๙. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๒๔

หยุดพักชั่วคราว

ตอนค่ำของ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ผู้แทนอาจารย์ ๑๕ สถาบัน, อาจารย์แก้วสรร-ขวัญสรวง อติโพธิ์, อาจารย์ธีรยุทธ์, อาจารย์อภิญญา, อาจารย์หมอสันต์, อาจารย์โคทม, นายปริญญา และผู้แทนกลุ่ม สนนท.,ครูประทีป, ผู้แทน เรืออากาศตรี ฉลาด และผู้แทน พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้ปรึกษาหารือกัน และลงมติเห็นด้วยกับ ข้อเสนอของ ผู้แทนอาจารย์ ๑๕ สถาบัน ว่า ควรจะพัก การชุมนุมชั่วคราว รอผลความคืบหน้า ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วนัดประชาชน ฟังผลใหม่

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงทางโทรทัศน์ ให้ความหวัง กับประชาชนทั้งประเทศว่า พรรคการเมือง ๙ พรรค จะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๔ ข้อ ซึ่งมีการแก้ รัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ ต้องมาจาก การเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย หัวหน้าและผู้แทนพรรคทั้ง ๙ พรรค จะกลับไป ประชุมพรรค และยืนยันผล การประชุมพรรคได้ ภายในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ซึ่งการดำริ ที่จะร่วมกันแก้ รัฐธรรมนูญ ของ ๙ พรรค นั้น เพื่อช่วยคลี่คลาย ปัญหาการชุมนุม เรียกร้องของประชาชน

คณะผู้จัดการชุมนุมจึงมั่นใจว่า ๙ พรรคการเมือง คงเอาจริงเอาจัง กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้แน่ แต่ยังไม่วางใจ เสียทีเดียว เพราะประชาชนถูกหลอก มาหลายครั้งแล้ว จึงได้นัดชุมนุมฟังผล หลังวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ตกลงกำหนดชุมนุม ที่สนามหลวง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม เพราะวันที่ ๑๖ ยังเป็นวันสุดท้าย ของการจัดงาน สัปดาห์ส่งเสริม พระพุทธศาสนา ที่สนามหลวง เราไม่ต้องการให้มี ข้อกล่าวหาใดๆ

คณะกรรมการจัดการชุมนุม มีเหตุผลประกอบว่า ควรพักการชุมนุมชั่วคราว เนื่องจากรัฐบาล อาจให้ข่าวบิดเบือน กับประชาชนว่า ที่ท้องสนามหลวง มีคนไปร่วมงานน้อย เพราะถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก เข้าสู่สนามหลวง ถูกผู้ชุมนุม ปิดกั้น ผ่านไม่ได้

เมื่อตกลงกันว่า จะต้องหยุดชั่วคราว ปัญหามีอยู่ว่า ในคืนวันที่ ๑๐ พฤษภาคม นั้น เหมือนคืนก่อนๆ ผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มาชุมนุมกันเป็นแสนๆ ยาวตั้งแต่ สะพานผ่านฟ้า ถึงสี่แยกคอกวัว ต่างก็พึงพอใจ ที่จะชุมนุมต่อ แล้วใคร จะเป็นคนไปบอกชักชวน ให้เขาเลิกชุมนุม ผู้แทนองค์กรต่างๆ ก็ชี้มาที่ผม ขอให้ผมเป็นคนพูด ผมเองหนักใจ ดีไม่ดี อาจถูกเขา โห่ไล่เอาก็ได้

มีการประชุมกำหนดตัวผู้พูด ซึ่งมีหมดทั้งผู้แทน ของนักศึกษา, กลุ่มประชาชน, อาจารย์ และพรรคการเมือง คุณวีระ มุสิกพงศ์ พูดรองสุดท้าย และผมพูดสรุป เป็นคนสุดท้ายว่า ควรพักการชุมนุมชั่วคราว

เรืออากาศตรีฉลาด ขอพูดตามความรู้สึกนึกคิด ของตนเอง ต่อหน้าผู้ชุมนุมทั้งหมด กรรมการหลายท่าน ไม่เห็นด้วย เกรงว่า จะพูดกันคนละเรื่อง ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ผมต้องขอร้องว่า ขอให้ เรืออากาศตรีฉลาด พูดให้เต็มที่ ไม่เป็นไร ผมพูดทีหลัง ผมจะโยงเข้ามาสู่จุดที่ คณะกรรมการ ต้องการ คือ ขอให้ผู้ร่วมชุมนุม หยุดพักชั่วคราว

ที่เวทีปราศรัย หลังจากพูด และฟังกันอย่างสนุกสนาน ติดต่อกันมา จนถึงเวลาเกือบตีสอง ของวันใหม่ เรืออากาศตรี ฉลาด ก็ขึ้นพูดตามกำหนด ยืนยันเจตนาเดิม ที่ร่วมกันสู้เผด็จการ จะสู้ต่อไป จนกว่า พลเอกสุจินดา จะลาออก

หลังจากนั้น พวกเราก็ช่วยกันพูด ต่างคนต่างพูด ได้ดีเหลือเกิน ช่วยกันตะล่อม ทีละนิดๆ เข้าหาจุด “ชวนเลิกชุมนุม” ทั้งคุณหมอสันต์, อาจารย์โคทม, อาจารย์อภิญญา, คุณปริญญา, ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์, เอกภาพ และพลังธรรม

คุณวีระ มุสิกพงศ์ ผู้แทนพรรคความหวังใหม่ พูดได้ดีมาก มีเหตุมีผล ฟังง่าย เข้าใจง่าย ได้สรุปว่า ขณะนี้ประชาชน ผู้ร่วมชุมนุมได้ต้อนนายกฯ เข้ามุมแล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะวิทยุเอย โทรทัศน์เอย ใช้การบิดเบือนข่าวสาร เข้าช่วยนายกฯ เราต้องหยุดพักชั่วคราว หันไปจัดการกับวิทยุ และโทรทัศน์ก่อน แล้วถึงมาสู้กันใหม่ ผู้คนเห็นด้วย ปรบมือชอบใจ เป็นการใหญ่

ผู้แทนอาจารย์ ๑๕ สถาบัน และอดีตผู้นำนักศึกษา ให้ข้อคิดว่า ควรจะเลือกเวลาพูด ให้ดึกที่สุด จึงจะสามารถ โน้มน้าว ให้เลิกชุมนุมได้ เราจึงให้เรืออากาศตรีฉลาด พูดตอนใกล้ตีสอง และช่วยกัน ดึงเวลาเรื่อยมา ผมเริ่มพูด ตอนตีสามเศษๆ

ผิดคาด ดึกขนาดนั้น ผู้ฟังยังไม่บางตาลง เท่าไรเลย ผมพยายามพูดนานถึง ๑ ชั่วโมง หาแง่ตลกๆ มาพูดมากๆ มีเสียงปรบมือ หัวเราะ ดังๆ เป็นระยะๆ ผมค่อยใจชื้น

ผมกล่าวเกริ่นลำดับสถานการณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมทั้งชี้ให้เห็น ประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ เช่น

“ไม่มีการชุมนุมที่ไหน เหมือนการชุมนุม ของพวกเรา ที่รัฐบาล ให้เกียรติจัดเครื่องบิน มาบินโปรยใบปลิว แทนข้าวตอก ดอกไม้”

“เราได้ช่วยกันทำให้เกิด สิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ในประเทศไทย คือกำแพงเบอร์ลิน ตรงสะพานผ่านฟ้า กำแพงเบอร์ลิน ในเยอรมัน เขารื้อออกแล้ว นักท่องเที่ยวอยากเห็น เชิญมาดูได้ ที่เมืองไทย”

“รัฐบาลแกล้งเราทุกอย่าง แม้กระทั่ง เรื่องการขับถ่าย ได้ข่าวว่าครั้งแรก บีบโรงแรมมาเจสติค ห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุม เข้าไปใช้ ห้องสุขา เราก็เหลือที่พึ่ง ที่วัดๆ หนึ่ง ต่อมาก็บีบวัดอีก แกล้งเราจนถึงที่สุด”

“รถดับเพลิงมีไว้สำหรับดับไฟ ที่เผาไหม้บ้านเรือน แต่รัฐบาล กลับเอามาจอด คอยแต่จะฉีดน้ำ ลุยเรา ทั้งๆที่เงินซื้อ รถดับเพลิง ก็เป็นเงินของพวกเรา”

“น่าเห็นใจตำรวจหัวปิงปอง ที่เจ้านายสั่งให้มายืน เป็นหุ่นขวางเรา ที่สะพานผ่านฟ้า พวกเราน่าจะร้องเพลง ไยพระพรหม สร้างฉันให้มาเจอะเธอ”

“ตำรวจทหารทั้งหลายครับ ถ้าเจ้านายสั่งให้ลุย “ไม่ลุยเอาเท่าไหร่” นักธุรกิจที่ร่วมชุมนุม หลายคน ได้พูดแสดงเจตนา กับตำรวจ ที่สะพานผ่านฟ้าว่า ถ้าเขาสั่งลุยประชาชน แล้วตำรวจไม่ลุย หากถูกไล่ออก จะรับเข้าทำงาน ในบริษัทหมด บางบริษัท จะให้เงินเดือน เป็นสองเท่าด้วยซ้ำ งานสบายกว่า ไม่ต้องมีกรรม มายืนเป็นหุ่น ตากแดดทั้งวันๆ”

