วัดสำเหร่
page: 7/15
นายร้อยห้อยกระบี่

๗.บ้านสมเด็จ

แม่ไม่มีอะไรขัดใจ แต่แม่คงอยากพาลูกออกไปอยู่อย่างอิสระ จึงตัดสินใจลาออก จากบ้านคุณนาย พาผมไป อยู่กับยายตามเดิม

แม่ลาออกทั้งๆที่ไม่รู้ว่า ออกแล้ว จะไปทำมาหากินอะไร แต่แม่ก็มั่นใจว่า ด้วยความขยัน และไม่เลือกงาน มีหาบมีไม้คาน แม่คงพาชีวิต สองแม่ลูกรอดได้แน่

ผมทราบว่าตอนนั้นคุณนาย คุณหลวง และทุกคนในบ้าน ก็ไม่อยากให้แม่ผมออก เพราะแม่ขยัน และทำงานอะไร พิถีพิถัน เป็นระเบียบเรียบร้อย แม่เป็นคนเจ้าระเบียบ มาจนกระทั่งแก่ ใครทำอะไรให้ ไม่ถูกใจ แม่ติว่าไม่เป็นระเบียบ ไม่เรียบร้อย เหมือนดังใจ แม่ก็มักจะทำเสียเอง

ผมจำได้ว่า ตอนนั้น เป็นระยะปลายสงครามโลก ครั้งที่สอง กระสอบขาดตลาด น้าจำปา ลูกพี่ลูกน้อง ของแม่ พาเถ้าแก่โรงปอ ไปเปิดโรงปั่น ที่ใต้ถุนบ้านยาย การปั่นปอด้วยเครื่อง ที่ใช้เท้าถีบ เป็นอาชีพใหม่ ที่เราไม่เคย ทำกันมาก่อน ต้องมาหัด กันใหม่หมด

ไปรับปอแก้วและปอกระเจา จากเถ้าแก่ มาแช่น้ำ แล้วเอาไปสาง ให้เป็นฝอยๆ โดยครูดไปกับ ปลายตาปู ที่ตอกไว้เป็นแผง เสร็จแล้ว ก็เอาเข้าเครื่อง ปั่นให้เป็นเส้น ส่งให้เถ้าแก่ นำไป เข้าโรงงาน ทอเป็นกระสอบ อีกทีหนึ่ง

ปั่นทอหากินไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าจะได้เงินมาซื้อข้าว ลำบากแทบแย่ หัดอยู่หลายวัน กว่าจะใช้ได้ วันแรกๆ หาไม่พอกิน เพราะปอที่ปั่นออกมา เป็นตะปุ่มตะป่ำ เส้นไม่เรียบ เส้นอ้วนไปบ้าง ผอมไปบ้าง จึงถูกตัดค่าแรง

แม่กับผมต้องทนฝึกปั่นปอไปร่วมเดือน ได้เงินนิดๆหน่อยๆ ค่าจ้างจากบ้านคุณนาย ที่แม่เก็บหอม รอมริบไว้ ก็ร่อยหรอลงทุกที เราใกล้จะไม่มีอะไรกิน ต้องเปลี่ยนกับข้าว จากไข่เจียว มาเป็นไส้หมู ผัดเค็ม

ซื้อไส้หมู ๑ ขีด มาผัดใส่น้ำปลา ให้เค็มๆ เคี้ยวไปกลืนข้าวไป แต่ไม่ยอมกลืน ไส้หมูง่ายๆ เพียง ๑ ขีด แม่กับผม ก็กินข้าว ไปได้หลายวัน

ส่วนขนมก็ไม่พ้นแป้งเปียก หรือเม็ดแมงลักใส่น้ำตาล เป็นขนม ที่ราคาถูกที่สุด ไม่มีอะไร จะถูก ไปกว่านี้อีกแล้ว

ซื้อแป้งมันมาละลายน้ำเอาขึ้นตั้งบนเตาไฟ แป้งเมื่อสุก จะเปลี่ยนจากสีขาวขุ่น เป็นสีใสๆ ก็เอาน้ำตาลปีบ เติมลงไป หวานมากหวานน้อย ตามต้องการ ขนมอีกอย่างหนึ่ง ก็ทำไม่ยาก ไปซื้อเมล็ดแมงลัก มากำมือหนึ่ง ก็เหลือที่จะพอ เวลาเอาแช่น้ำ จะพองโต เติมน้ำตาลเข้าไป เป็นใช้ได้

