ใช้พระอภิธรรมแก้ปัญหาสังคม


แค่คิดให้ "คนดี" เล่นการเมือง คนไทยหลายคนก็ทำใจไม่ได้ คนดียิ่งดีมากๆ ต้องอยู่ในที่ชอบ ที่ชอบ!

คิดอย่างนี้ ประชาชนจึงนับวันจะไปที่ชอบๆ กันถ้วนทั่ว

ตัดคนดีออกไป คนชั่วก็ยิ่งไร้ขอบเขตทั้งการปกครอง ทั้งการบริหาร

"คนดีต้องมีศีล มีคุณธรรมและไม่ยุ่งกับใคร" คนคิดประโยคนี้คงตกนรกหมกไหม้ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดนานกว่าพระเทวทัต

อาจจะเป็นเพราะสมัยหนึ่ง เราโจมตีพุทธธรรม โดยเฉพาะคำว่า "สันโดษ"

อาจจะเป็นเพราะเราสุดโต่งมาทาง "เถรวาท" จึงทำให้รังเกียจ "มหายาน" โดยหารู้ไม่ว่าต่างเป็นของกันและกัน

ครอบครัวไม่ว่าขาดพ่อหรือแม่ ย่อมไม่สมบูรณ์ฉันใด หลักธรรมที่รังเกียจนิกายใดนิกายหนึ่ง ไม่ว่าจะเถรวาทหรือมหายานก็ฉันนั้น

ปราชญ์หลายๆ ท่านในสังคมไทยได้พยายามหล่อหลอมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่กำลังเกิดอยู่

พระอภิธรรมเป็นธรรมะขั้นสูง มีหลักการที่น่าศึกษาคือ

๑. กุศลาธัมมา อกุศลาธัมมา มีการพิจารณาดีและไม่ดีเสมอ

สิ่งที่เป็นกิเลสต้องลุยให้หนัก พิจารณา "อสุภะ" ให้ได้เห็นโทษเห็นภัยให้ชัด

ในชีวิตประจำวัน เรามีการวิป'สสนา นั่นคือ การพิจารณาดี-ไม่ดีอยู่เสมอ แยกแยะประโยชน์และโทษภัยให้ชัด

สิ่งดีดำรงไว้ สิ่งไม่ดี-สิ่งร้าย-สิ่งต่ำ ก็หาทางลดละ ความจริงแล้วโครงการยักษ์ของรัฐบาลที่กระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมากแนวพระอภิธรรมก็คือ "ประชาพิจารณ์" ถกกันให้แหลก ตีแผ่ข้อมูล เราจะได้จะเสียอะไรบ้าง แล้วค่อยตัดสินใจ

ผู้บริหารที่ไม่มีผลประโยชน์ ก็จะกล้านำโครงการต่างๆ เปิดตัวให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนที่จะตัดสินในยกสุดท้าย

ปัญหาความวุ่นวาย ก็คงไม่หนักใจเหมือนอย่างที่เป็นทุกวันนี้

๒. จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน พระพุทธองค์ตรัสไว้โลกนี้คือ กายยาววาหนาคืบกว้างศอก มีสัญญาและใจเป็นประธาน

เพราะฉะนั้น การพัฒนาคน ก็จะแก้ไขที่ตัวเองเท่านั้น

ธรรมชั้นสูงที่เรียกว่า พระอภิธรรม จึงไม่มีบุคคลอื่น สัตว์อื่น ยกเว้น "ตัวเรา"

วันนี้ตัวเราเกิดโทสะ ถ้าหากจะเข้าถึงพระอภิธรรมเราก็จะไม่โทษใคร นอกจาก "ใจ" ที่ยังหลงโง่ หลงยึด เป็นอัตตาตัวตน ทุกข์นั้นใครทำให้ ไม่มีใคร นอกจากตัวเรา

เสือร้ายหลับอยู่ในตัวเรา ถูกแหย่ทีก็จะออกมาคำรามบ้าง ขบกัดบ้างตามประสา

พระอภิธรรมจึงต้องเข้าใจ ทฤษฎีเสือหลับ ผลก็คือ

๑. เราจะไม่เคืองใครในโลกนี้ เพราะเขาเป็นแค่เด็กแหย่เสือ

๒. เราจะขยันทำงานมากขึ้น เพราะการทำงานจะมีโอกาสล่อกิเลสให้เกิด เราจะได้มีโอกาส "ฆ่ากิเลส" โดยอาศัยสถานการณ์ หรือ "ผัสสะ" นั่นเอง

แนวการมองตนเช่นนี้ จึงแก้ไขปัญหาชีวิตได้มากมายเพราะเริ่มที่ "ตัวเรา"

ดังอุทาหรณ์บ้านแสนสุข...คุณแม่สาละวนทำกับข้าวในครัว ตะโกนเรียกลูกสาวมาด่วนจี๋ทำอะไรให้วางไว้ก่อน

ลูกสาวถือกระโถนฉี่ของยาย ก็เลยวางไว้กลางห้องรีบวิ่งไปที่ครัว ทันใดนั้น คุณพ่อซึ่งเลิกจากงาน เดินเข้ามาในบ้าน ก็เลยเตะกระโถนฉี่กลิ้งกระจายทั่วห้องรับแขก ต่างคนก็ต่างโทษกันวุ่นวาย... ใครวางไว้ แม่เรียกหนู...ทุกคนปัดความผิดออกจากตัว

ทันใดนั้น คุณยายก็เดินออกมา สารภาพ "ยายผิดเอง" ผิดเพราะถ้ายายไม่ฉี่ เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะไม่มีวันเกิด

ทั้งสามเงียบงัน พลันได้สติ ต่างก็เห็นตัวเองเป็นคนผิด ทุกคนต่างสารภาพ "ฉันผิดเอง" เสียงขรม

คุณยายได้สอนธรรมะชั้นสูงโดยไม่เจตนา

นิทานบ้านแสนสุข เป็นอุทาหรณ์ให้มองที่กายยาววาหนาคืบกว้างศอกเท่านั้น อย่ามองคนอื่น

กรณีเช่นนี้ ลูกของเรามีพฤติกรรมเบี่ยงเบน

พ่อแม่ก็โทษตัวเอง

โรงเรียนก็โทษเป็นความผิดของโรงเรียน

กระทรวงก็รีบบอกเป็นความผิดของกระทรวง

รัฐบาลก็รีบบอกคนอื่นไม่ผิด แต่เป็นความผิดของรัฐบาล

บ้านแสนสุขพลันจะกลายเป็น "ประเทศแสนสุข"

ปัญหาส่วนรวม ถ้าทุกคนต่างแก้ไขที่ตัวเอง ก็จะแก้ง่ายผิดกับการโยนกลอง!

หากวันนี้สังคมเลว เพราะคนดีท้อแท้ เราก็ต้องคิดใหม่ว่า นักการเมืองเลวเพราะ ประชาชนเลวต่างหาก

ความเลวของนักการเมือง เป็นเพียงผลสัมฤทธิ์ของพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของประชาชน

เรามัวแต่หาทางแก้ไขนักการเมืองจนละเลยแก้ไขประชาชน

ทำไมเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ?

รัฐบาลของท่านนายกฯ ทักษิณ ท่านบอก ๔ ปีต่อไปจะต้องเน้นคุณธรรมมากขึ้น นับว่าท่านมาถูกทางแล้ว

ลัทธิบริโภคนิยม ถ้าหากไร้พื้นฐานจริยธรรม ก็เป็นสังคมของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว

ยังไม่สายเกินไปสำหรับทุกๆ คน ในการกลับตัวกลับใจ!

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ -