หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ความคิดทางการเมือง ในพุทธศาสนา โดย สุนัย เศรษฐบุญสร้าง ตอน...
อะไรคือแก่นแท้แห่งปัญหาของมนุษย์
 


เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๓
อะไรคือแก่นแท้แห่งปัญหาของมนุษย์

ขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า “การทำทุกอย่าง” (รวมทั้งการทำสิ่งผิดศีลธรรม

ต่างๆ) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และใช้อำนาจนั้นแก้ไขปัญหาของสังคมส่วนรวม เป็นเรื่องที่พึงกระทำ

เพราะถ้ามัวแต่จำกัดตัวเองอยู่ในกรอบของศีลธรรม ย่อมทำให้เกิดข้อเสียเปรียบ ในการต่อสู้แข่งขัน เพื่อแย่งชิงอำนาจ อันจะส่งผล ทำให้เสียโอกาส ที่จะได้ใช้ อำนาจนั้นๆ เพื่อแก้ไข ปัญหาของสังคม ส่วนรวมให้ดีขึ้น และศีลธรรมเช่นนั้น ก็จะมีคุณค่าความ หมายเป็นเพียงแค่ “ศีลธรรม แห่งความเป็นทาส” เท่านั้น เพราะ เนื่องจาก ผู้ที่ติดยึด กับกรอบวิธีคิด ของศีลธรรมแบบนี้ ย่อมมีแต่จะตกอยู่ภายใต้ การปกครองครอบงำ ของ ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ ไว้ได้ดังกล่าว

ตรรกะของวิธีคิดแบบนี้เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความเชื่อว่า “การเมืองเป็นเรื่องทางโลก” (secularization) ที่ไม่ควร นำเอา “เรื่องทางธรรมของศาสนา” เข้ามายุ่งเกี่ยว

อันที่จริงสิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังตรรกะของวิธีคิดแบบนี้ก็คือ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแก่นสาร (essence) ของ “ปัญหามนุษย์” ที่แตกต่างกัน

ภายใต้กรอบวิธีคิดในการมอง “แก่นสารของปัญหา” ที่ไม่เหมือนกัน ย่อมจะนำไป สู่แนวทางกำหนด กลวิธีในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปด้วย

ถ้าสิ่งที่เป็น “ปัญหาแม่บท” ของชนชาติเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ มี แก่นสารสารัตถะสำคัญ อยู่แค่ภาวะความรู้สึก ของคนเยอรมัน ที่ดำรงชีวิตอยู่ อย่างด้อยศักดิ์ศรี และมีความฝืดเคือง ทางเศรษฐกิจ

“การทำทุกอย่าง” ของฮิตเลอร์เพื่อสร้างอาณาจักรไรท์ที่ ๓ (ซึ่งรวมถึงพฤติกรรม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวยิวอย่างทารุณ เพื่อสังเวยความเชื่อ ของลัทธินาซี ที่บูชาความยิ่งใหญ่ ของสายเลือดอารยัน) ก็ไม่ใช่เป็นความผิดที่เป็น สิ่งจำเป็นจริง (necessary truth) ที่ต้องผิด แต่เป็นเพียงสิ่งบังเอิญ (contingency truth) ที่ผิดเท่านั้น

เนื่องจากถ้าหากเยอรมัน เป็นฝ่ายชนะในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ และ แผนพิชิตโลก ของฮิตเลอร์ ประสบความสำเร็จ ฮิตเลอร์ก็คงจะกลายเป็น วีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ ของชนชาติ เยอรมัน รวมทั้งอาจกลายเป็น มหาบุรุษ ของชาวโลกด้วย (เพราะผู้มีอำนาจ ย่อมจะสามารถ ใช้กลไกแห่งอำนาจ ที่มีอยู่ครอบงำโน้มน้าว ให้ผู้คนบูชา ยกย่องตนอย่างไรก็ได้)

ความผิดของฮิตเลอร์จึงเป็นเพียง “ความบังเอิญผิด” ที่ฮิตเลอร์ทำให้ชนชาติเยอรมัน

พ่ายแพ้ในสงครามเท่านั้น โดยไม่ใช่ความผิดที่ “จำเป็นต้องผิด” อันเนื่องจาก ได้กระทำพฤติกรรม ที่โหดร้ายทารุณต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันดังกล่าว (ซึ่งไม่ว่าฮิตเลอร์จะทำให้เยอรมัน ชนะสงคราม หรือไม่ก็ตาม ความผิดนั้น ก็เป็นความผิดอยู่วันยังค่ำ)

แต่ถ้ามองสิ่งที่เป็น “ปัญหาแม่บท” ภายใต้กรอบความคิดที่ครอบคลุม กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในมิติ ทางแนวระนาบ ของขอบเขตแห่งอวกาศ ตลอดจนมิติ ทางแนวดิ่ง ของอนาคต อันยาวนาน แห่งกาลเวลา

