ความลึกของธรรมในธรรม
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖


ผมเอง ผมทำงานมา ก็รู้ว่ามันเป็นปีที่ขยาย เป็นปีที่มีงานหนักเพิ่มขึ้น มีงานมากเพิ่มขึ้น งานที่กล่าวนี้ก็คือ กิจกรรมกิจการ ที่แม้แต่พวกเรา ที่เป็นสมณะ ก็จะต้องเอาภาระ ส่วนผู้ใดที่ไม่รู้สึก รู้สารู้สมอะไร ไม่สังเกต หรือว่าตัวเองก็ ไม่พยายามที่จะพากเพียร ตนเองออกมา เพื่อที่จะมารับรู้ หรือมาร่วม ช่วยเหลือกิจกรรม กิจการของหมู่ เพราะว่าเราทั้งหมู่ ต้องร่วมทำกัน ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านก็ได้สอนเอาไว้แล้ว ในคำสอนต่างๆ เช่นคำสอนใน นาถกรณธรรม เป็นต้น ที่ว่าเราจะต้องพยายาม มีความพากเพียร ในการที่จะกระทำงาน ร่วมช่วยเหลือ การงานของหมู่ นอกจากที่จะเป็นการงาน อันเป็นความพากเพียร ในการปฏิบัติธรรม ของตนๆ ซึ่งในนาถกรณธรรม มีทั้ง ๒ ประเด็น ในความเพียร ที่จะเอาภาระของหมู่ด้วย แล้วก็ใน ความเพียรปฏิบัติธรรม เพื่อตนด้วย ซึ่งผมก็เคยหยิบขึ้นมาพูด หรือแม้แต่สูตร ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การปฏิบัติธรรมก็คือ การต้องทำงานทั้ง ๒ อย่าง เหมือนกับแม่โค ที่เลี้ยงลูกไปพลาง แล้วก็เล็มหญ้า ให้แก่ตัวเองไปพลาง แล้วก็ต้องเลี้ยงดูลูกๆ ไปพลาง ฉันใดก็ฉันนั้น การปฏิบัติธรรม ก็ต้องอย่างนั้น

ซึ่งปีที่ผ่านมานี้ ผมก็ได้พยายามที่จะ ทำความเข้าใจ เอาทั้งหลักฐาน พระไตรปิฎก ที่มีข้อคำตรัสคำสอน ของพระพุทธเจ้า เอามาอธิบาย มาขยายความ มาเป็นหลักฐาน ในการยืนยันว่า พระพุทธเจ้า สอนลูกศิษย์ ของท่านนั้น สอนมีนัยที่ลึกซึ้ง ละเอียด ซับซ้อน เมื่อปฏิบัติถูกตรงแล้ว จะเป็นอย่างไร ซึ่งล้วนแล้วแต่ มันจะเป็น หนึ่งเดียวลงไปหา โพธิปักขิยธรรม หรือปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ที่มีตัวโพชฌงค์ ๗ เป็นตัวหลัก ที่ว่าหลักก็คือ มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ คำว่าสติก็เป็น สติสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่สติแค่สติปุถุชน หรือแค่ สติกัลยาณชน ดังกล่าวแล้ว ที่ได้เคยอธิบายมา เป็นสติที่จะต้อง รู้ตัวทั่วพร้อม พร้อมขณะ ที่รู้จักองค์ประชุม เรียกว่ากาย แล้วก็ต้องมีการเรียนรู้ ที่จะเข้าไปจับเวทนา และพิจารณาอ่านรู้ ฝึกตน ให้อ่านรู้ ลึกซึ้ง และเท่าทัน เวทนาในเวทนา เข้าไปในจิต เราจึงเกิด เจโตปริยญาณ เกิดจิตที่ได้พัฒนาขึ้นมา ตลอดเวลา จากรู้จักกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสราคะ โทสะ โมหะ หรือกำลังลดละ จางคลาย ทำการลดการปฏิบัติ ในราคะ โทสะ โมหะ ลงไปเรื่อยๆ แม้จะได้แค่สังขิตตะ วิขิตตะ ยิ่งขึ้นไปเป็น มหัคคตะ ขึ้นไปเป็น สอุตระ อนุตระ เป็นที่สุด ที่สุดแห่งที่สุด แห่งอนุตระ ก็เป็นสมาหิตะ เป็นวิมุติ ซึ่งเป็นความเจริญของจิต ที่เรียกว่า มีเจโตปริยะ มีญาณหยั่งรู้ ในเจโตปริยะ จนถ้วนรอบ แล้วก็ทำจิตของตนเอง สู่อนุตรจิต ที่ครบพร้อมด้วย สมาหิตะ พร้อมด้วยวิมุตจิต อย่างสมบูรณ์ ก็เพราะว่า เราสามารถรู้กาย รู้เวทนา มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เป็นตัวปฏิบัติ

ถ้าผู้ใดไม่มีทิฐิ ไม่มีความเห็น ไม่ใช่ทิฐิความเห็น ที่เห็นเฉพาะความเข้าใจ เป็นตรรกเท่านั้น แต่เกิดความรู้ ความเห็น ที่เป็นองค์ธรรมแห่งปรมัตถ์ เป็นความรู้ความเห็น ที่จะเกิดองค์ธรรม ที่มีปัญญา ปัญญิณทรีย์ ปัญญาผลเกิด ปัญญา ปัญญิณทรีย์ ปัญญาผลเกิด เพราะธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เพราะปฏิบัติ มัคคังคะ มรรคองค์ ๘ มรรคองค์ ๗ เพราะได้สั่งสม สัมมาทิฐิขึ้น ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจองค์ทั้ง ๖ ของสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐินี้ เวลาปฏิบัติแล้ว จะเกิดองค์ ๖ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฐิ มัคคังคะ ผู้ที่ได้ร่ำเรียนมาแล้ว จะต้องรู้หลัก องค์ธรรม ๖ ประการนี้ ของพระพุทธเจ้า รู้ภาษาเท่านั้นก็คือรู้ภาษา แต่ถ้าผู้ที่รู้ภาษา แล้วก็รู้สภาวะว่า อาการ ลิงคะ นิมิต อย่างไรที่เรียกว่า ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ อย่างไรเรียกว่า สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่ เป็นอาการ เป็นนิมิต ให้เรารู้ในใจของเราว่า เกิดสัมมาทิฐิอันเจริญ สัมมาทิฐิ เมื่อรู้ รู้ด้วยความหมาย ซึ่งเป็นบัญญัติมาก่อน จากอุเทศ ที่ได้อธิบาย ที่ผมอธิบายอยู่เสมอ หรือแม้แต่ คุณจะอ่านเอง ก็เกิดจากการรู้ จากบัญญัติ จากอุเทศ จะเป็นผู้ใด บรรยายไว้ก็แล้วแต่ ในบรรยาย หรือแม้แต่ไปอ่าน ไปฟัง จากผู้บรรยาย ที่เป็นอาจารย์อื่นๆ หรือ ผู้ที่ท่านรู้อื่นๆ แล้วเราก็ได้รับซับซาบ อันนั้นขึ้นมา เป็นลำดับ แล้วเราไปปฏิบัติ จนมีตัว ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ แล้วมีสติสัมโพชฌงค์ เป็นตัวนำ หรือมี สติปัฏฐาน มีสัมมาสติ เป็นตัวห้อมล้อม ในการปฏิบัติ โดยเรามีทิฐิ เป็นประธาน มีความเข้าใจ มีความเห็นแล้ว รู้แล้ว เข้าใจแล้ว เป็นตัวประธาน มีสติ มีสัมมาวายามะ หรือมีวิริยะ พากเพียรปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ กับสัมมาทิฐิ ที่เป็นประธาน โดยบัญญัติก็ดี เมื่อปฏิบัติมัคคังคะ ปฏิบัติด้วยองค์ธรรม โดยเฉพาะ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ตัวมัคคังคะ ตัวปฏิบัติก็คือ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ทั้ง ๔ นี่เอง เป็นตัวปฏิบัติ เป็นตัวที่ฝึกฝน อบรมไปตลอด ที่เราจะรู้เท่าทัน สังกัปปะ รู้ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ รู้อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา รู้จักวจีสังขารา หรือรู้จักสังขาร โดยเฉพาะ สังขารจิต สังขารจิตทีเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไปรู้กายสังขาร ไปรู้วจีสังขาร ไม่ใช่ วจีสังขารที่เป็นเรื่องราว หรือจนเป็นคำพูด เป็นบัญญัติ วจีสังขารก็คือ สังขารบัญญัติ บัญญัติเป็นของคำพูด บัญญัติเป็นกายกรรม ถ้าเป็นปรมัตถ์ ของวจีสังขาร ก็หมายถึงว่า เป็นสิ่งที่สั่งการสมบูรณ์แล้ว สั่งการสมบูรณ์ ออกเป็นภาษาพูด เป็นวาจา หรือเป็นกายกรรม พร้อมที่จะเป็นกายกรรม พร้อมที่จะเป็น วจีกรรมออกมา แต่สั่งการไว้แล้วในใจ ปรมัตถ์เป็นวจีสังขาร ปรุงแต่งไว้ ออกเป็นวจี ออกเป็นเรื่อง วจี แปลว่าเรื่อง ออกเป็นเรื่องที่ สมบูรณ์แล้วอยู่ในใจ เรียกว่าปรมัตถ์ ยังไม่ออกมาเป็นภาษา วาจา คำพูด ยังไม่ออกมา เป็นกายกรรม

