ตอน ผู้จากไป

โรงเรียนประชาบาลแว้งจะปิดภาคใหญ่แล้ว เด็กนักเรียนจะได้หยุดเรียนตั้งสองเดือน จะได้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องไป โรงเรียน ไม่ต้อง ทำการบ้าน ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อรีบไปให้ทันโรงเรียนเข้า ไม่ต้องท่องสูตรคูณ ไม่ต้องถูกคุณครูดุ แล้วก็ยัง ไม่ต้องทำอะไร อีกตั้งหลายๆ อย่างที่ไม่อยากทำ โดยไม่ถูกผู้ใหญ่และคุณครูลงโทษ

"ดีใจที่สุดเลย ไม่ต้องเดินไปโรงเรียนอีกตั้งสองเดือนแน่ะ หยุดเรียนอย่างนี้ฉันชอบ" พี่แมะว่ากับเพื่อนๆ ที่มาเที่ยวบ้าน วันเสาร์ และเพื่อนๆ ของเขาก็ร่วมพูดว่า "จริงด้วย ได้หยุดตั้งนาน ฉันก็ชอบเหมือนกัน"

"ปีก่อนหยุดนานกว่า ตั้งสองปี เบื่อจะตาย" น้อยซึ่งชอบการไปโรงเรียนเข้าไปร่วมคุยกับเขาด้วยเพราะไม่มีเพื่อนมาหา

"อะไรสองปี?" พี่แมะแย้งก่อนจะหันไปอธิบายเพื่อนๆ ของเขาว่า "น้องฉันเค้าไม่รู้เรื่องหรอก เค้าชอบไปโรงเรียน เลยว่า ปิดภาคใหญ่ นานตั้งสองปี เด็กอะไรจะขึ้น ป.สองแล้วยังพูดไม่ถูก ปิดสองเดือนว่าสองปี จำแค่นี้ก็ไม่ถูก"

"ทำไมน้อยจะจำไม่ถูก ก็ตอนนั้น ปิดสอนปิดนาน ยายเลยมาเยี่ยมพวกเราไง" น้อยเถียงก่อนที่จะนึกขึ้นได้ว่าหนึ่งปี มีสิบสองเดือน สองปีก็ตั้งยี่สิบสี่เดือน นานไปหน่อยจริงๆ ด้วย

เป็นความจริงที่ว่าน้อยจำผิดว่าสองปี แต่เธอก็จำถูกว่าปิดภาคหน้าร้อนปีกลายยายจากสงขลามาเยี่ยมครอบครัวพวก "เมืองแขก" ที่แว้งเป็นครั้งแรก จากนั้นก็มีแต่พวกญาติมาเป็นครั้งคราว ส่วนยายไม่เคยมาแว้งอีกเลย

"แล้วพรุ่งนี้วันอาทิตย์คุณครูโรงเรียนเราจะพาไปเที่ยวบาตูฆาเยาะห์ พวกเธอสองคนจะไปไหม?" เพื่อนพี่แมะคนหนึ่ง ถามเป็น ภาษาไทย

"ไปซี ฉันขออนุญาตแม่แล้ว แม่ให้ไป"
พี่แมะตอบเพื่อน

"ป๊ะกีตอปงเนาะฆียูเฆาะ มีเตาะเมาะเด๊าะห์ เมาะบูวีฆี (น้อยก็จะไป ขออนุญาตแม่แล้วเหมือนกัน แม่ให้ไป)" น้อยตอบ เป็นภาษามลายู หวังใจจะให้เพื่อนพี่แมะคุยด้วยบ้าง แถมยังบอกกลุ่มพี่ๆ ด้วยภาษาไทยเป็นเชิงอวดคุย (ผู้เขียน จำได้ว่า คำว่า โม้ อวดโม้ ขี้โม้ คุย อวดคุย ขี้คุย มีใช้ในภาษาปักษ์ใต้ ในสมัยนั้น เพียงแต่มีความแตกต่าง ในระดับและความหมาย ระหว่างคำ อยู่เล็กน้อย คำว่า อวดคุย ไม่ได้ยินแล้ว ในปัจจุบัน) ว่า "เพื่อนๆ น้อยชั้นป.หนึ่ง ที่กำลังขึ้นชั้นป.สอง ก็จะไปกัน ตั้งหลายคน เอาข้าวห่อ ไปกินกันด้วยแหละ ถ้าใคร ไม่มีข้าวห่อ ก็มากินด้วยได้"

สถานที่ที่คุณครูพาไปเที่ยวก่อนปิดภาคเรียนในวันอาทิตย์นั้นมีชื่อเรียกเป็นภาษามลายูว่า บาตูฆาเยาะห์ (บาตู แปลตรงตัวว่า หิน อาจใช้เป็น ชื่อหมู่บ้านได้ หากตรงจุดนั้นมีเสาหินเป็นเครื่องหมายบอกระยะทาง เช่น หมู่บ้าน บาตูลีมอ ในมาเลเซียก็หมายความว่า หมู่บ้านนั้น มีเสาหิน (หรือ ซีเมนต์) บอกกิโลเมตรหรือไมล์ที่ ๕ ปักอยู่ หรืออาจ ใช้คุณศัพท์ ในความหมายว่า แข็ง ได้ เช่น อัยย์บาตูคือ น้ำแข็ง

