เรื่องสั้น - กิ่งสน -
กาฝาก กาชาด

๑.....
"สามหมื่น หน้าลาน สองหมื่นห้า ในสวน หนึ่งหมื่นห้า ในตำหนัก หนึ่งหมื่นฝั่งไกลโน่น เมตรครึ่ง คูณเมตรครึ่ง เอาไหมครับ รับบัตรคิวเลยครับ"

"ไอ้น้อง กระทรวงพี่ สามบู๊ธ"

"ของกระผม ห้านะพี่"

"กระทรวงผมอีกสามล็อค จะมาจัดร้านได้เมื่อไหร่"

"ได้เลยพี่ เขาทำกันมาสิบวันแล้ว พี่ไม่รู้หรือ พี่รีบขนอุปกรณ์มาก่อสร้างได้เลย"

"รองบอยู่เนี่ย เจ้านายไปราชการยังไม่เซ็นให้เลย"

"เท่าไหร่ของพี่"

"ไม่รู้สิ แต่เหมาค่าแรงไปห้าหมื่น"

"กระทรวงผมสิ ได้แค่สองหมื่น ไม่เหมือนของกระทรวงโน้น ตั้งแสนกว่า"

ยายเดินเลี่ยงออกมา แดดร้อนเปรี้ยง แผดเผาผิวกายเหี่ยวย่น ยายเดินทั้งวัน ความจริงต้องบอกว่า สองวัน เมื่อวานยายก็มาเดินสำรวจไปรอบหนึ่งแล้ว วันนี้เห็นเขามาตั้งกองอำนวยการงานกาชาด งานที่ยิ่งใหญ่สุดในความรู้สึกของยาย งานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ งานกาชาดที่รวมสรรพสิ่ง งานกาชาด ที่บอกว่า ช่วยคนช่วยชาติ

"ป้าๆ ถอยไปหน่อย ตรงนี้นั่งไม่ได้ เขาขนของอยู่เห็นไหม"

ยายเดินเลยไปอีกหน่อย ต้นไม้ต้นน้อยริมฟุตปาธสูงเลยหัวไปไม่กี่คืบ มีร่มเงายามแดดเที่ยงวัน ให้เห็นพอรำไร ยายอาศัยหย่อนก้นนั่งลงไปอีก รองเท้าสานจากผักตบชวาที่ยายสวมชื้นเหงื่อ และทิ้งคราบฝุ่นดำ เมื่อยายถอดออก ผู้คนมากมายเดินผ่านหน้า ชายสองคนทิ้งตัวลงนั่ง ไม่ไกล จากยายมากนัก คนหนึ่งควักบุหรี่ขึ้นมาจุดไฟพ่นควันโขมง ยายอยากลุกหนี หากระยะพ้นเลย ไปกว่านี้ ไม่มีร่มเงาของต้นไม้ต้นใดให้อาศัยหลบร้อน ยายกลั้นลมหายใจผ่อนแผ่ว ภาวนาให้ลม พัดมาสักเฮือกหนึ่ง พัดพาควันบุหรี่ล่องลอยไปที่อื่น หรือหวนไปรุมเอาไอ้คนปล่อยควันอยู่นั่น ให้มากๆ แต่คำภาวนาไม่เป็นผล ชายหนุ่มยังพ่นควันบุหรี่พรืดพราดอย่างระบายอารมณ์ ไม่สนใจ กะอีแค่คนแก่ๆ คนหนึ่ง

"ห่าเอ๊ย..แม่ง! ทำไมไม่ให้วะ"

"โซนนี้ของพวกกระทรวงต่างๆ เขานะอา"

"แม่ง!อดเลย กูกะฟันสักแสนเชียวงานนี้"

"ล็อครอบๆ ก็ได้แล้วนี่ อา ได้กี่ล็อคล่ะ"

"โซนโน้น ไกลเลย รอพวกบริษัทเอกชนมาลง ได้แค่สิบล็อค อุตส่าห์ขนชื่อบริษัทเมีย น้องเมีย แม่ยาย พี่ป้าน้าอามาจองแล้วนะมึง สารพัดบริษัทแล้ว แม่ง!ให้แค่สิบล็อค ปีนี้มันมีหลายกลุ่ม มาแย่งว่ะ กูจองไว้ล็อคละหมื่น"

"แล้วปล่อยเท่าไหร่อา"

"ห้าวันนี้ปล่อยหมื่นห้า ก่อนงานสองวัน กูจะปล่อยสองหมื่น กำไรน้อยว่ะปีนี้ คู่แข่งเพียบ"

"ซอยช่องสิอา ได้กำไรกว่า"

"ต้องโซนริมถนนโน้น กูกะปล่อยช่องละห้าพัน มึงอย่าลืมมาช่วย ต้องรอวันงาน คนขนของมา แปะเยอะ มาถึงแล้วเท่าไรมันก็เอา"

ยายมองหน้าคนพูด ปล่อยให้คำพูดเข้าหูด้วยกิริยาอาการดังลมผ่านหู เหมือนไม่สนใจต่ออะไร ดุจดั่ง ที่เขาสองคนไม่สนใจคนแก่ ท่าทางบ้านนอกคอกนาคนหนึ่ง

ใช่ ยายมาจากบ้านนอก ยายมาหาที่ขายของในงานกาชาด งานที่ยิ่งใหญ่โด่งดังไปจนถึงบ้านนอก คอกนา สินค้าของยายไม่ใช่สินค้าแบรนด์แนมยี่ห้อดังมาจากไหน มันเป็นเพียงงานหัตถกรรมเล็กๆ หัตถกรรม จากสองมือที่กร้านกรำงานหนักมาจนสุดท้ายบั้นปลายชีวิต มันคืองานที่บางคน อาจไม่เห็นคุณค่าอะไร งานที่บางคนรังเกียจเสียด้วยซ้ำ ซ้ำผลงานของจากหยาดเหงื่อแรงกายนั้น ก็เป็นสิ่งต่ำต้อย ด้อยค่า แต่สำหรับยาย มันเป็นความสุขเป็นความยิ่งใหญ่ งานหัตถกรรมผักตบ ชวา ที่ยายถักทอก่อสานมันให้เป็นรองเท้า...ยายทำทั้งเดือน ตั้งแต่ได้ยินข่าวงานกาชาด ยายตั้งใจ แน่วแน่จะเอารองเท้าของยายมาขายในงานกาชาด

"สามหมื่น สองหมื่นห้า หนึ่งหมื่นห้า หรือรอช่องซอยเมตรคูณเมตรของผีดูดเลือดสองตัว ที่นั่งอยู่ ข้างยายนี้ ก็ห้าพันเชียวหรือ" ยายสะอึก ชั่วนาตาปีตาชาติ ยายไม่มีเงินเก็บถึงห้าพันกับเขาสักที เมืองกรุง พูดกันแต่เงินเรือนหมื่น เรือนแสน เขาเอาเงินทองมาแต่ไหนนักหนา


๒......
บ่ายคล้อย ผู้คนหลั่งไหลขนข้าวของเข้ามาก่อสร้างอะไรต่ออะไรมากมาย ล้วนแล้วแต่รูปร่าง แปลกตาต่อหน้ายาย ยายออกเดินอีกหน่อย ผู้คนพูดคุยกันผ่านเข้าหูยายอีกแล้ว

"อยากรู้จังค่ะ บู๊ธของกระทรวง ทบวง กรม ไหนจะสวยที่สุด"

"ใช่ เขามีการประกวดหรือเปล่าล่ะ"

"ไม่รู้สิ"

"ดูของกระทรวงโน้นสิ พี่เห็นแบบแล้วนะ! ราวกับยกพระราชวังมาตั้งไว้เลยนะ สวยมาก งบตั้ง ครึ่งล้านโน่น พี่ว่ากินขาด"

"นี่ก็ใช่ย่อยนะพี่ คอยดูก่อนเถอะ! เขาเน้นการแต่งไฟ งานสไตล์ไทยเดิมย้อนยุค เขาออกแบบเฉพาะ เลยนะ"