เวลานี้ผมเห็นแป้งเปียก เห็นเม็ดแมงลัก ยังอดนึกถึงขนม ในวัยเด็กไม่ได้

เดือนต่อๆมา มีความชำนาญในการปั่นปอมากขึ้น ค่าแรงค่อยพอซื้อข้าว ซื้อกับ ตอนหลังๆ ผมปั่นปอคล่อง ถึงขนาด ใช้เท้าถีบเท้าเดียว บางครั้ง ปั่นปอไปด้วย ดูหนังสือไปด้วย

ผมเร่งหาเงิน ถึงขนาดนิ้วชี้นิ้วมือซ้าย ที่รีดปอส่งเข้ากระสวย ถูกปอครูดเนื้อสึก จนเกือบ ถึงกระดูก ต้องหยุดพัก เป็นครั้งคราว เวลานิ้วถูกน้ำ รู้สึกแสบๆ ต้องทนไป หยุดพักนาน ก็ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เหตุการณ์บังคับ ให้ผมต้องเป็นคนอดทน มาตั้งแต่เด็ก

โรงเรียนบ้านสมเด็จ นอกจากวิชาจะแข็งแล้ว กีฬายังเก่งมากอีกด้วย โดยเฉพาะฟุตบอล สมกับเพลง ที่พวกเราไปร้อง เพื่อให้กำลังใจนักกีฬา

“ม่วงขาวบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ยืนสง่าในท้องสนาม บ้านสมเด็จเจ้าพระยาลือนาม ไม่คร้ามเข็ด ต่อผู้ใด” ผมยังจำได้ถึงเดี๋ยวนี้

ผมไม่ใคร่มีเวลาไปดูฟุตบอลเหมือนเพื่อนคนอื่น เย็นลงก็รีบกลับ ไปปั่นปอหาเงิน บางครั้ง ก็คิดตามประสา เด็กๆว่า โลกนี้ไม่ยุติธรรม ทำไมผมถึงต้องลำบาก ต้องเหนื่อย ต้องยาก กว่าเพื่อนคนอื่นๆ

“ชีวิตบางคนรุ่งเรืองจำเริญ แสนเพลิน เหมือนเดินอยู่บนหนทางวิมาน”

ผมยังจำได้ เย็นวันหนึ่ง หาญ อั๋นวงษ์ เพื่อนผม ซึ่งเป็นลูกนายตำรวจ เป็นเพื่อนร่วมชั้น เป็นชาวสำเหร่ ด้วยกัน แม่เราทั้งสอง ก็เป็นเพื่อนกัน วันนั้นหาญ ไปยืนเกาะรั้ว อยู่ที่โรงปอ ใต้ถุนบ้านยาย ชวนผม ดึงผม ให้ไปดู ฟุตบอลนัดสำคัญ ระหว่างบ้านสมเด็จ กับอัสสัมชัญ

“หาญไปเองเถิด เราอยากไป แต่ไปไม่ได้จริงๆ ต้องช่วยแม่ปั่นปอ เพื่อเอาเงิน ไปซื้อข้าวกิน” ผมบอกเพื่อนไปตรงๆ ขอบใจเขา ที่นึกถึงผม อยากให้ผมได้สนุก เหมือนคนอื่นบ้าง หาญโตขึ้น เป็นนายตำรวจ เจริญรอยตามพ่อ ผมพบหาญ ครั้งสุดท้าย ตอนที่ผมเป็น เลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ตอนนั้นหาญ เป็นสารวัตรใหญ่ ที่ห้วยขวาง

โรงเรียนเทศบาลวัดสำเหร่ ไม่มีเรียนภาษาอังกฤษเลย พอเข้าบ้านสมเด็จ เรียนเอาๆ เพราะถือว่า ทุกคนเรียนมาแล้ว ผมอาศัยเรียนพิเศษกับตา ซึ่งเป็นบุรุษไปรษณีย์ ขยันท่องศัพท์ ท่องไวยากรณ์ พอสอบประจำเดือน เดือนแรก ผมได้คะแนนภาษาอังกฤษ เป็นที่ ๔ เดือนต่อไป เขยิบมาเป็นที่ ๓ ที่ ๒ และที่ ๑ มาเรื่อย ไม่ว่าจะเป็น การสอบ ประจำเดือน หรือสอบไล่ปลายปี จนกระทั่งจบ ม.๖ ส่วนคะแนนรวม ทุกวิชา ในการสอบไล่ ปลายปี ผมสอบได้ที่ ๑ ตลอด ๖ ปี

