สมัครสมาน

ชาวแว้งส่วนมากจะพูดถึงสถานที่นอกตัวอำเภออยู่เพียงไม่กี่แห่ง แถมยังออกเสียงเพี้ยนไป จากชื่อเดิม ที่ถูกต้องของเขาเสียด้วยซี ยิ่งเด็กๆ อย่างน้อยและเพื่อนนักเรียน ที่โรงเรียนประชาบาล อำเภอแว้งด้วยแล้ว น้อยนักที่จะเข้าใจความหมาย ของชื่อเหล่านั้น บางทีก็คิดเดาความหมาย โดยลากเข้าสู่คำที่พอจะเข้าใจได้

เวลาคณะฟุตบอลแว้งไปแข่งขันกับคณะฟุตบอลปาเซมัส ในสหพันธรัฐมลายู (มาเลเซียปัจจุบัน) เด็กๆ ก็จะคิดว่าชื่อ 'ปาเซมัส' ทางฝั่งโน้น ฟังดูเพราะกว่าชื่ออย่าง 'สุไหงโกลก' หรือ 'แว้ง' ของทางฝั่งไทย

"ก็ปาเซมัส แปลว่า 'ทรายทอง' เพราะจะตาย ของเราชื่อ 'แว้ง' งี้ 'โกลก' งี้ ไม่เห็นเพราะเลย" น้อยพูดกับเพื่อนๆ ระหว่าง หยุดพักกลางวันที่โรงเรียน

"ก็เธอแปลเป็นไทยก็เพราะซี-ทรายทอง" สมานแย้ง "ของเราที่เพราะก็มีเหมือนกันแหละ ตันหยงมัส ไง เธอลองแปลดูซี ก็เพราะเหมือนกัน เธอแปลได้ไหมล่ะ?"

"เออ-จริงสินะ พอแปลเป็นไทยก็เพราะเหมือนปาเซมัสเหมือนกัน ทำไม? ยา นึกว่าฉันแปล ไม่เป็นหรือ? ตันหยง-เก๊าะเหมือนบุงอตันหยงไง ตันหยงมัสก็ดอกพิกุลทองถูกไหมล่ะ" น้อยตอบ

"ใช่ ตันหยง แปลว่าดอกพิกุล แต่ยังแปลได้อีกอย่างหนึ่งนะ รู้ไหม?" สมานถามอีก

"ไม่รู้แล้วแหละ แปลว่าอะไรล่ะ? ที่ฉันรู้ว่า ตันหยงมัส แปลว่า พิกุลทอง ก็เพราะที่แว้งมีดอก ตันหยงเยอะแยะ 'มะห์' น่ะ แว้งเราก็มีมากที่สุด ในประเทศไทย บนเขาโต๊ะโมะไง ตอนฉันไป บางนรากับพ่อกับแม่ ฉันเห็นป้ายที่สถานีรถไฟ เขาเขียนว่า 'สถานีตันหยงมาส' พ่อฉันยังบ่น กับแม่ว่าสะกดยังไงก็ไม่รู้ จะว่าให้แปลว่าทองในภาษามลายูก็เขียน ออกเสียงยาวไป จะให้แปลว่า ทองในภาษาไทย ศ.ศาลาซี แม่ว่าพ่อบ่นทุกทีที่เห็นป้ายนั้น พ่อน่าจะไปบอกเขาให้เขียนภาษาใด ภาษาหนึ่งเสีย เธอว่าจริงไหมล่ะ ที่พ่อฉันว่าน่ะ แต่ว่าเดี๋ยวก่อน แล้วตันหยง แปลอีกอย่าง ว่าอะไรล่ะ? บอกหน่อยซี ยา" น้อยขอร้อง

"ก็แปลว่า แหลม ตันหยงมัส ก็แปลว่า แหลมทอง เหมือนในเพลงที่ร้องกันไงเล่า" สมานอธิบาย

"ยานี่เก่งจริงๆเลย แล้ว ราตาปาแญล่ะ แปลว่าอะไร? สุไหงโกลกล่ะ แว้งล่ะ แปลว่าอะไร?" น้อยถามต่อ

