หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑
สมณะโพธิรักษ์
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 130 พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

(ต่อจาก ฉบับที่ ๑๒๙) / ๑

ตั้งใจทำความเข้าใจให้ชัดๆดีๆในแก่นสารของคำว่า “ประโยชน์” หรือ “อัตถะ” ที่จริงที่แท้นั้น “ประโยชน์” อันประเสริฐในความเป็น “คน” ก็คือ “ให้” (ททาติ) หรือ “ทาน” หรือหัวข้อใหญ่ที่ว่า ”ทินนัง” (ได้ให้,มอบให้) ที่เรากำลังอธิบายขยายความออกมาเป็นหัวข้อแรกของ “ทิฏฐิ ๑๐” และกำลังแยกแยะ ให้เห็นถึงความเป็น "สัมมา" กับความเป็น "มิจฉา" ต่างกันไฉน มาจนถึงบรรทัดนี้

ขอย้ำซ้ำถึง “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) กันอีกที เพราะเรื่องของ “ประโยชน์ตน” นี่แหละสำคัญมากที่สุด หากผู้ "ทำทาน" ไม่มีสุทธิปัญญาเข้าใจ "การทาน" ที่ถูกต้องลึกซึ้ง และ "ทำทาน" ไม่ถูกต้องตรง ตามสัจจะที่แท้จริงแล้วไซร้ “ประโยชน์แก่ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ก็ดี “ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” (อุภยัตถะ)ก็ดี หรือที่สำคัญที่สุดก็คือ “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ)นั่นแหละ ก็จะไม่มี “คุณภาพ” ของ “ความเป็นประโยชน์” จริง ตรงตามสัจจะเลย แต่มันจะกลายเป็น “กรรมวิธี” หรือ “กิจกรรมเลวร้าย” ที่แฝงอยู่ในความเข้าใจผิดของสังคมว่า “การกระทำนี้ คือความดีงาม” ทว่า..จริงๆแล้ว ที่เห็นๆ “ทำทาน” กันในสังคมเกลื่อนกล่นเต็มไปทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเฉพาะในวัดวาอารามนั้น หากหยั่งตรวจสัจจะให้ลึกซึ้งลงไปกันแล้วละก็ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด คือ “กิจกรรมของคนสร้างจิตขี้โลภใส่ตน” ตลอดไปจนเป็น “การกระทำเชิงกลของคนมีเล่ห์” ที่เขา “ทำทาน” กันเป็นกลวิธีเพื่อจะได้กลับคืนมาให้แก่ตนมากยิ่งกว่า ที่ได้ลงทุน “ทาน” ออกไป

“การทำทาน” ในทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องเลว มากกว่าดี เลยกลายเป็นทำลายทำร้ายสังคม อยู่อย่างไม่รู้เท่าทัน

สำหรับผู้มี “สิทธิโดยสัจจะ” ในสิ่งของ หรือในเรี่ยวแรงของตน ที่ได้สร้างสิ่งของนั้นๆขึ้นมา ด้วย “อุฏฐานสัมปทา” และปฏิบัติ “อารักขสัมปทา” ถูกต้อง ถึงพร้อม ผู้นั้นก็สามารถนำสิ่งของนั้นหรือเรี่ยวแรงของตนออก “ทำทาน” ได้ตามสิทธิ และ “ทาน” ที่ “ได้ให้” สิ่งของหรือให้เรี่ยวแรงของตนออกไปนี้ ก็ชื่อว่า “ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น” (ปรัตถะ)

ในการทานนี้ ถ้า “ใจ” ของตน ไม่มีอาการโลภ หรือแม้ จะมีอาการโลภอยู่บ้าง ก็โลภน้อยกว่า “มูลค่า” ของสิ่งของหรือน้อยกว่า” มูลค่า” ของเรี่ยวแรงตน หาก “ในใจ” (มนสิ) ของผู้ทำทานเป็นอย่างนี้จริงตามภาวะของมันเอง โดยที่ผู้ทำทานไม่ได้เจตนา “ทำใจในใจ” (มนสิการ) ของตนให้เป็นอย่างนี้ด้วย “วิปัสสนาวิธี” ที่ “แยบคาย” (โยนิโส) แม้นี้ก็มีส่วนแห่ง “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ)ที่เป็น “กุศลโลกีย์” ตามสามัญของวิบากแห่งกรรมธรรมดาๆ

ทานครั้งนี้ก็นับว่า เป็นการทำทานที่มี “ประโยชน์ ๒ ฝ่าย” (อุภยัตถะ)ได้ด้วย กล่าวคือ “ผู้อื่น” ก็ได้ประโยชน์ “ตน” ก็ได้ประโยชน์ ทว่าประโยชน์ในกรณีนี้ เป็นแค่ “กุศลโลกียะ” สำหรับผู้ทำทาน

แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติด้วยวิธี “โพธิปักขิยธรรม ๓๗” มีเจตนาพากเพียรประพฤติ “ทำใจในใจ” (มนสิการ) จนเกิดการละลดกิเลส ถูกตัวตนของกิเลสได้จริง เมื่อถึงขั้นปานฉะนี้ ผู้ “ทำทาน“ นี้ จึงชื่อว่า มี “กุศลโลกุตระ” เป็นมรรคผลหรือยิ่งผู้ปฏิบัติมีญาณอ่าน “รู้ใจในใจ” (วิปัสสนาญาณ)ของตน เพราะ “ทำใจในใจของตนให้ลดละกิเลสได้อย่างถูกต้องถ่องแท้” (โยนิโส มนสิการ) ด้วยความสามารถ ก็ยิ่งรู้แจ้งเห็นจริงสัจธรรมถึงขั้นปรมัตถธรรมในตนด้วย “วิชชา” ของพุทธ

เรื่องของ “โลกุตระ” ของพุทธ จึงมี “วิชชา ๙” เป็นเครื่องยืนยันว่า ผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมี “ปัญญาหรือญาณ” รู้แจ้งเห็นจริงความจริงของ “จิต,เจตสิก,รูป,นิพพาน” ชนิดหยั่งรู้เข้าไปในภาวะ หรือปรากฏการณ์จริงของตนตามที่มันเกิดมันเป็น ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม จะลึกสุดละเอียดปานใดๆ ก็ต้องศึกษาฝึกฝนจนรู้แจ้งเห็นจริงให้ ครบครัน มิใช่ปฏิบัติไปอย่างคลุมๆเครือๆ ภาวะจริงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความงมงาย หรือแม้รู้เห็นก็รู้ก็เห็นชนิดไม่กระจะกระจ่าง จับไม่มั่นคั้นไม่ตาย เลือนๆลางๆ พุทธจะไม่เป็นเช่นนั้น

ดังนั้น “ทินนัง” หรือ “ทาน” ที่จะเป็น “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ)อย่างแท้จริงเป็นสัจจะนั้น ผู้มี “ภูมิอาริยะ” เข้าขั้นโลกุตระ จะต้องรู้(ชานติ)เห็น(ปัสสติ)จิตใจของ “ผู้ทำทานหรือผู้ให้” เองอย่างเป็นสัจจะว่า “เราได้ให้ทั้งรูปทั้งนามหรือให้ทั้งกายทั้งใจ” สอดคล้องตรงกัน ถ้าแม้นตีราคาเป็น “มูลค่า” ของวัตถุหรือแรงงานที่เราให้ไป และคิด “มูลค่า” ของนามธรรมหรือในจิตใจของเรา ในขณะที่ให้นั้นๆว่า เรายังมีความโลภที่หวังผลมากกว่าที่ได้ให้ มีการขอแลกคืน มีความหวงแหนอยู่เกินกว่า มูลค่าของวัตถุหรือแรงงานของเรา ที่เราให้ไปนั้นๆ เมื่อบวกลบคูณหารมูลค่ากันแล้ว จิตใจของเราจะต้องเหลือ “มูลค่า” ที่เป็นจริง ว่า “ใจเรามีส่วนให้เกินกว่าส่วนเอา” ไม่ใช่ “ใจเรามีส่วนโลภเอาเกินกว่าที่ให้”

กล่าวคือ “ประโยชน์ที่ตนได้” ที่เป็นสัจจะนั้น “ผู้ทำทานหรือผู้ให้” จะต้องมี “ใจที่ให้จริงๆ” ไม่ใช่ “ให้” เพื่อหวังจะได้กลับคืนมามากยิ่งกว่าเก่า หรือ “ให้” ชนิด “ทำใจในใจของตนให้เพิ่มความโลภ ใส่ใจตนเองมากขึ้นๆ” หมายความว่า “ใจของผู้ทำทานต้องลดความโลภลง,ลด ความเห็นแก่ได้หรือลดความเห็นแก่ตัวลง” เช่น “ให้” ของราคาแค่ร้อย แต่ใจคิดอยากได้กลับคืนมา มากกว่าร้อย กรรมทางกายให้ร้อย แต่กรรมทางมโนเอาเกินร้อย ถ้าอย่างนี้ “ผู้ทำทาน” นี้ ไม่ได้ “ประโยชน์ตน” แถมสร้าง “ความโลภ” ใส่ใจตนให้หนายิ่งขึ้น กลายเป็นตน กลับเสียประโยชน์ซ้ำ เข้าไปเสียอีก

นั่นคือ “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ)หรือ “ผู้ทำทานจะได้ประโยชน์” ก็ตรง “ปรมัตถสัจจะ” หมายความว่า ที่ “จิตใจได้กระทำการให้” (มโนกรรม)ในขณะที่กายกรรมวจีกรรมก็ “กำลังให้หรือทำทาน” อยู่นั้น “ใจ” ก็ไม่ได้ “เอา” หรือ “อยากได้ไว้แก่ตน” เกินค่าวัตถุหรือแรงงานที่เราได้ให้

“ประโยชน์ตนขั้นโลกุตระ” หรือขั้นเข้าข่าย “โลกหน้า” จึงหมายถึง การทำใจในใจของตน อย่างถ่องแท้(โยนิโส มนสิการ)ด้วยความสามารถให้เป็นมรรคผลอย่างรู้ๆเห็นๆ

ยิ่ง “ไม่คิดแลกเอาอะไรคืนมาหรือไม่ต้องการอะไรตอบแทน” มีแต่ “ให้” อย่างเข้าใจ อย่างมีปัญญาด้วยว่า ผู้ที่เรา “ให้” ไปนั้นจะได้ “ของทาน” เอาไปสร้างสรรความเจริญแก่ผู้รับเอง แก่ผู้อื่นหรือแก่สังคมเจริญต่อๆไปอีก นี่คือ “ประโยชน์ตน” ที่สมบูรณ์สูงส่งยิ่งๆขึ้น

“ประโยชน์ตนที่ได้” (อัตตัตถะ)ถึงขั้นดังกล่าวนี้เป็น “ประโยชน์เบื้องหน้า, ประโยชน์ใน ‘ภพ’ หรือใน ‘โลก’ หน้า, ประโยชน์ขั้นสูง” ศัพท์เรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” ซึ่งสูงขึ้นถึงขั้นเป็น “อาริยธรรม” ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้า เพราะก้าวเข้าถึง “ความเป็นอาริยศรัทธา ความเป็น อาริยศีล ความเป็นอาริยจาคะ ความเป็นอาริยปัญญา” ซึ่งเป็น “โลกหน้าหรือโลกที่เจริญก้าวไปข้างหน้า” ที่ชื่อว่า “โลกุตระ” ตามความเป็นจริง จะไม่ใช่ “โลกหน้า” แค่ “โลกียะ” อยู่ตามเดิมเท่านั้น หากจิตลดกิเลสได้มากเท่าใดๆ ก็ได้ “ประโยชน์ตน” มากเท่านั้นๆ

ส่วน “ประโยชน์ผู้อื่นหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากตน” (ปรัตถะ) ซึ่งหมายถึง “ผู้ได้รับของทาน” ไปนั้น ก็ได้ประโยชน์คือ “ได้รับ” การช่วยเหลือจาก “ผู้ให้-ผู้ทาน” ซึ่ง “ประโยชน์” นี้ หากเป็นเพียง “ประโยชน์ทางรูปธรรม” ก็เป็นแค่ “ประโยชน์ขั้นต้น” เป็นเรื่องของ “วัตถุทาน-อามิสทาน” แต่ถ้าสามารถนำพาให้คนอื่นเขาเกิด “อภัยทาน-ธรรมทาน” ถึงขั้นจิตใจของเขาบรรลุมรรคผลได้ ก็ยิ่งเป็น “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ)ที่สูงขึ้นสู่ “สัมปรายิกัตถะ” กันทีเดียว

(อ่านต่อเล่ม ๑๓๑) / ๑

อ่านฉบับ 129   อ่านฉบับ 131
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ สมณะโพธิรักษ์ ( เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ หน้า ๒๒ )