"แพงน่ะสิ ไหนจะค่าออกแบบ ค่าของ ค่ารับเหมาก่อสร้าง"

"บู๊ธโน้นสิครับ สุดยอด ของนำเข้าทั้งนั้นเลยล่ะ ขนมาจากเมืองจีนโน่น เพื่อนผมรับเหมาได้ ไปดูกันไหม ตั้งสามแสนแน่ะครับ"

"แค่ตัวเลขก็น่าคิดแล้ว อยากรู้จริง ว่าบู๊ธไหน ใช้งบประมาณมากที่สุดในการออกร้านงานกาชาด"

ใช่ ยายเองก็อยากรู้ และอยากรู้มากกว่านั้นเสียอีก เขาเอาเงินมาจากไหนกันมากมายนะ ราชการต่างๆ นั่นมันของหลวงหรือไม่ใช่ ไอ้เจ้ากระทรวง ทบวงกรมที่พูดๆ กันนี้มันคืออะไร

ยายฝันมานานแล้ว ฝันตั้งแต่สาวจนแก่ ฝันว่ายายจะได้มาเที่ยวงานกาชาดที่กรุงเทพฯ ฝันที่จะได้ เอาสินค้าของยายมาโชว์ให้คนกรุงเทพดู ฝันว่าตัวเองนั่งอยู่บนเก้าอี้เตี้ยๆ นั่งถักทอก่อสานรองเท้า ผักตบชวา พูดคุยทักทายกับคนเมืองกรุง ยายจะผิดหวังหรือนี่ ในเมื่อวันนี้ยายบุกบั่นฟันฝ่ามา จนถึงที่นี่ งุบงิบเก็บเงินแอบตาเฒ่าคู่ชีวิตไว้เป็นค่ารถค่ารา ค่าข้าวปลาอาหารเพื่อรอวันนี้แห่งปี

ยายฝันจะมีคนเมืองมาสนใจซักถามอาชีพพิเศษของยายบ้าง ฝันว่าจะได้บอกเล่าคนเมืองถึงที่มา แห่งมัน ได้บอกเล่าพูดคุยถึงกรรมวิธีถักทอก่อสานรองเท้าผักตบชวา ยายจะเริ่มเล่าตั้งแต่ เจ้ากอ ผักตบลอยเท้งเต้ง อยู่ในคลองโน่นทีเดียว ฝันว่าจะมีนักข่าวสักคนมาถ่ายรูปรองเท้าของยาย ยายอาจ ได้ออกทีวีกับเขาบ้างก็ได้

ลูกสาวยายทำงานและมีครอบครัวอยู่กรุงเทพฯ บอกสายรถเมล์ที่จะมาสวนอัมพรให้แม่ แล้วก็ไม่ได้ สนใจการจะไปจะมาของแม่ ยายเข้าใจ และเป็นคนบอกลูกเองว่าต้องการอย่างนี้ ลูกสาวลูกเขย ทำงานเป็นลูกจ้างเขาทำงานเต็มเวลา และล่วงเวลาบ่อยๆ กลับมาบ้านซื้อแกงถุง เข้ามา เสียบหม้อข้าว กินแล้วนอน เช้าออกไปทำงานกันแต่เช้ามืด ลูกสาวไม่มีลูก ยายเลยไม่มีหลาน ที่จะเลี้ยง เวลาว่างยายเลยสานรองเท้าผักตบชวางานที่สร้างความฝัน อยากมาร่วมงานกาชาด ที่กรุงเทพฯ

งานก่อสร้างเวที ซุ้ม ฉาก งานออกร้าน สรรพสิ่งแปลกตาของยายผุดขึ้นใหม่ทุกวัน ยายเดินดู ร้านโน้น ร้านนี้จัดตกแต่งร้านกันอย่างเพลิดเพลิน หากหัวใจยายมีคำถาม พวกเขาเอาเงินมา จากไหนกันนักหนาหนอ เสร็จจากงานเก้าวันสิบวันนี้ พวกเขาจะเอามันไปไหน คำถามยายแรก ยายไม่กล้าถามใคร แต่คำถามที่สอง ยายได้คำตอบ