ถ้าผู้ใดมีตัว มุทุภูตธาตุ ที่เร็ว ที่แววไว ไม่ใช่เห็นตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ มันจะเข้าใจอาการพวกนี้ แล้วก็จะเข้าใจ จนกระทั่ง มันปรุงมาเป็นสังขาร เมื่อเป็นสังขารแล้ว พร้อมที่จะพูดออกมา หรือพร้อมที่จะแสดง ออกมาทางกาย แต่เราเร็วจนกระทั่ง สามารถมีอำนาจ ความแข็งแรง อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา ซึ่งเป็นตัวจิตที่ได้ฝึก แข็งแรงตัวนั้น เราจะตัด เราจะให้ออกมา หรือไม่ให้ออกมา เราจะตัด หรือเราจะสร้างออกมา จะระงับหรือว่า จะปล่อยออกมา จะมีความเร็ว ความไว ที่จะใช้ ที่จะทำ

เพราะฉะนั้น ในตัวสังกัปปะ หรือจิตเป็นประธานสิ่งทั้งปวง คือ มโนปุพพัง คมา ธัมมา ที่ใจเป็นตัวก่อน มโนปุพพัง ปุพพะ จิตเกิดก่อน ใจเกิดก่อน มโนปุพพะ ปุพพะก็คือก่อน ใจเกิดก่อนจะมาเป็น คมา ก็เชื่อการเป็น ป จึงมาเป็นคมา ไปมา จะมาเป็นธัมมาทั้งหลาย ที่จะออกมาเป็นกุศล - อกุศลใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นกายกรรม วจีกรรม ก็มาจาก มโนปุพพัง มโนเป็นประธาน เพราะฉะนั้น จะดีจะชั่วอย่างไร ก็อยู่ที่ความสามารถ ความรอบรู้ หรือสรุปง่ายๆก็คือ ผู้ที่ตกอยู่ใต้ อำนาจกิเลสหรือไม่ ถ้าเป็นพระอรหันต์ ถือว่าเป็นผู้ที่ รู้จักกิเลสจริงๆ สามารถระงับกิเลสได้ ไม่มีพิษ ไม่มีอำนาจจริงๆ เพราะฉะนั้น ในการจะออกมา เป็นกายกรรม วจีกรรม หรือในใจในจิต มีความรู้เท่าใด มีความสะอาดบริสุทธิ์เท่าใด ผู้เป็นพระอรหันต์ ถือว่าเป็นผู้สะอาดแล้ว เพราะฉะนั้น ในจิตที่จะออกมาเป็น มโนปุพพัง คมา ธัมมา จะออกมา เป็นธรรมะใดๆ กายกรรม วจีกรรม ออกมาจากจิต จิตเป็นตัวประธาน ที่จะให้ออกมาเป็น กายกรรม วจีกรรม ถ้าเป็นพระอรหันต์ ต้องถือว่า เป็นผู้ที่มีกุศลจิตทุกๆ ตัว เมื่อมีกุศลจิตทุกตัว กายกรรม วจีกรรม ที่จะออกมา ก็เป็นกุศลทั้งสิ้น หรือถือว่าไม่บาป

โดยสัจจะ โดยปรมัตถสัจจะแล้ว เมื่อผู้ใดที่เป็น พระอรหันต์จริง จะไม่มีอกุศลเจตนา แต่จะบกพร่องได้ ที่ท่านรู้ไม่เท่าทัน เท่านั้นเอง รู้ไม่เท่าทันก็คือสมมติ พระอรหันต์จะผิด ผิดที่สมมติ ไม่ได้ผิดที่ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ถือว่า เป็นบาปอาบัติ จะเป็นบาปก็เป็นบาปสัจจะ ที่ท่านรู้ไม่เท่าทันจริงๆ ไม่รู้ว่าสมมตินี้ มันควรหรือไม่ควร แต่ในเรื่องของกิเลสนั้น พระอรหันต์ถือว่า ไม่มีกิเลส ไม่มีตัวที่จะทำ เพื่อบำเรออัตตา กิเลสที่ว่านี้ คือ ไม่มีอัตตาที่เป็นอนัตตา จิตไม่ได้ทำบำเรอตน ไม่ได้สนองความโลภ ไม่ได้สนองความโกรธ และถือว่า ไม่ได้หลงผิดแล้ว ไม่ได้หลงเหลือเลย โมหะ ไม่มีหลงเหลือ ส่วนอนุสัยอาสวะใดๆ เพราะฉะนั้น จิตที่พระอรหันต์ จะปรุงอะไรออกมา จะสร้างอะไรออกมา จึงไม่ได้บำเรออัตตา ไม่ได้เป็นจิต ที่ทำเพื่อตัว เพื่อตน ที่มีส่วนของอนุสัย หรืออาสวะใดๆ ที่เป็นความบริสุทธิ์นั้นๆ

