page: 5/8

สารบัญ
ดวงดาว
[หน้า1]
ดวงคน
[หน้า2] [หน้า3]
ดวงธรรม
[หน้า4] [หน้า5] [หน้า6]
กรรมนิยม
ตามคติของชาวพุทธ
[หน้า7] [หน้า8]

 ดวงวิมุติ 

ผู้ใดทิ้งมาได้แล้ว ทิ้งจริงๆ จิตมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าจริงๆ เดินชนกองเงินเดี๋ยวนี้ ก็เฉยๆ จึงเรียกว่า “วิมุติ” หลุดไป ออกไป หมดไป

ในโลกนี้ จึงมีแต่ "การเสียไป กับ การได้มา” เท่านั้น

สร้างดวงปัญญา ด้วยการทำความเข้าใจให้ได้ว่า เราต้องทิ้งให้ได้ เสียสละให้ได้ แล้วเห็นความโลภ ที่มีตัวตนอยู่ในจิตมันลดลง เหลืออาการหวงแหน เสียดาย อาวรณ์ เป็นต้น อีกไหม? นี้ คือ ปัญญา

เท่าที่อธิบายมาก็พอรู้แล้วว่า จะต้องฝึกหัดสละ-ละทิ้งสิ่งใด

ยังเหลืออยู่ก็แต่ “ดวงวิมุติ” ของคุณยังไม่เกิดพลังจิต ไม่มีอำนาจพอจะทำได้ ก็จะต้องไปทำการทิ้งให้ได้ หลุดให้ได้ พ้นให้ได้ ต้องฝึกเอาเอง

จนจิตหมดอาวรณ์ หมดติด หมดยึดเป็นของตน หมดตัวตนธุลีสุดท้าย หมดอาสวะของความโลภ ด้วยปัญญาที่เห็นความหมด ความสูญตัวตน ของกิเลสนั้นๆจริง กระทั่งรู้แจ้งอารมณ์ ที่ว่างสนิทจากอาสวะ ว่าเป็นเช่นใด สงบ สบาย อย่างไร

นั่นคือ ดวงปัญญา ที่เห็นแจ้ง ดวงวิมุติ

“ดวงปัญญา” กับ “ดวงวิมุติ” ของพระพุทธเจ้า ก็ง่ายๆ แค่นี้

พระพุทธเจ้าท่านทิ้งสมบัติ -ทิ้งเครือญาติ -ทิ้งกามคุณ -ทิ้งภพอัตภาพ หรือ อัตตา -ทิ้งทุกอย่าง ให้เห็นเป็นตัวอย่าง

พระอรหันต์ทุกองค์ในสมัยพุทธกาล ท่านก็ทิ้งหมด บ้านช่องเรือนชาน ข้าวของสมบัติ ทิ้งกามคุณ ทิ้งอัตตาที่ติดตัวมา ท่านทิ้งมาจริงๆ

กรรมวิธีการฝึกตน

ในฐานะที่เป็น "พระ” จะฝึกอย่างไร?

ปพพชชะ คือ เว้นชั่ว,เว้นทั่ว หรือ ทิ้งของ ๔ อย่าง คือ ๑.ทรัพย์สมบัติ ๒.เครือญาติ ๓.กามคุณ ๔.อัตตา (ภพอัตภาพ)

ในฐานะที่เป็น “ฆราวาส” จะฝึกอย่างไร?

จะให้ทิ้งทรัพย์สมบัติยังไม่ได้ เพราะต้องมีไว้เป็นสิ่งเกื้อหนุน คอยช่วยชีวิต ชูชีวิต

แต่ก็ต้องพยายามเข้าใจให้ได้ว่า เรามีทรัพย์สมบัติส่วนเกินหรือเปล่า อะไรเกินความจำเป็นในชีวิต นอกเหนือปัจจัย ๔ ก็ทิ้งก่อน

ค่อยๆ เลาะออกไปจริงๆ เอาไว้เท่าที่สำคัญและจำเป็น ลดน้อยลงๆๆๆ เรียกว่า อัปปิจฉะ เป็นผู้เปลืองโลกให้น้อยที่สุด ใช้ของโลกน้อยที่สุด

สิ่งฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็นของชีวิต เอาออก

ดูหนัง ดูละคร ที่มอมเมา ดูการละเล่น เล่นหวย เล่นการพนัน ดื่มน้ำเมา ดูดบุหรี่ เที่ยวกลางคืน คบมิตรที่ยิ่งพาเสพพาหลงติด ในสิ่งที่ควรจะทิ้ง อย่าไปหลง

(โลกจะพยายามสร้างแบบอย่าง ลวงให้เอาทรัพย์สมบัติส่วนเกิน)

