การสอนคิด
ตามวิธีการของพระพุทธเจ้า
รินธรรม อโศกตระกูล

พุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ท่ามกลางความเชื่ออันหลากหลาย มีเจ้าสำนักอยู่มากมาย (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๒๖-๙๙)

ผู้ที่ยึดถือ ความเชื่อต่างๆเหล่านี้ ได้แต่เชื่อตามกันมา โดยปราศจาก ความเข้าใจที่แจ่มชัด (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ๙๔-๙๙) อีกทั้งไม่มีอิสระทางความคิด

พระพุทธเจ้า ทรงเปรียบเทียบว่า เป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ อยู่ในข่ายนี้เอง เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ ถูกข่ายปกคลุมไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ เปรียบเหมือนชาวประมง หรือลูกมือชาวประมงผู้ฉลาด ถูกแหครอบไว้ อยู่ในแห เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ติดอยู่ในแห ถูกแหครอบไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ข่ายที่ปกคลุม ชาวอินเดียส่วนใหญ่ ในสมัยนั้น คือ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเทวนิยม เชื่อพระเจ้า และระบบวรรณะ พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็น เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทรงได้รับการศึกษา ในศาสนาพราหมณ์ แต่ทรง ฉุกคิด ได้ว่า ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ไม่อาจทำให้คนพ้นทุกข์ได้ จึงเสด็จออก บรรพชา ทรงแสวงหาวิธีพ้นทุกข์ จนกระทั่ง ทรงค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทา คือ สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘ (พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑๓) สัมมาอริยมรรค ประกอบด้วย ความเห็น ความคิด การพูด การงาน การเลี้ยงชีวิต ความพยายาม การระลึกรู้ตัว การตั้งจิต ในทางที่ถูกต้อง(สัมมา) สัมมาอริยมรรคนี้ มีความเห็น(ทิฏฐิ) และความคิด (สังกัปปะ) เป็นเบื้องต้นที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมอีก ๖ ประการต่อมา ดังนั้น การสอนของพระพุทธเจ้า จึงทรงเน้น ให้ผู้ศึกษา รู้จักคิดด้วยตนเอง โดยทรงใช้วิธีการ หลายประการ กระตุ้นให้ผู้ศึกษารู้จักคิด แต่บทความนี้ จะเน้นเฉพาะการสอน โดยการใช้คำถาม

ขั้นตอนการสอน
ถ้าจะถือว่า การศึกษาพระเวท เป็นการศึกษาในระบบของชาวอินเดียสมัยพุทธกาล ซึ่งมีเนื้อหาหลักสูตรเดียว คือคัมภีร์พระเวท มีระยะเวลาศึกษาตายตัว
อีกทั้งมีการกำหนดบุคคล ผู้มีสิทธิได้รับการศึกษา ประกอบด้วยวรรณะและอายุเป็นหลัก (นอกจากนี้ก็ดูเหมือนว่า ชายจะมีโอกาสได้รับการศึกษามากกว่าสตรี
เหตุที่ไม่อาจกล่าวได้ว่า สตรีไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เนื่องจากในวรรณคดีสันสกฤตหลายเรื่อง เป็นต้นว่า มหาภารตะและศกุนตลา ตัวละครสตรีบางคน ก็มีความรู้พระเวทเป็นอย่างดี) การศึกษาในพระพุทธศาสนา ก็เป็นการศึกษา นอกระบบ ที่ไม่มีข้อกำหนดใดๆ เนื้อหาหลักสูตร ขึ้นอยู่กับปัญหา หรือ ความสนใจ ของผู้เรียน ระยะเวลาการศึกษา ขึ้นอยู่กับความพร้อม ของผู้เรียน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้บุคคล ทุกเพศ ทุกวัย ทุกวรรณะ ได้รับการศึกษา โดยไม่มีข้อจำกัด วิธีการสอนจึงมีหลากหลาย ตามลักษณะเนื้อหา และพื้นฐาน ของผู้เรียน แต่อาจกล่าวสรุปถึง ขั้นตอนการสอนโดยทั่วไปได้ดังนี้

๑. รู้จักผู้เรียน คือ ทราบปัญหาหรือความสนใจของผู้เรียน พื้นฐานทางสังคม และการศึกษาของผู้เรียน ปัญหาและความสนใจ ของผู้เรียน จะเป็นเนื้อหา
การเรียนการสอน

๒. เลือกวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาและพื้นฐานของผู้เรียน เช่น การใช้เรื่องเล่า การใช้เหตุการณ์ที่ปรากฏ การใช้สื่อต่างๆ (เช่น ของจริง หรือ ภาพ ซึ่งในพระไตรปิฎก เขียนว่า พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตขึ้น อันอาจเปรียบได้กับภาพยนตร์ หรือวีดิทัศน์ในสมัยนี้) การเปรียบเทียบ การศึกษา ด้วยตนเอง และการใช้คำถาม

๓. สรุปบทเรียน ขั้นตอนสุดท้ายของกิจกรรมการเรียนการสอน คือ การสรุปบทเรียน ซึ่งจะเป็นการตอบปัญหาของผู้เรียน หรือเป็นการให้ข้อสรุป แนวคิด
สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

การใช้คำถาม
แม้ในการสนทนาทั่วไป คู่สนทนาก็ต้องเลือกใช้คำถามที่เหมาะสมอยู่แล้ว เพื่อให้การสนทนาดำเนินไปอย่างน่าสนใจ และเป็นที่พอใจของคู่สนทนา
ทว่าการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ฟังคิดโดยไม่เบื่อหน่ายเสียก่อนยิ่งจะต้องมีการคัดเลือกคำถามอย่างพิถีพิถันยิ่งกว่า การเรียนการสอนด้วยการถาม-ตอบ จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้เรียนและผู้สอนส่วนใหญ่ สำหรับผู้เรียนที่ไม่ชอบให้ครูถาม ก็เนื่องจากไม่อยากจะใช้ความคิด ส่วนครูที่ไม่นิยมใช้คำถาม จะมีเหตุผล ต่างๆนานา เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการคิดต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นการคิด ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ดังนี้คือ

๑. พื้นฐานของผู้เรียน
ครูที่รู้พื้นฐานของผู้เรียนจะสามารถตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดตามศักยภาพของตน ซึ่งมีความแตกต่างทั้งในระดับการศึกษา ประสบการณ์ และภูมิหลัง ด้วยเหตุนี้ ครูจึงต้องมีความรู้กว้างขวางครอบคลุมประสบการณ์ของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูการศึกษานอกโรงเรียน ที่ต้องพบผู้เรียน ที่มีพื้นฐาน หลากหลายมาก จากการศึกษาพระไตรปิฎก จะพบว่า พระพุทธเจ้าทรงอาศัยความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจ คำสอน ของพระองค์ ได้ง่ายขึ้น เช่น ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๖๗๒-๖๗๓ พระองค์ทรงเปรียบเทียบ ภารกิจของพระองค์ว่า เหมือนกับการทำนา ให้กสิภารทวาชพราหมณ์ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฟังอีกตัวอย่างหนึ่ง ในพระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๕๕-๑๕๘ พระพุทธเจ้าทรงสอน อัมพัฏฐมาณพ ให้ละความยึดถือในความสูงส่ง ของวรรณะพราหมณ์ โดยทรงถามถึงธรรมเนียมปฏิบัติ ของวรรณะพราหมณ์ดังนี้ (พระพุทธเจ้า = พ และ
อัมพัฏฐมาณพ = อ)
พ : ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขัตติยกุมารในโลกนี้พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางพราหมณกัญญา เพราะอาศัย การอยู่ร่วมกัน ของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้น บุตรผู้เกิดแต่นางพราหมณกัญญา กับขัตติยกุมารนั้น จะควรได้ที่นั่งหรือน้ำ ในหมู่พราหมณ์ บ้างหรือไม่

อ : ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์จะควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยง เพื่อแขกบ้างหรือไม่

อ : ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์จะควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่

อ : ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เขาควรจะถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่

อ : เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่

อ : ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ

พ : เพราะเหตุอะไร

อ : เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างฝ่ายมารดา.

