ธรรมดาของโลก จะได้ไม่ต้องโศกสลด ตอน...
รัฐบาลต้องมีสติปัฏฐาน!
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 128 เดือนมีนาคม 2544
หน้า 1/1

รัฐบาลต้องมีสติปัฏฐาน!

ฟังแค่ชื่อเรื่อง ว่าที่รัฐมนตรีบางคนอาจเหงื่อตก เพราะหากินกับสิ่งอุบาทว์มาตลอดชีวิต

อดีตรัฐบาล ฟังชื่อก็ยิ้มอิ่มเอิบ “กูไม่เกี่ยว!” ถึงจะทำสิ่งผิดกฎหมายซ่อนเร้น แต่เค้าก็ทำบุญ ทอดกฐินทอดผ้าป่า บังคับให้ลูกน้องทำบุญทำทานยกกระทรวง “บุญ” คงคุ้มกะลาหัวให้อยู่รอดปลอดภัย

ก็ลุ้นกันไป เหมือนแทงไฮโล จะสูงจะต่ำรอหงายถ้วย แต่กรรมนั้นมีกฎ ไม่ต้องรอลุ้น ไม่ต้องรอชิงโชค มันหงายไว้นับแต่ทำกรรมชั่วเสร็จ เร็วซะยิ่งกว่าเปิดสวิทช์ไฟฟ้า

ตัวเองนั้นแหละรู้ดีที่สุด!

เอาประชาชนมาหากิน หรืออุทิศชีวิตให้แผ่นดิน?

แต่ที่แน่ๆ เกณฑ์มาตรฐานขั้นต้น “แค่แก่งแย่งตำแหน่ง” ทั้งกดดัน ทั้งบีบคั้น ต่อหน้านักข่าว “ไม่อาวว์ว์ๆ” แต่พอลับหลัง “กูไม่ได้ต้องเห็นดีกัน!”

ลิเกมีทุกยุค คนโกหกตอแหลมีได้ทุกวัย! “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่...”

รัฐบาลก็เหมือนพี่ชาย จะมีสิ่งใดให้น้องเล็กที่เป็นประชาชนตาดำๆ

วันนี้น้องเล็กอธิษฐาน ขอนายก ร.ม.ต. ......... –ขอให้ทุกพรรคเข้ามาอย่าโกงอย่ากิน –ที่หาเสียงไว้ขอให้ทำสำเร็จ -ขอให้เอาคนดีมีความสามารถ มาดูแลควบคุม อย่าเล่นพรรคเล่นพวก -ขอให้ช่วยประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนยากจนตามบ้านนอก

คำอธิษฐานเป็นจริงแค่ไหน ไม่ใช่ฟ้าลิขิต แต่เป็นนิสัยสันดานของทีมงาน

ทำงานเป็นทีม ต้องมีวุฒิภาวะ “รู้รักสามัคคี” ลดอัตตา ศักดิ์ศรี ศิโรราบเข้าหากัน ต่างกระดิกหาง เลียแผลให้กัน ต่อให้ ๑๐๐ IMF ก็ไม่มีวันชนะพวกเรา ทำงานเป็นทีม แม้ไม่เก่งก็ยังรอด!

กวาง ๑๐๐ ตัว ต่างตัวต่างอยู่ ต่างตัวต่างกินหญ้า เสือมา ๑ ตัว ก็ยิ้มหวาน

ทำงานเป็นทีม แม้จะผิดพลาดก็แสนอบอุ่น หัวหน้าคุกเข่า รองหัวหน้าคุกเข่า บริวารบ่าวไพร่ คุกเข่า

อดีตคือบทเรียนที่ต้องตระหนัก ผิดย่อมเป็นครู หมดสมัยหมดเวลาสำหรับการทำงานแบบปล่อยเกาะ เกาะใครเกาะมัน!

ประหารทีละเกาะ แพะรับบาป ทีละตัว กว่าจะถึงหัวหน้าแก๊ง ประเทศก็หมดสิ้นพอดี!

