>เราคิดอะไร

บ้านป่า นาดอย โดย...จำลอง ศรีเมือง

บ้านป่าไม่เหงา มีผู้คนแวะเวียนไปเยี่ยมมิได้ขาด วันก่อน ดร.จีระ หงส์ลดารมย์ พาคณะไปถ่ายทำ โทรทัศน์ เพื่อออก อากาศในรายการที่ท่านจัดเป็นประจำ ดร.จีระ มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างประเทศ ส่วนตำแหน่งที่ผมรับเป็นที่ปรึกษานายกฯนั้น เพียงแค่ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในประเทศ ขอบเขตแคบ กว่าของท่านมาก

คุยกันหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องโรงเรียนผู้นำ สังคม การเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดร.จีระ เป็นนักวิชาการ ที่มีชื่อเสียงมา นาน คุยสนุกมีเนื้อหาสาระ ท่านมอบหนังสือของท่านไว้เล่มหนึ่ง "ทรัพยากรมนุษย์พันธุ์แท้"

ผมนั่งเขียนที่บ้านป่ามาถึงตรงนี้ก็พอดีมีโทรศัพท์จากกรุงเทพฯ นักจัดรายการหนุ่มคนหนึ่ง ขอให้ผม ร่วมรายการ โทรทัศน์ "แฟนพันธุ์แท้" โดยส่งของที่ระลึกอะไรก็ได้ ไปที่เขา แล้วเขาจะเอาไป ออกโทรทัศน์ ผมไม่อยากจะเป็นข่าว จึงขอตัวพร้อมกับขอบคุณ ที่ให้เกียรติผม

เพิ่งรู้ คำว่า "พันธุ์แท้" กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

พูดถึงคำถึงชื่อ วันก่อนเพื่อนนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับผมแวะไปเยี่ยมที่เมืองกาญจน์ บังเอิญผมไม่อยู่ เลยไม่ได้พบ กัน เพื่อนผมคนนี้ชื่อแปลก ชื่อ "กถา" คงจะมีคนเดียวในประเทศไทยที่ชื่อนี้ ตอนเป็น นักเรียนนายร้อยปีแรกๆ เขาชื่อ เดียวกับผม คงเห็นว่าไม่เพราะ และเป็นชื่อตลาดๆ ใช้กันกลาดเกลื่อน จึงเปลี่ยน แต่เพื่อนๆ รวมทั้งตัวผมด้วยยังนิยม เรียกเขาว่า "จำลอง"

เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยอีกคนหนึ่งชอบเรื่องขลังๆ และสนุกกับโชคลาง ชื่อไม่ซ้ำกับเพื่อนๆ ใช้ชื่อเดิมว่า มนูญ มาจนแก่ ถึงได้เปลี่ยนเป็น มนูญกฤต

เกิดเรื่องราวในวุฒิสภาอยู่หลายเดือน สมาชิกขอให้ออกตามคำพูดตอนที่กำลังแข่งขันเป็นประธานว่าจะอยู่ ๒ ปีนี่ครบ ๒ ปีแล้วยังไม่ออก เพื่อนผมก็เถียงว่าไม่ได้พูด ไม่ได้หมายความอย่างนั้น พอถึงเวลา ประชุม วุฒิสภา เกิดความวุ่นวาย ทุกครั้ง มีสมาชิกเข้าประชุมครบบ้างไม่ครบบ้าง ตอนที่ครบ ก็ไม่ได้ประชุม เรื่องอื่น พูดกันอยู่เรื่องเดียวคือ ออก-ไม่ออก เป็นที่เอือมระอา ถึงขนาดมีสมาชิกด้วยกันเอง เสนอว่า สมาชิกวุฒิสภา ทั้ง ๒๐๐ คน น่าจะต้องลาออกให้หมด

ในที่สุดมนูญก็ตัดสินใจลาออก สมาชิกขอให้ออกวันที่ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ มนูญขอออก วันที่ ๔ มกราคม หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นวันนั้น มนูญบอกเพราะเป็นวันทหารม้า ได้ผล ในการโฆษณา ทำให้หลายๆ คนรู้จักวันทหารม้า

