เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ หน้า ๕
คนเป็นกลางเป็นอย่างไร ?

"คนเป็นกลาง" แต่..ชี้ระบุคนดี ก็ไม่ได้ หรือชี้คนชั่ว ว่าชั่ว ก็ไม่ได้

คนแบบนี้ ก็คือ ผู้ไม่มีปัญญารู้ดีรู้ชั่วนั้นๆ ต่างหาก จึงชี้ไม่ได้ ระบุไม่ได้ นั่นมันก็แค่ คนโง่ธรรมดาๆ

ไม่ใช่ "คนเป็นกลาง"

หรือไม่เช่นนั้น คนผู้นั้นก็อยู่ข้างฝ่ายชั่ว

หรือไม่ก็ ริษยาคนด

หรือไม่อีกทีก็ รักษาผลประโยชน์ของตน

จึงไม่ยอมชี้คนชั่ว ว่าชั่ว ไม่ชี้คนดี ว่าดี

แต่ถ้าใครก็ตามที่ ไม่อยู่ข้างฝ่ายชั่ว หรือไม่ริษยาคนดี หรือ ไม่รักษาผลประโยชน์ของตน และเป็นผู้มี ภูมิปัญญาจริง ย่อมไม่หลงผิด (โมหะ) หรือไม่เข้าใจผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ผู้นั้นจะต้องส่งเสริมคนดี จะต้องช่วย ยกคนดี ช่วยเหลือคนดี อย่างเต็มใจไม่เก้อเขิน และชี้คนชั่วว่าชั่ว

แต่ถ้าหากเป็นคนไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของ ผู้ที่ยัง ไม่รู้ชัด ยังไม่รู้ยอด ยังไม่รู้จริง คนเช่นนี้ก็ "เป็นกลาง" ไม่ได้

ส่วนคนที่รู้อยู่โต้งๆ ว่าใครดี-ใครชั่ว แต่มีความเห็นว่า "คนเป็นกลาง" ต้องไม่เข้าข้างคนดี ไม่เข้าข้างคนชั่ว ไม่ชี้ระบุว่าใครคือคนดี และไม่ชี้ระบุว่าใครคือคนชั่ว ไม่ส่งเสริมฝ่ายดี ไม่ส่งเสริมฝ่ายชั่ว และพร้อมกันนั้น ก็ไม่ตำหนิทั้งฝ่ายดี-ฝ่ายชั่ว จะพูดก็แต่เนื้อหาของความดี ความชั่วเท่านั้น จะไม่ยอมชี้ระบุ ไม่ยอมแตะต้อง บุคคล

โดยหลงยึดถือว่า "นี่คือการวางตัวเป็นกลาง"

สังคมใดหากมีแต่คนที่ยึดถือเช่นที่ว่านี้ สังคมนั้นย่อมไม่มีวันพบกับความเจริญ แม้เจริญได้ ก็เจริญแกนๆ ไปอย่างนั้น และยากสุดแสนยาก แถมเนิ่นช้าที่สุดด้วย

ในเมืองไทยมีตัวอย่างความไม่เจริญหรือเจริญช้า เพราะยึดถือผิดๆ -เข้าใจผิดๆ เช่นที่ว่านี้มากมาย แต่กระนั้น ก็ยังหลงนับถือกันว่า ปัญญาชนต้องทำเช่นนี้ อยู่นั่นเอง

คนโง่ ก็ดี คนไม่กล้าก็ดี คนไม่อยากออกเสียงก็ดี คนที่อยู่เฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ไม่เข้าข้างไหนสักข้าง "ค่า" ของคนผู้นี้ เท่ากับ "ว่างเปล่า" ไม่ใช่ "คนมีค่า"

และ ไม่นับว่า "คนเป็นกลาง"

จริงๆ แล้ว "คนเป็นกลาง" นั้นจะเป็นคนมีค่าสูง และทำอะไรก็มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะขณะที่ต้องการ "ความเป็นกลาง" หากแม้น "คนเป็นกลาง" ที่เป็นผู้ได้รับความนับถือบูชาของสังคมจริงๆ เห็นด้วย กับฝ่ายใด หรือ เข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะมีน้ำหนักขึ้นมาทันที

อย่างนี้ต่างหาก ที่ชื่อว่า "ไม่ลำเอียง"

