บ้านป่านาดอย... โดยจำลอง
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 128 เดือนมีนาคม 2544
หน้า 1/1

ไกลจากกรุงไปทางตะวันตก ๑๕๐ กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีทั้งไร่ ทั้งนา ทั้งป่า ทั้งเขา สะท้อน ให้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่ ในบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี

ใบไม้ร่วงเอาร่วงเอา ฤดูหนาวกำลังจะผ่านไป ฤดูร้อนเริ่มเข้ามาแทนที่ ความแห้งแล้งทวีมากขึ้นมากขึ้น น้ำในบ่อเหลือน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง จะมีพอรด้นไม้ไปจนถึงฝนแรกไหนหนอ

ยังโชคดีที่มีบ่อซึ่งท้งไร่ท้องนาอีกหลายแห่งไม่มี หรือมีก็มีแต่บ่อญี่ปุ่นชื่อ "ยาซาว่า" ที่ขุดไว้ไม่ได้ตั้งใจ จะกักเก็บน้ำ ต้องการผลาญเงินให้หมดไปกับการโกงกิน โดยไม่เฉลียวใจว่าเงิน ๕ หมื่น ล้านบาท ที่เอามาถลุงกันนั้นกู้เขามาทั้งสิ้น สร้างหนี้สินไว้ให้ตัวเองและลูกหลาน ถึงเวลาก็ต้องหาเงินไปส่งดอก

บ่อไทยบ่อมีน้ำ บ่อญี่ปุ่นบ่มีน้ำ ต่างกันตรงนี้

บ้านป่าถูกซ้ำเติมให้แล้งหนักยิ่งขึ้นด้วยไฟป่า บางคืนไฟไหม้บนดอยรอบทิศ จนไม่รู้ว่า จะดับตรงไหนก่อนดีที่เคย เรียนกันมาแต่เล็กแต่น้อยว่าไม่ขัดสีกัน ทำให้ไฟไหม้ป่านั้น เลิกหลอกกันได้แล้วเดี๋ยวนี้ไฟป่า เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น

จุดไฟเพราะต้องการไล่สัตว์ป่า จุดจากบนดอยแล้วไปเตรียมเอาปืนส่องอยู่ข้างล่าง บ้างก็จุดเพราะอยากให้ผักหวานป่าแตกใบมากๆ แตกเร็วๆ บ้างก็จุดเพราะมือบอน สนุกที่จะเห็นไฟลุกสว่างไสวยามค่ำคืนราวกับมีงานเฉลิมฉลองเทศกาลในกรุง

เป็นความล้าหลังของคนไทย เมื่อไร จะเลิกเผาป่ากันเสียที รัฐบาลใหม่ คิดใหม่ทำใหม่ จะช่วยได้ไหมหนอ

หลายคนประชดกรมป่าไม้โดยเรียกเสียใหม่ว่า "กรมตอไม้" เฝ้ารักษาป่ายังไง จนเหลือแต่ตอ เดี๋ยวนี้ตอก็ไม่เหลือ ชาวบ้านหมดทางทำมาหากิน หันมาหาอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาคือ "ทำตอ" ขุดตอ ไปทำโต๊ะทำเก้าอี้ขาย

เมืองกาญจน์เริ่มหาตอให้ลูกหลานดูได้ยาก ที่สี่แยกไฟแดงในตัวเมือง เดิมมีตอเทียมเป็นอนุสรณ์ ที่ช่วยกันตัดไม่ ทำลายป่าในอดีต เกิดมีผู้หวังดีเอากระถางต้นไม้ไปตั้งทับตั้งบังไว้หมด

เดี๋ยวนี้ใครที่ออกไปบ้านนอกบ่อยๆ คงจะสังเกตเห็นถนนบางแห่งมีโรคพืชระบาด ถ้าเมื่อไรระบาด เข้ากรุงละก็สวยกันใหญ่เลย ผมเรียกเอาเองว่าโรค "โคนขาว"

เริ่มก่อตัวที่สุพรรณแล้วระบาดไปรอบๆ เวลาไปสุพรรณคนอ่านหนังสือไม่ออก ก็รู้ว่าถึงแล้ว ต้นไม้ ริมทางทาสีขาวที่โคนขาวโพลนไปหมด แถมซื้อไม้อย่างดีไปตี ล้อมคอกไว้ทุกต้น ใครไม่เคยซื้อไม้ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ไม้แพงราวกับทอง สีที่อุตริไปทาต้นไม้ ทาไม่นานเท่าไรก็ซีดต้องทาใหม่ เป็นเงินทั้งนั้น ทำเหมือนเมืองเศรษฐี ทั้งๆ ที่คนสุพรรณจำนวนไม่น้อย ข้าวสาร แทบไม่มีกรอกหม้อ

