หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 

ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา สุนัย เศรษฐบุญสร้าง

ทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐในอัคคัญญสูตร

 

 

บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ อำนาจรัฐ และชี้ให้เห็นช่องทางที่จะเป็นทางออกจาก ตรรกะแห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๕
ทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐในอัคคัญญสูตร

ในพระสูตรชื่ออัคคัญญสูตร ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงภาวะดั้งเดิม ตามธรรมชาติก่อนที่จะเกิด ระบบสังคมการเมืองของมนุษย์ (state of nature) ว่า ภายหลังจากที่โลกเริ่มเย็นลง และสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้ง มนุษย์ได้ถือกำเนิด ขึ้นมาแล้ว มนุษย์ยุคเริ่มแรกนั้น อยู่กันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ดังที่ทรงบรรยายภาพว่า

"...แล้วก็เกิดมีข้าวสาลีขึ้นโดยไม่ต้องไถเป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็น สัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลีใด มาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้า ข้าวสาลีนั้น ที่มีเมล็ดสุก ก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้า เขาพากันไป นำเอาข้าวสาลีมา เพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็น ข้าวสาลีนั้นที่มี เมล็ดสุกก็จะงอกขึ้นมาแทนที่ ไม่ปรากฏว่า บกพร่องไปเลย"

แต่ต่อมา เมื่อจิตวิญญาณของมนุษย์เริ่มถูกครอบงำโดยความกำหนัด ความโลภ และความเกียจคร้าน แบบวิถีการผลิต และการบริโภคของมนุษย์ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังที่พระพุทธองค์ทรงบรรยายต่อไปว่า

"...ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ ต้องไปเก็บข้าวสาลีทั้งในเวลาเย็น สำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้า สำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภค ทั้งเย็น ทั้งเช้าคราวเดียวเถิด" เมื่อมีผู้หนึ่งเริ่มต้นทำตัวเป็นแบบอย่าง ที่มีนัยสำคัญทางสังคม (significant others) คนอื่นๆ ก็เริ่ม เลียนแบบตาม และมีการขยายการกักตุนสะสม ผลผลิตส่วนเกินความจำเป็น ในการบริโภค เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ จากการเก็บสะสมไว้กินครั้งละ ๑ วัน ก็ขยายขอบเขตการกักตุนผลผลิต ส่วนเกินความจำเป็น ไว้กินครั้งละ ๒ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๘ วันบ้าง มากขึ้นๆ เป็นทวีคูณ

คนที่ไม่ได้กักตุน สะสมผลผลิตส่วนเกินความจำเป็น ไว้สำหรับการบริโภค เมื่อเห็นคนอื่น พากันกักตุนสะสม ถ้าตนเองไม่ ทำเช่นนั้นบ้าง ก็อาจไม่มี ข้าวสาลีเหลือเก็บกิน เหมือนคนอื่น ความกลัวอดอยาก เลยทำให้ต้องทำการกักตุน ผลผลิตส่วนเกิน ความจำเป็น ในการบริโภคสะสมไว้บ้าง ผลที่สุดความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ก็เริ่มถูกทำลายไปเพราะความโลภของมนุษย์

ยกตัวอย่างขยายความให้เห็นกระบวนการ ที่นำไปสู่ความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์ ตรงนี้ให้ชัดขึ้น เช่นถ้าให้สังคมนั้นๆ มีมนุษย์อยู่จำนวน x คน และมนุษย์แต่ละคน บริโภคข้าวสาลีวันละ ๒ หน่วย รวมจำนวนข้าวสาลี ที่มนุษย์ต้องการ เพื่อการบริโภคจะเท่ากับ ๒x หน่วย/วัน

ถ้าสมมติให้พลังการผลิต ของระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ สามารถผลิตข้าวสาลีให้มนุษย์บริโภคได้ วันละ ๑๐x หน่วย กล่าวคือถ้ามนุษย์ ไปเก็บข้าวสาลีกินในตอนเช้า จำนวนไม่เกิน ๕x หน่วย ตอนเย็นก็จะมีข้าวสาลีใหม่หมุนเวียน งอกขึ้นมาแทนที่ และถ้ามนุษย์ไปเก็บข้าวสาลีกินตอนเย็น ในจำนวนไม่เกิน ๕x หน่วย ตอนเช้าก็จะมีข้าวสาลีใหม่หมุนเวียน งอกขึ้นมาแทนที่ ในกรณีนี้ มนุษย์ x คน ก็จะมีข้าวสาลีกินอย่างอุดมสมบูรณ์เหลือเฟือ

แต่พอมนุษย์เริ่มกักตุน ผลผลิตส่วนเกินความจำเป็นในการบริโภค สำหรับไว้กิน ล่วงหน้า ๒ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๘ วันบ้าง ๑๖ วันบ้างเพิ่มมากขึ้นๆ สมมติให้มนุษย์ แต่ละคน กักตุนผลผลิตส่วนเกินความจำเป็น ในการบริโภค สำหรับไว้กินล่วงหน้า ในปริมาณเฉลี่ยคนละเท่ากับ ๑๕ หน่วย/วัน ปริมาณของผลผลิต ที่มนุษย์ในสังคมนี้ ต้องการบริโภคก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นเท่ากับ ๑๕x หน่วย/วัน

เมื่อพลังการผลิตของระบบนิเวศน์ ในธรรมชาติมีอยู่แค่วันละ ๑๐x หน่วย แต่มนุษย์ไปตักตวง เอาผลผลิตจากธรรมชาติ วันละ ๑๕x หน่วย ไม่ช้าความสมดุล ของระบบ นิเวศน์ในธรรมชาติ ก็ถูกมนุษย์ทำลายไป

เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตวันละ ๑๐ หน่วย ถ้าเราไปเร่งเครื่องให้ผลิตทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้ได้ผลผลิตวันละ ๑๕ หน่วย เครื่องจักรนั้นก็ย่อมจะชำรุดทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว และจะพังไปในที่สุด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึง สภาพของระบบนิเวศน์ที่เสียดุลไป เพราะการบริโภคเกินประมาณของมนุษย์ว่า

"...สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น พยายามเก็บข้าวสาลีสะสมไว้ เพื่อบริโภคกันมากขึ้นๆ เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าว มีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้ว ก็ไม่กลับงอกแทน ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ จึงได้ข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ"

เมื่อระบบนิเวศน์ถูกทำลาย และความอุดมสมบูรณ์ ของธรรมชาติ ที่เคยมีแต่เดิม เริ่มสูญเสียไป "ภาวะความขาดแคลน" ก็เกิดขึ้น ในมิติ ๒ ด้าน คือ

ประการแรก ขณะที่ปริมาณความต้องการส่วนเกินของมนุษย์ ถูกกระตุ้น ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด แต่ผลผลิตที่จะตอบสนอง ความต้องการดังกล่าว มีจำนวนจำกัด "ความรับรู้" (perception) ของมนุษย์ ในภาวะความบีบคั้น จาก "ความรู้สึกขาดแคลน" ก็จะเกิดขึ้นในมิติด้านหนึ่ง

ขณะเดียวกัน พลังการผลิตของระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ที่ถูกทำลายให้เสื่อมโทรมลง จะก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนตามมา ในมิติอีกด้านหนึ่งด้วย

สมมติเดิมพลังการผลิตของระบบนิเวศน์ ในธรรมชาติสามารถสร้างผลผลิตได้ ๑๐x หน่วย/วัน ต่อมาถูกทำลายจน เหลือพลังการผลิตแค่ ๕x หน่วย/วัน เมื่อจำนวน ประชากรมนุษย์ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นๆ เกินกว่าพลังการผลิตของธรรมชาติ จะตอบสนองได้ทัน อาทิ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ๓ เท่าตัว เป็น ๓x คน ความต้องการอาหาร ของระบบสังคมนั้น จะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ x ๓x = ๖x หน่วย/วัน อันจะส่งผลให้เกิดภาวะ ความขาดแคลนอาหารขึ้นในสังคมนั้น เป็นต้น

ความขาดแคลนจะนำไปสู่ การเกิดสถาบันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (property right) ขึ้นในสังคม เหมือน น้ำสะอาด ในสมัยก่อนที่มีอยู่เหลือเฟือ แต่ละบ้านต่างมีน้ำฝน สำหรับบริโภคอย่างพอเพียง การคิดครอบครอง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในน้ำสะอาดก็จะไม่มี แต่ปัจจุบัน เมื่อสภาพแวดล้อมถูกทำลาย น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย น้ำฝนก็มีสารพิษปนเปื้อน ผู้คนก็จะเริ่มเอาน้ำสะอาดบรรจุขวดขายกัน และเกิดการยึดครอง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในน้ำสะอาดเป็นต้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงการเกิดสถาบัน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของมนุษย์ขึ้น เป็นครั้งแรกว่า "...สัตว์เหล่านั้นได้ปรึกษากันแล้วก็ตัดสินใจว่า อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรมาแบ่ง ข้าวสาลี และปักปันเขตแดนกันเสียเถิด... ครั้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลี และปักปันเขตแดนกัน"

กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะเป็นหลักประกันของมนุษย์แต่ละครอบครัวว่า จะมีข้าวสาลี (ในที่ดินแปลงที่ตนครอบครอง) สำหรับบริโภค โดยไม่ถูกมนุษย์คนอื่นแย่งเอาข้าวสาลี ไปกักตุนสะสมไว้กินคนเดียว จนคนอื่นๆ มีไม่พอกิน

แต่เมื่อเกิดสถาบันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดตามมา ในสังคมก็คือ การละเมิดกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินของคนอื่น เช่น ไปเก็บข้าวสาลี ที่ขึ้นในแปลงที่ดิน ของคนอื่น มาบริโภค เป็นต้น การขโมยจึงเกิดขึ้นในสังคม (ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงย่อมไม่มีกรณี การละเมิดกรรมสิทธิ์)

เมื่อจับขโมยได้ การกล่าวเท็จ (ว่าตนไม่ได้ขโมย) ก็เกิดตามมา การทะเลาะวิวาทกัน ก็เกิดตามมา และการต่อสู้ทำร้ายกัน (เพราะการทะเลาะวิวาท) ก็เกิดตามมาเป็นลำดับๆ สุดท้ายก็มีความจำเป็น ต้องสถาปนาสถาบันการปกครอง ขึ้นในสังคม เพื่อจัด ระเบียบการอยู่ร่วมกัน ของผู้คนในสังคม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ ในอัคคัญญสูตรว่า

"...ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้น เกิดปรากฏขึ้นแล้ว ในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติ สัตว์ผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้ว่ากล่าว ผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียน ผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล ่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเรา จักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น"

ฐานกำเนิดของอำนาจรัฐจึงไม่ได้มาจาก พระเจ้าหรือพระพรหม ตามความเชื่อ ในลัทธิเทวสิทธิ์ ของพวกพราหมณ์ แต่มาจากมนุษย์ด้วยกัน ที่ได้สถาปนา สถาบันอำนาจรัฐขึ้น และร่วมกันคัดเลือก ผู้ปกครองรัฐให้มาทำหน้าที่ ตามพันธะ สัญญาประชาคม (social contract) ที่ได้รับมอบหมาย จากผู้คนในสังคม ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปไว้ในอัคคัญญสูตรว่า

"...ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติ ขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้า อันเป็นใหญ่ยิ่ง แห่งเขตทั้งหลายดังนี้แล อักขระที่ว่า กษัตริย์ กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็น อันดับที่ ๒ และเพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้า ยังชนเหล่าอื่น ให้สุขใจ ได้โดยธรรมดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่ ๓"

ในสังคีติสูตร ปาฏิกวรรค ฑีฆนิกาย พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงอำนาจ หรือ ความเป็นใหญ่ว่ามี ๓ ประเภทได้แก่ อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) และ ธรรมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่) ซึ่งเมื่อ พิจารณาประกอบ กับนัยแห่ง อัคคัญญสูตรนี้ จะสามารถจำแนก ระบบการเมือง และลักษณะของ ผู้ปกครองรัฐได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑. ผู้ปกครองรัฐแบบ "มหาชนสมมติ" อันสอดคล้องกับลัทธิทางการเมือง แบบประชาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตย ที่ยึดถือ โลกเป็นใหญ่

๒. ผู้ปกครองรัฐแบบ "กษัตริย์" อันสอดคล้องกับลัทธิทางการเมืองแบบ อัตตาธิปไตย ที่ยึดถือตนเป็นใหญ่ (ลัทธิเผด็จ การหรืออำนาจนิยมแบบต่างๆ จะสามารถจัดอยู่ในประเภท ลัทธิทางการเมืองกลุ่มนี้)

๓. ผู้ปกครองรัฐแบบ "ราชา" อันสอดคล้องกับลัทธิทางการเมืองแบบ ธรรมาธิปไตย ที่ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ (กรอบอุดม การณ์ทางการเมืองประเภทนี้ก็คือ เนื้อหาสาระที่จะกล่าวถึง ในบทความชุดนี้ต่อไป)

อ่านต่อฉบับหน้า

อ่านฉบับ 129   อ่านฉบับ 131

ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา ( เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๐ พ.ค. ๔๔ หน้า ๔๖ - ๔๙ )