ขณะนี้ บางครั้งเวลาผมได้รับเชิญให้ไปพูดกับนักเรียน ผมมักจะเสนอ รางวัลที่น่าสนใจ

“หนูๆครับ วันนี้ลุงพกรางวัลมาเยอะ แจกไม่อั้น หนูที่เรียนเก่ง รับรางวัลจากลุง ได้ทุกคน” เด็กเก่งๆฟังกันหูผึ่ง

“ฟังให้ดีนะครับ ใครเรียนเก่งกว่าลุง ออกมารับรางวัลทันที ลุงเรียนชั้นมัธยม สอบได้ที่ ๑ ทุกปี”

พออยู่ชั้นมัธยมเลิกใช้กระดาษชนวน ต้องใช้สมุดตามข้อบังคับ ตอนเลิกสงครามใหม่ๆ กระดาษ ขาดแคลน ราคาแพงมาก ผมได้อาศัย กระดาษถุงเมล์ไปรษณีย์ ที่เขาทิ้งแล้ว โดยขอให้ตา เก็บมา ผมใช้ของหนักๆ ทับให้กระดาษ หายย่นยู่ยี่ แล้วเย็บเป็นเล่ม ด้วยเข็ม และด้ายเย็บผ้า ตัดให้เท่ากับ ขนาดที่ทางโรงเรียนกำหนด สมุดของผม ต่างจากเพื่อน คนอื่นๆ ของเพื่อนสีขาวๆ ส่วนของผม กระดาษสีน้ำตาล ครูก็ไม่ว่าอะไร

แต่ที่ครูว่า และผมแก้ไขไม่ได้อยู่นาน ต้องถูกครูเฆี่ยน ก็คือเรื่อง ไม่ใส่รองเท้า รองเท้าผ้าใบ แม้จะถูกกว่า รองเท้าหนัง ผมก็ไม่มีเงินซื้อ ไม่มีจริงๆ ข้าวก็แทบจะ ไม่มีเงินซื้อกินอยู่แล้ว ผมจะเอาเงิน ที่ไหน ไปซื้อรองเท้า

ไม่ใส่รองเท้า ต้องถูกครูตี ระเบียบมีว่าอย่างนั้น ครูตี ผมก็ต้องทน และโกรธไม่ได้ ครูตีตามระเบียบ ครูไม่ได้ตีเพราะโกรธผม ผมใส่กางเกง ที่ทำด้วยผ้าใบหนาๆ ไม่ใคร่เจ็บ เท่าไร กางเกงอย่างนั้น สมัยเลิกสงครามโลก ครั้งที่สองใหม่ๆ นิยมใส่กันมาก ทั้งหนา ทั้งแข็ง เวลาถอดออกมา วางตั้งบนพื้น ได้เอง

ผมถูกครูตีหลายครั้ง เมื่อทางบ้านมีเงิน พอที่จะซื้อรองเท้า ผมก็รอดตัว รองเท้าผ้าใบ สีน้ำตาลคู่แรก ผมยังจำลักษณะได้ ตรงหัวรองเท้า มียางหุ้มหนาๆ แต่ใส่จริงไม่นาน นิ้วก้อยก็โผล่ ทะลุผ้าใบ มีคู่เดียว ไม่มีคู่อื่นใส่เปลี่ยน แม้จะซักบ่อยๆ ก็เหม็นอยู่ดี เห็นรองเท้าหนัง ที่เพื่อนๆเขาใส่กัน ไม่มีกลิ่นเลย ไม่อบ ใส่สบาย

พ่อโชตน์ใจดี พาไปซื้อรองเท้าหนัง คู่แรกในชีวิต ที่เวิ้งนครเกษม แม้จะเป็นรองเท้าเก่า ที่ใช้แล้ว แต่ดีกว่า รองเท้าผ้าใบ ใหม่ๆมาก ใช้ไปๆ พื้นสึกเท่านั้น นิ้วไม่โผล่ ใช้สบายไปนาน

นึกถึงเรื่องนี้ทีไร บางครั้งผมก็ภูมิใจ เพราะครูที่ตีผม ท่านเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ และต่อมา ได้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คืออาจารย์จรูญ วงศายัณห์

ผมเรียนเก่งเพราะขยัน ว่างเป็นทำการบ้าน ว่างเป็นดูหนังสือ อยู่บ้านเสียงจ้อกแจ้กจอแจ ผมก็ปีนขึ้นไป ดูหนังสือ บนต้นตะขบสูงใหญ่ หน้าบ้านน้าสาว ความตั้งใจของผม ก็คือ จะต้องสอบที่ ๑ ให้ได้ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อนผมบางคน แอบลอกแบบเวลาสอบ ผมเฉยไม่ฟ้องครู แต่ขยันเพิ่มขึ้น และเอาชนะ ได้ทุกครั้ง

ต่อมาเมื่อกระสอบหายขาดแคลน โรงงานปอใต้ถุนบ้านยาย เลิกกิจการ ผมและญาติๆ ตกงาน ไปตามๆกัน น้าบุญรอด น้องสาวคนเดียวของแม่ เป็นคนหัวไว ถนัดในการ ทำมาค้าขาย แนะให้เย็บ กระทงใบตองแห้ง มีเท่าไร รับซื้อหมด โดยน้าบุญรอด หาบไป ขายส่ง ตามร้านอาหาร แถวเวิ้งนครเกษม และ แถววรจักร

“คนเฒ่าคนแก่บอกว่า หมายังไม่อดตาย แล้วเราจะกลัวไปทำไม ขอให้ขยัน และไม่เลือกงาน เป็นใช้ได้” น้าบุญรอดสอน และให้กำลังใจผม

เย็บกระทงใบตองแห้ง ต่างกับการปั่นปอ เช้าขึ้นต้องรีบออก ไปตัดใบตองแห้ง ไปกัน เป็นสายๆ สายละสามสี่คน จากสำเหร่ เราเดินไปตัดใบตองแห้ง ถึงดาวคะนอง บางปะกอก บางปะแก้ว บางขุนเทียน มัดเป็นกองโตๆ แล้วเอาไม้คาน หาบกลับมา ถึงบ้านก็เอามีดคมๆ มาเจียนเป็นแผ่น กลมๆบ้าง เหลี่ยมบ้าง ตามขนาด ที่ตลาดต้องการ เอาไม้ไผ่มาเหลา และตัดเป็นไม้กลัด

วันธรรมดาแม่จะออกไปหาใบตอง ผมไปไม่ได้ เพราะกว่าจะกลับก็สาย ไปโรงเรียนไม่ทัน ผมช่วยเย็บ กระทง ทั้งก่อนไปโรงเรียน และกลับจากโรงเรียน เย็บๆไป ผมก็มีความชำนาญ เหมือนกับปั่นปอ คือดูหนังสือ ควบคู่กันไปด้วย ผมกำหนดเอาเองว่า ก่อนไปโรงเรียน จะต้องเย็บกระทง ให้ได้เท่าไร กลับจากโรงเรียน จะต้องมาเย็บเพิ่ม อีกเท่าไร วันหนึ่งๆ ได้เป็นพันๆใบ พอค่าข้าวค่ากับ

ขณะนี้หลายคนแปลกใจ ที่เห็นผมเย็บกระทงห่อหมกเก่ง ผมท้าทายได้เลยว่า ไม่มีใคร ในชมรม มังสวิรัติฯ ที่เย็บกระทงได้เร็ว และสวยเท่าผม แม้ผมจะเป็นผู้ชายก็ตาม เพราะ ผมเคยทำ มามากแล้ว เรียกว่า เคยสั่งสมมา ตั้งแต่ปางก่อน

วันหยุดผมมีนัดกับน้าชาย ชื่อบุญลอบ ลูกของยายผมอีกคนหนึ่ง น้าบุญลอบ แก่กว่าผม ปีเดียว เป็นทั้งน้า เป็นทั้งเพื่อน น้าบุญลอบเรียนที่ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เราไปตัด ใบตองแห้งกัน เดินจากสำเหร่ ไปตามถนนตากสิน ถึงดาวคะนอง เป็นอย่างน้อย ต้องเข้าไป ในสวนลึกๆ ใบตองแห้งส่วนใหญ่ เขาไม่เอาไปใช้ ชาวสวนทิ้งไว้เปื่อยคาต้น เราก็ถือวิสาสะ ไปตัดมา ที่จริงก็ต้องเรียกว่า ขโมย เพราะไม่ได้ ขอเขาก่อน นึกเอาเองว่า ขโมยของ ที่เขาไม่ใช้ ไม่น่าจะผิด

เวลาตัดใบตองแห้ง บางครั้งเจ้าของออกมาเจอ ยิ้มไม่ว่าอะไร ถ้าเจอเจ้าของ ที่หวงมากๆ เขาก็ด่า เขาก็ไล่ วิธีดีที่สุด ก็คือ อย่าให้เห็นได้เป็นดี เพราะไม่รู้ว่า หวงหรือไม่หวง

