครทำน้ำแรกสกปรก สอบตกเรื่องล้างจาน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ และรู้วิธีการล้างจานที่ถูกต้อง ประหยัดสุด ประโยชน์สูง และพร้อมที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติที่บ้านได้ เป็นการรักษาวัฒนธรรมชาวบุญนิยมสืบไป

(2) นักเรียนสัมมาสิกขา (เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส.) แสดงบทบาทสมมุติ การกิน การบริโภคปัจจัยสี่ อย่างไร้ระเบียบ ตามใจปาก กินทิ้งกินขว้าง ขยะรกรุงรัง จนเป็นเหตุให้เกิดวัฒนธรรมการกินแบบบุญนิยม คือ กินข้าวกล้อง ถั่ว งา ผักไร้สารพิษ ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บ้านใกล้เคียง แยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะมลพิษ ขยะมีประโยชน์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ เห็นโทษภัยของการกินมาก ใช้มาก และตระหนักในความสำคัญของอาหารพื้นบ้าน ไร้สารพิษ และการแยกขยะ

(3) นักเรียนสัมมาสิกขา (เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส.) แสดงบทบาทสมมุติเปรียบเทียบ ชีวิตของคนเมือง นักธุรกิจ ที่มีแต่การเร่งรีบ จนไม่มีเวลาดูแลเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และความสุขสงบทางใจ จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ สุขภาพทรุดโทรม สังคมเสื่อม ซึ่งต่างจากชีวิตของคนธรรมะ มีชีวิตเรียบง่าย พออยู่พอกิน ขยัน ประหยัด สะอาด ซื่อสัตย์ เสียสละ เพื่อให้ ผู้เรียนตระหนักในคุณธรรม มักน้อย สันโดษ และเกิดสำนึกกตัญญูต่อที่อยู่อาศัย สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย (สำนึกกตัญญู 5 ส.)

(4) ชมสารคดี สำนึกกตัญญู 5 ส. จากวิดีโอ หรือ VCD เกี่ยวกับ การกิน การอยู่อาศัย การหลับนอน และการทำงาน ตามวิถี เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท เพื่อปลูกฝัง และสร้างทัศนะใหม่ ในการดำรงชีวิตแบบชาวบุญนิยม

(5) ให้ผู้ชมช่วยกันวิเคราะห์เหตุการณ์ในละคร หรือเหตุการณ์ในสารคดี ว่าเห็นคุณธรรมข้อใดบ้าง

21. พัฒนาภาวะผู้นำ

เวลา คาบละ 15 นาที (จำนวน 2 คาบ)

กิจกรรม แสดงบทบาทสมมุติ ตามบท (กิจกรรมเสริม)

วิทยากร พิธีกร, ปฏิบัติกร, พี่เลี้ยง

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)
บทละครสั้น ...สื่อลำดับที่ 29

คำอธิบาย ตัวแทนกลุ่ม กลุ่มละ 3 - 4 คน ออกไปแสดงบทบาทสมมุติที่หน้าเวที ตามบทละคร ที่ได้รับ เพื่อปรับปรุงพฤติภาพ ให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างผาสุก ให้รู้จัก
การวางตัวในฐานะ ผู้นำ หรือผู้ตาม หรือทั้งสองฐานะได้อย่างไม่ขัดแย้ง จากนั้น ประเมินผลให้คะแนน

22. วิปัสสนาจอแก้ว (เริ่ม 18.00 น. - 20.00 น. รายการภาคค่ำ)

เวลา 120 นาที

กิจกรรม วิปัสสนาจอแก้ว มีเนื้อหาสาระ และกิจกรรม ดังนี้
– ความหมาย, ประเภทของสื่อวิดีทัศน์, แนวทางการคัดเลือกสื่อ, สื่อวิดีทัศน์ต้อง ห้าม, จุดประสงค์ 4 ประการของการดูวิดีทัศน์, วิธีการจัดกิจกรรม, การวัดผล ประเมินผลหลังการดู, องค์ประกอบของวิปัสสนาจอแก้ว
– ดูสารคดี ธรรมคดี และบันเทิงคดี ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ทางวิดีทัศน์ หรือ
โทรทัศน์วงจรปิด (MATV) หรือ แผ่นบันทึกวิดีโอ (VCD, DVD)
– เลือกดูสารคดี ธรรมคดี และบันเทิงคดี ที่ทางศูนย์ฝึกอบรมจัดไว้ให้ ได้แก่เรื่อง ปอดถูกตัดเพราะอัดบุหรี่ ปาฏิหาริย์แห่งการทำจริง และภาพยนตร์การพัฒนา ชุมชนประเทศเกาหลี
– สรุปวิเคราะห์ผลที่ได้ หลังการดู

วิทยากร สมณะ, พิธีกร, นันทนากร, พี่เลี้ยง, เจ้าหน้าที่ประเมินผล

สื่อ-อุปกรณ์ เครื่องมือสื่อโสตทัศนูปกรณ์, เครื่องเล่น VCD หรือ DVD, คอมพิวเตอร์
วิดีทัศน์ เรื่อง ปอดถูกตัดเพราะอัดบุหรี่, 30 ปีแห่งการงาน,
ตัวอย่างคนสู้ชีวิต นักพัฒนาตัวอย่าง (ภาพยนตร์จากเกาหลี)
...สื่อลำดับที่ 2 (1) (3), 3 (1) (3)

คำอธิบาย อธิบายความหมายของวิปัสสนาจอแก้ว ประเภทของสื่อวิดีทัศน์ แนวทางการคัดเลือกสื่อให้ผู้เรียนดู สื่อวิดีทัศน์ต้องห้าม จุดประสงค์ 4 ประการของการดูวิดีทัศน์ และวิธีการจัดกิจกรรม ตลอดจน การวัดผลประเมินผล หลังการดู

เพื่อสร้างสัมมาทิฐิให้แก่ผู้เรียน ในการนำสื่อวิดีทัศน์มาเป็นนวัตกรรมในการเผยแพร่คำสอนทางศาสนา การพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้แก่บุคคล กลุ่ม องค์กร ดังนี้

1. ประเภทของสื่อวิดีทัศน์ที่กำหนดให้ดู มี 3 ประเภท คือ

1.1 ประเภทสารคดี ประกอบด้วย สาระความรู้ทั่วไป (โลกธรรม) เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรกรรม วัฒนธรรม อาชีพ

1.2 ประเภทธรรมดคี ประกอบด้วย สาระความรู้ที่ มีธรรมะแทรกไว้เกินร้อยละ 60 (โลกุตระธรรม) เช่น ประวัติศาสตร์ศาสนา เรื่องของนักบุญ เหตุการณ์ พิธีกรรม กิจกรรม กิจการ ทางศาสนา

1.3 ประเภทบันเทิงคดี ประกอบด้วยเรื่องราว ลีลา แสง เสียง บทบาท ที่แสดงออกไปในทางโลภ โกรธ หลง ซึ่งถือเป็นเครื่องชูรสในการดู แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ลักษณะซาบซึ้งตรึงใจ (Romanticism) เช่น เรื่องรัก ประทับใจ (แนวโลภะจริต - ราคะจริต) ลักษณะร้อนแรง ดุเดือด (Sadism) เช่น เรื่องบู๊ โหดเหี้ยม กำลังภายใน (แนวโทสะจริต) ลักษณะสัจจะสังคม (Realistic) เช่น เรื่องราวความเป็นจริงในสังคม ที่เกิดขึ้นจริง และ ลักษณะจินตนาการ (Idealistic) เช่น เรื่องราวที่เน้นอุดมคติ อุดมการณ์ ยึดมั่นต่อคุณความดีของมนุษย์

สื่อประเภทบันเทิงคดี ต้องผ่านการคัดเลือกจากสมณะก่อนว่า สาระในเรื่องจะสอนธรรมะได้มากน้อยเพียงใด แง่ใด เช่น ลักษะซาบซึ้งตรึงใจ ต้องเป็นความซาบซึ้งในความดี ความเอื้อเฟื้อ ความเสียสละ มิใช่รักใคร่แบบชู้สาว ถ้าเป็นเรื่องดุเดือด ต้องชี้ให้เห็นถึงความเข้มแข็ง จริงใจ มิใช่รุนแรงแบบโทสะ อาฆาต ส่วนลักษณะเน้นสัจจะ ความเป็นจริงในสังคม มนุษย์ หรือเน้นอุดมการณ์ จินตนาการ ถ้าไม่เป็นเรื่องเพ้อฝันเกินจริง ก็คัดเลือกให้ดูได้

2. สื่อวิดีทัศน์ ที่ห้ามดูเด็ดขาด ได้แก่

2.1 สื่อแนวราคะ - โลภะ (หนังรัก) เพราะเป็นการสะสมกาม ปลุกเร้า ยั่วย้อมมอมเมาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตลอดจนโฆษณาชวนเชื่อ อนาจาร

2.2 สื่อแนวโทสะ (หนังบู๊ ล้างผลาญ) เพราะเป็นการสะสมจิตสำนึกทำลายล้าง ส่งเสริมความรุนแรง

2.3 สื่อแนวโมหะ (หนังผี ผีหลอก วิญญาณหลอน) เพราะไม่มีสาระ มีแต่ความงมงาย เพ้อเจ้อ หลอกลวงกันด้วยเรื่องผีสาง หรือเป็นเรื่องตลกขบขัน ไร้สาระ ลามกอนาจาร

3. จุดประสงค์ 4 ประการ ของการดูวิดีทัศน์ (ที่เลือกสรรแล้ว) ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติธรรม ลดละกิเลส เกิดปัญญาญาณ คือ

3.1 เกิดอริยญาณ คือเห็นทุกข์จากการเผารน ของกิเลสเชิงชอบ (กาม)
กิเลสเชิงชัง (โทสะ พยาบาท) กิเลสเชิงฤาษีป่า ได้แก่ ความง่วงเหงา หาวนอน เบื่อหน่าย รำคาญ (ถีนะมิทธะ) กิเลสเชิงฤาษีเมือง ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน ฝันกลางวัน (อุทธัจจะ กุกกุจจะ) และกิเลสเชิงปัญญา ได้แก่ ความลังเลสงสัยในการทำดี ความอ่อนแอทางจริยธรรม คิดแต่ไม่ทำ มากเหตุผล