ส่วนคำว่า "ฆาเยาะห์" เป็นมรดกทางภาษาที่รับมาจากภาษาสันสกฤต เช่นเดียวกับ ในภาษาไทย คือมาจากภาษา สันสกฤตว่า คชา (gaja) แต่มาออกเสียงเพี้ยนเสียเว้นแต่เสียง ค (g) ในภาษามลายูยังออกเสียงเหมือนเดิม และเสียงนั้น ผู้เขียนเรื่องนี้ใช้ ฆ แทน)

แปลเป็น ภาษาไทยว่า หินรูปช้าง อยู่ในเขตตำบลลูโบ๊ะดาแล แปลว่า หล่มลึก (กรุณาย้อนไปอ่านตอน "หล่มลึก" ใน แว้งที่รัก ได้) คุณครู นัดเด็กๆ ที่จะไปเที่ยวให้มาพร้อมกันที่ตลาดซึ่งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอ คุณครูนัดที่นั่น เพราะอยาก ให้พ่อแม่พาเด็กๆมาส่ง จะได้วางใจ เมื่อมาพบคุณครู แล้วก็จะได้เห็นเด็กๆ เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ เรียบร้อยด้วย ตลาดแว้งวันนั้น จึงมีคนเต็มราวกับ มีงานประจำอำเภอ

น้อยกับเพื่อนๆ รู้มาก่อนแล้วว่าบาตูฆาเยาะห์นั้นอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนนักแต่ก็ไม่มีใครเคยไปสักคนเพราะมันอยู่ในป่า ต้องเดินไป ตามถนน หน้าโรงเรียน ผ่านเนินดินแดง จนถึงลูโบ๊ะดาแลก่อนแล้วจึงเลี้ยวเข้าไปในป่าทางซ้ายมือ ตรงนั้น ไม่มีบ้านคนอยู่เลย คำร่ำลือเรื่องช้าง กลายเป็น หินหมอบอยู่กลางป่าทำให้เด็กๆ อยากไปเห็นยิ่งนัก น้อยกับเพื่อน ถึงกับหวังว่า พวกเธออาจทำให้ช้างหินเชือกนั้น กลับคืน มีชีวิตได้อีก จะได้มีช้างเป็นของตนเอง

เมื่อขบวนนักเรียนเริ่มเลี้ยวเข้าป่าที่ลูโบ๊ะดาแลก็ไม่เหลือบ้านคนให้เห็นเลยสักหลังเดียว ป่าเป็นป่ายางสลับป่าทึบ กลิ่นดอกไม้ป่า อย่างกล้วยไม้ และจำปูน นมแมว หอมโชยมาอ่อนๆ อากาศตอนเช้าในป่าแถบนั้นไม่ร้อนเลยทั้งๆ ที่เป็นฤดูร้อน แดดที่ส่อง ลงมาได้ เฉพาะที่ว่าง หว่างใบไม้ดูเป็นแฉกเหมือนดวงดาวกระจาย อยู่เต็มพื้นดิน ที่ปกคลุมด้วย ใบยางหล่น ทำให้รู้สึกสดชื่นยิ่งนัก

กอนมแมว มีลูกห้อยเป็นพวงสีทอง ซ่อนอยู่หลังใบสีเขียวแก่ ลูกตาเป็ดตาไก่กลมๆ สีแดงจัด ขึ้นอยู่ทั่วไป ลูกโทะสีม่วง รูปร่างเหมือน คนโฑน้อยๆ ทำให้ขบวนเด็กช้าไปบ้าง เพราะพอใครเห็นเข้าช่อหนึ่ง ก็จะพากันร้องกรี๊ด แตกแถว วิ่งไปเก็บมาแบ่งกัน รับประทาน อย่างสนุกสนาน คุณครูประจำชั้นต้องหยุดคอยลูกศิษย์ตัวน้อยๆ แต่ไม่ได้ห้ามปราม เพราะทราบดีว่า ผลไม้ป่าเหล่านั้น สะอาดปลอดภัย ไม่มีผงฝุ่น สกปรกใดๆ เก็บได้ก็ใส่เข้าปากเคี้ยวเลย โดยไม่ต้องล้าง

พาเดินบ้างวิ่งบ้างพลางหัวเราะกันไปสักพักใหญ่น้อยก็เริ่มคิดขึ้นได้ถึงเรื่องแม่กับพี่จบ "ป่ามันทึบอย่างนี้นี่เล่า แม่กับพี่จบ ถึงได้หลงป่า" เธอนึกกลัวขึ้นมา จึงถามเพื่อนขึ้นว่า

"ถ้าเราหลงป่าจะทำอย่างไร?"

