หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

บทบาทบางเสี้ยวชีวิต จากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคุณูปการอย่างยิ่ง ต่อสังคมไทย
อาจารย์ สำลี ใจดี ‘ปูชนียบุคคลในวงการเภสัชศาสตร์


ประวัติ
อาจารย์สำลี ใจดี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม เริ่มรับราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ในตำแหน่ง อาจารย์คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และย้ายเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ จนถึงวันเกษียนอายุ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕

งานสอนประจำ คือ เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาสรีรวิทยา หลักสูตร เภสัชศาสตร์ มหาบัณฑิต

งานสอนที่เป็นอาจารย์พิเศษ คือ สอนให้กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัย ศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ

ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา ๒ สมัย คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๔ และปี ๒๕๓๖-๒๕๔๐ บุกเบิกงาน วิชาการ ด้านเภสัชศาสตร์สังคม โดยจัดตั้งหน่วยวิชาการเภสัชศาสตร์สังคม เพื่อเตรียมการ จัดตั้งโครงการ ตั้งภาควิชาเภสัชสาธารณสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี ๒๕๓๕ จัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส., Soial Pharmacy Research Unit) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน บุกเบิกงานวิจัย ด้านเภสัชศาสตร์สังคม เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ในโครงการวิจัย การใช้ยาของชุมชน โดยทุนโครงการ พัฒนาบริการอนามัยชุมชน และ การศึกษาของบุคลากร ฝ่ายการแพทย์ และอนามัย จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย งานวิจัยชิ้นนั้น มีผลกระทบต่อการมอง และ เสนอบทบาทเภสัชกร ในสังคมไทย ของอาจารย์สำลี ในช่วงต่อๆ มา และมีผลให้อาจารย์ เป็นผู้จุดประกาย ให้เพื่อนร่วมงาน และลูกศิษย์ลูกหา ได้เข้าใจถึง บทบาทวิชาชีพ อันเป็นที่พึ่งแก่สังคมอย่างไร ที่สำคัญ อาจารย์เป็นผู้บุกเบิก และผลักดัน เชิงนโยบายแห่งชาติด้านยา การฟื้นฟูการนวดไทย และการแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ในระบบ การดูแลสุขภาพ การดำรงฐานะดังนี้
- ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (พ.ศ.๒๕๒๗-ปัจจุบัน)
- ประธานโครงการพื้นฟูการนวดไทย ( พ.ศ. ๒๕๒๘-ปัจจุบัน )
- กรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน (พ.ศ. ๒๕๒๔-ปัจจุบัน)
- กรรมการมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (พ.ศ. ๒๕๓๖-ปัจจุบัน)
- ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา (พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๒๘ )
- อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาทนายความ (พ.ศ. ๒๕๔๓-ปัจจุบัน
- ฯลฯ


งานคุ้มครองผู้บริโภค : การถ่วงดุลเพื่อให้เท่าทันลัทธิบริโภคนิยม
อันที่จริงเรื่องค่านิยมบริโภคนี้ ไม่ใช่มิติของวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องการนำเข้า ที่เกิดจาก กระแสไหลบ่า จากทางตะวันตก โดยเฉพาะ กระแสทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งมีกลยุทธ มีเครื่องมือต่างๆ เย้ายวน ให้ผู้คนหลงการบริโภค จนลืมสำนึก และกำพืดของตนเอง ที่ว่ามนุษย์ ควรคิดผลิตได้เอง แล้วค่อยบริโภค แต่ตอนนี้ เรากลับเน้น ไปซื้อมาเพื่อบริโภค เห็นเป็นความโก้เก๋ โดยเขาทำทุกอย่าง เพื่อให้สินค้าของเขา ขายได้หมด ตั้งแต่เส้นผม จรดเล็บเท้า เช่น สินค้าบนเรือนร่างผู้หญิง สารพัดอย่าง อยากขายอะไร ก็สร้างเป็น แฟชั่นขึ้นมา เพื่อให้เกิดเป็นความนิยม ที่อยากบริโภค ซึ่งเป็นตัวการ ทำลายความเป็นมนุษย์

ลัทธิบริโภคนิยมเสนอสิ่งที่ให้เกิดการเสพสุขภายนอก โฆษณาความสุข ที่คุณดื่มได้ ทำให้คน ภูมิใจว่า ถ้าได้ซื้อสินค้านั้นๆ แล้วหน้าจะใหญ่ แทนที่จะภูมิใจว่า ซื้ออะไร ที่เราผลิตเองได้ เป็นเรื่องดีต่างหาก เนื่องจากคนตะวันออก โดยเฉพาะคนไทย เชื่อโฆษณา มากกว่าเชื่อ ความจริง เชื่อความรู้สึก มากกว่าเชื่อความรู้จริง เพราะฉะนั้น จึงต้องมี ขบวนการ คุ้มครอง ผู้บริโภคขึ้นมา เพื่อคุ้มครองตัวเราเอง และคนทั้งหลาย ให้ได้รับความเป็นธรรม จากระบบ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่ทำให้ทุกคนบริโภคอะไร เหมือนกันหมด ไล่ตามกัน เป็นแฟชั่น ฉะนั้นท ำอย่างไร ถึงจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจแล้ว เราจะได้มีสติ ยั้งคิด รู้ว่าควรจะจัดการกับตัวเองอย่างไร ในขณะที่มีสิ่งโฆษณา มอมเมาผู้คน แยะมาก ทำอย่างไร จะให้เขาตระหนักรู้ความจริงได้ ดังนั้น งานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้รู้จริง จึงต้องมาก่อน ซึ่งปัญหามีทุกระดับ ทั้งปัญหาในเรื่อง ระบบสังคม เรื่องการค้า เรื่องนโยบายภาครัฐ เรื่องกฎหมาย เหล่านี้ ต้องรู้ให้จริงก่อน

บทบาทการต่อสู้เพื่อหาความจริงให้สังคมไทย
จากการเป็นครูสอนหนังสือ คิดว่าครูไม่ใช่ แค่มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้อย่างเดียวเท่านั้น แต่มีหน้าที่ปลูกฝัง ให้ลูกศิษย์เป็นคนดีด้วย ทำอย่างไร จะให้เขารู้ถูกรู้ผิด มีสติยั้งคิด และ ถ้าเห็นความถูกต้อง ก็ควรมาถกเถียงกัน เพื่อหาวิธีการแก้ไข เริ่มต้นจาก ปัญหาเล็กๆ ที่ไปเห็น ไปลงพื้นที่ สัมผัสกับชาวบ้าน ได้เห็นซองยาเต็มคันนา ตอนนั้น ก็มียาแก้ปวดทัมใจ กับ ยาบวดหาย ที่แพร่หลายมาก ทางเหนือจะเป็น บวดหาย ทางอีสานจะเป็นทัมใจ สมัยนั้น ขายเป็นซอง ชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีสตางค์ ก็เอาซองมาเลีย เหมือนคนจน ที่เราเห็นในเมือง เก็บก้นบุหรี่มาสูบ ก็เกิดคำถามในใจว่า ทำไมชาวบ้านต้องกินยา ทั้งที่ยาเหล่านี้ ในฐานะ ที่เราเป็นครู เป็นเภสัชกร เราจะไม่กิน และไม่แนะนำให้ใครกิน เพราะเป็นยา ที่มีส่วนผสม อันตราย จึงเริ่มงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ จากยาที่ชาวบ้านนิยม ๒-๓ ยี่ห้อ พบว่า มียี่ห้อหนึ่ง มีปริมาณ คาเฟอีนสูง ตอนนั้น มันมีส่วนผสม ๓ ตัวคือ แอสไพริน คาเฟอิน และเฟนาติซิน ซึ่งตัวยาเหล่านี้ในอดีต เป็นยาในเภสัชตำรับ แต่อีก ๒๐ ปีต่อมา มันเป็นยา ที่ฝรั่งมุ่งส่งออก โดยไม่ขายในประเทศของตน เพราะเป็นยาอันตราย มีพิษต่อไต และโรคไต ก็ทำให้ปวดหลัง การที่คนไทยปวดหลังกันมาก จนทำให้คิดว่า อาจเป็นโรคไต จากพิษเหล่านี้ แต่ตอนนี้ เรายังไม่รู้ เรื่องอันตราย ของเฟนาซิติน พวกคนงานกรรมกร ชอบกินยาพวกนี้มาก เพราะแก้ ปวดเมื่อยได้ และยังมีคาเฟอีน ช่วยกระตุ้นประสาท ทำให้ทำงานได้ทนขึ้น ซึ่งในอดีต ทางตะวันออก เราใช้ใบกระท่อม แต่ว่าสมัยใหม่ ยาเหล่านี้ ได้เข้ามาแทนที่หมด