พ : ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณกุมารในโลกนี้ พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางขัตติยกัญญา เพราะอาศัยการอยู่ร่วม ของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้น บุตรผู้เกิดแต่ขัตติย-กัญญากับพราหมณกุมาร จะควรได้ที่นั่งหรือน้ำ ในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่

อ : ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์จะควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยง เพื่อแขก ได้บ้างหรือไม่

อ : ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่

อ : ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่

อ : เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่

อ : ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เพราะเหตุอะไร

อ : เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา.

พ : ดูกรอัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิงก็ดี เมื่อเทียบชายกับชายก็ดี กษัตริย์พวกเดียวประเสริฐ พวกพราหมณ์เลว ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ พึงโกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่ง มอมด้วยเถ้า เนรเทศเสีย จากแว่นแคว้น หรือจากเมือง เพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่งหรือน้ำ ในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่

อ : ไม่ควรได้เลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยง เพื่อแขกได้บ้างหรือไม่

อ : ไม่ควรเชิญเขาให้บริโภคเลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่

อ : ไม่ควรบอกให้เลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่

อ : เขาควรถูกห้ามทีเดียว พระโคดมผู้เจริญ.

พ : อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กษัตริย์ทั้งหลายในโลกนี้ พึงปลงเกศากษัตริย์องค์หนึ่ง มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสีย จากแว่นแคว้น หรือจากเมือง เพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่งหรือน้ำ ในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่

อ : ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยง เพื่อแขกได้บ้างหรือไม่

อ : ควรเชิญให้เขาบริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่

อ : ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.

พ : เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่

อ : เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.

พ : ดูกรอัมพัฏฐะ กษัตริย์ย่อมถึงความเป็นผู้เลวอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่ถูกกษัตริย์ด้วยกัน ปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสีย จากแว่นแคว้น หรือจากเมือง ดูกรอัมพัฏฐะ แม้ในเมื่อกษัตริย์ ถึงความเป็นคนเลวอย่างยิ่ง เช่นนี้ พวกกษัตริย์ก็ยังประเสริฐ พวกพราหมณ์เลว ด้วยประการฉะนี้
คำว่า เลว ในที่นี้มีความหมายต่างจากคำว่า ชั่ว แต่หมายถึง ต่ำ ในที่นี้ สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้อัมพัฏฐมาณพเห็นว่า วรรณะกษัตริย์สูงส่ง
กว่าวรรณะพราหมณ์นั้นเป็นเพราะอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งเป็นพราหมณ์ดูหมิ่นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นกษัตริย์ หลังจากทรงชี้แจง ให้อัมพัฏฐมาณพ ลดความเย่อหยิ่ง ในวรรณะของตน และยอมรับพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงทรงสอนธรรมะอื่นๆ ต่อไป จะเห็นได้ว่า เมื่อสอนเกษตรกร พระองค์ก็ทรงรู้จักเกษตรกร เมื่อสอนพราหมณ์ พระองค์ก็ทรงทราบความคิดของพราหมณ์ ในพระไตรปิฎก ซึ่งบันทึกรายละเอียด การสอนของพระพุทธเจ้า ไว้ในหลายโอกาส จะเห็นว่า
พระพุทธเจ้าทรงคำนึงถึงพื้นฐาน ของผู้ศึกษาธรรมของพระองค์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนางทาส นางพราหมณ์ พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญพระเวท กษัตริย์ พ่อค้า ภิกษุ หรือภิกษุณี ประกอบกับความรอบรู้ของพระองค์ พระองค์จึงทรง ดำเนินการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้