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังให้มาก ก็คือหมา หมาสวนไหน ดุทั้งนั้น ทั้งเห่า ทั้งไล่กัด วิ่งหนี ขึ้นต้นไม้ เกือบไม่ทัน บางทีหนี ขึ้นต้นไม้ไปแล้ว ไม่รกหูรกตามันแล้ว ก็ยังไม่วาย เฝ้าอยู่ โคนต้นไม้ ตั้งนาน กว่าจะเลิกรากันไป

ตัดใบตองแห้งเสร็จ ถ้าไม่มากนัก เราก็เอาขึ้นหัว เดินแบกกลับบ้าน กว่าจะถึงสำเหร่ ก็พักหลายหน เพราะระยะทาง ไกลไม่น้อย เดินฝ่าแดด มาบนถนนคอนกรีต ร้อนน่าดู

เด็กๆ ในชั้นที่เรียนอยู่ด้วยกัน ที่บ้านสมเด็จ ผมจนกว่าเพื่อน แต่เราก็ไม่ได้แบ่ง ว่าใครมี ใครจน เพียงแต่ว่า เรามีของใช้ของกิน ไม่เท่ากันเท่านั้น

สมจำนงค์ ฐานะทางบ้านดีกว่าเพื่อน เป็นลูกหลานท่านขุน ตอนอยู่ชั้นมัธยมต้น มีคนไปส่ง ถึงโรงเรียนทุกวัน สะดวกสบายเกินไป จึงไม่ใคร่ตั้งใจเรียน อีกคนหนึ่งคือ ไพโรจน์ หรือ ชื่อเล่นๆ เรียกว่า “แบะ” นี่ก็ฐานะทางบ้านดีเช่นกัน

ในปีแรกๆที่ผมเป็นผู้ว่าฯ ออกพบประชาชน ที่วัดใหญ่ศรีสุพรรณ เขตธนบุรี ขณะที่ประชาชน กำลังนั่งฟังดนตรี ก่อนผมจะขึ้นไป ตอบปัญหาชาวบ้านนั้น มีชายคนหนึ่ง เมาสิ้นดี ยืนแอ่นไป แอ่นมา รำป้อ อยู่กลางหมู่ประชาชน

ผมจำได้แม่น ไม่ใช่ใคร ไพโรจน์เพื่อนผมนั่นเอง เขาเรียนไม่จบ งานการไม่ทำ เอาแต่เมา ทุกวัน จากกันไป ๔๐ กว่าปี เพิ่งจะมาเจอกัน

ผมเดินเข้าไปทัก แบะดีใจมาก ที่ผมยังจำเขาได้ แต่ดีใจอย่างไร ก็ทำให้เขา หายเมาไม่ได้

“พี่น้องประชาชนเขตธนบุรีครับ ผู้ที่เมาเอะอะ อยู่ในขณะนี้ เขาเมาไปอย่างนั้นเองครับ ไม่ทำร้าย ไม่เป็นพิษ เป็นภัยกับใคร ผมรู้จักเขามานาน ชื่อไพโรจน์ เพื่อนผมเอง เราเรียนอยู่ โรงเรียนบ้าน สมเด็จด้วยกัน ผมดีใจที่วันนี้ นอกจากได้พบปะ ท่านทั้งหลายแล้ว ยังได้พบ เพื่อนเก่าผมอีก”

เย็นวันนั้น ตอนเดินทางกลับบ้าน ผมคิดถึงแบะตลอดทาง แบะเป็นเด็ก ที่แม่รักมาก ต้องการอะไร ก็ซื้อหามาให้ เขาเคยพูดถึงแม่ ให้ผมฟัง เขารักบูชาแม่มาก แต่อะไรไม่รู้ ทำให้เสียคน ในเวลาต่อมา

ผมกลับไปพบประชาชนที่นั่นอีกที เมื่อครบสามปี ของการเป็นผู้ว่าฯ แต่ผมไม่เจอแบะ เขาอาจจะติดธุระ ไม่มีเวลา ไปพบเพื่อนเก่าของเขา หรือเขาอาจ จะเป็นอะไรไปแล้วก็ได้ ถึงอย่างไร เราก็เป็นเพื่อนกัน เคยเรียน เคยเล่นมาด้วยกัน ผู้ว่าฯหรือ ชาวบ้านธรรมดาๆ ก็เหมือนกัน

เมื่อสองปีก่อน คุณพูนศรี เจริญพงศ์ นักร้องชื่อดัง ชวนผมไปอัดเทปสนทนา กับคุณไพบูลย์ สุภวารี อดีตนายก สมาคมนักดนตรี ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งสองท่าน คะยั้น คะยอ จะฝึกร้องเพลง ให้ผม โดยยืนยันว่าเสียงอย่างผมนี้ ร้องเพลงได้แน่ แม้ผมจะชอบเพลง แต่ก็ไม่คิดจะร้อง ยิ่งมาถือศีล ๘ ยิ่งหมดสิทธิ์ อย่างดีก็ร้องเพลงชาติ และเพลง สรรเสริญ พระบารมี ตามหน้าที่

ผมก็ยืนยันว่า ถ้าผมร้องเพลงละก็ เกิดเรื่องแน่ ข้าวเปลือกจะถูก ข้าวสารจะแพง ชาวเมือง จะวุ่นวายไปหมด

พี่โจ๊ว คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ก็อีกคนหนึ่ง จะให้ผมร้องเพลงให้ได้ ผมก็ต้องขอบพระคุณ และขอตัว ผมรู้ตัวดีว่า บางอย่างนั้น ผมทำไม่ได้ ต่อให้ใครต่อใครช่วย ผมก็ทำไม่ได้ เช่น ถ้าจะให้ผม ร้องเพลงให้ไพเราะ เพราะพริ้ง เพียงครึ่งหนึ่ง ของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง ชาตินี้ทั้งชาติ ผมก็ทำไม่ได้

สมัยเป็นเด็ก ผมร้องเพลง มานักต่อนักแล้ว ผมเป็นลูกศิษย์ครูเจริญ ครูสอนขับร้อง ของโรงเรียนบ้านสมเด็จ หลังเลิกเรียน ครูพาพวกเรา ไปออกงานบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ หรือ งานบวชนาค ไปกับวงแตรวง ของโรงเรียน ผมและเพื่อนๆ ร้องเพลงหมู่ เวลาร้อง ต้องมีครูเจริญ คอยให้จังหวะด้วย ไม่อย่างนั้น ร้องไม่ได้อีก

เป็นนักร้องดีอยู่อย่างหนึ่ง ไปงานไหน เจ้าภาพงานนั้นเป็นต้องเลี้ยง ประหยัด ไม่ต้องกินข้าว ที่บ้าน แถมบางทีเขาสงสารเด็กๆอย่างพวกเรา ร้องเสร็จให้เงินไปซื้อขนมกินอีกด้วย

เป็นผู้ว่าฯ ผมสนใจทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการศึกษา ของเด็กชั้นประถม ในสังกัด กทม. ผมริเริ่มอะไรๆ หลายอย่างให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อะไรที่ผู้ว่าฯ คนก่อนๆ เขาริเริ่มไว้ดี ผมก็สานต่อ

เด็กนักเรียนกทม. เล่นดนตรีเก่ง เห็นการแต่งเนื้อแต่งตัวปอนๆ อย่างนั้นเถอะ เอาวงดนตรีไทย ๔๐ กว่าวง นักดนตรี ประมาณ ๔๐๐ คน มาบรรเลงพร้อมกัน อย่างเพราะพริ้ง สมกับชื่อ “มหกรรมดนตรีไทย” จริงๆ

ในปีสุดท้ายที่ผมเป็นผู้ว่าฯ การแสดงของนักเรียน ที่คั่นการแสดงดนตรีนั้น นอกจาก จะมีระบำ รำฟ้อน ตามปกติแล้ว ยังมีโขนอีกด้วย

โขนผู้ใหญ่มาเจอโขนเด็กเข้าต้องชิดซ้าย เด็กเล่นได้แคล่วคล่องว่องไว สมบทบาท อย่างไม่น่าเชื่อ น่าดูกว่า น่ารักกว่าโขนผู้ใหญ่ เป็นไหนๆ

นักเรียนที่เล่นโขน มาจากโรงเรียนวัดมหรรณพ์ เกือบทั้งหมด มีผู้แสดงเป็นตัวนาง เพียงคนเดียว ที่มาจากโรงเรียนวัดมกุฏฯ ครูสมศักดิ์ ก็พาเด็กไปแสดง ในที่ต่างๆ เล่นกลองยาวบ้าง หมากรุกคนบ้าง เจ้าภาพ นอกจากจะจัดอาหาร เลี้ยงแล้ว ยังแถมแจกเงิน กับเด็กๆ ด้วยความเอ็นดู เห็นครูสมศักดิ์ทีไร ก็นึกถึงครูเจริญ ของผมทีนั้น