ตอนที่เป็นประธานวุฒิสภาใหม่ๆ ท่านกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก ๓ คน นัดไปคุยที่บ้านผม ในกรุงเทพฯ ท่านและเพื่อนๆ หวังดี ต้องการให้ผม เป็นประธาน องค์กรประชาชน ที่ต่อต้านการโกงกิน ผมขอตัว เพราะมีงานมาก ตั้งแต่วันนั้น ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย

เพื่อนรุ่นเดียวกัน เวลาเรียนมักจะเรียก "ไอ้" นำหน้า ส่วนผมใช้คำว่า "เจ้า" พ้นจากตำแหน่ง ประธาน วุฒิสภาแล้ว ไม่ทราบว่า "เจ้านูญ" ของผมจะต้องเปลี่ยนชื่ออีกหรือเปล่า

ผมอยู่กลางดงกลางป่า มีคนนัดให้ไปกรุงเทพฯ เป็นระยะๆ ไปทำพิธีรับมอบข้าวสารมูลค่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท จาก บริษัทบางจาก เพื่อส่งไปช่วยชาวอิรัก บริษัทบางจาก เปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วม ในการบริจาคเงิน ด้วยวิธีง่ายๆ ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึง ๓๑ พฤษภาคม ใครเติมน้ำมันตราใบไม้ (ใบเดียว) ทุกๆ ลิตร จะหัก ๒ สตางค์ไปซื้อข้าว ครึ่งเดือนพฤษภาได้๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท สิ้นเดือนจะได้อีก๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

ท่านสมาชิก "เราคิดอะไร" หลายท่านได้ช่วยบริจาคผ่านการเติมน้ำมันบางจากไปบ้างแล้ว นับตั้งแต่ เริ่มโครงการ มีผู้ให้เงินตั้งแต่ ๒๐ บาท เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นก็มี บางบริษัท ให้เป็นอาหารแห้ง รวมคิดเป็นเงิน จะได้ทั้งหมด ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ซึ่งหลังจากส่งข้าวไปงวดแรก ๓๐ ตันแล้ว เราจะส่งไปอีก จนครบจำนวน ที่รับบริจาค

ระหว่าง วันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ พฤษภาคมที่ผ่านมา สมาชิก "เราคิดอะไร" หลายท่านคงไปร่วมงาน "กสิกรรมเพื่อฟ้าดิน" ที่ชุมชนราชธานีอโศก อุบลราชธานีมาแล้ว เป็นงานใหญ่มาก ที่มีผู้ร่วมงาน ถึง ๕,๐๐๐ คน ไม่ใช่ไปร่วมงานเฉยๆ แล้ว กลับ แต่พักอยู่ด้วยกับชาวชุมชน อย่างน้อย ๓ วัน ๓ คืน

คนมาก ปัญหาต้องมากตาม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการรับประทาน เอาแค่การอาบน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ไม่ง่าย เสียแล้ว จะไปหาน้ำที่ไหนมาให้อาบ เจ้าภาพที่ต้องจัดงานคือธนาคาร ธ.ก.ส. และเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ ชาวอโศก ไม่ ลำบากใจเลย มีแม่มูลให้อาบทั้งแม่น้ำ อาบกันอย่างฉ่ำชื่น จะอาบกัน วันละกี่ครั้ง ก็ไม่มีใครว่า

การฝึกอบรมเกษตรกรพักชำระหนี้ผ่านไปสองปีเศษ เจ้าภาพเชิญตัวแทนเฉพาะจากภาคอีสานไปพบกัน ร่วมกิจกรรม มากมายหลายอย่าง และย้ำยืนยันว่าได้ผลอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ยิ่งมีความมั่นใจขึ้น และผู้ผ่านการฝึก อบรมก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี พิสูจน์ได้อีกว่า เกษตรกรรายย่อย จะหมดหนี้สินได้ ด้วยการลดต้นทุน การผลิต และ เปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งเป็นจุดเน้น ของการฝึกอบรม ๕ วัน ๔ คืน

ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมและร่วมพิธีวันครบรอบ ๓๐ ปี ของโรงเรียนผู้นำแห่งที่สอง ของเกาหลีใต้ (โรงเรียนชาวนาคานาอาน) ซึ่งผมได้รับเชิญ ก่อนที่จะกำหนด จัดงานกสิกรรมเพื่อฟ้าดิน จึงไม่ได้ไปร่วมงาน ฟังจาก การบอกเล่า ของแม่บ้าน (คุณศิริลักษณ์) และผู้ที่ไปร่วมงานคนอื่นๆ

เครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปกรุงโซล ต้องแวะเติมน้ำมันที่ไต้หวัน ตอนขึ้นจากดอนเมือง เห็นผู้โดยสาร สวมผ้าปิดจมูก สองสามคน พอลงที่ไต้หวันสวมกันเกือบทั้งลำรวมทั้งตัวผมด้วย ที่จริงผมไม่ใคร่กลัว โรคซาร์สเท่าไร เพราะประมาท นิดๆ ว่า แข็งแรงเสียอย่าง โรคภัยจะทำอะไรได้ แต่ต้องการจะลองดูว่า ผมใส่เครื่องปิดจมูก ๑ ชั่วโมงเต็มๆ จะทนอึดอัดไหวไหม

สายการบินแจกผ้าปิดจมูกให้ผู้โดยสารคนละ ๔ ผืน ผมลองดูแล้ว หายใจไม่อึดอัดเท่าไร คิดว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ ต้องสวมผ้าปิดจมูก ติดต่อกันหลายชั่วโมง ก็ทนได้

เครื่องปิดจมูกที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ (โดยเฉพาะชาวไต้หวัน) มีลักษณะแปลกๆ ดูแล้วก็ขำ คนที่เคย รู้จักกันมาก่อน เมื่อสวมใส่เครื่องกันโรคซาร์สแล้ว จำกันไม่ได้

ขากลับเครื่องบินไม่แวะไต้หวัน เพราะผู้โดยสารขอยกเลิก เลยไม่ต้องเสียเวลา และไม่ต้องเสี่ยงกับโรค ที่กำลังระบาด อยู่ในไต้หวัน

ในการประชุมโรงเรียนผู้นำเกาหลี มีการแถลงความคืบหน้าของ "โครงการพัฒนาผู้นำไปปสู่ชาวโลก" นำภาพไปฉาย นำเอกสารไปแจก เขามีสาขาในประเทศต่างๆ ๑๐ ประเทศ (ของเราแห่งเดียว ในประเทศ ก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว) คุณโสภณ สุภาพงษ์ ครูคนหนึ่ง ของโรงเรียนผู้นำ ซึ่งผมเคยเชิญ ให้ไปดูงานที่นั่น ชมเสมอๆ ว่า คนเกาหลี เขาเอาจริงทำ อะไรทำจริง

เขาเคร่งมาก เมื่อพักค้างที่โรงเรียน เช้าตรู่จะเรียกแขกที่ได้รับเชิญ ให้ออกไปวิ่ง ออกกำลังกาย แม้จะไม่ได้ เตรียมรองเท้าผ้าใบไป ก็ต้องวิ่งโดยใช้รองเท้า ที่ใส่ไปงานไปการนั่นแหละ สำหรับแขกผู้หญิง ต้องใส่รองเท้าส้นสูงวิ่ง ไม่มีใครบ่น ไม่มีใครตำหนิเจ้าภาพ

โรงเรียนผู้นำเกาหลี กำลังมาเปิดสาขาในเมืองไทยที่จังหวัดเชียงราย เพื่อสอนชาวเขา ผมเสนอว่า น่าจะเปิดสอนผู้บริหาร เขาถ่อมตัวว่าคงทำได้ไม่ดีไปกว่าโรงเรียนผู้นำของเรา จึงของฝึกอบรม แค่ชาวบ้านก็พอ

