ชีวิตไร้สารพิษ ...ล้อเกวียน

การอนุรักษ์พลังงานและน้ำ(๒)

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 130 เดือน พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

แหล่งสะสมน้ำในธรรมชาต

ขอให้เรามาดูสิ่งที่เป็นไปได้ว่า เราจะเพิ่มฝนได้ไหม คำตอบคือเพิ่มได้ เพราะว่าในก้อนเมฆ จะเต็มไปด้วยหยดน้ำแข็ง ซึ่งจะเป็นที่อาศัยรวมกลุ่ม ของแบคทีเรียชนิดหนึ่ง แบคทีเรียนี้มีปริมาณมหาศาล อยู่กันเป็นหมู๋ (colony) อย่าง มากมาย แบคทีเรียเหล่านี้ มีรูปร่างเฉพาะ คือจะมีกระเปาะยอดแหลม ซึ่งเป็นรูปร่างที่เหมาะสม ที่จะเก็บน้ำ

เมื่อแบคทีเรียนี้ปลิวตามลมไป ผ่านใบไม้ ผ่านที่มีความชุ่มชื้น ผ่านป่าผ่านน้ำ แบคทีเรียนี้ ก็จะเก็บความชุ่มชื้นเอาไว้ในกระเปาะ เมื่อปลิวผ่านไปที่เย็น ก็จะมีการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ถ้าเย็นจัดหยดน้ำก็จะกลายเป็นน้ำค้างแข็ง น้ำในกระเปาะน้ำนี้ บางทีก็จะตกลงมาเป็นฝน บางทีก็ตกลงลงมาเป็นลูกเห็บ แบคทีเรียนี้จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ และเมื่อแบคทีเรีย ซึ่งมีกระเปาะ ทำหน้าที่เก็บน้ำตัวนี้ ถูกสารเคมีทำลายไป แม้นักวิทยาศาสตร์จะสร้างขึ้นมาใหม่ ก็จะไม่มีรูปร่าง และไม่มีกระเปาะธรรมชาติ สำหรับเก็บน้ำเหมือนที่มันขยายพันธุ์ ตามธรรมชาติของมันเอง คนจะสร้างได้แต่รูปกลมๆ ซึ่งจะไม่มีประสิทธิภาพในการเก็บ น้ำ เมื่อแบคทีเรียธรรมชาติหายไปเรื่อยๆ และมีแบคทีเรียของนักวิทยาศาสตร์ เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ก็จะไม่มีแบคทีเรียธรรมชาติที่ จะเก็บน้ำอีก

เราจะเห็นว่า น้ำฝนที่ตกลงมาจากฟ้าลดลง เพราะไม่มีองค์ประกอบของธรรมชาติ ช่วยสะสมน้ำไว้ ดังนั้น ก็จะมีลักษณะของการขัดแย้งกัน ระหว่างชาวนากับคนเมือง ชาวนาอยากได้ฝน คนเมืองไม่อยากได้ฝน แต่ว่าการที่นักวิทยาศาสตร์ ขึ้นไปฉีดสาร เคมีให้ฝนตก ก็เป็นการทำลายกระเปาะเก็บน้ำตามธรรมชาติไป ในอนาคต จะไม่มีฝนสร้างความชุ่มชื้นให้ชาวนา แต่ชาวเมืองคงชอบ เพราะไปปิคนิคได้ โดยไม่มีฝน เครื่องบินที่อยู่บนท้องฟ้า จะปล่อยสารพิษออกมา การที่เครื่องบิน บินเข้าไปในเมฆ สารเคมีของเสียจากเครื่องบิน จะถูกปล่อยออกมาสู่ก้อนเมฆ ทำลายแบคทีเรียที่เก็บน้ำในก้อนเมฆ นอกจากนี้สารเคมีที่ใช้ในไร่นา ก็จะทำลาย แบคทีเรีย ที่มีกระเปาะสะสมน้ำนี้ไปเช่นกัน เหตุนี้จึงทำให้แบคทีเรีย ที่เก็บสะสมน้ำ ในธรรมชาติ ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

การสูญเสียน้ำและการกักเก็บน้ำ

ถ้าเราจะทำฝนเทียมขึ้นได้ เราก็จะทำฝนได้อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเราก็จะต้อง สร้างระบบที่จะรองรับน้ำฝนไว้ เก็บสำรองส่วนที่จะไหลลงดินไว้ให้หมด เราจึงจะสามารถเก็บกักน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ปล่อยให้มันไหลลงทะเลไป และไม่ปล่อย ให้มันระเหยไป สภาพการไหลของน้ำ และการระเหยของน้ำ เป็นอย่างรวดเร็ว และปริมาณมาก บนพื้นที่ที่เป็นคอนกรีต ซีเมนต์ กระเบื้อง หิน หรือผิวหน้าถนนพื้นแข็ง น้ำจะไหลไปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนบริเวณปากอ่าว หรือปากแม่น้ำ ที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยม หรือเดลต้านั้นน้ำจะไหลช้า

เราจะหยุดการไหลทิ้งของน้ำได้ โดยการทำให้มีแอ่งขึ้นมา และทำให้มีส่วนที่กักน้ำเอาไว้ และน้ำก็จะไปรวมกันอยู่ตรงนั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เพราะน้ำที่ไหลจากที่สูง ลาดเอียงกว่า ๙๓ เปอร์เซ็นต์ จะไหลแรงมาก

ถ้าหากมีที่เก็บน้ำ จะทำให น้ำลดความแรงลง และเก็บน้ำไว้ใช้ได้ด้วย ส่วนข้างล่าง เราสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ โดยไม่ต้องปล่อยให้มันไหล ลงทะเลทั้งหมด ในดินก็จะมีโพรงดินที่จะเก็บน้ำ นอกเหนือจากส่วนที่ เป็นพื้นคอนกรีต พื้นซีเมนต์ ซึ่งจะทำให้น้ำไหลแรง และเร็วแล้ว ยังมีพื้นดินที่ถูกวัวควาย และเครื่องจักรเหยียบย่ำ จนดินแน่นแข็ง ซึ่งจะทำให้น้ำไหลเร็วและแรงเช่นกัน น้ำจะชะเอาหน้าดิน ไหลตามน้ำไปด้วย แร่ธาตุอาหารที่มีอยู่มาก บริเวณผิวหน้าดิน ก็จะถูกชะล้างไป และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

เมื่อน้ำซึมเข้าไปในดิน โพรงดินก็จะมีประสิทธิภาพ ที่จะกักเก็บน้ำเต็มเปี่ยม จะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ระหว่าง โพรงดินที่มีน้ำซึม กับโพรงดินที่แห้ง ดังนั้นภายในไม่กี่ปี ส่วนใต้ดินที่แห้ง ก็จะมีความชุ่มชื้นมากขึ้น และในที่สุด ก็จะสามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ ในเวลาไม่เกิน ๖ ปี น้ำจะสะสมอยู่ในดิน แม้กระทั่งในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุด ก็จะเก็บน้ำได้ แต่ถ้าหากเราปลูกต้นไม้ไว้ รากของต้นไม้จะชอนไชลงไป ภายใน ๒ ปี มันจะยืนต้นได้ สะสมน้ำไว้ได้ และมีน้ำกินตลอดเวลา อนึ่งต้นไม้บางชนิด จะทนความแห้งแล้งได้ถึง ๖๐ ปี เพราะว่า มีน้ำสำรองในดิน และมีการระเหยของน้ำน้อยมาก

ต้นไม้ต้นหนึ่งที่เราปลูก จะเก็บกักน้ำได้ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แทนที่เราจะปล่อย ให้น้ำไหลลงไปในดิน ลงทะเล หรือ ปล่อยให้ระเหยไป เราน่าจะใช้ต้นไม้นี้ เป็นแหล่งเก็บสำรองน้ำ และต้นไม้ก็จะสร้างความชุ่มชื้นในอากาศ และเมื่อเมฆฝนพัดผ่านมา กระทบความชุ่มชื้นในอากาศเหนือต้นไม้ ก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ตกลงมา เป็นฝนอีก ในสมัยนี้ ไม่มีต้นไม้มากเหมือนแต่ก่อน น้ำฝนที่จะซึมลงไปในดิน ซึมได้เพียง ๒ เปอร์เซ็นต์ก็บุญแล้ว