ถ้าทิ้งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ จะปฏิบัติธรรมให้เกิดธรรมปัญญา หรือ ดวงปัญญา ดวงวิมุติ ไม่ได้เลย ต้องทิ้งสิ่งเฟ้อพวกนี้ ให้ได้ก่อน แม้ปัจจัย ๔ ที่มีอยู่แล้ว ยังต้องค่อยๆ น้อยลงๆ ให้ได้

คนโง่ ด้วยเหตุใด

คน นี่แหละ โง่ที่สุด เพราะลุ่มหลงกับปัจจัย ๔ และสิ่งฟุ้งเฟ้อ

โดยเฉพาะผู้หญิง ถูกหลอกล่อให้รักสวยรักงาม ให้หลงตามแฟชั่น อย่างชนิดไม่รู้เท่าทัน

กี่ซับกี่ซ้อน ถูกล้วงตับกินไส้ขนาดหนัก แต่ผู้หญิงก็โง่ ต้องทำตาม และอยากทำตาม

เพราะ อาสวะภายในมันบันดาล (Subconcious)

อันคือสัญชาตญาณของกิเลสตัณหาในเมถุนธรรม ที่กรุ่นปรุงแรงอยู่ภายใน บังคับให้ทำอย่างนั้น เพื่อให้เพศตรงข้าม เกิดความกำหนัด และที่สุดก็ร่วมรสกัน นี้คือ ความจริง

ถ้าใครตัด เมถุนธรรม อันเป็นเรื่องใหญ่โตนี้ ออกไปได้ ก็จะไม่สิ้นเปลืองทรัพย์ เปลืองตัว เปลือยกายให้ใครเขาดู

สภาวะของเมถุนธรรมนี้ ร้ายกาจที่สุด มันครองโลก สร้างโลก และมันเป็นไปเพื่อโลก จิตติดยึดในกามคุณ ๕ สัมผัสขั้นหยาบที่สุด ก็คือ สัมผัสขึ้นเมถุนธรรม

พระพุทธเจ้าจึงหาหนทางทำลายเรื่องนี้ให้มากที่สุด พยายามแยกผู้หญิง กับผู้ชายให้มาก ผู้ที่มาบวชแล้ว ต้องเลิกเรื่องเมถุนธรรมเด็ดขาด เลิกแตะต้อง แค่ตัดเมถุนธรรม ยังทำไม่ได้เลย จะปฏิบัติธรรมสูงกว่านี้ ไม่ได้เป็นอันขาด

เพราะฉะนั้น ใครจะวิมุติอะไร ก็พยายามหาทางให้ตัวเอง ได้ฝึกหัดปฏิบัติ เพ่งจิต เรียนเข้าไป

ฝึกตนต้องใช้ศีลขัดเกลาตน

ศีล ๕ เป็นศีลขั้นพื้นฐานที่สุด ฐานะของฆราวาสท่านอนุญาตให้มีผัวมีเมียได้ แต่ห้ามผิดผัวเขา เมียเขา และลูกเขา หรือพี่น้องหญิงชาย ที่ผู้ปกครองเขาไม่อนุญาต ศีล ๕ จึงเป็นศีลของ พุทธศาสนิกชนทุกคน ทุกคนต้องรักษา ใครไม่มีศีล ๕ ยังไม่ใช่พุทธศาสนิกชนจริง

ประพฤติปฏิบัติศีล ๕ ให้ถึงธรรม แล้วจะเป็นอยู่สุข ในโลกธรรมดาๆ เป็นการเริ่มต้น สร้างดวงปัญญา และดวงวิมุติ

ศีล ๕ จึงเป็นศีลของคนในโลก ถ้ามีครบกันทุกคน ใครๆไม่ต้องปฏิบัติธรรม ให้สูงกว่านี้ก็ได้ โลกก็สงบสุขแล้ว

แต่เป็นไปไม่ได้ที่คนในโลกจะมีศีล ๕ ครบกันทุกคน จึงต้องมีคนปฏิบัติธรรม ให้สูงให้บริสุทธิ์ เพื่อจะมาสร้างสมดุลในโลก มาถ่วงไว้ จึงมีคนที่มีศีล ๘ และมีศีลยิ่งๆขึ้นไป

ศีลข้อที่ ๓ ของศีล ๘ เปลี่ยนเป็นอพรหมจริยา เลิกข้องเกี่ยวในเรื่องเมถุนธรรมเป็นหลักแรก ผู้หญิง ผู้ชายไม่แตะต้องกัน จะเห็นได้ว่า เมถุนธรรมเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับผู้จะเดินก้าวให้พ้นจากโลก

ต่อจากนั้น ศีลข้อที่ ๖,๗,๘ เป็นเรื่องของกามคุณ และภพอัตภาพ ที่ละเอียดสูงขึ้น

ศีลข้อที่ ๖ เรื่องกิน วิกาลโภชนาฯ ต้องพยายามละความติดยึด ในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส (กินก็เพียงเพื่อยังขันธ์ ให้ตั้งอยู่ได้ เพื่อสั่งสมกรรมดี)

ศีลข้อที่ ๗ นัจจะคีตะ วาทิตะ วิสูกทัสสนา ปฏิวิรโต โหติ มาลา คันธะ วิเลปนะ ธารณมัณฑนะวิภูสนัฏฐานาฯ ต่างๆ หลงใหลในรูปการละเล่น การแสดง ขับร้อง ฟ้อนรำ ฯลฯ

แม้การสวดด้วยภาษาคำร้องให้ไพเราะรื่นหู ชูใจ เป็นกลอนเป็นกาพย์ สิ่งเหล่านี้เป็นภัย เป็นรสชาติ เป็นกามคุณ ที่ต้องประมาณศึกษา

การสวดของพระอย่างมีท่วงทำนอง เสียงไพเราะเพราะพริ้ง เป็นวาทิตะ

กล่าวเป็นกาพย์กลอน มีปรุงมีแต่งเป็นรสของภาษา คล้องจอง ปั้นคำปรุงความ ได้รสของภาษา เจ้าบทเจ้ากลอนเป็นคีตะ

เดี๋ยวนี้กระทำกันจนติดเป็นจารีตประเพณี ติดสีลัพพตปรามาส ก็ไปติดแค่สำเนียงเสียง ของพระองค์นี้ให้ศีล เพราะเทศน์สำเนียง เสียงเพราะเหลือเกิน ซึ่งให้สำนวนเก่า คีตะเก่า แค่กล่าว “ปาณาติปาตา เวรมณี” แต่วาทิตะ อร่อยจริงๆ แล้วก็ติดสำเนียงของพระ สำนวน ลีลาของพระ เหมือนติดนักร้อง นักแหล่

บางองค์เวลาเทศน์ ก็ต้องบรรจงใส่ทำนองเอื้อนเอ่ย ผู้ที่ยังทำอยู่แสดงว่า ไม่เข้าใจทั้งสิ้น ใครยังมีท่วงทำนองลีลาอยู่ ก็ยังผิดศีลข้อคีตะ วาทิตะ

ทำไม? ต้องใส่ท่วงทำนองให้ไพเราะ พูดกันให้รู้เรื่อง ให้เข้าใจ ด้วยภาษาก็ได้ ว่าไปเลยด้วยเนื้อหาเรื่องอะไร

ยุคนี้ยุคจรวดแล้ว อย่าเสียเวลากับการเอื้อนเอ่ยให้เสียเวลา ต้องให้ได้เนื้อหาสาระอรรถะ ให้มันเร็วๆ เพื่อการบรรลุ มรรคผลนิพพาน

และการเอาตาลปัตรมาตั้งกันให้มีท่ามีทางมีลีลา ซึ่งเป็นเรื่องเสแสร้ง สร้างเสริมติดมานานเน เป็นเรื่องของ นัจจะ เป็นจารีตประเพณี ที่ควรละทิ้งเสีย มันเสียเวลาและไม่ได้ประโยชน์อะไร

วิสูกทัสสนา ต่างๆ สิ่งที่ทอดทัศนาอันเป็นข้าศึกของการดู ก็คือรูปนั่นเอง อันใดที่เป็นกิเลสตัณหาทางรูป อย่าไปมัวทอดทัศนา อย่าไปมัวดูมัน

คำว่า ทัศนะ หรือทัศนา ไม่ได้แปลว่า ดูอย่างเดียว ผัสสะ สัมผัสด้วยตา ด้วยหูก็ได้ คีตะ-วาทิตะ จึงคือทัศนาทางหู นัจจะ-คีตะ (ตัวหนังสือ) ทัศนาทางตา เห็นท่าทางด้วยรูป อย่าไปเอาข้าศึกที่เป็นกามคุณในทางหู ทางตา อย่าไปพอกไปเพิ่มมา

มาลา พระพุทธเจ้าท่านก็ห้ามแล้วในศีลข้อ ๗ นี้ แต่ไม่รู้กัน บูชาพระก็ต้องบูชาด้วยมาลาดอกไม้ หาเรื่องเหน็ดเหนื่อย เสียเงินกัน เป็นอามิสบูชา ท่านให้ ปฏิบัติบูชาต่างหาก คือการบูชาที่แท้จริง ของพระพุทธเจ้า