ถ้าผู้ใดปฏิบัติ รู้จักเวทนา รู้จักธรรมะ ที่ประกอบไปด้วยนิวรณ์ นิวรณ์หยาบ กลาง ละเอียด ทั้งนั้นแหละ โดยกิเลส ก็ไม่มีอื่น มีนิวรณ์ ๕ เท่านั้นแหละ ที่เป็นอาหารของ อวิชชาทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อเราเรียนรู้แล้ว เราเข้าใจ อายตนะทั้งหลาย เข้าใจขันธ์ ๕ จนกระทั่ง สมบูรณ์สุด ขันธ์ ๕ ที่ว่านี้ มีอุปาทาน ร่วมอยู่ด้วย อุปาทานในเวทนา ซึ่งเราจะต้องรู้ เวทนาแท้ๆ ว่าเวทนาที่เป็นตัวรู้ ตัวรู้สึก สุข ทุกข์ เข้าใจหมด แม้แต่เวทนา ๑๐๘ ก็ได้อธิบายกันแล้ว ก็อาจจะรู้กัน ยังไม่ทั่วถ้วน ก็อาจจะเข้าใจ ยังไม่ละเอียด แม้แต่ที่สุด เวทนาไปถึงระดับ ตัวที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็น เคหสิตโทมนัส หรือ เคหสิตโสมนัส เคหสิตอุเบกขา หรือว่าเป็น เนกขัมมะ เข้าใจชัดเลยว่า นี่เป็น เนกขัมมสิตโทมนัส ดูมันยังตั้งตน อยู่บนความลำบาก แต่เราก็พากเพียร ที่จะปฏิบัติ เพื่อการออกจาก หรือละเว้น ให้หลุดพ้น ออกมาจาก กิเลสตัณหาอุปาทาน ทั้งปวง แม้ว่า เนกขัมมะ มันลำบากอยู่โทมนัส จนกระทั่งทำได้ แม้ทำได้แล้ว ก็ยังมีอุปกิเลส ซึ่งอุปกิเลส ในตัวที่แรงๆ ก็คือ ปีติพวกนี้ เป็นต้น ยังมีความชื่นใจ ยินดีสูง จนเหลือโสมนัส ก็เป็นความยินดี แต่ความเป็น โสมนัสนั้น เบาบางเหลือ ในภายใน เป็นอุปกิเลสที่เหลือ มันจะเกิดมา ที่ท่านใช้คำว่า ระงับโสมนัสก่อนได้ ซึ่งเป็นภาษา ในฌาน ถ้าใครได้อ่าน พระไตรปิฎก สำนวนพวกนี้ ท่านแปลไว้ก็คือว่า มันจะมีตัวอาการ ของความยินดี ที่เหลือเศษส่วนอยู่ แล้วเราก็อ่านรู้เท่าทัน จนระงับมัน ไม่มีโสมนัส เป็นอุเบกขาสุดท้าย เพราะฉะนั้น ตัวที่จะเป็นตัวสุดท้าย ที่จะถึงอุเบกขาฐาน ฐานจิตที่มันวางได้ละเอียด ไม่มีธุลีละออง ไม่มีความหลง อุปกิเลสที่มีรสของ ความยินดีได้ ก็คือโสมนัสสุดท้ายนี่แหละ ระงับโสมนัสก่อนได้ ได้สมบูรณ์จริง หมดอุปาทาน

เพราะฉะนั้น อุปาทานในขันธ์ ๕ อุปาทานในเวทนา ความรู้สึกอุปาทานในสัญญา คุณกำหนดรู้สัญญา วิเคราะห์สัญญา ออกเลยว่า แม้แต่ที่สุด เราก็เป็นผู้ที่มี สัญญาเวทยิตนิโรธ รู้จักอากิญจัญญายตนะ รู้จักเนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาการกำหนด อย่างที่เรียกว่า ไม่มีคำที่ว่าไม่รู้ แต่ว่ารู้บ้าง ไม่รู้บ้าง มันยังครึ่งๆ กลางๆ ยังลังเลสงสัย หมดสัญญานั้น เป็นสัญญาที่กำหนดรู้ อย่างชัด อย่างตรง อย่างเที่ยง เป็นสัญญายนิจจานิ สัญญาที่กำหนดรู้ อย่างเที่ยง อย่างแท้ อย่างมั่น อย่างคง อย่างเด็ดเดี่ยว สมบูรณ์ ในการกำหนดรู้ ถึงขั้นได้เป็น เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ไม่เป็นการกำหนดรู้ ที่จะรู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่เชิง ไม่มีตัวสัญญา ที่กำหนดรู้แค่นั้น แต่เป็นตัว สัญญาที่กำหนดรู้ อย่างรอบถ้วน เป็นสัญญาที่กำหนดรู้ ทุกอารมณ์ ทุกอาการของจิต เจตสิก เรียกว่า สัญญาเวทยิตะ สัญญาเวทยิตัง และ ดับสนิท นิโรธัง โหติ เกิดความดับอย่างแท้จริง รู้จักความดับ รู้จักสัญญา กำหนดรู้อารมณ์เวทนา รู้อารมณ์ของสัญญา รู้อารมณ์ของสังขาร คือ เจตสิก ๓ ซึ่งเป็นเจตสิกสุดท้าย รู้นี้เป็นสังขาร หรือไม่ใช่สังขาร สังขารนี้ เป็นกุศล สังขารนี้เพื่อตัวตน หรือไม่ใช่ตัวตน สังขารนี้ ปราศจากตัวตน สังขารนี้ ปราศจากอัตตา สังขารนี้ ปราศจากอัตนียา สังขารนี้ ปราศจากความเป็นของตน สังขารนี้ ปราศจากความเป็นตน เป็น ปุญญาภิสังขาร หรือเป็น วิสังขาร เป็นสังขารที่พิเศษ วินี่แปลว่าพิเศษ มันเป็นสังขารที่พิเศษจริงๆ มีความกำหนดรู้ ตามที่ผมอธิบายนี้ โดยบัญญัติ แต่ผมอ่านจากสภาวะ มาบรรยายขณะนี้ ผู้ใดยังไม่สามารถรู้ ถึงสภาวะ ยังไม่เข้าใจถึง ก็จงรู้เถิดว่า เรายังไม่มีภูมิถึง ฟังภาษานี้ ก็ยังไม่เข้าใจ นั่นแสดงว่า ยังไม่มีภูมิความรู้ ภูมิความเห็น หรือภูมิของทิฐิ ภูมิของตักกะเท่านั้น ก็ยังไม่ถึง

ถ้าผู้ใดมีภูมิ แม้แต่แค่ตักกะ ภูมิแค่ทิฐินี้ ฟังนี้เข้าใจ เข้าใจในความหมาย อย่างไร ก็เข้าใจดี ผู้นั้นมีภูมิ ที่ฟังธรรมะนี้ได้ เรียกว่าเป็น อุปสัมปันในส่วนหนึ่ง

