ความลึกซึ้งและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ของในหลวง

นับเป็นเรื่องดี ที่รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะจัดงานเฉลิมฉลองในหลวงให้ยิ่งใหญ่ในปีนี้ แต่ถ้าจะให้ดี ยิ่งไปกว่านั้นอีก หากมีการนำเสนอให้เห็นถึงเนื้อหา ซึ่งเป็นพระบารมี อันยิ่งใหญ่ ของในหลวง ก็น่าจะทำให้ งานครั้งนี้ สมบูรณ์มากขึ้น มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็น แบบการจัดงานวัด ที่ชาวพุทธนิยม เฉลิมฉลอง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ แต่ภายในงานเต็มไปด้วย หนัง-ละคร-เหล้ายา ปลาปิ้ง - อบายมุขเพียบ! เลยกลายเป็น เฉลิมฉลอง “อบายมุข” มากกว่าเฉลิมฉลอง “พระพุทธเจ้า”

ย่อมเท่ากับเป็นการทำบุญประชดประชันหรือทำตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า มากกว่า ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในการบูชาสูงสุด ในศาสนาพุทธนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเน้นเรื่อง “การปฏิบัติบูชา” มากกว่า “อามิสบูชา”

แต่ทุกวันนี้... “ชาวพุทธเราเอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู”.. (พุทธทาส)

ดังนั้น การเทิดทูลในหลวงดีที่สุด จึงน่าจะเป็นการศึกษา ในคำตรัสคำสอนของพระองค์ แล้วนำเอามา ประพฤติ ให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง กับตนเองและบ้านเมืองให้ได้ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ ประเสริฐกว่า

แม้จะมีคนบาปบางกลุ่มโจมตีว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องล้าสมัย แต่ถ้าได้เห็นความล่มสลาย ของทุนใหญ่ อย่างอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีประชากรที่ขาดแคลนอาหาร ถึง ๔๙.๑ ล้านคน (จากไทยโพสต์ ๑๘ พย. ๒๕๕๒) แม้แต่พญามังกรอย่างจีน ถึงแม้จะมีเศรษฐีหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นมา มากมาย แต่ก็ยังมีชาวนา ที่ยากจน ต้องพากัน เดินทาง ข้ามภูเขา นั่งเรือข้ามแม่น้ำ เพื่อเอาเลือดมาขาย ทุกๆ สองสัปดาห์ เพื่อให้ได้มีเงิน ไปเลี้ยงครอบครัว ทั้งที่ค่าตอบแทน จากการขายเลือด กว่าครึ่งลิตร (๖๐๐ ซีซี) ทางการจ่ายให้ เพียงน้อยนิด แค่เป็นเงินอุดหนุน สำหรับค่าเดินทาง กับค่าอาหาร การกินเท่านั้น แต่ชาวนา ยากจนเหล่านั้น ก็ไม่มีทางเลือก ที่ดีมากไปกว่านี้

เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจึงลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ที่เลขาธิการสหประชาชาติให้การรับรองว่า เป็นสิ่งที่ มีประโยชน์ ต่อมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่มีประโยชน์ เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น และในหลวงของเรา ก็ทรงมีวิสัยทัศน์ ในเรื่องนี้ไว้ว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอก รองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมาก มองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็ม ซะด้วยซ้ำไป”
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542)
" การจะเป็นเสือนั้น มันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่ แบบพอมี พอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง "

"เศรษฐกิจพอเพียง" จะสำเร็จได้ด้วย "ความพอดีของตน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งได้มีการขานรับ นำแนวคิด เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติกันหลายหน่วยงาน แต่คนส่วนมาก มักเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของ เกษตรกร ในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริง ผู้ประกอบอาชีพอื่น เช่น พ่อค้า ข้าราชการ และ พนักงาน บริษัทต่างๆ สามารถนำแนว พระราชดำรัส เศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ได้

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ได้มีพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล โดยมีใจความสำคัญ ตอนหนึ่งดังนี้

