โพธิรักษ์ กับโพธิกิจ ๓

๑๔
ตนพึ่งตนได้ (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ)

อาตมาทำงาน ไม่ได้ทำเพื่อที่จะได้อะไร มาเสนอสนอง ให้แก่ตัวเอง ไม่ได้ทำงานศาสนา เพื่อที่จะได้ "ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-โลกียสุข"
เขาก็ได้แต่ว่า "อาตมาอยากดัง ยังโง้นยังงี้ อยากได้ฤทธิ์แรง อันโน้นอันนี้ มาอุ้มชู บัลลังก์ อยากได้บริวาร มาช่วยเหลือ เฟือฟาย"

อาตมา "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ" เป็นผู้มีตน อันพึ่งตนได้ พอเพียงจริงๆ หยิ่งพอที่จะให้ "ธรรมเท่านั้น รักษาธรรม" อำนาจสถาบัน อำนาจเศรษฐี อำนาจอาณาจักร อำนาจอันโน้น อันนี้ อย่ามาแทรกแซง ไม่ต้องมาช่วยหนุนเลย

อาตมาว่า "ความกตัญญูกตเวที ของใครของมัน ใครเห็นดี อยากตัญญูกตเวที ก็ส่งเสริม -สนับสนุน -ช่วยเหลือ อยากช่วย... ก็ช่วย ไม่อยากช่วย... ก็ไม่ต้องช่วย"

คุณได้ดี ก็ดีของคุณ คุณมีอะไรล่ะ ในตัวที่คุณได้

มีสาระสัจจะอะไร ที่คุณได้ติดตัวไป อันใดที่เป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่หวั่นไหวแล้ว มีฤทธิ์-มีแรง คุณก็จะยืนหยัด ยืนยัน แม้คนเดียวก็ทำ (ดี) ! ถ้าคุณไม่มีฤทธิ์แรงพอ ก็ต้องถูกสังคมครอบงำ แปรปรวนไป

แต่ถ้ายืนหยัดได้ มีอำนาจของสิ่งที่ตั้งมั่นถาวร สัจธรรมที่ได้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง คุณฉลาดเฉลียว มีบารมี เท่าไหร่ คุณก็จะปลูกฝัง หยั่งลงที่นั่น มีมาก... ก็ปลูกฝังมาก มีน้อย... ก็ปลูกฝังน้อย อาตมาขอย้ำอีกว่า "อาตมาไม่ได้ทำงานศาสนา เพื่อที่จะตั้ง หมู่คณะ ไม่ได้ทำเพื่อ ที่จะมาหาบริวาร มีลูกศิษย์ลูกหา ไม่ได้ทำเพื่อ ลาภยศ -สรรเสริญ -โลกียสุข"

อาตมารู้สึกอย่างนี้จริงๆ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่มีปัญหา !

อาตมาทำงานศาสนา ก็เพื่อที่จะช่วยรื้อขนสัตว์ เท่านั้น เป็นเป้าหมายหลัก มีเมตตาเกื้อกูล ในสรรพสัตว์ ตามฐานะ โพธิสัตว์ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ?

ถ้า "ได้" ก็จะเกิดการรวมหมู่ -รวมกลุ่ม -เป็นคณะสามัคคี ก็เป็นไปตามธรรม เป็นธรรมดา ธรรมชาติ น้ำไปหาน้ำ น้ำมันไปหาน้ำมัน

ทุกวันนี้เกิดแล้ว ไม่ใช่คุยโก้ ! อาตมาเห็นว่า "พวกเรามีความจริงใจ แล้วมีสิ่งที่เป็นเนื้อหา สาระสัจจะ อยู่พอสมควร" ถึงแม้ว่า "เราจะถูกตีแตก แหลกลาญอะไรไป ก็ต้องมา รวมกันอยู่ดี ได้เท่าไหร่ ? ก็เท่านั้น"

๑๕
ไม่ล่อ ไม่หลอก ไม่หาบริวาร

อาตมาเข้าใจที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เราไม่ได้มาหาบริวาร ไม่ได้มาหาลูกศิษย์ ไม่ได้มา สะสมพรรคพวก ไม่ได้ทำ เพื่อสรรเสริญ ยกยอปอปั้น ไม่ได้เอาลาภ -เอายศ

เราทำงานเพื่อให้คนพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อ ความละ หน่าย คลาย เท่านั้น"

อาตมาซาบซึ้ง และก็แน่ใจว่า "อาตมาทำเช่นนั้นจริงๆ ไม่เคยไปล่อหลอก" ในใจจริงๆ ไม่ต้องการพรรคพวก ไม่ได้เป็นเชิง เรียกร้องคุณเอาไว้ อย่าหนีอาตมาไปไหน อย่าปล่อยอาตมาคนเดียว ไม่เคยเลยนะ !

