ชาดกทันยุค ตอน

บ้านเมืองอาริยะ (ตอน ๑)

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 129

เดือน เมษายน 2544


บ้านเมืองที่นิยมบุญ เป็นบ้านเมืองอาริยะ การเมืองที่นิยมบุญ เป็นการเมืองอาริยะ

บ้านเมืองอาริยะ (หัตถิปาลชาดก)

ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เอสุการี ครอบครองราชสมบัต ิอยู่ในนครพาราณสี โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่ง เป็นสหายรักกันมาตั้งแต่ยังเยาว์ ทั้งสองไม่มีโอรส และบุตรสืบสกุลเลย

วันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสองกำลังอารมณ์ดีมีความสุขอยู่ ก็ได้ปรึกษาหารือกัน โดยปุโรหิตเอ่ยขึ้นก่อนว่า "ยศอันยิ่งใหญ่ของเราทั้งสองมีมาก แต่บุตรสืบสกุลนั้น ไม่มีเลย เราจะทำอย่างไรกันดี"

พระเจ้าเอสุการี ตรัสแสดงความคิดเห็นบ้างว่า "สหายรัก เอาอย่างนี้สิ หากภรรยาที่เรือนของท่าน ให้กำเนิดบุตรชาย เราจะให้บุตรของท่าน ได้ครอบครองราชสมบัติของเรา แต่ถ้าหากว่ามเหสีของเรา ให้กำเนิดโอรส โอรสของเราก็จะช่วยดูแล ทรัพย์สมบัติของท่านด้วย" ทั้งสองต่างตกลงกันและกัน เอาไว้ดังนี้

วันหนึ่ง...ขณะที่พราหมณ์ปุโรหิตกำลังกลับบ้านส่วยของตน ได้ผ่านเข้าประตูเมือง ทางทิศใต้ บังเอิญได้พบเห็น หญิงยากจนคนหนึ่ง ชื่อ พหุปุตติกะ นางมีลูกเจ็ดคน ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย ลูกชายคนหนึ่งถือกระเบื้องภาชนะหุงต้ม คนหนึ่งก็หอบ เสื่อปูนอน คนหนึ่งก็พาเดินนำไปข้างหน้า คนหนึ่งก็คอยเดินตามหลัง คนหนึ่งก็เกาะ มือแม่เดินไป คนหนึ่งอยู่ที่สะเอวแม่ และอีกคนหนึ่ง อยู่บนบ่าของแม่

ปุโรหิตเห็นดังนั้น จึงถามนางว่า "แม่มหาจำเริญ พ่อของเด็กเหล่านี้อยู่ที่ไหนกัน แล้วไฉนจึงได้ลูกชายมากถึงเจ็ดคนเช่นนี้ ?"

นางพหุปุตติกะตอบว่า "พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ประจำที่เจ้าข้า ส่วนการได้ลูกชายนั้น..." นางชะงักคำพูด แล้วมองไปรอบๆ ตัว เพื่อแสวงหาคำตอบ พอดีแลเห็นต้นไทรต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้ ประตูเมือง จึงแสร้งตอบไป ด้วยท่าที หนักแน่นจริงจังว่า "ข้าแต่นาย ดิฉันบวงสรวงเซ่นไหว้ บูชาต่อเทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไทรนี้เอง เทวดา จึงให้ลูก ถึงเจ็ดคน แก่ดิฉัน" ตอบเสร็จ นางพหุปุตติกะ ก็รีบเดินจากไปทันที

ปุโรหิตจึงลงจากรถ เดินตรงไปยังต้นไทร สังเกตดูสักครู่ก็จับกิ่งไทรเขย่าอย่างแรง พลางพูดด้วย เสียงอันดังว่า "เทวดาผู้เจริญ อะไรบ้างที่ท่านไม่ได้จากราชสำนัก ทุกๆ ปี พระราชาทรงสละ พระราชทรัพย์พันกหาปณะ (๔,๐๐๐ บาท) ตรัสสั่งให้ทำพลีกรรม แก่ท่าน ท่านกลับไม่ให้โอรส แก่พระราชาเลย แต่หญิงยากจนคนนั้น มีบุญคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรแก่ท่าน ทำไมท่านจึงให้บุตร แก่นางถึงเจ็ดคน ฉะนั้นถ้าหากท่าน ยังไม่ยอม ให้โอรสแก่พระราชาของเรา จากนี้ไปอีกเจ็ดวัน เราจะใช้ให้คนมาโค่น ต้นไทรนี้ลงทั้งราก แล้วสับให้เป็นท่อนๆ เลยทีเดียว" กล่าวแล้ว ปุโรหิตก็ขึ้นรถ กลับไป

