ที่นี่....ตอบทุกปัญหา ๒


ถาม : กระผมยังงงๆ ยังสงสัย ยังข้องใจในเรื่องของวิญญาณ หรือ สัมภเวสี ว่าคนเราตายแล้วนี่ วิญญาณไปไหน อยู่ที่ไหน มันเป็นยังไง มันอาศัยอยู่ตรงไหน ?

ตอบ : อาตมาก็มีตัวอย่างที่เคยยกมาอธิบาย รู้สึกว่าจะชี้ชัดได้พอสมควรว่า ในตัวเรา นี่ กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมสัญญาและใจ พร้อมวิญญาณนี่อยู่ในตัวเรา ขณะนี้นี่มีวิญญาณ มีจิตวิญญาณแน่นอน...ใช่ไหม ?

แต่คุณบอกอาตมาได้ไหมว่าวิญญาณ มันอยู่ตรงไหนในตัวเรานี้...องค์นี้บอกซิ (ถามสมณะรูปหนึ่ง ที่นังฟังอยู่ด้วย) จิตวิญญาณของคุณ อาศัยอยู่ตรงไหน บอกซิ มันอยู่ที่หัว อยู่ที่สมอง หรือมันอยู่ที่หัวใจ หรือมันอยู่ที่ตับที่ม้าม

มีผู้ตอบแทรกขึ้นมาว่า : อยู่ในร่างกาย คือ คูหาสยัง

ตอบ : แหม ! ตอบเก๋ ซะด้วย เล่นคำ เทคนิคอลเทอมเลย เล่นคำภาษาวิชาการซะด้วย "คูหาสยัง" ใช่ !... คือ อยู่ ใน "ถ้ำ" อันคือภายในร่างกาย นี้แหละ ที่จิตมันยึดเอาเป็นที่อาศัย ถ้ำร่างกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก อาศัยในถ้ำนี้ แต่มันไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นตรงไหน ที่จิตวิญญาณอยู่จำเพาะที่แท้ๆ เอาแน่ๆ นะ ในถ้ำ คือในครอบของร่างกายทั้งหมดนี่แหละ วิญญาณ ที่ว่าอยู่ตรงไหน ห้องไหนล่ะ จุดไหน ตำแหน่งไหน อยู่หัวใจ ? อยู่สมอง ? อยู่ปลายจมูก ? ฝ่ามือหรือปลายเท้า อยู่ในตับ หรือตรงไหน ? เวลามันเจ็บ มันเจ็บตรงไหนล่ะ เจ็บใจว่างั้น ก็คือความรู้สึกของวิญญาณ ไม่ใช่ของร่างกาย แล้วเจ็บตรงไหนเล่า เวลาเจ็บใจ บอกซิ เจ็บตรงไหน เจ็บที่...ตรงหัวใจนี่แหละ ตรงที่มันสูบฉีดโลหิตนี่ หรือเจ็บตรงสมอง เจ็บตรงปลายนิ้ว เจ็บที่กระดูก เจ็บตรงไหนล่ะ มันชี้ชัดลงไปได้ไหม ? มันบอกไม่ได้ใช่ไหม ? มันไม่มี สถานที่จำเพาะใช่ไหม แต่ก็มีอาจารย์แต่โบราณเคยเดาว่า อยู่ที่หัวใจที่สูบฉีดโลหิตนี่แหละ แล้วก็นำมา ยืนยันกัน แต่แท้จริงนั้น ทุกวันนี้พิสูจน์ได้แล้วว่า ไม่ใช่เพราะคนเปลี่ยนหัวใจของคนอื่นมาใส่แล้ว ก็ยังมี วิญญาณของตน เป็นคนเดิม อย่างเดิม ไม่ได้เป็นคนใหม่ตามหัวใจของคนใหม่

เพราะฉะนั้น แค่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้ซึ่งมันมีวิญญาณอยู่ในนี้แน่ มันมีจิตวิญญาณ อยู่ในถ้ำ หรือในที่อาศัย นี้แน่ คุณยังบอกไม่ได้ว่ามันอยู่ตรงไหน ชี้ให้อาตมาดูยังไม่ได้ แล้วคุณจะไปสงสัย อะไรเล่า เมื่อตายแล้ว จะไปชี้ได้ว่ามันอยู่ที่ไหน ? ไม่มีร่างกายนี้แล้ว มันไม่มีที่เป็นสัดส่วนเจาะจงได้ง่ายๆ แล้ว ตรงไหนเล่า โอ้โฮ ! กว้าง...นับไม่ถ้วนเลย แล้วมันอยู่ตรงไหน ? จะไปชี้ว่าอยู่ตรงไหนได้ยังไง ? อย่ามัวไปถามกันต่อเลย ถ้าคนฉลาดแล้ว จะไม่มัวไปถามต่อเลยว่า วิญญาณมันอยู่ตรงไหน ? ตายแล้ว วิญญาณไปอยู่ที่ไหน ? นรกอยู่ตรงไหน ? สวรรค์อยู่ตรงไหน ?

อาตมาตอบได้แต่ว่า นรกก็ตาม สวรรค์ก็ตาม มันไม่อยู่ "นอกจิตวิญญาณ" นอกจิตวิญญาณ ไม่มีนรก นอกจิตวิญญาณ ไม่มีสวรรค์ นี่เป็นคำตอบของโพธิรักษ์ ไม่ได้อยู่ที่ยอดไม้ ไม่ได้อยู่ที่บนภูเขา ไม่ได้อยู่ที่ บนฟ้า ไม่ได้อยู่ที่ใต้ดิน ไม่ได้อยู่ที่ไหนๆ มันอยู่ที่จิตวิญญาณ จิตวิญญาณอยู่ไหน นรก-สวรรค์ อยู่ที่นั่น แล้วถามว่า อยู่ไหนล่ะ ก็ในร่างกายเราแท้ๆ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ยังชี้ไม่ได้ว่าอยู่ไหน? จุดไหน? ทั้งๆ ที่รู้ว่า ในร่างกายนี้ มีจิตวิญญาณแน่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าใครตอบ หรือว่าใครถาม ใครสามารถตอบได้ หรือว่าใคร ยังติดใจ สงสัย ถามอยู่ ผู้นั้นก็ยังเป็นผู้ที่ไม่มี "ปัจเจกสัจจะบรรเทา" ผู้นั้นก็คือยังไม่มีสัจจะ หรือว่า ไม่รู้จักสัจจะ ในขั้นบรรเทาความสงสัยได้ ก็จะข้องใจอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าใครบรรเทาความสงสัยได้แล้ว มีความเข้าใจพอ หรือมีญาณปัญญาจริง รู้แจ้งในจิตวิญญาณ อย่างสัมมาทิฏฐิ พอสมควร ก็จะไม่มัวถาม ปัญหานี้อีก จะไม่ข้องใจ ในปัญหาโลกแตกนี้ จะไม่ไปถามใครอีก แม้แค่ฟังคำอธิบายแค่นี้ เข้าใจดีจริงๆ ก็อาจจะไม่ไปถาม ปัญหานี้กับใครอีกก็ได้

แต่ถ้าเรียนรู้จนมีมรรคมีผล รู้กิเลส ซึ่งก็อยู่กับจิตวิญญาณ ยิ่งละกิเลส ฆ่ากิเลสได้ถูกตัวมัน ผู้นั้นก็ยิ่ง จะเห็นความเป็น "จิตแท้" เห็นความเป็น "วิญญาณจริง" เห็นวิบากสะอาด-วิญญาณบริสุทธิ์ เห็น "วิญญาณแท้ๆ" ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "วิญญาณัง อนิทัสสนัง อนันตัง สัพพโต ปภัง" ซึ่งมีความหมายว่า วิญญาณบริสุทธิ์ - วิญญาณแท้ๆ หรือจิตแท้นี้ "อนิทัสสนัง" อนิทัสสนัง หมายความว่า ไม่อาจสามารถ จะชี้แจง จะอธิบาย หรือจะทำให้ใครรู้ ใครเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะวิญญาณบริสุทธิ์ หรือจิตแท้ นั้น เป็นนิพพาน แต่วิญญาณที่ไม่บริสุทธิ์ หรือ จิดเดิม -จิตไม่แท้ นั้น ไม่เป็นนิพพานนะ ! เมื่อเป็นนิพพาน ก็ไม่มีอะไร ที่จะมีสภาพของความเป็นตัวตนได้เลย จึงเรียกว่า "อนัตตา" และ จิตหรือวิญญาณนี้ พระพุทธเจ้า ทรงยืนยันไว้อีกด้วยว่า "ไม่มีร่างไม่มีกาย"

ท่านใช้คำบาลีว่า "อสรีรัง" ดังนั้น ผู้ที่ชี้แจงหรืออธิบายจิต อธิบายวิญญาณเป็นตัวเป็นตน เป็นร่างเป็นกาย เป็นรูปเป็นโฉม อย่างนั้นอย่างนี้ เก่งเป็นตุเป็นตะนั้น นั่นคือ ผู้มีจิตยังไม่แท้ มีวิญญาณยังไม่บริสุทธิ์ คือ จิต หรือวิญญาณยังเป็น "อัตตา" อยู่ทั้งนั้น หรือไม่ก็เดาส่ง อธิบายคาดคะเดไปตามเรื่อง

อนิทัสสนัง จึงหมายความว่า แม้ผู้มีวิญญาณบริสุทธิ์ของตนเองแล้ว ก็ไม่อาจสามารถจะชี้แจง อธิบาย หรือ ไม่สามารถ จะทำให้ใครอื่นรู้เห็นว่า จิตวิญญาณเป็นยังไงกันได้ง่ายๆ ต้องค่อยๆ อธิบายกันไป

นี่หมายถึง จิตวิญญาณแท้ๆ หรือจิตวิญญาณบริสุทธิ์ นะ เป็นจิตวิญญาณที่ได้ชำระ ได้ปฏิบัติละล้าง กิเลสออก จนบริสุทธิ์สะอาด เหลือแต่ จิตแท้ๆ...วิญญาณเพียวๆ กันจริงๆ ซึ่งจะต่างกับ "จิตเดิม- วิญญาณเดิม" หรือ จิตวิญญาณที่เกิดมาไม่รู้จบ ไม่ได้เรียนรู้และปฏิบัติจนเป็น "จิตวิญญาณบริสุทธิ์ จากกิเลส" ที่เรียกได้ว่า "วิญญาณแท้ๆ" หรือ "จิตแท้" (ไม่มีคำว่า "เดิม") เพราะไม่มีกิเลสเข้าไปมีบทบาท ร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น "วิญญาณเดิม" ของสัตวโลก ที่เกิดแล้วเกิดเล่านั้น จึงไม่ใช่ "จิตวิญญาณแท้ หรือ จิตวิญญาณบริสุทธิ์" จึงไม่ควรเรียก "วิญญาณเดิมจิตเดิม" ว่า "วิญญาณแท้-จิตแท้" หรือ "วิญญาณ เดิมแท้ - จิตเดิมแท้" เพราะ "วิญญาณเดิม" เป็นวิญญาณไม่แท้ เป็นวิญญาณที่ไม่บริสุทธิ์ มาแต่ไหน แต่ไหนก่อนทั้งสิ้น

ต่อเมื่อมาพบสัทธรรมของพระพุทธเจ้า และอบรมปฏิบัติจนฆ่ากิเลสได้จริงบริสุทธิ์จริง กระทั่งหมดอวิชชา หรือ มีวิชชาเกิดใหม่กันจริงๆ มิใช่มีวิชชามาแต่เดิม จึงจะรู้จัก "จิตแท้วิญญาณแท้" ที่ว่างจากกิเลสว่า "อนิทัสสนัง" คืออย่างไร? ซึ่งพูดให้ใครฟังก็ไม่ถูกได้ง่าย ไม่เหมือนความจริงได้แท้สมบูรณ์ แต่เป็นธาตุ ที่มีบทบาทของ "ความรู้สึก" (เวทนา) มีบทบาทของความกำหนดรู้อะไรต่ออะไรได้ (สัญญา) มีบทบาทของ ความจำ (สัญญา) มีบทบาทของความปรุงแต่งได้ (สังขาร) ถ้าปรุงแต่งอย่างไม่มีกิเลสเพื่อตัวเอง ก็เรียกว่า "วิสังขาร" หรือ "ปุญญาภิสังขาร" ก็ได้ หรือถ้าพระพุทธเจ้าปรุงแต่งก็เรียกว่า "อิทธาภิสังขาร" กันได้เลย

สรุป ก็คือ "จิตวิญญาณแท้ หรือวิญญาณบริสุทธิ์" นั้นคือ นิพพาน เพราะกิเลสดับ - กิเลสไม่เกิดอีกแล้ว ในจิต ในวิญญาณนั้น

ส่วน "จิตเดิมหรือวิญญาณเดิม" นั้น ไม่แท้ เพราะไม่บริสุทธิ์มาก่อนมาแต่ไหนๆ และไม่เรียกสภาพเดิม นั้นว่า นิพพาน

"วิญญาณ" นั้นเป็นอนิทัสสนสัปปฏิฆะ คือ มีสภาพที่ถูกเห็นไม่ได้ แต่กระทบสัมผัสรู้ได้ - รู้สึกได้ด้วยตัวเอง

ส่วน "นิพพาน" นั้นเป็น อนิทัสสนอัปปฏิฆะ คือ มีสภาพที่ถูกเห็นไม่ได้ และกระทบสัมผัสรู้ก็ไม่ได้อีกด้วย-รู้สึกเองไม่ได้

ดังนั้น ใครที่ "เห็นวิญญาณเป็นตัวเป็นตนเป็นร่างเป็นโฉม" จึงคือ ความไม่จริง คือความหลอนตัวเอง คือ อุปาทาน หรือปั้นขึ้นเอง โดยกิเลสของตนเอง ปั้นเป็นอะไรก็ได้ นานาสารพัด ถ้าหลอกตนเองได้ ถึงขีด ถึงขนาด ซึ่งล้วนเป็นอัตตาแต่ละขนาดมีทั้ง "รูปมยอัตตา" (อัตตาเดิมที่เป็นรูปสามัญของ อุปาทาน ธรรมดา ที่เคยมีมาเก่าก่อน) ทั้ง "มโนมยอัตตา" (อัตตาใหม่ที่ปั้นขึ้นจนสำเร็จเป็นรูปในจิต) ทั้ง "อรูปมยอัตตา" (อัตตาที่เป็นอรูปเดิมก็มีตามเดิม ที่ปั้นขึ้นจนได้ใหม่ก็มีอัตตาใหม่)

วิญญาณ จึงไม่ใช่ ตัวตน (อัตตา) ของกิเลส แต่ "กิเลส" นั่นแหละ "ตัวการ" ซึ่งเป็นตัวปลอม เข้าไป หลอกคน แม้แต่หลอกเจ้าตัววิญญาณเองว่า "มันเป็นวิญญาณเสียเอง" แท้จริงแล้ว "วิญญาณ" คือ อาการรู้สึก (เวทนา) นั้น ๑ อาการกำหนดรู้ - อาการจำ (สัญญา) อีก ๑ และอาการปรุงแต่ง (สังขาร) อีก ๑ เท่านั้น ที่ร่วมกันทำงาน หรือปฏิสังเคราะห์กัน จนมีผลลัพธ์ออกมา เรียกว่า "วิญญาณ"

ถ้ามีกิเลสเข้าไปร่วมปฏิสังเคราะห์ก็จะรู้สึก ชอบหรือชัง ถ้ามีแต่รู้ว่าดีหรือไม่ดีและไม่ได้ชอบ - ไม่ได้ชัง แล้วก็ไม่หลงผิด ติดยึดว่า การรู้สึกไม่ได้ชอบ -ไม่ได้ชัง มีแต่รู้ว่าดีหรือไม่ดี และก็เห็นดีด้วยกับดี - ไม่เห็นดีด้วย กับไม่ดี นี้เป็น "ตัวตนของเรา" (อัตนียา) หรือสำคัญมั่นหมายว่าเป็น "เรา" (อัตตา) นามธรรม เช่นนี้แหละ คือ วิญญาณบริสุทธิ์ หรือ จิตวิญญาณแท้ เป็นจิตวิญญาณที่ถึงความเป็น "นิพพาน"

และ วิญญาณยังมีสภาพ "อนันตัง" อีกด้วย คือ ไม่มีที่สุด ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีขอบเขต จะว่าอยู่ตรงนี้ ตรงไหน ก็ชี้จี้ตัวลงไปไม่ได้ จะว่าเล็กก็ไม่ใช่ จะว่าใหญ่ก็ไม่เชิง ประมาณมิได้ กำหนดไม่ถูกที่ ถูกตัวได้ ถึงที่สุด

ดังนั้น จึงกำหนดไม่ได้ว่า โตแค่ไหนเล็กแค่ไหน? ต้นอยู่ไหน-ปลายอยู่ไหน? หัวอยู่ไหนตัวอยู่ไหน?

และสถานที่ก็ชี้ลงไปไม่ได้ว่า อยู่ตรงนั้นตรงนี้ตรงไหน? แม้อาศัยอะไรอยู่ ก็บอกไม่ได้ไม่ครบ ไม่ตรง ไปทั้งหมด บอกได้แต่เพียงว่า อาศัยกรรม อาศัยผลกรรม คือ วิบากนั่นแหละอยู่ จะเรียกว่า นรก สวรรค์ ก็เป็น ความเป็นวิญญาณ ในตัวมันเอง ไม่ใช่รูปร่าง ไม่ใช่สถานที่

แม้แต่วิญญาณที่ยังไม่บริสุทธิ์ก็เถอะ คือ แม้แค่วิญญาณที่ยังไม่จบความเป็นตัวตน ยังติดยึดอะไร วนเวียนไม่จบ ยังมีภพ มีเกิดอีกอยู่ ที่เรียกว่า "สัมภเวสี" นั้น สัมภเวสีก็ไม่ใช่เป็นตัวตนที่อิสระในตัวเอง และ ลอยล่อง ไปไหนต่อไหน ดังที่ชอบเดากันนักนั้นด้วย แต่เมื่อไม่อยู่ในคูหาสยัง คือ ร่างกายที่เป็นเครื่องอาศัย ชนิดเดียวเท่านั้น ที่วิญญาณอาศัยได้ดีที่สุดแล้ว จะไปไหน จะอยู่ที่ไหน ก็ยิ่งชี้ลงไปไม่ได้ใหญ่เลย เพราะ วิญญาณเป็น "ธาตุอนันตัง" ดังกล่าวแล้ว คือ ไม่มีขอบเขต ประมาณมิได้ กำหนดใหญ่หรือเล็ก มากหรือน้อย ก็ไม่ได้ ที่สุดที่ต้นของตัวตน ก็กำหนดรูปร่างไม่ได้ ชี้หัวชี้ตัวชี้ทิศที่อยู่ก็ไม่ได้ ดังที่ ให้ชี้แล้ว ไงล่ะ แค่ขอบเขตในตัวคุณ ที่เป็นถ้ำให้วิญญาณอาศัยอยู่ในนี้แท้ๆ ในคนเป็นๆ อยู่นี้ มีวิญญาณอยู่ ในตัวเองนี่แหละ คุณกำหนดรูปร่างของวิญญาณสถานที่อยู่แท้ๆ หรือกำหนดหัวหางกลางปลาย - ขอบเขต ของวิญญาณได้ไหมล่ะ ? นี่คือ "อนันตัง" ไม่มีที่สุดให้กำหนดได้ ไม่มีขอบเขต ที่ชี้กำหนดลงไป ตายตัวได้ ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ประมาณไม่ได้

และ ยังมีสภาพ "สัพพโต ปภัง" อีกด้วย คือ มันแจ้งในตัวมันเอง มันสว่างทะลุรอบไปหมดในตัวมันเอง มันไม่มีอะไรพราง อะไรมัว ไม่มีอะไรเหลือให้ไม่รู้ ในความเป็นวิญญาณของมันเอง แต่มันก็ "อนิทัสสนัง" อยู่นั่นแหละ คือ แม้วิญญาณบริสุทธิ์ หรือ วิญญาณแท้นี้ ในตัววิญญาณเอง จะแจ้งสว่าง ไม่เหลือที่ไหน ตรงไหนมัว ตรงไหนไม่สว่าง ไม่แจ้ง หรือไม่มีอะไรเหลือเลย ที่จะไม่รู้ในตัววิญญาณเอง ถึงปานนี้ ก็ยังไม่อาจสามารถ จะชี้แจงอธิบาย หรือไม่สามารถจะทำให้คนอื่นรู้แจ้ง เห็นชัดเข้าใจชัด ในวิญญาณ ได้จริงตาม จนกว่าผู้นั้นเอง จะเกิด "สัพพโต ปภัง" ของตนเอง เพราะตนทำตนปฏิบัติตน ให้ถึงความเป็น "วิญญาณบริสุทธิ์" หรือถึงความเป็น "นิพพาน" ถึงความเป็น "วิญญาณแท้" ของตนเองได้จริง


ถาม : นิพพาน หมายถึงอะไรคะ ? เมื่อนิพพานแล้ว และถ้าคนเราไม่ต้องเกิดอีกแล้ว จิตจะไปอยู่ที่ไหน?

ตอบ : สั้นๆ ก็ตอบได้ทันทีว่า "นิพพานนี้ แปลว่า ความดับ ความทำลาย (ฆ่าให้ตาย) ความสงบเย็น แล้วมัน ก็มีการหมายถึงให้ชัดลงไปอีกว่า อะไรดับ หรือ ทำลายอะไร จึงเกิดความสงบเย็น ความชัดที่สุด ก็เจาะลงไปได้เลยว่า "กิเลสดับ" เป็นเป้าแท้เป็นผลแท้ที่สุด ดังนั้น ความทำลาย ก็คือ "ทำลายกิเลส" และ "ความสงบเย็น" ก็เป็นผลสมบูรณ์ของ "นิพพาน" เมื่อดับเมื่อทำลายถูกเนื้อแท้ ถูกเป้าแท้ เสร็จกิจ กิเลสไม่เกิดอีก - สูญสนิท

ส่วนคำตอบประเด็นหลังนั้น ก็ตอบสั้นๆ ก่อนว่า "จิต"เมื่อนิพพานแล้ว ก็อยู่ตามเหตุปัจจัย ชี้ไม่ได้ว่า อยู่ที่ไหน เมื่อหมดเหตุปัจจัย ก็จะสูญสลายไป

ผู้ถามนี่ ถามอย่าง คนที่หลงเข้าใจ หรือยังหลงเห็นว่า จิตเป็นอัตตา ก็เลยนึกว่า คนผู้ถึงนิพพานแล้ว ตายลง "จิต" ก็ต้องยังคงอยู่ ร่างกายเท่านั้นที่สูญไป แต่"จิต" ก็ยังมีตัวตน ยังไม่สูญ เพราะมีความเห็น หนักไปข้าง "สัสสตทิฏฐิ" คือเห็นว่า จิตไม่มีสูญ จิตยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งเที่ยงแท้ ยิ่งนิรันดร์ ยิ่งเป็นจิตดีวิเศษ ยิ่งสูงส่ง

เป็นความเห็นแนวเดียวกันกับศาสนาเทวนิยม ที่เขานับถือจิตวิญญาณว่า เที่ยงแท้ ว่านิรันดร์ ยิ่งบริสุทธิ์ วิเศษสูงส่งเท่าใดๆ ก็ยิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ "พระเจ้า" เท่านั้นๆ และเมื่อเห็นว่า เป็นจิตวิญญาณ บริสุทธิ์วิเศษแล้ว แม้จะมาเกิดเป็นร่าง มีกายมนุษย์อีก ก็ไม่ถือว่าเป็น "คน" แล้ว ถือว่าเป็นลูกพระเจ้า (พระบุตร) หรือเป็น "ตัวแทนพระเจ้า" ที่ไม่ใช่ "คน" เหมือนคนทั้งหลาย

ความคิดความเห็นแนว "สัสสตทิฏฐิ" ที่เห็นว่า จิตไม่สูญ จิตเป็นอัตตานี้ แม้แต่ในพุทธศาสนาเอง ก็มี ตั้งแต่ เป็นความไม่สูญ ความเป็นอัตตา ชนิดที่จิตวิญญาณยังมีกิเลส ก็ถือว่ายังเป็นอัตตา ต่อเมื่อ ทำจิตวิญญาณ ให้หมดกิเลสแล้ว จิตวิญญาณก็เป็น "อนัตตา" คือไม่เป็นตัวเป็นตนอีกต่อไปแล้ว เมื่อตาย ทางร่างกาย จิตก็สูญ แต่ถ้ายังเป็น "อัตตา" อยู่ ผู้ที่มีทิฏฐิเช่นนี้ ก็จะเข้าใจว่า เมื่อตายลง จิตก็ต้องมีที่อยู่ เช่น แดนนรก หรือ แดนสวรรค์ ที่เป็นแหล่งเป็นแห่งหนสถานที่ ตามที่ตนด้นเดาเอา ต่อเมื่อเป็น อนัตตาแล้ว จึงจะสูญ

หรือไม่ก็ "เลยเถิด"ไปยิ่งกว่านี้อีก จนกระทั่ง ขนาดว่า จิตแม้จะถึงนิพพานแล้ว แต่เมื่อตายลง ก็ยังคงมีจิต ยังไม่สูญ จึงสงสัยว่า เมื่อตายลง จิตพวกนี้จะไปอยู่ที่ไหน? อย่างคนที่ถามมานี่ไง? เพราะนิพพานแล้ว ไม่มีทั้งนรก ทั้งสวรรค์ นี่ขนาดเป็นพวกหินยาน หรือพวกเถรวาทแท้ๆ ในเมืองไทยเองนะนี่ ก็ยังหลง เข้าใจเพี้ยน ไปได้เช่นกัน

หรือเป็นอัตตา จนกระทั่ง "เลยเถิด" เป็นสัสสตะนิรันดร์ แม้จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พระพุทธเจ้าแล้ว ได้สร้างศาสนพุทธไว้แล้ว "ปรินิพพาน" ไปจากโลกแล้ว ล่วงเลยไปหลายพัน หลายหมื่นปี แล้ว ก็ยังหลงเห็นว่า ยังมีจิตมีวิญญาณ มีอำนาจบันดลบันดาล มาจากจิตวิญญาณพระพุทธเจ้า ซึ่งเนรมิตนั่น ให้คนนั้น มีฤทธิ์บันดาลนี่ให้คนนี้ ไม่สัมมาทิฏฐิกันอยู่ในวงการพุทธศาสนา สายเถรวาท หรือ หินยาน เต็มไปหมดในประเทศไทยนี่เอง มากมายถมถืด

ส่วนพุทธศาสนามหายาน เขาก็เพี้ยนไปเป็นชนิดที่จิตวิญญาณบริสุทธิ์สูงส่ง เป็นพระโพธิสัตว์ เป็น พระพุทธเจ้า ยิ่งใหญ่เท่าใดๆ ก็ยังคงมีจิตวิญญาณ แล้วก็ถึงกับตั้ง "พุทธเกษตร" ให้เป็นแหล่ง เป็นแห่ง เป็นที่อาศัย ของจิตวิญญาณที่สูงส่งเหล่านี้กันทีเดียว มหายานบางลัทธิ ถึงขนาดเวียนตาย เวียนเกิด มาสู่โลกมนุษย์ ตลอดไป ไม่ไปอื่น จะต้องมาปกป้องคุ้มครอง อยู่กับหมู่พวกของตนเท่านั้น นิรันดร์ เช่น ลัทธิทิเบต เป็นต้น

นี่เป็นพวกที่มีความเข้าใจสุดโต่งไปข้างหนึ่ง คือ "สัสสตทิฏฐิ" ข้างจิตวิญญาณเที่ยง จิตมีตัวตน จิตวิญญาณ นิรันดร์ หรือไม่สูญ

ตรงกันข้ามกับพวกสุดโต่งอีกฟากหนึ่ง คือ พวก "อุจเฉททิฏฐิ" ซึ่งเป็นพวกที่มีความเห็นว่า "จิตไม่มีตัวตน" (อนัตตา) แบบพาซื่ออีกเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อคนตายลงไป ทางร่างกายนี่แล้ว ก็จบกันเรื่องจิตวิญญาณ จิตก็ไม่มี วิญญาณก็ไม่มีอะไรอีกแล้ว มันก็สูญไปเลย คนพวกนี้น่ากลัวมาก เพราะเขาจะไม่มีกรรมปางก่อน ปางหลัง เขาจะไม่เชื่อวิบากกรรม เขาจะเชื่อแต่กรรมปัจจุบันนี้เท่านั้น ดังนั้น เขาอาจทำกรรมชั่วได้ ถ้าปลอดภัย ในชาตินี้ หรือคุ้มกับการแลกเปลี่ยนกับโทษภัย เขาจะกล้าทำชั่วนั้น ถ้าความต้องการมากพอ เพราะบาป - บุญ ในชาติต่อไป เขาเชื่อว่าไม่มี ตายแล้วก็จบกัน

คนที่มีความเห็นโต่งไปข้างตายสูญอย่างนี้ น่ากลัว หรือ เลวได้ร้ายกาจกว่า ข้างที่เห็นว่า ตายแล้วยังเชื่อว่า มีจิตวิญญาณต่อไปอีก และมักจะเกิดกับคนเฉลียวฉลาด ช่างคิดช่างวิจัยได้แหลมลึกเสียด้วย ทุกวันนี้ นับวัน จะมีมากขึ้น ทั้งในศาสนาพุทธ และแม้ในศาสนาลัทธิเที่ยงแท้ๆ ลัทธิมีพระเจ้าเสียด้วยซ้ำ ก็ชัก จะไม่เชื่อว่า มีพระเจ้า มีความไม่สูญ

ดังนั้น เมื่อศาสนาพุทธยิ่งมีความเห็น มีความจริงในเรื่อง "จิตสูญได้" ถ้าปฏิบัติตนให้ถูก ให้ถึงขั้น ถึงขนาดจริง จึงย่อมจะยิ่งมีเหตุสนับสนุน ให้คนช่างคิด จอมเหตุผลที่ไม่ถึงความเป็นจริง หลง "สุดโต่ง" ไปข้าง" อุจเฉททิฏฐิ" ในหมู่ปัญญาชนคนฉลาดได้มาก ได้เร็วกว่าในลัทธิ "สัสสตทิฏฐิ" ที่ไม่ตายสูญ

ประเทศไทยที่ใครๆ เรียกขานว่าเป็นเมืองพุทธศาสนา จึงมีสภาพทุจริตฆ่าแกงโหดเหี้ยมกันหนัก ขึ้โกง ทุจริตก็หนัก เล่ห์เลี่ยงเบี่ยงบ่าย ไม่ตรงต่อกฎต่อระบบก็ร้ายหนัก ค้าประเวณีก็หนัก แต่ก็อยู่ในกลุ่ม พวกคนในกรุง หรือคนชั้นสูง คนที่นับว่าฉลาดปัญญาชนทั้งนั้น เป็นตัวการหรือบงการ ก็เพราะแนวลึก ของปรัชญา พุทธศาสนามี "ความขาดสูญได้" แต่คนที่มีความฉลาด ทว่าไม่มีสภาวะจริง ไม่มีปัญญา รู้แจ้งจริง และไม่มีศรัทธาที่สูงพร้อมด้วยปัญญาที่ถูกต้องจริง จึงกล้าทำชั่วได้เก่ง -ได้มาก เพราะปรัชญา "จิตวิญญาณ ตายแล้วสูญได้" นี่เอง จึงเลวได้ยิ่งกว่า ศาสนาที่มีปรัชญา "จิตวิญญาณ แม้ตายแล้ว ก็ไม่สูญ" แม้ตายไปแล้ว พระเจ้าก็จะยังพิพากษาให้ไปนรกหรือขึ้นสวรรค์ มีบาปมีบุญ

นี่คือ มิจฉาทิฏฐิ ๒ ชนิด ที่จิตตายสูญ หรือ จิตตายแล้วไม่สูญ

ส่วน "นิพพาน" ที่สอนกันแบบเอียงกะเท่เร่ไปข้าง "เอกังสวาที" คือ เรียนกันตื้นๆ เผินๆ เพียงความหมาย เบื้องต้นกันเท่านั้น แล้วก็นึกว่าจบสมบูรณ์ มีความหมายเดียว แง่เดียว ง่ายๆเดียว ไม่มีนัยจำแนกลึกซึ้ง เป็น "วิภัชชวาที"

เรียนกันเพียงว่า "นิพพาน" แปลว่า ดับ แปลว่า สูญไป แปลว่า ไม่เกิดอีก ซึ่งก็ถูกในความหมาย แต่มัน ยังมีแยกได้ มีรายละเอียด มีองค์ประกอบที่จะต้องรู้ลึกซึ้งซับซ้อนปฏิสัมพันธ์อีกมากมาย แม้ว่า นิพพาน หมายเอาว่า ไม่เกิดอีก หรือดับจริงๆ ตายจริงๆ นั้น อะไรที่เป็น "ตัวตายลง" กันจริงๆ หรือ ไม่เกิด นั้น ไม่เกิดอย่างไร? ไม่เกิดกันขนาดไหน? หรือ อะไรยิ่งตายแล้ว มีอะไรยิ่งเกิด? มันยังมีนัยะ ที่จะจำแนก แจกแจงเป็น "วิภัชชวาที" ไปได้อีกมาก นิพพานนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก ไม่ได้แปลว่า ตาย หรือ ดับ หรือ ไม่เกิด กันง่ายๆ ตื้นๆ เลย

ดังนั้น ถ้าเข้าใจได้เพียงว่า เมื่อนิพพานแล้วก็จะ "ไม่เกิด" ซึ่งไปเข้าใจแต่เพียงว่า "ไม่เกิดทางร่างกาย" คนที่เข้าใจผิด ในนิพพานแบบนี้มีมาก แถมเข้าใจผิดเลยเถิดไปอีกว่า "จิต" นั้น ไม่อาจจะเกิดมีร่าง มีกาย อีกได้ และซ้ำเข้าใจผิดใหญ่ต่อไปหนักหน้าอีกว่า จิตก็ยังเป็นตัวตน แม้นิพพานแล้ว หรือต่อให้ถึงขั้น ปรินิพพานแล้ว ก็ยังไม่สูญ ก็เลยเป็นงง! จึงเกิดปัญหาแน่? เพราะเข้าใจว่า แม้จะตายทางร่างกายแล้ว จิตที่บริสุทธิ์ ไม่ขอมีภพมีภูมิ มาเกิดในโลกมนุษย์เป็นคนกับเขาอีกได้แล้ว ก็จะต้องมีภพมีภูมิ อีกต่างหาก ให้ "จิต" อยู่ ให้จิตไป จึงอยากรู้ว่า ภพนั้น ดินแดนแห่งนั้น มันเป็นที่ไหนล่ะ เพราะเมื่อเชื่อว่า จิตไม่มีสูญ แม้จะถึงขั้น "ปรินิพพาน" ก็แค่ขั้นตายทางร่างกาย จิตมันก็ต้องมีที่อยู่ เพราะจิตมันยังไม่สูญ อีกทั้ง เข้าใจว่า จิตต้องไปนั่นมานี่ มีการไปการมา และแถมเข้าใจว่า มันเป็นตัวตน มีต้นมีกลาง มีหัวมีหาง จึงจะต้อง กินเนื้อที่ มีที่ให้อยู่ และต้องไปนั่นมานี่ ถึงได้ถามว่า "ถ้าคนเราไม่ต้องเกิดอีกแล้ว จิตจะไปอยู่ ที่ไหน?" เป็นจิตวิญญาณที่เป็น "นิพพาน" เสียด้วยนะ!

เพราะเช่นนี้แหละ ผู้ที่ยังเห็นว่า จิตเป็นตัวตน (อัตตา) แม้จะปล่อยวางล้างฆ่ากิเลสหมดสิ้น จากจิตแล้ว จิตก็จะยังมี ยังไม่สูญ จึงสงสัย อย่างที่ถามอาตมาอยู่นี่ คนที่เข้าใจอย่างนี้มีจริงๆ เป็นจริงๆ แล้วก็เชื่อ อย่างนี้จริงๆ

ซึ่งแสดงว่า ผู้ถามนี้ไม่รู้จักกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน ทุกขนาดทั้งหยาบ-กลาง - ละเอียด หรือต่อให้รู้ แต่ยังปฏิบัติ ไม่ถึงขั้นบรรลุจนไม่เหลือกิเลส-ตัณหา - อุปาทาน กระทั่งขนาดละเอียด สิ้นอนุสัยอาสวะ และ อาสวะ(ตัวตน) สุดท้ายที่คนยัง "อวิชชา" ยังไม่รู้แจ้ง จนไม่เหลือ "ตัวตน" ไม่มีตัวตน (อนัตตา) ก็คือ ยังไม่รู้จริงใน "วิภวตัณหา" และปล่อยวางภพชาติที่เป็น "วิภวภพ" ที่ลึกซึ้งซับซ้อน จนท้ายสุด ไม่เป็น จึงไม่รู้จัก "จิตบริสุทธิ์" จริง

เพราะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันนักหนาว่า จิตแท้ๆ หรือวิญญาณบริสุทธิ์จากกิเลสนั้น มันไม่เป็นตัวตน (อนัตตา) มันหมดได้ว่างได้สูญได้ ไม่เกาะกุมยึดติดกันอยู่เป็นจิตเป็นวิญญาณอีกได้จริงๆ ถ้าหมดเหตุ หมดปัจจัย ซึ่งจะได้เรียนรู้ความละเอียดลึกซึ้งซับซ้อนของกามตัณหา-ภวตัณหา โดยเฉพาะ "วิภวตัณหา" อย่างจะแจ้ง มีของจริง เป็นลำดับๆ ซึ่งสลับซับซ้อน มากชั้นมากเชิง และแม้ "สัจจะย้อนสภาพ" ก็มีร่วม ปฏิสัมพันธ์ อยู่อีกมากด้วย แล้วจะรู้ชัดว่า จิตหรือวิญญาณ คืออะไร? อย่างไร? และ เวทนา -สัญญา - สังขาร นั้น คืออะไร? อย่างไร? เมื่อยังไม่ตาย มันจะอยู่อย่างไร? จะทำอะไรได้แค่ไหน?

ในโลกนี้ ทั้งศาสนิกที่นับถือศาสนาแบบมี"พระเจ้า" นิรันดร์ ซึ่งต้องเห็นว่าจิตเป็นตัวตนแน่ๆแล้ว และ แม้จะเป็น ผู้ที่นับถือศาสนาแบบอื่นๆ หรือทั้งพุทธศาสนิกชน ก็ด้วยโดยสภาวะที่เป็นจริงนั้น ล้วนยังมี ความเห็นว่า "จิตเป็นอัตตา" คือ ยังเป็นวิญญาณที่ยังมี "ตัวตน" (อัตตา) ยังอยู่ในข่ายของผู้มีทิฏฐิว่า "จิตเป็นตัวตน" แต่เจ้าตัวเองส่วนมาก ไม่ค่อยจะรู้ตัวเองได้ง่ายๆ หรอกว่า ตนเองนั้น ยังเป็นผู้มีทิฏฐิ (ความเห็น) ว่า "จิตเป็นตัวตน" ซึ่งแม้แต่ผู้ที่เชื่อมั่นว่า "ตนเองหมดตัวตนแล้ว" ก็ยังหลงตัวเองได้

เรื่องของ "จิต" หรือ "วิญญาณ" กับเรื่องของ "นิพพาน" นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันเป็นเรื่องลึกซึ้ง สุดแสน (คัมภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุททัสสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบก็สงบแสนจริง ซึ่งยากที่จะเข้าใจ ถ้าไม่เกิดจริง มีจริงในตน จนมีสัมมาญาณ (สันตา) ละเอียดซับซ้อนซ่อนเชิงแสนยาก ที่จะรู้แจ้งได้ ครบถ้วน (ปณีตา) ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้ได้แจ้งจริงจากเดาจากคิดเอา จากศึกษาเพียงรู้ทางความคิด ความตรึกตรองเอา ต่อให้ตรึกนึกรู้ลึกซึ้งอย่างไรก็ตาม (อตักกาวจรา) มันสุขุมลุ่มลึก ต้องชำนาญ และ ฉลาดหลักแหลมสำเร็จจริง เกิดสภาพสูงส่งสูงสุดนั้นๆ ได้เองจริง แล้วรู้แจ้งเองด้วย ญาณหยั่งรู้ ความซับซ้อน ลึกซึ้งนั้น (นิปุณา) ซึ่งรู้ได้เป็นผู้รู้แจ้งรู้จริง เพราะบรรลุธรรมนั้นๆ ของตนเองเกิด "ญาณ" จริงๆ ในตน เท่านั้น ที่จะรู้จริงถูกจริง ไม่ผิดเลย (ปัณฑิต เวทนียา)

ที่จริงแล้ว จากคำถามของผู้ที่ถามนี้ ทวนดูดีๆ แล้ว แสดงว่า ผู้ถามรู้อยู่บ้างเหมือนกันว่า นิพพาน หมายถึง ความดับ หรือ ความไม่เกิด แต่รู้ไม่ครบ รู้ไม่ละเอียด รู้แต่เพียงความหมายตื้นๆ ต้นๆ ของคำว่า นิพพาน อย่างพาซื่อ ไม่มีนัยละเอียดลึกซึ้ง และส่อถึงอีกว่า เป็นคนที่เข้าใจว่า "จิตเป็นอัตตา" ด้วย ก็เลยงง!

ใครก็ตาม ถ้าเข้าใจคำว่า "นิพพาน" นั้นหมายถึง ความดับของร่างกาย หรือ ความไม่เกิดอีกทางร่างกาย (ความตายของร่างกาย) ผู้นั้นยังเข้าใจได้ตื้นที่สุด ในความหมายของคำว่า "นิพพาน"

ดังนั้น ผู้ที่มี"ความรอบรู้" เพียงเท่านี้ เมื่อพระอรหันต์ตายลง เขาก็จะต้องเชื่อมั่นว่า "การเกิดทางร่างกาย" จะเวียนมาเกิดอีก ไม่ได้เด็ดขาด

นิพพาน หมายถึง ความดับนั้นก็จริง! แปลว่า ความไม่เกิดนั้นก็ถูกต้อง!
แต่มันหมายถึง กิเลส หรือ ตัณหา หรือ อุปาทาน นั้นๆ ต่างหาก ที่ "ดับ" ที่ "ไม่เกิด"

ไม่ใช่รูป หรือร่างหรือกาย แม้แต่ เวทนา แม้แต่สัญญา แม้แต่สังขาร และแม้แต่วิญญาณ ก็ไม่ใช่ ที่หมายเอาว่า เป็นตัวที่ "ดับ" หรือ เป็นตัวที่ "ไม่เกิด" หรือเป็นตัวที่ "ไม่ตาย" หรือเป็นตัวที่ "ขาดสูญ"

ดังนั้น ผู้ที่เชื่อมั่นและกล่าวกันอยู่ว่า "พระอรหันต์เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก" จึงเป็นผู้มี "ทิฏฐิชั่วช้า" ตามที่ภิกษุทั้งหลาย (ในสมัยพุทธกาล) ตามที่พระสารีบุตร ตามที่พระพุทธเจ้า ทรงกล่าว ยืนยันกับพระยมก ตรงกันหมด (พระไตรปิฏก เล่ม ๑๗ ข้อ ๑๙๘-๒๐๗ "ยมกสูตร")

เพียงแค่ว่า จะแปล "นิพพาน" หรือจะจำกัดความให้ "นิพพาน" นั้นๆ หมายถึง ความดับสนิท หรือ ไม่เกิดอีก เด็ดขาด ก็ยังมีนัยละเอียดที่ต้องจำแนก ต้องแจกแจงกันเป็น "วิภัชชวาที" เช่น จะใช้คำที่ หมายถึง ความดับสนิทจริงๆ หรือ ความไม่เกิดอีกเด็ดขาด ในสภาพนั้นๆ ก็จะใช้คำว่า "สมุจเฉทนิพพาน" หรือ ความดับสนิท ดับรอบ-ดับสิ้นเชิง ไม่เกิดอะไรอีกทั้งหมดทุกสภาพทุกสิ่งอย่าง ก็จะใช้คำว่า "ปรินิพพาน" และ "สมุทเฉทนิพพาน" กับ "ปรินิพพาน" แม้จะมีความหมายคล้ายกันมาก แต่ก็ยังใช้กับ พระอริยะต่างวาระ

หรือ ถ้าแค่"นิพพาน" คือ ดับ หรือ ไม่เกิดกิเลสนี่แหละ แต่ถ้ายังไม่เก่งพอ เพียงดับพอให้ไม่เกิดได้แล้วบ้าง ก็เรียกว่า "ตทังคนิพพาน" หรือ "วิกขัมภนนิพพาน" กระนั้น ความมีนัยละเอียดที่จำแนกความต่างกัน ในแง่มุมอื่นๆ อีก ของ "ตทังคนิพพาน" กับ "วิกขัมภนิพพาน" ก็ยังมีอีก ดังนี้ เป็นต้น ซึ่งยังมี "นิพพาน" ในนัยต่างๆ อื่นๆ ที่ลึกซึ้ง ละเอียดลออ อีกมาก

เพราะเช่นนี้เอง "นิพพาน" ที่ยังไม่สูญรูปร่างกาย ยังมีการเกิดการดับใหม่อีกทางร่างกาย หรือแม้แต่ ยังไม่สูญเวทนา ไม่สูญสัญญา ไม่สูญสังขาร ไม่สูญวิญญาณ ยังมีการเกิดการดับ เวียนไปเวียนมา อยู่อีก แม้ว่าผู้นี้ จะดับสนิท ถึงขั้น สมุจเฉทนิพพานหรือ สอุปาทิเสสนิพพาน" แม้แต่ "อนุปาทิเสสนิพพาน" ก็อาจจะเวียนเกิด ในบางลักษณะ บางสภาพ แต่บางสภาพก็ดับสนิทจริงสมบูรณ์ ตามลักษณะ ความหมาย ของคำความนั้นๆ กำหนด (วาที) แล้ว หากตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้น "ปรินิพพาน" ซึ่งหมายถึง หยุดเกิด หยุดเวียนวนอะไรๆ ทุกสิ่งอย่าง ทุกสภาพหมดจบ ไม่มีอะไรกันอีกจริงๆ.


file ; 3006.SS ที่นี่.....ตอบทุกปัญหา