เราคิดอะไร.

ชีวิตนี้มีปัญหา (๑) สมณะโพธิรักษ์


"มิจฉาชีพ"หรือ"มิจฉาอาชีวะ"ขั้นที่ ๒ แม้ไม่หยาบถึงขั้น"กุหนา" แต่ก็ยังมี"พูดหลอกๆลวงๆ พูดมีเล่ห์" (ลปนา) ยังมีอาชีพ ไม่บริสุทธิ์สะอาดตามเชิงฉลาดที่ตนยังมีกิเลส ยังเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว เห็นแก่พวก เมื่อยังไม่ได้เรียนรู้ และพากเพียร ละล้างกิเลสให้ได้อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" ก็ต้องมีลักษณะของ "ลปนา" นี้อยู่แน่ ต่อให้ขยันหมั่นเพียร ปานใดก็ตาม ยิ่งฉลาด ก็ยิ่งจะพูด มีเล่ห์ลึกซึ้ง ผู้คนก็ยิ่งหลงคารม ก็ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งทำอาชีพได้บาป

อย่างอาชีพที่คนทำๆกันอยู่เต็มสังคมทุกวันนี้ ถ้าเข้าใจในสัจธรรมแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า อาชีพที่ทำกันอยู่ ในสังคม ล้วนเป็น "มิจฉาชีพ" กันแทบทั้งนั้น หากเอา "มิจฉาชีพ ๕" ของพระพุทธเจ้า มาเป็นหลัก ซึ่งเกือบจะหาอาชีพ ที่เรียกว่า "สัมมาอาชีพ" กันไม่ได้เลย เพราะความไม่สุจริตแค่ "ลปนา" อันหมายถึง คนที่ยังไม่สุจริต ทางคำพูด ก็จะโกหกบ้าง พูดหลอกบ้าง พูดมีเล่ห์บ้าง พูดใช้คารม ที่จะได้เปรียบ ด้วยความฉลาดบ้าง ซึ่งกิเลสภายในจิต มันมีความโลภ ความเห็นแก่ตัวนั่นเอง บงการบังคับ ให้คนต้องมี "ลปนา" (คำพูด) ที่ทุจริตเพื่อให้บำเรอความโลภ ความเห็นแก่ตัว ของตน อาชีพที่คนต้องมี "ลปนา" นี้แหละคือ "มิจฉาชีพ" ระดับที่ ๒ ซึ่งหากสำรวจคน ในสังคมทุกวันนี้ จะเข้าข่ายมี "ลปนา" ไม่มากก็น้อย กันอยู่แทบทั้งสิ้น

อาชีพขั้นที่ ๑ "กุหนา" และขั้นที่ ๒ "ลปนา" นี้ เป็นอาชีพที่ยังมี "บาป" มากกว่า "บุญ" ดังนั้น ชีวิตของคน ที่ยังมีอาชีพไม่พ้น "มิจฉาชีพ" ๒ ขั้นนี้ จึงตายไปตกนรกแน่นอน เพราะทำบาป มากกว่าบุญ

"มิจฉาชีพ" หรือ "มิจฉาอาชีวะ" ขั้นที่ ๓ ที่สูงขึ้นมากกว่านั้นหน่อย ตามศัพท์ว่า "เนมิตตกตา" คือ ไม่โกง ไม่หลอกๆลวงๆ กันชัดๆ หยาบๆ หรอก แต่มีเชิงซ่อน เชิงซ้อน ที่กิเลสความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว มันทำงานด้วยความฉลาด อันยังหลงผิด (โมหะ) ยังอวิชชาอยู่ จึงยังเป็นสภาพ ที่ยังไม่จริง ยังไม่แท้ ซึ่งก็มีความตั้งใจ ทำให้ดี แต่มันยังไม่แน่นอน ยังมีได้มีเสียอยู่ จึงเท่ากับ ยังเป็น "การเสี่ยงโชค ยังต้องเก็ง ยังต้องทำนายอยู่" (เนมิตตกตา) เพราะยังไม่แข็งแรง ปุถุชนที่เป็นอย่างนี้กัน ก็ยังมีอยู่มาก อาชีพขั้นที่ ๓ นี้ ก็ถือว่า เป็นอาชีพ ที่เลวน้อยกว่า ขั้นที่ ๒ ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งมีส่วนที่เป็นบุญ มากขึ้นแล้ว เป็นกึ่งกลาง ระหว่าง "บุญกับบาป" หากคนที่มีสำนึกในทางบุญ และพากเพียร ศึกษาอุตสาหะ ปฏิบัติตน ให้มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นกุศลมากกว่า ชีวิตนี้หลังจากกายแตกตายไป (กายัสสะ เภทา ปรัมมรณา) ก็จะพ้นนรกได้ แต่ถ้าไม่พากเพียร อุตสาหะ อย่างจริงจัง จนมีกุศลวิบาก หรือมีบุญมากกว่าบาปได้จริง ก็ไม่อาจจะพ้นนรกได้

