กำไรขาดทุนแท้ ของอาริยชน หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 130 เดือน พฤษภาคม 2544

ต่อจากฉบับที่ ๑๒๙

การรู้แจ้งชัดเจนถูกต้อง เพียงแค่"บุญ"แบบโลกีย์แท้ๆก็ยังยาก เพราะถ้าผู้ศึกษาพุทธธรรมไม่สัมมาทิฏฐิ ก็จะไม่รู้แจ้ง"กรรม" ไม่รู้แจ้ง"วิบาก" ถูกต้องสัจจะ ซึ่ง"บุญ"แบบโลกีย์นี้ก็แค่"สมมุติสัจจะ"เท่านั้น ก็ยังไม่ใช่จะง่ายๆกันแล้ว เพราะฉะนั้น"บุญนิยม"ที่เป็นโลกุตระ และเป็น "ปรมัตถสัจจะ"ด้วย จึงต้องยืนยันไว้ในข้อที่ ๓ ว่า "ทำได้ยาก"

อย่างไรก็ตาม นิยามในข้อที่ ๑ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า มันเป็น "การทวนกระแส" หรือคนละทิศกันกับ "ทุนนิยม" และ นิยามข้อ ๒ ก็ชัดๆอีกว่า ต้องเข้าเขต "โลกุตรธรรม" ดังนั้น "บุญนิยม" ในข้อที่ ๓ นี้ จึง "ทำได้ยาก" จริงๆ(ยกเว้นผู้มีบารมีแท้) แต่นั่นแหละ "แม้ยากก็ต้องทำ" เพราะสังคม "ทุนนิยม" นั้นมันทุกข์ มันย่ำแย่ลงทุกวันๆ ดังที่เห็นได้อยู่ตำตาตำใจอยู่แท้ๆในโลก มันไม่มีทางเลือก ต้องสร้างสังคมให้มีคุณลักษณะที่สมบูรณด้วย "บุญนิยม" ขึ้นมาให้แก่โลกให้ได จึงจะช่วยโลกได้

เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงมีคำถามขึ้นมาตรงกันว่า "แล้วมันจะเป็นไปได้หรือ? "

จึงมาถึงข้อที่ ๔ ที่ขอรับรองว่า "เป็นไปได้" ไม่ใช่ฝันเฟื่อง

และความเป็นไปได้นี้ ก็มีกลุ่มมนุษย์ที่พิสูจน์ความจริงยืนยันด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ ได้ศึกษาและปฏิบัติพัฒนามาเกือบ ๓๐ ปี แล้ว แม้จะยังไม่ดีสมบูรณ์แบบ ตามที่ได้นิยามไว้ หรือตามอุดมการณ์สูงสุด แต่ก็พอมีรูปมีร่าง มีลักษณะ ของความเป็น "บุญนิยม" ให้ดูพอได้

กลุ่มคนที่ "ทวนกระแส" สังคม และสามารถยังยืนหยัดอยู่ได้เป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว อีกทั้งแน่ใจว่า เข้าเขต "โลกุตระ" ได้ จริง ทั้งๆที่ "ทำได้ยาก" สุดยากนั้น ก็คือ กลุ่มชุมชนชาวอโศก นี่เอง ที่พิสูจน์จนปรากฏยืนยันความเป็นไปได้

ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างมาก ที่ต้องยกอ้างเอาเรื่องของตนเอง กลุ่มหมู่ของตนเอง มาเป็นตัวอย่าง เพราะความเป็น "บุญนิยม" ที่ว่านี้ ยังไม่เห็นมีจากที่ไหนใดอื่น ที่พอจะเป็นรูปเป็นร่างให้นำมายกอ้างอิงได้

ดังนั้น หากจะมีใครรู้สึกไม่ดีกับการอวดตัวอวดตนแบบนี้ ก็ต้องจำยอมให้รู้สึก และให้ตำหนิติเตียนได้โดยดุษณี เพราะไม่ สามารถจะหลีกเลี่ยงกรรมอันสุดจำนน จึงขออภัยเป็นอย่างมากที่ต้องทำอย่างนี้

"บุญนิยม" ตามนิยามที่ว่านั้น ก็น่าแปลกประหลาด ที่มันเป็นไปได้ ทั้งๆที่มัน "ทวนกระแส" กันเปรี้ยงๆกับ "ทุนนิยม" เช่น กระบวนการทางสังคมของชาว "ทุนนิยม" ซึ่งมีแนวคิดอันเป็นคตินิยมทั่วไปคือ "กำไร" นั้นหมายถึง "ส่วนที่เกินทุน" ขึ้นไป ใครสามารถทำให้เกินได้มากยิ่งเท่าใดๆ ก็ยิ่งยินดีปรีดา ยิ่งเชิดชูยกย่องกัน ถือว่าเป็นความสำเร็จ อันสุจริตยุติธรรมที่มนุษย์พึงได้ พึงพากเพียร ทำให้ได้ยิ่งๆ ดังนี้เป็นต้น

ซึ่งชาว "บุญนิยม" กลับเห็นว่า คตินิยมของบรรดาชาว "ทุนนิยม" ที่มีแนวคิดดังกล่าวนั้น เป็นการ "ขาดทุน" อย่างเป็นสัจจะต่างหาก