ส่วนผู้ใดฟังนี้เข้าใจดี มีสภาวะรองรับด้วย ผู้นั้นเป็นอุปสัมบันแท้ เป็นอุปสัมบันจริง ฟังที่ผมพูดถึงนี่ พูดถึงปรมัตถสัจจะ เป็นเรื่องของจิตเจตสิก และมีสภาวะแท้ รองรับด้วย ฟังไปเข้าใจไป ถึงแม้เราจะมี บทฝึกหัด ที่ไม่มากนัก ก็ยังเข้าใจ และก็ยังมีตัว อาการสภาวะ ที่เคยผ่านเคยพบ ก็เป็นจิต เป็นเจตสิก ดังกล่าว ที่ผมกำลังกล่าวนี้ชัด เข้าใจได้นั้นเป็น อุปสัมบันแท้ นี่เป็นเรื่องของ ปรมัตถสัจจะ ที่เป็นอุตริมนุสธรรม เป็นธรรมะที่แท้ ที่สูงส่ง เป็นเรื่องของ จิตเจตสิก ผู้ใดปฏิบัติแล้ว สามารถหยั่งรู้ ธรรมะที่ว่านี้ รู้จักนิวรณ์ รู้จักอุปาทาน ในขันธ์ ๕ รูปสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าเป็นนามธรรม รูปที่เนื่องเข้าไปถึงนามธรรม ถึงปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไปถึงรูป รูปราคะ อรูปราคะที่ถูกรู้ หรือเป็น เจตสิกที่ถูกรู้ เรียกว่า เรารู้นามธรรม รู้จิต เจตสิก ของเรา วิเคราะห์ราคะ โทสะ โมหะออก วิเคราะห์ อ่านอาการของราคะ โทสะ โมหะ อ่านอาการของจิต ที่เมื่อแยกแล้ว ระงับส่วนที่ควรระงับ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อระงับได้แล้ว จิตจะเป็นอย่างไร จิตจะยิ่งเจริญ จิตจะยิ่งผุดผ่อง จะยิ่งมีพลัง จะยิ่งแข็งแรง จะยิ่งบริสุทธิ์สะอาด อะไรพวกนี้ เราจะเห็น เราจะรู้ เราจะเข้าใจสภาพ ของความเป็นจริงๆ พวกนี้เกิดเอง มันยิ่งหมดอุปาทาน ที่ขันธ์ทั้งหลาย ในเวทนาก็ดี สิ่งที่ถูกรู้ก็รวม รวมทั้งกิเลส และรวมทั้งจิต เรียกว่า สิ่งที่ถูกรู้เป็นนามธรรม แล้วรวมๆ ว่ารูปนาม ก็เมื่อวิเคราะห์ออก ได้ลึกเข้าไปในจิต เป็นเวทนา และในเวทนา ก็ไม่มีอุปาทาน หรือ ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีอาการแม้แต่เป็น อุปกิเลส รู้กิเลส รู้อุปกิเลส เป็นเวทนาบริสุทธิ์ขึ้น เป็นสัญญาบริสุทธิ์ขึ้น เป็นสังขาร บริสุทธิ์ขึ้น นี่เป็นเจตสิก ๓ รวมแล้วเป็นวิญญาณ หรือเป็นจิตที่บริสุทธิ์ จากที่เราได้ละล้าง เนกขัมมะ และ ปฏิบัติออกมาเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น อุปาทานขันธ์ ๕ เราก็เข้าใจ อายตนะ ๖ รู้อายตนะนอก อายตนะใน รู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะนอก เมื่อรับกระทบสัมผัสแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถูกรู้โดยตา เรียกโดยภาษามันซ้ำกันว่า รูป ซ้ำกันกับคำว่ารูป คือภาพ หรือภาวะ ถ้าเรียกกันเป็นอีกคำหนึ่ง ก็เรียกว่าภาพ หรือภาวะ เป็นภาวะ หรือเป็น สภาวะนั่นแหละ เป็นสภาวะ ที่เกิดจากทวารตา เป็นสภาวะ ที่เกิดจากทวารหู เป็นสภาวะ ที่เกิดจาก ทวารจมูก ทวารลิ้น ทวารกาย หรือทวารใจ ของมันเอง สภาวะหรือรูป คือสิ่งที่ถูกรู้นั้นๆ มันเกิดสภาวะ เมื่อเราไปเรียก โดยภาษาไทยอีกว่ารูป ซ้ำทางตา หรือสภาวะนั่นแหละ หรือรูปทางเสียงก็คือรูป ก็คือ สภาวะทางเสียง มันคืออย่างไร ก็อย่างนั้นแหละ สภาวะทางกลิ่น สภาวะทางรสในลิ้น สภาวะในกายสัมผัส โผฏฐัพพารมณ์ สภาวะในใจ มันก็เป็นสภาวะ หรือรูป หรือสิ่งที่ถูกรู้โดยเรา จะถูกรู้ทางเสียง จะถูกรู้ทางกลิ่น จะถูกรู้ทางรส ทางลิ้น อะไรอย่างนี้ เป็นต้น เราสามารถ หยั่งรู้โดยญาณ โดยธาตุรู้ โดยปัญญา โดยธาตุรู้ของจริง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตักกะ ไม่ใช่การคิดนึก ผกผันความคิด แต่เป็นของรู้ ที่มีสภาวะเกิดแล้ว เรารู้สิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่อยู่นั้นด้วยญาณ ด้วยปัญญา ด้วยธาตุรู้ ตัวที่เรารู้ ตามความเป็นจริง ขึ้นไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น อายตนะ เราก็จะรู้จากการปฏิบัติมา กำหนดรู้นิวรณ์ กำหนดรู้อุปาทาน นิวรณ์ก็คือกิเลส หรือ ตัณหา อุปาทานก็คือ ตัวที่ยึดติดอยู่ มีกิเลสมีตัณหาติดอยู่ คืออาการเราวางไม่ขาด จะตัดไม่ขาด เราล้างไม่สะอาด จนกระทั่ง ล้างสะอาด เหลืออายตนะบริสุทธิ์ ตากระทบรูป มันก็ต้องเห็นรูป หูได้ยินเสียง มันก็เสียง ทีนี้เรารู้จักนิวรณ์ รู้จักกิเลสแล้ว อุปาทานไม่มีแล้ว ขันธ์ ๕ บริสุทธิ์ อายตนะนอกใน ก็ทำงานธรรมดา ด้วยโพชฌงค์ ๗ ด้วยมรรค ๘ ที่เป็นธรรมในธรรม ทั้งหมด ที่เราปฏิบัติ ก็ปฏิบัติได้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราก็จะรู้ของเรา ปฏิบัติได้อย่าง ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราก็จะรู้ของเราจริง

เพราะฉะนั้น ธรรมในธรรมก็มีเท่านี้ ฉะนั้น เราก็ปฏิบัติกาย เวทนา ด้วยการสร้างจิต มีเจโตปริยะ เกิดญาณรู้ จนกระทั่งถึง อาสวักขยญาณ รู้จักองค์ประกอบของ สมาหิตะ หรือ อสมาหิตะ หรือตัว วิมุติ

สมาหิตะ คือจิตที่มีการงาน มีบทบาท มีคติ มีความเป็นไป มีอวจร มีตัวที่ยังดำเนินไปสู่สุคติ อวจรที่เป็น ปรารถนาดี เป็นกุศลเจตนา คือทำงาน สมาหิตะคือ เป็นจิตที่ตั้งมั่น แข็งแรง เป็นสมาธิ นี่แหละ รวมไป แปลเป็นภาษา บาลีซ้อนบาลี ก็แปล สมาหิตะ ว่า สมาธิ ท่านแปลสมาธิมาเป็นไทย ไทยมันไม่มีภาษา ก็มีแต่ ความตั้งมั่น แปลเมื่อไรก็ สมาธิก็แปลว่าตั้งมั่น สมาหิตะ ก็แปลว่าตั้งมั่น สมาทหะ ก็แปลว่า ตั้งมั่น เป็นความตั้งมั่น ขั้นสมาหิตะ ที่จะมีจิต ที่เป็นตัวตน เรียกว่า สมาทหัง สมาทหะ ท่านก็แปลว่า สมาธิ สมาทหะหมายความว่า จิตที่เป็นตัวที่หนุ่ม สด แข็งแรง สมาทหะ สมาหิตะ เป็นจิตที่ตั้งมั่น แข็งแรง ที่เป็นบทบาทการงาน มีประโยชน์คุณค่า ถ้าประโยชน์ตนหมด พระอรหันต์ ประโยชน์ตนก็ไม่มีเพื่อตน อะไรจริงๆ มีแต่ประโยชน์เพื่อท่าน เพื่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น สมาหิตะ ประโยชน์เกื้อกูล ก็มีแต่ประโยชน์ เพื่อผู้อื่น ไปทั้งหมด เป็นหิตประโยชน์ นั่นแหละ ส่วน สมาทหะ นั้นเป็นของเรา จิตที่อาศัย จิตที่หนุ่มที่สุด ที่เบิกบาน ที่ร่าเริง หนุ่มสด หรือว่า หนุ่มแข็งแรงนี่ เป็นวัยที่สด เป็นวัยที่อธิบายโดยวัย เป็นวัยที่แข็งแรง เป็นวัยที่มีทุกอย่าง ครบพร้อม มีทั้งกำลัง มีทั้งความเบิกบานร่าเริง มีทั้งความกระปรี้กระเปร่า ก็เรานึกถึง สภาพของความเป็นหนุ่ม ที่เป็นหนุ่มเต็มตัว เป็นหนุ่มที่เบิกบานร่าเริง เป็นหนุ่มที่มีความแววไว อยากรู้ อยากเห็น เป็นหนุ่มที่ อยากจะสร้างสรร อยากจะมีอะไรต่ออะไร ที่เท่าที่โลกเขาเป็น ที่เราเรียก เป็นวัยที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นวัยที่เจริญ เป็นวัยที่ครบพร้อมที่สุด ทั้งความแข็งแรง ที่มีประโยชน์คุณค่า ความเบิกบาน ร่าเริงที่เป็นสุขที่สุด นั่นแหละ เป็นจิตที่สงบ สมะ นี่สงบ สมาทหัง เป็นจิตที่สงบ แต่ว่าสงบ ในคุณลักษณะของเจโต สมาทหะนี่เป็นของเรา

ส่วนสมาหิตะ นั่นเป็นของทั้งหมดทั้งมวล เป็นของโลก เป็นคุณค่า ที่เป็นเพื่อผู้อื่น แต่สมาทหะ นั้นเราอาศัย เป็นจิตที่เราอาศัย และเป็นคุณลักษณะประจำตัว เป็นคุณลักษณะ สรุปง่ายๆ ก็คือ แข็งแรง เบิกบานแข็งแรง หนุ่มนี่แข็งแรง และแข็งแรงอย่างสดชื่น เบิกบาน ไม่มีเหี่ยว ไม่มีเฉา ไม่มีหดหู่ มีแต่แจ่มใส เป็นจิตลักษณะนั้น คุณเอาไปสังเกต แม้แต่รูปง่ายๆ รูปนอกๆ เป็นความเบิกบาน คนพวกนี้เบิกบาน ไม่มีเศร้า ไม่มีหมอง ไม่มีขรึม ไม่มีเคร่ง มันไม่เคร่งดอก มันคลาย ผ่อนคลายหมดแล้ว มันมีแต่เบิกบาน ดูรูปนอกก็ได้ ถ้าคุณดูรูปนอก ก็คือสภาพหยาบ จนกระทั่ง เข้าไปในจิตใจ ก็เป็นฉันเดียวกัน เบิกบาน ร่าเริง แข็งแรง ไม่เหยาะแหยะ ไม่ท้อแท้ ไม่หย่อน เป็นนักสู้น่ะ อย่าง สมทหัง นี่เป็นนักสู้ คุณลักษณะไม่ถดถอย ไม่ท้อแท้ สู้ แต่ไม่ใช่พวกบ้าระห่ำนะ ที่ที่ว่านี่ ไม่ใช่ตัวคนพาล ที่ไร้ปัญญา ที่ไร้กำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ เป็นคนที่มี กำหนดกฎเกณฑ์ รู้ทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น จะมีคุณลักษณะ ของจิตสมบูรณ์พวกนี้ จิตสมาหิตะกับวิมุติ วิมุติก็เป็นจิตอาศัย วิมุติเป็นจิต ที่หลุดพ้น เป็นจิตที่รู้รอบ เป็นจิตที่เป็นตัวเจตสิกของเรา วิมุติก็คือตัวอาศัย ตัวสมบูรณ์ ตัวที่ไม่มีกิเลสแล้ว เกลี้ยงแล้ว สมาหิตะ เป็นตัวการงาน เหมือนมีความอยาก มีความต้องการ ไม่นิ่ง ไม่หยุด

เพราะฉะนั้น สมาหิตะ มันจึงไม่ได้เป็นความหมายที่ตื้นๆ เขินๆ เหมือนที่เขาเข้าใจว่า สมาหิตะ คือผู้สงบ ผู้มีสมาธิคือผู้สงบ แปลหยาบๆ แล้วก็เลยแปลสงบว่า "นิ่งเฉย" ที่จริง "สงบ" มันมีในนั้น คือจิตมันสงบ จิตสงบอย่างไม่มีกิเลส ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีกิเลสเกิด กิเลสไม่มี มันสงบ เกลี้ยง สะอาดแล้ว ไม่มีกิเลสอะไร เกิดมาอีกเลย มันสงบตลอดเวลา แต่ที่มันปรุง ไอ้ที่มันสร้าง ไอ้ที่มันทำงานไว้ ที่จริงมันเป็น บทบาทนั้นน่ะ มันเป็นคุณลักษณะ ของจิตวิญญาณ ที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้เพื่อตัวเพื่อตน ไม่ได้กิเลส เป็นตัวการ ไม่ได้มาบำเรอตนอะไร มันเป็นการสร้างสรร มันเป็นจิตพระเจ้า มันเป็นจิต พระผู้สร้าง ผู้ประทาน ผู้สร้างเพื่อให้ สร้างเพื่อให้ผู้อื่น ได้รับประโยชน์คุณค่านั้น มันเป็นจิตพระเจ้า ที่วิเศษ มันเป็นจิตสงบ มันเป็นจิตบริสุทธิ์ ฟังความ ฟังภาษาไว้ แล้วจึงสร้างจิตนี้ ให้เกิดที่เรา อันนี้เป็นหลักวิชา ที่แถมให้ พร้อมกันทุกรูป ใครจะบอกว่า ไม่ได้ฟัง ใครนั่งหลับ ใครนั่งเบลอ ใครฟังไม่ได้ หรือใครฟังไม่ออก ก็เป็นฐาน ของแต่ละคน โอกาสนี้ เป็นโอกาสพร้อม ทุกคนแล้ว ผมได้พูดแล้ว ผมได้กล่าวแล้ว ต่อหน้าทุกท่าน ใครจะบอกว่า ไม่มีโอกาส ไร้โอกาสไม่ได้ ถ้าคุณจะกล่าว อย่างนอบน้อม คุณก็กล่าวได้ว่า เป็นบุญของเราหนอ ที่ได้ฟังอันนี้แล้ว ถ้าจะกล่าวโดยผมก็บอกว่า นี่เป็นโอกาสอันดีหนอ ของพวกคุณ ที่ได้ฟังอันนี้แล้ว ที่เจาะปรมัตถ์ สำหรับปีนี้ สำหรับวันนี้ ก็ได้กล่าว แม้แต่คราวที่ได้บรรยายมา ตลอดทั้งปี ไปเจอ พระสูตร จูฬวิญูหสูตร สูตรที่กล่าวถึงสัจจะ กล่าวถึง สัญญาสุดท้าย ผมก็ยังไม่เจออะไร ที่จะลึกไปกว่านี้อีก ในพระไตรปิฎก ที่เป็นคำกล่าว มีอยู่ตัวเดียวนี่แหละ ในพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม คำตรัสที่เจาะลึก เพราะว่า เป็นตัวที่ เจาะลึกที่สุดแล้ว เพราะว่า เจาะถึงขั้นสัญญา และผมก็เข้าใจสัญญานี้ว่า สัญญานี้ เป็น สัญญาเวทยิตนิโรธ อันเป็นตัวสัญญา ที่เป็นอาการของ สัญญายะ สัญญายนิจจานิ ซึ่งผมเข้าใจบัญญัติ ทั้ง ๒ ตัวนี้ รวมความแล้วทั้งหมด ในพยัญชนะ ในคำตรัสสูตรนั้น ผมว่า ผมเข้าใจทั้งหมดนี้ แล้วก็หยิบมา บรรยาย เท่าที่ผมสามารถได้ บรรยายไป ซึ่งจะต้องบรรยายอีก บรรยายไป จนตายแหละ นี่สูตรพวกนี้ แล้วหยิบมา บรรยายไว้ก่อน

เพราะฉะนั้น การบรรยายนี้ เป็นเรื่องของการยึดสูงมากล่าว แล้วก็จะค่อยๆ ขยายละเอียดยิบ ขยายหยาบ ไปในอนาคต เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีภูมิธรรมสูง ก็จะรับได้ก่อน ผู้ที่มีภูมิธรรมยังไม่สูง ก็ยังรับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไปตามลำดับ ที่ผมทำเช่นนี้ ผมก็ทำมาแต่ต้น คือทำจากสูงไปหาต่ำ โดยเฉพาะ ในขณะนี้ก็คือ อยู่ในสงฆ์ ไม่ได้กล่าว อยู่นอกสงฆ์อะไร ถึงแม้ว่า อยู่นอกสงฆ์ ผมก็กล่าวไปเรื่อยๆ เมื่อกาละที่ควรกล่าว เช่น ทำวัตร ในพวกเราก็ดี ศึกษาเล่าเรียน ไม่มีผู้ที่เพ่งโทษแล้ว เป็นอุปสัมบัน หรือ อุปสัมบันโดยบัญญัติ อยู่ในวัด ไม่ได้ไปกล่าวผิดที่ ผิดถิ่นที่ไหน ถึงแม้ว่า จะเป็นโอกาสข้างนอก ครั้งคราว ผมจะไปกล่าวบ้าง ผมก็ประมาณของผม แต่ก็ยังไม่ได้ไปกล่าว สูตรเหล่านี้ หรืออะไร อธิบายเหล่านี้ ยังไม่ได้ไปกล่าวนอกวัด โดยเฉพาะ ที่ผมเทศน์อยู่ ทุกวันนี้ ไม่ได้ไปเทศน์นอกวัดเลย ผมไม่ได้ออกไปเทศน์นอกวัด ทุกวันนี้ นอกจากงานบางงาน อย่างงานไปฉันที่โรงชมร. ไปเทศน์ชมร. จะเป็นส่วนในเรา ผมก็ไม่ได้เทศน์ถึงอย่างนี้ ก็เทศน์กล่าว ในตัวเรื่องราว อะไรต่ออะไร ไปขนาดนั้น เพราะฉะนั้น จะบอกว่าอาบัติ ที่กล่าวนอก เป็นการผิด ปาจิตตีย์ ที่กล่าว อุปสัมบัน อนุสัมบันนั้นน่ะ ผมว่า เมื่อเอากันละเอียดแล้ว มันไม่ได้ผิดได้พลาดอะไร แต่จะให้ เสมอสมานกันนั้นไม่ได้ เพราะว่าทุกวันนี้ คนมันมีฐานะ ที่ต่างกันมาก ผู้ไม่รู้ ไม่รู้เอามากๆ ผู้รู้ก็รู้อย่าง ต่างกันอยู่ หลายระดับชั้น แม้แต่พวกเรา ไอ้นี่เป็นปรมัตถ์ ที่ผมได้สาธยายลงไป สำหรับวันนี้

ทีนี้เรื่องของกรรม การงาน และอาชีพที่ ผมก็บอกซ้ำอีกว่า ผมจำเป็นที่จะต้อง นำพาท่านทั้งหลาย ก็จะต้องศึกษา เล่าเรียนตาม ผู้ใดที่ติดยึดแบบฤาษี ติดยึดในตัวสงบ ที่ไม่ค่อยอยากจะมา ทำการงาน บรรดาฤาษี มันไม่อยากทำงานดอก หรือทำงานก็ทำงานเบา ทำงานเบานี่ก็คือ ทำงานสังกัปปะ กับ วาจา ซึ่งเป็นฤาษีกรุง ฤาษีกรุงนี่ จะลงมือ จะแบก จะหาม จะเอาหลังเข้าสู้ จะเอาบ่าเข้าแบกนั้นน้อย พวกฤาษีกรุง หรือว่าพวกใช้ ชอบแบบปัญญา ชอบใช้แต่วาจา มีสังกัปปะกับวาจา ส่วนกัมมันตะ ที่ทำครบพร้อม ผมบอกแล้วว่า กัมมันตะ เขารวมทั้งสังกัปปะ รวมทั้งวาจากายกรรมด้วย กัมมันตะ นี่ลงมือทำงาน ลงมือมีกิจกรรมการงาน ทุกกรรม ทั้งกาย วาจา ใจ เรียกว่า กัมมันตะ อาชีวะนั่นน่ะ กำหนดเรื่องของ งานเลยทีเดียว อาชีวะกำหนดเรื่องของงาน งานใดก็แล้วแต่

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีจริตไปในข้างที่ ไม่อยากจะลงไป ทำงานหนัก ถึงขั้นกัมมันตะ อาชีวะนั้นน่ะ นี่มันเป็นอย่างนี้ โลกก็มี ธรรมก็มี ที่ไหนก็มีทั้งนั้นแหละ เห็นทั้งนั้นแหละคน คนละจริตที่ชอบเป็น เขาถือว่า เป็นปัญญาชน ใช้แต่ปัญญากับคำพูด นักวิชาการสอน เป็นครูเขา ชอบเป็นหัวหน้า ชอบไปเที่ยวได้ชี้ใช้ บอกกล่าว คิดนึก ฉลาดเฉลียวรู้ แต่ไม่ทำ ลงมือไม่ลงมือ พูดแค่นี้ ก็คงพอเข้าใจ มันเป็นจริต เพราะว่าผู้ใด มีจริตอย่างนี้ พากเพียรเถิด พยายามกระทำ อย่าให้มันบกพร่อง คือออกมาทำ การกระทำทางกาย ทางการงาน อาชีพใดๆ อยู่ในขอบข่ายของวินัย ที่เราเป็นสมณะ ก็เอาเถิด ตามวินัยพอสมควร อันไหน ที่พออนุโลม มันไม่ถึง สังฆาทิเสสดอก ในการทำการงาน การงานไม่ถึง สังฆาทิเสสดอก นอกจาก คุณไปอันอื่นซี ต่อไปอีก นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงสังฆาทิเสสนั้น อีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะสังฆาทิเสส ที่จะเป็นจริงๆ ก็คือ บอกยากสอนยาก และขี้เกียจ สังฆาทิเสสนี่ อันนั้นแหละ จะเป็นสังฆาทิเสส ก็ตรงที่ ไม่ทำต่างหาก บอกยาก สอนยาก ไม่ทำ หรือเมื่อทำ ก็ให้ระวัง ที่จะไปประจบคฤหัสถ์ นั่นก็เป็นสังฆาทิเสส เหมือนกัน เพราะฉะนั้น กิเลสมากๆเข้า ก็ไปประจบ ประแจงคฤหัสถ์ เพราะกิเลสโลภ กิเลสที่จะตะกละ ตะกลามอะไร หรือแม้ที่สุด ตัวที่เชิงชั้นเชิงซ้อน ประจบประแจง อาศัยคฤหัสถ์ไปแก้แค้น เป็นไม้เป็นมือ มันก็คือ กิเลสโทสะมูล เข้าไปร่วมทำงาน ก็เลยอาศัยคฤหัสถ์ ประจบประแจง ใช้กำลังของทรัพย์ ใช้กำลังของอำนาจ กรรมกริยา ที่คฤหัสถ์เขาทำได้ เราเป็นสมณะ เราทำไม่ได้ แต่จะไปแก้แค้น ก็จะใช้อาศัย เชิงฉลาด เข้าไปซ้อน ใช้คฤหัสถ์ เป็นไม้เป็นมือต่อไปอีก มันก็เป็นความลึกซึ้ง ที่เราจะต้องรู้ เท่าทันบาปเอง ต่างๆ ที่จะไม่พึงกระทำ นั่นก็เป็นสังฆาทิเสส ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เวลาเราทำงาน กรรมกริยาต่างๆ ที่เป็นกายกรรม วจีกรรม ที่เป็นตัวบทบาทมากนี่ เราก็ต้อง ระมัดระวัง เรียนรู้ และมีผัสสะเป็นปัจจัย ให้เราปฏิบัติสูงขึ้น มันจะเป็นการปฏิบัติ มีผัสสะที่แท้ กระทุ้ง กระแทก กิเลสออกมา เพราะฉะนั้น อาสวะอนุสัยนี่ จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซึ่งศาสนาอื่น ศาสนาเดียรถีย์ ฤาษี ไม่มีสมบูรณ์ ไม่มีมรรคองค์ ๘ ตัวที่จะไม่ได้ถูกกระแทก กระทุ้ง กระเทือนอะไร ออกมา เมื่อเราปฏิบัติธรรม จึงสมควรที่สุด ที่จะต้องมีการเรียนรู้ ให้รู้ถึงขั้น กัมมันตะ อาชีวะ และมีบทบาท พฤติกรรมต่างๆ ออกมาร่วมด้วย ผมก็พยายามนำพาทำ ผมไม่ได้ถึงขั้น บังคับทีเดียว มีแต่พูด ผมก็ไม่ได้บังคับน่ะ ไม่ว่ารูปไหน คุณสมัครใจ ที่จะทำเป็นฤาษีอยู่ ระวังจะเป็นฤาษีด้าน ให้มันแก้ตัว ให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฤาษีป่า หรือฤาษีกรุง มันจะแก้ตัวให้ตัวเอง ตามจริต ฤาษีป่าเขาแก้ตัวให้ตัวเอง เป็นฤาษีจัญไร แก้ให้ตัวเองไปใหญ่ฤาษีป่า ฤาษีเมือง ฤาษีกรุง ก็แก้ให้กับตัวเอง ไปอย่างฤาษีเมือง ตามจริต

เพราะฉะนั้น เรียนรู้ดีๆ ว่าเรานี่แก้ตัวให้ตัวเองน่ะ เราเข้าใจแล้ว แต่เราเอง เราก็แก้ตัวให้กิเลส ไม่ว่าฤาษีป่า ฤาษีเมือง ต่างๆ อ่านดีๆ

ถ้ามีผัสสะเป็นปัจจัยจริงๆ ตามที่เราเจอมา ไม่รู้กี่สูตรแล้ว ทุกขสูตรเป็นต้น หรือสูตรอื่นๆอีก ท่านอธิบายว่า มีผัสสะอย่างไรๆ นี่แค่หยิบมานี่ ผมมาอ่านสูตรบางสูตร โดยไม่ได้จำชื่อ ขยายให้เห็นว่า ผัสสะเน้นรวมไปด้วย ทั้ง อายตนะนอก อายตนะใน ว่ามีอายตนะนอก อายตนะในแล้ว ก็มีวิญญาณ วิญญาณก็วิญญาณของอายตนะ ๖ นั่นแหละ วิญญาณทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รวมกันแล้ว สามองค์นี่ อายตนะนอก อายตนะใน กับวิญญาณ ก็มาเป็นผัสสะ หรือผัสสะจะก่อเกิด รวมทั้งสามนี้ ต้องมีสภาพโดยวัตถุนอก หรือตานี่ เรียกว่านอกแท้ๆ ยิ่งวัตถุยิ่งนอกแท้ แต่วัตถุนอก ถ้าไม่มีตา เข้าไปประกอบแล้ว มันไม่มีอะไรเกิดดอก วิญญาณเกิดโดยไม่มีตาไม่ได้ เพราะวิญญาณ มันจะเกิด เพราะมีตาเป็นอายตนะนอก เพราะมีหู เพราะมีจมูก เพราะมีลิ้น เพราะมีกาย เป็นอายตนะนอก ไปกระทบกับวัตถุ มันจึงจะเกิดรูป เกิดเสียง เกิดกลิ่น เกิดรส เป็นอายตนะใน มันเกิดอายตนะใน นั่นแหละ เราก็จับอายตนะในนั้นน่ะ เพื่อที่จะอ่านวิเคราะห์ เป็นกิเลส และเป็นวิญญาณ หรือ เป็นวิญญาณแท้ วิจัยตัวนั้น เรียกว่าวิญญาณ เพราะวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อกระทบสัมผัสแล้ว จับวิญญาณได้ ถึงวิเคราะห์วิญญาณต่อไป ถึงวิญญาณหรือจิต จะต้องมีตา มีรูป และ ต้องมีนอก เพราะผัสสะก็ต้องมีนอก เอาแต่ผัสสะ ธรรมารมณ์อย่างเดียว มันไม่ครบ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ สอนแหว่งๆ อย่างนั้น ท่านก็สอนอายตนะทั้ง ๖ ทุกที แต่ไปเพี้ยนเอง เอาจิตๆ อายตนะนอก ก็มีจิต ถ้าเมื่อมีตากระทบรูป เมื่อมีหูกระทบเสียง มันก็ต้องเกิดอายตนะ ทั้งคู่ขึ้นแล้ว นี่มันก็ส่งผ่านไปถึง วิญญาณ หรือจิต วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ที่จะไม่ต้องไปกระทบ ไปถึงทวารนอกทั้ง ๕ ใจในใจก็ตาม