๒. เลือกวิธีการสอน
เนื่องจากผู้เรียนมีพื้นฐานต่างๆ กัน พระพุทธเจ้าจึงทรงใช้วิธีสอนอันหลากหลาย ซึ่งอาจสรุปได้ว่า พระองค์ทรงพิจารณา ถึงสิ่งต่อไปนี้ ประกอบการเลือก วิธีสอน คือ

- ภูมิหลังของผู้เรียน ได้แก่ วรรณะ ระดับการศึกษา (รวมถึงความสามารถในการคิด) และอาชีพ เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงสอน ปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่ออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ โดยได้ตรัสถึงมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ สัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘ และญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา และเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้โดยง่าย (พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๒-๑๗) อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ถูก อักโกสพราหมณ์ ซึ่งยังเป็นผู้ครองเรือนอยู่ บริภาษด้วยความโกรธ พระองค์ทรงทำให้อักโกสพราหมณ์ ตระหนักได้เองว่า การบริภาษพระองค์นั้น
ไม่มีประโยชน์ โดยทรงถามถึง การเตรียมอาหารต้อนรับแขก แล้วแขกไม่รับอาหารนั้น อาหารย่อมตกเป็นของเจ้าของบ้านเช่นเดิม (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๖๓๑-๖๓๒)

- ปัญหาของผู้เรียน กล่าวโดยสรุปมีปัญหา ๒ ประเภท คือ ปัญหาทางด้านความคิด และปัญหาในชีวิตประจำวัน ปัญหาทางด้านความคิด มักจะเป็น ปัญหาที่ยาก จะอธิบายให้เข้าใจได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงถาม ความเข้าใจพื้นฐาน ของผู้เรียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนั้น เช่น ในการสอน ปัญจวัคคีย์ เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าทรงใช้คำถามกระตุ้น ให้ค้นพบข้อสรุปด้วยตนเอง ตามที่ปรากฏ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๒๑ ดังนี้

พ : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ป : ไม่เที่ยงพระพุทธเจ้าข้า
พ : ก็เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ป : เป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า
พ : ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา
ป : ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า

จากคำถามเหล่านี้ ในที่สุดปัญจวัคคีย์ได้ข้อสรุปให้ตนเองว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในรูป จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงถาม ให้ปัญจวัคคีย์ ให้เหตุผล ทีละขั้นตอน และทรงถามต่อไปถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในท้ายที่สุดจึงทรงสรุปว่า อริยสาวก ย่อมเบื่อหน่ายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย จึงสิ้นกำหนัด และหลุดพ้นในที่สุด

ในกรณีที่ผู้เรียนประสบปัญหาชีวิต พระพุทธเจ้า จะทรงพิจารณาสภาพจิตใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ แล้วทรงใช้วิธีที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ เช่น เมื่อนางกิสาโคตมี โศกเศร้าเสียใจอย่างมาก เพราะบุตรของนางเสียชีวิต และได้กราบทูลพระพุทธเจ้า ขอให้ช่วยชีวิตบุตรของนาง ในสภาวการณ์เช่นนั้น
นางกิสาโคตมีคงจะไม่มีแก่ใจฟังธรรมเป็นแน่ พระพุทธเจ้าจึงทรงให้นางไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาด จากบ้านที่ไม่มีคนตาย มาให้ได้ก่อน แล้วพระองค์ จึงจะทรงช่วย ด้วยวิธีเช่นนี้ นางจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ที่ทุกคนต้องประสบ (พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๖๒)

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของยสกุลบุตรซึ่งเกิดเบื่อหน่ายชีวิตการครองเรือน พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ ยสกุลบุตรว่า ชีวิตนักบวชไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีปัญหา
แล้วทรงสอนธรรมะจนยสกุลบุตรบรรลุธรรม ครั้นคหบดีบิดาของยสกุลบุตรมาตามยสกุลบุตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ให้คหบดี เกิดความเลื่อมใส ในพระธรรมก่อน แล้วจึงตรัสถาม บิดาของยสกุลบุตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๒๘) ดังนี้

พ : ดูกรคหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมด้วยญาณทัสสนะเพียงเสขภูมิเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรม ตามที่ตน ได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว จิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดูกรคหบดี ยสกุลบุตรควรหรือ เพื่อจะกลับเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ ครั้งก่อน

ค : ข้อนั้นไม่ควรเลยพระพุทธเจ้าข้า.

พ : ดูกรคหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมด้วยญาณทัสสนะเพียงเสขภูมิเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณา ภูมิธรรมตามที่ตนได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว จิตพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดูกรคหบดี ยสกุลบุตร ไม่ควรจะกลับเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกามเหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน.

ค : การที่จิตของยสกุลบุตรพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นนั้น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้วพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค
มียสกุลบุตร เป็นปัจฉาสมณะ จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเสวยในวันนี้เถิดพระพุทธเจ้าข้า

จะเห็นได้ว่า วิธีสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงใช้กับยสกุลบุตร ต่างจากวิธีที่ทรงใช้กับบิดาของยสกุลบุตร เพราะยสกุลบุตร เกิดความเบื่อหน่าย ในชีวิตการครองเรือนอยู่แล้ว การเสนอทางเลือก ในการดำเนินชีวิต ที่แตกต่างออกไปจากเดิม จึงสามารถทำให้ ยสกุลบุตรสนใจได้ ส่วนบิดาของยสกุลบุตร เมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ยังไม่ได้เห็นทุกข์ ของการครองเรือน และยังไม่ได้ศรัทธาในพระศาสนา หากพระพุทธเจ้าทรงถามว่าผู้ที่เข้าใจธรรมแล้ว ควรกลับไปครองเรือนอีกหรือไม่ บิดาของยสกุลบุตร ก็จะยังไม่เข้าใจ สภาพจิตของผู้ที่เข้าใจธรรม พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน จนคหบดีนั้น เข้าใจธรรมก่อน แล้วจึงตรัสถาม และจากคำตอบ ของผู้เรียนนั้นเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงนำมาใช้ เป็นการสรุปบทเรียน

๓. สรุปบทเรียน
สำหรับการสอนโดยวิธีใช้คำถาม ซึ่งพระพุทธเจ้า จะทรงถามจากสิ่งที่ผู้เรียนเคยทราบมาแล้ว โดยทรงเลือกเรื่องที่จะนำไปสู่การตอบปัญหาของผู้เรียน
และผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ด้วยการสรุปประสบการณ์ของตน และในที่สุดพระพุทธเจ้า จะทรงสรุปบทเรียนเป็นข้อธรรม

ตัวอย่างวิธีการถามและการสรุปบทเรียน
ตัวอย่างที่ ๑ เรื่องความสงบและความอดทน (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๗๕๗-๗๖๓ และพระไตรปิฎก เล่ม ๑๘ ข้อ ๑๑๕-๑๑๖) การสนทนา ระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระปุณณะ เนื่องจากพระปุณณะจะจาริกไปยัง สุนาปรันตชนบท

พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนา ที่ไม่ให้การประหารเรา ด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิด ในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิด อย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิด ในพวกเขาอย่างนี้ว่า
พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิด ในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า
พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้ การประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิด ในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิด ในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิด ในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยศาตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาตรา ข้าพระองค์จักมีความคิด ในพวกเขาอย่างนี้ว่า
พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิด ในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิด ในพวกเขาอย่างนี้ว่า
มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกาย และชีวิต พากันแสวงหาศาตรา สังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิด ในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควร ในบัดนี้เถิด

ตัวอย่างที่ ๒ เรื่องโทษของการบริภาษผู้อื่น (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๖๓๑-๖๓๒) พระพุทธเจ้าทรงสนทนากับ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ที่มาบริภาษพระพุทธเจ้า เนื่องจากพวกพราหมณ์มาบวช ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

พ : ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ

อ : พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ ญาติ-สาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ

พ : พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยว ของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์
ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่ ฯ

อ : พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภค หรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้าง ในบางคราว ฯ

พ : ดูกรพราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภค หรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ

อ : พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ

พ : ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่า เป็นต้น ของท่านนั้น ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น ก็เป็นของท่านผู้เดียว ฯ

ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน
ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น เป็นของท่านผู้เดียว ฯ

กล่าวโดยสรุป
พระพุทธเจ้าทรงใช้คำถามเป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดแสวงหาคำตอบหรือแก้ปัญหาของตนเอง นอกจากนี้ ยังทรงใช้คำถาม เป็นเครื่องมือ ในการเปลี่ยน ความคิด ของผู้ที่เข้าใจพระองค์ และคำสอนของพระองค์ ไม่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ พระพุทธเจ้าทรงคำนึงถึง พื้นฐานของผู้เรียนเป็นสำคัญ แล้วทรงเลือกใช้คำถามที่เหมาะสมกับผู้เรียน และสรุปบทเรียนจากคำตอบของผู้เรียนนั่นเอง ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง หลักการตั้งคำถาม พร้อมทั้งยกตัวอย่าง จากที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

หลักการตั้งคำถาม
สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ผู้เรียนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาก พระพุทธเจ้าทรงเป็นครูที่คำนึงถึงประสบการณ์ ของผู้เรียนอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้ว่า พระองค์จะทรงตั้งคำถาม ตามประสบการณ์ของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนตอบได้ และสามารถ โยงประสบการณ์เดิม ไปสร้างความรู้ใหม่ หรือสร้างข้อสรุปขึ้นใหม่ได้ จากสถานการณ์ การเรียนการสอนในพระไตรปิฎก สามารถสรุปหลักการตั้งคำถาม ของพระองค์ได้ ๕ ประการ คือ

๑. ถามตรงประเด็น
จุดมุ่งหมายของการถาม คือการนำไปสู่ข้อสรุปเพื่อตอบปัญหาของผู้เรียน หรือเพื่อตอบสนอง ความสนใจของผู้เรียน ผู้สอนจึงต้องตั้งคำถาม ที่สามารถ นำไปสู่ข้อสรุป ดังกล่าวได้ อย่างสมเหตุสมผล

ตัวอย่างเรื่อง การสอนคน พระพุทธเจ้าทรงสนทนากับสารถีผู้ฝึกม้า (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๑๑)

พ : ดูกรเกสี ท่านอันใครๆ ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถีผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร

เก : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อม ทั้งรุนแรงบ้าง ฯ

พ : ดูกรเกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน ฯ

เก : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าโทษมิใช่คุณอย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค เป็นสารถีฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม ก็พระผู้มีพระภาคทรงฝึกบุรุษ ที่ควรฝึกอย่างไร ฯ

พ : ดูกรเกสี เราแล ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อม ทั้งรุนแรงบ้าง ดูกรเกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้
เป็นวิธีละม่อม คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้
วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง คือกายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบาก แห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้
วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้
มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัย เป็นดังนี้

เก : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ไม่เข้าถึงการฝึก ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง พระผู้มีพระภาค จะทำอย่างไรกะเขา ฯ

พ : ดูกรเกสี ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลย ฯ

เก : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาค จึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย ฯ

พ : จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควรฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง
ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้พรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน ดูกรเกสี
ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้ สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน
นี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริยะ ฯ

ในกรณีนี้ พระองค์จะทรงสอนถึงวิธีการสอนคนโดยทรงเปรียบเทียบกับการฝึกม้า พระพุทธเจ้าจึงทรงถามถึงวิธีการฝึกม้า เป็นการนำเรื่อง
ซึ่งนอกจาก จะแสดงถึงการตั้งคำถาม ที่ตรงประเด็นแล้ว ยังทรงถาม ถึงเรื่องที่ผู้เรียน มีความรู้อยู่แล้วด้วย