เพราะมันยังไม่สุจริตแท้ มันยังไม่ยุติธรรมจริง

มันยังไม่ถูกตรงเป็นความดีงามหรือเป็นประโยชน์ทั้ง "แก่ตน" (ตรงตามปรมัตถะ)ทั้ง "แก่ผู้อื่น" เลย ดังที่เคยได้อธิบายแจกแจงผ่านมาแล้ว

ไม่เป็นคุณธรรมหรือไม่ใช่ความประเสริฐของมนุษย์ แต่อย่างใดตรงไหน ตรงกันข้ามมันกลับเป็นความไร้คุณค่าทั้งแก่ตน และแก่ท่านด้วยซ้ำ

กระบวนการทางสังคมที่ชื่อว่า "ทุนนิยม" นี้ เป็นวิธีคิดของคนผู้ฉลาด(เฉก) ที่ได้วางกำหนดกฎเกณฑ์ อย่างมีเชิงชั้นการเอาเปรียบให้แก่ตน แก่พวกของตน ตราไว้ในสังคมทุนนิยมมานาน [การเอาเปรียบย่อมมิใช่ความดีงามแน่ๆ]

เป็นระบบที่คนผู้ฉลาดจะเอาเปรียบได้มากยิ่งขึ้นๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นับวันอัตราการเอาเปรียบยิ่งถูกผู้ฉลาดที่ยึดอำนาจ ในการกำหนดอัตราเองได้ จะกำหนดอัตราการเอาเปรียบให้ถ่างสูง ห่างกัน เป็นการได้เปรียบทับทวียิ่งๆขึ้น

เป็นระบบที่ไม่เหลือความเกื้อกูล
เป็นระบบที่ไม่สร้างความเอื้อเฟื้อเจือจาน
เป็นระบบที่ปลาใหญ่ไล่ล่ากินปลาเล็กตลอดกาล
เป็นระบบที่ทำให้คนไม่มีประโยชน์ต่อใครผู้ใดเลย
เป็นความหลงผิดที่พาให้ยิ่งเพิ่มการเห็นแก่ได้
เป็นการสั่งสมความเห็นแก่ตัวลงฝังลึกใส่จิตใจ หนาหนักยิ่งขึ้นๆ
เป็นการหลงผิด ที่ไม่ฉุกคิดกันมานานเหลือเกิน
มันเป็นคตินิยมที่ ฉ้อฉล มานานสุดแสนนานแล้ว

ซึ่งชาวอโศกได้เห็นความ "ฉ้อฉล" นี้ จึงพยายามศึกษาฝึกฝนปฏิบัติให้ "เป็นสัจธรรม" กระทั่งสามารถพิสูจน์จนเกิดระบบ "บุญนิยม" เกิดกระบวนการทางสังคมที่ลดการเอาเปรียบ มีการเสียสละที่ถูกต้อง สอดคล้องกับสัจธรรมมากขึ้นๆ ถึงขั้นเป็น "อาชีพทำงานฟรี" ก็มีได้

กล่าวคือ ผู้ทำงานอาชีพเหล่านั้นไม่รับค่าตอบแทนใดๆเป็นรายได้ ไม่ว่าในรูปแบบใดทั้งสิ้น และทำกันอย่างเป็นเรื่องเป็น ราวเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่ทำกันเล่นๆชั่วครั้งชั่วคราว แต่ทำกันจริงจังเป็นระบบของการดำเนินชีวิต เป็น "อาชีพ" ที่เลี้ยงชีพยังชีพ อยู่ในสังคมกันทีเดียว ซึ่ง "เป็นไปได้" อย่างไม่น่าเชื่อ

ชาวอโศกได้พิสูจน์ว่า "เป็นไปได้" ถึงขนาดเกิดกระบวนการทางสังคม เป็นหมู่กลุ่มชุมชนที่ไม่มีอบายมุข แม้แต่คนสูบบุหรี่ คนดื่มเหล้า ก็ไม่มีเลยสักคนเดียวในชุมชน ที่เป็นหมู่บ้านคนบุญนิยม

คนไม่ต้องโลภมาก จนต้องแย่งชิงคดโกงอำมหิต สังคมชาวอโศก ก็สามารถรวมกันอยู่ อย่างเป็นชุมชนกลุ่มหมู่ ที่มีวัฒนธรรมแบบ "สาธารณโภคี" หมายความว่า คนในชุมชนทั้งชุมชนทุกคน ล้วนช่วยกันทำกินทำใช้ "เป็นส่วนกลาง" หรือแบบสาธารณะ ต่างทำงานมุ่งฝึกฝนตน ตัดกิเลส ลดความเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว ตั้งใจพยายามเสียสละ คนในชุมชนทำงานฟรี รายได้เข้าส่วนกลาง ไม่มีใครรับรายได้จากส่วนกลาง ไม่มีใครสะสมทรัพย์สิน "เป็นส่วนตัว" เพื่อร่ำเพื่อรวยเลย หากจะรวย ก็เป็น "ส่วนกลาง" นั่นเองรวย ส่วนตัวจะไม่มีใครรวย

"ความเป็นไปได้" ตามนัยอย่างนี้ จึงเป็น "นวัตกรรม" (innovation)ทางสังคม ที่น่าจะได้ศึกษาพัฒนากันอย่างยิ่ง

[มีต่อฉบับหน้า]


 
อ่านฉบับที่ ๑๒๙   อ่านฉบับที่ ๑๓๑

( เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๒ - ๑๕ )