ทฤษฎีง่ายๆของการโกงกินก็คือ ยิ่งใช้เงินหลวงมากเท่าไรก็เข้ากระเป๋ามากเท่านั้น ค่าวิ่งเต้นดึงเงิน งบประมาณ ไปผลาญกำหนดเป็นร้อยละเท่านั้นเท่านี้ยังไม่พอ นักการเมืองผู้มีอิทธิพล ยังตั้งบริษัท รับเหมากวาดงานไปหมด เอากำไรมโหฬารอีกต่อหนึ่ง

คราวที่แล้ว ป้ายหาเสียงของผู้สมัคร คนหนึ่งประกาศอย่างทระนงองอาจว่า ถ้าเลือกเขาเข้าไป จะทำเมืองกาญจน์ ให้เหมือนเมืองสุพรรณ โชคดีที่ไม่ได้

เรื่องโรคโคนขาว ผมโทรศัพท์ ถามผู้หญิงเก่งของเมืองกาญจน์ ที่ต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลมากมาย

"คุณภินันท์ครับ รู้ไหมใครเอาสีไปทาโคนต้นไม้ริมถนน"

"กรมทางค่ะ เขาบอกว่าทาเพื่อไม่ให้รถชน"

"ถ้าทาเสาไฟฟ้ายังไม่เท่าไรเพราะเป็นปูน นี่ต้นไม้ธรรมชาติสวยๆ เลอะไปหมด น่าคิดครับ มีแต่ข่าวรถชนเสาไฟฟ้า ที่ชนต้นไม้ไม่ใคร่มี ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เสียภาษีคงต้องหา โอกาสคุยกับผู้ใหญ่กรมทาง"

พวกเราหลายคนถึงเดือนกุมภาฯทีไร ไม่สบายใจทีนั้น มีวันสำคัญของไทยและ ฝรั่งประชันกัน วันมาฆบูชาเงียบเชียบ วันวาเลนไทน์คึกคัก สื่อมวลชน(ไทย) ตีฆ้องร้องป่าว ช่วยโฆษณา ล่วงหน้าก่อนหลายวัน มีข่าวพิลึกกึกกือ มีภาพช้าง เจ้าบ่าวกับช้างเจ้าสาวกำลังผสมพันธุ์กัน แย่จริงๆคนไทยทำไมเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ อย่างนี้ถ้าไม่กลัวว่าชาติหน้า ต้องเกิดมาเป็นคนไทยอีกแล้ว จะกลัวอะไร

สถานสงเคราะห์สัตว์ในชื่อใหม่ว่า สวนสัตว์เลี้ยง จะบ้าตามเขาไปด้วยคงหา เงินในวัน วาเลนไทม์ ไม่ยากจับหมามาติดเก้ง เป็นพันคู่ให้ดู จะดังระเบิดไปทั่วโลก เพราะไม่มีที่ไหน มีหมามากเท่าเรา

ถ้าถามใครคงไม่มีใครรู้วาวันวาเลนไทน์ เข้ามาเมืองไทยเมื่อไร เมื่อสามสิบปีก่อนโน้น ตอนผมเรียน อยู่เมืองนอก พอถึงวันที่ ๑๔ กุมภา เขาฉลองกันครึกโครม พวกเรานักเรียนไทยเฉยๆ ผมไม่เห็นต้อง ซื้อดอกกุหลาบแดงให้คุณศิริลักษณ์

เพื่อช่วยกันกอบบ้านกู้เมือง กำลังมี การเรียกร้องให้กินของไทยใช้ของไทย ถ้าตราบใด ยังฝรั่งขึ้น สมองรณรงค์ให้ตาย ก็ไม่สำเร็จ

เรื่องเก่าที่หลายคนลืมไปแล้ว ผมเกี่ยวข้องนิดๆ ที่เป็นทหารผ่านศึก ผ่านทั้งสงครามลาวและเวียดนาม วันทหารผ่านศึกเราเคยชักชวนกันให้ใช้ดอกต้อยติ่ง เป็นสัญลักษณ์ ทหารย่ำไปสมรภูมิไหน ก็ได้เจ้าดอกไม้นั้นเป็นเพื่อน จนมีเพลงบรรยายถึงดอกไม้กับทหารผ่านศึกตอนหนึ่งว่า

"ต้อยติ่งมิ่งมิตร ใครเลยจะลืมเจ้าได้"

ตอนนี้เขาลืมไปหมดแล้ว สู้ดอกป๊อปปี้ไม่ไหว

ความเป็นไทยของเราพ่ายแพ้ไปหมดทุกสมรภูมิ แม้สมรภูมิเลือกตั้ง คราวที่แล้วเราถูกเลขฝรั่ง ขึ้นมาเบียดแต่ไหนแต่ไรมา บัตรลงคะแนนเราใช้เลขไทยหมด แล้วเราก็ยอมจำนน เลขของ ผู้สมัคร ส.ส.ใช้เลขไทยปนฝรั่ง เราตกเป็นเมืองขึ้นของเขาจริงๆ ด้วยความยินยอมพร้อมใจ

บาทเป็นเงินไทย ดอลลาร์เป็นเงินฝรั่งอเมริกัน อักษรไทย บอใบไม้แทนคำว่าบาท อักษรฝรั่ง ตัวเอสมี๒ขีดตรงกลาง แทนคำว่าดอลลาร์ เพื่อแสดงความเป็นเมืองขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ตอนนี้เริ่มใช้กันแพร่หลายตามบริษัท ห้างร้าน (ไทย) สถานีบริการน้ำมัน (ไทย) หนังสือพิมพ์ (ไทย) ใช้ตัวอักษรบีมีขีดตรงกลางแทนบอ

ของเขามีที่มา ตอนอยู่เมืองนอกเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งอธิบายให้ฟังว่า เครื่องหมายดอลลาร์ มาจากตัวอักษรยูเอสซึ่งเป็นอักษรย่อชื่อประเทศ สหรัฐอเมริกา เขียนเร็วๆ เข้าตัวยูไปทับตัวเอส แล้วส่วนล่างของยูหายไป กลายเป็นตัวเอสมี ๒ ขีดทับ

ของเราก็มีที่มาเหมือนกัน บาทไทยเป็นข้าดอลลาร์ฝรั่งไงล่ะเลยต้องใช้บีแทนบอ

คงจะต้องเสนอไปสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ไทย) ว่าการรณรงค์ให้ใช้ของไทย กินของไทย เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เรื่องเดียวก่อนก็ได้ เดี๋ยวนี้มีคนไทยสักกี่คนที่ใช้เลขไทย แม้กระทั่งข้าราชการของสำนักงานดังกล่าว ทายได้เลยว่าไม่มีหรือเกือบไม่มี

ที่สถาบันฝึกอบรมผู้นำ มีผู้จัดการธนาคารสาขาของธนาคาร ธกส. และธนาคารออมสินไปเรียน เป็นประจำผมเคยถามในชั้นว่า ถ้าจะเขียนเลขไทยลงในใบถอนเงินธนาคารจะได้ไหม เขายืนยันว่าได้ แล้วทำไมเราไม่ทำ เราคือผมด้วย เขียนเลขไทยเสมอยกเว้นตอนถอนเงิน กลัวเขาไม่จ่าย ต่อไปนี้ ต้องกล้าที่จะเขียนเลขไทยถอนเงินธนาคารไทย

เรื่องปล่อยไม่ได้วางไม่ได้กับการสูญเสียความเป็นไทยคงจะต้องคุยกันต่ออีกยาว เรื่องนี้ท่านผู้อ่าน คิดอะไรบอกให้ทราบบ้างก็ดีครับ เขียนถึงคนบ้านนอก ชื่อจำลอง ที่อยู่ สถาบันฝึกอบรมผู้นำ กาญจนบุรีประเทศไทย

โรงเรียนผู้นำ นักเรียน(อายุ ๒๕ ถึง ๕๕)มีเยอะ ครูมีน้อย นี่เรากำลังจะขาด ไปอีกคนหนึ่งแล้ว อาจารย์ปุระชัยสอนมานาน ก่อนที่จะเป็นเลขาธิการพรรค นักเรียนไม่รู้เพราะเราไม่บอก ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าเป็นโรงเรียนผู้นำการเมือง มีคนตอบคำถามแทนในหนังสือพิมพ์ ฉบับหนึ่งว่าเราไม่ได้สอนการเมือง เราสอนความเป็นผู้นำ (ที่ดี) แล้วใครจะเอาความรู้ ไปเป็นผู้นำการเมืองก็ได้

อยู่มาวันนี้อาจารย์ต้องไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย งานใหญ่งานยุ่งคงไม่มี เวลาไปสอนนักเรียนแน่ ผมทำนายทายทักไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ท่านต้องเป็นแน่ จึงเชิญท่านไปสอน ครั้งล่าสุดก่อนรับตำแหน่งไม่กี่วัน

รัฐมนตรีปุระชัย จบโรงเรียนเตรียมทหารก่อนท่านนายกรัฐมนตรี ๑ รุ่น ได้รับรางวัล "จักรดาว" ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนพร้อมๆ กับ นายกฯ และรองเลขาธิการนายกฯ (พลโทปรีชา วรรณรัตน์)ตอนอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการคัดเลือกเป็นหัวหน้านักเรียน ปกครอง บังคับบัญชานักเรียนกันเอง สอบได้ที่ ๑

จบใหม่ๆ เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ยศหลังสุดเป็นร้อยตำรวจเอกได้ทุนไปเรียนเมืองนอก จบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาย้ายไปรับราชการเป็น อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์(มหาวิทยาลัยที่สอนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก) ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดี ๒สมัย

ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (ผมเรียกเต็มยศ)เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ที่มีประวัติการเรียนและการทำงานดีเยี่ยม เป็นโชคดีของกระทรวง และของชาวบ้าน

หลายปีมาแล้วผมเชิญท่านและอาจารย์สมศรีภรรยา (ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์) ให้เดินทางไปดูงาน "โรงเรียนชาวนาคานาอาน" โรงเรียนผู้นำของเกาหลีใต้ ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่างเหมือนของเราโดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้เอาอย่างกัน ท่านยังผลัดกันไปคนละปี คนหนึ่งไป อีกคนหนึ่งเลี้ยงลูก

ท่านถือครอบครัวเป็นสำคัญประเทศชาติจะดีได้ต้องเริ่มที่ครอบครัว ตอนที่ลูกไปเรียนเมืองนอก สองคนสามีภรรยาหารือกัน อาจารย์สมศรีลาออกจาก ราชการไปอยู่เป็นเพื่อนลูก ซึ่งเวลานั้น อาจารย์สมศรีกำลังจะได้เลื่อนขั้นอยู่พอดี ก็สละตำแหน่ง เรื่องนี้ผมชมอาจารย์ทั้งสองอยู่เสมอว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง พ่อแม่ที่เอาแต่งานเอาแต่ยศตำแหน่งแล้ว ลูกไม่ดีจะเสียใจไปตลอดชีวิต ไม่คุ้มกันเลย

อาจารย์ปุระชัยไม่ได้ปรารถนาจะเป็นรัฐมนตรีเหมือนนักการเมืองอีกหลายๆ คน ท่านอยากจะเป็น ครูมากกว่า พูดคุยแต่เรื่องการเป็นครูบาอาจารย์ ไม่เคยเอ่ยเรื่องรัฐมนตรีเลย เมื่อเร็วๆ นี้ยังยืนยัน กับผมและคณะครูโรงเรียนผู้นำว่า ถ้าท่านเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัยชินวัตร ซึ่งกำลังก่อสร้าง อยู่ที่ปทุมธานี ท่านคิดใหม่ทำใหม่ จะเสนอว่า นิสิตนักศึกษาทุกคนก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องไปกินไปนอนที่โรงเรียนผู้นำ ๑ เดือน เพื่อซึมซับหลายสิ่ง หลายอย่าง ให้ดีพอที่จะเป็นนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่ทันสมัย

ในห้องเรียน อาจารย์ปุระชัยจะเริ่มตั้งแต่เรื่องไกลตัว เรื่องนอกโลก เรื่องจักรวาลแล้วโยงเขาหาหัวข้อ "จริยธรรมกับนักบริหาร"

ท่านเล่าให้พวกเราคณะครูฟังในโต๊ะอาหาร ถึงความอึดอัดขัดเคืองเวลาไปติดต่อหน่วยราชการ ชี้ให้เห็นว่าขนาดอาจารย์เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังลำบาก เดือดร้อนรำคาญใจ แล้วชาวบ้าน จะทุกข์ขนาดไหน

อาจารย์ปุระชัยเน้นกับนักเรียนว่า การบริการประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยยกตัวอย่างพนักงาน นำเที่ยวสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ของสหรัฐอเมริกา ต้องพา นักท่องเที่ยวชมที่ซ้ำๆ กัน พูดซ้ำๆ กัน นับเป็นพันๆครั้งก็ไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ มีความรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มแรกที่เจอพนักงานคนนั้น

อาจารย์ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนในแวดวงทหารตำรวจ นักวิชาการและข้าราชการ เหมาะสม อย่างยิ่งที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ครบวาระเมื่อไรอาจารย์ปุระชัยคงกลับไปสอนไปนอนค้างที่โรงเรียนผู้นำ บ้านป่านาดอยเหมือนเดิม

โชคดีครับ อาจารย์

     

บ้านป่า นาดอย โดยจำลอง (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๘ มีนาคม ๒๕๔๔ หน้า ๗)