"เรามากันตั้งหลายคน คุณครูก็มาด้วย จะหลงทำไม เธอกลัวหรือ?" มณีพรรณตอบให้เพื่อนคลายใจ แต่แล้วตนเอง ก็เริ่มคล้อยตามว่า "เราเลี้ยวจากถนนเข้ามาทางซ้ายมือตั้งนานแล้วจริงๆ ด้วยซี ก็น่าจะถึงคลองแว้งได้แล้ว ทำไม ยังไม่ถึงล่ะ หรือเราจะหลงป่า อย่างน้อยว่า"

เด็กๆ ไม่ทราบว่าคลองแว้งนั้นคดเคี้ยวมากเพียงใด บางตอนจะไกลจากถนนมาก

"แม่ฉันเคยมาซื้อของไปขาย มากับพี่จบ แม่เล่าว่าพากันเลี้ยวเข้ามาในป่าตรงนี้เพราะรู้ว่าต้องมาพบคลอง แต่แม่กลับ มาพบ อย่างอื่น" น้อยเริ่มต้นเล่า อย่างที่แม่เล่าพ่อ

มณีพรรณและเพื่อนที่เดินข้างหน้าข้างหลังติดกันหยุดกึก ถามเสียงเดียวกันว่า

"แมะมาพบอะไรล่ะ" เพื่อนๆ หลายคนเรียกแม่ของน้อยว่า แมะในความหมายคล้าย แม่

"พวกเธอเคยเห็นผมข้างหน้ากระจุกหนึ่งของแม่ฉันไหม?" น้อยถามเพื่อน เมื่อทุกคนพยักหน้ารับว่าเคยเห็น จึงพูดต่อว่า "นั่นแหละ เพราะป่าตรงนี้แหละ"

เพื่อนๆ เบียดเข้ามาใกล้พลางหันมองไปรอบตัว ป่าดูเหมือนจะเงียบและเยือกเย็นขึ้นมาอย่างฉับพลัน น้อยเล่าเพื่อนต่อว่า "แม่ว่า จู่ๆ ก็มีเสียงดังหึ่ง ขึ้นข้างหลัง ตัวต่อทั้งรังมันพากันบินออกมาจากต้นไม้ตรงมาที่แม่กับพี่จบเดินผ่าน ทั้งแม่ ทั้งพี่จบ ออกวิ่ง หนีฝูงต่อ"

"แมะถูกต่อกัดไหม?" วัลลีถาม แต่ก่อนที่น้อยจะตอบสมานก็พูดขึ้นว่า

"ตัวต่อมันไม่กัด มันมีอะไรแหลมๆ ออกมาตรงก้น มันไม่กัด เธอต้องว่า ต่อมันแทงซี"

"ไม่ถูกทั้งสองคนนั่นแหละ" คุณครูสุภาแก้ให้ลูกศิษย์พูดภาษาไทยให้ถูก "ที่สมานว่าอะไรแหลมๆ น่ะ ภาษาไทย เขาเรียกว่า เหล็กใน เหล็กใน นะ ไม่ใช่ เหล็กไช นั่นภาษาคนปักษ์ใต้เรียก สว่าน นั่นแหละ ทีนี้ที่ต่อมันใช้เหล็กในน่ะ ภาษาไทยเขาว่า ถูกต่อต่อย ไม่ใช่ต่อกัด หรือ ต่อแทง ผึ้งก็ต่อย เหมือนกัน"

"ต่อต่อย ผึ้งต่อย" เด็กๆ พึมพำ นึกไม่ถึงว่าคุณครูก็กำลังฟังเรื่องที่น้อยเล่าด้วย วัลลีว่า "แปลกจังภาษาบางกอกนี่ ต่อกะผึ้งไม่มีมือกำสักกะหน่อยแต่คนบางกอกว่ามันกอเจ๊าะห์(ต่อย)ได้"

"มือที่ใช้ต่อยน่ะ ภาษาไทยเรียกว่า หมัด" คุณครูแก้ภาษาของเด็กนักเรียนเชื้อสายมลายูอีกก่อนที่จะพูดกับน้อยว่า "เอ้า น้อยเล่า ให้เพื่อนฟังต่อซี"

"ค่ะ แม่เล่าว่าพี่จบวิ่งเร็วกว่าเลยหนีทัน แม่ถูกต่อต่อยที่หัว เจ็บมาก แม่ร้อง ขว้างกระจาดผักทิ้งเอามือปิดหน้า พี่จบ ได้ยินเสียง แม่ร้อง ก็วิ่งกลับมา ปัดตัวต่อมั่ง รูดผมแม่มั่งเพื่อเอาตัวต่อ บนหัวแม่ออก แล้วก็ฉวยแขนแม่ วิ่งหนีอีก วิ่งไป พักใหญ่ จึงรู้ว่าหลงป่า ผ่านหินก้อนใหญ่ เป็นรูปช้างด้วย จนได้ยินเสียงน้ำไหลก็รู้คลองแว้งอยู่ใกล้แล้ว เลยวิ่งไปทางนั้น พอถึงคลอง ก็กระโดดตูมลงน้ำ ดำลงไป ใต้น้ำ โผล่ขึ้นมาอีกทีก็ไม่เห็นฝูงต่อสักตัวเดียว -ฉันว่าพวกมัน คงบินกลับรัง ไปตั้งนานแล้วก็ได้นะ แม่กับพี่จบ มัวแต่วิ่ง ไม่ได้หันหลังไปดู"

"แล้วผักของแม่ล่ะ กลับไปเอาไหม?" แมะนะถาม

"แม่จะยอมทิ้งของที่ซื้อมาแล้วแหละ แต่พี่จบเขาใจกล้า เขาให้แม่คอยที่คลอง เขาก็กลับไปเอาของมาได้ แล้วสองคน ก็ล่องไปตามคลอง ที่คดไปคดมา จนถึงท่าที่ปางง-ญืองิง (เนินต้นเนียง) พอถึงตรงนั้น ก็นึกออก เลยกลับถึงบ้านได้ จบแล้วค่ะ"

"แล้วแม่ไม่เจ็บที่ถูกต่อต่อยหรือ?" จริยาถามด้วยความสงสัย

"จริงด้วย ฉันลืมเล่าไป แม่นอนปวดทั้งคืนเลย พ่อทาน้ำมันพม่าให้ก็แล้ว ต้องฝนรากไม้ทาให้ด้วย พอหายแล้ว ผมขึ้นใหม่ ของแม่ฉัน ตรงที่ถูกต่อต่อย ก็ขาวเป็นผมหงอก อยู่กระจุกนึง มันไม่ดำอีกเลยแหละ" น้อยจบเรื่องของแม่กับต่อ

เสียงพวกรุ่นพี่ตะโกนกันเอะอะว่า"บาตูฆาเยาะห์! บาตูฆาเยาะห์! หินรูปช้าง! หินรูปช้าง!" ดังมาถึงกลุ่มของน้อย ที่เดิน รั้งท้าย ทำให้ทุกคน ออกวิ่งตามกันไป อย่างรวดเร็ว พลางตะโกนถามไปด้วย ไม่ขาดปากว่า "มานอฆาเยาะห์? มานอฆาเยาะห์? ไหนช้าง? ไหนช้าง?"

ในที่สุดหินสีเทาอมดำก้อนมหึมาก็ปรากฏอยู่แก่ตาข้างหน้า ขนาดของมันใหญ่เท่าช้างจริงตัวโต มันทำท่าหมอบกับพื้น เหมือนคอย ให้คนขึ้น ทำให้หลังมันโค้งมนเหมือนช้างจริงๆ เข้าไปใหญ่ น้อยคิดถึงแม่ สงสารแม่ ที่ไม่ได้เห็นมันเต็มตา เหมือนเธอ และพี่แมะ เพราะมัวแต่ วิ่งหนีตัวต่อ กับพี่จบเสีย แต่เดี๋ยวคืนนี้เธอจะกลับไปเล่าให้พ่อกับแม่ฟังอีกก็ได้

คุณครูมนัสบอกให้คุณครูและเด็กๆ พักเหนื่อยรอบหินรูปช้าง เด็กผู้ชายพากันปีนขึ้นไปบนหลังช้างหินตัวนั้น น้อยนึกอยาก ปีนขึ้นไปบ้าง เหลียวดูพี่แมะ เห็นกำลังถลึงตา มองอยู่ เธอเลยชวนเพื่อนๆ ไปเดินเล่นใกล้ๆ เพื่อเก็บลูกโทะ ที่กอขึ้น อยู่หนาแน่น ในบริเวณนั้น ใครเก็บได้ก็ใส่ปากเคี้ยว เม็ดแล้วเม็ดเล่า

กำลังเพลิดเพลินกับลูกโทะจู่ๆ อุทัยลูกป้าฝ้อยที่บ้านอยู่หัวมุมสนามฟุตบอลก็พูดขึ้นว่า

"พอโรงเรียนเปิดภาค ฉันอาจไม่ได้เรียนที่นี่แล้ว"

น้อยชะงักมือที่กำลังยื่นออกไปเด็ดลูกโทะ หันมามองเพื่อน ถามว่า "ทำไมล่ะ ทัย?"

"เมื่อคืนนี้ฉันได้ยินแม่บอกว่าส่งพี่ๆ ไปเรียนที่บางกอก โรงเรียนวชิราวุธหมดแล้ว ถึงเวลาต้องส่งฉันไปเรียนที่บางกอก ด้วย จะได้อยู่รวมกันพี่ๆ น้องๆ" อุทัยตอบ

เพื่อนๆ พากันร้อง ว้า! น้อยใจหาย เธอไม่อยากให้ใครที่แว้งจากไปไหน จะได้พบเห็นกันได้ทุกๆ วัน แล้วเธอก็คิดได้ ถึงเรื่อง นกกางเขน ที่ลูกนกชื่อนิ่ม นิด หน่อย น้อย พอโตขึ้นก็ต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง บางทีพวกเธอและ เพื่อน ก็อาจจะต้อง เป็นอย่างนั้น เหมือนกัน ยังไม่ทันพูดอะไร วิมลลูกผู้หญิงคนเดียวของปลัดสว่าง ก็พูดขึ้นเสียก่อน

"ฉันก็ได้ยินพ่อกับแม่พูดกันว่าอาจจะต้องย้ายไปอยู่ที่อำเภอตากไบ แม่ฉันชอบอยู่ที่แว้ง พ่อเลยเขียนไปว่าอยากอยู่ต่อ อีกสักปี ถ้าได้ฉันก็ได้เรียนต่อที่นี่ ถ้าไม่ได้ฉันก็ต้องไปจากแว้ง"

เพื่อนทั้งสองพูดเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา น้อยไม่ค่อยกล้ามองหน้าพวกเขาเพราะอะไรก็ไม่ทราบ แล้วจริยาเด็กบางกอก ก็พูดขึ้นบ้าง

"ฉันจะเรียนที่โรงเรียนแว้งต่อ แต่พ่อกับแม่จะพาไปเที่ยวบางกอกตอนโรงเรียนปิดภาคนี่ ไปเยี่ยมญาติที่ราชบุรี แล้วก็ที่ บางกอกด้วย"