เมื่อผมกลับจากโรงเรียนผู้นำเกาหลีได้ไม่กี่วัน นักวิชาการจากสถาบันพัฒนาผู้บริหาร ของกระทรวง ศึกษาธิการ ไปปรึกษาหารือว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะทำนโยบาย ของท่านนายกฯ จะต้องฝึกอบรม ผู้บริหารของกระทรวงศึกษา ธิการประมาณ ๕๐,๐๐๐ ในเวลา ๕ ปี เขาได้พิจารณากัน อย่างถี่ถ้วนว่า มีแห่งเดียวที่จะช่วยได้ คือโรงเรียนผู้นำที่ กาญจนบุรี

เราฝึกอบรมปีละพันจะให้เพิ่มเป็นปีละหมื่น ขอคิดดูก่อน

การสอนโดยไม่ได้เงินเดือน เราตระหนักดีว่าเป็น "บุญนิยม" ที่จะต้องระดมกัน แต่ถ้าผู้เข้ารับการอบรม มากเกินกว่า กำลังของเรา ที่จะรับได้ คงลำบาก

อาจารย์เตือนใจ ศรีมารุต เจ้าของรายการพัฒนาเด็ก "โลกใบจิ๋ว" ทางโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ส่งข่าวให้ผมทราบว่า มีการ ประชุมกันที่บริษัทแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ที่ประชุมมีมติ ให้ผมเป็นหัวหน้าคณะ เชิญชวนผู้คน ให้ระลึกถึงสันติภาพ ในวัน สันติภาพโลก ๒๑ กันยายน ที่จะถึงนี้ (ไม่ใช่ ๑๖ สิงหาคม อย่างที่เข้าใจกัน)

ผมเคยมีส่วนร่วมงานทำนองนั้นเมื่อหลายปีมาแล้ว สมัยที่ผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผลของการประกาศ เชิญชวน ในครั้งกระนั้น มีเพียงองค์กรเดียว ที่ปฏิบัติติดต่อกันมา จนถึงทุกวันนี้ คือ เครือข่ายชาวอโศก

ตอนเที่ยงตรงหน่วยงานของชาวอโศกทุกจังหวัดจะหยุดนิ่ง ๑ นาที เพื่อรำลึกถึงสันติภาพ

เนื่องจากเพิ่งเกิดกรณีอเมริกาแหกกฎบัตรสหประชาชาติ ยกพลบุกอิรัก จึงมีการริเริ่มกิจกรรมนี้ ขึ้นมาอีก โครงการชื่อ "สงบเพื่อพบโลกใหม่" คงจะเห็นชัดว่า "โลกเก่า" มีสันติภาพไม่ได้สักที หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๑ องค์การสันนิบาต ยับยั้งสงครามไม่ได้ จึงเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และแก้ด้วย การตั้งองค์การ สหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ ก็หยุดยั้งสงครามไม่ได้ อีกหลายต่อหลายครั้ง จนถึงสงครามอิรัก

ในที่ประชุมริเริ่มโครงการดังกล่าว ผมและญาติธรรมชาวอโศกไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย มีการเสนอว่าวันที่ ๒๑ กันยายน จะมีขบวนรถเดินทางไปหยุดที่ศาลีอโศก (สาขาของสันติอโศก) แล้วเดินทางต่อ ไปชุมนุมกัน ที่เชียงใหม่

เมื่อถึง ๑๗-๒๐ พฤษภาคม ทุกปีจะมีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ "พฤษภาประชาธรรม" ซึ่งผมเป็นคนหนึ่ง ที่ได้รับ เชิญให้ไปร่วมทุกกิจกรรม นอกจากนั้นสื่อมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ตามสัมภาษณ์ยาวๆ เพื่อเผยแพร่

