หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๒๑
องค์ความรู้ที่ขาดหาย


จากกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของกรอบ แนวคิดนี้ อยู่ที่มโนทัศน์ เรื่อง "ความต้องการส่วนเกินจำเป็น" ของผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นรากฐาน สำคัญ ที่นำไปสู่ ปัญหาต่างๆ และการก่อเกิดอำนาจรัฐ เพื่อควบคุมระบบสังคม

องค์ความรู้ที่ช่วยให้เข้าใจถึงธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ ของ "ความต้องการส่วนเกินจำเป็น" ดังกล่าว จึงเป็นหัวใจสำคัญ ของทฤษฏี เศรษฐ ศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ

ขณะที่เนื้อหาคำสอน หรือความรู้ทั้งหมด ของพุทธศาสนา อันที่จริงแล้วก็คือ การพูดถึงเรื่อง "ความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น" ของชีวิต หรือ "กิเลสตัณหาอุปาทาน" ที่ครอบงำมนุษย์ ตลอดจน วิธีการที่จะปลดปล่อยชีวิต ให้เป็นอิสระ จากอำนาจครอบงำ ของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าว

และเมืองไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของโลก เป็นเมือง พุทธศาสนา มีวัดวา อาราม และ พระภิกษุจำนวนมากมาย มีสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีสถาบันการศึกษาระดับสูงที่เปิดสอนวิชาทาง ด้านพุทธศาสนา จนถึงระดับ ปริญญาเอก ฯลฯ

แต่ภาพลักษณ์ของเมืองไทยที่ชาวต่างชาติมองเห็นก็คือ ดินแดนแห่ง วัดวา อาราม สนาม กอล์ฟ และเซ็กส์

ขณะเดียวกันก็มีคดีอาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นกับสังคมไทยไม่เว้นแต่ละวัน ดังจะเห็นได้ จากข่าวใหญ่ ที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ อยู่แทบทุกวัน คดีข่มขืนฆ่า ปรากฏเป็นข่าว ให้เห็นอยู่ เนืองๆ แม้กระทั่ง กรณีของเด็กผู้ชาย ที่กระทำกับเด็กผู้หญิง หรือ พ่อกระทำกับลูก

นอกจากนี้สังคมไทยยังมีความอ่อนแอทาง ด้านปัญญา ซึ่งจะเห็นได้จาก การเชื่อถือ อะไรงมงาย ตามมงคลตื่นข่าว ได้ง่าย อาทิ เรื่องการทรงเจ้าเข้าผี ใบ้หวย การเช่าพระเครื่อง ปลัดขิก การบูชา สัตว์เดรัจฉาน ที่มีลักษณะผิดปกติ ฯลฯ

สรุปแล้วถึงแม้พุทธศาสนาจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา และองค์ความรู้ ทางพุทธธรรม จะเป็นไป เพื่อการเข้าใจธรรมชาติ ของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ตลอดจน วิธีการ ลดละกิเลส ตัณหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ แต่สังคมไทย กลับถูกครอบงำ ด้วยอวิชชา และมีพฤติกรรม แห่งการมี "โลภะ (ราคะ) โทสะ โมหะ" หนาแน่น อันตรงข้ามกับ คุณลักษณะ ของหลักธรรม คำสอน ทางพุทธศาสนา อย่างสิ้นเชิง

มีอะไรผิดพลาดหรือไม่เกี่ยวกับองค์ความรู้ในหลักพุทธธรรม จึงส่งผลให้เมืองไทย ที่เป็นเมือง พุทธศาสนา แต่กลับมีปรากฏการณ์อันถูก ครอบงำด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ยิ่งกว่าสังคม ของชนชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมตะวันตก ที่เรามองว่า เป็นสังคมวัตถุนิยม ที่ไร้ศาสนา ด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ใช่เพราะการตรัสรู้ขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องเท็จ และ หลักพุทธธรรม ที่เผยแพร่ สืบต่อกันมา ในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่ปราศจาก แก่นสารคุณค่า ต่อการช่วย ปลดปล่อยมนุษย์ ให้พ้นจากอวิชชา และ อำนาจครอบงำ ของกิเลส ตัณหา อุปาทาน