มีแต่สมมุติว่า "แม้พวกคุณจะทิ้งไปทั้งหมด เหลืออาตมาคนเดียว อาตมาก็ยังคงมั่นใจ และยืนยัน ในสัจจะ ที่มี อาตมาจะมีชีวิต อยู่อย่างระบบที่ พระพุทธเจ้าสอนไว้ บิณฑบาตเลี้ยงตน ด้วยปลีแข้ง ไม่มีผ้า ก็หาผ้าบังสุกุล นุ่งห่มไป"

จงมาพิสูจน์ "สัจธรรม" อย่าหลงงมงาย "ศาสนาพุทธ" ไม่ต้องการ คนงมงาย ต้องการผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีเหตุผล

อาตมาแสดงสัจจะเท่านั้น คนที่ฉลาดเฉลียว รู้เท่าทัน ก็มาปฏิบัติ ประพฤติ อย่างเต็มใจ -สมัครใจ -เข้าใจ ด้วยตัวเอง เอาจริงๆ เต็มใจมาให้ขัดเกลา ขนาดไม่หลอก เลือกเฟ้น เอาด้วย ยังมีมาก ขนาดนี้เลย ยังเหนื่อย สอนกันไม่หวาดไม่ไหว แล้วอาตมาจะต้อง ไปหลอกมาทำไม อาตมาไม่ต้องการ หลอกเอามา เพื่อจะได้ลาภ - ยศ -เงิน -ทอง - วัตถุสมบัติ และอาตมา ก็ไม่ต้องการ คณะใหญ่ๆ เอาน้ำหนัก ของความใหญ่ ความมากมาย เป็นเครื่องอลังการ ไปเบ่งข่ม -อวดอ้างคนอื่น

มีอยู่คราวหนึ่ง ฝรั่งเขาให้ประเมินประมาณ อาตมาก็บอก "ไม่รู้ๆๆ ไม่เคยคำนวณ ไม่เคยประมาณ" เขาก็ประเมินเองว่า "สักล้านคนได้ไหม ?" แล้วเขาก็ไปเขียนเองนะว่า "มีสมาชิก มีคนที่ใส่ใจศึกษา ประมาณ ล้านคน" เขาก็เก็บเอาสถิติไป

อาตมาขอยืนยันอีก ว่า "อาตมาไม่ได้ต้องการหมู่มวล ไม่ได้ต้องการจริงๆ" อาตมา มีความจบในตัว สอนให้ -แนะนำให้ คุณเอาไปทำ คุณได้ดี ก็ได้ดีของคุณไป คุณจะ "กตัญญูกตเวที" หรือไม่ อาตมาไม่มีปัญหา ! ถ้าได้สิ่งที่ดีจริงๆ แล้วคุณ ไม่กตัญญูกตเวที เป็นยังไงล่ะ ก็ชั่วของคุณเอง

"กตัญญูกตเวที" ไม่ใช่ธรรมะที่สูงส่งลึกซึ้ง อะไรนักหนา ใครๆ ก็เข้าใจกันได้ ทั้งนั้น คุณธรรมแค่นั้น รู้กัน ทั่วบ้าน ทั่วเมือง

และในจำนวนคนที่ อาตมาช่วยเหลือ -แนะนำ -บอกกล่าว หรือ สอนไปแล้วนี่ ก็ต้องมีคนดี -มีกตัญญูกตเวที -มีญาณปัญญา ที่จะมาช่วยเหลือ -อุปัฏฐาก -อุปถัมภ์ -สนับสนุน ส่งเสริม -เผยแพร่สิ่งที่ดีนี้

จะไม่ "กตัญญูกตเวที" บ้าง ก็ไม่กี่คนมั้ง ก็คงน้อยคน ถึงไม่น้อยคน ก็พอ เพราะเรากินน้อย -ใช้น้อยอยู่แล้ว

แต่ทุกวันนี้ ก็ไม่เห็นกระจอก ถึงขนาดไม่มีใคร อุปัฏฐาก -อุปถัมภ์ ก็พอมีคน อุปัฏฐาก-อุปถัมภ์กันได้ ไม่ได้เดือดร้อน อะไรเกินไปนะ

 

๑๖
ไม่วาดโครงการหรู ไม่มีแผนลึกล้ำ

เขาบอกว่า "ศาสนาพุทธต้องเน้น เรื่องของจิต -ต้องนั่งหลับตา ทำสมาธิ"