"ญาติของเธอที่บ้านอยู่หลังห้างบาโรบราวน์ใช่ไหม?" น้อยถามออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพียงแต่เธอจำชื่อห้างบาโรบราวน์ ที่จริยา ชอบพูดถึง ได้เท่านั้นเอง

เสียงคุณครูร้องบอกให้ทุกคนเดินต่อไปที่ริมคลองแว้งเพื่อเล่นน้ำและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่หาดทราย

สองฟากฝั่งของคลองแว้งที่บาตูฆาเยาะห์นี้เงียบสนิท มีแต่เสียงแมลงเท่านั้น เพราะไม่มีบ้านคนอยู่เลย น้ำจึงใสสะอาด ยิ่งนัก จนไม่น่าเชื่อว่า เป็นคลองสายเดียวกับ ที่ไหลผ่านข้างบ้านท่าฝั่งคลอง และเพราะมันคดไปเคี้ยวมา มากนั่นเอง ทำให้ดูเหมือน ไกลแสนไกล จากตัวอำเภอ ไกลเสียจน เด็กๆ จะตะโกนส่งเสียงดังเท่าไร คุณครูก็ไม่ห้าม ปล่อยให้ ฉลองวันปิดภาค กันอย่างเต็มที่

กลุ่มเด็กผู้หญิงชั้น ป.๑ กำลังจะขึ้น ป.๒ เล่นน้ำรวมกันโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าไหนเด็กไทยพุทธไหนเด็กไทยมุสลิม ทั้งที่รู้กันดีว่า คนไหนเป็นเด็กมลายู และคนไหนเด็กสิแย (สยาม) แต่ก็ไม่เห็นแปลกอะไรเลย เล่นน้ำกันจนคางสั่นกึกๆ แล้วก็เดินห่อไหล่ ขึ้นมานั่งล้อมวงกัน บนหาดทรายอุ่น เพื่อรับประทานข้าวห่อ อย่างเอร็ดอร่อย คนโน้นตักของตน ให้คนนี้ คนนี้ตักให้คนโน้น แบ่งกันชิมของกันและกัน อย่างสนิทใจ จนอิ่มหนำสำราญแล้วก็นั่งคุยกันต่อ นั่นแหละน้อย จึงนึกเรื่องที่เพื่อนสองคน อาจจะต้องจากไป ขึ้นมาได้ เธอมองหน้าเพื่อน แล้วพูดว่า

"ฉันอยากให้เธอไม่ลืมหินรูปช้างนี่จังเลย มล ทัย แล้วก็ที่พวกเรามาเล่นน้ำคลองวันนี้ด้วย แต่เธอก็อาจจะลืมแว้ง ไปเลยก็ได้"

"ทำไมล่ะน้อย บางทีพอเราโตเป็นผู้ใหญ่เราก็พบกันอีกได้นี่นา" มณีพรรณพูดแบบไม่ได้คิดอะไรเลย "เอาอย่างนี้ ดีไหม เราสัญญา กันดีกว่า เราจะจำ บาตูฆาเยาะห์ แล้วก็คลองแว้งตรงนี้ไว้"

ทุกคนให้สัญญา แต่น้อยก็ยังรู้สึกแปลกอยู่ไม่หายที่จะต้องจากเพื่อน เธอพูดว่า

"ฉันรู้สึกยังไงก็ไม่รู้ บอกเธอไม่ถูก เราอาจจะเจอกันอีกตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ได้จริงๆ นะ"

ไม่กี่วันต่อมาอุทัยก็ไปจากแว้ง จริยาก็ไปบางกอกกับพ่อแม่ของเขา น้อยรู้สึกหงอยเหงาบ้าง ยังดีที่มามุไม่ได้ไปไหน คงวนเวียน มาชวนไปเล่นอะไร ต่อมิอะไรอยู่เช่นเคย หลายวันเข้าน้อยก็เกือบรู้สึกเป็นปกติ และกลับดีใจมาก เมื่อวิมล มาบอกข่าวดีว่า พ่อแม่ จะยังไม่ย้าย ไปตากไบ ตอนนี้ อาจจะอยู่ต่ออีกเป็นปีก็ได้ น้อยเริ่มชินกับการรับรู้ เรื่องเพื่อนไปๆ มาๆจากแว้งแล้ว

แต่รายสุดท้ายนี้ จากไปอย่างนึกไม่ถึงจริงๆ

วันหนึ่ง ขณะนั่งพร้อมหน้ากันอยู่ที่หน้าร้าน มะตาเห (ชื่อ มะตาเห นี้ได้เพี้ยนมาหลายชั้นกว่าจะมาเป็นชื่อมุสลิม ทางภาคใต้ คำเดิมเป็นชื่อ จากในพระคัมภีร์ อัลกุรอาน ว่า "มูฮำหมัด ตอเฮ็ด" บางพยางค์ถูกตัดออก เสียงตัวสะกด ถูกทอนลง และเสียง วรรณยุกต์ จัตวา ที่คนไทย ยกให้แก่คำ ภาษามลายู อย่างอัตโนมัติ ก็ทำให้ชื่อนี้ กลายเป็น "มะตาเห" ได้อย่างประหลาด - สมาน มหินทราภรณ์) ก็เดินยิ้ม นำหน้าลูกชาย อายุรุ่นราวคราวเดียวกับน้อย ชื่อสฺแลแม (ถ้าบอกว่า ชื่อเพื่อนคนนี้ ตรงกับชื่อ อาหรับว่า "สุไลมาน (Sulaiman)" และ ภาษาฝรั่งว่า "โซโลมอน (Solomon)" ใครๆ ก็คงว่าเพราะ แต่ความจริง ได้เพี้ยนจาก "สุไลมาน" มาเป็น "สฺแลแม" เสียแล้ว ผู้เขียนจงใจ ใช้จุดข้างใต้ เพื่อให้อ่านเสียง ส แบบไม่ประวิสรรชนีย์) ขึ้นมา บนนอกชาน ทุกคนดีใจ เพราะครอบครัวสนิทสนมกันมาก เหมือนญาติ พ่อพูดเสมอว่า มะตาเห เป็นคนที่พ่อไว้ใจ มากที่สุด ในชีวิตเลยทีเดียว เขาซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ทุกเรื่อง และเป็นคนที่อารมณ์ดี อยู่ตลอดเวลา ถึงจะดูเป็นคนเฉื่อยๆ ก็ตาม