"ก็รื้อๆ ทิ้งไปแหละป้า เก็บไปใช้เท่าที่เก็บไปได้ ส่วนมากก็ขนไปเป็นขยะที่สำนักงาน"

"ไม่เก็บไว้สร้างใหม่ล่ะพ่อ"

"ไม่ทน ปีใหม่ก็ของบซื้อใหม่ สะดวกกว่า แต่บางชิ้นก็ยังใช้ได้นะ แต่ไม่ค่อยได้เอามาใช้หรอก มีพวกสลัมมาขอ ขนไปสร้างบ้านเหมือนกัน ป้าอยากได้ก็รอหลังงานสักวันสองวันล่ะ"

เขาสร้างเวทีใหญ่ ประดับดอกไม้และริ้วผ้าหลากสีสันตระการตา เขาสร้างประตูเมืองมหึมา ขึ้นต่อหน้ายาย สร้างสวน สร้างน้ำตกจำลองเหมือนจริง และมีน้ำไหลริน เขาสร้างปราสาท พระราชวัง สร้างบ้านทั้งหลังจริงๆ ขึ้นบนพื้นปูนนั่น สร้างร้านค้า ร้านอาหารน่านั่งกินใหญ่โตโอฬาร เขาสร้างสรรพสิ่งขึ้น ภายในสิบวันนั้น คนงานแต่ละจุดเป็นสิบคน แว่วเสียงพูดคุย ว่าเป็นบริษัท รับเหมาก่อสร้างมาด้วยเงินเรือนหมื่นเรือนแสนทั้งนั้น เขาเอาเงินมาจากไหนกันนักหนาหนอ

คืนนี้ยายอยู่ดึกกว่าทุกวัน พรุ่งนี้เป็นวันงานแล้ว ดูราวผู้คนที่นี่จะไม่ยอมหลับนอนกันในคืนนี้ ผู้คน มากมายกว่าทุกวัน แสงไฟสว่างไสวเตรียมความพร้อม กรุงเทพฯเหมือนกลางวันเสียจริงๆ ยายตื่นตา ไปหมด ราวกำลังหลงเดินอยู่ยังดินแดนมหัศจรรย์ ท่ามกลางเมืองที่มีสิ่งก่อสร้าง อันงดงาม ตระการตา ยิ่งใหญ่อลังการ ผู้คนมากมายสับสน ร้านอาหารเปิดขายแล้ว ตั้งแต่สองวัน ก่อนวันงาน ร้านรวงอื่นๆ เริ่มทยอยเปิดขาย คืนนี้พวกเขาคงขนของจัดของกันทั้งคืน แต่ยายยังหาที่ ขายของไม่ได้เลย เพราะยายไม่มีเงินหมื่น

"บ้าเอ๊ย มันบู๊ธผีนี่หว่า เล่นจองกันเอง แล้วมาปล่อยพ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่นทีหลัง แม่มันฟันไปกี่พัน แล้ววะ มึงเอาไหม ไงก็ต้องเอานะ ขนของมาแล้วนี่ ไอ้ห่า กูรู้ว่ามีล็อคว่าง แต่ไม่คิดว่าพวกมัน เล่นกันไปแล้ว ไม่รู้กว่าจะมาถึงเรานี้ มือที่เท่าไรแล้ว" คำพูดผ่านหูยายไปอีกแล้ว

"พี่ๆ เอาไหม สองเมตรครึ่ง คูณสองเมตรครึ่ง สองหมื่นห้าพี่"

"อยู่ในสุดนะพี่ เมตรคูณเมตร เอาไปเจ็ดพันก็แล้วกัน เอาก็เอานะสุดท้ายแล้ว"