แต่ยิ่ง "เป็นกลาง" อย่างมี "คุณค่า" เสียอีกเพราะยืนยันและเติมน้ำหนักแห่ง"สัจจะ"ให้แก่สังคมแท้ๆ

ดังนั้น คนที่ไม่ออกเสียงก็ดี คนที่ไม่ยอมระบุคนชั่วว่าชั่ว ไม่ตำหนิคนชั่วก็ดี คนที่ไม่ระบุคนดี ไม่เข้าข้างคนดี คนถูกต้องก็ดี จึงยังเป็นคนไม่มีศักดิ์และไม่มีสิทธิ์ถึงขั้น "คนเป็นกลาง" ด้วยประการฉะนี้

จะเป็นได้ก็แค่ คนอยู่เฉยๆ หรือ คนเปล่าประโยชน์ หรือ คนขี้เกียจ คนเห็นแก่ตัว คนโง่ คนลำเอียง จึงไม่สมควร ให้ออกเสียงเข้าข้างฝ่ายใด ขืนให้ออกเสียง นอกจากจะไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะไม่ชอบธรรม เอาด้วย

ขึ้นชื่อว่า "คนเป็นกลาง" จะทำ"ความเป็นกลาง" ได้ถูกต้องจริงนั้น ก็ต้องเป็น"ผู้มีสัมมาปัญญา" หรือเป็น "ผู้รู้จริงอย่างถูกต้องจริง"

เช่น ผู้พิพากษา-ตุลาการ หรือ เป็น"ผู้ใหญ่" จริง จะต้องตัดสินได้ มีภูมิถึงขั้นรู้ผิด-รู้ถูก และต้องเห็นด้วย ข้างฝ่ายดี ไม่เห็นด้วยข้างฝ่ายชั่ว ย่อมกล้ายืนยันคนดี-ลงโทษคนชั่ว ไม่เช่นนั้น ผู้นั้นก็ ไม่ใช่ "คนเป็นกลาง"

แต่คือ "คนเป็นกลัว" ที่ไม่มีความกล้า (ภยาคติ)

หรือไม่ก็เป็น "คนไม่รู้-คนโง่ธรรมดาๆ"

คนชนิดนี้จะไปทำ"ความเป็นกลาง"อะไรกับใครได้

ก็เพราะเป็น "คนรู้ไม่จริง-รู้ไม่จบ-รู้ไม่แจ้งรอบ" จึงไม่แน่ใจ จึงไม่มั่นใจ จึงไม่กล้าออกเสียง จึงยังเรียก คนชนิดนี้ว่า "คนเป็นกลาง" ไม่ได

ถ้า "คนเป็นกลาง" คนใด ที่ทั้งรู้ถูกรู้จริงในดีในชั่วนั้นๆ และไม่มีชั่วนั้นหรือยิ่งทำดีนั้นได้ด้วย คนผู้นั้น ก็จะมีพฤติกรรม มีความเป็น มีการดำเนินไปแบบเดียวกับคนดี-คนถูก "คนเป็นกลาง" จึงมักจะถูกมองว่า เป็น "พวกเดียวกัน" กับคนดี-คนถูก

เพราะ "คนเป็นกลาง" ที่แท้จริงนั้น จะยืนหยัดยืนยันอยู่กับความดีความถูกต้อง อย่างมั่นคงเที่ยงแท้ ไม่แปรเปลี่ยน ในเรื่องนั้นๆ เป็นแน่

"ผู้ไม่เป็นกลาง" ก็มักจะแดกดันเอาว่า "ดื้อรั้น-ไม่ยอมลดราวาศอก-แข็งกระด้าง" จากการไม่ยอมหย่อนยาน ไม่ยอมลดความมั่นคง ของผู้ยืนหยัดนั่นเอง

คนที่ขี้เกียจจนเกินการ
คนกลัวจนเกินจะกล้า
คนขี้ริษยาใครๆ ที่ดีกว่าตน
คนลำเอียงเพราะกิเลสในตน

และคนที่ไม่รู้จริง หรือแม้จะรู้ แต่ตนยังเป็นตามนั้นไม่ได้ ทำดีตามที่รู้นั้นยังไม่เป็น ส่วนมากของคนแบบนี้ จะไม่กล้า ออกเสียงเข้าข้างความดี ความถูกต้อง จะไม่กล้าสนับสนุนคนดี คนถูกต้อง แม้กล้าก็ปิดบังตน