ผมได้กำหนดตัวเองไว้ตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ ว่าผมขอไปร่วมเฉพาะพิธีสงฆ์ และพิธี ที่เกี่ยวเนื่องกับพิธี สงฆ์เท่านั้น เช่น การวางพวงมาลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปีนี้ก็เช่นกัน ผมขอ ไม่ปรากฏตัว ไม่ร่วมอภิปรายหรือร่วม นั่งที่อยู่ในห้องประชุมที่มีการพูดถึงเรื่องนั้น เพราะจะต้องมีการ ถามผม ให้ผมเล่าบางตอนของเหตุการณ์ ซึ่งกลายเป็น การอวดตัวอวดตน ไม่เหมาะ กับสื่อมวลชน ผมก็ขอตัว เช่นกัน

ผมสนับสนุน ผมชมผู้ที่จัดงานทุกปี และติดตามกิจกรรมจากสื่อต่างๆ

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมชั้น ๔ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณหมอ ประเวศ วะสี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษไว้ดีมาก ท่านสมาชิก "เราคิดอะไร" อาจไม่ทราบ ผมขอนำ ตอนหนึ่ง มาลงดังต่อไปนี้

"ประชาธิปไตยในช่วงต่างๆ จะเจอปัญหาต่างกัน ตนคิดว่าประชาธิปไตยควรเกิดจากมโนธรรมสำนึก ควรเป็นการ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน อย่างเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องพื้นฐาน ปรัชญาประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิต่างๆ ของการ พัฒนาทั้งปวง

แต่ประชาธิปไตยปัจจุบันของไทยเป็นประชาธิปไตยทางกลไก ที่ยังขาดมโนธรรมสำนึก ของประชาธิปไตย ที่แท้จริง เพราะประชาธิปไตย ทางกลไกเป็นเพียงแค่ กลเกม กลโกงเท่านั้น ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน แม้โครงสร้างต่างๆ จะเปลี่ยน ไป แต่เรายังอยู่ในอำนาจนิยมมาโดยตลอด ยังเป็นระบบของคนข้างบน มีอำนาจเหนือคนข้างล่าง ปัญหาเหล่านี้ทับถม จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ คือการซ้อนทับ ของทุนนิยมข้ามชาติ ที่มีผลกระทบ ต่อประชาชนมากมาย ทั้งเรื่องสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อม

ปัญหาในปัจจุบันซับซ้อนยุ่งเหยิง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งประชาชน ดูเหมือนจะชอบ การตัดสินใจ ที่เด็ดขาด ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ในสมัยก่อน ความโลภของคนมีจำกัด ไม่มาก เพราะการฆ่าสัตว์ มาบริโภค ถ้าฆ่ามามาก จะบูดเน่า แต่ หลังจากมีเงินขึ้นมา เงินเป็นของไม่เน่าเสีย มีแต่จะออกดอกออกผล ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น ตัวเงินจึงเป็นตัวขยาย ความโลภของมนุษย์ออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อความโลภ ไม่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรมีที่สิ้นสุด ความโลภจึงไปทำลายชุมชน ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน กลายเป็น ตัวใครตัวมัน ความเป็นปึกแผ่นของสังคม ก็แตกแยก นำไปสู่สงคราม จะเห็นว่า ทุนนิยมข้ามชาติ รบกวน ทุกๆอย่าง ทำลายวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นเพราะว่า มหาอำนาจ ต้องการให้มีเพียง วัฒนธรรมเดียว หากใครไม่มี ต้องปราบ เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจแบบทุนนิยมข้ามชาติ จึงเรียกได้ว่าเป็น เศรษฐกิจสงคราม สร้างความปั่นป่วน โกลาหล ทำให้สังคมเปลี่ยน จากสังคมแบบตรงไปตรงมา กลายเป็นสังคมซับซ้อน คนเข้าใจยาก มีหลายมิติเชื่อมโยงกัน ไม่ตรงไปตรงมา เหมือนเมื่อก่อน ไม่มีความชัดเจน การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ก็รวดเร็ว ไม่สามารถทำนายได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น"

คุณหมอประเวศ ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นเศรษฐกิจสงคราม ผมขอเสริมว่า เพื่อให้เกิดสันติ ทั้งในตัวเราเอง และ ในสังคมเราจะต้อง

"สร้างสมบุญนิยม ระดมจิตวิญญาณ"