๓.........
วันงาน ยายยังมีความหวัง ยายหมายตาเอาไว้แล้ว กระทรวงนั่น ยายเคยได้ยินชื่อ ผู้ใหญ่บ้าน เคยเอ่ย ให้ยายได้ยินเขาว่า เป็นกระทรวงที่ช่วยเหลือคนจน เป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือคนยากจน ขาดแคลน คนในท้องถิ่นทุรกันดาร พวกเขาสร้างปราสาทรูปร่างแปลกตา ภายในจัดกระดาน ติดรูปภาพไว้มากมาย จริงดังผู้ใหญ่ว่า ยายเดินไปดูกับเขาเหมือนกัน มีรูปภาพกำลังแจกของ ให้ชาวบ้าน รูปกำลังแจกผ้าห่ม เสื้อกันหนาว มีรูปช่วยเหลือคนถูกน้ำท่วม พร้อมถ้อยคำบรรยาย มากมาย นั่นล่ะ ความหวังของยาย ข้างประตูทางเข้าปราสาทใหญ่ มีที่ว่างพอที่ยายจะหย่อนก้น ลงนั่ง มีที่ว่างพอจะวางถุงปุ๋ยลายน้ำเงินขาวเก่าๆ สัมภาระของยาย ความจริงพื้นที่ภายใน มีช่องว่าง มากมายพอที่จะให้ผีดิบดูดเลือดคน มาซอยเป็นพื้นที่ขนาดเมตร ได้หลายช่อง แต่นี่ยาย เข้าใจอย่างเขาคุยกันว่า มันเป็นของราชการ ผีดิบเหล่านั้นคงรู้ดีพอที่จะไม่เล่นกับพวกนี้ เพราะมันโกง มันใช้วิธีสกปรก ใช้วิชามารหาเงินเข้ากระเป๋า

ความฝันกินใจของยายเริ่มแสดงอานุภาพ ยายหยิบงานของยายออกมาวางบนพื้นที่เล็กๆ ติดกับ กระถางดอกไม้จำลอง มันยังถักทอก่อสานไม่แล้วเสร็จ ยายจะทำมันให้คนเมืองดู ยายกระหยิ่ม ยิ้มย่อง

ทันทีที่หย่อนก้นลงนั่ง เด็กเล็กสองคนแวะเวียนมาดู คนหนึ่งเอามือสองข้างค้ำหัวเข่า มองอย่าง สนใจ

"หนูลองทำบ้างได้ไหมคะ"

"ได้สิ มานั่งสิ" แม่หนูถอดรองเท้าส้นตึกออกแล้วนั่งทับ ยายหยิบอีกคู่ที่ยังไม่แล้วเสร็จส่งให้ ยิ่งกว่า ความฝัน ยายได้เป็นครูอีกด้วย หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ยายขายรองเท้าได้สองคู่ ในราคาคู่ละ ไม่กี่บาทหรอก แต่ยายได้ลูกศิษย์คนหนึ่ง ยายภูมิใจที่ได้เป็นครู ดีใจที่ได้แถมรองเท้าอีกคู่หนึ่ง ให้น้องสาว ของลูกศิษย์ของยาย ยายหยิบคู่ที่แล้วเสร็จออกมาวางอีกสองคู่

"ตายแล้ว ป้า ลุกเดี๋ยวนี้เลยนะ ใครให้ป้ามานั่งขายของตรงนี้ ยามอยู่ที่ไหนนี่ ทำไมไม่ตรวจดูแล กันบ้างเลย จ้างมาเสียเงินเปล่าอีกแล้ว ป้าลุกไปเร็ว เจ้านายใหญ่จะมาตรวจงานแล้วเร็วเข้า หนูตายแน่ๆ เลย ยายเร็ว มานั่งเป็นกาฝากอยู่ได้" หญิงสาวพูดทั้งสาละวนหยิบข้าวของใส่ถุงปุ๋ย ใบเก่า ของยาย ยายตกใจงกเงิ่น ขยับลุกไม่ทันใจคนไล่ต้อน ข้อมือถูกกระชากดึงพร้อมข้าวของ หล่อนลาก และผลักยายเข้าไปรวมอยู่ในแนวทางเดิน ยายตั้งหลักไม่ทัน ล้มลงกลางถนนคนเดิน ยายเห็นรองเท้า และขาผู้คนวับแวม