ภาวะความรู้สึก “ด้อยศักดิ์ศรี” และ “สภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ” ของชนชาติ เยอรมันในช่วงเวลาขณะนั้นๆ ก็อาจเป็นเพียง ผิวพื้นแห่ง ปรากฏการณ์ ของปัญหา ซึ่งยังไม่ใช่แก่นสาร สารัตถะแท้จริง ของปัญหาแม่บท ในระดับที่พื้นฐาน ยิ่งกว่า ที่พึงจักต้องแก้ไข

ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมขอบเขต ของมิติแห่งอวกาศ และเวลา ที่กว้างไกล ยิ่งขึ้นกว่าเดิมนี้ การกระทำ ของฮิตเลอร์ ที่อาจดูเหมือน เป็นสิ่งถูกต้อง บนพื้นฐานของ กรอบการวิเคราะห์หนึ่ง อาจกลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาด อย่างร้ายแรง ภายใต้กรอบ การวิเคราะห์ ที่ครอบคลุมมิติต่างๆ ของปัญหา ที่สมบูรณ์ ยิ่งกว่าเดิมก็ได้

ตัวอย่างเช่น ถ้ามองจากกรอบความคิดของพุทธศาสนาที่เชื่อ ในเรื่องผลกระทบ ที่มีความเกี่ยวเนื่อง อย่างกว้างขวาง และยาวไกลของ “กรรม” หรือการกระทำ พฤติกรรม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์ แม้ว่าจะส่งผล ช่วยให้ฮิตเลอร์ สามารถยึดกุม อำนาจรัฐ ได้อย่างเด็ดขาดมั่นคงในระยะสั้น

แต่ “สนามของแรงกรรม” ที่เกิดจาก “อกุศลวิบาก” ดังกล่าว จะเหนี่ยวนำ ให้เกิดภาวะ ความบีบคั้น ของปัญหาต่างๆ ต่อประชาคมมนุษย์ และ ชาวเยอรมัน ตามมา อีกมากมาย ในระยะยาว (ไม่ว่าเยอรมันจะชนะ ในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ หรือไม่ก็ตาม)

อาทิ ภาวะความขัดแย้งและความรุนแรงเพื่อการปลดปล่อย อิสรภาพ ของชาติ ที่ถูกยึดครอง โดยเยอรมัน ซึ่งจะต้องดำเนินต่อไปไม่รู้จบ อันจะส่งผล ให้ประชาคม มนุษย์และชนชาติ

เยอรมัน สูญเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสกับภาวะแห่งความสุขสงบ ของสันติภาพ ในมวลมนุษย์ เป็นต้น

สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นสาเหตุส่งผลให้ผู้คนเกิดความทุกข์ยากลำบากในวันนี้นั้น อาจก่อให้เกิดประโยชน์สุข ที่มากมาย ไพศาลยิ่งกว่า โดยภาพรวม ในระยะยาวก็ได้ ตรงข้ามสิ่งที่ดูเหมือนว่า ก่อประโยชน์สุขและความรุ่งเรืองไพบูลย์ในวันนี้ แท้จริงอาจส่งผล ให้เกิดปัญหา มากมาย ตามมาอย่างไม่คุ้มค่ากันเลย ในภาพรวม ระยะยาว ก็ได้เช่นกัน

ระบบความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆของการวิเคราะห์ ที่กว้างขวาง และยาวไกล จึงเป็นพื้นฐาน ที่จำเป็น สำหรับการแก้ปัญหาของมนุษย์

ขณะที่อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) คือชุดของคำอธิบาย เกี่ยวกับ ระบบคุณค่า ความหมาย ของมนุษย์ และสังคม ซึ่งสะท้อน ให้เห็นตำแหน่ง แห่งที่ ของมนุษย์ที่อุบัติมาในโลกนี้ ช่วยตีความอดีต ตอบปัญหาของสังคมปัจจุบัน และชี้นำ ทิศทาง ที่ควรจะก้าวต่อไป ในอนาคต เพื่อไปสู่จุดหมายสุดท้าย ที่พึงปรารถนา ของประชาคมมนุษย์ ในมิติที่เกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กับแก่นสาร ของอำนาจรัฐ

บนพื้นฐานของกรอบอุดมการณ์ทางการเมือง ที่แตกต่างกัน จึงย่อมจะส่งผล ทำให้มนุษย์ จับประเด็นแก่นสาร สารัตถะสำคัญ ของปัญหา ไม่ตรงกัน วิเคราะห์มูลบท หรือ รากฐานสำคัญ ของปัญหาไม่เหมือนกัน ตลอดจน กำหนดขอบเขต และจัดลำดับ ความสำคัญเร่งด่วน ของเป้าหมาย ในการแก้ปัญหา รวมทั้งเลือก ยุทธศาสตร์ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปด้วย

ถ้าไม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบอุดมการณ์ทางการเมือง ให้ตรงกันเสียก่อน คน ๒ คน ที่มีวิธีคิดบนพื้นฐาน ของกรอบอุดมการณ์ ทางการเมือง ภายใต้กระบวนทัศน์ (paradigm) หรือกรอบอ้างอิงความจริง (regime of truth) ที่แตกต่างกัน ก็อาจจะสนทนากัน ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะจะยึดตัวตน แห่งความหมาย ของภาษา (อัตตวาทุปาทาน) ที่แตกต่างกันคนละชุด โดยจะมีการใช้ศัพท์ คำเดียวกัน ออกเสียงเหมือนกัน เขียนด้วยตัวอักษร ตัวเดียวกัน แต่สะท้อนมโนทัศน์ หรือความหมาย ที่กว้างแคบ แตกต่างกัน ในการสื่อสาร สนทนา อันจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพราะ “พูดคนละเรื่องเดียวกัน” โดยที่ต่างคนต่างไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้ หากจะมีการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นสักพรรคการเมืองหนึ่ง โดยมีวัตถุ ประสงค์ เพื่อการประกาศวาทะกรรม หรือ การสื่อแสดง (Discourse) ให้ประชาคมมนุษย์ ได้ประจักษ์ถึง “พลังของศีลธรรม” ที่จะช่วยปลดปล่อยมนุษย์ ให้เป็นอิสระ จากภาวะ ความบีบคั้นเป็นทุกข์ โดยสรรพปัญหาต่างๆ อันมิใช่มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ศีลธรรมแห่ง ความเป็นทาส” ดังเช่นที่ ผู้คนบางคนปรามาส

สิ่งแรกที่พึงกระทำเพื่อการนี้ก็คือ การพัฒนากรอบอุดมการณ์ทางการเมืองจาก

รากฐานทางจริยปรัชญาระบบใดระบบหนึ่ง เพื่อช่วยอธิบายอดีต ตอบปัญหา ของปัจจุบัน และชี้นำทิศทาง ไปสู่ทางออก แห่งปัญหา ของมนุษยชาติ ในอนาคต สำหรับเป็น เครื่องยึดโยง ให้มวลสมาชิก สามารถสื่อสารกันได้ อย่างเป็นเอกภาพ และไม่ตก ไปสู่ตรรกะ แห่งความขัดแย้ง ของอำนาจรัฐดังที่ได้กล่าวมาในตอนแรก

กล่าวโดยสรุป ประเด็นสำคัญที่ทำให้การแสวงหาอำนาจเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในมิติทางสังคม ของมนุษย์ กลายเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น อยู่ตรงที่ การเข้าใจนัยแฝง แห่งความหมายของคำว่า “ปัญหา” หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่า “ทุกข์อริยสัจ” ไม่เสมอ เหมือนกัน

ภายใต้กรอบความรู้ความเข้าใจแก่นสารของ “ปัญหา” หรือ “ทุกข์อริยสัจ” ของสังคมมนุษย์ ในกระบวนทัศน์ (paradigm) หรือ กรอบอ้างอิงความจริง (regime of truth) แบบหนึ่ง ที่มีอิทธิพลครอบงำวิธีคิดของมนุษย์ส่วนใหญ่ ในโลกทุกวันนี้ ผู้คนจำนวน ไม่น้อย จะมีความเชื่อ ว่า การแสวงหาอำนาจรัฐ แม้จะด้วยวิธีการ ที่ชั่วร้าย ผิดศีลธรรม แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะเป็นวิถีทางสำคัญ ที่มีประสิทธิภาพ ในการให้ได้มา ซึ่งอำนาจรัฐ เพื่อจะได้สามารถใช้อำนาจนั้นๆ ในการแก้ไข “ปัญหา” หรือ “ทุกข์” ของสังคมมนุษย์ ให้ลดน้อยลงได้อย่างมีประสิทธิผล ในทางปฏิบัติ

บทความชุดเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธนี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจ ที่จะนำเสนอ กรอบอุดมการณ์ ทางการเมือง ชุดหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจ เกี่ยวกับตำแหน่ง แห่งที่ของ “ปัญหา” หรือ “ทุกข์อริยสัจ” ของประชาคมมนุษย์ “มูลฐานของปัญหา” หรือ “สมุทัยอริยสัจ” “ขอบเขตเป้าหมายของการแก้ปัญหา” หรือ “นิโรธอริยสัจ” ตลอดจน “ยุทธศาสตร์ ที่จะเป็น แนวทางสำคัญ ของการแก้ปัญหา” หรือ “มรรคอริยสัจ” จากรากฐานทางพุทธปรัชญา เพื่อจะได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการพัฒนา ระบบสังคม การเมืองไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง พุทธศาสนานี้ สืบต่อไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา โดยสุนัย เศรษฐบุญสร้าง (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๘ หน้า ๔๖ - ๔๙ มีนาคม ๒๕๔๔)