ก็เป็นเพราะสังคมไทยปัจจุบันยังไม่เข้าใจและปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม ไม่ถูกทาง มีการตีความ หลักพุทธธรรม ผิดพลาด ตลอดจน ศึกษาและถ่ายทอด องค์ความรู้ ของหลัก พุทธธรรม ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นโครงสร้าง ส่วนที่กระทำ หน้าที่โดยตรง ในการสืบทอด พระธรรมวินัย และหลักธรรม คำสอนของ พระพุทธศาสนา

จากสมมติฐานของปรากฏการณ์ในสังคมไทย ที่ถูกครอบงำด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองพุทธศาสนา ดังที่กล่าวมาข้างต้น สมมติฐาน ประการหลัง ย่อมเป็นไปได้ มากกว่า สมมติฐาน ประการแรก สำหรับชาวพุทธ

กล่าวคือเป็นเพราะองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาแบบเถรวาทของสังคมไทย มีพื้นฐาน จากความเข้าใจ หลักพุทธธรรม ไม่สมบูรณ์ จึงไม่มีมวลพลัง ทางปัญญาเพียงพอ ที่จะอาศัย หลักพุทธธรรม (ที่เข้าใจ ไม่ถูกต้องดังกล่าว) ขับเคลื่อนให้สังคมไทย พ้นจากการครอบงำของ อวิชชา ตลอดจน พ้นจากภาวะ แห่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ของผู้คนในสังคม

ถ้าสมมติฐานข้างต้นถูกต้อง จุดอ่อนที่สำคัญ ยิ่งประการหนึ่ง ที่น่าจะเป็นปัญหา ของการศึกษา (หรือสิกขา) หลักพุทธธรรม ในสังคมไทย ก็คือ การขาดความรู้ ความเข้าใจ และ ไม่ตระหนักถึง ความสำคัญ ของรากฐาน ทางด้านญาณวิทยาแห่ง หลักพุทธธรรม (Buddhistic Epistemology)

ญาณวิทยา (Epistemology) เป็นเรื่องของเกณฑ์วินิจฉัยที่จะใช้เป็นหลักพิจารณา ตัดสินว่า ความรู้ชุดใด น่าจะใกล้เคียงกับ สัจจะความจริง มากที่สุด เช่น ในขณะที่มีสำนัก ซึ่งอธิบาย ความรู้เกี่ยวกับ พุทธธรรม แตกต่างกัน มากกว่าหนึ่งสำนัก เราจะใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการพิจารณา ตัดสินว่า องค์ความรู้ เกี่ยวกับพุทธธรรม หรือ การอธิบาย หลักพุทธธรรม ตามแนว คำสอน ของสำนักไหน น่าจะตรงตาม พุทธประสงค์ มากที่สุด

ถึงแม้จะยึดพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ฉบับเดียวกัน เป็นเกณฑ์วินิจฉัย แต่ก็ยังมีปัญหา เรื่องการอธิบาย ความหมายของ พุทธพจน์ ในพระไตรปิฎก ดังกล่าว แตกต่างกันได้ อย่าว่าแต่ยังมีปัญหา เรื่องพระไตรปิฎก ของพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท มหายานที่มีเนื้อหา หลายส่วน แตกต่างจาก พระไตรปิฎก ของพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน ที่มีเนื้อหาหลายส่วน แตกต่างจากพระไตรปิฎก ของพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท โดยต่างฝ่าย ต่างก็เชื่อมั่นว่า พระไตรปิฎก ที่สืบทอดมา ตามสายของตนนั้นๆ เป็นหลักธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า ที่ถูกต้องสมบูรณ์กว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าชาวพุทธทุกคนไม่ว่าจะในพุทธศาสนาสำนักไหน หรือลัทธินิกายไหน ยอมรับ ตรงกัน ในสมมติฐานเบื้องต้น ประการหนึ่งว่า หลักพุทธธรรม เป็นไปเพื่อ การลดละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือ ลดกิเลสตัณหาอุปาทาน ที่แฝงอยู่ ในจิตใจมนุษย์ และ สามารถ อาศัย ประสบการณ์ เชิงประจักษ์ ที่เกิดจาก การลดละ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าว เป็นเกณฑ์ตัดสิน วินิจฉัย ว่าคำสอนใด ตรงตามหลักพุทธธรรม ที่เป็นไปเพื่อ การลดละกิเลส ตัณหา อุปาทาน ได้อย่างแท้จริง มากกว่า ซึ่งถ้าถือตาม เกณฑ์วินิจฉัยนี้ เราก็จะสามารถ สรุป จุดอ่อน ขององค์ความรู้ ทางพุทธศาสนา ในโลกปัจจุบัน จากมุมมอง ในมิติทางด้าน ญาณวิทยา ของหลักพุทธธรรม ได้อย่างน้อย ๒ ประการใหญ่ๆ คือ