พลังสามัคคี ประดุจพลังนกกระจาบ แต่ละตัวต่างช่วยกระพือปีก ยกตาข่ายขึ้นลอยฟ้า เอาไปถล่มเจ้าของตาข่ายให้รู้สึก! พลังสามัคคี แม้จะโง่เหมือนควาย แต่พอรวมพลังกันไว้ ควายธรรมดาก็จะเกิดปาฏิหาริย์ กลายเป็นควายอัจฉริยะ!

ทำงานเป็นทีม เป็นหมู่ เป็นคณะ ก็เหมือนการใช้ชีวิตร่วมกันของผัวเมีย!

ลำพังคนดีมาใช้ชีวิตร่วมกัน ก็ใช่จะรอด หย่าไปแล้วตั้งกี่คู่!

ทำงานเพื่อบ้านเมือง ด่านแรก แค่ไม่แย่งกันกินขี้ (ในความหมายของพระอริยเจ้า) ก็โคตรสุดจะหิน หัวหน้าแก๊งต้องเก่ง แบ่งปันผลประโยชน์ถ้วนทั่ว อย่าให้หิวโหย! (ต้องแผ่ส่วนกุศลเป็นระยะ)

ด่านที่ ๒ โหดกว่าด่านแรก คนดีๆ มาช่วยกันก็ยังพังทุกยุค เพราะต่างก็ “กูแน่!” ความจริงส่งอาจารย์ สาทิส อินทรกำแหง อบรมสัก ๑ เดือน ก็คงบรรลุเป้าหมาย!

กูแน่หนึ่งจุดหนึ่ง เพราะมีทรัพย์สมบัติมากมาย เคยมีหน้าที่การงานใหญ่โต กูแน่พวกนี้ ต้องการบรรยากาศเก่าๆ อยากให้ทุกอย่าง เหมือนเดิมเป็นกูแน่ของเหตุปัจจัยภายนอก

กูแน่หนึ่งจุดสอง เกิดจากความรู้สึกมีตัวตน ที่อยู่ภายใน เรียก “ตัวกู-ของกู” ถึงกูจะไม่มีอะไร แต่กูก็คือกู มีอะไรอ๊ะปล่าว? เป็นกูแน่ที่เกิดจากเหตุปัจจัยภายใน

เมื่อต่างคนต่างถือดี ยุคกาขาวคืนถิ่น ยุควัสสการพราหมณ์กลับชาติมาเกิด ก็พลันอุบัติ!

พูดนิด พูดหน่อย ตั้งใจไม่ตั้งใจ ล้วนเป็นเรื่อง จะเป็นจะตายให้ได้ ยิ้มก็เหมือนเยาะ หัวเราะก็เหมือนยักษ์!

รู้รักสามัคคี จำต้องรู้จักมงคลสูตรหมายเลข ๒๒ และ ๒๓ นายกคนใหม่คนที่ ๒๓ พอดี๊พอดี ถือเป็นเลขสิริมงคลประจำตัวได้เลย

“คารโว” และ “นิวาโต”

มีความเคารพ นับถือกันและกัน ด้วยการหมั่นหาข้อดีมาชื่นชม มีความถ่อมตน มองผู้อื่นเหมือนพี่น้อง เก่งคนเดียว ชาติไม่รอด เราต่างเป็นฟันเฟือง ของนาฬิกาเรือนเดียวกัน

ทุกคน ทุกหน้าที่ มีความสำคัญ แก่กันและกัน เพียงบางงาน อาจมีชื่อเสียง เพียงบางงาน อาจอยู่เบื้องหลัง จะเป็นก้อยหรือโป้ง ก็ล้วนฝ่ามือเดียวกัน!

มาถึงจุดสุดท้าย หากเป็นวงการบู๊ลิ้ม ก็ต้องเรียกจุดหยิม-ต๊ก ทะลวงผ่านจุดนี้ เราจะก่อเกิดบางระจัน นับร้อย นับพัน นับหมื่น บางระจัน!