“....เมื่อสักประมาณ ๑๐ วันมานี่ มีชาวต่างประเทศคนหนึ่งมาพบ.
(นาย พาร์ก จุล อุน รัฐมนตรีการกีฬา และเยาวชน แห่งสาธารณรัฐเกาหลี มาเฝ้าที่ พระตำหนักจิตรลดาฯ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๔)
เขาบอกว่าเขาปรารถนาที่จะพบ แม้จะมิได้อยู่ในตำแหน่งตามเกณฑ์ที่ควรจะมาพบได้ คือไม่ใช่เป็น ประมุขของประเทศ หรือเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาฯ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ที่ควรจะมาพบ.
ตำแหน่งเขาไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขาก็จะขอพบ.
เมื่อเขามาถึง ก็พูดจาอะไรต่างๆ ทักทายปราศรัยตามอัธยาศัยธรรมดาก่อน เขาพูดภาษาของเขา มีคนแปล.
เสร็จแล้วเขาบอกว่า ประธานาธิบดีของเขา ผู้เป็นเพื่อนเขา มอบหมายให้มาขอโอวาท.

เราถามเขาว่า “โอวาทอะไร”.
เขาว่า “โอวาททั่วๆ ไป การปกครองประเทศการดำเนินงานของการกีฬาเยาวชน อะไรต่างๆ”.
เราก็บอกว่า “ทำไมจึงมาถาม”.
เขาก็บอกว่า “เพราะเห็นว่า ได้บริหารมาดีมาก ทำให้เมืองไทยเจริญ”.
เราก็บอกว่า “ดีอย่างไร”.
เขาก็บอก “ดี มีความก้าวหน้า มีความเป็นปึกแผ่น”.
เราไม่ได้น้อมรับว่าเราเก่งเราดี เราก็บอกว่า “เราแย่นะ.
ประเทศของท่านนั้น การบริหารงานต่างๆ ของท่าน ทั้งในด้านกีฬา ในด้านการพัฒนา เป็นตัวอย่าง ทั้งนั้น ดีมาก”.
เขาก็บอกว่า “ขอบใจที่ชม แต่ว่าอย่างไรก็ขอโอวาท”.
เราจนใจ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าประเทศของเขา เขาทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เขาควบคุมการฝึกหัดกีฬา เขาจัดการเกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ ตั้งหมู่บ้าน อะไรต่างๆ เหล่านี้ มีชื่อเสียงว่าของเขาเก่งมาก.
ที่จริงพวกเรา ก็ได้ไปดูงานมาแล้ว กลับมาก็ทำแบบของเขา แต่ทำไม่ค่อยสำเร็จ.
ที่เราทำสำเร็จ ก็คือทำแบบของเขานั้นแหละ แต่ว่า เรามาทำแบบชาวบ้าน แบบไทยๆ.
ความจริงเราทำมาก่อนเขาทำ ทำแบบหมู่บ้าน สหกรณ์.
เราก็ทำเหมือนกัน แต่เราทำวิธีการแบบ “คนจน” ไม่ได้มีการลงทุนมากหลายอย่างของเขา เราก็ทำไปแล้ว.

เราเลยบอกว่า ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ “คนจน”.
เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้.
แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก.
เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก.
เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง.
ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว.
แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบ “คนจน” แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคี นี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป.
คนที่ทำงานตามวิชาการ จะต้องดูตำรา.
เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร.
ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา.
ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร.
ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง.
แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบ “คนจน” ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า “เรื่อยๆ”.

(ตัวอย่างการบริหารแบบคนรวยที่ประเทศไทยกำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น จัดงบประมาณมาให้ อบต. แห่งละ ๑๗ ล้านบาท แต่ อบต.แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลฯ มีตัวเงินจริงๆ ตกถึง ๑๒ หมู่บ้าน ในตำบลนั้น เพียงแค่ล้านเศษๆ นอกนั้น เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ พนักงานเป็นส่วนใหญ่ เงิน ๑๗ ล้าน จึงตกถึงแต่ละหมู่บ้าน แทบไม่ถึงแสน เมื่อต้องเอา ๑๒ หมู่บ้านไปหารเฉลี่ย เงินล้านเศษๆ นั้น