ผมอยากเป็นนักดนตรี อยากเป่าแตร อย่างเพื่อนๆบ้าง ครูเจริญสอนเท่าไรๆ ผมก็เป่าไม่ได้ เป่าแล้วเวียนหัว สู้อำพลเพื่อนผมไม่ได้ ตัวเล็กกว่าผม เป่าได้ทั้งแคริเน็ท และแซ็กโซโฟน ผมคิดเข้าข้างตัวเองว่า เป่าแตร ใช้ลมมาก กว่าจะเป่าออกมา เป็นเสียงแต่ละที ลมหมดไป ไม่รู้เท่าไร ไม่คุ้มกันเลย เป่าไม่เป็น ก็ดีแล้ว

ผมอยากตีระนาดเอก นอกจากจะเพราะแล้ว เวลานั่งตี ดูสง่าไม่น้อย จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่มีโอกาสหัด ได้แต่ฟัง มาจนบัดนี้ เคยหัดเอง อยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อตอนน้าสายหยุด ไปหาไม้ไผ่ มาทำเป็น รางระนาด ผมตีเพลง สรรเสริญพระบารมี ได้ไม่ถึงครึ่งเพลง ก็เลิก

เวลานี้เด็กๆถามว่าผมชอบดนตรีไทยอะไร ผมก็ยังยืนยันอย่างเดิมว่า ชอบระนาด

นอกจากอยากเป็นนักดนตรีแล้ว ผมก็ยังอยากเป็นนักกีฬาอีกด้วย ผมชอบเล่น ฟุตบอล ซึ่งสมัยก่อน ทำด้วยหนังควาย แท้ๆ ลูกเบ้อเริ่ม เป็นเพราะตอนนั้น ผมตัวเล็ก หรืออย่างไรไม่รู้ จึงเห็นลูกฟุตบอล ใหญ่กว่าเดี๋ยวนี้มาก ผมเล่นฟุตบอล ใช้แต่กำลังอย่างเดียว โถมเข้าไป พยายามเท่าไร ก็เล่นไม่ได้ดี เงื้อเท้าเสียเต็มที่ เตะไปได้ใกล้นิดเดียว สู้ประยงค์ เพื่อนผม ไม่ได้ ผิดกันลิบลับ ประยงค์ย้ายมาจาก อัสสัมชัญ เป็นดาราฟุตบอล ของบ้านสมเด็จ

เล่นฟุตบอลไม่ได้เรื่อง หันมาลองบาสเก็ตบอล ครูไมตรี นอกจากจะสอน คณิตศาสตร์ เก่งแล้ว ยังสอน บาสเก็ตบอลเก่งอีกด้วย ผมเรียน และฝึกพร้อมๆ กับเพื่อน แต่ผมดูเหมือน จะเล่นได้โหล่สุด นิรดมตัวเท่าๆ กับผม เรียนรู้ได้เร็วกว่า เล่นได้ดีกว่า นิรดมเป็น นายพลตำรวจ ตอนนี้คงเล่นสู้ผมไม่ได้ เพราะถูก ผู้ก่อการร้าย ยิงนิ้วขาดไปนิ้วหนึ่ง เมื่อตอนไปเป็นตำรวจ อยู่ที่สตูล

ผมเล่นกีฬาอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง แม้จะชอบ และพยายามฝึกเท่าไรก็ตาม ฝืนเท่าไรๆ ไปไม่ไหว เลยเลิกล้ม ความตั้งใจ อยู่เป็นคนดูดีกว่า

ตอนอยู่บ้านคุณนาย อาจารย์สุวรรณ สมัยที่ยังเรียนหนังสือ ที่อำนวยศิลป์อยู่ เคยเอ่ยชื่อ นักกีฬาดีเด่น ให้ผมฟัง ด้วยความชื่นชมบ่อยๆ บางคนชื่อเดียวกับผม แต่คนละนามสกุล ผมจึงใฝ่ฝัน อยากเป็น นักกีฬาเยี่ยมๆ ให้คนอื่นรู้จักบ้าง

แม่ให้เงินผมไปโรงเรียนวันละ ๕ สตางค์ ผมใช้ ๓ สตางค์ เหลือวันละ ๒ สตางค์ เอาข้าวไป จากบ้าน ซื้อก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย ชามหนึ่งราคา ๒ สตางค์ เพื่อกินกับข้าว ที่จริงเป็น ก๋วยเตี๋ยวเศษเนื้อ มีเอ็นเหนียวๆ ติดมาด้วย ยิ่งเหนียวยิ่งดี ยิ่งพาข้าวเข้าท้องได้มาก เหมือนอย่างที่กินข้าว กับตือฮวนผัดเค็ม ที่บ้าน ส่วนอีกสตางค์หนึ่ง ซื้อมันเชื่อมเสียบไม้ เป็นมันเทศแผ่นกลมๆ ผ่าตามขวางบางๆ ๓ แผ่น อาหารกลางวัน ของผมซ้ำกัน อย่างนั้นทุกวัน ไม่มีเบื่อ กลัวอย่างเดียว คือ ไม่มีกิน