ผู้คนงานกาชาดแห่งประเทศแห่แหนมาจากไหนหนักหนาหนอ มากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา มากมาย หลายหลาก มาจากทุกทิศทุกทาง แนวทางเดินไม่มีที่ว่างเว้น ที่นี่คือ "มหกรรมคนไหลเดินไป" อย่างแท้จริง มันไม่ใช่ธรรมดาเลยกับคลื่นคนเหล่านี้ ยายเริ่มสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองคิดหรือไม่คิดอะไร รู้สึกปวด ตามเนื้อตัวหัวหู หลายเท้าอยู่หรอกกว่าพวกเขาจะรู้ว่า ได้เหยียบเอาคนๆ หนึ่ง ยายรู้สึก มีคนหามยาย ยายหลับไม่รู้ว่านานเท่าไร ตื่นมาเห็นหมอกับพยาบาลอยู่เต็ม

"เป็นไงบ้างป้า"

"เจ็บกลางหลังนี่แม่คุณ ข้าวของของยายเล่า"

"อะไรล่ะ หนูไม่เห็นนะ เขาหามป้ามาเต็นท์พยาบาลนี้ ไม่เห็นมีข้าวของอะไร ป้านอนไปเถอะ อ้อ ป้ามากับใคร มีคนมาด้วยหรือเปล่า เขาประกาศไปตั้งหลายครั้งแล้ว ไม่เห็นมีใครมาดูป้าเลย"

"ป้ามาคนเดียวจ้ะแม่คุณ มาพักอยู่กับลูกสาว" ลูกสาวลูกเขยมาอีกสองชั่วโมงต่อมา พยาบาลเล่า เรื่องราวคร่าวๆ บอกอีกว่าสักพักจะเข้ามาตรวจอีกครั้งหนึ่ง

"ยังดีนะคะ นี่วันแรก คนยังไม่มาก เคยมีคนถูกเหยียบจนแทบเอาชีวิตไม่รอด อย่าเผลอไปล้ม เข้าเชียว" นี่หรือไม่มาก ยายครุ่นคิด หมอชายท่าทางใจดีคนหนึ่ง เดินเข้ามาในเต็นท์ตรวจอาการ

"อย่าไปไหนคนเดียวอีกนะยาย แก่แล้ว"

"ยายอยากมางานกาชาดน่ะพ่อ ยายเอารองเท้าสานมาขาย นี่มันหายไปแล้ว ยายหาที่ขายของไม่ได้ ค่าเช่า มันแพงเหลือเกิน นี่พ่อ...เขาหาเงินไปช่วยคนยากจนไม่ใช่หรือ ทำไมคนยากอย่างยาย หาที่ขายของไม่ได้ เขาคิดเงินหมื่นเงินพันทั้งนั้น"

"แม่ อย่าบ่นเลย หนูบอกแม่แล้ว แม่ต้องติดต่อผ่านหน่วยงานราชการที่จังหวัดมา ถึงจะได้มาขาย แม่ยังไม่เชื่ออีก รายเล็กๆ ก็ต้องมีเงินถึงหน่อย" ลูกสาวต่อว่า กำลังคิดหนักว่า จะพาแม่ฝ่าฝูงชน ผู้คน ออกไปจากงานได้อย่างไร ต้องเดินเกือบสามกิโล ถึงจะถึงป้ายรถเมล์

"อ้าว ก็กูอยากมาเที่ยวมาขายของนี่หว่า เขาว่ากาชาดช่วยคนยากคนจน กูเนี่ยล่ะ ทั้งยากทั้งจน ทำไมไม่ช่วยกูล่ะ" ยายยังเถียง ลูกสาวหาที่นั่ง คงต้องรอหลังตีสอง ค่อยให้สามีตามแท็กซี่ เข้ามาถึงเต็นท์พยาบาล หน้ากองอำนวยการนี้ ยายขยับลุกไม่ได้เสียแล้ว หมอให้ยายไปตรวจ ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ในวันพรุ่งนี้ ลูกสาวยายทำหน้ายุ่ง