3.2 ทำการปฏิบัติ คือ เรียนรู้กิเลสที่เกิดขึ้นขณะดู ทดสอบสภาวะจิตของตนเองว่า เมื่อกระทบสัมผัสกับผัสสะ แสง เสียง ลีลา บทบาท ที่กระตุ้นอารมณ์โลภะ ราคะ โทสะแล้ว จิตใจมีอาการอย่างไร และฝึกปรับจิตเปลี่ยนใจ ควบคุมให้อยู่เหนืออารมณ์เหล่านั้นได้

3.3 อัดพลังกุศล คือ ให้เพิ่มพูนกำลังใจ ในการทำความดี เรียนรู้วิธีทำดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ซึมซับประทับใจ (Absorb) ในพฤติกรรมที่ดีของตัวละคร และบุคคลที่สัมผัสสัมพันธ์ด้วยในชีวิตจริง รู้จักวิเคราะห์ จำแนก ดี ชั่ว ให้ชำนาญ ดีต้องสะสม ชั่วต้องสะสาง

3.4 ฝึกฝนโลกะวิทู – เพิ่มพหูสูต เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมของคนชาติต่างๆ เผ่าต่างๆ เรียนรู้การดำรงชีวิต และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของชนชาติต่างๆ ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ได้ศึกษาทิฐิ พฤติกรรม กิจกรรม กิจการ ของคนเหล่านั้น ตลอดจนเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตไปสู่ระบบบุญนิยม เป็นโลกุตระชน จนถึงเรียนรู้สมมุติสัจจะของมนุษย์ โลก สังคม

4. องค์ประกอบของกิจกรรมวิปัสสนาจอแก้ว ในการส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นในการปฏิบัติธรรม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไปสู่ดี ได้แก่

4.1 ประสิทธิภาพในการสื่อ (คุณภาพของเรื่อง-การดำเนินเรื่อง)

4.2 ประสิทธิภาพในการคัดเลือกเรื่องให้เหมาะกับผู้เรียน (ร่อนทองในกองขี้)

4.3 ประสิทธิภาพการชี้แนะ ในขณะชมว่า ในเรื่องมีสาระ แง่คิดทางธรรมะประการใด

4.4 ประสิทธิภาพในการรับรู้ของผู้เรียน (ความสนใจ) ซึ่งอยู่กับพื้นฐานทางความเชื่อ วัฒนธรรม อารมณ์ สังคม และประสบการณ์เดิม

เพื่อให้รู้จักเลือกสรรดูรายการที่มีสาระ มีประโยชน์ต่อการเรียน การทำงาน และการปฏิบัติธรรม เพื่อนำระบบวิดีทัศน์ โทรทัศน์วงจรปิด (MATV) แผ่นบันทึกวิดีโอ (VCD, DVD) โทรทัศน์ มาเป็นเครื่องมือฝึกปฏิบัติลดละกิเลส เพิ่มปัญญาญาณให้แก่ผู้เรียน เพื่อนำสารคดีบันเทิง มาปรับปรุงเป็นนวัตกรรมเพื่อการสอนศาสนา (การประยุกต์วิธีการใหม่ในการศึกษาธรรมะ) เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจในการเรียน และการทำงาน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการปรับปรุงและพัฒนาลักษณะนิสัยของผู้เรียน

สมณะบรรยายเกี่ยวกับโทษภัยของการสูบบุหรี่ ประกอบกับการชมภาพยนตร์ตัวอย่าง (หรือวิดีทัศน์) เรื่องราวเกี่ยวกับการผ่าตัดปอดเพราะสูบบุหรี่จัด เพื่อให้ผู้เรียนเกรงกลัว คิด ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่

บรรยายสรุป เกี่ยวกับประวัติ และผลงานของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ประกอบกับวิดีทัศน์ เรื่อง “30 ปี แห่งการงาน” เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ในแนวทาง และกระบวนการของชาวอโศก

23. ละครเพลง

เวลา คาบละ 10 - 15 นาที (จำนวน 3 คาบ)

กิจกรรม ละครเพลง (กิจกรรมเสริม)
–เพชฌฆาตผู้ลอยนวล
–งานหนักไม่เคยฆ่าคน
–ลูกวัว

วิทยากร พิธีกร, นักเรียนสัมมาสิกขา

สื่อ-อุปกรณ์ -โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 - 3
-เพลงเพชฌฆาตผู้ลอยนวล, เพลงงานหนักไม่เคยฆ่าคน, เพลงลูกวัว
-เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การแสดง

คำอธิบาย นักเรียนสัมมาสิกขา แสดงละครเพลง เรื่อง เพชฌฆาตผู้ลอยนวล เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจิตสำนึกเห็นโทษภัยของการสูบบุหรี่ และเลิกบุหรี่ให้ได้ เพราะบุหรีให้โทษทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น

นักเรียนสัมมาสิกขา แสดงละครเพลง เรื่อง งานหนักไม่เคยฆ่าคน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดกำลังใจ และยินดีในการทำงานหนัก เพราะการทำงานหนัก คือ ดอกไม้บานของชีวิต

นักเรียนสัมมาสิกขา แสดงละครเพลง เรื่อง ลูกวัว เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง เห็นโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ เพราะการกินเป็นเหตุแห่งการฆ่า

(ง.) สำนึกกตัญญู 5 ส.