เมื่อตามไปวิจัยศึกษาต่อ ปรากฏว่า เฟนาซิติน เป็นยาที่ส่งออก สำหรับประเทศอุตสาหกรรม โดยบ้านเขาไม่ใช้ แต่ส่งมาขาย ที่บ้านเรา ความจริงยาแก้ปวด สูตรผสมตัวนี้ ไม่ควรมี เพราะคาเฟอีน ก็คือกาแฟ ที่ทำให้ติด แต่ชาวบ้านไม่รู้ เมื่อติดแล้ว ถ้าไม่ได้กิน จะหงุดหงิด จึงต้องกินประจำ แอสไพรินเมื่อกินมาก จะทำให้ กระเพาะทะลุ ยิ่งชาวบ้าน กินกันดิบๆ คือฉีกซองแล้ว กรอกเข้าปากทั้งซอง โดยไม่กินน้ำตาม แอสไพริน จึงยิ่งกัด กระเพาะมากขึ้น พวกลูกศิษย์ ทั้งหลายที่อยู่ใน ร.พ.อำเภอ ต้องรักษาคนไข้ โรคกระเพาะ ลำไส้ทะลุกัน วันละหลายคน ที่ถูกหามเข้ามาใน ร.พ. ยิ่งหน้าทำนา หน้าเกี่ยวข้าว ก็ยิ่งเป็น หนักเข้าไปอีก เราเห็นปัญหา สัมพันธ์กันอยู่ ในลักษณะนี้ ก็มานั่งวิเคราะห์กัน ทีมงาน ที่มีทั้งลูกศิษย์ลูกหา และ พรรคพวก ได้ช่วยกันดูว่า สภาพนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องยาแก้ปวด APC ในตอนนั้น เป็นกรณีแรก ที่พวกเราทำการศึกษาวิจัย ภายใต้หัวข้อ "เรื่องยาของชุมชน" โดยวิจัยการใช้ยา ของชุมชนว่า ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้าน จะไปที่ไหน กินยาอย่างไร ก็พบว่า ในช่วงนั้น ๗๐-๘๐% ชาวบ้านจะไปบอกอาการ กับคนขายยา แล้วก็จะใช้ยาชุด ซึ่งไม่รู้คือว่า อะไรกินก็ง่าย สะดวก สำหรับชาวบ้าน เมื่อกินแล้ว เขาก็หายปวดเมื่อย กินข้าวได้ นอนหลับ ราคาถูก มาหน่อย ก็เป็นกลุ่มยาซอง คือ ยาทัมใจ ยาบวดหาย ซึ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และ พวกผู้ใหญ่ ติดกันงอมแงม ถ้าเป็นเด็ก ก็จะมีคาโอลีน ซึ่งพ่อแม่เข้าใจว่า เป็นยาแก้ไข้ แต่จริงๆ มันเป็นยา ปฏิชีวนะ เตรตตร้าไซคลิน ซึ่งพ่อแม่ไม่รู้ ในแง่ทางวิชาการ พวกยาปฏิชีวนะ ต้องกินให้ครบ ขนาด ครบเวลา ไม่เช่นนั้น เชื้อจะดื้อยา และต้องมีการติดเชื้อด้วยถึงให้กิน ซึ่งเวลาติดเชื้อ ก็มักจะมีไข้ แต่พ่อแม่ ไม่เข้าใจ เอานิ้ว แตะน้ำ แตะยา ป้ายลิ้นให้ลูก เพราะเห็นว่า มีไข้ตัวร้อน จะลดไข้ได้เร็ว เรามานั่ง พิจารณาดูว่า ยาตัวนี้เป็นยาปฏิชีวนะ กินแบบนี้ไม่ได้ เพราะขนาด ไม่แน่นอน และเด็ก ก็ไม่ควรกิน แต่รูปโฆษณา กลายเป็นรูปเด็ก ทำให้มองเห็นภาพ ของความฉ้อฉล และในเชิง วิชาการ ยาเตรตตร้าไซคลิน ต้องเป็นผงเหลืองนวล ถ้าเสื่อมสภาพ จะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองแก่ จนกระทั่ง น้ำตาล และดำ แต่ปรากฏว่า บริษัทแต่งสี ด้วย ช๊อคโกแลท ถ้ายาเสีย เราก็ไม่มีทางรู้ ซึ่งในลักษณะนี้ ผู้ที่มีอำนาจ ในการอนุญาต ตามกฎหมาย ก็ไม่ควรอนุญาต ให้ขึ้นทะเบียน นี่คือ ความจริงที่เราได้ จากการศึกษาวิจัย เราทำวิจัยหลายชิ้น และเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้แก้ปัญหา แต่ไม่สามารถ สร้างความเข้าใจได้ เวลาเราบอกเขา เขาจะบอกว่า เรามีหน้าที่ สอนหนังสือ ก็สอนไป เรื่อง อ.ย. ก็เป็นเรื่องของ อ.ย. อย่ามายุ่ง เราก็มาเรียนรู้บทใหม่ หลังจาก เหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. ๑๖ อะไรก็ตาม ถ้าเป็นประเด็นสาธารณะ เมื่อทำให้คนรู้ทั่ว ก็จะเกิด การเปลี่ยนแปลง ในทางที่ ดีขึ้น เราก็เลย ไม่ได้เป็นนักวิชาการแบบเดิม ที่ทำวิจัยอย่างเดียว แต่ทำการรณรงค์ ควบคู่ ไปด้วย โดยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องนั้น เรื่องนี้ ต้องทำ แล้วเรา ก็ประชาสัมพันธ์ ผ่านทางสื่อมวลชน ควบคู่ไปด้วย พร้อมกับทำสำเนา เรียนท่านรัฐมนตรี ซึ่งการทำอย่างนี้ จะได้การตอบรับเพิ่มขึ้น

ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคเริ่มขึ้นอย่างไร
เริ่มต้นจากการที่เราเห็นปัญหา แล้วไปรณรงค์แนะนำ การกินยาที่ถูกต้องให้ชาวบ้าน เรามีเจตนา จะทำความจริงให้ปรากฏ แต่ยากมากเลย เราจึงได้สติว่า ควรจะผลักดัน ในรูปขบวนการ คุ้มครองผู้บริโภค ในเงื่อนไขของฝรั่ง เขาถือว่า ประชาชนของเขา มีความรู้ บริษัทต้องบอกข้อมูล ให้ผู้บริโภครับทราบ อย่างครบถ้วน ถ้าบริษัท ปกปิดข้อมูล และผู้บริโภค เกิดอันตราย เขาจะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่เมืองไทยเรา ยังไม่มีระบบอย่างนี้ ไม่มีระบบ ความรับผิด ของบริษัท ไม่มีการให้ข้อมูล ยาชุดไม่บอกเลยว่า เป็นอะไรเป็นของใคร มันต่างกัน คนละสังคม คนละวัฒนธรรม

เรื่องการคุ้มครอง ผู้บริโภค เราเริ่มจากปัญหาเล็กๆ ที่เห็น เมื่อชาวบ้านไม่รู้ เราก็เริ่มรณรงค์ ทำให้เขารู้ การวิจัยช่วยให้เราได้ข้อมูล ความเป็นจริง สำหรับนำเสนอทางเลือก และทางออก ให้กับสังคม ยาชุด เป็นเรื่องผิดกฎหมายชัดเจน และเป็นอันตราย ยิ่งกว่ายาซองอีก เราก็เริ่ม รณรงค์ก่อน เนื่องจากใน ๑ ชนิด เป็นยาผสมหลายชนิด ยาชุดมีหลายเม็ด กินเข้าไปแต่ละมื้อ ๓- ๕ เม็ด แต่ที่จริง อาจจะมียา ผสม ๗ ถึง ๘ ตัว โดยในยาชุดมักมี สเตียรอยด์ พวกเพรดนิไซโลน รวมอยู่ด้วย กินแล้ว ได้ผลชงัด นอกจากนี้ยังมี ไดอาซีแพรม ซึ่งเป็นยา กล่อมประสาท ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับได้ แล้วก็มีพวก วิตามิน ยาชุดเกือบทุกชุด ที่ขาย ให้ชาวบ้าน จะมีองค์ประกอบเหล่านี้ และอาจมียาปฎิชีวนะ หรือ ยาแก้ปวดอะไร ก็แล้วแต่ ตามอาการ เป็นส่วนผสมด้วย หากเจ็บคอ จะมียาปฏิชีวนะเพิ่ม ขบวนการ คุ้มครองผู้บริโภค เกิดจากประสบการณ์ ในการเห็นปัญหาต่างๆ เป็นตัวตั้ง และก็เรียนรู้ว่า ควรทำอย่างไร จากปลายน้ำ สู่ต้นน้ำ มองให้ครบวงจร เช่นถ้าเราบอกเขาว่า ไม่ต้องใช้ ยาแก้ปวด แต่เรา มีทางเลือกไหม เราบอกไม่ให้กินยาฝรั่ง เรามียาไทยทดแทนให้ไหม

ระบบทุนนิยมมองเรื่องยาเป็นธุรกิจ
โดยคงจะไม่คำนึงถึง ยาที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต

ทุกวันนี้หมอยาหรือเภสัช หรือแพทย์ทั้งหลาย เริ่มเสียจรรยาบรรณไป แต่เดิมไม่ว่าจะเป็น ทางตะวันตก หรือตะวันออก แพทย์จะจ่ายยา โดยคำนึงถึง ประโยชน์คนไข้สูงสุด แต่หลัง ปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีมานี้ ระบบทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำอย่างไร จะให้มีกิน มีใช้มากขึ้น การผลิต ขนาดใหญ่แบบ Mass Production จึงเกิดขึ้น เมื่อผลิตออกมา จำนวนมาก ก็ต้องมีระบบ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มีระบบ DETAIL บริษัทยา ระบบส่งเสริม การขาย เพื่อชักจูง ให้เกิดการกิน การใช้ พอเป็น
อย่างนี้ มันก็คือเรื่องของ ธุรกิจเต็มตัว เดี๋ยวนี้ โรงพยาบาล ก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทยา ก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ จะมีกลยุทธ ในการแสวงหา ผลกำไร และ มีลักษณะผูกขาด มากยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่มี ทางเลือกอื่น ให้กับสังคม ก็จะต้องตกอยู่ภายใต้ การครอบงำ ของบริษัทยาเหล่านี้