คราวนี้เพื่อนๆ เริ่มงง จนประพนธ์รำคาญ ตัดบทว่า

"พวกเธอก็แปลไปเลยซี้ ราตา แปลว่า โซ่ ปาแญ แปลว่า ยาว ราตาปาแญ ก็ 'โซ่ยาว' ไง สุไหง ก็อันเดียวกับ สุงา-คลอง ใช่ไหมล่ะ โกลก ก็อันเดียวกับฆอเลาะ ก็กริช ไง สุไหงโกลก ก็แปลว่า คลองกริช ฉันว่าแปลง่ายจะตาย"

ทุกคนพากันหัวเราะขำความคิดของประพนธ์ มณีพรรณพูดว่า

"แล้ว แว้ง ล่ะ ประพนธ์ แปลว่าอะไร?"

"แว้ง เหอ? ไม่รู้ซี น่ากลัวจะแปลว่า ลูกมะแว้งมั้ง?" ประพนธ์เดาต่อ

"ฉันว่าไม่ใช่นะ" สมานซึ่งมีอุปนิสัยเยือกเย็นกว่าคนอื่นอธิบาย "ผู้ใหญ่เคยบอกว่าแว้งเป็นชื่อของ 'โต๊ะแว้ง' ที่หนีทัพไทย พาพรรคพวก ไปตามป่าเขา แล้วในที่สุดก็พากันมาอยู่ที่อำเภอแว้ง ของเรา นี่ไง"

"-เอ้อ-ฉันก็ว่าน่าจะเป็น 'โต๊ะแว้ง' ที่สมานว่ามากกว่า 'ลูกมะแว้ง' ที่ฉันว่านะ ก็กุโบร์ ที่เขาฝังศพ โต๊ะแว้ง อยู่ข้างบ้านฉันนั่นไงเล่า จริงด้วย! คงไม่ใช่ 'ลูกมะแว้ง' แน่นอนแล้วหละ แต่โซ่ยาว กับ คลองกริช นั่นพวกเธอเห็นด้วยกับฉันใช่ไหมล่ะ?" ประพนธ์สรุป เด็กอื่นพากันนิ่ง เพราะไม่มีคำตอบ อาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่มีความรู้มากนัก และในหนังสือที่เรียน ก็ไม่มีชื่อเหล่านี้ไว้ด้วยเลย

ชื่อจังหวัดที่เป็นชื่อภาษาไทยแต่คนไทยมุสลิมทางใต้รวมทั้งที่อำเภอแว้งรู้จักดี จะด้วยเหตุใดก็ตาม คือ จังหวัดนราธิวาส ที่อำเภอแว้ง สังกัดอยู่ กับจังหวัดสงขลาที่ยายของน้อยอยู่ สำหรับจังหวัด สงขลานั้น น้อยเคยคิดว่า คนมุสลิมที่แว้งรู้จักเพราะ แม่ของเธอ มักจะพูดถึงให้เขาฟังอยู่เสมอๆ แต่พ่ออธิบายว่า คงไม่ใช่สาเหตุนั้นแน่ เพราะถ้าใครไปเรียกชื่อทางราชการว่า นราธิวาส หรือ บางนรา กับเรียกว่า สงขลา คนมุสลิมจะไม่รู้จักเลย ต้องเรียกจังหวัดนราธิวาสว่า 'นาฆอ' และเรียก จังหวัดสงขลาว่า 'สฆอรอ' พวกเขาจะอุทานว่า "ฮอ!" (อ๋อ!) ทันทีราวกับรู้จักดีทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ ไม่เคยออกจาก ตัวอำเภอแว้ง มาก่อนเลย

แม่ซึ่งพูดภาษามลายูได้ดีกว่าพ่อหลายเท่า เคยปรารภว่า

"ทำไมอย่างนั้นนะพ่อ จะว่าเป็นภาษามลายูแบบตันหยงมัส ฉันก็ว่าไม่ใช่"

และพ่อก็อธิบายต่อหน้าเด็กๆในคืนนั้นว่า

"ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่นอนหรอกแม่ อย่างที่เราเคยถามนม (ยายของน้อย) ตอนได้ยินนมร้องเรือ แกก็บอกว่า คนสงขลา เรียกเมืองกลันตันว่า 'เมืองหลันตัน' แต่พอเราถามคนที่อพยพจากกลันตัน มาอยู่แว้ง เขาก็ว่ากลันตัน เป็นคำภาษาไทย แม่จำไม่ได้หรือ เมืองปัตตานี นมก็เรียกว่า 'ตาหนี' แถมยังมีเรื่องราวตำนานประกอบเสียด้วย 'นราธิวาส' นี่เรารู้แน่ว่าชื่อนี้ รัชกาลที่ ๖ เพิ่งพระราชทานให้ ฉันว่าพระองค์ท่านคงทรงได้ความคิด จากที่ชาวบ้านเรียกว่า 'บางนรา' มานานนมกาเลแล้ว ชื่อ 'สงขลา' ยิ่งแล้วใหญ่ แปลตามเสียงไม่ได้เลยทีเดียว ฉันว่า"

น้อยหยุดอ่านหนังสือที่วางอยู่เบื้องหน้า เงยหน้าขึ้นฟังพ่อด้วยความสนใจ

"ฉันว่า.." พ่อพูดต่อ "ในสมัยโบราณแถบนี้คงเป็นบ้านเป็นเมือง มีคนอยู่มานานแล้ว จะว่าเป็นคน มลายู หรือคนไทย หรืออะไร ก็ไม่รู้หละ ไม่มีอะไรบอกเราอย่างชัดเจน แต่ชื่อเมือง ฉันก็ว่าชอบกลอยู่ น่าเสียดายที่มันเพี้ยนไปเสีย จนแทบไม่เหลือ ของเดิม"

"ทำไมอย่างนั้นนะพ่อ?" แม่ถาม

"ก็ลิ้นของคนแต่ละเผ่าพันธุ์ออกเสียงได้ไม่เหมือนกัน เพราะการหัด แลความเคยชิน มาแต่อ้อน แต่ออก บางคำเราคนไทย เก็บรากเดิมไว้หน่อยหนึ่ง ต้องไปอาศัยดูว่า ทางภาษามลายู เขาเก็บ รากอะไรไว้อีกบ้าง เอามารวมๆกันแล้ว ก็พอเป็นทาง ให้คิดได้เหมือนกัน" พ่อพูด

"ขอโทษค่ะพ่อ ขอโทษค่ะแม่" น้อยอยากแสดงความเห็นที่ได้ฟังมาจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียนบ้าง จึงเอ่ยขออนุญาต "ประพนธ์ว่า อำเภอแว้ง มาจากคำว่า ลูกมะแว้ง แต่สมานบอกว่า ไม่ใช่ มาจากชื่อ โต๊ะแว้ง ต่างหาก แล้วประพนธ์ เขาก็เห็นด้วย เพราะกุโบร์ของโต๊ะแว้ง อยู่ข้างบ้าน เขาเอง"

"ดีมากลูกที่เด็กๆ รู้จักคิด อย่าไปโทษประพนธ์เป็นอันขาด แม้แต่ในโฉนดที่ดินบ้านเรา นี่ทางอำเภอ ก็ใส่ว่า 'อำเภอระแว้ง' พ่อว่า ของประพนธ์ยังดีเสียกว่า พอจะมีความหมายมั่ง ส่วนของสมานน่ะ คงถูกแน่ เพราะเขามีหลักฐาน นี่นะแม่-" พ่อหันไปทางแม่ "ฉันน่ะเห็นว่า คนมุสลิมเขาเก็บ ชื่อเดิม ของนราธิวาสไว้ว่า 'นาฆอ' ฉันว่านั่นคือ 'นาคา' นาคไงแม่-ไม่ไกลจาก ของฝ่ายคนไทย เก็บไว้นัก หรอก 'นรา' อาจมาจาก 'นาคา' ก็ได้ แม่เองก็เคยไปตลาด 'บางนาค' อยู่บ่อยๆ ไม่ใช่หรือ สำหรับ 'สงขลา' นั้น ฉันว่า ทางภาษามลายู 'สิงขะระ' ที่เพี้ยนมาเป็นอย่างที่คนแว้งออกเสียง ช่วยเก็บ คำเดิม ไว้ให้มากกว่าลิ้นไทย เมืองสงขลาเดิมน่ะ อยู่ฝั่งภูเขาไม่ใช่หรือ?"

แม่พยักหน้ารับคำ พ่อมองพี่แมะที่นอนหลับอยู่ข้างสมุดการบ้าน แล้วมองน้อยก่อนพูด ว่า "ฟังผู้ใหญ่ รู้เรื่องด้วยหรือลูก?"

น้อยพยักหน้ารับคำพ่อ เธออาจจะเด็กเกินไป แต่คืนนี้พ่อก็ได้ฝังความสนใจไว้ในสมอง และ ความจำ ของเธอ แล้วน้อยถามต่อ ตามประสาเด็กว่า

"แล้วคนสมัยเก่านั้น เขาเป็นไทยหรือมลายู คะพ่อ?"

"พ่อก็ไม่รู้ ลูก บางทีลูกโตขึ้นจะค้นคว้าได้กระมัง ตอนนี้แค่เข้าใจไว้ว่าในแต่ละประเทศ อาจมีคน หลายเผ่าพันธ์ ข้อสำคัญ ต้องอยู่กัน ด้วยความสามัคคี"

สามวันต่อมา พ่อกับแม่ก็จำเป็นต้องทิ้งบ้านเพื่อเดินทางไปดูยายที่เมืองภูเขา หรือจังหวัดสงขลา ก่อนไป แม่ให้คนไปตามเพื่อน ที่แม่ไว้วางใจที่สุด ชื่อ มะตาเห มาช่วยอยู่เฝ้าบ้าน เป็นเพื่อนพี่แมะและน้อย

ทุกคนในครอบครัวรักมะตาเหและสนิทสนมกับทุกคนที่บ้านของเขา มะตาเหเป็นคนแข็งแรงมาก แต่มีลักษณะใจเย็น ยิ้มง่าย และดูเหมือน จะเชื่องช้าตรงกันข้ามกับความแข็งแรง วันนั้นเขาไม่ได้ มาคนเดียว สแลแม ลูกชายคนเล็ก อายุเท่ากับน้อย เดินอย่างเชื่องช้า ตามพ่อมาด้วย พอมาถึง เขาก็ค่อยๆ กระเถิบเข้าไปหาแม่ของน้อย พูดเบาแบบพ่อไม่มีผิดว่า

"จึเก๊าะเมาะฆีสึฆอรอ อะมอมารีตีโดซีนิงบูเละห์ก๋อ (ตอนแม่ไปสงขลา ผมมานอนที่นี่ได้ไหมครับ)?"

พ่อกับแม่หัวเราะ ยังไม่ทันตอบอนุญาต มามุก็โผล่ขึ้นมาทางช่องระหว่างชานหน้าบ้าน และ เรือนใหญ่ ใกล้ที่แม่นั่ง ยิ้มเต็มหน้า มองดูสแลแม ก่อนที่จะถามแม่บ้างว่า

"อะมอปงบูเละห์ แมะ (ผมก็ด้วยได้ไหมครับ แม่)?"

พี่แมะเดินกลับมาจากบ้านปะจูเย็ง (อาเย็ง) ในตลาด มีเด็กผู้หญิงน่ารักอายุราว ๔ ขวบ เดินพลาง เต้นพลาง หยอยๆ ตามมาด้วย เด็กคนนี้ชื่อ แมะเยาะห์ น้อยลงเรือนไปคว้าน้องบุญธรรม ตัวน้อย ขึ้นมาบนบ้านทันที

แมะกลั้นหัวเราะ ส่วนพ่อพูดว่า

"ท่าทางแมวอย่างเราไม่อยู่ หนูคงร่าเริงกันแน่เสียแล้ว ไอ้ที่ห่วงว่ามะตาเหจะเหงา ท่าจะผิดเสียแล้ว หนูตั้งห้าตัวแน่ะ มะตาเห ไม่เหงาแน่"

มะตาเหหัวเราะเบาๆ ตามลักษณะของเขาพูดกับพ่อและแม่อย่างมั่นใจ เมื่อเห็นโต๊ะซารี ยายของ มามุ เดินมาสมทบ แมะเยาะห์ตัวน้อย ก็มีศักดิ์เป็นหลานโต๊ะซารีเหมือนกัน

"เตาะเซาะห์อุซิงลา แมะ แท มาเยาะออแรฆอซึดะซีกิ ตุ๊ห์ โต๊ะซารีปงดูโดะยอ (ไม่ต้องเป็นห่วง หรอก คุณนายท่าน มากคนค่อยสนุกหน่อย นั่น! โต๊ะซารีก็อยู่ใกล้)"

พ่อกับแม่ทราบดีว่าไว้ใจลูกทั้งสองได้ เพียงแต่สั่งเสียสองข้อว่า

"พ่อกับแม่ไม่ห่วงเรื่องความปลอดภัยเพราะมีมะตาเหอยู่ ข้าวปลาแม่ก็ไม่ห่วง เพราะโต๊ะซารี อยู่แค่นี้เอง จะเล่นสนุก กันแค่ไหนก็ไม่ว่า เพราะแมะคงควบคุมน้องๆ ได้ ขอให้ทำตาม สองข้อ ให้มั่นคงอย่าได้ลืม หนึ่ง ลูกต้องช่วยกันดูฟืนไฟให้ดี ไฟจะได้ ไม่ไหม้บ้านเราเสีย สอง พอได้ยิน เสียงกลองฆอเระและอิซอ มะตาเหมามุและสแลแม เขาต้องสะมาแย (สวดมนต์) ลูกทั้งสอง ต้องเงียบสงบ และตอนอิซอ ก็เข้าห้องไปสวดมนตร์ของเราด้วย แมะเยาะห์ยังเล็กนัก ดูแล เอาน้อง เข้านอนให้เรียบร้อย อย่าให้ยุงกัดน้อง"

ตลอดห้าวันสี่คืนที่พ่อกับแม่ไม่อยู่คราวนี้ ต่างกับสมัยที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่า หลังอำเภอมาก ตอนนั้น น้อยรู้สึก เหมือนหัวใจโบ๋ ด้วยความทุกข์ และวังเวง แม่ต้องทำงานหนัก เพราะฐานะ ยังไม่ดี ตอนนี้ถึงพ่อกับแม่ยังต้องทำงานหนักอยู่ แต่ครอบครัว ก็มีบ้านของตนอยู่ ไม่ต้องเช่าเขา อีกต่อไป

น้อยรู้ดีว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างยิ่งคือ ความรู้สึกที่อบอุ่น ไม่ต้องกลัวภัยใดๆ มา กล้ำกราย ทั้งกลางวัน และกลางคืน เธอรู้ดีว่า ไม่ใช่เธอและพี่แมะเท่านั้นที่รู้สึกแบบนั้น พ่อกับแม่ ก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน

อำเภอแว้งในอุ้งภูเขาแห่งนี้ได้สร้างชุมชนที่ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกัน ประหนึ่งญาติสนิท พึ่งพากันได้ อย่างแท้จริง แม้ต่างความเชื่อ และศาสนา ผู้คนแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่หวงแหนเห็นแก่ตัว

ทุกเช้าเย็นเด็กทั้งห้าคนพากันลงเล่นน้ำในคลองจนชุ่มฉ่ำสำราญใจ แล้วกลับมาล้อมวง รับประทาน อาหารในครัว มีโต๊ะซารีมา ด้อมๆมองๆ ดูความขาดเหลือ เสียงหัดอ่านหนังสือ และ ทบทวนบทเรียน ดังลั่นกว่าเดิม เพราะเกิดมี ครูและนักเรียน เพิ่มขึ้น

เด็กๆ เรียนเสร็จแล้ว มะตาเหก็มานั่งหัวเราะกั่กๆ ดูเด็กๆ เล่นอะไรต่อมิอะไรกันสารพัด ตามแต่ จะคิดได้ และตกลงกัน แมะเยาะห์ น้องน้อย ยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีเล่นของพี่ๆ นัก แต่พอมะตาเห ประกาศว่าอีก ๑๕ นาที จะต้องสะมาแย เธอเป็นต้องร้องขอปนสั่งว่า ให้เล่นอีกสองอย่าง

"เยาะห์เนาะมะเฮงเหาะตู อีมอนตู เยาะห์จะเล่นไอ้นั่น อีมอญนั่น)"

แล้วเสียง "อีมอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ใครนั่งไม่นิ่ง ฉันจะตีก้นมัน" ก็ดังสลับกับเสียง แมะเยาะห์ หัวเราะกรี๊ด กรี๊ด ด้วยความสนุกสนาน ก่อนที่จะขออีกว่า

"เยาะห์เนาะมะเฮงเหาะตู ออระแร้ออระชอนตู (เยาะห์จะเล่นไอ้นั่น ออระแร้ออระชอนนั่น)"

แมะเยาะห์เล่นเป็นและเจ้ากี้เจ้าการผูกตาพี่คนใดคนหนึ่งให้นั่งตรงกลางวง จากนั้นจึงเอา เศษกระดาษ ใส่ในมือพี่อีกคน ทุกคนกำมือซ้าย สอดนิ้วชี้เข้าในอุ้งมือที่กำหมุนนิ้วชี้ไปมาขณะร้อง ให้พี่ที่ปิดตาเปิดผ้าได้ แล้วให้ทายว่า เศษกระดาษ อยู่ในมือใคร

เสียงแมะเยาะห์ดังกว่าคนอื่นขณะร้องเพลง และบทร้องเล่นของไทยบทนี้ ก็น่าจะเป็นบทหัดพูด ภาษาไทย ของแมะเยาะห์ บทแรก อย่างไม่ต้องสงสัย

"ขี้ตู่กลางนา ขี้ตาตุ๊กแก ขี้มูกยายแก่ออระแร้ออระชอนๆๆ"

พี่กลางวงจะชี้คนมีเศษกระดาษในมือผิดหรือถูกไม่สำคัญเพราะแบบไหนก็ตาม แมะเยาะห์ จะแหงนคอ หัวเราะลั่นพลางขอว่า

"มาแลแอเซาะกีตอมาเฮงเหาะนิงปูเลาะ เดะห์ เดะห์ (คืนพรุ่งนี้เราเล่นอันนี้อีก นะนะ)"

"บอเดาะห์ๆ ! อิซอเดาะห์ ! มารีสะมาแยบูเละห์ เดาะห์ สแลแม มามุ ! แมะ มาโซะบีเละห์ ฆีสะมาแยบูเละห์เดาะห์ ! (พอแล้วๆ ถึงเวลา ละหมาดอิซอแล้ว ! มาสวดนมัสการได้แล้ว สแลแมมามุ ! หนูๆ เข้าห้องสวดมนตร์ได้แล้ว)"

ถ้าผู้ใดมีตาทิพย์ มองผ่านหลังคาบ้านท่าฝั่งคลองลงไปได้ ก็จะเห็นภาพชายผู้ใหญ่และเด็กผู้ชาย สองคน ที่ชำระล้าง ร่างกายสะอาดแล้ว ยืนสำรวมสวดสรรเสริญพระอัลเลาะห์อยู่ในห้องโถง และภาพเด็กผู้หญิงสองคน นั่งพนมมือ สักการะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในห้องนอน และมีเด็กหญิงตัวน้อย ที่ยังสะมะแยไม่เป็น นอนหลับอย่างเป็นสุข อยู่ตรงกลาง



หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลา ๒๐.๔๕ น.๒๔ มิ.ย. ๔๗ พรุ่งนี้ต้องไปเป็นวิทยากรให้เอกลักษณ์ฯ ที่ขอนแก่น

ขอบพระคุณ พี่ละเมียด สุขขัคคานนท์ ที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจ

ได้ทราบข่าวว่า จ.ส.ต.เสรีศักดิ์ ถูกยิงที่ปึเจ๊าะห์บือซา ใกล้บ้านผู้เขียน เกิดอะไรขึ้นกับแว้งที่รัก ที่เคยแสนสงบ ครอบครัวผู้เขียน รู้จักทั้งพ่อแม่พี่น้อง ของตำรวจผู้นี้ หากท่านผู้อ่านเกี่ยวกับ สถานที่เขาถูกยิง ก็หาอ่านได้ใน 'แว้งที่รัก' ตอน 'สนุกสนานแบบเด็กบ้านป่า' แล้วท่านจะเสียดาย สภาพเดิมเป็นอย่างยิ่ง



๑ ยา เป็นชื่อมุสลิมของสมาน มหินทราภรณ์ ชื่อเต็มคือ ซักกรียา เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ ทั้งในคัมภีร์ ไบเบิล และพระคัมภีร์ อัล กุรอาน

คนไทยออกเสียงคำนี้ตามแบบภาษามลายูกลางว่า บุงา แปลว่า ดอกไม้ แต่ด้วยเหตุผลใด ไม่ปรากฏ คนไทยจะเติมเสียงจัตวา ให้แก่คำยืม จากภาษานี้เสมอ จึงเป็น บุหงา

สันนิษฐานว่าคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า มาศ ในภาษามลายูออกเสียงสะกด ศ ชัดเจน เช่น ชื่อสายการบิน ของมาเลเซีย จะเรียกบริการของเขา ด้วยคำย่อว่า MAS

ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น 'สถานีตันหยงมัส' แล้ว

ตรงนี้เป็นจุดผ่านแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ทางฝั่งมาเลเซียโดยมีแม่น้ำสุไหงโกลก เป็นเส้นพรมแดน คนไทยมุสลิม ทางภาคใต้ คงจะออกเสียงของเขาเพี้ยนไป เพราะเห็นเขาสะกด ด้วยอักษรโรมัน ดังนี้ Rantau Panjang

ไหนๆ ชื่อบางชื่อแถบนั้นก็ปรากฏในข่าวไม่เว้นแต่ละวันเพราะเหตุการณ์ไม่สงบ ชื่อ 'อำเภอแว้ง' ที่ไม่มีใครใส่ใจ รู้จักมาก่อน มีที่มาจาก 'โต๊ะแว้ง' คนมุสลิมออกเสียง แว้ง ว่า 'เวง' ทางหนีทัพ หรือ หนีสงคราม ของโต๊ะแว้ง นี้คงจะยึดลำน้ำ ตามหว่างภูเขา ที่สูงสลับซับซ้อน ในเขตจังหวัดยะลา จึงมีที่ชื่อ 'อัยเยอร์เวง' (ซึ่งเกิดเหตุร้ายด้วย) แปลว่า 'แม่น้ำแว้ง'

อีกคำหนึ่ง ที่ควรทราบคือ 'เจาะไอร้อง' ซึ่งคนไทยเริ่มชินชื่อแล้วนั้น มาจากคำว่า 'ปึเจ๊าะห์' แปลว่า บึง ส่วน 'ไอร้อง' แปลว่า โค้ง สถานที่นี้ ถ้าเปลี่ยนเป็นภาษาไทยก็คือ 'บึงโค้ง'

ส่วนคำว่า 'โต๊ะเด็ง' นั้นมั่นใจได้ว่าไปจากชื่อคนไทยชื่อแดง คำยืมจากภาษาไทยในภาษามลายู จะเปลี่ยนเสียง แ- เป็น เ- ฉะนั้น การเรียกพรุใหญ่ที่สุด ในภาคใต้ของไทยเป็น 'พรุโต๊ะแดง' นั้น ถูกต้องแล้ว

ชื่อมุสลิมในทางภาคใต้ของไทยเปลี่ยนไปจากในพระคัมภีร์ทั้งสองศาสนามาก เช่น ชื่อ สแลแม ก็คือ โซโลมอน (Solomon)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -