หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา ๒
สมณะโพธิรักษ์
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 129 เมษายน 2544
หน้า 1/1

๑ชีวิตนี้มีปัญหา สมณะโพธิรักษ์ ๑. ชีวิตนี้ประกอบขึ้นด้วยอะไร? เป็นอยู่อย่างไร? มีความสำคัญอย่างไร? ๒. เมื่อชีวิตนี้มีปัญหา สังคมมีปัญหา ใครเล่าจะเป็นผู้แก้ปัญหาทั้ง ๒ นั้น? (และปัญหาอื่นๆ อีกตั้ง ๑๐ ข้อ) (ต่อจากฉบับที่ ๑๒๘)

ทีนี้ ก็เป็นปัญหาของคุณ ลูกพระรัตนตรัย ข้อ ๑ ที่ถามว่า "ชีวิตนี้" ประกอบขึ้น ด้วยอะไร? และก็ได้ตอบไปแล้วว่า
๑. ชีวิตนี้ ประกอบขึ้นด้วย รูป กับ นาม
๒. ชีวิตนี้ ประกอบขึ้นด้วย กาย กับ ใจ
๓. ชีวิตนี้ ประกอบขึ้นด้วย วัตถุ กับ จิตวิญญาณ
๔. ชีวิตนี้ ประกอบขึ้นด้วย ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ กับ จิตวิญญาณ
๕. ชีวิตนี้ ประกอบขึ้นด้วย ขันธ์ ๕ กับ อวิชชา

หากจะจัดแบ่งกันให้ชัดๆ ก็แบ่งได้เป็นสองฝ่ายง่ายๆ คือ

ฝ่าย “รูป” ได้แก่ กาย, วัตถุ, ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ, ขันธ์ ๑
ส่วน “นาม” ได้แก่ ใจ, จิตวิญญาณ, ขันธ์ ๔, อวิชชา

“ชีวิตนี้” ประกอบขึ้นด้วยสิ่งดังกล่าวนี้แล

จบคำตอบแล้ว ในประเด็นนี้

คำถามประเด็นต่อมา...ก็ยังหมายถึง “ชีวิตนี้” แต่ถามเติมออกไปว่า เป็นอยู่อย่างไร?

ก็ได้ตอบไปในฉบับที่แล้วๆพอสมควร ว่า “ชีวิตนี้” เป็นอยู่โดยรูปกับนามเหล่านั้น ต่างทำหน้าที่ร่วมกันอยู่ อย่างพัฒนาสร้างสรรกันบ้าง อย่างทำลายกันบ้าง และอย่าง สอดประสาน สัมพันธ์กัน ขัดแย้งกัน หรือสังเคราะห์กันอยู่-สังขารกันอยู่ ทั้งด้วยหน้าที่ ทางเคมี-ฟิสิกส์-กลศาสตร์-ชีววิทยา อีกทั้งด้วยหน้าที่ทางกรรม-วิบาก

และได้ขยายต่อไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างในมหาเอกภพนั้น เมื่อนิยามออกมาเป็น “อุตุ-พีชะ-จิต-กรรม-ธรรมะ” ก็จะเห็นได้ว่า “ชีวิตนี้” เป็นอยู่ ทั้งที่เกี่ยวกับ “อุตุ” เกี่ยว กับ “พีชะ” เกี่ยวกับ “จิต” และจะเกี่ยวกับ“กรรม” เกี่ยวกับ“ธรรมะ”อย่างไร? ทั้งที่แบ่งขีด “ความเป็น” (ภาว) ของแต่ละ นิยามกันแค่ไหน? ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว ซึ่งล้วนมีนัยละเอียดลึกซึ้ง อย่างสำคัญทีเดียว สำหรับมนุษย์ควรจะรู้

[และได้อธิบายมาถึง กระทั่งว่า...]

“กรรม” คืออะไร?

