หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 

ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา สุนัย เศรษฐบุญสร้าง

ฐานกำเนิดแห่งอำนาจรัฐ


บทความชุดนี้ ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ อำนาจรัฐ และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออกจาก ตรรกะแห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ (ตอน ๔)
ฐานกำเนิดแห่งอำนาจรัฐ

ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่มาและฐานกำเนิดแห่งอำนาจรัฐนั้น เป็นหัวใจสำคัญ ของระบบความคิด ทางการเมือง หรืออุดมการณ์ ทางการเมือง ลัทธิต่างๆ เพราะจะเชื่อมโยงไปสู่คำอธิบายว่า ทำไมผู้ปกครองรัฐ ภายใต้ลัทธิทางการเมืองหนึ่งๆ จึงมีความชอบธรรม ที่จะได้ครอบครอง อำนาจรัฐ และมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจรัฐ หรืออำนาจทางการเมืองนั้นๆ ควบคุมเหนือประชาชน ในรัฐดังกล่าว

สำหรับอุดมการณ์ทางการเมืองลัทธิการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ทรงอิทธิพล ครอบงำประชาคม มนุษย์ทั่วโลกทุกวันนี้ มีรากฐานมาจากปรัชญาการเมือง สำนักทฤษฎี สัญญาประชาคม (social contract theory) ที่ถูกพัฒนาขึ้น เมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา

นักปรัชญาสำนักทฤษฎีสัญญาประชาคม ได้เสนอมโนทัศน์เรื่อง "สิทธ"ิ ขึ้น เพื่อเป็น เครื่องมือโค่นล้ม อำนาจของสถาบันกษัตริย์ ที่อาศัยรากฐาน ของกรอบ อุดมการณ์ทางการเมือง ในลัทธิเทวสิทธิ์ (divine right) เป็นกรอบอ้างอิง ความชอบธรรม เพื่อค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองรัฐให้มั่นคง

แนวคิดสำคัญของลัทธิเทวสิทธิ์อยู่ที่พื้นฐานความเชื่อว่า พระเจ้าหรือเทพต่างๆ เป็นผู้สร้างโลก และสร้างมนุษย์ขึ้น ในขณะที่กษัตริย์เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพ เป็นองค์อวตาร ของเทพ หรือเป็นตระกูลที่ได้รับฉันทานุมัติจากพระเจ้า หรือ เทพผู้สร้างโลก ให้มาทำหน้าที่ปกครองมนุษย์ด้วยกัน

ฉะนั้นกษัตริย์จึงมีสิทธิ์อันชอบธรรม ที่จะใช้อำนาจเหนือคนอื่นๆ ในสังคม มีฐานะเป็นเจ้าชีวิต ตลอดจนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (เป็นเจ้าของผืนแผ่นดิน บนโลกนี้ ที่พระเจ้าสร้างขึ้น) ในฐานะเป็นตัวแทน ของพระเจ้าหรือเทพองค์นั้นๆ บนโลกมนุษย์

แก่นสารของที่มาแห่งอำนาจทางการเมือง ในลัทธิเทวสิทธิ์ จึงมาจากอำนาจของพระเจ้า หรือเทพ ตามแนวความคิดของลัทธิความเชื่อ ทางศาสนาที่ชนชาตินั้นๆ ศรัทธานับถือ

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ จะขึ้นครองราชบัลลังก์ จึงต้องผ่านการประกอบพิธีกรรม ทางศาสนาที่สำคัญบางอย่าง โดยพระหรือนักบวชชั้นสูงในลัทธิความเชื่อทางศาสนานั้นๆ เพื่อเป็นเครื่องสื่อ แสดงถึงฉันทานุมัติ จากพระเจ้าหรือเทพบนสวรรค์ ให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ มีสิทธิธรรมที่จะใช้อำนาจปกครองมนุษย์ ในนามของพระเจ้าหรือเทพองค์ดังกล่าว

ในขณะที่กษัตริย์สืบสายโลหิตมาจากเทพ หรือมาจากวงศ์ตระกูล ที่ได้รับการคัดเลือกจากพระเจ้า หรือเทพให้มาปกครองมนุษย์ โอรสของกษัตริย์ ซึ่งย่อมจะมีสายเลือด ของความเป็นเทพ (หรือของวงศ์ตระกูล ที่ได้รับความพึงพอใจ เป็นพิเศษจากเทพ) จึงย่อมจะมีสิทธิธรรม ในการครอบครองอำนาจรัฐ (ที่มาจากพระเจ้าหรือเทพองค์ดังกล่าว) สืบต่อจากกษัตริย์พระองค์ก่อน

อำนาจรัฐภายใต้กรอบอุดมการณ์ทางการเมืองในลัทธิเทวสิทธิ์ จึงสืบทอดส่งผ่านกัน ทางสายโลหิต โดยปุถุชนทั่วไปไม่มีสิทธิธรรมที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์ เว้นแต่มีการทำรัฐประหาร แล้วประกอบพิธี กรรมทางศาสนา เพื่อสถาปนาฐานะแห่งความเป็นสมมติเทพ หรือการ ได้รับฉันทานุมัติจากพระเจ้า หรือเทพให้เป็นราชวงศ์ใหม่ที่ จะมาปกครองมนุษย์ สืบแทนกษัตริย์ราชวงศ์เดิม

ความบีบคั้นจากอำนาจสิทธิ์ขาดของกษัตริย์ที่ยึดกุมอำนาจทางการเมืองไว้ ในมือมาตั้งแต่ยุคโบราณ ในอารยธรรมของมนุษย์ ประกอบกับความอ่อนแอของศาสนจักรในช่วง ปลายยุคกลาง ตลอดจน บรรยากาศแห่งการแสวงหาความรู้ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา รวมทั้งการปฏิวัติความคิดทางวิทยาศาสตร์ ในยุโรปช่วงต้นของยุคสมัยใหม่ ทำให้เริ่มมีผู้ตั้งข้อสงสัย ต่อคำอธิบาย เกี่ยวกับรากฐานที่มา ของอำนาจรัฐ ในลัทธิเทวสิทธิ์

นักคิดส่วนหนึ่งได้พัฒนาชุดของคำอธิบายชุดใหม่ตามทฤษฎีสัญญาประชาคมขึ้น เพื่อให้คำอรรถาธิบาย ถึงรากฐานที่มาของอำนาจรัฐในแนวทางใหม่ สำหรับ เป็นเครื่องมือ ทางความคิด ในการต่อสู้และโค่นล้ม อำนาจของสถาบันกษัตริย์ ภายใต้ลัทธิเทวสิทธิ์

ทฤษฎีสัญญาประชาคมให้คำอรรถาธิบาย ว่า ในภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ ก่อนที่ระบบสังคมการเมือง ของมนุษย์จะอุบัติขึ้นมานั้น เดิมทีมนุษย์อยู่กันอย่างอิสระ พร้อมกับ "สิทธิตามธรรมชาติ" (natural right) ซึ่งเป็นคุณสมบัติ ที่ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด

ครั้นเมื่อมนุษย์เริ่มมาอยู่รวมกันเป็นสังคม เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการต่อสู้กับภยันตรายต่างๆ ที่คุกคามความอยู่รอดของชีวิต ภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ (state of nature) ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ไปสู่ภาวะความขัดแย้ง (state of war) เพราะการกระทบกระทั่ง ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ที่มาอยู่รวมกัน เป็นระบบสังคม ตลอดจนระหว่างมนุษย์ในสังคมหนึ่ง กับสังคมอื่นๆ

เพื่อลดภาวะความบีบคั้นจากความขัดแย้ง ให้น้อยลง มนุษย์จึงได้หันมาทำข้อตกลง เพื่อการอยู่ร่วมกัน ในสังคมขึ้น อันเสมือนหนึ่งได้มีการลงนามในสัญญาประชาคม (social contract) ร่วมกันว่า มนุษย์แต่ละคนในสังคม จะยอมสละ สิทธิตามธรรมชาติ ที่มีติดตัวมาแต่เกิดในบางระดับ เพื่อมอบหมาย ให้บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ เป็นผู้ปกครองรัฐ สามารถใช้อำนาจ เหนือสิทธิส่วนบุคคล ของมนุษย์ในสังคม ดังกล่าว ไม่เกินขอบเขตตามข้อตกลงแห่งพันธะสัญญาประชาคมที่ทำกันไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ ผู้ปกครองรัฐ สามารถใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายนั้นๆ จัดระเบียบ การอยู่ร่วมกัน ของสมาชิก ในสังคมให้เป็นไป อย่างสงบสุข ตลอดจนป้องกัน ผู้รุกราน จากศัตรูภายนอก

อำนาจรัฐจึงไม่ได้มีที่มาจากพระเจ้าหรือเทพบนสรวงสวรรค์ แต่มีรากฐาน มาจาก มนุษย์ด้วยกัน ที่ยินยอมลดสิทธิตามธรรมชาติ บางส่วน เพื่อสถาปนา อำนาจรัฐ ขึ้นเหนือสิทธิ ส่วนบุคคล เท่าที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ยินยอมสละ ให้ดังกล่าว โดยวิธีที่จะควบคุม ให้ผู้ปกครองรัฐ ใช้อำนาจตามเงื่อนไข ของสัญญาประชาคม ด้วยความรับผิดชอบ (accountability) ต่อสมาชิกของประชาคมในรัฐนั้นๆ ก็คือ การเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง ผู้ปกครองรัฐในรอบระยะเวลาหนึ่งๆ