การไปนั่ง "สะกดจิต" อยู่นั่นแหละ วันหนึ่งๆ ได้สร้างสรรอะไร ได้ลดละอะไร หมดหวงแหนอะไร แล้วได้เกื้อกูลอะไร เป็น "โลกานุกัมปายะ" เป็นหิตประโยชน์ แก่ผู้อื่นแบบไหน

อาตมาสอนคน ให้ลดความโลภ ลดความเห็นแก่ตัว ลดความขี้เหนียว -ขี้หวง ให้เผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อ เจือจาน ให้เป็น โลกานุกัมปายะ ไม่ใช่เรื่องของ "จิต" หรือ?

ถ้ามนุษย์ทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครทำได้หรอก! จงพิสูจน์ให้ได้ อาตมาขอยืนยันว่า "ไม่ได้พูดผิด!" แน่ใจว่า "พูดถูก!"

อาตมากล่าว สิ่งที่ "พระพุทธเจ้า" มีพุทธประสงค์ จะให้มนุษย์ ประเสริฐอย่างนี้ ให้อยู่ ด้วยความเป็นอยู่สุข เป็นประโยชน์ตน - ประโยชน์ท่านอย่างนี้

ขอย้ำยืนยันกับพวกเราว่า "อาตมามีความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอะไรแฝง" ตราบที่อาตมา ยังไม่ตาย ก็จะพาทำไป อย่างนี้ แล้วจะก้าวหน้า ไปเรื่อยๆ

อาตมาไม่ใช่คนประเภทที่นั่งพูดแต่ "โครงร่าง -โครงสร้าง มีแผน -มีโครงการ จะต้องเป็น อย่างโน้น -อย่างนี้" อาตมา ไม่วาดหวาน ไว้ไกลเกินไป

อาตมาพูดเสมอว่า "อาตมาทำงานไม่มีแผน ไม่มีโครงการ" อาตมาเพียงแต่ พูดนำคร่าวๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วทุกอย่าง ทำไปตามเหตุปัจจัย ที่มีจริงขึ้นมา ไม่ไปหลง ละเมอ เพ้อฝัน กับ "ความนึกคิด -โครงการ -โครงสร้าง อะไร ล่วงหน้าไปไกล" ไม่เอา !

 

๑๗
พระปริยัติ พระปฏิบัติ

ทุกวันนี้...ในประเทศไทย มีแต่ "พระปริยัติ" ท่องตำรา (มีปริญญา) พระนักคิด พระนักวิชาการ พระนักสร้างวัง สร้างเวียง มาเป็น "พระผู้ปกครอง" ทั้งหมด

"พระปฏิบัติ" จริงๆ อยู่ใต้อาณัติหมด ! นี่เป็นความจริง ที่ผิดพลาด ใช่ไหม ?

"พระปริยัติ" ได้หัวข้อตำรา แต่ไม่รู้แนวทางปฏิบัติ ที่ถูกแท้ แม้ปฏิบัติ ก็ไม่ถึงมรรค ถึงผลอะไร ? แถมเอา ความคิด ของตัวเอง อธิบายทางปฏิบัติ ที่ผิดๆ เพี้ยนๆ แปลไป ตามความเห็น ที่ตัวเองชอบ หรือ เท่าที่ตัวเอง มีภูมิ มีบารมีเก่า แล้วก็เอามา สาธยาย สอน จึงได้ เท่าภูมิเก่า

"พระปริยัติ" ปลอมๆ คือ มีแต่ปริยัติ ไม่ได้ปฏิบัติอะไร ไม่ได้รู้ สภาวะจริงอะไร เพราะเอาแต่ ท่องตำรา แล้วก็ นำมา ... ตีความไป -วิเคราะห์ไป -วิจัยไป แต่มีหมู่ คณะใหญ่ ก็มีการ ให้รางวัลกัน ให้ประกาศนียบัตรกัน นี่ได้ชั้นตรี -โท -เอก นี่ได้ตำแหน่งบัณฑิตนะ ! ปริญญานะ ! แต่จริงๆ ไม่ได้อะไรจริงๆ นักหรอก ได้แต่ "มานะกิเลส" หลงใหล เพิ่มความใหญ่ ชี้ชวนกันชอบ ชี้ชวนกันชม เท่านั้น

เมื่อมีกิเลส "มานะ" หลงดี ย้อมใจ เสริมด้วย... ลาภ -ยศ -สรรเสริญ ก็เลยชอบ ก็นิยมกัน สะสมเอา อย่างนี้กันมาก และมีกองหนุนเสริม จากคนส่วนมาก ที่มีค่านิยมใน "โลกธรรม" เป็นแกน เป็นสามัญอยู่แล้ว ก็เป็นฤทธิ์ -เป็นแรง-เสริม ช่วย-หนุนช่วย -ยกย่อง กันเข้าไปอีก ก็เลยได้ อำนาจปกครอง

"พระปฏิบัติ" จริงๆ มีจำนวนน้อย ก็เลยตกอยู่ใน ฐานอำนาจ การปกครองของ "พระปริยัติ" ผู้ไม่ปฏิบัติ ดังที่ว่ามา

"พระปฏิบัติ" ก็ไม่ขยันค้นคว้า -ท่องทวน -สอบทานตำรา ก็เป็นกันอย่างนี้ "พระปฏิบัติ ขาดปริยัติ พระปริยัติ ขาดปฏิบัติ" แล้วก็อาศัยฟังปริยัติ จากพวกที่ท่องบ่น อธิบาย ตามความเห็นของตน บอกว่า "นี่ตำราของ พระพุทธเจ้านะ"

พวกที่ปฏิบัติ ซึ่งไม่ค่อยมีปฏิภาณอยู่แล้ว เพราะปฏิบัติ เอียงโต่ง ไปข้างเถรวาท หรือ ระบบฤาษี "หนีโลก" ก็เป๋ตาม "พระปริยัติ" ปลอมๆ เชื่อตามพวกนักวิชาการ นักวิจัย วิเคราะห์อีก การอธิบาย -การตีความ ที่ช่วยกันเพี้ยน -ช่วยกันส่งเสริมกันและกัน ให้ผิดยิ่งๆ ขึ้น ทั้ง "พระนักปริยัติ" และ "พระนักปฏิบัติ" ก็เลยเป๋ตามกัน ไปเรื่อยๆ พากันผิด พากันลงเหว ค่อยๆ ลาก ค่อยๆ จูง ถ้อยที- ถ้อยพากัน เพี้ยนผิด ไกลออกไปๆๆ (จากศาสนาพุทธ)

ครั้นปฏิบัติเข้าจริง ก็กลายเป็น "พูด" ก็ไม่ได้ "ทำการงาน" ก็ไม่ได้ แถมอธิบาย โมเม เสียอีกว่า "การนั่งหลับตา ปฏิบัติ นั่นแหละ คือ "ทำการงาน" แล้วล่ะ !"

ข้อสำคัญ คือ แน่ใจกันเหลือเกินว่า ต้องหนักไปข้าง ให้จำเจอยู่ในป่า จึงจะเป็น "พระนักปฏิบัติ" และ ปักใจกัน เหลือเกินว่า "การปฏิบัติ หรือ ทางปฏิบัติตัวแท้นั้น จะต้องเป็นการ "นั่งหลับตา" เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหลัก" จึงไปปฏิบัติแบบ ฤาษีกันหมด ปัญญา ก็ไม่ค่อยมีด้วย เพราะสายฤาษี ดาบส ที่เอาแต่นั่ง "สะกดจิต ดับจิต หลับตา" ปัญญาก็ยิ่งซึมเซา แต่ก็หลงกันว่า "ปัญญาจะเกิดเอง มีเอง" อย่างนี้แหละ ก็เลยยิ่ง งึมๆ งำๆ มีแต่นั่งซึมไป เซื่องไป

พระผู้มีอำนาจปกครอง ก็ไม่มีเนื้อหา ไม่มีเชื้อถึงมรรค -ถึงผลอะไร ? แล้วก็เข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ โดยสามัญสำนึก ก็รู้อยู่ว่า "ตนนั้นหย่อนปฏิบัติ" จึงจำต้องยอม บอกว่า "พระปฏิบัติ" ดี ท่านทำถูก และก็ทำทีว่า "เคารพกราบไหว้"

แต่...ก็ไล่ "พระปฏิบัติ" ต้องไปอยู่โน้น ให้ไปอยู่ป่า อยู่เขาโน่น! อย่ามาอยู่เทียบ อยู่เคียง ใกล้ๆ ไปอยู่ไกลๆ นี่เป็นเล่ห์ของ "จอมโจรบัณฑิต" ที่ซ่อนใน เพราะตัวเอง ก็รู้ด้วย สามัญสำนึกว่า "พระปฏิบัติ" ย่อมดีกว่า "พระปริยัติ" ถ้ามาอยู่เคียงคู่กัน คนจะนิยม "พระปฏิบัติ" มากกว่า "พระปริยัติ"

ฉะนั้น จงไปอยู่ไกลๆ เถิด อย่ามาอยู่คู่กันเลย แล้วก็ไล่ให้ "พระปฏิบัติ" ไปอยู่ในป่า ในเขา เพื่อจะได้รับ ความเคารพนับถือ แต่ฝ่ายเดียว นี่คือ ความมีปัญญา อย่าง "จอมโจรบัณฑิต" !

คนที่เข้ามา "บวช" ใน "ศาสนาพุทธ" ทุกวันนี้ จึงเป็นคนที่ไม่มีอะไร จากทางโลก แล้วก็เข้ามาอาศัย "ศาสนา" ตักตวงเอา "ความได้" คือ "ได้ เงิน-ทอง -ลาภ-ยศ -สรรเสริญ-สุข ได้อำนาจปกครอง จนมีอะไรๆ อย่างโลกๆ อันเป็น "เศษ กากขยะ" ของศาสนาแท้ๆ แล้วก็ลาสึกออกไป ใช้หากินทางโลก ไปเป็นคู่แข่ง ของชาวโลก แล้วแฝงเอาเศษกาก ไปถล่มโลกอีก!"

แท้จริงแล้ว "ศาสนาพุทธ" นั้น นำเอาผู้มีความรู้ทางโลก มีทรัพย์สิน เงินทอง มีอะไรๆ ทางโลกเหล่านั้น มารับใช้ "งานศาสนา" มาช่วยงาน "กองทัพธรรม" เพื่อ นำพามนุษย์สู่ "สันติสุข" ในประวัติหลักฐานของ "ศาสนาพุทธ" ก็เป็นอย่างนั้น แต่ทุกวันนี้ "ศาสนา" ถูกตักตวงจริงๆ ใช่ไหม ?

ขณะนี้อาตมากำลังพาพิสูจน์ กลับไปสู่เนื้อหา ที่แท้จริงของ "ศาสนาพุทธ" ความจริง อันสำคัญว่า "ผู้เข้ามา เป็นทหารหาญของ 'กองทัพธรรม' จะต้อง คือ ผู้มีอะไรๆ มาให้แก่ 'ศาสนา' ไม่ใช่ ผู้เข้ามาตักตวง เอาเศษกาก หรือ เอาสิ่งที่ ไม่ใช่เนื้อหา ของศาสนา ออกไปใช้ ไปเป็นคู่แข่ง แย่งยื้อ โลกธรรม กับชาวโลกๆ"


๑๘
ศาสนาพุทธ ไม่ปลีกเดี่ยว

"ทางปฏิบัติอันเอก" นั้นคือ "มรรคองค์ ๘" ซึ่งไม่จำเป็นจะต้อง สุดโต่งไปว่า "ปฏิบัติธรรม จะต้องไปอยู่ป่า แถมไม่ให้ มีอาชีพเสียอีก"
ทั้งๆ ที่ ใน "มรรคองค์ ๘" มี "อาชีพ" มี "การทำงาน" มี "การพูดจา"

พวกแปลความหมาย "มรรคองค์ ๘" ด้วยบัญญัติ ด้วยภาษา ด้วยตำรา ก็แปลไป ตามความเห็น จนกลายเป็น "โลกียธรรม" ไปหมดแล้ว สุดท้าย "ศีล" ก็ไม่มี การปฏิบัติ ก็ไม่สัมพันธ์กัน "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" ก็ไม่ สมังคีกันเลย "สัมมาทิฐิ" ไม่สัมพันธ์กับ "สัมมาสังกัปปะ" ไม่สัมพันธ์กับ "สัมมาวาจา" สัมมาข้ออื่นๆ ก็ไม่สัมพันธ์กับ "สัมมา" ข้อต่อๆ ไป ที่สุด สัมมาทั้ง ๗ ไม่สัมพันธ์กับ "สมาธิ" จึงไม่เกิด "สัมมาสมาธิ" ตามองค์มรรค จึงมีแต่ "สมาธิ" ที่เกิดได้ เพราะนั่งหลับตาเอา ไม่พูด ไม่ทำงาน ฯลฯ

"ศาสนาพุทธ" ไม่ใช่ศาสนาปลีกเดี่ยว ออกป่าสู่เขาถ้ำ แต่ผู้เดียว หลบลี้ เอาแต่ สะกดจิตตัวเอง ให้หลุดพ้น หาแต่วิธี การหยุดไม่เกี่ยวข้อง แล้วก็หลุดพ้นออกไป จากสังคม ไม่สัมพันธ์ -ไม่เชื่อมโยง -ไม่เข้าใจโลก พวกฤๅษี พาทำมานานแล้ว ดูสงบ ไม่วุ่นวาย ก็จริง แต่ไม่เป็นประโยชน์สร้างสรร ได้แต่ กิน -นอน -นั่ง -เดิน -ขับถ่าย ไปวันๆ จนตาย มีชีวิต ระนาบเดียวตื้นๆ เป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องใช้ ศาสดาชั้นสูงค้นพบ วิธีการอย่างนี้ นอกเรื่อง นอกทางของ "พระพุทธเจ้า"

มนุษยชาติต้องมีความสัมพันธ์กัน ก็ต้องเก่ง ทนให้ได้ กับคนที่มีอารมณ์ร้ายๆ หรือ มีความคิด ที่แตกต่าง จากเรา ดูถูก- ดูแคลน -ย่ำยี -ด่าเรา ทั้งๆ ที่เขาร้าย แต่เราก็ยัง สามารถ ทำงานด้วยกันได้ รับความคิดนั้นได้ ส่วนดีของเขา ก็เอามาใช้ จนเปลี่ยน ความร้ายของเขา ให้เป็นดีได้ อย่างนี้เก่ง บรรลุผลสำเร็จ นี่คือ "ยอดฝีมือ ยอดมนุษย์" อาตมาว่า "พระพุทธเจ้า เก่งตรงนี้"

แล้วอาตมา ก็นำพาฝึกฝนอบรม ตามความเข้าใจ อย่างนี้ ไม่ใช่เอาแต่หนีๆ ไม่คบค้า ไม่เกี่ยวข้อง ตัดทิ้ง เป็นวิธีฤๅษี อาตมาว่า ง่ายนะ "ยินดีในเสนาสนะ อันสงัด" ก็คือ "ใจเราสงบสงัด ยินดีจริงๆ" ไม่มีอะไรเลย อยู่คนเดียว ว่างๆ เงียบๆ ก็สบายใจดี เพราะใจสงบ -ไม่โหยหา -ไม่แสวงหา -ไม่อยาก -ไม่ต้องการอะไร มาบำเรอตนอีก

แต่ลักษณะ "จิตสงบสงัด" ของพุทธ เป็นสัจจะย้อนสภาพ (ปฏินิสสัคคะ) ฉะนั้น "ยินดีในเสนาสนะ อันสงัด" หรือ มีใจยินดีในป่า ไม่ได้มีความหมายว่า "ต้องไปจมอยู่ป่า" จิตวิญญาณ เท่านั้น ที่ยินดี แต่ต้อง "ปฏินิสสัคคะ" จึงอยู่ในเสนาสนะ อันไม่สงัดก็ได้ เพื่อทำประโยชน์ เป็นคุณค่าต่อสังคม มหาศาล

"พุทธ" เป็นศาสนาที่ อนุเคราะห์โลก เพื่อทำให้มวลมนุษยชาติ เป็นสุข (พหุชนะหิตายะ โลกานุกัมปายะ) "พุทธศาสนา" ไม่ใช่ศาสนาป่าเขา อย่างฤๅษี

ธรรมะของ "พระพุทธเจ้า" ถ้าเข้าใจจริงแล้ว จะไม่ค้านแย้งกันเลย ทุกวันนี้ เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ก็ไปผิดๆ กันใหญ่ "มรรคองค์ ๘" ก็หายไปๆๆ !!!

เมื่อ "ปริยัติ...อาพาธ, ปฏิบัติ...ก็อาเพศ, ปฏิเวธ...ก็อาภัพ"

นี่คือ จุดเพี้ยน ที่จะต้องมาศึกษากัน ให้แจ่มกระจ่าง


๑๙
พระอาริยะ มีสัปปายะ ๔

"พระอาริยะ" ของพุทธ ต้องทนทาน ไม่ติดป่า รู้จัก "เสนาสนะสัปปายะ" ที่ถูกส่วน อยู่ "เหนือโลก" ได้ คือ อยู่ในสังคม นี่แหละ แล้วช่วยพัฒนามนุษย์

"พระปฏิบัติ" ที่มี "วิมุติ" ก็จะสอน "วิมุติ" (ความหลุดพ้น) อยู่ในดงของศัตรู ปฏิปักษ์ (คนชั่ว) เรียกว่า "พระมาลัย" โปรดสัตว์ ท่านจะเป็น นักร้อยมาลัย เรียงตามขั้นตอน -ตามลำดับ สอนธรรม งามในเบื้องต้น - ท่ามกลาง - บั้นปลาย

"เสนาสนะ" ของ "พระอาริยะ" จึง "สัปปายะ" อยู่ที่ใดก็ได้ ไม่หวั่นไหว แปรปรวน ไปกับสิ่งแวดล้อม มี "สัปปายะ" ที่ใจ ทำกิจการงานเป็น "ประโยชน์ตน - ประโยชน์ท่าน" ทั้ง ๒ ส่วน ไปในตัว เป็น "ธรรมะสัปปายะ"

"พระอาริยะ" อยู่กับมนุษย์ ก็จะเป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ ที่มนุษย์ผู้ฉลาด จะพยายามเข้าใกล้ เป็น "บุคคลสัปปายะ"

เมื่อเป็น "บัณฑิต" ก็จะมีคนอ่อนวิชากว่า คอยห้อมล้อม ยิ่งมีฤทธิ์มาก ก็ยิ่งต้อง สอนคนให้มี "ปัญญา" ได้มาก ก็จะสามารถ ในการสร้าง "อาหารสัปปายะ" ให้คนได้บริโภค มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดมี "บุคคลสัปปายะ" มากขึ้นเรื่อยๆ อาตมากำลังบรรยาย ธรรมอยู่นี้ ก็เป็นการปรุง "อาหาร" ทางธรรม

ภาษาบาลีคำว่า "สัปปายะ" แปลว่า "ความเจริญ เกิดคุณค่าประโยชน์ หรือ ประกอบด้วย ประโยชน์คุณค่า ได้กำไร อาริยะที่แท้จริง"

แต่คำว่า "สัปปายะ" หรือ "สบาย" ทุกวันนี้ กลายเป็นเรื่องของ กิเลสสบายๆ ตามใจชอบ สบายใจ ตามใจกิเลส บงการ ใจที่มีกิเลส เป็นเจ้าเรือน กิเลสอยากเป็น -อยากได้ อยากมีอย่างไร ? ก็เอาตาม ความอยาก ให้สมใจ นี่คือ "ความสบาย" ที่เขาหมาย ภาษาไทย ก็เลยเสียตรงนี้ คำว่า "สบาย" ไม่ใช่หมายอย่างนั้น

"เสนาสนะสัปปายะ" คือ สถานที่สิ่งแวดล้อม ที่ประกอบประโยชน์ คุณค่าได้มาก เช่น พุทธสถานสันติอโศก ประกอบ ประโยชน์คุณค่าได้มาก มีสิ่งแวดล้อมทั้ง ที่อยู่ ที่พัก ที่กิน ที่นอน ที่ทำงาน อยู่ในนี้เสร็จ เป็น เสนาสนะ ที่ประกอบไปด้วย บุคคลที่เป็นสัตบุรุษ เป็นบัณฑิต มีคนที่เป็นมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี

ใครก็ตาม ได้อยู่อาศัย ได้เข้าใกล้ คบคุ้นกับบัณฑิต ย่อมเป็น มงคลอันอุดม เพราะ มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์

"พุทธสถานสันติอโศก" จึงเป็น "เสนาสนะสัปปายะ" อย่างนี้ เราก็ควรจะอยู่ ปฏิบัติธรรม ในสถานที่เป็น "เสนาสนะสัปปายะ" ที่มี "บุคคล สัปปายะ" มี "อาหารสัปปายะ" มี "ธรรมสัปปายะ" เป็นสัปปายะ ๔ ก็ปฏิบัติธรรม ที่นั่นแหละให้มาก เป็นที่ที่ควร ปฏิบัติธรรม ได้อย่างเจริญ ถ้าโอกาสเรา ไม่มีมาก ขนาดนั้น อยู่ที่ไหน ก็ปฏิบัติธรรม อยู่ที่นั่นได้ แม้เพื่อนรอบตัว จะเป็นคนร้าย ก็ต้อง ปฏิบัติให้ได้ ตามบุญบารมีของเรา

"บุคคลสัปปายะ" คือ "คนดี" ตั้งแต่ "กัลยาณชน -บัณฑิต -สัตบุรุษ ไปจนถึง อาริยชน" มีคนอย่างนี้อยู่ในโลก จงคบหา -คบคุ้น -เข้านั่งใกล้ -เงี่ยโสตสดับ -เข้ารับใช้ ศึกษาอบรม อย่าห่างครูอาจารย์ คลุกคลีเกี่ยวข้อง กับคนอย่างนี้ ไม่มีทางเสียหาย ฉะนั้น "บุคคล" จะเป็น "สัปปายะ" ได้ ก็ต้องมีสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี ต้อง คบคุ้น-คลุกคลี กับ "บุคคล" ที่จะนำพาชีวิต ให้มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นบุคคล ที่เป็นสัตบุรุษ เป็นบัณฑิต เป็นอาริยะ เป็นคนดี หรือ อย่างน้อย เป็นกัลยาณชน คลุกคลีเกี่ยวข้องแล้ว จะนำพาเราไปดี ไม่เสีย

"บุคคลสัปปายะ" จึงต้องมีด้วย ไม่ใช่เอาแต่สถานที่ เงียบสงบ อย่างเดียว หยุดพูด หยุดทำ นิ่ง สงบ เงียบ จนไม่ได้ยินอะไร ถ้าเราไม่รู้ว่า "ความสงบ หรือ ความนิ่ง ความหยุด ขนาดไหน จึงจะพอดี -พอเหมาะ ก็จะกลายเป็น สภาพที่เลยเถิดไป" เราต้องสงบจาก "กิเลส" ต้องรู้องค์ประกอบของ ความสงบ

"บุคคล" ที่จะคลุกคลีเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องรู้ "บุคคลสัปปายะ"

"พระอาริยะเจ้า" จะกำหนดรู้ สัปปายะ ๔ เสนาสนะสัปปายะ บุคคลสัปปายะ อาหารสัปปายะ และ ธรรมะสัปปายะ อย่างชัดเจน

ธรรมะของพุทธศาสนา ไม่ค้านแย้งกัน ทั้งใน "เสนาสนะ" ใน "บุคคล" ใน "ธรรม" ที่จะแสดง หรือ ใน "อาหาร" ที่จะปรุงสร้าง


๒๐
อสังสัคคะ

คำว่า "อสังสัคคะ" อย่าคลุกคลีเกี่ยวข้อง ถ้าแปลแค่ว่า "อยู่คนเดียว กินผู้เดียว ไปผู้เดียว เดี่ยวๆ ไม่คบกับใคร ก็จะเลยเถิด สุดโต่ง เป็นคนอ้างว้าง ว้าเหว่"

ค้านแย้งกับคำว่า มีมิตรดี-สหายดี หรือ การให้คบหาสัตบุรุษ ฟังสัทธรรม ให้อยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (ปฏิรูปเทสวาโส) อยู่ในสังคม แล้วไม่คลุกคลีเกี่ยวข้อง ได้อย่างไร

ธรรมะของพุทธอบอุ่น ไม่อ้างว้าง ไม่ว้าเหว่ ไม่โดดเดี่ยว เดียวดาย จึงต้องรู้ ให้ชัดเจนจริงๆ ว่า "อย่าคลุกคลี เกี่ยวข้องกับ ใคร ? อะไร ? แค่ ไหน ? อย่างไร ?"

เช่น คนพาล คนชั่ว คนโง่ คนอวิชชา คนขี้เกียจ -ขี้คร้าน คนทุจริต -อกุศล เป็นกลุ่มคนที่ คลุกคลียาก ถ้าจิตเราอ่อนแอ ไม่มีอินทรีย์พละ เพียงพอ อย่าเข้าใกล้ เราต้องห่าง อย่าคลุกคลี เพราะเรา รู้เท่าทันเขาไม่ได้

คำว่า "เอโก เอกี" ที่เขาแปลกันว่า "แต่ผู้เดียว กินคนเดียว บิณฑบาตคนเดียว เอี้ยวแขน -ไกวขาคนเดียว" นิยามของคำว่า "เอกะ" ไม่ได้แปลเท่านั้น

ต้องแปลใหม่ว่า "ทำอิริยาบถทุกอย่าง เป็นเลิศ ได้มรรค ได้ผล เป็นเอก เป็นหนึ่ง" เอโก เอกี แปลว่า "ผู้เดียวก็ได้ เป็นเลิศก็ได้ เป็นหนึ่ง เด็ดเดี่ยวก็ได้" คือ "กระทำให้สำเร็จเป็นเลิศ เป็นหนึ่ง เป็นยอด"

เช่น กินอย่างเป็นเลิศ คือ กินอย่างสังวรสำรวม -ไม่เป็นทาสกิเลส -ประณีต -ประหยัด -เรียบร้อย - ถูกต้อง ตามเสขียวัตร ต่างๆ นานา อย่างนี้ก็เป็นเลิศ -เป็นเอก

อาตมาก็พยายามแย้ง จะไปแปลแต่ความหมาย ผู้เดียวไปหมด ก็เจ๊งพอดี !


๒๑ มหายาน

(อ่านต่อหน้า ๔)