สฺแลแมถอดแบบท่าเดินเหมือนหุ่นเดินและหน้าที่ยิ้มตลอดเวลามาจากพ่อไม่ผิดเพี้ยน น้อยเคยคิดว่าสองพ่อลูกนี่ ก้มตัวได้ หรือไม่หนอ ทำไมเขาเดิน ยืน และนั่งตัวทื่ออกแอ่นแบบนั้น เวลาพูดก็เนิบนาบเหมือนคนไม่มีแรง แล้วก็คงโกรธใคร ไม่เป็น เพราะเห็นยิ้ม ตลอด อย่างนี้ ถ้าทะเลาะกับใคร ก็ต้องแพ้แน่ๆ น้อยคิดอย่างนั้นแต่ก็รักพวกเขามาก

เอาขันน้ำฝนส่งให้มะตาเห ตามด้วยเชี่ยนหมากและกระป๋องใบจากแล้ว กำลังจะนั่งลงคุยกับสฺแลแม น้อยก็ต้องตกใจ เมื่อได้ยิน มะตาเห บอกแม่ว่า วันนี้จะพาสฺแลแม ไปเข้าเรียน ที่ปอเนาะ

จะให้ไปได้อย่างไร สฺแลแมยังเล็กนิดเดียว น้อยกระซิบถามสฺแลแมเบาๆว่า

"สฺแลแมเนาะฆีงายีดีปอเนาะซูโงะห์ก๋อ ป๊ะห์เตาะงายีดีสกอเลาะห์แวงเดาะห์ลา
(สฺแลแมจะไปเรียน ที่ปอเนาะ จริงหรือ งั้นก็จะไม่ได้เรียนที่โรงเรียนแว้งแล้วซี)"

"ซูโงะห์ (จริง)" สฺแลแมตอบสั้นเสียงอ่อยเย็นแบบของเขาแต่ไม่ลังเลเลย

"สฺแลแมเนาะฆีดูโดะดีปอเนาะซอแฆบูเละห์ซูโงะห์ก๋อ (สฺแลแมจะไปอยู่ที่ปอเนาะคนเดียวได้จริงๆหรือ)?" น้อยถามเพื่อนอีก รู้สึกใจหายที่จะเพื่อนต้องจากไปอีกคน แล้วก็ต้องแปลกใจอีก เมื่อสฺแลแม ผู้ดูเหมือนเรื่อยเฉื่อย นั่งตัวแข็งทื่อ ตอบเบาๆ แต่ชัดเจนว่า

"บูเละห์ บะปอเตาะเละห์ญอ (ได้ซี ทำไมจะไม่ได้ล่ะ)"

"ซาปอดิยอนาเนาะบูวีสฺแลแมมาแก (แล้วใครจะหุงข้าวให้สฺแลแมกินล่ะ)?" น้อยซัก

"อะมอกึนอบูหวะสฺดีฆี (ผมก็ต้องหุงกินเองครับ)" สฺแลแมตอบเบาเช่นเคย จนน้อยเกือบไม่เชื่อ ที่เขาพูด ก็พอดี มะตาเห บอกแม่ว่า

"อะมอกึนอดูโดะซีตูดึงาดิยอดูลูปะลีมออะฆี แดซูเดาะห์บูวะปอเนาะดิยอ กีตอกึเหละลา (ผมต้องไปอยู่เป็นเพื่อนเขา สักสี่ห้าวันก่อน พอให้สร้าง ปอเนาะให้เสร็จ ก็กลับครับ)"

ปอเนาะที่สฺแลแมจะไปเรียนนี้อยู่ในเส้นทางไปโต๊ะโมะเหมือนกัน เลยลูโบ๊ะดาแลไปไม่ไกลนัก (ปัจจุบันปอเนาะแห่งนี้ ได้พัฒนา มาเป็นโรงเรียน เต็มรูปแบบชื่อ"โรงเรียนรอมานิยะห์" คำนี้มาจาก ภาษาอาหรับว่า ระห์มานิยะห์ (Rahmaniah) แปลว่า "พระผู้เป็นเจ้า ประทานให้" และอีกปอเนาะหนึ่งใกล้กัน ก็พัฒนามาเป็น "โรงเรียนจริยธรรม" - สมาน มหินทราภรณ์) แต่ไม่ต้องเลี้ยวเข้าไปทางซ้าย ทางไปบาตูฆาเยาะห์ เจ้าของเป็นผู้มีอันจะกิน ที่เคยไปทำฮัจญ์ ที่เมกกะ มาแล้ว และพร้อมที่จะรับเด็กมุสลิม ไปเรียนภาษาอาหรับ และเรียนศาสนา โดยไม่คิดค่าเรียน เพียงแต่ผู้ปกครอง จะต้อง มาสร้างกระท่อม หรือที่เรียกว่า ปอเนาะ (คำว่า ปอเนาะ นี้ คนไทยเข้าใจผิด ว่าเป็นชื่อโรงเรียนก็มี จริงอยู่ปัจจุบันนี้ มีนัยไปทาง โรงเรียนสอนศาสนา ศัพท์เดิมของคำว่า ปอเนาะ เป็นภาษามลายู-อินโดนีเซีย แปลว่า กระท่อม หรือร้านเล็กๆ แบบเพิง เรียกว่า ปอนด็อก (pondok) คนไทยมุสลิมแถบภาคใต้ของไทยนั้น เวลาออกเสียง จะตัดเสียง ด (d) ออก แล้วแบ่ง พยางค์เสียใหม่ พร้อมทั้งตัดเสียง ตัวสะกด ก (k) ออกเสียด้วย จึงเป็น ปอ-เนาะ (po-noh) เช่นเดียวกับคำว่า ปานดัน (pandan) ที่แปลว่า ลำเจียก มาเป็น ปาหนัน ในพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา) ให้ลูกเอง กับเด็กที่มาเรียน จะต้องหา ข้าวปลาอาหาร มาทำรับประทานเองด้วย

ที่อยู่ของสฺแลแมที่มะตาเหจะไปสร้างให้ก็เหมือนของนักเรียนคนอื่นๆ คือ เป็นเรือนไม้ไผ่หลังเล็กๆ มีห้องๆ เดียว เล็กกว่ากุฏิพระ ที่วัดเขาเข็มทอง เสียอีก ปอเนาะหลังเล็กอย่างนั้น สฺแลแมจะอยู่ได้เพียงคนเดียว เท่านั้น บางหลัง ที่ใหญ่กว่าเขา ก็อาจอยู่สองคนได้

น่าเสียดายที่สฺแลแมจะไม่ได้เรียนภาษาไทยที่ปอเนาะนี้ เพราะไม่มีครูสอนให้ จะไม่ได้อ่านเรื่องสนุกๆ ที่น้อยกับนักเรียน โรงเรียนแว้ง จะได้อ่าน จะไม่ได้เรียนวิชาเลขคณิต ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แต่เขาจะได้เรียน ภาษาอาหรับ ซึ่งสำคัญมาก ในการอ่าน พระคัมภีร์อัล กุรอาน เขาจะได้รับการอบรมทางศาสนาให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีด้วย

สฺแลแมจะต้องหุงข้าวและทำกับข้าวกินเอง น้อยรู้สึกไม่ดีเลยในเรื่องนี้เพราะถ้าเป็นเธอ ก็จะต้องหุงข้าวไหม้บ้าง ดิบบ้าง เป็นแน่ ถึงแม้กับข้าวของสฺแลแมจะเป็นปลาเค็มปิ้งเป็นพื้นก็จริง ถ้าเป็นเธอก็คงปิ้งไม่สุกบ้างไหม้บ้างอีกเหมือนกัน พ่อพูดกับแม่ เป็นภาษาไทยว่า

"ดีจริง เด็กจะได้รู้จักช่วยตัวเอง เอาตัวให้รอดตั้งแต่เล็ก ฉันว่าดี เหมือนเด็กไทยต้องอยู่วัดอย่างไรอย่างนั้น เป็นเด็กวัด ก็เหมือน เด็กปอเนาะ ไม่ต่างกันเลย"

"ป๊ะสฺแลแมเนาะอะเหมะอะปอฆีแฆเตะ อะเหมะสฺดีฆีเดะห์ เมาะบุวี (แล้วสฺแลแมจะเอาอะไรไปบ้าง เอาเองได้เลยนะ แม่ให้" แม่บอก สฺแลแม

"ตะอะปอลา แมะ เมาะ (ไม่เป็นไรหรอกครับ)" สองพ่อลูกตอบพร้อมกันอย่างสุภาพ

แม่มองตาพี่แมะและน้อยเป็นสัญญาณให้ลุกเอาของให้สฺแลแมให้มากๆ ตามแต่ที่สฺแลแมต้องการ น้อยจึงบอกให้เพื่อน ขึ้นมาบนร้าน สฺแลแมค่อยๆ ชี้ของที่จำเป็นสำหรับเขาที่จะไปเป็นเด็กปอเนาะทีละอย่างอย่างเกรงใจเต็มที พ่อจึงลุกขึ้น เสียเอง พ่อเอาถุงผ้า มาตักข้าวสาร ใส่ลงไปให้มาก พี่แมะกับน้อยทำกรวยด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ใส่หัวหอม หัวกระเทียม พริกไทย ส้มแขก น้ำตาลมะพร้าวแว่น และ อะไรต่อมิอะไร อีกมากมาย ใส่ลงไปในถุงข้าวสารนั้นด้วย

ทุกครั้งที่หยิบอะไรห่อให้เพื่อน น้อยรู้สึกเป็นสุขใจและอยากห่ออะไรให้อีกๆ ขณะที่ฝ่ายสฺแลแมนั้นก็เฝ้าพูดเบาๆว่า "บอเดาะห์ๆๆ (พอแล้วๆๆ)"