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่เราจะรู้ทุกข์ ทุกขสูตรนี่ ท่านก็บอกแล้วว่า มีอายตนะนอกใน แล้วก็มีวิญญาณ เป็นผัสสะ เมื่อเป็นผัสสะแล้ว เราก็มีมารู้ผัสสะ มารู้เวทนาจากผัสสะ ผัสสะจึงเป็นเวทนา เมื่อเวทนานี่ วิเคราะห์ออกมา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน คุณก็ล้างตัณหา ล้างอุปาทานไป เพราะฉะนั้น เวทนาจึงเป็น ประตูที่สำคัญ ที่ต้องเรียนรู้ เวทนาถึง ๑๐๘ แต่ถ้าเก่งเวทนา ๓๖ แล้วก็ไม่มีปัญหา อดีต ปัจจุบัน คุณก็ต้อง ใช้อยู่ตลอดเวลา นี่มันก็เกี่ยวเนื่อง ไปถึงอนาคต อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นเวทนา ๑๐๘ ก็เอาอดีต ปัจจุบัน อนาคต ของ ๓๖ นี่แหละมาใช้ เมื่อ ๓๖ แบ่งออกเป็นอดีต แบ่งออกเป็นปัจจุบัน แบ่งออกเป็นอนาคต มันก็ ๑๐๘ เพราะเรารู้ เวทนาในเวทนา อย่างจริงเลย คุณก็สร้างจิต เป็นอนุตรจิต ที่ประกอบไปด้วย สมาหิตะ ประกอบไปด้วย วิมุติได้ เพราะเวทนา ก็เป็นตัวเจตสิก เป็นตัวละเอียด ต่อออกไปจากจิต นี่เป็น โพธิปักขิยธรรม หรือเป็นทฤษฎีหลัก ของพระพุทธเจ้า

ทีนี้เมื่อประกอบกรรม ประกอบอาชีพ ที่ผมพาทำอยู่ เราจะได้สร้างพุทธบริษัท โดยอุบาสก อุบาสิกา นำพา ทำกันไปอยู่นี่ ซึ่งผมก็รับผิดชอบอยู่ ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่าอาชีพไหนๆ แล้วพวกคุณ ก็เรียนรู้ตาม แล้วพวกคุณ ก็ช่วยผม ได้ประพฤติปฏิบัติ ได้ช่วยสอนช่วยอบรม ช่วยกันทำกับทุกๆ คนต่อไป เราจะต้องประสบ หรือจะต้อง พบกับการงาน พบกับอาชีพพวกนี้ หนักหน้าขึ้น ผมจึงจำเป็นที่จะต้อง หยิบมาอธิบาย กับพวกเรา ให้เข้าใจ อธิบายอย่างผู้รู้ พูดกับผู้รู้ เพราะปีต่อไป อาชีพการงาน การกระทำพวกนี้ จะหนักหน้า ขึ้นไปอีก

ทุกวันนี้นี่ แม้แต่กัมมันตะ หรืออาชีวะ การกระทำ การงานต่างๆ หรือเป็นอาชีพ ฆราวาสพวกเรา ชาวอโศกนี่ จะรู้จะเข้าใจ เพิ่มขึ้นแล้ว จริง เขาอาจจะไม่แววไว หรือบางคน เขาแววไวกว่า อย่านึกว่า ฆราวาส บางคนไม่มีบารมี บางคนมีบารมี ขอบอกได้เลยว่า บางคนบารมี เหนือกว่าพวกคุณ ที่เป็นสมณะ บางรูป เขามีบารมี ที่จะเรียนรู้ธรรมะ หรือจริงๆแล้ว เขาเป็นอจินไตยน่ะ จริงๆแล้ว เขาเป็นคน สูงกว่าพวกคุณ แต่สมมติคุณ สูงกว่าเขา เท่านั้นเอง แต่จริงๆแล้ว เขาสูงกว่าพวกคุณ ภูมิธรรมเขา สูงกว่าพวกคุณ คุณรู้ได้ ใครก็สูงกว่าคุณ คุณอย่านึกว่า คุณได้บวชเป็นสมณะแล้ว นี่คุณสูงกว่าใครทั้งหมดในโลก สูงกว่าฆราวาสทั้งหมด อย่าทำเป็นแอ๊คไปเลย ฆราวาสเขาบางคน เขามีภูมิธรรม มีบารมี เขาสูงกว่าคุณได้ แต่ในฐานะ ตามวิบาก เขาจะต้อง ไปสร้างสรรอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปดูถูกคนเขานัก โดยสมมติแล้ว ก็ให้เขาเคารพ ที่เป็นสมมติสัจจะหนึ่ง เป็นรูป เป็นแบบ ก็เป็นไป

เพราะฉะนั้น พวกที่เขารับช่วงไปแล้ว ก็รับไป เพราะการงาน ในหน้าที่ของฆราวาสเขารับ แล้วเขาก็ทำ ต่อช่วงไปแล้ว เขาก็เบิก ทำอะไรต่ออะไรไป รังสรรไป บางคน จะต้องทำไปทั้งชาติ เป็นฆราวาสทั้งชาติ แต่ฆราวาสคนนั้น บางคนน่ะ เขาไม่ได้ต่ำกว่าคุณเลยนะ ชาตินี้ทั้งชาติ คุณยังไม่ได้สูงกว่าเขาดอก แต่เขาต้อง เคารพคุณโดยรูป แต่ภูมิธรรมเขา สูงกว่าคุณ ถ้าผู้ใดอ่านออก ผู้นั้นคุณจะคารวะเขา ในใจได้ แล้วคุณ จะยอมเขาเอง คุณจะรู้สึก ต้องเชื่อฟัง ต้องเคารพ เคารพในใจ ต้องนับถือจริงๆ

ต้องพยายามสังเกตเรียนรู้ อย่าไปถือตัวถือตน มีอัตตามานะ มากเกินไป เราต้องรังสรรค์ศาสนานี้ มันจะต้องครบพร้อม ไปด้วยอาชีพ ไปด้วยการงาน เพราะชีวิตมนุษย์นั้นน่ะ มันจบอยู่ที่การงาน จบอยู่ที่อาชีพ สุดท้าย พระอรหันต์ ก็ทำการงาน ทำอาชีพ หยุดติด หมดปัญหา เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตน จะมีแต่ บทบาทการงาน มีพักมีเพียร เท่านั้นเอง

ในเรื่องของมนุษย์ ก็มีแต่พักกับเพียร ก็ไม่มีอื่นอะไร ไม่ใช่มีแต่พักกับพัก หนี หลบ เป็นลัทธิฤาษี ลัทธิเดียรถีย์ ที่ออกป่า เข้าถ้ำ หลบไปไม่เอาอะไร ไม่เอาอะไร มันสุดโต่ง เป็นนัตถิกทิฐิ หรือพวก อกิริยาทิฐิ เป็นพวกไม่มีอะไร พวกสูญสุดโต่ง

เพราะศาสนาพุทธเรา เป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติ เป็น พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ เป็นศาสนา ที่สอนคน ให้มาอนุเคราะห์โลก ไม่ใช่สอนคน ให้ตัดช่องน้อยแต่พอตัว หนีไปสุดๆ เดี่ยวๆ ไปอย่างนั้น

ฉะนั้นทุกวันนี้ จริตของบางคน จะเป็นฤาษีป่า หรือฤาษีกรุง นี่เข้าใจให้ดีๆ ผมก็ไม่รู้จะแก้ จะอธิบาย ไม่รู้กี่ภาษา ปฏิภาณอย่างไร ก็พยายามใช้ในพวกคุณ เข้าใจให้ได้ แล้วไปศึกษาสภาวะ แล้วพยายามทำตน ให้หลุดพ้น ทำตนให้ ละเอียดลออให้ได้ แล้วเราจะดำเนินต่อไป


 

จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ปธรรมะออกพิมพ์ให้ท่วมโลก
ถอดโดย จอม ศรีสวัสดิ์ ๑๒ พ.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว
ตรวจทาน ๒ โดย ป.ป. ๒ มิ.ย. ๓๗