ถ้าบ้านคุณกำแพงไม่แข็งแรง นั่นคือ อ.ย. ของคุณไม่เก่ง ยาอะไรก็นำเข้ามาขายได้หมด ทั้งที่ ยาบางตัว บ้านเขาไม่ใช้แล้ว แต่ส่งออกมาขาย บ้านเราได้ อเมริกา มีกฎหมายอย่างนี้ โดยยาบางตัว ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยา เขายังแบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆคือ
๑. กลุ่มเหยี่ยว คือ ทำได้ทุกอย่าง ขอให้ขายได้ก็พอ
๒. กลุ่มม้า กลุ่มนี้ถ้าเราเจรจารู้เท่าทัน เขาจะอายไม่กล้าทำ
๓ . กลุ่มนก เป็นพวกสันติภาพ คือฉันกินอย่างไร ก็ส่งขาย ประเทศอื่นอย่างนั้น

ในช่วงหลัง คนอเมริกันบางกลุ่ม เริ่มกลัวว่า ยาที่บ้านเขาไม่ได้ใช้ ถ้าเขาไปเที่ยว ประเทศโน้น ประเทศนี้ ยาที่เขาส่งออก เขาอาจจะไปกินเข้า และเกิดอันตรายได้ เขาจึงระวัง ในจุดนี้มากขึ้น แต่กลุ่มธุรกิจ ซึ่งมุ่งแต่เรื่องหวังผลประโยชน์ ก็ไม่มีปัญหา เขาไม่สนใจ ตราบที่บ้านคุณ มาตรฐานต่ำ เขาก็จะส่งยาอีกตัว สำหรับขาย ในประเทศโลกที่สาม

ถึงวันนี้ การรณรงค์ได้ผลเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ?
คิดว่ายังทำได้นิดเดียว แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าดูจากยอดขายสินค้าต่างๆ รู้สึกตอนนี้ มีกลยุทธ ทางธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น เช่นเรื่องขายตรง เรื่องลดแลกแจกแถม ทั้งที่ พ.ร.บ. ยา เราห้ามกลยุทธนี้ แต่ก็ยังมีการลักลอบทำกัน จนเม็ดเงิน ในการบริโภคยา ของประเทศสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับรายจ่าย ค่าอาหารแล้ว เราใช้จ่ายค่ายา มากกว่าค่าอาหาร เมื่อเทียบกับสัดส่วน ของรายได้ ที่เพิ่มขึ้น ยาที่ซื้อมาบริโภค มีทั้งยาจำเป็น และไม่จำเป็น เริ่มต้นอาจใช้ยา
เพราะรักตัว กลัวตาย เมื่อป่วยไข้ ก็ต้องกินยา แต่ปัจจุบัน กลายเป็นว่า กินเพราะรักสวย รักงาม แทนที่จะกินอาหาร ให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นความจำเป็นของชีวิต กลับไปเสียเงินแพงๆ ซื้อยาบำรุง เพื่อเสริมสวยต่างๆ จุดนี้ ถ้าดูจากยอดซื้อ ยอดขาย ก็ยังรู้สึก ผลงานด้าน การคุ้มครองผู้บริโภค ของเรา ยังทำได้ไม่เท่าไร

หลายชุมชนเริ่มหันมาผลิตยาสมุนไพรต่างๆ ถือว่าเป็นทางออกของการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องได้หรือไม่
มี ๒ แง่มุม ทั้งช่วยเหลือและช่วยทำลาย เพราะความโลภยังมีแฝงอยู่ เราเริ่มต้นรณรงค์ เรื่องสมุนไพร เมื่อปี ๒๐ แต่ถัดมาอีกเป็น ๑๐ ปี ก็เริ่มฟื้นฟูเรื่อง นวดแผนไทยแทน การใช้ยา แก้ปวด เพราะการรณรงค์ ให้ใช้ยาไทย แทนยาฝรั่ง คนยังไม่นิยม ไม่ติดตลาด ใช้แต่ในกลุ่ม คนจน ส่วนคนรวย ยังไม่นิยมใช้ ซึ่งถ้าเป็นของดี ไม่ว่าคนรวยคนจน ควรใช้ได้หมด เราจึงเริ่ม เปิดศักราชใหม่ รณรงค์การนวดแผนไทย ทดแทนการใช้ยา ซึ่งแต่เดิม เราก็ไม่ใช้ยาอยู่แล้ว เรามียาโด๊ปของตัวเอง ก็คือต้นกระท่อม ถ้าต้องทำงานหนัก ก็เคี้ยวกิน กระท่อมเป็นยาขยัน ตรงข้ามกับกัญชา กินแล้วจะขี้เกียจ นอนลูกเดียว แต่กัญชา จะมีประโยชน์ สำหรับคนที่มี อาการปวดมากๆ พวกโรคมะเร็ง หรือเอดส์ เมืองนอก ตอนนี้ นำกลับมาใช้ใหม่แล้ว ทั้งที่แต่ก่อน เป็นองค์ความรู้ของเรา ก็ไปเชื่อเขาว่า ของเราไม่ดี ฟันทิ้งหมด ความจริง ถ้ายอมรับ ในเรื่องของบัวสี่เหล่า คนที่รู้แจ้งเห็นจริง ก็ไม่ต้องกินสิ่งเหล่านี้ คนที่ยังมีปัญหาอยู่ ถ้าจำเป็นต้องกินยา ก็ควรกินสิ่งที่พึ่งตนเองได้ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทุกชาติ ทุกภาษา จะมีต้นหมาก รากไม้ สมุนไพร ที่กินใช้ในชุมชน ของเขาเองได้ แต่กระแสทุนนิยม จะนำไปสู่ การรวมศูนย์ความรู้ รวมศูนย์อำนาจ และบอกว่า นี่ไม่ดี ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็น ของข้าพเจ้า (ต่างชาติ) จะสามารถนำมาขายได้ ถูกกฎหมาย คนไทยเป็นอย่างนี้ ไปเชื่อตามเขา ว่าฝิ่นไม่ดี กระท่อมไม่ดี กัญชาไม่ดี ผิดกฎหมาย ที่ไล่จับกัน แต่กลับปล่อยให้ยาอี ยากระตุ้น ประสาทต่างๆ นำเข้ามาขายได้ อย่างถูกกฎหมาย

กระแสความตื่นตัว เรื่องยาสมุนไพร ตอนนี้เกิดจาก ภาวะเศรษฐกิจ ล้มละลายเฉียบพลัน เราเริ่มปลุกเร้าว่า จะพึ่งตนเองได้อย่างไร และกระแสนี้ ก็ไหลบ่าไปที่ชุมชน เช่นเรื่อง ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์อะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะพึ่งตนเอง ก็ไม่มีปัญหา เข้าไปที่ชุมชน และพูดเรื่อง การพึ่งตนเอง กินใช้ด้วยตนเอง แต่ถ้าคุณจะผลิต เพื่อขายหรือส่งออก ความโลภจะเข้ามา ทำให้เกิดของจริง ของปลอมเต็มไปหมด เช่น หลอกกันว่า เป็นสมุนไพร แต่ใส่ยาฝรั่ง พวกสเตียรอยด์ เข้าผสม มาจากจีน จากไทยสารพัด ซึ่งถ้าผลิตกินใช้อยู่ในชุมชน รู้ว่าใครทำ ใครใช้ อยู่ในชุมชน เราจะไม่ติดใจ ในเรื่องการขึ้นทะเบียน หรือไม่ขึ้นทะเบียน เพราะชุมชน สามารถควบคุมกันได้ แบบนี้ จะไม่มีอันตราย

แต่พอคุณออกนอกชุมชน บางคนมีความโลภเป็นสรณะ อาจทำให้ขบวนการผลิต ไม่บริสุทธิ์ ไม่รู้เติมอะไรเข้ามา กฎกติกาก็ไม่มี สินค้าถูกส่งกว้างไกล ถึงต่างประเทศ ใครจะรับรอง ความปลอดภัย มันจึงโยงกับเรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภค จะบอกเลยว่า ถ้าคุณออกไปขาย นอกชุมชน คุณต้องขึ้นทะเบียนกับ อ.ย. ถึงอย่างไร ก็เป็นหลักประกัน อันเดียวที่พึงมี

ในเชิงวัฒนธรรม มีอีกประเด็น คือเรื่องยาผีบอก กับเรื่องลัทธิปรัชญา เพราะยาผีบอก คือยาที่ ไม่อยากให้ใคร เป็นเจ้าของ จะได้จากการฝัน หรือ จากการบอกเล่า ต่อๆ กันมา โดยต้องการ ให้เผยแพร่ออกไป เป็นวัฒนธรรม ของการแพทย์เชิงตะวันออก ถ้ามองลึกถึงแก่น จะเห็นได้ว่า เป็นความเกื้อกูลกัน ในสังคม แต่ฝรั่งพอคิดอะไรได้ จะบอกก่อนว่า ตนเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็น คนละแนวคิด ระบบการแพทย์ ระบบกฎหมาย จะยึดเป็นเจ้าของหมด และ พอจดลิขสิทธิ์ เป็นเจ้าของ ใครจะเอาไป ต้องขออนุญาตก่อน มิฉะนั้น จะผิดกฎหมาย ส่วนของเรา พอบอกว่า เป็นยาผีบอก กลายเป็นไสยศาสตร์ เป็นสิ่งล้าหลัง มันกลับเป็น คู่ที่ตรงกันข้ามกัน

ไม่ได้ปฏิเสธการค้าขาย ภายใต้โลกาภิวัฒน์
ตอนนี้โลกเหมือนหมู่บ้าน ที่เชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน ถ้ามีการแบ่งปัน ไม่เอาเปรียบกัน จนเกินไป เขาอยู่ขั้วโลกไม่มีอะไรจะกินมีแต่น้ำแข็ง เรามีส่วนที่เหลือก็ส่งไปให้ เราเอง ไม่ได้มีทุกอย่าง อะไรที่เราขาด ก็แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากเขา โลกก็จะมีสันตสุข เราเป็นชาติพันธุ์ ที่โชคดี มีทุกอย่าง ทั้งอาหาร และผลไม้ อากาศก็ไม่เลวร้าย ไม่แล้งจัด ไม่หนาวจัด จึงเป็นเรื่อง ที่เราควรแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ซึ่งกันและกัน อย่างยุติธรรม กับชาติอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนนั้น เราต้องเลือกรับ ปรับใช้อะไร ที่เหมาะกับตัวเองด้วย ในอดีต เรามีการเลือกรับ ปรับใช้เยอะ เพราะลักษณะ การติดต่อสื่อสาร ยังไม่มาก เราต้อง พึ่งตัวเอง เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันนี้ การสื่อสาร เร็วมาก เป็นวินาที สิ่งนี้ยังไม่ทันได้ใช้ ก็มีของใหม่ มาให้เลือกอีกแล้วสารพัด เพราะฉะนั้น เราต้องสู้ กับเทคโนโลยีที่เข้ามากับระบบตรงนี้ลักษณะ ที่บอกว่า พวกเรา ทำกันเอง ให้พึ่งตนเอง ด้วยความซื่อสัตย์ เริ่มหายไป โดยมีความโลภ เข้ามาแทนที่

ตรงนี้ ถามว่ามันผิดหรือมันถูก มีคนหลายชนชั้น แต่เราไม่ต้องการให้ชนชั้นไหน เอาเปรียบใคร ทุกคนมีสิทธิ์เลือก ของตนเองแล้วก็อย่าเอาเปรียบไม่ใช่ราคาแพง แถมคุณภาพ ก็แย่อีก จนเกินขนาด ที่ในแง่เชิงวิชาการ เรารับไม่ได้ ในเชิงวิชาชีพ เราก็รับไม่ได้เช่นกัน

เปรียบเทียบการพัฒนายาสมุนไพรไทยกับยาสมุนไพรจีน
ขึ้นกับศาสตร์ และองค์ความรู้ที่มี จีนมีชุดความรู้ที่เป็นระบบ เพราะเขามีการบันทึก แม้เป็นเรื่องเดียว ก็มีคนบันทึกไว้เยอะมาก ส่วนคนไทย ไม่มีการบันทึกเลย เก็บอยู่ในสมอง ถ้าไม่ใช่ลูกหลาน ก็จะไม่ถ่ายทอดความรู้ให้ และในการถ่ายทอด ก็ไม่ครบอีก จีนเขามี การตรวจสอบ ด้วยระบบ จอหงวน ซึ่งของเราไม่มี จีนจึงมีองค์ความรู้ การแพทย์จีน มีการแมะ มีอะไรสารพัด เป็นชุดความรู้ ที่มีการตรวจสอบได้ มีหลักเหตุผล ที่สอดคล้อง กับชุด ประสบการณ์ โดยทดลองจาก ประสบการณ์ตรง แต่ฝรั่งไม่ทำอย่างนี้ เขาใช้สัตว์ ทดลองก่อน โดยสกัดเป็นสารบริสุทธิ์ เพราะเขาคิดว่า กินสมุนไพรเยอะๆไม่ดี และเขาสามารถ ควบคุม สารสำคัญ ตรงนี้ได้ ถ้ารอปลูกสมุนไพร อย่างเดียวไม่ไหว จึงใช้วิธีสกัด หรือใช้สารเคมี เอามาสังเคราะห์ ซึ่งจะได้ยามากกว่า ส่วนด้านพิษภัยของยา เขาก็ลงไปวิจัยเชิงลึก เราเน้น มองด้านภาพกว้าง แต่เขาเน้นมองในแนวลึก

สำหรับการแพทย์จีน เขาบันทึกไว้หมด และบันทึกอย่างดี เพราะทรัพยากรมีจำกัด และ คนเขาเยอะ ขนาดต้นไผ่ใบไม้ร่วงมา ๑ ใบ เขาก็เก็บไว้ทำเชื้อเพลิง ทำปุ๋ย เขาทำแบบครบวงจร วิถีชีวิตเขา เป็นอย่างนั้น ขณะที่ของเรา มีเหลือเฟือ ทิ้งๆ ขว้างๆ สารพัด จีนซึ่งวัฒนธรรม
เก่าแก่ มีความเจริญ รุ่งเรืองมานาน เขาจึงไม่ใช่วัวลืมตีน การแพทย์แผนไทยของเรา
อีกส่วนหนึ่ง ก็เอามาจาก อายุรเวทของอินเดีย ไปดูตำรับตำราอินเดียมาใช้ โดยมีภาษาบาลี สันสกฤต เป็นต้นรากเดิม และมีส่วนของชนพื้นเมือง ของเราเองผสมด้วย

๓๕ ปีของความเป็นครู
งานที่ทำมีอยู่ ๒-๓ ส่วน ในแง่เป็นครู เราอยากสอนให้ลูกศิษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นอกจาก ถ่ายทอดศิลปวิทยาการความรู้ ให้ไปทำมาหากิน จนเป็นบัณฑิตแล้ว ก็อยากสร้าง ให้เขาเป็น บัณฑิต ที่ออกไปดำเนินชีวิต อย่างดีงามด้วย นี่ถือเป็นหน้าที่ปกติ ที่ทำอยู่ตลอดชีวิต ตั้งแต่ สมัยที่มหาวิทยาลัย ยังไม่เคยพูดกัน เรื่องจริยธรรม แต่เราก็พยายามพูดเรื่องนี้ เสนอไป ตอนปรับปรุง หลักสูตร ปี ๒๖-๒๗ ให้เพิ่มเรื่องนี้ อยู่ในหลักสูตร ตอนนั้น ถกเถียงกันว่า เรื่องจริยธรรม สอนกันได้หรือไม่ เราว่าทำไมจะสอนไม่ได้ เกิดมาทำอะไรไม่เป็น ก็ต้องสอน ไม่เห็นต่างอะไรกัน จะสอนเรื่อง ทางกาย หรือ สอนเรื่องทางใจ ก็ต้องสอนเหมือนกัน สุดท้าย ก็ยอมให้มีการสอนเรื่องนี้ ๑ หน่วยกิตในหลักสูตร แต่มันก็ยังให้น้ำหนัก น้อยนิดเดียว ในเรื่องการสอน ให้บัณฑิต เป็นคน มีจริยธรรม ไม่ขี้โลภมาก ซึ่งเราควรจะสอน ให้นักศึกษา ได้รับรู้ ในเรื่องของเพื่อนมนุษย์ ที่ต้องมองทุกคน เหมือนเป็นญาติ เป็นพ่อแม่ คุณรักษาญาติ พี่น้องตัวเองอย่างไร ก็ควรรักษาผู้อื่น อย่างนั้นเหมือนกัน ทำได้อย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหา ถ้าคุณ ทำไม่ดี อย่าลืมนะ ว่า ความลับไม่มีในโลก ถ้ามันปรากฏต่อสาธารณะ คนที่คุณรักษา เขาจะรู้สึกอย่างไร

เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ก่อนที่สอนเรื่องจริยธรรม ยังไม่เห็นตัวอย่างชัด แต่พอเดี๋ยวนี้ มันชัดเจนขึ้น มีกรณี การฟ้องร้องกันให้เห็น จนลูกหลาน ไม่กล้าไปโรงเรียน เป็นต้น

การรักษาแพงนั้น ก็ยังพอทนได้ แต่บางครั้ง รักษาไม่ถูกต้อง ด้วยมีหลายแบบ ในการที่เป็นครู เรามีหน้าที่ต้องสอนลูกศิษย์ ให้ถูกต้อง ให้เขารู้สึกว่า มีกัลยาณมิตรที่ดี เพราะมีช่วงหนึ่ง คนผิดหวังมาก ว่าทำดีแล้ว ไม่ได้ดี ทำชั่วถึงจะได้ดี ได้ร่ำรวยอะไรต่างๆ แต่เราก็บอกเขาว่า ทำดีก็ได้ดีซิ ทำไมจะไม่ได้ เขาบอกว่า มันยากมาก เราก็ไม่เถียงหรอก เรื่องความยาก แต่คุณต้องคิดว่า เป็นเรื่องท้าทาย ในฐานะ ที่เป็นครู เราต้องคอยให้กำลังใจลูกศิษย์ อีกส่วนหนึ่ง ที่ทำอยู่ก็คือ งานคุ้มครองผู้บริโภค (เรื่ององค์กรพัฒนาเอกชน) โดยมีส่วนร่วม ในการก่อตั้ง กลุ่มศึกษาปัญหายา และ ก็ช่วยกิจกรรมมูลนิธิหมอชาวบ้านด้วย

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)