หรือการที่กระทรวงวิทย์ใช้เงิน ๑๕๐ ล้านบาท เพื่อจัดทำเรื่องจุลินทรีย์ขึ้นมา นับเป็นเรื่องดีสุดยอด แต่ถ้าบริหาร แบบคนรวย เช่นเอานักวิชาการในห้องแอร์ มานั่งคิดกัน จุลินทรีย์ก็น่าจะตกอยู่ที่ กระทรวงวิทย์ เท่านั้น เหมือนจุลินทรีย์ของกระทรวงเกษตร ที่ผลิตออกมาเป็น พด. สูตรต่างๆ ซึ่งมีแต่สูตรดีๆ ทั้งนั้น แต่ไม่สามารถ เอาออกมา ให้เป็นประโยชน์ แก่ชาวนาชาวไร่ ส่วนใหญ่ได้ เพราะจุลินทรีย์ ที่กระทรวง ค่อนข้างที่จะมีช่องว่าง และห่างไกลจาก วิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่มาก ทั้งๆ ที่จุลินทรีย์ มีประโยชน์จริงๆ อยู่ตามท้องไร่ ปลายนา อยู่ตามป่าไผ่ อยู่ตามเศษอาหาร ที่ชาวบ้านทิ้งๆ เอาไว้ ซึ่งถ้ามีการคิด การบริหาร แบบคนจน ที่คนจนสามารถ จะนำเอามาใช้ได้ง่ายๆ ก็จะเป็นการบริหาร ที่ในหลวงบอกว่า ไม่ติดกับแบบตำร าและมีการพัฒนา ไปได้เรื่อยๆ )

และประโยคทองที่เป็นโอวาทสำคัญที่พระราชทานแก่ ร.ม.ต.เกาหลีในครั้งนั้นก็คือ

“การขาดทุนของเราเป็นการได้กำไรของเรา”
หรือ “เราขาดทุนเราได้กำไร”. (“Our loss is our gain”.)

... เราพูดเสร็จ เขาก็บอกว่า “ขอให้พูดซ้ำอีกที”
เราก็พูดซ้ำอีกที.
เขาก็นั่งเฉยไปอีก ก็หมายความว่าต้องการจะให้อธิบายขยายความ.
เราจึงอธิบายว่า ในการกระทำใดๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม.
เรื่องนี้ตรงกับงานของรัฐบาลโดยแท้ ถ้าหากว่าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐจะต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน.
ถ้าทำไปก็เป็น “loss” เป็นการเสีย เป็นการขาดทุน เป็นการจ่าย คือ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่าย ซึ่งมาจากเงินของประชาชน.
แต่ว่าถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนก็จะได้กำไร จะได้ผล.
ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ไป ส่วนรัฐบาลไม่ได้อะไร.
แต่ข้อนี้ถ้าดูให้ดีๆ จะเห็นว่าราษฎรอยู่ดีกินดี มีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก ไม่มีการหนีภาษี เพราะเมื่อมีรายได้ดีขึ้น เขาก็สามารถเสียภาษีได้มากขึ้น...

บทสรุป ในหลวงของเราไม่ได้ทรงมีเพียงแค่วาทะที่ลึกซึ้งสวยงามเท่านั้น แต่ตลอดทั้งพระชนม์ชีพ ของพระองค์ ทรงเป็นแบบอย่าง ให้กับพสกนิกรตลอดมา

ชีวิตของพระองค์ทรงขาดทุน ให้กับคนไทยและประเทศไทย มาโดยตลอด ต่างจากนักการเมือง หรือผู้นำของประเทศ ทั้งหลายในโลกนี้ ที่มุ่งแต่แสวงหากำไร หรือผลประโยชน์ให้กับตนเอง จนร่ำรวยอู้ฟู่ เขาจึงได้แต่เพียงมูลค่า โดยปราศจาก คุณค่าต่อส่วนรวม เขาจึงต้องรับบาปกรรม จนบางราย แทบจะหาแผ่นดินอยู่ไม่ได้ แม้จะได้กำไร จนร่ำรวยมหาศาล สักปานใดก็ตาม

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๒๓๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ คิดคนละขั้ว -