และในวันรุ่งขึ้น ปุโรหิตก็มายังต้นไทรนี้อีก ทั้งยังกล่าวข่มขู่ในทำนองเดิมอีก ทำเช่นนี้ทุกวัน จนถึงวันที่ ๖ ก็สำทับว่า "ดูก่อนรุกขเทวดา (เทวดารักษาต้นไม้) เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ถ้าท่านยังไม่ยอมให้โอรส ผู้ประเสริฐแก่พระราชา ของเราละก็ พรุ่งนี้เราจะให้คนมาสำเร็จโทษท่าน"


ช่วงนั้นเอง...ในเหล่าเทวดา (คือผู้มีจิตใจสูง) ผู้ถึงกาลจุติ มีเทพบุตร ๔ สหาย ซึ่งมากด้วยบุญ อันควรเกิดในราชตระกูลปรากฏอยู่ แต่เทพบุตรทั้ง ๔ ไม่ปรารถนาที่จะเกิดในราชตระกูล จึงพากันไปเกิด ในเรือนของปุโรหิต โดยตั้งจิตร่วมกันไว้ว่า "เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะละกามสมบัติ ออกบวช ตั้งแต่ยังมีวัยหนุ่มอยู่" ฉะนั้นเทวดาจึงดลใจแก่ปุโรหิตให้เกิดลาง สังหรณ์ เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ต้นไทรนั้นจึง รอดพ้นจาก การถูกตัดโค่นไปได้

ครั้นเทพบุตรผู้เป็นพี่ใหญ่ จุติมาบังเกิดในครรภ์ของ นางพราหมณี ภรรยาปุโรหิตแล้ว ก็ได้ชื่อว่า หัตถิปาลกุมาร เพราะปุโรหิตได้มอบให้นายควานช้างเอาไปเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช ของกุมาร นั่นเอง

เมื่อหัตถิปาลกุมารเจริญเติบโตเริ่มเดินได้นั้น เทพบุตรองค์ที่สองก็จุติ มาบังเกิด ในครรภ์ ของนางพราหมณีอีก กุมารเกิดแล้วได้ชื่อว่า อัสสปาลกุมาร ฝากให้คนเลี้ยงม้า ช่วยดูแลให้ เพื่อป้องกันกุมารออกบวช แล้วเมื่อบุตรคนที่สามเกิด ก็ได้ชื่อว่า โคปาลกุมาร มีนายโคบาลเลี้ยงดูไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช และบุตรคนที่สี่เกิดแล้ว ก็ได้ชื่อว่า อชปาลกุมาร มีคนเลี้ยงแพะช่วยเลี้ยงดูไว้

ครั้นกุมารทั้งสี่เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นหนุ่ม ได้มีรูปร่างสง่างามยิ่งนัก ซึ่งช่วงนั้นปุโรหิต ได้เชิญบรรดา นักบวชทั้งหลาย ออกไปจากพระราชอาณาเขตหมดสิ้น ในแคว้นกาสิกรัฐ จึงไม่มีบรรพชิต เหลืออยู่แม้แต่รูปเดียว

เมื่อหัตถิปาลกุมารอายุครบ ๑๖ ปี พระราชาได้ปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่า "กุมารทั้ง ๔ เติบใหญ่แล้ว สมควรที่จะยกราชสมบัติให้ครอบครอง แต่ถ้าอภิเษกแล้ว หากว่ากุมารเหล่านี้ ได้พบปะบรรพชิตเข้า ก็อาจจะพากันออกบวชเสีย ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวเมืองก็จะระส่ำระสาย วุ่นวายไปหมด ฉะนั้นก่อนที่จะอภิเษกให้ เราสองต้องลงมือ ทดสอบกุมาร เหล่านี้ดูก่อน"

ทั้งสองจึงตกแต่งร่างกายปลอมแปลงเป็น ฤาษี เที่ยวภิกขาจารไป จนถึงประตูบ้าน ที่อยู่ของ หัตถิปาลกุมาร เมื่อหัตถิปาลกุมารมีโอกาส ได้พบเห็นฤาษีแล้ว ก็เกิดจิตปิติยินดี มีความเลื่อมใส ตรงเข้าไป ใกล้ๆ ถวายนมัสการ แล้วเอ่ยปากถามว่า

"นานมากแล้ว ที่ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็น ผู้มีผิวพรรณผ่องใส ดังเทพมุ่นชฎา ผู้ทรมานกิเลส ดั่งเปือกตม เป็นฤาษีผู้ยินดีในคุณธรรม นุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด หรือผ้าคากรอง (ทำด้วยหญ้า) ปกปิดโดยรอบ ขอท่านผู้เจริญ รับอาสนะ (ที่นั่ง) รับน้ำ รับผ้าเช็ดเท้า และรับน้ำมันทาเท้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านด้วยสิ่งของมีค่า โปรดได้ กรุณารับของมีค่านี้ด้วยเถิด"

หัตถิปาลกุมารเชื้อเชิญฤาษีทั้งสองด้วยความเคารพศรัทธายิ่งนัก ปุโรหิตฤาษี จึงแกล้งถามว่า "แน่ะพ่อหัตถปาละ เจ้าสำคัญว่าเราทั้งสองเป็นใครกัน จึงกล่าวอย่างนี้"

หัตถิปาลกุมารจึงตอบว่า "ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านเป็นฤาษีผู้มาจาก หิมวันตประเทศ"

ปุโรหิตจึงบอกความจริงว่า "พ่อคุณ...พวกเราไม่ใช่ฤาษีจริงๆ หรอก นี้คือ พระราชาเอสุการี เราก็คือปุโรหิตผู้เป็นบิดาของเจ้าไง"

หัตถิปาลกุมารจึงเกิดความสงสัยขึ้นทันที เอ่ยถามว่า "ทำไมต้องทำเช่นนี้ เพราะเหตุอันใดกันเล่า พระราชากับบิดาถึงต้องปลอมเป็นฤาษีด้วย"

ปุโรหิตเฉลยคำตอบว่า "ก็เพื่อทดลองใจเจ้าว่า หากเจ้าพบเห็นพวกบรรพชิตถือศีลแล้ว ก็มิได้คิด ออกบวช พวกเราก็จะ อภิเษกเจ้าให้เสวยราชสมบัติ"

หัตถิปาลกุมารได้ฟังดังนั้นก็รีบตอบว่า "ข้าแต่บิดา ข้าพเจ้าไม่ต้องการราชสมบัติเลย ข้าพเจ้า ต้องการที่จะบวชมากกว่า"

ปุโรหิตได้ยินดังนั้นถึงกับลนลานกล่าวว่า "ลูกรัก เจ้าจงร่ำเรียนวิชา และจงแสวงหา ทรัพย์ให้มาก จงปลูกฝังลูกหลานให้มั่นคงอยู่ในเรือน แล้วจงบริโภครูปรสกลิ่นเสียง อันบำเรอกามทั้งปวงก่อนเถิด กิจที่จะสงบระงับอยู่ในป่านั้น จะสำเร็จ ประโยชน์ดี ก็เมื่อยามแก่แล้ว ผู้ใดบวชในเวลาตอนนั้น ผู้นั้น พระอริยเจ้า ย่อมสรรเสริญ"

หัตถิปาลกุมารฟังแล้ว ก็กล่าวแย้งบิดาว่า "วิชาการต่างๆ เป็นของไม่เที่ยงแท้ ลาภคือทรัพย์ ก็ไม่เที่ยงแท้ ใครๆ จะเอาการมีลูกหลาน มาห้ามความแก่เฒ่าได้เล่า สัตบุรุษ (คนที่มีสัมมาทิฏฐิ) ทั้งหลายล้วนสอนให้ปล่อยวาง ในกามคุณ ๕ เพราะความเกิดแห่งผลกรรมใดๆ นั้น ย่อมมีได้ ตามกรรมของตน"

เมื่อพระราชาทรงสดับคำของหัตถิปาลกุมารแล้ว ก็ตรัสบ้างว่า "คำตรัสของเจ้าที่ว่า ความเกิดขึ้น แห่งผลกรรมใดๆ นั้น ย่อมมีได้ตามกรรมของตน ช่างเป็นคำจริงแท้ แน่นอน ฉะนั้นในเมื่อบิดามารดา ของเจ้านี้ก็แก่เฒ่าแล้ว หวังว่าเจ้าก็จะอยากอยู่ จนแก่เฒ่าอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคใดบ้าง ฉะนั้น เจ้าต้องช่วยเลี้ยงดูบิดา มารดา ของเจ้าก่อน"

หัตถปาลกุมารฟังพระราชดำรัส แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ความเป็นสหาย กับความตาย ความมีไมตรีกับความแก่นั้น ไม่เคยมีกับผู้ใดเลย เพราะไม่มีผู้ใดที่ไม่แก่ ไม่มีผู้ใดที่ไม่ตาย ผู้นั้นแม้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคเบียดเบียน ก็ได้ ในบางคราวเท่านั้น อุปมา ดังบุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้ส่งถึงฝั่งโน้น แล้วรับคนฝั่งโน้น พามาส่ง ถึงฝั่งนี้ ฉันใด ความแก่และความเจ็บป่วย ย่อมนำเอาชีวิต ไปสู่อำนาจ แห่งความตายอยู่เนืองๆ ฉันนั้น"

ครั้นหัตถิปาลกุมารกล่าวแล้ว ก็หยุดสักครู่ จึงกล่าวต่อ "ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ ก็ดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย ย่อมรุกรานเข้าใกล้ทุกคนตลอดเวลา ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทมัวเมาเลย"

จบคำพูด หัตถิปาลกุมารถวายบังคมพระราชา และกราบลาบิดา แล้วพาบริวารของตน ละทิ้งสมบัติ ในพระนครพาราณสี ด้วยตั้งใจ ว่าจะออกบวช อีกทั้งยังมีชาวเมือง ส่วนหนึ่ง ติดตามหัตถิปาลกุมารไป ด้วยความคิดว่า "ขึ้นชื่อว่าการออกบวชนั้น ช่างเป็นความดีอันน่างดงามยิ่งนัก" รวมแล้วจึงมีผู้ตาม ไปกับหัตถิปาลกุมาร เป็นระยะทางยาว ประมาณถึง ๑ โยชน์ (๑๖ กม.) ทีเดียว

หัตถิปาลกุมาร เมื่อไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เพ่งดูสายน้ำแล้วตกลงใจว่า "เราจะอยู่ ณ ที่นี่แหละ จะนั่งให้โอวาท แก่มหาชนทั้งหลาย อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้ "

ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าเอสุการีกับพราหมณ์ ปุโรหิตคิดกันว่า เมื่อหัตถิปาลกุมาร ไม่ต้องการ ราชสมบัติ และคิดจะบวช ฉะนั้นคงต้องไปทดลองใจ ของอัสสปาลกุมาร ดูบ้าง ทั้งสองจึงตกแต่งแปลงร่าง ปลอมกาย เป็นฤาษีกันอีก แล้วไปประตูเรือน ของอัสสปาลกุมาร ทำเช่นเดียวกันกับหัตถิปาลกุมาร ทุกอย่าง แล้วก็ได้รับ คำตอบจากอัสสปาลกุมารว่า

"ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มุ่งหมายในราชสมบัติ ซึ่งเปรียบเสมือนก้อนน้ำลาย ที่พี่ชายของข้าพเจ้า บ้วนทิ้งแล้ว แม้จริงแท้ที่สัตว์ทั้งหลายผู้โง่เขลาเบาปัญญา ย่อมจะทิ้งกิเลสนั้นได้ยาก แต่ข้าพเจ้าก็จะ ละทิ้ง เพราะกามทั้งหลายเป็นดังเปือกตม ที่ก้าวลงไปแล้วทำให้จมลง เป็นที่ตั้งแห่งความตาย ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลาย ผู้ข้องอยู่ในกาม จึงเป็นผู้มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่งไม่ได้เลย

แม้ในอดีต อัตภาพ (นิสัยใจคอ) ของข้าพระองค์ก็ได้กระทำกรรม อันหยาบช้ามาก่อน ผลแห่งกรรมนั้น ยึดข้าพระองค์ไว้มั่นแล้ว ข้าพระองค์จะพ้นไปจากผลแห่งกรรมนั้น ไม่ได้เลย ดังนั้นข้าพระองค์ จึงคิดจะปิดกั้น นิสัยใจคอนั้นอย่างรอบคอบ เพื่ออย่าได้กระทำกรรม อันหยาบช้าอีกเลย"

กล่าวจบ อัสสปาลกุมารก็กราบลาบิดาและพระราชา แล้วพาผู้ที่อยากติดตามไปด้วย มีความยาว ประมาณ โยชน์หนึ่ง (๑๖ กม.) ไปยังที่พำนักของหัตถิปาลกุมาร

หัตถิปาลกุมารได้แสดงธรรม แก่อัสสปาลกุมารฟัง แล้วกล่าวว่า "น้องรัก สมาคมนี้จะใหญ่ยิ่งกว่านี้ อีกมากนัก พวกเราจะพำนัก กันอยู่ในที่นี้ก่อน "

วันรุ่งขึ้น พระราชากับพราหมณ์ปุโรหิต ก็ปลอมตัว เป็นฤาษีอีก ไปยังเรือนของ โคปาลกุมาร ด้วยอุบายเหมือนเดิม แม้โคปาลกุมารก็ปฏิเสธราชสมบัติ และต้องการออกบวชเช่นพี่ชาย โดยกล่าวว่า "ข้าแต่พระเจ้าเอสุการี ประโยชน์ของข้าพระองค์ พินาศไปเสียแล้ว เหมือนผู้เลี้ยงโค ไม่เห็นโค ที่หายไปในป่า ฉะนั้น ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้เห็น ทางแห่งบรรพชิตทั้งหลายแล้ว ไฉนจะไม่แสวงหา การออกบวชเล่า ข้าพระองค์ เห็นทางที่พี่ชายทั้งสองได้กระทำไป แล้ว เหมือนคนพบรอยเท้าโค ที่หายไป ฉะนั้น ข้าพระองค์ก็จะไปตามทางนั้นเหมือนกัน"

พระราชาและปุโรหิตช่วยกันกล่าวขอร้องว่า "พ่อโคปาลกุมาร รออีกสักวันสองวันก่อนเถิด ให้เราทั้งสองพอทำใจกันบ้าง แล้วเจ้าค่อยออกบวช"

แต่โคปาลกุมารกลับตอบว่า "ผู้ใดกล่าวผัดเพี้ยนการงาน ที่ควรกระทำในวันนี้ ว่าควรทำในวันพรุ่งนี้ แล้วกล่าวการงานที่ควร กระทำในวันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันถัดไป ผู้นั่นย่อมเสื่อมจากการงานนั้น ฉะนั้น "กรรมดี" ควรทำในวันนี้ ไม่ควรผัดเพี้ยนว่าจะทำ "กรรมดี" ในวันพรุ่งนี้ ขึ้นชื่อว่า "กรรมดี" แล้ว ควรทำในวันนี้แหละ เพราะสิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นยังไม่เกิดยังไม่มี จึงควรละความพอใจ ในอนาคตนั้นเสีย"

จากนั้นโคปาลกุมารกับบริวารติดตามไปเป็นขบวนยาวประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เดินทางไปยังสำนัก ของพี่ชายทั้งสอง หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรม ให้แก่ปาลกุมารฟัง ณ ที่นั้น

วันรุ่งขึ้น พระราชาและปุโรหิตยังคงปลอมเป็นฤาษี ไปยังเรือนของอชปาลกุมาร ในที่สุด แม้อชปาลกุมาร ก็ไม่ต้องการราชสมบัติ แต่ต้องการออกบวชเช่นนั้น ปุโรหิต จึงกล่าววิงวอนว่า "เจ้ายัง อายุน้อยนัก ควรจะบวชในเวลาที่ถึงวัยอันสมควร ให้เราทั้งสองเลี้ยงดูอุ้มชูเจ้าก่อนเถิด"

อชปาลกุมารจึงกล่าวว่า "ธรรมดาสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายที่มือ หรือที่เท้าของใครเลยว่า ผู้นี้ จะตายในเวลาเด็ก ผู้นั้นจะตายในเวลาแก่เฒ่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เวลาตายของตัวเอง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบวชในตอนนี้แหละ

เพราะข้าพเจ้าเคยเห็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตางดงาม มีดวงตา ดังดอกการะเกด โดนความตายมาฉุดคร่า เอาชีวิตเธอไป ทั้งที่อยู่ในวัยแรกรุ่นเท่านั้น ยังไม่ทัน บริโภคสมบัติได้มากมายอะไรเลย แล้วยังมีชายหนุ่มสง่างาม ใบหน้าผ่องใส ผิวพรรณน่าดูน่าชม แม้ชายหนุ่มเห็นปานนี้ ก็ไปสู่อำนาจของความตาย

ข้าพเจ้าจึงคิดละกามและบ้านเรือนเสีย แล้วจะออกบวช ได้โปรดกรุณาอนุญาต แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" อชปาลกุมารกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กล่าวต่อไปอีกว่า "ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่อย่างเป็นสุขเถิด ส่วนข้าพเจ้าผู้กำลังถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย รุกรานอยู่นี้ ขอกราบลาท่านทั้งสอง ไปก่อน"

จากนั้น อชปาลกุมารก็พาบริวารที่ติดตาม ไปเป็นแถวยาวโยชน์หนึ่ง ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาล กุมารจึงแสดงธรรมให้น้องชายฟัง

เช้า...วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตนั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตน ในที่สุดก็ตัดสินใจปรึกษา กับนางพราหมณีว่า "ดูก่อนแม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ส่วนต้นไม้ ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเขาเรียกว่า ตอไม้ ก็บัดนี้ลูกทั้ง ๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร เหลือกันอยู่ตามลำพัง เป็นเสมือน มนุษย์ตอไม้ ถึงเวลาแล้ว ที่แม้เราก็จะออกบวช เช่นกัน"

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

อ่านฉบับ 128   อ่านฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๕๘-๖๒)