๑. ความอ่อนแอในการปฏิบัติพระธรรมวินัย
ระบบพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อเป็นศาสดาแทนตัว ของพระองค์นั้น นอกจากมีคุณค่า ความสำคัญ ในฐานะเป็นเครื่องมือ ช่วยจัดระเบียบ การปกครอง ของสังคม สงฆ์แล้ว ยังมีความสำคัญ ในมิติทางด้านญาณวิทยา ที่เป็นเกณฑ์วินิจฉัย ตัดสินความหมาย แห่งหลัก พุทธธรรมด้วย

ทั้งนี้เพราะถึงแม้เราอาจมีข้อถกเถียง ในการตีความหลักพุทธธรรม ตามพุทธพจน์ ส่วนที่เป็น ศัพท์เฉพาะ (theoretical terms) ซึ่งปรากฏ ในพระไตรปิฎก เช่น "นิพพาน" คืออะไร "อนัตตา" คืออะไร "ฌาน" ของพุทธศาสนา ต่างจากศาสนาอื่นหรือไม่ ฯลฯ โดยความหมาย ของศัพท์ เฉพาะเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ สามารถถกเถียงกันได้ อย่างกว้างขวาง และยากที่จะหาข้อยุติได้ว่า แนวการอธิบายตีความ ของสำนักไหน หรือลัทธินิกายไหน ในพุทธศาสนา ที่ตรงตาม พุทธประสงค์ มากที่สุด แต่จะมีข้อถกเถียง น้อยกว่ากันมาก เกี่ยวกับความหมาย ของพระธรรมวินัย ส่วนที่เป็น สิกขาบทต่างๆ ซึ่งเป็นศัพท์ทั่วไป ที่สะท้อน พฤติกรรม ของมนุษย์ (observation terms) อาทิ การเสพเมถุน ล่วงปฐมอาบัติปาราชิก ของพระภิกษุ เป็นอย่างไร การไม่รับเงินทอง เป็นสมบัติส่วนตัว (ตามพระวินัย) เป็นอย่างไร การมีพฤติกรรม ที่แสดงถึง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตามหลักจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นอย่างไร ฯลฯ นอกจากนี้ ในพระวินัย ก็ยังมีบทนิยามศัพท์ เพื่อให้มีความหมาย กระชับยิ่งขึ้น ตลอดจน ยังมีตัวอย่าง การตัดสิน กรณีความผิด ต่างๆ ที่เปรียบเสมือน คำพิพากษาฎีกา ให้ศึกษา เทียบเคียงด้วย

ฉะนั้นเราจึงสามารถจะอาศัยระบบพระธรรมวินัย เป็นเกณฑ์ตัดสิน ความหมาย ของพุทธธรรมได้ ในระดับหนึ่ง ดังตัวอย่าง กรณีการถกเถียง เรื่องนิพพานเป็นอัตตา หรือเป็น อนัตตา ของชาวพุทธ ๒ ฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา โดยต่างฝ่าย ต่างก็ยกเอา พุทธพจน์ ในพระไตรปิฎกบ้าง อรรถกถาจารย์บ้าง ความเห็นของ นักวิชาการ ที่มีชื่อเสียง ทางด้าน พุทธศาสนาบ้าง มาสนับสนุน ยืนยันความคิดเห็นของตน ซึ่งยากจะหาข้อยุติได้ว่า ฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด ด้วยการอาศัย เกณฑ์อ้างอิง วินิจฉัยเพียงแค่นี้

แต่ถ้าใช้กรอบพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ตัดสินวินัจฉัย โดยดูว่า ผลจากการประพฤติปฏิบัติ ตามแนวความคิด ความเชื่อเรื่องนิพพาน ของสำนักไหน ขัดหรือแย้งกับหลัก พระธรรมวินัย หรือไม่ อาทิ สอดคล้องหรือไม่ กับหลักจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นคุณลักษณะเฉพาะ ของผลแห่งการ ปฏิบัติพุทธธรรม ที่ทำให้ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ มีความแตกต่าง จากลัทธิความเชื่อ ทางศาสนาอื่นๆ เป็นต้น เราก็พอจะหาเกณฑ์ตัดสิน ในเรื่องนี้ได้ ระดับหนึ่ง

เพราะถ้าสำนักไหนมีพฤติกรรมที่ขัดหรือแย้งกับหลักพระธรรมวินัย เราก็สามารถสรุปได้ ทันทีว่า การตีความคำสอน ตามหลักพุทธธรรม ของสำนักนั้นๆ ไม่ถูกต้อง ตามพุทธประสงค์ (โดยถึงแม้ จะยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า สำนักที่มีพฤติกรรม ที่ไม่ขัดแย้ง กับพระธรรมวินัย จะต้องเป็นสำนัก ที่อธิบาย หลักพุทธธรรม ได้อย่างถูกต้อง ตรงตามพุทธประสงค์ เสมอไปก็ตาม)

จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่เข้าใจหลักพุทธธรรมถูกต้อง จะอยู่ในกลุ่มคน ที่ปฏิบัติ ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย (กลุ่มที่๓) แต่ยังสรุป ไม่ได้ว่า กลุ่มคนที่ปฏิบัติถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย จะต้องเป็น กลุ่มคนที่เข้าใจ หลักพุทธธรรม ถูกต้องเสมอไป (กลุ่มที่๒) แต่อย่างน้อยที่สุด เราจะสามารถสรุป จากเกณฑ์วินิจฉัยนี้ได้ ในระดับหนึ่งว่า กลุ่มคนที่ ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย เป็นกลุ่มคนที่เข้าใจ หลักพุทธธรรมไม่ถูกต้อง แน่นอน (กลุ่มที่๑) ซึ่งทำให้สามารถ อาศัยหลักพระธรรมวินัย เป็นเกณฑ์ คัดกรอง เอากลุ่มที่อ้างตัวว่า เป็นผู้รู้ทางพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่เข้าใจ หลักพุทธธรรม ไม่ถูกต้อง ออกไปได้ส่วนหนึ่ง

การมองข้ามความสำคัญแห่งพระธรรมวินัย ของสงฆ์ส่วนใหญ่ ทุกวันนี้ อาทิ ไม่สอนให้รู้ พระธรรมวินัย และ ประพฤติปฏิบัติ ต่อพระธรรมวินัย แค่เป็นจารีต พิธีกรรม เหมือนการแสดง อย่างหนึ่งเท่านั้น แล้วเอาเรื่องของ ปรมัตถธรรม มาสอนชาวบ้าน เป็นต้น จึงเท่ากับ เป็นการทำลาย รากฐานทางด้าน ญาณวิทยา ของหลัก พุทธธรรม เพราะส่งผล ทำให้ชาวพุทธ ขาดเกณฑ์สำหรับ ตัดสินวินิจฉัยว่า สงฆ์ที่อ้างตัวว่า เป็นผู้เข้าถึง แก่นธรรม แห่งคำสอน อันลึกซึ้ง ของพุทธศาสนานั้นๆ เป็นสงฆ์ที่เข้าถึงธรรม รู้ธรรม และ สั่งสอนธรรม ได้อย่างถูกต้อง ตรงตาม พุทธประสงค์ ที่แท้จริงหรือไม่

๒. การติดอยู่ในกรอบการศึกษาประวัติความคิดทางพุทธศาสนา
การศึกษาพุทธปรัชญาหรือพุทธศาสนาของสถาบันการศึกษาต่างๆทุกวันนี้ ถูกครอบงำ โดยกระบวนทัศน์ ที่เน้นการศึกษา ประวัติความคิด ทางพุทธศาสนา จากรากฐาน ทางด้าน ญาณวิทยา แบบสหนัยนิยม (coherencetism) โดยเน้นที่การศึกษาว่า พุทธพจน์ ในพระไตรปิฎก กล่าวไว้อย่างไร อรรถกถาจารย์คนไหน อธิบายความหมาย ของพุทธพจน์ ดังกล่าวอย่างไร และ นักวิชาการ ทางพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงคนไหน มีความเข้าใจ พุทธพจน์นั้นๆ อย่างไรบ้าง ฯลฯ แล้วก็อาศัย ความสอดคล้อง กลมกลืนทางตรรกะ ของข้อมูล ตลอดจน ความเห็นของ อรรถกถาจารย์ หรือนักวิชาการต่างๆ เป็นเกณฑ์ วินิจฉัย ตัดสิน ความหมาย ของพุทธธรรม ดังกล่าว

การศึกษาพุทธปรัชญาแนวทางแบบนี้ถึงจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็ถึงจุดอิ่มตัว นับวัน จะมีวิทยานิพนธ์ หรือ งานวิจัย ทางพุทธศาสนา ในแนวการศึกษาแบบนี้ เพิ่มจำนวน มากขึ้นๆ แต่องค์ความรู้ ทางพุทธศาสนา (แบบนี้) ที่เพิ่มมากขึ้น ดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญอะไรต่อการ ช่วยลดปัญหา ของสังคม ที่เกิดจาก ปริมาณ กิเลสตัณหา ของมนุษย์ ที่ถูกกระตุ้น ให้ขยายตัว เพิ่มมากขึ้นเลย

ทำไมเราสามารถศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ ความรู้ ที่จะใช้กระตุ้น ความต้องการ ส่วนเกิน ของมนุษย์ ให้อยากซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆ ได้ ดังเช่น ที่มีการทุ่มเท ทรัพยากร จำนวนมาก เพื่อการศึกษา วิจัยเรื่องนี้ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอน วิชาทางด้านการตลาด จนถึงระดับ ปริญญาเอก เป็นต้น

แต่เราจะศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการช่วยลดละ ความต้องการ ส่วนเกิน ของ มนุษย์ ให้น้อยลงบ้าง ไม่ได้หรือ

ในเมื่อเราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ ที่จะกระตุ้นให้ผู้คน มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่อยาก จะซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆได้ เราก็ย่อมจะสามารถ พัฒนาองค์ความรู้ ในการ ปลดปล่อยมนุษย์ ให้เป็นอิสระ จากการครอบงำ โดยความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่อยากบริโภค สิ่งเกินความจำเป็น ต่างๆ ดังกล่าวของชีวิตได้ ในทางกลับกัน

องค์ความรู้ที่จะลดละความโลภ ความโกรธ ความหลงเหล่านี้ ก็คือองค์ความรู้ อันเกิดจาก รากฐาน ทางด้านญาณวิทยา ของหลักพุทธธรรม ที่ขาดหายไป จากสังคมปัจจุบัน และ จำเป็นจะต้อง พัฒนาขึ้น มาใหม่ เพื่อให้เป็นรากฐาน ในการแก้ปัญหา ของมนุษย์ ตามกรอบ แนวคิด เศรษฐศาสตร์การเมือง เชิงพุทธ ที่ได้กล่าวมา ทั้งหมดนี้

อ่านต่อฉบับหน้า

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