แถมยังชอบที่จะหาสำนวนโวหารมาแก้ตัวเสียอีกว่า

ธรรมดาของ "คนเป็นกลาง" ที่มีปัญญาฉลาดนั้น จะต้องไม่ไปว่าใครข่มใคร หรือไม่ชี้ใครผิดใครถูก ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้น ก็เป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งอยู่ภายใต้คำสอนของพระบรมศาสดาองค์เดียวกัน ที่ว่า

"นิคคัณเห นิคคหารหัง ปัคคัณเห ปัคคหารหัง"

"จงข่มคนชั่ว-ยกคนดี หรือ ข่มคนที่ควรข่ม ยกคนที่ควรยก" เพราะคนที่ควรข่มนั้นก็คือ "คนชั่ว-คนผิด" คนที่ควรยกนั้น ก็คือ "คนดี-คนถูก"

ข้อควรระวังอย่างสำคัญนั้น ก็คือ ต้องใช้ปัญญา รู้จักประมาณใน การข่ม-การยก ให้ดีๆ จริงๆ จึงจะช่วย ทั้งคนดี ช่วยทั้งคนชั่ว

และการข่มในที่นี้ ก็ไม่ใช่การใส่ร้ายคน ไม่ใช่"อุปวาท" หรือไม่ใช่การทำร้ายคน ไม่ใช่"อุปฆาต" เพราะไม่ใช่พูด หรือทำอย่างเลวร้าย ให้เสียหาย แต่เป็นเพียง"วิธีการ"ช่วยเหลือคนชั่ว โดยเฉพาะการช่วยคนชั่วนั้น ต้องชี้ผิด ให้แก่เขา ต้องตำหนิเขา หรือต้องข่มเขาให้จำนนนั่นเอง แต่ต้องกระทำอย่างมีสติสัมปชัญญะ มีสัปปุริสธรรม มีประมาณ และมีศิลปวิทยาอย่างยิ่ง ให้ผู้ถูกตำหนิรู้สึกว่า "คำตำหนิเป็นของควรดื่ม" (เปยยวัชชะ) หรือแม้จะเป็นคำตำหนิแต่ผู้ตำหนิก็สามารถทำให้ ผู้ถูกตำหนิ รู้สึกหรือเห็นคำพูด คำตำหนินั้น เป็นที่รัก ที่น่ายินดี (ปิยวาจา)

การพูดนิ่มๆ พูดหวาน พูดชม คนทั้งหลายเขาก็รักก็ชอบแน่นอน หรือไม่ตำหนิผู้ใด คนก็รักก็ชอบ ความสามารถแค่นี้ ใครๆ ก็ทำกัน ก็เก่งกันได้ จะวิเศษอะไร

แต่ถ้ามีความสามารถตำหนิคนหรือข่มคนให้เขารักได้ ด้วยความยินดี และยกย่องภูมิใจ ในการตำหนิ การข่มนั้น ว่ามีคุณค่า นั่นต่างหาก ที่เป็นยอดศิลปวิทยา และเป็นความสามารถที่วิเศษของสัตบุรุษทีเดียว

หากใครยังไม่มีภูมิธรรมหรือยังไม่มีฝีมือในการข่มในการตำหนิ จงระวังให้มาก!

คนชั่วนั้น ย่อมตอบโต้ด้วยความชั่วความเลวร้ายแน่ ความเลวร้ายของคนชั่ว ก่อความฉิบหายทั้งตน และ ผู้อื่น มามากต่อมากนักหนาแล้ว

อย่างไรก็ดี สังคมก็ยังอาศัยการออกเสียง หรือการวินิจฉัย ตัดสินใจ แล้วเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ด้วยจิตใจ ที่ต้องพยายามทำให้ "เป็นกลาง"

ไม่ให้ "อคติ" ไม่ให้มี "ทุคติ" ใดๆ แม้เราจะยังไม่ถึงขั้นเป็น "สัตบุรุษ" ก็ต้องพยายามตั้งสติ ใช้สัมปชัญญะ ปัญญาให้ดีที่สุด ทำหน้าที่ "คนเป็นกลาง" เท่าที่สามารถตามหน้าที่พลเมืองดี แต่ละครั้งคราว ที่จะต้อง "ออกเสียง" โดยไม่กลัวว่าตนจะไม่เป็นสุข ไม่กลัวว่าตนจะได้รับคำตำหนิ หรือไม่กลัวว่าตน จะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญ เสียหน้า หรือเพราะขี้เกียจลึกๆ หรือเพราะริษยาเล็กๆ ก็ตาม

แต่นั่นแหละ อคติ และทุคติ เหล่านี้ มันมีอิทธิพลอยู่ในใจคน ที่ทำให้คน "กลัว" ซึ่งเป็น "ความกลัว" ที่มันทำงานอยู่ลึกๆ ในจิตก้นบึ้งของตนให้คน "ไม่กล้า" ชี้ชั่ว แก่กันและกัน หรือ "ไม่กล้า" เข้าข้างคนดี อย่างออกหน้า จนทำให้เนิ่นช้าพัฒนาอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งทำให้เสื่อมทั้งตนเอง และสังคมประเทศชาติ มายิ่งนักแล้ว

"ความเป็นกลาง" จึงลึกซึ้งลึกล้ำยิ่งนัก

เห็นให้ชัดเถิดว่า "คนเป็นกลาง" มิใช่จะต้องหยุดตำหนิ หยุดว่า หยุดด่า หยุดข่ม หยุดชม หยุดงาน หยุดกรรมกิริยา แบบเถรตรง พาซื่อ ตื้นๆเขินๆ ไปเลย แท้จริงนั้นยังตำหนิได้ ยังด่าได้ ยังข่มยังชมยังชอบได้

ที่สำคัญต้อง หยุด หรือฆ่าเจ้า "กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน"ในตนให้หมดสิ้น เพราะมันเป็น"สมุทัย" (เหตุ) ที่ทำให้ จิตใจเรา "ไม่เป็นกลาง" ซึ่งต้องจัดการให้ลดลงจาก "ตัวตนใหญ่" (สักกายะ)ก่อน แล้วก็ลด "ตัวตนในลำดับต่อๆ ไปที่มันยังมี" (อัตตา) ให้ได้อีก ก็จะพ้นโลกียะไปเป็นโลกุตระ ไต่ระดับสูงขึ้นๆ แต่ละขั้นๆ จนที่สุด ฆ่าให้หมดสนิท แม้"ตัวตนเล็ก"สุดท้าย (อาสวะ)

หรืออย่างน้อยก็ต้องระงับเจ้าตัว "สมุทัย" นี้ให้ได้ในขณะที่จะทำหน้าที่ชี้ถูก-ผิดหรือขณะ "ชี้ดี-ชี้ชั่ว" นี่คือ นัยที่ทุกคน ต้องพยายามทุกคราถ้ายังไม่ใช่ผู้หมดสิ้นกิเลส

"ความเป็นกลาง"ของคนที่อยู่ข้างฝ่ายดี เพราะไม่มี "ทุคติ" ไม่มี "อคติ" โดยฆ่า "สมุทัย"ดังกล่าวได้แท้จริงนั้น ย่อมเห็นได้ ไม่ยากว่า มีพฤติกรรมยืนหยัดอยู่ข้างฝ่ายดีเหนียวแน่นมั่นคง จึงดูราวกับว่า เป็น "คนติดดียึดดี" อาการหนัก แต่จริงๆแล้ว มันเป็นไปตาม "สัจจะ" ที่คนดีจะต้องเป็นอย่างคนดีต่างหาก แม้เขาจะปรุง ก็ไม่มีบาป -อกุศล -ทุจริต เป็น "เหตุ" อยู่ในจิต (ปุญญาภิสังขาร)

นี่แหละคือ ลักษณะความสะอาดของคนที่สัมบูรณ์ ตาม "โอวาทปาติโมกข์ ๓" ของพระบรมศาสดาที่ว่า

๑. ทำอะไรก็ "ไม่มีบาป-ไม่มีชั่ว"(สัพพปาปัสสะ อกรณัง)

๒. มีแต่ดีมีแต่กุศลเพราะยัง "สุคต" ยังดำเนินไปดีอยู่ ยังขวนขวายทำดีให้มีให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ (กุสลัสสูปสัมปทา)

๓. และเป็นจิตทำให้บริสุทธิ์สะอาดได้จริง กระทั่งไม่มีโลภะ-โทสะ-โมหะ ไม่ลำเอียงเพราะชอบ-ชัง-หลง-กลัว จึงเป็นจิตที่ตรงแล้ว กลางแล้ว ดีแล้ว ถูกแล้ว (สจิตตปริโยทปนัง)

คุณลักษณะทั้ง ๓ ของ "โอวาทปาติโมกข์" มีครบถ้วน

ดังนี้ ชื่อว่า"โลกุตรจิต"แท้ และเป็นจิต "เหนือโลกธรรม" ไม่ใช่แค่ "หนีโลกธรรม" ทั้งไม่ใช่จิตที่ "สูญไป จากโลกแล้ว" แต่เป็นจิตของ"อาริยบุคคล" ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีการดำเนินไปของ กาย วาจา ใจ ตามปกติ คนเป็นๆ

ยังดำเนินบทบาทพฤติกรรมของ "ความเป็นกลาง" ซึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา" ที่ดี สูงส่งถึงขั้นสมดุล สัมบูรณ์ ตามสัจธรรมนั้น อย่างลงตัว ชนิดที่....ตัวเองก็เป็นเช่นนั้นอยู่อย่างนั้นเอง (ตถตา) ด้วย

"คนเป็นกลาง" ที่สัมบูรณ์ จึงเป็นอยู่หรือดำเนินไป(สุคต)แบบเดียวกันกับฝ่ายถูกฝ่ายดี แม้จะพูดเข้าข้าง ฝ่ายดี ก็ไม่ใช่ "ความลำเอียง" แต่เป็น"สัจจภาวะ" ที่ต้องมีในสังคม ซึ่งใครๆไม่ต้องกล่าวหาเสียให้ยาก

เพราะคนผู้นี้ย่อมมีชีวิตเป็น ย่อมมีชีวิตอยู่แบบเดียวกับคนฝ่ายดี ชนิดมั่นคงเที่ยงแท้ แน่แน่ว พร้อมกับ ทำการเผยแพร่"ความดี"ให้ขยายออกไปให้ยิ่งๆ ด้วยอุตสาหะพยายามแม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ก็รู้ดีว่า ทำไมจึงต้อง อุตสาหะพยายาม

"คนเป็นกลาง" ...เป็นอย่างนี้ๆ เอง

และ "คนไม่เป็นกลาง" หรือคนที่ยังไม่ดีไม่ถูก ก็มีชีวิตเป็น ชีวิตอยู่ โดยมีอะไรๆ แบบเดียวกับคนฝ่าย ไม่ดีไม่ถูก หรือผิดเช่นกัน ไม่มากก็น้อย ซึ่งแน่นอนว่า คนละอย่างกับ "คนเป็นกลาง"

ลองพิจารณาดูดีๆ สิ มันเป็น "อย่างนั้น" จริงๆ

สรุป "คนเป็นกลาง" มี ๔ ประเภท ดังนี้

๑. คนที่ไม่รู้จริง แต่ห่ามๆ ห้าวๆ ชอบอวดแต่ดี ก็จะกล้าชี้ถูกชี้ผิดไปตามประสา เดาเอาบ้าง ได้ข้อมูลผิดๆ หรือได้ไม่ครบ ก็โมเมเอาบ้าง แล้วก็ตัดสินประหนึ่งผู้รอบรู้

๒. คนไม่รู้จริงอีกแบบ ได้แก่ พวกไม่ห้าวไม่หาญ ค่อนจะขี้กลัวเอาด้วย ก็จะไม่ชี้ถูกชี้ผิด จะไม่กล้าตัดสิน ว่าใครดี ใครชั่ว แล้วก็คุยว่า "ตนเป็นกลาง" ยืนยันว่า "คนเป็นกลาง" ต้องไม่ว่าข้างใดไม่เข้าข้างใด รักษาตัวรอด

๓. คนที่รู้จริง จะชี้ถูกชี้ผิด จะกล้าตัดสิน จะยกคนถูก ตำหนิคนผิด แล้วยืนยันว่า "ตนเป็นกลาง"

๔. คนรู้จริง แต่จะไม่ระบุว่าใครผิดใครถูก เมื่อไม่มีข้อมูลเพียงพอจนรู้ว่าใครถูกใครผิดอย่างแน่ใจนี้ ๑ และ แม้รู้ชัดแจ้ง ก็ตาม ท่านอาจจะไม่ชี้ไม่ระบุ ในกรณีที่หากระบุแล้ว จะทำให้เหตุการณ์เลวร้าย เสียหาย ตามมานี่อีก ๑ โดยจริงนั้นตามกาละ เทศะ ฐานะ ที่พอชี้แจงได้ ท่านก็จะกล่าว จะพูด อย่างพอเหมาะ ด้วยใจจริง ไม่เก้อเขิน

- จริงใจ ตามภูมิ -