หากผู้ปกครองรัฐล่วงละเมิดเงื่อนไขแห่งสัญญาประชาคม สมาชิกของรัฐนั้นๆ จะได้สามารถเปลี่ยนตัว ผู้ปกครองรัฐใหม่ได้ในการเลือกตั้งสมัยต่อไป

ผู้ปกครองรัฐจึงต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และต้องทำงานเพื่อประชาชน ด้วยเงื่อนไขทางตรรกะ ที่เชื่อมโยงกับฐานกำเนิด แห่งอำนาจรัฐดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นักคิดทางตะวันตก จะได้พัฒนาแนวคิด เรื่องทฤษฎี สัญญาประชาคม อันเป็นรากฐานของการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ทรงอิทธิพล ครอบงำประชาคมโลกทุกวันนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึง แนวคิดทางการเมือง ที่มีลักษณะคล้ายคลึง กับทฤษฎีสัญญาประชาคม ก่อนหน้านักคิดทางตะวันตก กว่า ๒๐๐๐ ปีแล้ว

ในอัคคัญญสูตร ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เมื่อพราหมณ์ผู้หนึ่งได้มาสนทนา กับพระพุทธเจ้า และ เสนอทัศนะเรื่องลัทธิเทวสิทธิ์ ตามความเชื่อ ของศาสนา พราหมณ์ในยุคนั้น โดยอ้างว่าพระพรหม ทรงสร้างโลกและสร้างมนุษย์ขึ้นมา ๔ วรรณะ คือวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร เพื่อให้มนุษย์แต่ละวรรณะกระทำหน้าที่แตกต่างกันในสังคม

กษัตริย์จึงมีความชอบธรรมแห่งอำนาจที่จะปกครองมนุษย์ (โดยคำแนะนำ ของพวกพราหมณ์ปุโรหิต ที่เป็นคนกลาง ซึ่งสามารถติดต่อกับพระพรหม ผ่านทางการประกอบพิธีกรรม ทางศาสนาต่างๆ) ขณะที่คนในวรรณะศูทร ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ จะต้องมีหน้าที่รับใช้วรรณะ อื่นๆ ที่สูงกว่า ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไป ตามเจตจำนง ของพระพรหมผู้สร้างโลก ที่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแย้งลัทธิเทวสิทธิ์ ของศาสนาพราหมณ์ ที่ก่อให้เกิดการแบ่งชั้น วรรณะกัน อย่างรุนแรงในสังคมอินเดีย และอธิบายว่า วรรณะทั้ง ๔ ไม่ได้เป็น คุณสมบัติ ที่เกิดจากการสร้างของพระพรหม ซึ่งติดตัวมนุษย์ทุกคน มาตั้งแต่เกิด แต่มาจากการแบ่งหน้าที่กัน ทำตามขั้นตอนที่เกิดในตรรก แห่งวิวัฒนาการ ของสังคมมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีระบบสังคมการเมือง ในภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ จนกระทั่ง มีการก่อเกิด สถาบันการปกครอง ที่เป็นวรรณะกษัตริย์ สถาบันศาสนา ที่เป็นวรรณะพราหมณ์ ตลอดจนการแบ่งหน้าที่กันทำ ระหว่างโครงสร้างส่วนที่ทำหน้าท ี่ทางด้านการกระจายผลผลิต หรือวรรณะแพศย์ และโครงสร้างส่วนที่ทำหน้าที่ ด้านการผลิต หรือวรรณะศูทร

อำนาจรัฐจึงไม่ได้มีที่มาจากพระเจ้าผู้สร้างโลกตามทัศนะของพวกพราหมณ์ ที่มีอิทธิพลครอบงำ ความคิดของชาวอินเดียยุคนั้น แต่มีที่มาจากมนุษย์ ที่ได้ร่วมกัน สถาปนา สถาบันการปกครองขึ้นในสังคม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ของผู้คน ในสังคม

ตรรกแห่งการกำเนิดของอำนาจรัฐตามที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน อัคคัญญสูตรนี้ ถึงแม้จะดูเหมือน มีสาระสำคัญที่คล้ายคลึงกับแนวคิด ในทฤษฎี สัญญาประชาคม ตามที่นักคิดทางตะวันตก ได้พัฒนาขึ้นหลังพุทธกาล กว่า ๒๐๐๐ ปี ดังที่ได้กล่าวมา แต่ก็มีเนื้อหาสำคัญบางส่วน ที่แตกต่างจากแก่นสาร ของทฤษฎี สัญญาประชาคม อย่างมีนัยสำคัญ อันจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

อ่านต่อฉบับหน้า

 

อ่านฉบับ 128   อ่านฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๔๖)