ในที่สุดน้อยก็เปิดขวดโหลล้วงของโปรดของเด็กๆ อำเภอแว้งใส่ในกรวยกระดาษเป็นสิ่งสุดท้าย สฺแลแมยิ้ม และ ไม่ปฏิเสธ เมื่อน้อยบอกว่า

"นิง จ๊ะกึละอะงิง (ผู้เขียนเพิ่งมาประจักษ์เมื่อเขียนเรื่องนี้ว่า จ๊ะกึละ หรือ ลูกอม ลูกกวาด ที่เรียกมาแต่เล็กแต่น้อยนั้น เป็นคำยืม จากภาษาอังกฤษว่า ช็อกเคล่ด (chocolate) นี่เอง อะงิง แปลว่า ลม รวมแล้ว แปลว่า ลูกอมซ่า ประเภท เป๊ปเปอร์มินต์ ซึ่งแพงกว่า ลูกอมอื่นๆ ในสมัยนั้นนั่นเอง) สฺแลแม อะเมะบาเญาะซีกิ๊ (นี่ ลูกอมลม สฺแลแม เอาไป มากหน่อย)"

จากนั้นน้อยก็บอกให้สฺแลแมนั่งลงด้วยกันหลังชั้นวางของ เธอดึงเอาปึกสมบัติส่วนตัว ที่ตัดเอาไว้จากหนังสือพิมพ์ฝรั่ง สำหรับ ห่อของ ส่งให้เพื่อน มันเป็นรูปการ์ตูน สนุกๆ หลายเรื่อง

"ปั๊วะ (ปั๊วะ เป็นตัวอย่างคำยืมจากภาษาไทยที่ชัดมาก จากคำว่า พวก เป็น ปั๊วะ โดยตัดตัวสะกดคำตายเสีย เช่นกัน) กีตอบาจอบาซอออแฆปูเต๊ะห์เตาะปานาลาฆี ตาปีสฺแลแมอะเมะฆีกึเละห์มาเงงเด๊ะห์ อะมอบุวี (พวกเรายังอ่านภาษาฝรั่ง ไม่ออก แต่สฺแลแม เอาไปดูเล่นนะ ฉันให้)"

คืนนั้น น้อยบอกความรู้สึกของตนที่ก่อนหน้านั้นเธอบอกไม่ถูกให้พ่อแม่ฟังว่า

"ตอนแรกน้อยไม่อยากให้เพื่อนไปจากแว้งเพราะน้อยคิดว่าแว้งดีที่สุดแล้ว ทำไมต้องไปจากแว้งกันด้วย แต่พอสฺแลแม จะไป อยู่ปอเนาะ น้อยก็รู้เลยว่า ที่น้อยว่าแว้งดีๆ นั้น คนอื่นเขาเห็นว่า ยังมีที่ดีกว่าก็ได้ เขาเลยต้องไป ใช่ไหมคะพ่อ ใช่ไหมคะแม่?"

"ถูกแล้วน้อย แต่ยังไม่หมดทีเดียว" พ่ออธิบาย "บางทีที่จะไปอาจจะไม่ดีเท่าที่แว้งอย่างน้อยคิดนั่นแหละ แต่ก็ต้องไป เพื่ออนาคต ทุกคน ต้องอดทน น้อยก็เหมือนกัน"

"น้อยก็ต้องไปจากแว้งหรือคะ อนาคตคืออะไรคะพ่อที่จะทำให้น้อยต้องไปจากแว้ง?" น้อยซักพ่อ รู้สึกใจหาย

"อนาคต คือ เวลาข้างหน้า ซึ่งไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้อนาคตของเราดีที่สุด พ่อแม่ก็ต้องเตรียม อนาคต ให้ลูกๆ เหมือนที่มะตาเห เขาเตรียมให้ลูกเขาไง" พ่ออธิบายอย่างง่ายๆ

น้อยเริ่มเข้าใจผู้ที่จากไปมากขึ้นแล้วว่า เขาไปเพื่ออะไรที่เรียกว่าอนาคตนั่นเอง

หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลา ๑๑.๒๐ น. วันจันทร์ ที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๔๙ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ ช่วงที่เขียนนี้มีอะไรมากมาย ในประเทศ ทั้งที่ดี และ ที่สับสน ประธานาธิบดีจากส์ ชีรัคของฝรั่งเศสเพิ่งกลับไปเมื่อวาน นี่เป็นการเริ่มต้นข่าวดี เกี่ยวกับ การเฉลิมฉลอง การเสด็จ ขึ้นครองราชย์ ครบ ๖๐ ปีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา อยากให้มีแต่รอยยิ้ม ปลาบปลื้ม ในเรื่องอันเป็นมงคลนี้ ในเมืองไทย แต่วันที่ ๒๖ ก.พ.ก็กำลังคืบเข้ามา ได้แต่นึกถึงตอนหนึ่ง ในเรื่องพระร่วง พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ...

ขอแต่เพียงไทยเราอย่าผลาญญาติ
ร่วมชาติร่วมจิตเป็นข้อใหญ่
ไทยอย่ามุ่งร้ายทำลายไทย
จงพร้อมใจพร้อมกำลังระวังเมือง

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ -