ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๕

เราพิจารณาด้วยภาษาที่แนะเชิง ให้พิจารณา พูดกันแล้วพูดกันเล่า แนะกันแล้ว แนะกันเล่า มากคำ มากความ มากเรื่อง มากแง่เชิง เราก็ได้ศึกษา เราก็ได้จำได้บ้าง หล่นไปบ้าง แต่ฟังมาก มันก็จำได้ มากขึ้นแหละ เมื่อเราจำได้บ้าง หรือจำได้ มากขึ้นก็ดี เราก็จะได้ใช้มาก การใช้ก็คือ พิจารณาจริงๆ เมื่อมีผัสสะ เมื่อมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม กำหนดรู้อยู่ในชีวิต ชีวิตรู้ตัว ทั่วพร้อม ไม่ว่าจะสัมผัสทางกาย ทางตา หู จมูก ลิ้น หรือแม้แต่ใจของเรา อยู่ในที่ ไม่มีสัมผัสนอกมากนัก เราก็สัมผัส อยู่ในใจ สัมผัสด้วยทวารทั้ง ๖ ให้พิจารณาจริงๆ เหตุผล หัวข้ออธิบาย เงื่อนแง่ต่างๆ เชิงชั้นต่างๆ ล้วนแล้วแต่ เอามาใช้ประกอบ กับเวลา เรามีผัสสะจริงๆ มีสติรู้ตัว ทั่วพร้อม แล้วก็อ่านต่อผัสสะนั้น มันไปถึงใจ มันจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เราเกิด อารมณ์ชอบ อารมณ์ชัง อารมณ์เสพย์ อารมณ์เป็นอย่างนั้นแหละ เป็นอารมณ์ทุกข์ อารมณ์สุข หรือ อารมณ์เฉยๆ ถ้าเฉยๆ อย่างโมหะ เราก็ให้รู้ตัวว่า เอ๊ะ! เฉยๆอย่าง โมหะนี่ มันใช้ไม่ได้นะ มันไม่รู้ดี มันไม่รู้ชั่ว มันก็สบายๆ ดีเหมือนกันล่ะ โมหะ แต่ว่ามันไม่รู้ว่า เราได้ หรือเราดีขึ้นหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ อย่างแท้จริงเลยว่า เฉยก็ต้องรู้ว่าเราเฉย เพราะตอนนี้ เราไม่ต้องการมัน ถ้าเราขืนต้องการมัน หรือ เราสัมผัสแล้วว่า ไอ้สิ่งนี้ เราเคยต้องการมัน แต่ตอนนี้ เราพักยกไว้ก่อน เรากินอิ่มแล้วน่ะ ถ้าไม่อิ่มซี จะอร่อยไม่หยอก จะหิว จะอยาก แกล่ะ แต่ตอนนี้มันอิ่ม มันเต็มท้องแล้ว เราก็เลยเฉยๆ หรือว่า ตอนนี้ ยังไม่ถึงเวลา เราก็เฉยๆ หรืออะไร ก็แล้วแต่ ที่จะเป็นเงื่อนไข ในการกำหนด ให้เราเฉยๆ กับมัน โดยที่แท้จริง เราไม่ได้ตัดกิเลส ออกเลย มันไม่ได้เฉย เพราะรู้เท่าทัน แล้วเรา ก็ไม่มีกิเลส ไม่มีปฏิพัทธ์ ไม่ดูดไม่ดึง อะไรจริงๆ สมควรรับ รับ ไม่สมควรรับ ก็ไม่รับ โดยที่เราจะชอบมัน หรือจะชังมัน เราไม่มีจริงๆ เราจะต้องพิจารณา ให้ละเอียด อย่างนั้นจริงๆ ต่อผัสสะ ผัสสะอะไรก็ทำ ถ้าเราไม่สามารถ พิจารณาได้หมด ทุกสิ่ง เราก็แบ่งสิ่ง แบ่งเรื่อง ที่จะผัสสะ ที่จะต่อสู้ พอสมควร ควบคุมตน ให้ทำกรรมกิริยา อย่างนั้น อย่างนี้ พฤติกรรม อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นพฤติกรรม ที่เราเห็นว่า ดีแล้ว ชอบแล้ว ควรแล้ว เหมาะแล้ว เท่าที่เราสามารถ จะฝึกตนได้ จิตของเรา ก็จะอ่านด้วย เห็นด้วย เมื่อเราละ เราพ้น เมื่อเราล้าง ทั้งอาการของจิต ที่มันไม่ติดไม่ยึด เราก็จะรู้ความจริง เป็นสัญญา กำหนดรู้ ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นๆ เรารู้ อารมณ์เสพย์ ไม่ได้ง่ายๆ ถ้าอารมณ์เสพย์ อย่างหยาบคาย มันก็พอรู้ได้ ถ้าอย่างกลางๆ อย่างละเอียดขึ้นไป ก็ยิ่งรู้ได้ยาก จะรู้เท่าทัน มันว่า เราเสพย์ แม้แต่เสพย์ทางกาม จากทวารนอก หยาบๆ เราก็ยังมี เสพย์เนียน เสพย์เนียนซ้อนลึก สุขุม ประณีต ไม่ได้รู้ได้ง่ายๆ ถ้าเราไม่มีญาณปัญญา อันละเอียด สุขุม ขอให้พิจารณา แล้วก็หัด ละเลิก ปลดปล่อยกันจริงๆ เราได้แต่ฟังภาษาไปมาก เราก็รู้มาก เท่านั้นเอง แต่ว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้พิจารณา เมื่อมีผัสสะจริง มันไม่ถูกต้อง ขอให้พวกเราได้สำคัญ ในเรื่องการที่จะสำคัญ ในผัสสะ แล้วก็สัญญา กำหนดรู้ความจริง ซ้อนลึก แล้วก็ปรับปรุง ปรับเปลี่ยน ละจางคลาย ในเรื่องของเวทนา---

เพราะฉะนั้น เราจะรู้ทั้งองค์ประชุม ที่สัมผัส แล้วเราจะรู้ทั้งเวทนา ที่เราได้ปรับเปลี่ยน ปรับแปรมา อย่างรู้ทัน จนกระทั่ง มีเวทนา อันเป็น อุเบกขาเวทนา อย่างรู้ๆ รู้ว่าโลกเขาหลง แต่เราไม่หลง ตามโลกเขาแล้ว นั่นคือ ความจริงของ โลกุตระน่ะ เราสัมผัสอยู่ รู้อยู่ แต่เวทนาของเรา แข็งแรงมั่นคง แล้วเราก็ รู้ด้วยว่า โลกคนที่เขาอ่อนแอ เขาเป็นทาสมัน อย่างแท้จริง แต่เรานั้น ไม่ได้เป็นทาสมันแล้ว เราจะรู้ความจริงอันนี้ อย่างชัดแจ้ง นี่มีภาษาแนะบอก ก็อย่างนี้ การทำเองจริงนั้น ทุกคนจึงจะต้องมี สติสัมปชัญญะ ปัญญา แยบคาย กระทบสัมผัส อะไรแล้ว ก็พิจารณา แล้วก็ปรับปรุงตน จนกระทั่งด้วย กาย.---