แม้พระองค์จวนจะปรินิพพาน พระองค์บรรทมอยู่ใต้ต้นสาละ ดอกสาละ ดอกมณฑารพ หล่นร่วงลงมา พระองค์ตรัสว่า ดอกไม้พวกนี้บูชาเรา เป็นเรื่องของโลก เป็นอามิสบูชา ศิษย์ตถาคต ต้องมีปฏิบัติบูชาเท่านั้นเป็นเอก

ไปตัดดอกไม้มาทำไมกัน เสียเวลา ดอกไม้บางดอก ให้ผลกินได้ แต่ก็ตัดเอามาให้เน่าทิ้งเล่น หรือไม่ก็แช่ให้เหม็น อยู่ในแจกัน

คันธะ หรือ กลิ่น เป็นเรื่องของจมูก จะบูชาพระ ก็ต้องเอาธูปหอมมาจุด เป็นความหลงคันธะทั้งนั้น ผิดศีล! นี่แหละคือไม่รู้ศีล เมื่อไม่รู้ศีลรู้พรต ว่าเป็นปรามาสอย่างนี้แล้ว ก็ทำกันผิดๆ ตลอดกาล

บางคนจะนั่งสมถะ วิปัสสนาหลับตา ต้องอาบน้ำหอมน้ำอบไทย โอดิโคโลญ์อะไรก็ตาม ก็เป็นการผิดศีล ตั้งแต่ต้นแล้ว

เพราะฉะนั้น จารีตประเพณีใดที่ผิดศีล ผิดธรรม ก็ควรรื้อถอน ถ้าไม่ผิดด้วยศีล ด้วยธรรม ก็รักษาเอาไว้

วิเลปนะ คือ เครื่องลูบไล้ทั้งหลาย ที่จะพอกจะทา

ธารณะ หมายความว่า ทรงไว้,รับเอาไว้ สิ่งใดจะรับเอามาให้ตน ให้พิจารณาให้ดี

อย่ารับมาใส่ไว้,ทรงไว้ ไม่ว่าของหอม ไม่ว่าของงาม ไม่ว่าของสวย ไม่ว่าของสัมผัสนุ่มเนียน ไม่เอาทั้งนั้น เครื่องตกแต่ง เครื่องประดับประดาอะไรทั้งหมด อย่าหลงมัณฑนะ

การปฏิบัติธรรมจะต้องรู้ในผัสสะ ในสัมผัสต่างๆ เพราะฉะนั้น อย่าเอาสัมผัสที่เป็นสุขอร่อย เพลิดเพลินเลย

ให้สัมผัสที่ทุกข์ๆหน่อย จะได้รู้รสทุกอริยสัจ จะเกิดทุกขอริยสัจ คือผัสสะของเวทนา ที่เป็นทุกขเวทนา คือ ทุกข์จริงๆ เกิดที่ตัวเรา ทุกข์ที่เกิดจากขันธธาตุ

วิภูสนัฏฐานา คือ สิ่งที่ตกแต่งอย่างใหญ่ ประดับแม้ยศชั้นฐานะ ทุกอย่างรวมความหมด

นัจจะคีตะ วาทิตะ เป็น “วิสูกทัสสนา” ทั้งสิ้น

มาลา คันธะ วิเลปนะ ธารณะมัณฑนะ เหล่านี้เป็น วิภูสนัฏฐานา เป็นเครื่องตกแต่งฐานะ ตกแต่งด้วย รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส อย่าไปหลงเป็นอันขาด เรียกว่าศีลข้อที่ ๗

ศีลข้อที่ ๘ อุจจาสยนะ มหาสยนา หมายความว่า สิ่งใดที่เราจะเอามารองรับตัวเรา อย่าไปสร้างให้ใหญ่โตหรูหรา ให้ไปหลงในสัมผัสของใหญ่ ความใหญ่ใดๆ

เพราะฉะนั้น ที่นั่ง ที่นอน ที่เดิน ที่ยืน ที่อยู่อาศัยใดๆ ทั้งนั้นให้พิจารณา เป็นไปโดยธรรม โดยความพอดี และน้อยที่สุดได้จึงดี

อุจจาสยนะ มหาสยนา แปลว่า ที่นั่ง-ที่นอนสูงใหญ่นั้น เป็นเครื่องกำหนดหยาบๆเท่านั้น เนื้อหานั้น ให้เรียนรู้ความติดยึด ในความใหญ่ ความสูงส่ง ที่ไปหลงอยู่

เพราะฉะนั้น การฝึกหัด ก็คือ ต้องตัดในเรื่องเหล่านี้


  ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม
 
มิติที่ 3 ญาตินิยม
page: 5/8
   Asoke Network Thailand
อ่านต่อ ธรรมาวุธในการประหารโลกีย์