ทำไมสมัครอัดป๋าเปรม
โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ๑๙ : ๒๘ น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000019611

"ผมดีใจที่ขณะนี้ พวกเราคนไทยทุกระดับพูดกันถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมกันมาก ซึ่งเราไม่ค่อย พูดถึงกันมากนัก ในสมัยก่อนๆ นี้"

"ความเก่ง ความฉลาด เป็นเรื่องดี แต่ความเก่งความฉลาดที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่น่าจะดี..."

นี่เป็นความตอนหนึ่งของปาฐกถา เรื่อง "แนวทางพระราชดำริสู่การบริหารจัดการภาครัฐ" ซึ่งพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้รับเชิญ ไปกล่าวในงาน สัมมนาทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนดุสิต เมื่อวันที่ 8 ก.พ.นี้

เนื้อหาการบรรยายก็เลยเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะตรงใจสังคมที่อยากเห็นผู้บริหารภาครัฐ ทุกระดับ ยึดแนวทาง พระราชดำริ

แนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐที่ "ป๋าเปรม" ได้รวบรวมและเชิญมาเล่าให้ฟังในงาน สรุปได้ดังนี้

๑. การบริหารจะต้องเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ เพื่อความเจริญของประเทศ และเพื่อความผาสุก ของประชาชน
การบริหารจะต้อง ไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของญาติพี่น้อง และบริวาร

๒. บริหารด้วยความสามัคคีปรองดองจะนำไปสู่ความร่วมมือและความเข้มแข็ง ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ

๓. บริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิด การพูดและการกระทำ

๔. บริหารด้วยความถูกต้อง คือถูกกฎหมาย ถูกกฎเกณฑ์ มีความเที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และ ให้ประสิทธิผลสูง

๕. บริหารให้มีเอกภาพ มีการประสานงาน มีการประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน

๖. บริหารด้วยความเพียรอย่างต่อเนื่อง ดุจเช่นพระมหาชนก ผู้บริหารต้องไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวเหนื่อย ดำรง ความมุ่งหมาย อย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญอุปสรรค

๗. ผู้บริหารจะต้องไม่หวาดกลัวต่ออิทธิพลใดๆ และต้องอยู่คนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง

๘. ผู้บริหารจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง ลึกซึ้งและกว้างขวาง พระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำเตือนให้ทุกคนตื่นตัว สนใจ ความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาวิชาการตลอดเวลา

๙. ผู้บริหารจะต้องสำนึกในความรับผิดชอบ และเห็นความสำคัญของงาน ความรับผิดชอบ รวมถึงความตั้งใจ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ ให้บรรลุตามผลที่กำหนด

๑๐. ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด มีความถูกต้องเหมาะสม

๑๑. ผู้บริหารจะต้องมีสติ มีปัญญา สามารถพิจารณาปัญหาต่างๆ ได้กว้างไกล รอบคอบทุกแง่ทุกมุม

๑๒. ผู้บริหารจะต้องแน่วแน่ที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิด

๑๓. ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

๑๔. ผู้บริหารต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

หลักการบริหารตามแนวพระราชดำริทั้ง ๑๔ ข้อ จากปาฐกถาของพล.อ.เปรม ที่สรุปมาให้อ่านกัน ก็เพื่อให้เห็นว่า ทุกข้อ มีคุณค่ามหาศาล และมีประโยชน์อย่างยิ่ง

โดยที่ พล.อ.เปรม ยืนยันว่า เนื้อหาจากการพูดครั้งนี้ไม่มีเจตนาจะตำหนิใคร หรือองค์กรใด

"ถ้ามีใคร คณะใด ฟังแล้วไม่ชอบใจก็ต้องขออภัย" ท่านประธานองคมนตรีย้ำพร้อมกับกล่าวเสริม แนวพระราชดำริ หลายข้อ เช่น

- ความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่ความขัดแย้งไม่ใช่ความขัดขืน

- ผู้บริหารนอกจากตัวเองจะต้องซื่อสัตย์สุจริตแล้ว จำต้องดูแลคนรอบข้างตัวเราให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วย

- ผู้บริหารต้องเพิ่มคำว่า "เสียสละ" และ "จงรักภักดี" เข้าไปด้วย

- การทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพในการบริหาร และลดความเชื่อถือของประชาชน ที่มีต่อ ผู้บริหาร และหน่วยงานของรัฐ

ผู้บริหารต้องมีมาตรฐานเดียวเสมอหน้ากันทั่วถึงกัน ต้องไม่มีหลายมาตรฐาน ไม่ใช้มาตรฐานตามอารมณ์ หรือ มาตรฐาน ตามกิเลส

"พระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำเตือนเสมอว่า ความสุจริตและความถูกต้องเป็นของคู่กัน"

- การแก้ไขสิ่งที่ผิด ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย การทำชั่ว ประพฤติชั่ว ต่างหากที่น่าละอาย แต่น่าแปลกใจ ที่คนอย่าง สมัคร สุนทรเวช กลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น และออกโรง ตำหนิวิจารณ์ พล.อ.เปรม ผ่านทางรายการ "เช้าวันนี้ที่เมืองไทย" ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๕

หรือว่า นายสมัครเห็นว่า หลักการ ๑๔ ข้อ ตามแนวพระราชดำรินั้น ตรงข้ามกับแนวทางการบริหาร และ พฤติกรรม ของ นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

นายสมัคร จึงเห็นไปว่า การกล่าวปาฐกถาดังกล่าวเป็นการเข้าข้างกระแสต่อต้านผู้นำรัฐบาล ที่กำลังถูกเปิดโปงว่า กระทำการ ขาดจริยธรรม ของผู้นำประเทศ ที่มีความไม่โปร่งใส และเอื้อประโยชน์ให้การขายหุ้น ธุรกิจของครอบครัว มูลค่า ๗.๓ หมื่นล้านบาท ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี

การเล่นบทที่คอยตอบโต้ฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับนายกฯทักษิณ จนเคยตัวก็เลยหันมาเล่นงาน องคมนตรี เพราะคิดว่า ปาฐกถานั้น มีผลกระทบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ดังนั้น ด้วยความพยายามของผู้กุมอำนาจรัฐ ขณะนี้ดูเหมือนจะมีทั้งฝ่ายที่เชียร์และฝ่ายที่ ไม่ยอมรับ พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่ฝ่ายที่เชียร์จะมีการสั่งการด้วยระบบราชการจนผู้ออกมาเล่นบทนี้ทำตามสั่งที่ต้องเอาผลประโยชน์ เฉพาะตัวล่อ หรือ กรณีที่เล่นเกินบท อย่างนายสมัคร เป็นต้น

ส่วนฝ่ายที่ปฏิเสธผู้นำรัฐบาลคนนี้ จะเป็นผู้ติดตามข่าวสาร และรับรู้ความไม่ถูกต้อง ความไม่มีคุณธรรม ของ ผู้บริหาร ปฏิกิริยาที่ขยายวงออกไป จะเป็นธรรมชาติของคน ที่เป็นห่วง ผลประโยชน์ชาติบ้านเมือง

ปรากฏการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจึงมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ต้องเคลื่อนไหว "ไม่เอาทักษิณ" เพื่อเป็นจุดเริ่ม ปฏิรูป การเมือง

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ -