page: 4/6

สารบัญ
ชุดเพชร
[1]

ภาค 1 ศาสนา

[2]

ภาค 2 ชีวิตและสังคม

[3]

ภาค 3 ฝึกตน

ชุดทับทิม
[4]
ภาค 1 ศาสนา

[5]
ภาค 2 ชีวิตและสังคม
[6]
ภาค 3 ฝึกตน

 

รินถ้อยร้อยธรรม... ชุดทับทิม

ดี-ชั่ว ??

หลักแห่งการตัดสินความดีและความชั่ว ขั้นสูงสุดของพุทธศาสนาคือ “ได้” กับ “เสีย” ได้มาหรือเราเอามานั่นคือ “ชั่ว” ถ้าเราเสียไป หรือสละไปให้ไปนั่นคือ “ดี”


พุทธแท้ๆ

ศาสนาพุทธไม่สอนอ้อนวอน ไม่สอนร้องขอ เพราะศาสนาพุทธไม่มี ”พระเจ้า” องค์ใดคอยเป็นผู้ประทาน มีแต่สอนให้ ”อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” ตนทำ ตนได้ ตนต้องช่วยตน ตนต้องพึ่งตน

ดังนั้น แม้ “พุทธานุสติ” ก็ไม่ใช่ไปกราบกรานอ้อนวอนร้องขอ “พระพุทธเจ้า” จงช่วยประทาน หรือจงช่วยบันดาลนั้นนี่มาให้

อย่าว่าแต่แค่ไปกราบกรานอ้อนวอนเอากับ”เทวดา”เลย เพราะ ”เทวดา” ยังต่ำกว่า”พระพุทธเจ้า” และแม้ถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มีลัทธิ”งอมืองอเท้า” หรือให้ฝึกตนเป็น”คนขี้ขอ”ไม่ พระองค์มีนโยบายให้ทุกคน”ช่วยตนเอง” ให้ได้ และยิ่งไปกว่านั้น ให้ช่วยผู้อื่นให้ได้อีกเป็นที่สุดด้วย


พระ

พระคือผู้ที่มีความดีชนิดที่คนธรรมดาๆมีได้ยาก ได้แก่การเสียสละ การไม่เห็นแก่ตัว และความมีปัญญา รู้ดี รู้ชั่วแท้ๆ แล้วทำตนให้ดีแท้โดยตรงคือ ตัดโลภะ โทสะ โมหะ จากสิ่งที่ตนไปหลงเสพย์อยู่ติดอยู่เสียได้


ใจของพระ

เราไม่อยากให้คนมาวัดแล้วก็คิดแต่จะให้เงินทำบุญ จนกลายเป็นประเพณี ผู้ที่ขัดสนทางด้านนี้ก็พลอยอึดอัดกลัดกลุ้มไปด้วย การมารับศีล รับธรรมไปปฏิบัตินั่นแหละคือ เป้าหมายที่แท้จริงของการมาวัด


พระดิ้น

การ”ดิ้น” หาเงินของพระ คือความล่มจมของศาสนาพุทธ พระ”หยุด”เกี่ยวข้องเรื่องหาเงินให้ได้ “หยุด”ใช้เงินให้ได้ต่างหาก คือ ความจรรโลงของศาสนาพุทธ


ให้ ให้ ให้

ผู้ที่ควรได้รับ “การให้” คือ

๑. ผู้ที่มีน้อยที่สุด
๒. ผู้ที่ต้องการมากที่สุดในวาระนั้น
๓. ผู้ที่จำเป็นมากที่สุดในวาระนั้น
๔. ผู้ที่จะนำไปต่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
๕. ผู้ที่เจริญปัญญา หรือผู้ทรงธรรมมากที่สุด


ตักบาตร (ขอมากได้บุญน้อย)

คนผู้ตักบาตรเป็นนิจ นั่นคือผู้ประพฤติธรรมแล้ว แต่จะได้ผลเป็น “บุญ”หรือไม่ ? ก็ขึ้นอยู่กับการทำจิตอย่างไร? ในตอนตักบาตรนั้นเท่านั้น ถ้าตั้งจิตขอนั่นขอนี่ในการตักบาตร นั่นคือผู้ตักบาตรนั้นยิ่งขอ ยิ่งไม่ได้”บุญ” ยิ่งอธิษฐานขอเอาโน่นเอานี่มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งไร้ผล”บุญ”ยิ่งเท่านั้นๆ ผู้ตักบาตรด้วยศรัทธาที่พร้อมด้วยปัญญาแท้ โดยไม่ต้อง”ขอ”อะไรเลย และพยายามตั้งจิตให้อยู่ในสภาพจิตสะอาด อย่าให้มีโลภะ โทสะ โมหะใดๆให้ได้อย่างละเอียดผุดผ่องทุกทีๆ นั่นแลคือผู้ได้ผล”บุญ” มากทุกครั้ง เพราะทำ “อธิษฐาน” ถูกภาษาถูกสัจธรรม เป็น”สัมมาอริยมรรค” (๒๒ พ.ค.๑๙)


ให้…ให้หมด

การได้”ให้”แก่ผู้อื่นเสมอ หรือผู้ได้ทำ”การเสียสละ”นั้น ก็เป็นคุณธรรมที่เลิศที่ยอดแล้วสำหรับผู้ทำ ยิ่งเราได้ให้หรือได้เสียสละด้วย”ปัญญา” ว่านี่สมควรหรือไม่สมควรแล้วจึง”ให้” จึง”เสีย” ก็ยิ่งเลิศ ยิ่งยอดยิ่ง และที่สุดเรา”ให้”ด้วยจิตสงบจิตเฉย “เสียสละ”ด้วยจิตเปล่า ไม่ต้องการอะไรมาตอบแทน “ให้” โดยไม่มีจิตคิดแลกเอาอะไร แม้แต่เพียงเผลอยึดเอาคุณธรรมความดีนี้ไว้เพื่ออวดอ้างข่มกับผู้อื่นก็ไม่มี ก็ยิ่งนั่นแหละคือ ยอดธรรมเลิศมนุษย์ สำหรับผู้ทำได้ เป็นได้


สุขที่สุด

“คน” ผู้มีความสุขที่สุดก็คือ ผู้ที่รู้ว่าตนเองกำลังเป็นผู้”ให้” หรือ “เสียสละ” แก่ผู้อื่นได้จริงที่สุด


บาป-บุญ

“บาป” คือ ความติด ความหลง ทำในสิ่งชั่วว่าดี หรือทำในสิ่งชั่ว ทั้งๆที่รู้ว่าชั่ว
“บุญ” คือ การชำระจิตจากความเห็นแก่ตัว ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงโง่งมงาย


ทำบุญ

ไกลวัดก็ทำบุญได้ ถ้าเข้าใจคำว่า “บุญ”ที่จะทำ

“บุญ หมายความว่า “ชำระกิเลส” ดังนั้นจงรู้กิเลสในตนแล้วตั้งใจชำระให้ได้ โดยตั้งกฎบังคับตนเอง “อย่าทำชั่ว” หรืออย่าตามใจกิเลสนั้นๆ เรียกการกระทำนี้ว่า “รักษาศีล” ทำได้ก็ได้ “บุญ” แท้ นี้ ๑ และ ทำ”ทาน”โดยให้กับใครก็ได้ที่สมควรก็เป็นบุญทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าทานแต่กับพระกับวัดจึงจะเรียก ”บุญ" นี้ ก็”บุญ”แท้อีก


  รินถ้อยร้อยธรรม ชุด ทับทิม
   [เลือกหนังสือ]
page: 4/6
   Asoke Network Thailand