นอกจากนี้การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น จะช่วยการกักเก็บและกัน การสูญเสียน้ำและดิน ในพื้นที่ลาดชัน เราอาจจะสร้างคันดิน เป็นขั้นบันได ไม่จำเป็นต้องทำให้ใหญ่โตนัก เพราะจะทำให้เสียแรงงาน และเสียหน้าดิน คันดินเหล่านี้เปรียบเสมือน แอ่งธรรมชาติ เวลาที่น้ำไหลหลากมาจากที่สูง น้ำจะไหลล้นคันดินออกไป ส่วนที่ถูกกักไว้จะค่อยๆ ซึมลงไปในดิน ดินตรงนั้นจะชุ่มชื้น บริเวณนั้นก็จะชุ่มชื้น และมีสีเขียวของพืช เพิ่มขึ้นมาก และเราก็จะอาศัยความชุ่มชื้นตรงนี้ ปลูกต้นไม้ ขยายพื้นที่สีเขียว ออกไปได้เรื่อยๆ

อาศัยหลักการซึมน้ำดังกล่าวแล้ว ใน ๖ ระดับ น้ำใต้ดินจะเกิดภายใน ๖ ปี และช่องว่าง ระหว่างแอ่งน้ำ ๒ แอ่ง ก็จะมีแต่พืชสีเขียว นอกจากนี้ก็อาจจะมีลำธาร ที่จะเป็นทางน้ำ น้ำที่ไหลไปตามลำธารจะไหลช้าลง และใช้เวลานาน กว่าที่จะไหลไปถึงแม่น้ำ ลงสู่ทะเล ระบบการกักเก็บน้ำแบบนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมี พื้นดินจะแห้งไปหมดแล้ว แต่ถ้าทำตามหลักการนี้แล้ว ต่อๆ ไป ความชุ่มชื้น ก็จะกลับมาเหมือนเดิม เพราะว่าน้ำจะค่อยๆ จะถูกเก็บสะสมไว้ในดิน ในภูเขา และค่อยๆ ซึมออกมาจากภูเขา ไหลลงสู่ลำธาร แควแม่น้ำต่างๆ เราก็จะมีน้ำตลอดปี และไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม

ดังนั้นหลักการก็คือ หาวิธีให้น้ำซึมลงไปในดินเรื่อยๆ และให้มันซึมลงไปในลำธาร ถ้าเราเก็บน้ำในสภาพแบบนี้ ไม่มีสาเหตุอะไรที่จะทำให้สูญเสียน้ำ พื้นที่ส่วนที่เป็นแอ่งน้ำ เราก็ใช้ปลูกพืชได้ และส่วนที่เหนือขึ้นมา เราก็ใช้ปลูกพืชได้อีก ส่วนล่างลงไป เราก็ใช้ปลูกพืชได้เช่นกัน แบบนี้เราจะเสียพลังงานน้อยมาก และเราจะมีการเก็บพลังงานเพิ่มได้อีกมาก เมื่อเราต้องทำงานร่วมกับชาวบ้าน เราต้องทำความเข้าใจกับเขาว่า ไม่ใช่จะมองแต่ตัวเงิน ที่ได้จากการขายพืชไร่ ชนิดเดียวที่ปลูกเท่านั้น แต่ต้องมองว่า การปลูกต้นไม้ใหญ่ มิใช่การเสียพื้นที่ทำกิน แต่จะช่วยลดแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าปุ๋ยก็จะลดลง

ต้นไม้ที่ควรจะปลูก ควรเป็นต้นไม้ที่ให้ปุ๋ย ให้ความชุ่มชื้น และเป็นแหล่งสำรองน้ำ เราจะได้ไนโตรเจน กับฟอสฟอรัสจากต้นไม้ ดังนั้น แค่ปีสองปี ใบไม้จะตกทับถมลงมา น้ำฝนก็จะชะล้างเอาฟอสฟอรัส ไนเตรท โปแตสเซียมลงมาด้วย และจะมารวมกัน อยู่ในแอ่งน้ำของเรา หลังจากที่ทำอย่างนี้ จะพบว่าน้ำมีคุณภาพดีขึ้น และมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะดีกว่าน้ำที่ผ่านพื้นที่ ที่เขาใช้สารเคมี ดังนั้น เราจะวางแผน ที่จะเก็บน้ำไว้ที่ต้นไม้ และเราจะต้องวางแผน ที่จะเก็บปุ๋ยและอาหาร ที่จะถูกชะล้างลงมา ไว้ในแหล่งน้ำของเรา พืชที่จะต้องใช้ในระยะบุกเบิกก็คือ พืชที่ตรึงไนโตรเจน เป็นพืชตระกูลถั่วก็ได้ ไม่มีพืชตระกูลถั่วก็ได้ ต้นไม้ยืนต้นจะอาศัย ปุ๋ยจากใบไม้ที่ตกลงมาเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ควรมีการเผา เพราะว่า จะทำให้สูญเสียธาตุกำมะถันในดิน และจะต้องใช้เวลา ถึง ๓๐ ปี ที่จะสร้างสภาพดินขึ้นมาใหม่ เพราะการเผา ทำให้เกิดการสลายตัวของแก๊ส และธาตุอาหารของพืชในดิน ดังนั้น ในขณะนี้ ที่ชาวนาเผาฟาง เผาแกลบ ก็จะเป็นการทำลายปุ๋ย ที่จะเป็นประโยชน์แก่ดิน ทำลายสัตว์ตัวเล็กๆ ในดิน จริงๆแล้ว น่าจะโยนวัสดุพวกฟาง แกลบ เหล่านี้ลงไปในทุ่งนาในไร่ของเรา เราควรจะเริ่มต้น ในพื้นที่ของเราก่อน ทำเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป แม้ว่าเรา จะมีแต่เศษฟางเศษพืช เราก็จะได้ใช้ในการปลูกพืชครั้งต่อไป

ไม้บุกเบิกที่ควรปลูกก็คือ ไม้อเนกประสงค์ ที่โตเร็ว เช่น แคฝรั่ง กระถินณรงค์ ขี้เหล็ก มะแฮะใหญ่ กระถิน ฯลฯ ปลูกเข้าไปในพื้นดินของเรา ใบของต้นพืชพวกนี้ จะย่อยสลายง่ายกว่าใบของไม้ผล ถ้าปลูกต้นไม้พวกนี้ จะสร้างป่าในพื้นที่ของเรา ได้เร็วขึ้น ต่างกับใบของไม้ผล ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ ย่อยสลายยาก แล้วก็ไม่ได้ให้ปุ๋ย ใบไม้ใหญ่ จะทำให้ดินเสีย เพราะเวลาที่ฝนตก น้ำฝนจะตกกระทบใบไม้ และเมื่อลมพัด มันก็จะปล่อยน้ำให้ตกลงพื้นดินรวดเดียว แรงพอๆกับฝน ที่ตกลงบนพื้นดิน ดังนั้น จึงไม่ควรปลูกต้นไม้ใบใหญ่ ในระยะบุกเบิก ที่ควรต้องปลูกก็คือ พืชตระกูลถั่ว ใบเล็ก รากลึก มีทุกขนาดยิ่งดี สูงเท่าไร ใหญ่เท่าไรก็ได้ ปลูกเล็กๆ แล้วก็ใหญ่ๆ ขนาดต้นจามจุรีก็ได้ จามจุรีเป็นพืชตระกูลถั่ว ใบของมันย่อยสลายง่าย ใช้เป็นปุ๋ย รากมันสามารถ ตรึงไนโตรเจน การปลูกไม้ป่าพวกนี้ ควรปลูกชิดกัน จะได้แย่งกันเจริญเติบโต และเป็นแหล่งสำรองน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ของเรา (จาก Permaculture โดย Bill mollison)

 
อ่านฉบับ 129   อ่านฉบับ 131

ชีวิตไร้สารพิษ โดย ล้อเกวียน ( เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๐ พ.ค. ๔๔ หน้า ๖๓ - ๖๖ )