24. การจัดระเบียบตนเอง (การแต่งกาย ร่างกาย และสุขอนามัย)

เวลา ในระหว่างอยู่ฝึกอบรม

กิจกรรม การจัดระเบียบการแต่งกาย (เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ป้ายชื่อ)
การจัดระเบียบร่างกาย (ผิวหนัง ผม ฟัน เล็บ)
การจัดระเบียบสุขอนามัย (กลิ่น ความเจ็บป่วย)

วิทยากร พี่เลี้ยง, เจ้าหน้าที่ประเมินผล, หัวหน้ากลุ่มผู้เรียนแต่ละกลุ่ม

สื่อ-อุปกรณ์ ผ้าพันคอ, ป้ายชื่อ

คำอธิบาย ดูแลความเป็นระเบียบการแต่งกาย สวมใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิด ไม่แต่งกาย
ล่อแหลมไปในทางกาม ราคะ จัดระเบียบของผ้าพันคอให้เรียบร้อย ติดป้ายชื่อ
ให้อ่านและมองเห็นได้ชัดเจน

ดูแลความสะอาดเรียบร้อยของ ผิวหนัง หวีผม รวบผม ให้เรียบร้อย แปลงฟัน
ตัดเล็บ ระวังเรื่องกลิ่นจากร่างกาย และความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากไม่ดูแลรักษาสุขภาพ

ให้หัวหน้ากลุ่มผู้เรียน เป็นผู้ประเมินการจัดระเบียบตนเอง เพื่อสร้างวินัย และเป็นผู้เอาภาระสุขภาพของตนเอง

25. การจัดระเบียบบ้านพัก และบริเวณ

เวลา คาบละ 60 นาที (จำนวน 4 คาบ)

กิจกรรม ฝึกปฏิบัติ 5 ส. “สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย” กับสิ่งต่อไปนี้
1. ที่นอน โต๊ะ เตียง
2. พื้นบ้าน ผนัง ขอบหน้าต่าง เพดานฝ้า บานประตู หน้าต่าง บันได ราวบันได
3. ชั้นวางของ ตู้ต่างๆ
4. ห้องน้ำ ห้องส้วม
5. บริเวณบ้าน

วิทยากร เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส., เจ้าหน้าที่ประเมินผล, ผู้จัดการที่พัก

สื่อ-อุปกรณ์ บ้านพัก และอุปกรณ์ประจำบ้านพัก ...สื่อลำดับที่ 5

คำอธิบาย ทำความสะอาด และจัดระเบียบที่หลับนอน มุ้ง เตียง เสื่อปูนอน ผ้าห่ม หมอน ปลอกหมอน ผ้าคลุมที่นอน โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ชั้นวางของ พื้นบ้าน ผนัง ขอบหน้าต่าง เพดานฝ้า บานประตู หน้าต่าง บันได ราวบันได ที่วางรองเท้า ราวตากผ้า ไม้แขวนผ้า ขัดถู ห้องน้ำห้องส้วม เก็บรักษาอุปกรณ์การทำความสะอาดให้ถูกวิธี ตกแต่ง จัดมุมมอง สิ่งของเครื่องใช้ให้ดูสะอาด สดชื่น ไม่เกะกะทางสัญจรในบ้าน ดูแลทำความสะอาดบริเวณบ้าน อย่าให้รกเลอะ ถังขยะ ถังพักน้ำเสียต้องปราศจากกลิ่น เพื่อให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติสำนึกกตัญญู 5 ส. อย่างเต็มใจ ละเอียด ถี่ถ้วน และปลูกฝังให้นำวิธีการของ 5 ส. ไปใช้ที่บ้านของตน

26. การซักล้าง

เวลา ในระหว่างอยู่ฝึกอบรม

กิจกรรม ฝึกปฏิบัติ 5 ส. “สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย” ในการซักล้าง
สิ่งต่อไปนี้
1. มุ้ง ผ้าห่ม ปลอกหมอน
2. เสื้อผ้าส่วนตัว
3. ภาชนะใส่อาหาร (กิจกรรมล้างจาน ล้างใจ)
4. ร่างกาย (อาบน้ำ สระผม)

วิทยากร เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส., เจ้าหน้าที่ประเมินผล, ผู้จัดการที่พัก

สื่อ-อุปกรณ์ ถังพลาสติก ขัน ผงซักล้าง ราวตากผ้า ...สื่อลำดับที่ 5 (4)

คำอธิบาย ผู้เรียนซักมุ้ง ผ้าห่ม ปลอกหมอน ให้สะอาด ตากที่ราวตากผ้าให้เรียบร้อย ก่อนเก็บของเดินทางกลับบ้าน ใช้น้ำเพื่อการซักเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม อย่างประหยัด อาบน้ำวันละไม่เกิน 2 ครั้ง เพื่อสร้างนิสัยประหยัดสุด ประโยชน์สูง ในการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ให้แก่ผู้เรียน ตลอดจนสร้างคุณธรรม ขยัน สะอาด ซื่อสัตย์ เสียสละ สร้างสรร ในการบริโภคและใช้สอย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสำนึกกตัญญูต่อที่พักอาศัย และเครื่องมือใช้สอย

27. ประเมินผล 5 ส.