รุ่นผมโชคดีที่มีครูแข็งๆ โดยเฉพาะครูไมตรี กับครูสุภร ซึ่งผลัดกัน เป็นครูประจำชั้นผม คนละปี คณิตศาสตร์ ที่ยากๆ ท่านสอนให้เรา เข้าใจง่ายๆ แบบฝึกหัดยาก แค่ไหน เราทำได้หมด ท่านทุ่มเทจริงๆ เวลาเราจบ ม.๖ จึงสอบเข้าเรียนต่อสูงๆ ได้ทันทีหลายคน ซึ่งนักเรียน ทั้งชั้นของเรา มีทั้งหมด ประมาณ ๓๐ คนเท่านั้น

“ช.ช้าง” ตอนต้นชอบตำรวจมาก อยากเป็นตำรวจเหมือนพี่ชาย ซึ่งยศครั้งสุดท้ายคือ พลตำรวจโทประยูร โกมารกุล ชอบร้องเพลง มาร์ชตำรวจ “ชาติชายต้องไว้ลาย ตำรวจไทย” ก่อนจบจากบ้านสมเด็จ ช.ช้าง จึงเปลี่ยนชื่อ เป็นชาติชาย เปลี่ยนได้เก๋ไก๋มาก แต่ไม่น่าทึ่งเหมือนชื่อแรก สอบเข้าโรงเรียน เตรียมอุดม แล้วต่อโรงเรียน นายเรืออากาศ แทนที่จะต่อ นายร้อยตำรวจ ต่อมาเป็นครู โรงเรียนการบิน เคยขับเฮลิคอปเตอร์ ให้ผมนั่ง เมื่อตอนที่ผมฝึก อยู่ที่เมืองกาญจน์ เพื่อเตรียมตัวไปรบ ที่เวียดนาม ผมกลับจากเวียดนาม ได้ไม่นาน ช.ช้างก็เสียชีวิต เพราะเครื่องบินตก

“สุขา” เป็นอีกคนหนึ่งที่เปลี่ยนชื่อ ซึ่งใครๆเห็นด้วยทั้งนั้น ถ้ายังขืนชื่อเดิม เป็นผู้ใหญ่ คงไม่สวยแน่ สุขาเปลี่ยนเป็นโกวิทย์ ส่วนที่เปลี่ยนนามสกุล มีคนเดียว คือผม เพราะ จดทะเบียน เป็นบุตรบุญธรรม

โกวิทย์ ประพันธ์ นิรดม ผม เข้าเตรียมนายร้อย สัจจา และเฉลียว สอบเข้าได้ในปีต่อมา ส่วน หาญ พีระ และวีระ อีกสองวีระ เข้าเป็นนายตำรวจได้ อำพล ประสิทธิ์ และวราห์ เรียนอยู่ ในเกณฑ์เยี่ยม จะสอบเข้าอะไร ก็เข้าได้ แต่ไม่เอา

โดยสัดส่วนที่เทียบจากนักเรียนทั้งชั้นแล้ว จะมีนักเรียนสักกี่รุ่น ที่เรียนเก่ง เท่ากับรุ่นผม ทั้งนี้ เพราะเราโชคดี ได้โรงเรียนดี ครูดี ซึ่งเราภูมิใจ อยู่จนถึงวันนี้

ครูดีอย่างครูไมตรี และครูสุภรนั้น ท่านไม่ได้เข้มงวด แต่วิชาความรู้อย่างเดียว ท่านกวดขัน เรื่องความประพฤติ ของศิษย์อย่างเคร่งครัด เมื่อทำผิด เตือนแล้วไม่เข็ดหลาบ ก็ลงโทษ นักเรียนจะโกรธ จะเกลียด ท่านไม่คำนึงถึง ขอให้ลูกศิษย์ เป็นคนมีความรู้ คู่ความดี

อยากให้ชาติของเรามีอนาคตดี

โรงเรียนดี ครูดี ต้องช่วยให้มีมากๆ.

ชีวิตจำลอง
   [เลือกหนังสือ]
วัดสำเหร่
page: 7/15
นายร้อยห้อยกระบี่
   Asoke Network Thailand