หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

บารมีธรรม (ปลายิชาดก)


สะสมสร้างเสริมทำดี
บารมีนับวันยิ่งใหญ่
มหาชนเชิดชูภูมิใจ
ไร้ใครอาจหาญต้านทาน

พุทธกาลนั้นเอง มีปริพาชก (นักบวชพวกหนึ่งในชมพูทวีปชอบสัญจรไปที่ต่างๆ เพื่อแสดงทรรศนะ ปรัชญา ทางศาสนาของตน) ผู้หนึ่ง ปรารถนาแสดงภูมิปัญญาของตน จึงท่องเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป (ชื่อประเทศอินเดียในครั้งโบราณ) เพื่อโต้วาทะ(การพูดโต้ตอบเอาชนะ) กับผู้รู้ทั้งหลาย แต่แล้ว ก็ไม่มีใครมาโต้ตอบวาทะด้วยเลย ปริพาชกจึงรอนแรมมาจนถึงเมืองสาวัตถี แล้วเที่ยว สอบถาม ชาวบ้านว่า

"ที่เมืองสาวัตถีนี้ ใครได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้มากที่สุด ผู้นั้นจึงจะสามารถโต้ตอบวาทะกับเราได้ มีบ้างไหมบุคคลเช่นนี้"

บรรดาผู้คนทั้งหลายต่างพากันตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
"พระพุทธองค์นั่นแหละ เป็นสัพพัญญู (ผู้รู้หมดทุกสิ่ง) เลิศกว่ามนุษย์ทั้งปวง เป็นใหญ่ โดยธรรม ย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้ สามารถจะโต้ตอบวาทะ กับปริพาชก เช่นท่านได้ แม้ตั้งพันคน เพราะปราชญ์ทั้งหลาย ในชมพูทวีปนี้ ผู้ที่มีวาทะขัดแย้ง โค่นล้มพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียว บรรดาวาทะขัดแย้งทั้งปวง เมื่อมาถึงพระองค์แล้ว ก็ถูกหักล้าง ทำลายไป จนหมดสิ้น ดุจเกลียวคลื่น กระทบฝั่ง แล้วหายไป ฉะนั้น

"เอาเถอะ ! เดี๋ยวนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ไหน"
"ที่พระเชตวันมหาวิหาร"
"ถ้าอย่างนั้น เราจะไปประวาทะกับพระองค์บัดนี้เลย"

ปริพาชกมุ่งสู่เชตวันมหาวิหารทันที มีหมู่ชนที่ทราบเรื่องพากันติดตามไปดูแน่นขนัด เมื่อมาถึง หน้าซุ้มประตูของเชตวันมหาวิหาร เป็นซุ้มประตูที่พระราชกุมาร พระนามว่า เชตะ ทรงสละ ทรัพย์ เก้าโกฏิ (๙๐ ล้านบาท) สร้างขึ้นอย่างโอ่อ่า โอฬารตระการตา ปริพาชกเพ่งดูแล้ว ก็หยุดชะงัก อยู่ที่ตรงนั้น พร้อมกับถามไถ่ว่า "นี้คือปราสาทที่ประทับของพระสมณโคดมหรือ"

ผู้คนทั้งหลายช่วยตอบให้รู้ว่า "มิใช่ นี่เป็นเพียงซุ้มประตูเท่านั้น"

จากคำตอบนี้เอง ทำให้ปริพาชกถึงกับหวาดหวั่นขึ้นมาในใจทันที ด้วยความรู้สึกที่ว่า
"ซุ้มประตู ยังใหญ่โต ราวกับปราสาทถึงเพียงนี้ แล้วที่ประทับ จะเป็นเช่นไร"

ขณะนั้นเองมีชาวบ้านคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า
"พระคันธกุฎี (พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า) นั้น ประมาณไม่ถูกเลยทีเดียว"

ปริพาชกถึงกับรุ่มร้อนภายใน เหงื่อกาฬแตกด้วยความขลาดกลัว แล้วโพล่งออกไปว่า
"ใครจะไปโต้ตอบวาทะกับพระสมณโคดม ที่มีบารมีถึงปานนี้ได้เล่า"
แล้วก็หลบหนีไปจากที่นั้น อย่างรวดเร็ว

หมู่ชนทั้งหลายจึงส่งเสียงอึงคะนึงขึ้นทันทีว่า "ปลายิปริพาชก (ปริพาชกหนีไปแล้ว)"
"ปริพาชกหนีไปแล้ว.."

แล้วผู้คนทั้งหมดก็พากันเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร พระศาสดาทรงได้ยินเสียงดัง ทั้งแลเห็นผู้คนจำนวนมาก จึงตรัสถามว่า
"นี้มิใช่เวลาฟังธรรม ทำไมจึงมีผู้คนมากันมากมายอย่างนี้หรือ"

หมู่ชนจึงกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระศาสดาเข้าใจเรื่องแล้วได้ตรัสว่า
"ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ปริพาชกนี้พอเห็นซุ้มประตูวิหารเท่านั้นก็หนีไป มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยหนีแล้วเหมือนกัน"

หมู่ชนได้ยินดังนั้น พากันทูลขอร้องให้ตรัสเล่า พระศาสดาจึงแสดงชาดกนั้นให้ฟัง


ในอดีตกาล มีพระราชาพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติที่เมืองตักกสิลา ในแคว้นคันธาระ

ส่วนที่เมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี มีพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ พระองค์ทรงดำริ หมายครอบครอง เมืองตักกสิลา

เมื่อใกล้จะถึงเมืองตักกสิลา ได้หยุดทัพตั้งมั่นอยู่ เพื่อวางแผนการรบ ที่จะเข้าโจมตีเมือง ได้รับสั่งกับไพร่พลทั้งหลาย ก่อนที่จะยกทัพบุกว่า

"เมืองตักกสิลาจะถูกล้อมไว้ทุกด้าน ด้วยกองทัพช้างซึ่งร้องคำรนอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพม้า อีกด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพรถ บุกตะลุยด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพเดินเท้า ที่แม่นธนูด้านหนึ่ง
ท่านทั้งหลาย จะต้องรีบรุกเข้าไป จะต้องรีบบุกเข้าไป ต้องไสช้าง ให้หนุนเนื่องกันเข้าไป ต้องโห่ร้อง ให้สนั่นหวั่นไหว ในวันนี้ ดุจสายฟ้าฟาด จากกลีบเมฆ คำรามอยู่"

พระเจ้าพรหมทัตทรงตรวจพล และปลุกใจเหล่าทหาร ให้คึกคักเข้มแข็ง แล้วเคลื่อนพล ไปสู่ประตูเมือ งตักกสิลา พอมาถึงซุ้มประตูเมือง ที่สง่างามใหญ่โตแข็งแรง ตั้งตระหง่านมั่นคง อยู่ตรงหน้า จึงได้ตรัสถาม ขึ้นมาว่า
"นี่คือพระราชมณเฑียร ที่ประทับของพระราชาหรือ"

"มิใช่พระเจ้าข้า นี่คือซุ้มประตูเมืองเท่านั้น"

พระเจ้าพรหมทัตถึงกับตกพระทัยว่า
"ซุ้มประตูยังใหญ่โตมโหฬาร สง่างามถึงเพียงนี้ แล้วที่ประทับจะขนาดไหนเล่า"

พอดีเสนาได้กราบทูลต่อพระองค์อีกว่า
"พระราชมณเฑียรของพระเจ้ากรุงตักกสิลา นั้น ผู้คนบอกว่ายิ่งใหญ่สวยงาม เป็นเช่นเดียวกับ
เวชยันตปราสาท (วิมานของพรอินทร์)เลยทีเดียว พระเจ้าข้า"

ทรงสดับแล้ว ยิ่งทรงหวาดหวั่นพระทัย อาการที่เคยฮึกเหิม ก็กลับกลายเป็น ขลาดกลัว ทรงไม่แน่พระทัย ที่จะโจมตี ทำศึกสงครามด้วย ในที่สุด รับสั่งกับไพร่พลว่า
"เราไม่อาจสู้รบกับพระราชาที่สมบูรณ์ด้วยบารมีและลาภยศยิ่งใหญ่อย่างนี้ได้"

ได้ทรงหันไปทอดพระเนตร ซุ้มประตูเมืองอีกครั้ง แล้วตัดสินใจรับสั่งว่า "ถอยทัพ"

ความหวาดกลัวเหนือกว่าความอับอาย พระเจ้าพรหมทัตเสด็จยกกองทัพ ถอยหนีกลับคืน สู่เมือง พาราณสีตามเดิม เพียงแค่ได้ทอดพระเนตร ซุ้มประตูเมือง ตักกสิลาเท่านั้น


พระศาสดาทรงแสดงชาดกเรื่องนี้จบแล้ว ตรัสว่า
"พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้มาเป็นปลายิปริพาชกในครั้งนี้ ส่วนพระราชาเมืองตักกสิลาได้มาเป็นเราตถาคตนี้เอง"
(พระไตรปิฏกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๐๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๔๒๒)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)