เวลา ครั้งละ 60 นาที (จำนวน 4 ครั้ง วันละ 1 ครั้ง)

กิจกรรม ประเมินผลด้านต่างๆ ดังนี้
1. การจัดระเบียบภายในบ้านพัก
2. การจัดระเบียบบริเวณบ้านพัก
3. การจัดระเบียบสถานที่อื่นๆ ภายในศูนย์ฝึก ที่ผู้เรียนได้รับมอบหมายให้ทำ
4. การจัดระเบียบเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ร่างกาย
5. การจัดระเบียบล้างจาน
6. ประโยชน์สูง – ประหยัดสุด

รายงานผลการประเมิน (คะแนน) ประจำวัน

วิทยากร เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส., เจ้าหน้าที่ประเมินผล, พิธีกร

สื่อ-อุปกรณ์ รถจักรยาน, แบบประเมินผล 5 ส. ...สื่อลำดับที่ 31

คำอธิบาย ประเมินผลสำนึกกตัญญู 5 ส. ใช้หลักเกณฑ์ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย เป็นตัวกำหนดคะแนน คะแนนของแต่ละหลักเกณฑ์ ให้มีค่าคะแนนเท่ากันทุกเกณฑ์ การให้คะแนนคิดเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรรมการที่ประเมิน เพื่อฝึกสร้างนิสัยที่ดี ในการรักษาสิ่งแวดล้อม มีระเบียบวินัย รู้จักพึ่งตน และรู้สำนึกกตัญญูต่อที่อยู่อาศัย

รายการที่ประเมิน

(1) การจัดระเบียบภายในบ้านพัก ได้แก่ พับเก็บมุ้ง ผ้าห่ม ที่นอน เสื้อผ้าของใช้ส่วนตัว ทำความสะอาดโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ชั้นวางของ พื้นบ้าน ผนัง ขอบหน้าต่าง เพดานฝ้า บานประตู หน้าต่าง บันได ราวบันได ที่วางรองเท้า ราวตากผ้า ไม้แขวนผ้า ขัดถูห้องน้ำห้องส้วม เก็บรักษาอุปกรณ์การทำความสะอาดให้ถูกวิธี ตกแต่ง จัดมุมมอง สิ่งของเครื่องใช้ให้ดูสะอาด สดชื่น ไม่เกะกะทางสัญจรในบ้าน

(2) การจัดระเบียบบริเวณบ้านพัก ได้แก่ ดูแลทำความสะอาดบริเวณบ้าน อย่าให้รกเลอะ ถังแยกขยะ ถังพักน้ำเสียต้องปราศจากกลิ่น

(3) การจัดระเบียบอาคารสถานที่ของศูนย์ฝึก ที่ผู้เรียนได้รับมอบหมายให้ทำ ได้แก่ ทำความสะอาด ศาลาฝึกอบรม ห้องน้ำห้องส้วม ทางเดิน โรงครัว โรงฝึกงาน

(4) การจัดระเบียบเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ร่างกาย ได้แก่ ความสะอาดของ
ร่างกาย สุขอนามัยของผิวหนัง ฟัน เล็บ กลิ่น การแต่งกาย ติดป้ายชื่อ

(5) การจัดระเบียบล้างจาน ได้แก่ การล้างจาน การแยกขยะ

(6) ประโยชน์สูง – ประหยัดสุด ได้แก่ การใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า อาหารเหลือทิ้ง

แนะนำวิธีการกรอกคะแนนใน แบบการประเมินสำนึกกตัญญู 5 ส. หลังประเมินแล้วรายงานให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบ

กรรมการกลาง และ หัวหน้ากลุ่มของแต่ละกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรม เป็นกรรมการกลางทำหน้าที่ประเมิน ที่พักอาศัย ศาลาฝึกอบรม ห้องน้ำห้องส้วม ทางเดิน โรงครัว โรงฝึกงาน การใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า อาหารเหลือทิ้ง การแยกขยะ และการล้างจาน

หัวหน้ากลุ่ม ทำหน้าที่ประเมิน อาหารเหลือทิ้ง ความสะอาดของร่างกาย และการแต่งกายของสมาชิกแต่ละคน

คะแนนประเมิน แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ คะแนนกลุ่ม และคะแนนรวม คะแนนกลุ่มได้จาก ผลการประเมินของกรรมการกลาง รวมกับ ผลการประเมินของหัวหน้ากลุ่ม ส่วนคะแนนรวม ได้จากความสะอาดเรียบร้อยของ ห้องน้ำห้องส้วม ทางเดิน โรงครัว โรงฝึกงาน พฤติกรรมการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า อาหารเหลือทิ้ง การแยกขยะ และการล้างจาน

(จ.) กิจกรรมบริหารจิต บริหารกาย

28. กิจกรรมหน้าเสาธง

เวลา 30 นาที (จำนวน 4 คาบ)

กิจกรรม -ร้องเพลงชาติ สวดมนต์
-ปลุกเร้าให้นิยมไทย วิเคราะห์ข่าวเด่นข่าวดังประจำวัน

วิทยากร พิธีกร, พี่เลี้ยง, นันทนากร

สื่อ-อุปกรณ์ เพลงชาติ, เพลงคนสร้างชาติ, หนังสือพิมพ์, ภาพตัวอย่าง, เสียงตัวอย่าง

คำอธิบาย ผู้เรียนทุกคน และพี่เลี้ยง เข้าแถวเคารพธงชาติ ตัวแทนผู้เรียนคนหนึ่งออกไปเชิญธง และนำสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อปลุกเร้าผู้เรียนให้เกิดความพร้อมเพียง รักชาติ นิยมไทย มั่นใจในพระพุทธศาสนา เทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์

ผู้อำนวยการศูนย์ฝึก กล่าวปลุกเร้าให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างมีสัมมาทิฐิ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย พร้อมที่จะรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว ในการกอบกู้อิสรภาพจากจักรวรรดินิยม-ทุนนิยม ตระหนักในคุณค่าของ คนดีที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม รู้สึกร่วมรับผิดชอบต่อทรัพยากรของชาติ พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พิธีกรคัดเลือกข่าวเด่นข่าวดังประจำวัน นำไปวิเคราะห์เหตุการณ์ ว่ามีผลกระทบต่อทรัพยากรของชาติ ศีลธรรม ข้อใด อย่างไร มีวิธีแก้ไข ป้องกัน และส่งเสริมอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และรู้จักวิเคราะห์ คัดเลือก บริโภคข่าวสาร
ที่มีประโยชน์ น่าเชื่อถือ พาให้ลด ละ เลิก สิ่งมอมเมาทั้งหลาย เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อโฆษณาชวนเชื่อ

29. ปลุกจิตสำนึก บริหารกาย (วิ่ง โยคะ ไทเก็ก)

เวลา 30 นาที (จำนวน 4 คาบ)

กิจกรรม ปลุกจิตสำนึกบริหารกาย
1. อุ่นร่างกายก่อนออกกำลัง (warming up)
2. นอกอาคาร (วิ่ง-เดิน นวดฝ่าเท้า สูดอากาศบริสุทธิ์)
3. ในอาคาร (โยคะ หรือ ไทเก็ก สัมพันธภาพระหว่างลมหายใจกับท่วงท่า)

 

วิทยากร นันทนากร

สื่อ-อุปกรณ์ เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ - เทปวิดีโอแสดงท่าโยคะ และ ไทเก็ก

คำอธิบาย (1) ผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เข้าแถวกลางสนาม เป็นแถวตอนลึกระยะห่าง 1 ช่วงแขน แล้วแสดงท่าอุ่นร่างกายตามที่ นันทนากร หรือ เทปวิดีโอ แนะนำ เพื่อเสริมสร้าง ร่างกายให้แข็งแรง ให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมจังหวะเป็นกลุ่ม สร้างความสามัคคี ความพร้อมเพรียง ตลอดจน ให้ตระหนักในความสำคัญ ของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

(2) แบ่งผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม (2 ชุด) เข้าแถวกลางสนาม เป็นแถวตอนลึก ระยะห่าง 1 ช่วงแขน แล้วออกวิ่ง-เดิน ด้วยเท้าเปล่า พร้อมเปล่งคำปลุกจิตสำนึก ตามที่นันทนากรแนะนำ เพื่อฝึกความอดทน และตระหนักในคุณค่าของการนวดฝ่าเท้าด้วยการวิ่งและเดินสลับกัน ตลอดจนได้บริหารปอด สูดอากาศบริสุทธิ์

(3) ผู้เรียนเข้าแถวภายในอาคาร เป็นแถวตอนลึก ระยะห่าง 1 ช่วงแขน แล้วแสดงท่าบริหารกายแบบโยคะ หรือแบบไทเก็ก โดยให้ลมหายใจกับกระบวนท่าสัมพันธ์กัน ตามที่นันทนากร หรือเทปวิดีโอ แนะนำ เพื่อเสริมสร้างภูมิร่างกายของผู้เรียนให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ฝึกลมหายใจอย่างมีสติ ฝึกความอดทน รอได้ คอยได้

(ฉ.) กิจกรรมร้อยดวงใจ

30. เลือกผู้รับใช้

เวลา 30 นาที

กิจกรรม เลือกผู้รับใช้รุ่น

วิทยากร พิธีกร

สื่อ-อุปกรณ์ -

คำอธิบาย ผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ส่งหัวหน้ากลุ่ม หรือตัวแทนกลุ่ม 1 คน ไปยืนหน้าเวที พร้อมกับแนะนำตัว ชื่อ นามสกุล บ้านเลขที่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ อาชีพ ความสามารถพิเศษ (ถ้ามี) เพื่อคัดเลือกเป็นประธานรุ่น โดยเสียงข้างมาก ทำหน้าที่เป็นตัวแทน และคอยประสานงาน กับสมาชิกในรุ่นเดียวกัน หรือกับสมาชิกรุ่นอื่นๆ เมื่อต้องการจัดกิจกรรมรุ่นร่วมกัน

31. ซื้อของ ใส่บาตร ทำบุญ

เวลา 60-90 นาที

กิจกรรม -ซื้อของที่ร้านใจฟ้า
-การค้าบุญนิยม
-ใส่บาตรสมณะ สิกขมาตุ

วิทยากร พิธีกร, สมณะ, พนักงานร้านค้า, เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส.

สื่อ-อุปกรณ์ ร้านใจฟ้า
อุปกรณ์ถ่ายบาตรสมณะ (ตระกร้า, กะละมัง, รถเข็น)

คำอธิบาย อธิบายการคัดเลือกประเภท หรือชนิดของสินค้า และแหล่งที่มาของสินค้า ที่นำมาจำหน่ายในร้าน การคิดราคาสินค้าตามระบบบุญนิยม ตลอดจนนโยบายด้านการค้า ของชาวอโศก เพื่อให้ผู้เรียนเลือกซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค อย่างรู้คุณค่า ไม่เสียเปรียบ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจว่า การค้าในระบบบุญนิยม ช่วยเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ โดยส่วนรวมได้จริง

ตั้งแถวรอใส่บาตรสมณะ เพื่อรักษาวัฒนธรรมของชาวพุทธแท้ๆ ให้ยั่งยืนสืบไป อาหารที่จะใส่บาตรต้องเป็นอาหารมังสิวัติ กราบหรือไหว้สมณะก่อนใส่อาหาร ผู้หญิงยืนเข่า ผู้ชายยืนตรงเสมอสณะก็ได้ ถ้าเป็นการใส่บาตรทำบุญที่มีคนมาร่วมงานมากๆ (งานประเพณี) ให้ใส่อาหารสลับกัน คือ สมณะรูปแรก ใส่ข้าว สมณะรูปที่สอง ใส่กับข้าว สมณะรูปที่สาม ใส่ผลไม้ สมณะรูปที่สี่ ใส่ขนม ตามลำดับ เพื่อให้สะดวกในการแยกอาหาร และการถวายภัตในภายหลัง

32. เปิดใจก่อนจาก

เวลา 30 นาที

กิจกรรม พูดเปิดเผยความในใจ
-ความรู้สึกประทับใจ ประโยชน์ที่ได้รับ
-อุปสรรค ปัญหา และความทุกข์ที่ได้รับ
-สิ่งที่จะทำ หรือ โครงการที่จะทำ

วิทยากร พิธีกร, ผู้อำนวยการศูนย์ฝึก, เจ้าหน้าที่ ธกส. ทุกคน, ตัวแทนพี่เลี้ยงฝ่ายชาย,
ตัวแทนพี่เลี้ยงฝ่ายหญิง, ตัวแทนแม่ครัว, ตัวแทนชาวชุมชน, ตัวแทนนักเรียนสัมมาสิกขา ชาย-หญิง, ผู้รับใช้คนของแผ่นดิน (ประธานรุ่น) ตัวแทนเกษตรกร ชาย-หญิง

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)

คำอธิบาย ให้บุคคลที่ถูกคัดเลือกไว้แล้ว ออกไปกล่าวความรู้สึกประทับใจ ประโยชน์ หรืออุปสรรค ปัญหา ความทุข์ ที่ได้รับ หรือความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในระหว่างอยู่ฝึกอบรม บอกสิ่งที่ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ ปรับเปลี่ยน สู่วิถีชีวิตใหม่ ตลอดจนโครงการต่างๆ ที่เป็นพันธสัญญาระหว่างกัน เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำไปปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนหลักสูตรสัจจธรรมชีวิต ให้ดียิ่งๆ ขึ้นในโอกาสต่อไป

33. พิธีอำลา

เวลา 60 นาที

กิจกรรม อำลา
-มอบป้ายโศลกธรรม คำคม ของที่ระลึก
-ร้องเพลงร่วมกัน
-ไหว้ และ กล่าวคำอำลา

วิทยากร สมณะ, พิธีกร, ผู้อำนวยการศูนย์ฝึก, พี่เลี้ยง, นักเรียนสัมมาสิกขา, ชาวชุมชน, เจ้าหน้าที่จัดการของที่ระลึก, เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์

สื่อ-อุปกรณ์ ป้ายโศลกธรรม สำหรับแขวนคอ, สินค้าจากร้านใจฟ้าเป็นของฝากให้ผู้เรียน,
เพลงอำลา (โบกมือลา, สัญญาทำดี, อย่ายอมแพ้, สักวันหนึ่ง, ดอกไม้คุณธรรม, เพื่อมวลชน, คนสร้างชาติ) ...สื่อลำดับที่ 36

คำอธิบาย (1) ผู้เรียนทุกคน เรียกว่า “คนของแผ่นดิน” ถ่ายภาพร่วมกันกับ สมณะ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกในสถานที่ที่จัดไว้ให้ เสร็จแล้วออกไปตั้งแถวตอนลึก นอกศาลาศูนย์ฝึก เตรียมเข้าสู่พิธีอำลา (หน้าเสาธง)
(2) สมณะเตรียมมอบของฝากให้แก่ผู้เรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกทุกคน และชาวชุมชน เตรียมป้ายโศลกธรรม และของฝากไว้กับตัว (ให้เท่ากับจำนวนผู้เรียน) เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ เตรียมเปิดเพลงอำลา ผู้เรียนเตรียมกระเป๋าสัมภาระของตน วางไว้ในที่ที่จัดไว้ให้
(3) สมณะทุกรูป นั่งประจำที่อาสน์สงฆ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกทุกคน รวมทั้งชาว ชุมชน เรียกว่า “คนสร้างชาติ” เข้าแถวภายในศาลาศูนย์ฝึก เป็นวงกลมหันหน้าเข้าจุดศูนย์กลาง ผู้อำนวยการศูนย์ฝึก ยืนกลางวงกลม พิธีกรให้สัญญาณเปิดเสียงเพลงอำลา พร้อมกับให้ “คนของแผ่นดิน” เดินแถวเข้าศาลาศูนย์ฝึก เข้าไปในวงกลมชั้นใน ทั้ง “คนสร้างชาติ” และ “คนของแผ่นดิน” หันหน้าเข้าหากันพร้อมทั้งไหว้ และกล่าวอำลา จากคนแรก เวียนขวา ไปยังคนที่สอง ต่อไปเรื่อยๆ จนครบทุกคน ในระหว่างนี้ คนสร้างชาติ จะมอบป้ายโศลกธรรม ให้แก่คนของแผ่นดิน เป็นที่ระลึก เมื่อครบทุกคนแล้ว ทั้งคนของแผ่นดิน และคนสร้างชาติทุกคน ร่วมร้องเพลง “คนสร้างชาติ” จบแล้วให้ทุกคนนั่งลง คนสร้างชาติมอบของฝากให้แก่คนของแผ่นดิน ตัวแทนกลุ่มคนของแผ่นดินไปรับมอบของที่ระลึก จากสมณะ พร้อมกราบลา แล้วเดินทางกลับบ้าน

(ช.) กิจกรรมประชุมคนสร้างชาติ (กำหนดแผนการอบรมประจำวัน ประเมินผลประจำวัน)

34. ประชุมคนสร้างชาติ

เวลา คาบละ 90 นาที (จำนวน 6 คาบ)

กิจกรรม -เตรียมงาน บรรจุเจ้าหน้าที่ประจำตำแหน่งงาน
-ซักซ้อมความเข้าใจ
-สรุปและประเมินผลประจำวัน แก้ไขเปลี่ยนแปลงกิจกรรม
-สรุปและประเมินผลเมื่อสิ้นสุดหลักสูตร

วิทยากร สมณะผู้เป็นประธาน, ผู้อำนวยการศูนย์ฝึก, เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกทุกคน

สื่อ-อุปกรณ์ -อาคารสถานที่ ...สื่อลำดับที่ 1
-โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 – 3
-อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก ...สื่อลำดับที่ 4
-อุปกรณ์ประจำบ้านพัก ...สื่อลำดับที่ 5
-อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่บริการประจำศูนย์ฝึก ...สื่อลำดับที่ 6
-อุปกรณ์สำนักงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ธุรการ ...สื่อลำดับที่ 7
-อุปกรณ์ประจำตัวผู้เข้ารับการฝึกอบรม ...สื่อลำดับที่ 8
-แบบประเมินตนเองขณะปฏิบัติงาน แบบประเมินคนสร้างชาติ หมายเลข 5
...สื่อลำดับที่ 34
-หลักสูตร และ แผนการฝึกอบรม (เอกสารเย็บเล่ม)
-สถานที่ประชุม

คำอธิบาย ประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกทุกคน เกี่ยวกับ การเตรียม ซ่อมบำรุง สำรวจความต้องการ จัดหา วัสดุอุปกรณ์ อาคาร สถานที่ และการแบ่งงาน โดยมีสมณะเป็นประธาน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึก เป็นผู้ดำเนินการประชุม ก่อนผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะเดินทางมาถึง เพื่อบรรจุเจ้าหน้าที่เข้าประจำตำแหน่งงาน ตามที่แผนการฝึกอบรมได้กำหนดไว้ และซักซ้อมความเข้าใจ

ประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีสมณะเป็นประธาน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึก หรือผู้แทน เป็นผู้ดำเนินการประชุม หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมของแต่ละวัน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายงาน ประเมินผลการดำเนินกิจกรรมตามแผนการฝึกอบรม และแก้ไขเปลี่ยนแปลง กิจกรรมให้เหมาะสมกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า (ถ้ามี) สิ่งดีควรรักษา สิ่งบกพร่องควรแก้ไข

ประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกทุกคน โดยมีสมณะเป็นประธาน และ ผู้อำนวยการ
ศูนย์ฝึก เป็นผู้ดำเนินการประชุม หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมครบหลักสูตรในแต่ละรุ่นแล้ว เพื่อประเมินผลด้าน วัตถุประสงค์ของกิจกรรม ความรับผิดชอบของ
เจ้าหน้าที่ ปัญหาและอุปสรรคที่มี การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในตารางแผนการฝึกอบรม ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ความพร้อมเพรียงในการประสานงาน พฤติกรรม และ อารมณ์ของผู้เข้ารับการอบรม งบดุลรายจ่าย
สุขภาพอนามัย และ ประโยชน์ทางธรรม (ประโยชน์ตน) ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก (ญาติธรรม, นักเรียนสัมมาสิกขา) ได้รับ

การดำเนินการอบรม

... มีต่อ ...