“ฝ่ายที่ต่อต้านเรา ชอบดึงฟ้าต่ำ ขอให้ผู้ร่วมชุมนุม เปล่งเสียงดังพร้อมๆกัน ให้ไปถึงหูว่า อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก อย่าแยกแผ่นดิน”

“การชุมนุมเรียกร้องของพวกเรา ได้ผลแล้ว ทำให้พรรคการเมือง ๙ พรรค รีบจับมือช่วยกันแก้ รัฐธรรมนูญ แต่ก่อนนี้ หลายพรรค เพิกเฉย ทำเป็นไม่รู้ร้อน ไม่รู้หนาว”

“ในสงคราม ซึ่งผมเคยผ่านมาแล้ว ทั้งสมรภูมิลาว และเวียดนาม ทหารที่เข้าทำการรบ ไม่ว่าที่ไหน ต้องมีเวลา พักบ้างทั้งนั้น พักเพื่อให้ร่างกายสดชื่น แล้วเข้าทำการรบใหม่ เราก็เหมือนกันครับ ควรพักชั่วคราว ออมแรงไว้สู้ต่อ คราวหน้า”

“ถ้าไม่หยุดชุมนุมชั่วคราว รัฐบาลจะกล่าวหาเรา ไม่รู้จักจบ กล่าวหาเราว่า มุ่งทำลายพระพุทธศาสนา ขัดขวาง ไม่ให้คน ไปร่วมงาน ที่สนามหลวง ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน เพราะปิดเส้นทางเสด็จฯ จึงควรหยุดชุมนุม ชั่วคราว จนกว่างานต่างๆ จะเลิกไปหมดแล้ว”

ผมได้ประชาสัมพันธ์ถึง กิจกรรมต่อเนื่องว่า เราจะทำอะไรกันบ้าง แต่ขอร้องว่า ไม่ต้องไปกันมากๆ ประเดี๋ยว การจราจร จะติดขัดหมด เพราะมีผู้รับอาสา จะไปดำเนินการให้แล้ว ยกเว้นรายการ ดนตรีเพื่อประชาธิปไตย ที่สวนจตุจักร ขอให้ไปร่วม สนุกกันมากๆ ก็แล้วกัน

ในท้ายที่สุด ผมก็ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าว่า จะเขียนหนังสือ “ร่วมกันสู้” เพื่อเป็นที่ระลึก ของการชุมนุม ครั้งสำคัญ ในประวัติศาสตร์ ผู้ร่วมชุมนุมปรบมือกัน เกรียวกราว

เลิกชุมนุมตอนตีสี่เศษๆ รถเมล์เริ่มออกวิ่งแล้ว ผู้ที่ไม่มีรถส่วนตัว ก็กลับบ้านได้สะดวก หากเลิกกลางดึก ไม่รู้จะไปไหน

การปราศรัยชวนให้เลิกชุมนุม ก็สิ้นสุดลงด้วยดี ชนิดไม่คาดฝัน

วันรุ่งขึ้น ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ได้เล่าให้ผมฟังว่า คุณเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ได้แถลง แก่ผู้สื่อข่าว ในฐานะที่มีประสบการณ์ ในการชุมนุมว่า

“การพูดให้เลิกชุมนุมนั้น ยากยิ่งกว่าพูดชักชวน ให้ไปชุมนุม เป็นไหนๆ ๑๐ เกรียงกมล ก็ทำได้ไม่เท่า คุณจำลอง”

ส.ส.ไชยวัฒน์ ได้ลองพูดสลายการชุมนุมแล้ว ตามรายงาน ของหนังสือ “ข่าวพิเศษ”

“กลางคืนวันที่ ๑๐ พ.ค. เวลาสี่ทุ่ม ไชยวัฒน์เล่าต่อว่า “ผมไปพูดกับผู้ที่มาชุมนุม ในลักษณะที่ว่า เราจะพักรบชั่วคราว จะดีไหม เสียงส่วนใหญ่ คงไม่เห็นด้วยกับผม ผมลงจากเวที มีจดหมายด่าเยอะ เพราะฉะนั้น จริงๆแล้ว คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ มีความคิดว่า ทำไมไม่ทำ อย่างโน้นอย่างนี้ ผมคิดว่า ในความเป็นจริง ประชาชน เขารู้ว่า อะไรเป็นอะไร บางอย่าง ถ้าเราเสนอ ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เขาไม่ทำหรอก” ความพยายามของ ส.ส. ผู้นี้ จึงพูดได้ว่า “ผมพยายามสลาย ตั้งแต่หัวค่ำ ยังทำไม่สำเร็จเลย ถ้าประชาชน ไม่เห็นด้วย เขาไม่เคลื่อนที่หรอก เขากลับบ้าน ฝูงชุนกลุ่มนี้ ไม่ใช่ชี้นำได้ง่ายๆ ไม่มีทาง”

ในที่สุดฝูงชนก็สลายไปในตอนตี ๔ พล.ต.จำลอง ขึ้นไปประกาศ พักรบชั่วคราว ถึงยอมรับกัน จริงๆแล้ว ตั้งแต่ ๔ ทุ่ม ผมก็พยายาม แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เขามีความคิดว่า ได้มีการยื่นข้อเสนอ มาเป็นขั้น เป็นตอนแล้ว คำตอบก็ไม่ได้รับ” 

เวลาประมาณตีห้า เมื่อเห็นผู้ชุมนุม แยกย้ายกัน กลับบ้านแล้ว ทหาร ตำรวจ ก็ดีใจ รถดับเพลิง ๔ คัน ที่จอดขวาง สะพานผ่านฟ้า ได้แล่นออกก่อน หลังจากนั้น รถบรรทุก ยีเอ็มซี ได้บรรทุกทหารมา ๔ คัน เพื่อเก็บลวดหนาม ซึ่งผู้ชุมนุม เรียกกันติดปากว่า “กำแพงเบอร์ลิน”

ในขณะที่ทหารกำลังกุลีกุจอ เก็บลวดหนามนั้น ประชาชน ที่นั่งเผชิญหน้ากันมา เป็นวันๆ คืนๆ ได้ตรงเข้าช่วยเก็บ ลวดหนามด้วย ใช้เวลาทั้งหมด ประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็แล้วเสร็จ

หลังจากนั้น พนักงานรักษาความสะอาดของ กทม. ร่วมกับผู้ชุมนุม ก็ช่วยกันเก็บกวาด เป็นการใหญ่ ไม่ช้าไม่นาน ถนนราชดำเนิน ก็กลับสะอาดสะอ้าน ดังเดิม

ครั้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจบลง ด้วยความเรียบร้อย ประชาชนที่ยังเหลืออยู่ ณ ที่นั้น ก็พากันปรบมือ และ นำดอกไม้ ไปมอบให้ทหาร และตำรวจ เพื่อแสดงความเป็นมิตร ก่อนที่จะแยกย้าย กันไปพักผ่อน ให้สมกับที่ตรากตรำ มาหลายวัน หลายคืน

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตลอด กล่าวชมเชยว่า ยังไม่เคยพบเห็น การชุมนุม ผู้คนมากๆ ที่ทำได้เรียบร้อย เหมือนการชุมนุม ของคนไทย ในครั้งนี้เลย เป็นการชุมนุม ที่น่าประทับใจมาก

ตลอดระยะเวลาของการชุมนุม คนนับแสน เท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ หรือพนักงาน ผู้อำนวยการกอง หรือ เสมียน นายจ้าง หรือลูกจ้าง 

ต่างก็กินอาหารเท่าๆกัน เท่าที่จะมีแบ่งปัน และนอนบนฟูก ราชดำเนิน อันร้อนระอุ ผืนเดียวกัน คนนับแสน เหมือนคนๆ เดียวกัน เป็นภาพที่น่าดูยิ่งนัก หาดูที่ไหนไม่ได้

ผมเว้นที่จะเล่าเรื่องส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งผมเกือบไม่มีโอกาส เขียนหนังสือ เล่มนี้เสียแล้ว ตอนที่ผมพูดจบ คุณศิริลักษณ์ ก็ให้คน มาพาผมกลับ เดินตรงเข้าร้านอาหาร ศรแดง ทะลุออกด้านหลัง ลัดเลาะไปไกล กว่าจะได้ขึ้นรถกลับบ้าน เป็นรถอีกคันหนึ่ง ซึ่งคนที่เป็นห่วงเป็นใยผม ได้ขับไปรอไว้ก่อน ล่วงหน้าแล้ว

ผมบ่นว่า ทำไมต้องลี้ลับซับซ้อนอย่างนี้ แทนที่จะตรงไปที่รถผม ซึ่งจอดอยู่หน้าร้านศรแดง สะดวกรวดเร็วกว่า เป็นไหนๆ

มีผู้มายืนยันภายหลังว่า พบชายห้าคน พกปืนตุงกระเป๋า ยืนอยู่รอบรถ คนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “มันไปทางอื่นแล้ว” ชายกลุ่มนั้น ไปป้วนเปี้ยนอยู่ ตั้งแต่หัวค่ำ คอยสะกดรอยตามผมไปห่างๆ และไปคอยดัก ตอนเลิกปราศรัย


 

อ่านต่อ ตอน ๑๐
ดนตรีเพื่อประชาธิปไตย

 

จากหนังสือ... ร่วมกันสู้ ...พลตรี จำลอง ศรีเมือง * หยุดพักชั่วคราว * หน้า ๑๒๔