อาชีพระดับ"เนมิตตกตา"นี้ จึงเป็นขั้นที่ยังลูกผี ลูกคน ยังเสี่ยงอยู่ ยังอยู่ระหว่างทำนายได้ยาก ถ้าไม่มี องค์ประกอบ เพียงพอ ที่จะอำนวย ช่วยนำพากัน หรือยัง ไม่มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี (กัลยาณมิตโต กัลยาณสหาโย กัลยาณสัมปวังโก) ช่วยอุ้มชูนำพา หรือยัง
ไม่มี "สัปปายะ ๔" (เสนาสนะ บุคคล อาหาร ธรรมะ) อุดหนุนโดยเฉพาะตนเอง ไม่ใส่ใจศึกษา พากเพียร ด้วยอิทธิบาทอย่างดี และมากพอ ชีวิตทั้งชาติ ก็อาจจะได้บาป มากกว่าบุญแน่ แต่ถ้าพากเพียร อุตสาหะอย่างเพียงพอ ก็สามารถ ได้บุญมากกว่าบาป ฉะนี้แล จึงชื่อว่า "เนมิตตกตา"

"มิจฉาชีพ" หรือ "มิจฉาอาชีวะ" ขั้นที่ ๔ พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า "นิปเปสิกตา" ขั้นนี้ หมายถึง "อาชีพ" ที่มีคุณลักษณะ สูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนลึกซึ้ง เหมือน "การเล่นกล" (นิปเปสิกตา) ที่อยู่กับชาวโลกีย์ โลกีย์เขาไม่บริสุทธิ์ แต่ ถ้าตน บริสุทธิ์แล้ว ตนก็ต้องอยู่กับ คนไม่บริสุทธิ์นั้นๆ ให้ได้ โดยที่คนไม่บริสุทธิ์ เขาจับไม่ได้ไล่ไม่ทันว่า เราไม่เหมือนเขา เราเข้ากับเขา ไม่ได้ ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวเขาเห็นว่า เราดีกว่าเขา เรามีอะไรเหนือกว่าเขา ข่ม เขา แล้วเราจะอยู่ ในหมู่คนไม่ดี ไม่บริสุทธิ์นั้น ยากมาก

หรือถ้าคนบริสุทธิ์นี้ สามารถทำตนให้อยู่ท่ามกลาง กลุ่มคนที่เขาไม่บริสุทธิ์นั้นได้ ชนิดที่คนไม่บริสุทธิ์ เขายอมรับ เขาไม่ถือสา เขายกให้ เขายอมเรา หากได้อย่างนี้ ก็ยิ่งเก่งยอด มันไม่น่าเชื่อ ยิ่งกว่าผู้นั้นเป็น "ยอดมายากล" เสียอีก และขอให้ อยู่ให้ได้ กันไปยาวๆ นานๆเถอะ คนดีที่อยู่ท่ามกลาง กลุ่มคนชั่วนี้ หากใครอยู่ได้อย่างดี จึงยิ่งกว่า "นักเล่นกล" ชั้นยอด ยิ่งขยัน หมั่นเพียร มากเท่าใด ถ้าอยู่ได้อย่างดีด้วย ก็ยิ่งเป็น "นักเล่นกล" ชั้นเซียนยอดเซียน ทีเดียว

แต่ถ้าเป็นปุถุชน หรือเป็นโลกของคนโลกีย์ธรรมดาๆ ที่ขยันหมั่นเพียร ก็ยากที่จะทำตนบริสุทธิ์ จึงต้องมอบตน อยู่ในทางผิด ยังร่วมมือ หรือยังร่วมหัวจมท้าย อยู่กับกลุ่มคนไม่สุจริต ซึ่งเท่ากับว่า ตนก็ยังไม่แยกออก จากกองของเน่า แม้ตนจะไม่ชอบ ไม่เต็มใจ จะร่วมทำชั่วนั้นๆ ปานใดก็ตาม เมื่อสู้กับสังคมเน่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องอยู่ด้วยทำด้วย กับหมู่คนผิด จึงจะอยู่ได้ ก็กลายเป็น คนไม่บริสุทธิ์ไปกับเขา อยู่ตลอดไป

หรือสามารถแข็งขืนไม่ยอมทำบาปกับหมู่เขา โดยส่วนตนนั้นบริสุทธิ์แท้ แต่ตนก็ยังร่วมงาน ร่วมบริษัท ร่วมวงศ์วาน ที่ยัง ไม่บริสุทธิ์นั้นอยู่ แม้ตนจะสะอาด มันก็ยังไม่พ้นสภาพ "ร่วมมือกับโจร" อยู่นั่นเอง ลักษณะเช่นนี้ เจ้าตัวจะอึดอัด ทุกข์ทน เป็นอย่างมาก ที่ต้องระมัดระวัง กรรมกิริยาส่วนตัว ที่จะให้ชื่อว่า "ตนไม่ได้กระทำบาป หรือความผิด" ตามที่หมู่เขาทำกันนั้น ให้ได้ ทั้งด้านความ กดดันของหมู่ ที่ถูกเพื่อนฝูง อาจจะบีบคั้น เยาะเย้ย ถากถาง เสียดสีอะไรต่างๆ และทั้งการทำจิต ทำใจของตน ให้อยู่ได้ อย่างปลอดโปร่ง โล่งสบาย ก็มิใช่ง่าย

สภาวะของคนที่มีธรรมะลึกซึ้งสุดท้าย สำหรับอาชีพ ขั้น "นิปเปสิกตา" นี้ เป็นระดับผู้ที่มีคุณธรรมขั้น "ปฏินิสสัคคะ" (สัจจะ ย้อนสภาพ) ทีเดียว ได้แก่ ผู้ที่ภายในจิต มีธรรมะแข็งแรง มีความสามารถสูงจริง ที่ทำได้ทั้ง "อนุโลมปฏิโลม" หมายความว่า มี "วิธีการอันแยบคาย" (อุบายโกศล) อย่างดี ที่ "สูงสุดคืนสู่สามัญ" ได้อย่างแนบเนียน หรือทำราวกับ "กลับกลอก" แต่จริงๆ แล้วเป็น "สัจจะ" เป็นการ "สลัดคืน" ได้แล้วอย่างเก่ง เพราะตนบริสุทธิ์ ทว่า กรรมภายนอก ดูเหมือน ไม่น่าเชื่อ เหมือนไม่ เหมาะสม ไม่สุจริต ดูเหมือน ไม่สง่างาม จึงดูราวกับ "นักเล่นกล" นั่นเทียว

"นิปเปสิกตา" จึงเป็น"มิจฉาชีพ"ขั้นสูงระดับ ๔ ที่ยากแท้ และคนที่จะพ้น "มิจฉาชีพ" ข้อนี้ให้บริสุทธิ์ได้ ต้องมีคุณธรรม ความสามารถ และความแข็งแกร่งจริง

แต่ถ้าเป็น "มิจฉาชีพ" ของคนชั่วจริงๆ ที่เรียกว่า "นิปเปสิกตา" กันละก็ เป็นระดับซับซ้อน "ตีกลับ" ที่สังคม หลงเชื่อสนิทว่า เป็นยอดอัจฉริยะ กันเลยทีเดียว หรือเรียกว่า จอมโจรบัณฑิต - จอมโจรผู้ดี ซึ่งเป็นการกระทำ ของคนทุจริตแท้ ชนิดยอดเซียน ที่ใช้ "กลโกง" หลอกได้อย่างสนิทเนียน ยิ่งกว่า "นักมายากล" ก็เป็น "มิจฉาชีพ" ที่ร้ายลึกเลวสุด จึงเรียกว่า"นิปเปสิกตา"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)