กรรม คือ บทบาทหรืออาการแห่งกิริยาของคน ซึ่งเรียกเป็นภาษาไทยว่า การกระทำของคน อันมีได้เพียง ๓ อย่าง ได้แก่ กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม

“กรรม” หรือ “การกระทำ” ที่เกิดขึ้นของ “เจ้าของชีวิต” ใดๆ เมื่อทำลงไป ด้วยเจตนา ทุกกรรม ก็จะสั่งสมลงเป็น “ทรัพย์ของตนๆ” (กัมมัสสกะ) แต่ละบุคคลในโลก และจะมี อำนาจบันดลบันดาล “ชีวิต” ของผู้นั้นๆไป ตราบ “ปรินิพพาน” ทีเดียว

เพราะ “กรรม คือ ผู้บันดาล หรือคือพระเจ้าและคือ ซาตาน” แท้จริง ที่สัมผัสได้ และพิสูจน์ได้ ดุจเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ ทว่าลึกซึ้งเป็นนามธรรมยิ่งกว่า

และ “กรรม” กับ “ผลของกรรมที่ได้สั่งสมมาทุกๆชาติ” (วิบาก) นี่แหละ ที่มีอำนาจ ทำให้ชีวะดำเนินไป ใครจะประสบกับดีหรือร้าย ก็ล้วนเกิดล้วนเป็นไป ตามความจริง ที่มาจาก “กรรม” หรือ “การกระทำ” ของตนเองทั้งสิ้น

หากใครได้สั่งสม “กรรม” ไม่ว่าเชิงดีหรือเชิงชั่วนั้นๆมาจริง มี “วิบาก” (ผลแห่งกรรม) มากจนกระทั่งเป็น “พลัง หรือ ฤทธิ์พิเศษ” ก็เป็น “บารมี” จริงของผู้นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเรื่องไม่จริง ซึ่งแม้จะมีได้อย่างมากมาย แม้จะประหลาดพิสดาร จนน่ามหัศจรรย์ปานใดๆ ก็เป็นเรื่องจริงสำหรับผู้มี “บุญบารมี” ถึงขั้นนั้นๆจริงๆ [บุญก็เป็นพลังเสริมไปในเชิงบุญ บาปก็เป็นพลังเสริม ไปตามเชิงบาป]

“อำนาจพิเศษ” ตามนัยดังกล่าวนี้นี่เองที่มนุษย์นับถือ ว่าเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ” หรือ “เป็นอำนาจของพระเจ้า” หรือแม้แต่ “อำนาจของซาตาน” ย่อมมีจริงเป็นจริง สำหรับ ผู้มีบารมีแห่ง “กรรมวิบาก” อย่างใดๆถึงขีดถึงขั้นจริง

ส่วนผู้ไม่ม“ผลบุญ”ของตนจริง ก็ไม่สามารถมี “อำนาจพิเศษ” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่มี พระเจ้า ที่จะบันดลบันดาลอะไรให้ได้ แม้จะอ้อนวอนจาก “พระเจ้า” อย่างสุดร้องสุดขอปานใดๆ ก็ไม่มี “พระเจ้า” บันดาลให้แน่ๆ มิหนำซ้ำสำหรับผู้มี “ผลบาป” ของตนจริง ก็จะมี ซาตาน-ผีร้าย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เลวที่ร้าย กันจริงๆ ทีเดียว เป็นผู้ บันดลบันดาลให้ แม้เจ้าตัวจะไม่อยากได้ ก็จะได้ จะเป็นไปตาม ฤทธิ์แรงแห่ง “ผลบาป” ของผู้นั้นๆ นั่นแหละ [ในประเด็นนี้ ศาสนาที่นับถือพระเจ้า ก็จะยอมรับ ความเลวความร้าย ที่มาถึงนั้น ด้วยสำนวนว่า “เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า” ท่านจะให้เลว ให้ร้ายก็ต้องเลว ต้องร้าย..ว่างั้นเถอะ หรือไม่ก็” พระเจ้าลงโทษ” เป็นต้น ซึ่งแท้จริง” อำนาจซาตาน” ต่างหากชนะ” พระเจ้า” ]

“กรรม” ยิ่งใหญ่และสำคัญ ปานฉะนี้ทีเดียว

ด้วยเหตุว่า “กรรม” เป็นความสำคัญสำหรับชีวิตมากยิ่งยวด ถึงปานฉะนี้ นี่เอง พระพุทธเจ้า จึงตรัสเป็นคำตาย ไว้ว่า “กัมมัสสโกมหิ-กัมมทายาโท-กัมมโยนิ-กัมมพันธุ -กัมมปฏิสรโณ” [พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๕๘๑] ซึ่งคำตรัส ก็เพียงเป็นคำสั้นๆ ทว่าแต่ละคำๆนั้น มีเนื้อหาและนัยละเอียด ลึกซึ้งมากมาย หลากหลายเชิงชั้น ยิ่งนัก

ในที่นี้ก็จะขอให้คำอธิบายในส่วนที่เห็นว่า น่าจะพูดถึงเท่านั้น

กัมมัสสโกมหิ หรือคำตรงๆว่า กัมมัสสกะ นั้น มีความหมายเดียวกัน หมายความว่า กรรมใดใครทำก็เป็นทรัพย์ของตนทั้งหมด ไม่ว่าทำกรรมนั้นในที่ลับหรือในที่แจ้ง กรรม ไม่ว่าจะน้อยจะเล็กละอองธุลีขนาดไหน แม้แค่เกิดเป็น “ธาตุริเริ่มดำริ” ขึ้นในใจ (อารัพภธาตุ) หากความดำรินั้น พร้อมไปด้วยเจตนา ก็นับได้ทันทีว่าคือ “กรรม” สั่งสม เป็น “วิบาก” (ผลของกรรม) นับเป็น “มโนกรรม” แล้วทีเดียว อันคือทรัพย์ คือสมบัติแท้ ของผู้นั้นๆ [คำบาลีว่า กัมม ที่นำหน้าคำตรัสทั้ง ๕ นั้น ก็คือ กรรม ที่คนไทยรู้จักนั่นเอง]

[รายละเอียดของ "กัมมัสสกะ" หรือ "กัมมัสสโกมหิ" และ "กัมมทายาโท" ก็ได้อธิบายไว้ในฉบับที่ ๖๙-๗๙ ไปแล้ว และเรื่องของ "กัมมโยนิ" ก็ได้อธิบายในฉบับที่ ๗๙-๙๐ จนจบไปแล้ว ในฉบับที่แล้วกำลังอธิบายถึง "กัมมพันธุ" ตอนนี้เรากำลังอธิบาย ถึงเรื่องของ “รูปพรหม-อรูปพรหม” หรือ “รูปฌาน-อรูปฌาน” แบบพุทธ และกำลังเจาะลึกถึง “อารมณ์ของฌาน” แล้วก็กระจายความ ไปถึง “โลกียรส” กับ “ธรรมรส” ว่ามีความแตกต่างกัน ในนัยละเอียดอย่างไร กระทั่งอธิบายมาถึง “การเข้าถึงไตรลักษณ์” และกำลังแจก ละเอียดหยั่งลึกลงไปถึง “อุปาทาน” ลงไปถึง “อัตตา” ซึ่งเป็นเรื่องลึกสำคัญยิ่ง สำหรับผู้ปรารถนา จะหลุดพ้นไปถึงขั้นนิพพาน ก็จะต้องปฏิบัติกันให้ถึง “อนัตตา” ทีเดียว และผู้จะถึง “อนัตตา” ได้นั้นก็จะต้องเป็นผู้สามารถแยก “เวทนาในเวทนา” ลงไปถึง “เคหสิตเวทนา” อันเป็น “โลกียะ” กับ “เนกขัมมสิตเวทนา” อันเป็น “โลกุตระ” ว่าแตกต่างกันอย่างไร แล้วจึงจะ “ดับโลกียะ” สนิทเป็น “อนัตตา” หรือ “พ้นจากโลกียะ” เข้าสู่ “โลกุตระ” ได้สำเร็จ โปรดอ่านต่อได้เลย]

พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับ “เวทนา” อันมี.. เวทนา ๒ เวทนา ๓ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ ไว้ในพระไตรปิฎกอยู่หลายแห่ง แต่ในเล่ม ๑๘ ข้อ ๔๓๗ ละเอียดกว่าแห่งอื่นๆ
[อาตมาได้อธิบายถึง เวทนา ๒ จนกระทั่งถึง เวทนา ๑๐๘ ไปจนครบแล้วในฉบับที่แล้ว ในฉบับนี้ ก็จะได้อธิบายถึง การพิจารณา “เวทนาในเวทนา” ให้รู้ละเอียดขึ้น เชิญอ่านต่อได้เลย]

(อ่านต่อ ฉบับที่ ๑๒๙)

จากนั้นพระองค์ก็ทรงแจกรายละเอียดในการปฏิบัติ สัมมาสมาธิ ไปจนครบครัน ผู้สนใจ ความสมบูรณ์กว่านี้ โปรดค้นคว้าได้จากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ตั้งแต่ข้อ ๒๕๒ ถึงข้อ ๒๘๑

การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ ก็ปฏิบัติตามหลัก “มรรค อันมีองค์ ๘” ดังกล่าวนี้ มาเป็นลำดับขั้น “ละมิจฉา” ให้เกิด “สัมมา” มาตลอดตามองค์มรรคทั้งหลาย ก็จะเกิด การสั่งสม “อธิจิต” ตามฐานะ เป็น “สัมมาสมาธิ”

เช่น ผู้ถือ “ศีล ๕” ก็รู้ความหมายของ “ศีล ๕” ให้ชัด และรู้วิธีปฏิบัติว่า “พิจารณา กายในกาย - เวทนาในเวทนา - จิตในจิต - ธรรมในธรรม” นั้นทำอย่างไร กายกรรม ก็จะดีขึ้น วจีกรรมก็จะดีขึ้นตาม “ศีล” โดยเฉพาะมโนกรรม ก็จะเจริญเป็น “อธิจิต” ขึ้นไปตาม “ศีล” ตาม “อธิศีล” ที่แต่ละคนได้สมาทานให้แก่ตน ในขอบเขตความสูง หรือต่ำของศีล เท่าที่ทำได้ เข้มข้น หรืออ่อนเบาของศีล ตามแต่ละฐานานุฐานะ ซึ่งต้องจัดสรรให้ “มัชฌิมา” แก่ตนๆ

หากผู้ปฏิบัติได้สังวรระวัง ได้กำจัด “อกุศลเหตุ” ตาม หลัก “สัมมัปปธาน ๔” พยายาม “ละมิจฉา” สร้าง “สัมมา” ใน “องค์แห่งมรรค” (มัคคังคะ) เจริญไปได้เรื่อยๆ ด้วย “อิทธิบาท ๔” หรือสรุปแล้วก็ได้ปฏิบัติตามทฤษฎีอันเอก คือ “โพธิปักขิยธรรม ๓๗” ครบครันอย่างดีนั่นเอง ก็จะเกิด “สัมมาสมาธิ - สัมมาญาณ - สัมมาวิมุติ” เป็นของ พระอาริยะ เป็นโลกุตระ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้ใน “มหาจัตตารีสกสูตร” [พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑]

การปฏิบัติจะค่อยๆได้ผลเป็น “อธิจิต” เจริญขึ้นๆไปตามลำดับ เป็น “อินทรีย์ ๕, พละ ๕” เพราะเราได้ “ปล่อยวาง” หรือ “ละล้างกำจัด” ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ไปจริง “ศีล” ก็จะเจริญเป็น “อธิศีล” ขึ้นไปด้วย “ปัญญา” ก็จะเจริญเป็น “อธิปัญญา” อย่างมีปฏิสัมพันธ์

การพิจารณาปล่อยวางก็ต้องปล่อยวาง “สิ่งที่ตนหลงยึด” ของแต่ละคน ตั้งแต่ขั้นหยาบ ไปหาขั้นกลาง ขั้นละเอียด สิ่งส่วนที่เกี่ยวกับ “โอฬาริกอัตตา” ก็ต้องจัดการก่อน แล้วก็ “มโนมยอัตตา” แล้วจึงจะ “อรูปอัตตา” เป็นลำดับสามัญ ซึ่งมันจะมีปฏิสัมพัทธ์กันไปมาอย่างลึกซึ้ง จะมี “ปฏินิสสัคคะ” (สภาพย้อนสลับไปมา) ด้วย ก็ต้องเป็นไปตามจริงของแต่ละขั้นตอน

มิใช่ว่า เริ่มต้นยังไม่ได้ลดละปล่อยวางอะไร อันเป็น “โอฬาริกอัตตา” ก็ยังไม่รู้ตัวรู้ตน หรือ แม้ “มโนมยอัตตา” ก็ยังหลงยึดภพยึดชาติอยู่แท้ๆ “อรูปอัตตา” ที่หยาบ ที่ควรฝึก ละวางก่อน ก็ยังไม่ได้ทำ แต่จะ “ลัดคิว” ไปพิจารณา ปล่อยวาง “ขันธ์ ๕” กันเลย โดยไม่เคยปฏิบัติละล้างอะไรมาเป็นลำดับหยาบ-กลาง-ละเอียด ย่อมไม่เป็นไป ตามขั้นตอน มันต้องปฏิบัติละล้าง “กามตัณหา” และ “ภวตัณหา” เป็นขั้นต้น ให้ได้เสียก่อน จึงจะรู้จัก “วิภวตัณหา” แล้วถึงค่อยมาละวาง “วิภวตัณหา” กัน ในขั้นต่อมา จนเหลือเพียง “ขันธ์ ๕” ที่บริสุทธิ์จาก “ตัณหา” ต่างๆ แล้วค่อยมา ละวาง “ขันธ์ ๕” เป็นขั้นปลาย

นั่นคือ ผู้ได้ล้าง “กามาสวะ” และ “ภวาสวะ” มาจนสิ้น “รูปภพ” และ “อรูปภพ” หมดเกลี้ยงแล้ว เป็นลำดับต้น-กลางมาก่อนแล้ว แล้วจึงจะถึงโอกาส พิจารณา ปล่อยวาง “ขันธ์ ๕” ที่บริสุทธิ์จาก “กามาสวะ-ภวาสวะ” ให้สิ้น “อวิชชาสวะ” เป็นขั้นท้ายปลายสุด

จึงจะได้ชื่อว่า ผู้ “หมดอุปาทาน” ใน “ขันธ์ ๕”

ไม่เช่นนั้น ก็ไม่เป็นไปตามภูมิฐาน ของแต่ละคนที่มีจริง หากหลงผิดลัดขั้นตอน พอเริ่มปฏิบัติ ก็ทำการ “พิจารณาปล่อยวางขันธ์ ๕” กันเลยทันที ทั้งๆที่ “ในขันธ์ ๕” ของตนนั้น ยังเลอะเทอะเขลอะ เต็มไปด้วย “กามตัณหา - ภวตัณหา - วิภวตัณหา” ยังไม่ได้ละล้าง “ตัณหา” ต่างๆออกให้เหลือแต่ “ขันธ์ ๕” บริสุทธิ์สะอาดเสียก่อน ยังติดยึดอยู่ทั้ง “กาม” ทั้ง “ภพ” อยู่แท้ๆแล้วจะ “พิจารณาปล่อยวางขันธ์ ๕” กันเลยทันที ย่อมเป็นไปไม่ได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้า งามด้วยเบื้องต้น-ท่ามกลาง-บั้นปลาย อย่างสุขุม มีความเป็นลำดับ แม้จะมีความสลับซับซ้อน ย้อนทวนไปมา(ปฏินิสสัคคะ) พระพุทธเจ้า ก็ตรัสยืนยันว่า ธรรมะของพระองค์ ไม่ตัดลัด แม้การกล่าวธรรม พระองค์ยังทรง กำชับว่า ไม่ควรกล่าวตัดลัด พุทธธรรมมีลำดับลาดลุ่ม จากต่ำขึ้นไปสู่สูง เหมือนฝั่งทะเล ที่ลาดลุ่มเรียบร้อย ฉันใดก็ฉันนั้น

หากใครไปหลงเอาอย่างผู้มีบุญบารมี หลงเอาอย่าง พระสาวกในสมัยพระพุทธเจ้า ซึ่งแต่ละท่านส่วนมาก มีบุญบารมีบำเพ็ญสั่งสมมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปางบรรพ์ จึงได้เกิด ในพุทธสมัย เป็นสาวกและมหาสาวก ของพระพุทธองค์ เพื่อเสริมสาน สร้างฐาน ให้แก่พระพุทธศาสนา ตามสัจจะที่ต้องเป็น

(อ่านต่อเล่ม๑๓๐) / ชีวิตนี้มีปัญหา ๒

   
ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ สมณะโพธิรักษ์ ( เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๒๙ เมษายน ๒๕๔๔ หน้า ๒๘ )