๒. ถามถึงเรื่องที่ผู้เรียนมีความรู้อยู่แล้ว หรือถามถึงประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
ดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้เรียนนอกระบบโรงเรียนมีประสบการณ์หลากหลาย ผู้ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เช่นกัน พระองค์จึงทรงกระตุ้น ให้ผู้เรียน นำประสบการณ์เดิมมาใช้ เป็นพื้นฐานของการศึกษาต่อไป

ตัวอย่างเรื่อง โทษของการเห็นแก่การนอน (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๒๘๘) พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุ

พ : ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นพระเถระหรือหนอ เธอทั้งหลายเป็นภิกษุใหม่ นอนหลับกัดฟันอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า พระราชาผู้กษัตริย์ ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย บรรทมหลับสบาย ตามพระประสงค์อยู่ เสวยราชสมบัติอยู่ตลอดพระชนม์ ย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชาวชนบท ฯ

ภิ : หามิได้พระเจ้าข้า ฯ

พ : ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า พระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย
บรรทมหลับสบาย ตามพระประสงค์ เสวยราชสมบัติอยู่ตลอดพระชนม์ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า ท่านผู้ครองรัฐ ท่านผู้เป็นทายาทแห่งตระกูล ท่านผู้เป็นเสนาบดี ท่านผู้ปกครองบ้าน ท่านผู้ปกครองหมู่คณะ ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบายตามประสงค์ ปกครองหมู่คณะ อยู่ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ ฯ

ภิ : หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

พ : ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า ท่านผู้ปกครองหมู่คณะ ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย ตามประสงค์ ปกครองหมู่คณะอยู่ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย ตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลาย แห่งวันคืน แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

ภิ : หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

พ : ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า สมณะหรือพราหมณ์ ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย
ตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญ โพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งวันคืน แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ
จักเป็นผู้ประกอบความเพียร จักเป็นผู้เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย จักประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งวันคืนอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

จะเห็นได้ว่า คำถามของพระพุทธเจ้าอ้างประสบการณ์เดิมว่า เคยได้เห็นหรือได้ฟังมาหรือไม่ การอ้างถึงประสบการณ์เดิมเช่นนี้ ทำให้ผู้เรียน เข้าใจคำสอน ได้ง่ายขึ้น ยิ่งกว่านั้น พระพุทธเจ้ายังทรงช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยทรงใช้ภาษาเรียบง่ายด้วย

๓. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
ตัวอย่างเรื่อง โทษของการผิดศีล ๕ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๘) พระพุทธเจ้าตรัสกับเหล่าภิกษุ

พ : ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละปาณาติบาต
งดเว้นจากปาณาติบาต พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศหรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้น จากปาณาติบาต

ภ : ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลยพระเจ้าข้า ฯ

พ : ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็น มิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ
หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาต แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละ ย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิง หรือชายตาย
พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งปาณาติบาต ท่านทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟังบาปกรรม เห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ

ภิ : พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจักได้ฟังต่อไป ฯ

พ : ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า ท่านทั้งหลาย ได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละอทินนาทาน
งดเว้นจากอทินนาทาน พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากอทินนาทาน ฯ

ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็น มิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ
หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากอทินนาทาน แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ลักทรัพย์เขามาจากบ้านหรือ
จากป่า พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่ง อทินนาทาน ท่านทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟังบาปกรรม เห็นปานนี้
บ้างหรือไม่ ฯ

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจักได้ฟังต่อไป ฯ


พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร
งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯ

ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลยพระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พระราชาจับเขามาประหาร
จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ละเมิด ประเพณีในหญิง หรือบุตรีของผู้อื่น พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ท่านทั้งหลาย ได้เห็นหรือได้ฟัง บาปกรรมเห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจักได้ฟังต่อไป ฯ


พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละมุสาวาท งดเว้น
จากมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากมุสาวาท ฯ

ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ
หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากมุสาวาท แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ทำลายประโยชน์ของคฤหบดี
หรือบุตรคฤหบดีด้วยมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งมุสาวาท ท่านทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟัง บาปกรรมเห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจักได้ฟังต่อไป ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา
คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้น จากการการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯ

ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลยพระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย
เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละ ย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ประกอบการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แล้วฆ่าหญิงหรือชายตาย ลักทรัพย์ เขามาจากบ้าน หรือจากป่า ละเมิดประเพณีในหญิง หรือบุตรีของผู้อื่น ทำลายประโยชน์ของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี ด้วยมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ
เนรเทศ กระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ท่านทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟังบาปกรรม เห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจักได้ฟังต่อไป ฯ

ตัวอย่างที่ยกมานี้ ในสมัยนี้อาจมองไม่เห็นว่าเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เนื่องจากเป็นภาษาต่างยุค ต่างสมัย แต่นักปราชญ์ทางภาษา ศึกษาพบว่า พระพุทธเจ้า ทรงใช้ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาพื้นบ้าน เป็นภาษาในการเผยแพร่ธรรม แทนที่จะใช้ภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของผู้ได้รับการศึกษาในสมัยนั้น
นอกจากตัวภาษา ที่เป็นภาษาพูด ของชาวบ้านแล้ว จะเห็นว่า พระองค์ทรงใช้คำซ้ำๆอยู่มาก เพื่อให้ผู้ฟังจำ และเข้าใจได้ง่ายนั่นเอง

๔. ลำดับคำถามให้ผู้เรียนเกิดความคิดอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างของการใช้คำถามโดยลำดับนี้ เห็นได้ชัดในทุกตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้ว เช่น ในเรื่องอักโกสกพราหมณ์ พระพุทธเจ้าทรงถามพราหมณ์นั้นว่า เคยมีแขกมาที่บ้านหรือไม่ เมื่อแขกมาแล้ว ได้เตรียมอาหารต้อนรับหรือไม่ เตรียมอาหารไว้แล้ว ถ้าแขกไม่รับประทาน อาหารนั้นจะตกเป็นของใคร จะเห็นว่า
พระองค์ทรงถามตามลำดับ ทำนองเดียวกันนี้เสมอ และสรุปบทเรียน ในตอนท้าย

๕. ใช้คำตอบของผู้เรียนเป็นบทสรุป
การใช้คำตอบของผู้เรียนเป็นบทสรุปนี้ มีผลในทางจิตวิทยาต่อผู้เรียน คือ ทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจว่า ความรู้นั้น เกิดมาจากประสบการณ์ ของตนนั่นเอง มีผลให้ผู้เรียน มีกำลังใจในการศึกษาต่อไป

การใช้คำถามในการสอนธรรมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของครุจริยาของพระพุทธเจ้า ยังมีพุทธวิธีในการสอน อีกหลายประการ ที่น่าสนใจ และสามารถ นำมาประยุกต์ใช้ ในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน ในปัจจุบันได้อย่างดี ขอเพียงอย่าตั้งข้อรังเกียจว่า เป็นเรื่องโบราณ เป็นของพ้นสมัย และสิ่งที่สำคัญ ในการนำความรู้ต่างมาปฏิบัติ คือ การปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากปราชญ์ตะวันตก ความรู้จากปราชญ์ ตะวันออก หรือความรู้สมัยใหม่ ความรู้สมัยก่อน สำหรับการปรับใช้เทคนิคการสอน มีข้อควรตระหนัก ถึงสิ่งสำคัญยิ่ง ประการหนึ่งคือ พื้นฐานของผู้เรียน ความต้องการ และ ความพร้อมของผู้เรียน ตราบใด ที่ครูยังคำนึงถึงตนเองเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะคำนึงถึง ผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูก็จะยังไม่อาจประสบ ความสำเร็จ ในการสอนได้ เท่าที่ควร

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๗๐-๘๙)