๔ นกเขาเอย ขันตั้งแต่เช้าจนเย็น
 
 
   [เลือกหนังสือ]    
page: 4/21
โรงเรียนกินนอน

๔. นกเขาเอย ขันตั้งแต่เช้าจนเย็น

ปีใหม่ ไม่มีอะไรดีไปกว่านึกถึงปีเก่า ปีที่แล้วการปฏิบัติธรรมไม่กระเตื้องกว่าปีก่อนโน้นเลย

เผลอเดี๋ยวเดียวหมดไปอีกปีหนึ่งแล้ว หมดไปด้วยการพูดเพื่อประโยชน์ท่าน มากกว่าการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน

ถามตัวเองเสมอๆ "หยุดพูดเสียทีไม่ดีหรือ" อายุจะขึ้นเลขห้าแล้ว น่าจะหันมาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม เพื่อเลื่อนชั้นตัวเอง

มั่นใจได้ยังไงว่าจะอยู่จนถึงเลขห้า แน่ใจยังไงว่า จะไม่เจ็บไม่ป่วย เมื่อสองเดือนก่อน อยู่ดีๆ แขนซ้ายประท้วง ยกไม่ขึ้นเสียเฉยๆ อย่างนั้นแหละ

แต่เขายังชวนยังเชิญอยู่เรื่อยๆไม่หยุด แล้วเราจะหยุดได้ยังไง จะอ้างเหตุผลอะไร ในการเลิกพูด จะเป็นการเห็นแก่ตัวไหม จะบ่ายเบี่ยง ให้ไปชวนคนอื่น ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขาสนใจ เป็นคนๆไป

คงจะต้องพูดจนกว่าจะไม่เป็นที่สนใจ หรือจนกว่าจะพูดครบที่ ซึ่งก็ไม่แน่ บางแห่งเชิญซ้ำ ก็ปฏิเสธไปตามความเป็นจริงว่า "จ๊ะกันกับที่อื่น ต้องขอไปที่อื่น ซึ่งไม่เคยไปเลย" ผู้เชิญ ก็ไม่ใคร่พอใจ อ้างว่าถึงจะซ้ำที่ ก็ไม่ซ้ำหัวข้อ ที่จะพูดนี่

คนพูดกับคนเชิญ มักจะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แต่การนัดแนะ ก็ไม่ใคร่พลาด ที่พลาด มักเป็นฝ่ายเชิญ

กำหนดพูดที่ลำปาง เราแจ้งไปว่า จะลงรถไฟที่เชียงใหม่ เขากลับไปรับที่ลำปาง เพราะคิดเอาเองว่า เราน่าจะลงที่นั่น

บอกว่าจะไปกับรถไฟขบวนหาดใหญ่ เขานึกว่าเราพูดผิด ก็ไปรับขบวนกรุงเทพฯ เสียนี่

พูดมาหลายครั้ง เพิ่งจะพลาดครั้งเดียว รับปากไว้แล้วลืม จดไว้แต่ไม่ดู อ้างว่าจำได้ แล้วก็จำวันผิด บ่นกันพึม ผู้ติดต่อเชิญ เป็นอาจารย์เก่าแก่เสียด้วย เคยสอนมา ตั้งแต่เป็น นักเรียนนายร้อย

การไปพูด บางครั้งก็สนุก แต่บางครั้งก็น่าสยอง ตอนเล็กๆ แม่ร้องกล่อมว่า "นกเขาเอย ขันแต่เช้าจนเย็น" นกเขาเจ้ากรรม ขันได้ขันดี เช้าตลอดเย็น ตอนนี้บางครั้ง เรากรรมยิ่งกว่านก เสียอีก พูดแต่เช้ายันค่ำ จนถึงเวลานอน

ก็ยังดี ไหนๆไปที พูดที่ต่างๆบริเวณนั้นเสียให้ครบ แม้จะต่อจนค่ำมืดดึกดื่น ก็ยังดี ดีกว่าที่จะมาชวนไปพูดที่เก่าอีก มีเหมือนกัน ที่ต้องไปที่เดิม หอประชุมเดิม ปฏิเสธเท่าไร ก็ไม่ยอม

"คราวที่แล้วพวกหนู ครูอาจารย์ และนักเรียนโรงเรียน… ไม่ได้ฟัง กลุ่มครูที่อื่น มาขอใช้สถานที่ ท่านไปพูดให้เขาฟังแล้ว ต้องพูดให้พวกหนูฟังด้วย"

เลยต้องตั้งเป็นข้อแม้ว่า ต่อไปใครจะเชิญ ต้องติดต่อประสานงานกับสถาบันอื่นๆ ในจังหวัดนั้น เสียก่อน ว่าสนใจ ชวนพูดต่อไหม จะได้ไม่ไปเสียเที่ยว ไปๆมาๆ

ยิ่งพูดยิ่งเบื่อ เวลาเบื่อ เห็นญาติธรรมที่อยู่หลังฉาก ทำงานหนักกว่า ก็อาย เบื่อก็ต้องทน ไปเผยแพร่ธรรมะเป็นคณะ แม่ครัวที่ทำอาหารเลี้ยง หลังขด หลังแข็ง บางครั้ง แทบจะไม่ได้นอนเอาเเลย ทำอยู่ข้างหลัง เหนื่อยยังไง ก็ไม่มีใครรู้จัก ญาติธรรมที่ไปช่วย ทำหน้าที่อื่นๆ ก็ตกที่นั่งเดียวกัน

เราจะเบื่อได้อย่างไร?

ใช่, มีสิทธิ์ที่จะเบื่อ แต่ก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำเหมือนกัน คือ ทนเบื่อ

วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ไหน ไม่ได้รับชวนไปพูดที่ไหน ก็ไปช่วยเขาขายข้าวแกง ที่นั่นดูๆไป ก็เบื่อไม่ได้เสียอีกแล้ว, คนที่หนุ่มกว่า สาวกว่า และแก่กว่าเรา ต่างก็ขะมักเขม้น ช่วยกันทำงาน ตัวเป็นเกลียว

ถ้าเบื่อ ไม่อายเขาหรือ จะอ้างว่าเป็นชาย เป็นหญิง อ่อนกว่า แก่กว่า ไม่ได้ทั้งนั้น

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าอยากจะเบื่อ ทีหลังอย่าคิดทำอะไรเป็นกลุ่ม ให้ทำเดี่ยวๆ แล้วจะสามารถเบื่อได้ตามใจ

เออ... ถ้าเบื่อได้ วันหยุดจะทำอะไรดี?

อ๋อ… ก๊ออยู่เฉยๆน่ะซี เพราะ "ความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง"

อยู่เฉยๆ อีท่าไหนล่ะ?

ท่าไหนก็ได้ เช่น นั่งสงบๆ

ถ้านั่งสงบๆแล้วเบื่อขึ้นมา จะทำยังไง

ก็เปลี่ยนเป็นนอน ยืน เดิน สงบๆไปตามเรื่อง

เบื่ออยู่ดีนั่นแหละ ทำยังไงถึงจะไม่เบื่อจริงๆ ?

เอ… ถ้ายังงั้น ไม่รู้ซี

เอาใหม่ ถามตัวเองว่า เบื่อเพราะอะไร ?

ตอบ… เบื่อเพราะขี้เกียจ

จะแก้เบื่อ ก๊อต้องขยันทำอย่างนั้นหรือ ถ้าเบื่อขยันขึ้นมาอีกล่ะ ทำยังไง?

เอ… เอาใหม่ ขอตอบใหม่ เบื่อเพราะเกิด คนเราถ้าไม่เกิดเสียอย่าง ก็ไม่ต้องมานั่งเบื่อ

ถ้าอย่างงั้นจะหายเบื่อได้ยังไงได้โดยไม่เกิดถ้าเบื่อความไม่เกิดขึ้นมาอีก จะทำยังไงไม่มีสิทธิ์ เมื่อไม่เกิดแล้ว ก็ไม่มีสิทธิ์เบื่ออะไรทั้งสิ้นสรุปว่ายังไงดี

สรุปว่า ตอนนี้เบื่อก็ต้องทน ทนเบื่อ ทนปฏิบัติธรรม ก้าวไปทีละน้อยๆ สู่ความไม่เกิด แล้วจะไม่ต้องเบื่ออีกต่อไป

ปีอะไรๆ เขาก็ตั้งกันแล้ว สำหรับตัวเอง ขอตั้งปี ๒๖ ว่า

"ปีไม่เบื่อ"

ใครๆที่คิดจะเบื่อ ก็ยืมไปใช้ได้ ไม่ขัดข้อง

ธันวาคม ๒๕๒๕

อ่านต่อ ตอน ๕

ทาง ๓ แพร่ง เล่ม ๒