"กาชาดช่วยอย่างนั้นจริงๆ ครับ ที่เขาจัดงานนี้ก็เพื่อหาเงินไปช่วยเหลือกิจการของกาชาด" หมอหนุ่ม พยายามอธิบาย

"นี่พ่อ ราชการที่มาออกร้านนี้ เขาเสียค่าเช่าที่ไหม"

"ผมไม่ทราบรายละเอียดครับ"

"งั้นหรือ ยายมาดูหลายวันแล้วนะพ่อ ตั้งแต่เขาก่อสร้างกัน ยายอยากรู้ว่า เขาเอาเงินมาจากไหน มานักหนา ฟังได้ความว่า เสียค่าก่อสร้าง ค่ารับเหมาไปไม่ใช่น้อย"

"อ้อ อันนั้นแต่ละหน่วยงานเขามีงบครับ"

"ยิ่งใหญ่สวยงามเหลือเกินนะพ่อ บางร้านเขาบอกว่า สั่งของนอกมาทำ เงินของกระทรวง ทบวงกรม เขาทั้งนั้นหรือ"

"ก็...ครับ"

"นั่นปะไร พ่อ แล้วมันเงินภาษีไหม ทำไมไม่เก็บเงินหมื่นแสนเหล่านั้นไว้ช่วยเหลือเจือจาน คนยาก คนจนเล่าพ่อ ประโยชน์อะไรกับสิ่งก่อสร้างเรือนแสน แล้วอยู่เก้าวันสิบวันเท่านั้น ค่ารับเหมา ก่อสร้างไปเท่าไร ข้าวของที่เอาไปใช้ใหม่ได้ ยายไม่ว่านะ แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่ต้องทิ้ง อย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจนั่นล่ะ มันเปล่าประโยชน์ไหมพ่อ มีอะไรเป็นค่า นอกจากเอามาอวดโอ้ อวดโชว์ผลงาน ที่มีแต่รูปภาพ ยายอยู่ให้ช่วยเหลือที่นี่เป็นคนเป็นๆ มีลมหายใจ นี่พ่อ...ก่อนยายจะโดนเหยียบ เมื่อกี้ เขาด่ายายว่ายายเป็นกาฝาก ยายแค่ไปนั่งขายของข้างเสาปากทางเข้าร้านเขาเท่านั้นเอง กาฝาก มันคืออะไรหรือพ่อ"


๔.........
หมอหนุ่มจ้องยายเขม็ง คนแก่ท่าทางบ้านนอกคอกนาทำให้เขาหยุดเพื่อฟังคำพูดของแกได้ ทั้งๆ ที่เวลาแต่ละนาทีของคุณหมอ มีค่าตีเป็นเงินทองในมูลค่าราคาที่สูงมาก หมอคว้าเก้าอี้มานั่ง ข้างเตียงสนามที่ยายนอน

"หมายถึง..." หมอหนุ่มพยายามเรียบเรียงคำตอบเรื่องกาฝากให้ยายหายสงสัย หัวใจ ความรู้สึก ของคนแก่คนนี้คิดอะไรบ้างหนอ ที่สำคัญคำตอบนั้นจะถูกใจแกไหม แต่แกไม่รอคำตอบ

"เขาเอางบประมาณหน่วยงานเขามาทำหรือ มันเงินภาษีของประชาชน เขาเอามาสร้าง ความยิ่งใหญ่ ให้ตัวเอง สวยงามหรูหรา แต่เขาไม่เปิดโอกาสให้ยาย ซึ่งเป็นคนยากจนแท้ๆ ยายไม่มี เงินหมื่นเงินพัน เป็นค่าที่ค่าทาง ..นี่พ่อ ใครเป็นกาฝากมากกว่ากัน ยาย หรือ หน่วยงานนั่น หรือ พ่อค้าหน้าเลือด ที่เอาที่ผีมาขายให้พ่อค้าแม่ขายในราคาแพง เอากำไรแบบหน้าด้านๆ ยายเคย ได้ยินหรอก แต่ว่าไปแล้ว มันไม่เลวเท่าไหร่ ช่างหัวมัน เขาเลวกว่าน้อยกว่าไอ้เจ้าหน่วยงานนั้น นอกจาก มันเด่นมันดัง มันสวยงามกว่าเจ้าอื่นๆ มันใช้งบใช้เงินไม่อั้น เงินประชาชนตาดำๆ ทั้งนั้น หรือไม่ใช่ล่ะ ไอ้พ่อค้าผีดูดเลือดนั้นยังดีนะ เพราะไอ้คนใหม่ที่มาเช่า มาหาที่ขายของมันคงคิดว่า ต้องได้กำไรมั่ง แพงกว่าเท่าไรมันก็ยังเอา เพราะมันคิดว่า อย่างน้อยต้องได้มั่ง ขาดทุน มันจะเอาทำไม ต่างฝ่ายต่างได้ ถึงจะได้น้อยหน่อย ก็ถือเสียว่าเป็นโอกาส เป็นวิชามาร ของพวกมันไป แต่ไอ้ราชการนั่นสิ มันสูญเปล่าไหม ได้กลับมาเป็นเงินทางไหนอีกนอกจากเสีย

"นี่พ่อ...ยายอยากฝากผี ฝากไข้ ยายไม่ใช่กาฝากนะ ไอ้คนดูดเงินใช้เงินภาษีนั่นน่ะ มันกาฝาก หรือเปล่า มันดูดเงินภาษีไหม อีรินเอ๊ย...ไอ้กาชาดนี่ มันทำกูผิดหวังจริงๆ ว่ะ อุตส่าห์คิดว่า ก่อนตาย ให้ได้มาร่วมงาน มาเที่ยวสักครั้ง ถึงจะตายก็คงตายตาหลับ นี่กาชาดมันจะทำกูตาย เสียแล้ว"

"โธ่แม่ บ่นไปได้อะไรขึ้นมาเล่า นอนหลับเสียแม่ คนซาแล้วฉันจะพากลับบ้าน"

"ยังเว้ย กูยังคุยกับหมออยู่ มึงไม่ได้ยินหรือ นี่พ่อ ดูแสงสีสารพัดนั่นสิ ดูไฟจากสนาม... จากถนน โน้นสิ สว่างไสวไปหมด กรุงเทพฯ ไม่ต่างจากกลางวันเลย ไฟหลวง ไฟจากภาษีใช่ไหมพ่อ แต่ที่บ้านโคกป่าสูง หมู่บ้านยายนะ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลยนะ ไปตัดไม้ล้มมาทำฟืน ยังถูกจับอีกแน่ะ มันคอยไปจับอยู่โน้น แต่ที่งานนี้ ที่กรุงเทพฯนี้มีของป่ามาขายมากมาย เขาโดนจับไหม ยายเห็น รถตำรวจพาพ่อค้าแม่ค้ามาส่งให้ขายของกับตาด้วยซ้ำนะ ยายแค่ไปหาฟืน หาหน่อไม้ในป่า ยังถูกจับไปปรับ บ้านยายมันไม่ใช่ประเทศไทยหรือพ่อ กรุงเทพฯ นี่หรือคือประเทศไทย"

หมอยิ้มไม่ออก พูดไม่ถูก และไม่คิดจะพูด ดูเหมือนยายจะเข้าใจคำตอบมากกว่าที่เขาคิดเสียอีก จริงสินะ งบรับเหมาก่อสร้างทุกๆ บาทของงานใหญ่โตแห่งนี้ รวมๆ แล้วเท่าไร เพื่อคนเมือง กับเวลาเพียงไม่กี่วันนั่น เพื่ออวดโอ่ เพื่ออวดอ้างผลงาน หากเก็บมันมาสร้างประโยชน์ที่แท้จริง ให้คนยากจน ได้อีกตั้งเท่าไหร่ หมอหนุ่มขยับลุกหากคนป่วยยังหันมาถามอีก

"พ่อคุณ ตกลงกาฝากมันคืออะไรพ่อ ใครเป็นกาฝากที่งานกาชาด"

"..........................."

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -