เราคิดอะไร.

นัยปก จนอย่างมีศักดิ์ศรีของไทย ดีกว่ารวยแต่ไร้ศักดิ์ศรีของไทย


ถ้าคิดให้ลึกๆ ก็จะรู้สึกว่าแปลกกับพระราชดำรัสของในหลวงที่ตรัสเกี่ยวกับข้าวกล้องไว้ว่า "ใครๆว่าข้าวกล้องเป็นของคนจน เรานี่แหละคนจน
เพราะเรากินข้าวกล้องทุกวัน"
   

ในหลวงของเราจนอย่างไร? จากคำบอกกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าถึงพระจริยวัตร ซึ่งเป็นแบบอย่างอันดีงาม ของการดำรงชีวิต อย่างประหยัดเอาไว้ อย่างน่าประทับใจ ในหลายเรื่องด้วยกันว่า อันดับแรก เรื่อง "ฉลองพระองค์" จากคำกล่าวเล่า ของราชบริพารท่านหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ฉลองพระองค์ ชุดเดิม และฉลองพระบาทคู่เดิม มาเป็นเวลา นานหลายปี อาจจะเรียกได้ว่า ตลอดระยะเวลา ที่ทรงครองราชย์ก็ว่าได้ นอกจากนี้ เรายังสังเกตเห็นได้ อย่างชัดเจนว่า ทรงโปรดฉลองพระองค์ ที่เป็นผ้าไทย และเครื่องใช้ ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย มากเสียยิ่งกว่า สิ่งของหรูหรา ที่มีตราประดับยี่ห้อดัง สั่งตรงมาจากเมืองนอก เป็นไหนๆ

อันดับสอง "หลอดยาสีพระทนต์" ซึ่งเรื่องนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนเล่าว่า ได้กราบพระบาท ทูลขอพระราชทาน หลอดยา สีพระทนต์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงใช้ อย่างประหยัดยิ่ง หลอดยาสีพระทนต์เปล่า ของพระองค์นั้น พระองค์ทรงใช้จนแบน ราบเรียบโดยตลอด คล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะ บริเวณ คอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไป จนถึงเกลียว คอหลอด ซึ่งได้รับคำอธิบาย จากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ ที่เห็นแบนเรียบนั้น เป็นผลมาจาก การใช้ ด้ามแปรง สีพระทนต์ช่วยรีด และกดเป็นรอยบุ๋ม อย่างที่เห็นนั่นเอง

หรือจะเป็นเรื่อง "ดินสอไม้ในพระหัตถ์" ก็ เช่นกัน ในทุกครั้ง ที่พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินไป ทรงงานในพื้นที่ต่างๆ แทบทุกภูมิภาค ของประเทศ สิ่งหนึ่ง ที่จะทรงใช้ จดบันทึกข้อมูล อยู่ตลอดก็คือ ดินสอไม้ ซึ่งเหตุผล ที่พระองค์ทรงใช้ ดินสอไม้ราคาเยา ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงอยู่ในฐานะ ที่สามารถใช้ดินสอ หรือปากกา ราคาแพง ได้อย่างมิต้องกังวล ก็คือทรงเห็นว่า การใช้ดินสอ เมื่อเขียนผิด จะสามารถ ลบออกได้ อย่างง่ายดาย ไม่เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน หากใช้ปากกา เมื่อเขียนผิด จะลบออกก็ไม่ได้ แถมยังสิ้นเปลือง กระดาษ แผ่นใหม่ ที่จะต้องนำมาใช้แทนอีก ทั้งๆ ที่งานที่เราต้องการ ก็เพียงแค่ชิ้นเดียว หรือ แผ่นเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ในเรื่อง "เครื่องประดับ" พระองค์ก็มิทรงโปรด ที่จะสวมใส่สักชิ้น นอกเสียจากว่า จะทรงแต่งองค์ เพื่อเสด็จไป ในงานพระราชพิธีต่างๆ หรือต้อนรับ แขกบ้าน แขกเมืองเท่านั้น

ขณะเดียวกันที่ "ห้องทรงงาน" ของพระองค์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่เตือนสติ คนไทยได้ อย่างมาก โต๊ะทรงงาน หรือเก้าอี้โยก รูปทรงหรูหรา ไม่เคยมีปรากฏ ในห้องนี้ ดังพระราชดำรัส ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งที่ว่า "....สำนักงานของท่าน คือห้องกว้างๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น และท่านก็ก้มทรงงาน อยู่กับพื้น..." นั่นเอง นับเป็นแบบอย่าง ของความพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อโดยแท้

หรือแม้แต่ "สบู่" ที่ตามปกติ หากเราใช้ จนเหลือก้อนเล็กแล้ว มักจะทิ้ง แต่พระองค์ ไม่ทำเช่นนั้น ข้าราชบริพารในวัง เล่าให้ ฟังอีกเช่นกันว่า สบู่ที่ทรงใช้จนเหลือก้อนเล็ก จะไม่ทรงทิ้งสักครา ทรงนำไปปะติด กับก้อนใหญ่อีกที และจะทรงทำ เช่นนี้ทุกครั้ง (จาก...ศิริรัตน์ สาโพธิ์สิงห์ น.ส.พ.เดลินิวส์ วันพุธที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔)

ถ้าเปรียบประเทศไทย ดั่งครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ที่มีพ่อพยายามอดออม กระเหม็ด กระแหม่ เพื่อจะได้ทุ่มโถม ให้ครอบครัวใหญ่แห่งนี้ อยู่กินกันอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ของความเป็นไทย แต่มันจะน่าเศร้า สักเพียงใดที่ลูกๆ นอกจาก จะไม่ได้ เจริญรอยตามแล้ว ยังพากันทำ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่าง "จนแล้วไม่เจียม เจ็บแล้วไม่จำ" (ตามสำนวนสกู๊ปหน้า ๑ ของ น.ส.พ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๘ ก.ค. ๔๔) ที่ระบุไว้ว่า คนไทยประเภทรายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูง สั่งเหล้านอก เข้ามากระเดือกกัน เป็นมูลค่ากว่า หนึ่งพันล้านบาทต่อเดือน (เฉพาะเดือนกันยายน ปีที่แล้ว) กระทรวง การคลัง มีสถิตินำเข้า สินค้าฟุ่มเฟือย จากเมืองนอก คิดเป็นมูลค่าถึง ๕๒.๕๓ ล้านเหรียญ สหรัฐ (สองพันกว่าล้านบาท) แม้ในปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจยอบแยบ แต่สถิติที่คนไทย สั่งซื้อ รถใหม่ มาขับกัน เฉลี่ยตกวันละถึง ๔๘๑ คัน (ในปี ๒๕๔๔ ช่วง ๖ เดือนแรก)

และสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ เด็กรุ่นใหม่ ตั้งแต่ระดับมัธยมต้นๆ จนถึงมหาวิทยาลัย ก็พากัน ขายตัว แบบผู้ใหญ่ๆ เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ อย่างร่ำรวย แบบผู้ใหญ่ๆ สามารถ มีสิ่งของ ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เอามาใช้กัน แบบผู้ใหญ่ๆ โดยไม่คิดคำนึงถึงว่า ที่มาของ เงินตรา เหล่านั้น จะไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ๆ ที่ไม่มี สิ่งใดน่าภาคภูมิใจ ในความเป็นไทยเลย

‘จริงจัง ตามพ่อ‘

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)