เราคิดอะไร.

ชาดกทันยุค ณวมพุทธ

จนอย่างเจียม ดีกว่า รวยแต่โลภ
(พรหมทัตตชาดก)
ถึงจน รู้จัก เจียมตัว
อดทน ข่มใจ ไม่ขอ
ไม่เหมือน คนรวย ไม่พอ
บ้าบอ หอบหวง กอบโกย


เมื่อพระศาสดาทรงพักอาศัยอยู่ที่เมืองอาฬวี ณ อัคคาฬวเจดีย์ ได้ตรัสถามขึ้นในหมู่ภิกษุว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายได้ยินมาว่าพวกเธอมากไปด้วยการขอ มากไปด้วยการทำวิญญัติ (ภิกษุขอสิ่งของ กับคฤหัสถ์ ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ที่ปวารณาไว้) อยู่เป็นความจริงหรือ"
"จริง พระเจ้าข้า"
ทรงได้ยินภิกษุหลายรูปตอบเช่นนั้น จึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นว่า
"แม้บัณฑิตทั้งหลายในโบราณกาล มีพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินปวารณา (ยินดีให้กล่าวขอได้) ไว้ก็ตาม บัณฑิตก็ไม่กล่าว ขอท่ามกลางมหาชน เพราะมีความละอาย และเกรงกลัวว่าอาจจะร้าวฉานต่อกัน จึงกล่าวขอ เฉพาะได้ยิน แค่สองคนเท่านั้น"
แล้วทรงเล่าเรื่องในครั้งโบราณนั้น

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตตะครองราชสมบัติ ที่อุตตรปัญจาลนครในกบิลรัฐ ณ ตำบลแห่งหนึ่ง มีชายหนุ่มคนหนึ่ง กำเนิดจาก ตระกูลพราหมณ์ เขาได้ไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะทั้งปวง มาจากเมือง ตักกศิลา สำเร็จการศึกษาแล้ว เบื่อหน่าย ในชีวิตฆราวาส จึงออกบวชเป็นดาบส (ผู้บำเพ็ญตบะเผากิเลส) ผู้มักน้อยสันโดษ เลี้ยงชีพอยู่ด้วย พืชผลไม้ ของป่า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ (ป่าบริเวณภูเขาหิมาลัย) มาช้านาน

ครั้นเมื่อถึงเวลาแห่งการฝึกฝนตน ไม่ให้ติดหลง ในที่พักอาศัย จึงออกจาริก (เดินทาง) ไปยังที่ต่างๆ กระทั่งถึง อุตตรปัญจาลนคร ได้แวะพำนักอยู่ที่ พระราชอุทยานนอกเมือง ของพระเจ้าพรหมทัตตะ

รุ่งเช้า พระดาบสก็ออกภิกขาจาร (เที่ยวบิณฑบาต) เดินเข้าไปในพระนคร จนถึงประตูพระราชวังของพระราชา พอดีกับ พระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็น ทรงบังเกิด จิตเลื่อมใส ในอิริยาบถอันงดงาม ของดาบสนั้น จึงทรงนิมนต์ให้ดาบส นั่งในท้องพระโรง แล้วถวาย อาหาร อันประณีต ทรงนิมนต์ให้ดาบส อยู่ในพระราชอุทยานตลอดไป

ทุกๆ วันพระดาบสจึงได้ไปฉันอาหาร ที่ภายในพระราชมณเทียรเป็นประจำ วันคืนผ่านไป จนกระทั่งหมดฤดูฝนแล้ว พระดาบส บังเกิด ความปรารถนา จะกลับคืนสู่ ป่าหิมพานต์ตามเดิม จึงครุ่นคิดขึ้นมาว่า
"หากเราจะเดินทางไกล รอนแรมสู่ป่าหิมพานต์ ก็น่าที่จะได้รองเท้าบางๆ สักคู่หนึ่ง และร่มใบไม้อีกคัน เราควรทูลขอ กับพระราชา"

วันหนึ่ง...เมื่อพระราชาเสด็จมายังพระราชอุทยาน มีข้าราชบริพารติดตามมากมาย แทนที่ดาบสจะทูลขอบริขาร (เครื่องใช้สอยของนักบวช) กับพระราชา กลับเกิดความคิดว่า
"การกล่าวขอต่อผู้อื่น เสมือนการร้องไห้ต่อผู้อื่น ส่วนผู้อื่นถูกขอแล้วตอบว่า ไม่มี ก็เสมือนการร้องไห้ตอบกลับคืนมา ช่างไม่สมควรเลย เราเป็นดาบส ไม่ควรร้องไห้ท่ามกลางมหาชนเช่นนี้ ยิ่งไม่สมควรให้พระราชา ร้องไห้ตอบอีกด้วย ฉะนั้น การร้องไห้ ของเราทั้งสอง พึงควรทำในที่ลับ กล่าวกันเพียงสองคนเท่านั้น"
คิดดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลกับพระราชา ขอสนทนาเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ในที่ซึ่งปลอดจากคนอื่นๆ พระราชาจึงรับสั่ง ให้พวกราชบุรุษ ทั้งหลายถอยออกไป ให้ห่างจากที่นั้น แล้วทรงรอฟังคำพูด ของพระดาบสอยู่ แต่ขณะนั้นเอง... ดาบสเกิดความคิด วิตกกังวลขึ้นว่า
"ถ้าเราทูลขอบริขาร เพื่อที่จะจรจาริกไปจากที่นี้ หากพระราชาไม่ทรงพอพระทัย ไม่ประทานให้แล้ว ไมตรีของเราสอง ก็คงจะแตกร้าวต่อกัน ฉะนั้น หากไม่แน่ใจ เรายังไม่สมควรทูลขอจะดีกว่า"

ด้วยความคิดเยี่ยงนี้เอง ทำให้ดาบสกราบทูลออกไปว่า
"ข้าแต่มหาราช วันนี้เห็นทีพระองค์คงต้องเสด็จกลับไปก่อนเถิด เอาไว้อาตมภาพ จะทูลให้ทรงทราบ ในคราวหน้า"

พระราชาก็มิได้ทรงเฉลียวพระทัยแต่อย่างใด ด้วยวางใจในตัวของพระดาบสทุกประการ จึงเสด็จกลับพระราชวัง แม้ในครั้ง ต่อๆ มา พระราชาเสด็จมายัง พระราชอุทยาน พระดาบสก็มิอาจทำใจ ที่จะกราบทูล แก่พระราชาได้ เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ ยาวนาน จนกระทั่ง ล่วงเลยไปถึง ๑๒ ปี

วันหนึ่ง ณ พระราชอุทยานนั้น พระราชาทรงตัดสินพระทัยเองว่า
"หลายครั้งหลายคราเนิ่นนานนักแล้ว ที่พระคุณเจ้าของเรากล่าวว่า มีเรื่องสำคัญจะคุยด้วยสองคน ในที่ลับหูผู้อื่น แล้วเรา ก็ให้โอกาสนั้น แต่ก็ไม่เคยได้รับคำกล่าวใดๆ เลย หรือชะรอยจะเป็นเพราะ ดาบสประพฤติพรหมจรรย์มานาน เกิดเบื่อหน่าย ระอา ในชีวิต พรหมจรรย์ ปรารถนาบริโภค ในทรัพย์สมบัติ จึงมิกล้าเปิดเผย บอกกล่าวออกมาได้ แม้แต่ครั้งเดียว วันนี้ เห็นทีเรา จะต้องรู้กัน ให้ชัดเจนล่ะ ว่าท่านปรารถนาสิ่งใด แม้เป็นราชสมบัติของเรา เราก็จะมอบ ถวายท่าน"

ครั้นรับสั่งให้ทุกคนถอยออกไปแล้ว เป็นที่ลับหูลับตา จากบุคคลทั้งหลาย พระดาบสทำทีว่า จะกล่าวขอ แต่แล้วก็นิ่งไปอีก พระราชา จึงตรัส ดังที่ทรงดำริเอาไว้ว่า
"พระคุณเจ้าอึกอักจะกล่าวเรื่องใด แต่แล้วก็นิ่งเงียบไม่พูดเช่นนี้มาตลอด ๑๒ ปี ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อท่าน อีกครั้งว่า แม้ราชสมบัติ ทั้งหมดของข้าพเจ้า ก็ยินดีถวายแก่พระคุณเจ้า โดยที่มิต้องกลัวภัยใดๆ ขอเพียงพระคุณเจ้า ชื่นชอบใจ หากปรารถนาแล้ว ก็ขอให้บอก ออกมาเถิด"

พระดาบสรู้สึกคลายใจขึ้นมามาก ทูลถามว่า "มหาบพิตร พระองค์ยินดีประทานสิ่งที่อาตมภาพทูลขอหรือ"

"ข้าพเจ้ายินดีถวาย ท่านผู้เจริญ"

"ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพขอจาริกกลับคืน สู่ป่าหิมพานต์ ขอรองเท้าชั้นเดียวคู่หนึ่ง ขอร่มใบไม้หนึ่งคัน"

พระราชาทรงแปลกพระทัยนัก ถึงกับอุทานออกมาว่า "ท่านผู้เจริญ ทั้งหมดท่านต้องการขอ เพียงเท่านี้เองหรือ สิ่งเหล่านี้ ทำให้ท่าน ไม่กล้าเอ่ยปากขอ จนตลอด๑๒ ปีเทียวหรือ"

"เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร"

"ก็แล้วเป็นเพราะเหตุใดกัน ทำให้ท่านถึงกับต้องอดทน อดกลั้น ถึงอย่างนี้เล่า"

พระดาบสจึงได้เปิดเผยความรู้สึกทั้งหมด แก่พระเจ้าพรหมทัตตะ ให้ทรงทราบ
"ดูก่อน มหาบพิตร ผู้ขอย่อมมีโอกาสเพียง ๒ อย่างคือ ได้ทรัพย์หรือไม่ได้ทรัพย์ แท้จริงของการขอ ต้องมีอย่างนี้ เกิดขึ้น เป็นธรรมดา บัณฑิตกล่าวถึงการขอว่า เป็นเสมือนการร้องไห้ แล้วหากผู้ใดปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าวถึง การปฏิเสธนั้นว่า เป็นเสมือน การร้องไห้ตอบ ฉะนั้นชาวปัญจาละทั้งหลายในที่นี้ อย่าได้ยิน ได้ฟังอาตมภาพ กำลังร้องไห้อยู่ และอย่าได้ยิน ได้ฟังพระองค์ ทรงกันแสง ตอบอยู่เลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงปรารถนา พูดคุย กับพระองค์ ในที่ลับหูผู้อื่น"

พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงยิ่งเลื่อมใสพระดาบสมากกว่าเดิม ในความมักน้อยสันโดษ ในความเกรงใจ ในความอดกลั้น สำรวม ดังนั้น จึงตรัสกับพระดาบสว่า
"ท่านผู้เจริญอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอถวายวัวแดง ๑,๐๐๐ ตัว พร้อมด้วยวัวจ่าฝูงแก่ท่าน เพราะหากอารยชน (คนที่เจริญแล้ว ในกุศลธรรม) ใด ได้ฟังคำกล่าว อันประกอบด้วย เหตุผลของท่านแล้ว ทำไมจะไม่พึงให้แก่ท่าน ผู้เป็นอารยชนเล่า"

"มหาบพิตร อาตมภาพไม่ประสงค์ในวัตถุกามทั้งหลายแล้ว พระองค์ประทานแต่สิ่งที่อาตมภาพทูลขอ เท่านั้นเถิด"

พระราชาจึงทรงประทานตามนั้น ก่อนที่พระดาบสจะเดินทางจากไป ได้มีโอวาทฝากแด่พระราชาว่า

"ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์อย่าทรงประมาท จงรักษาศีลหมั่นเพียรในกระทำในอุโบสถกรรม (ถือศีล ๘) เถิด"

แม้พระราชาจะทรงวิงวอนให้อยู่อย่างไร แต่พระดาบสก็ยังคงจาริกจากไป กลับคืนสู่ป่าหิมพานต์ บำเพ็ญอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) ให้บังเกิดขึ้น มีพรหมโลกเป็นที่ไป ในเบื้องหน้า
............................
ครั้นจบพระธรรมเทศนานี้แล้ว พระศาสดาทรงแสดงเปิดเผยว่า
"พระเจ้าพรหมทัตตะในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนดาบสนั้นก็มาเป็นเรา ตถาคตนี้เอง"

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๕๙๐ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๕๓๘)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)