หากเป็นรถยนต์ทุกอย่างครบพร้อม จะขาดก็แต่ “เติมน้ำมัน” รถดีแสนสวย แต่น้ำมันหมด มันก็แค่เศษเหล็กสีสวยธรรมดา!

คนเก่งมีเยอะ แต่เชิดหน้าใส่กันจะเหลืออะไร!

ทำงานเป็นทีม แบ่งปันความคิด เคารพความคิด ของกันและกัน

ทุกคนเหมือนคนคลำช้าง ย่อมมีมุมมองที่ต่างกัน เอามาแผ่ใส่กระด้ง แล้วใช้กติกาประชาธิปไตย เสียงข้างมาก เป็นเสียงสวรรค์!

คนบางคนขาดประสบการณ์ ทำงานจนหัวหงอก แต่ฟังใครไม่เป็น เห็นใครผิดแผกแตกต่างทำใจไม่ไหว วุฒิภาวะในการทำงาน ต่างต้องฝึกฝน อดทน เชื่อมั่นความคิดตัวเอง แต่ก็ต้องใจกว้าง ฟังสิ่งแตกต่างได้โดยไม่ร้อนไม่หนาว ไม่ครั่นเนื้อครั่นตัว!

จะใหญ่แค่ไหน ฟังความคิดใครไม่ได้ เรียกว่า “ใหญ่ไม่จริง!” จะเก่งแค่ไหน ฟังใครไม่เป็น ความคิดผู้อื่นผิดเสมอ ไม่เคยโน้มน้อม พิจารณาเปิดกว้าง เรียกว่า “เก่งไม่จริง”

ความใจกว้าง ไม่ใช่ใจใหญ่ ชอบแจกจ่ายข้าวของ แต่ใจกว้างในการทำงาน คือการฝึกทักษะ ฟังความเห็นแตกต่างด้วยความกระตือรือร้น ด้วยความสนใจ

มองเห็นความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ไม่อึดอัดขัดเคือง แล้วใช้กลไกแห่งทีมอานุภาพ ดำเนินการให้เหมาะสม

รังเกียจความขัดแย้ง เหมือนคนกินข้าวไม่อยากขี้ เขาเป็นแค่ทารกแห่งการทำงานจริง!

อดีตก็มีบทเรียน เหลียวมองสักนิด ก็จะรู้ว่าใคร ทุกยุคทุกสมัย ก็มีด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมไม่สรุปเป็นคำตอบสุดท้ายเสียที?

พระคุณเจ้าท่านโปรด จะเป็นใหญ่ทั้งที ไม่มี “สติปัฏฐาน” ก็ไปไม่รอด กาย-เวทนา-จิต-ธรรม ใช่จะมีแต่ฆราวาส ปัจเจกชน ทำงานเป็นหมู่คณะยิ่งต้องศึกษา

กาย ใช่จะมีแต่ร่างกาย เลือดเนื้อ เอ็น กระดูก ไขข้อ อวัยวะภายในใหญ่น้อย ฯลฯ

กายที่เป็นความถือดี เป็นทิฏฐิหลงตน สำคัญผิดในค่านิยม ก็เป็น กาโย เป็นก้อน เป็นรูปร่าง

รู้กายในกาย เห็นจริงๆว่า สมมติ (กาย) เหล่านี้เป็นความหลง เป็นความติดยึด เราเองก็หลงตัวหลงตน ศักดิ์ศรี ลมๆ แล้งๆ ติได้ ว่าได้ สอนได้ จะมัวตีราคาแห่งตนเป็นทอง คนอื่นเป็นตะกั่วได้อย่างไร

จับอารมณ์ชอบ อารมณ์ชัง เมื่อถูกกระทบ มีเวทนา สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ก็มีสติรู้ สุขเป็นอย่างนี้ ทุกข์ไม่ชอบเป็นอย่างนี้ ตัวรู้เวทนาก็พลันอุบัติ เห็นอารมณ์กระเพื่อมของตัวเองแจ่มชัด

นี่แหละรู้เวทนาในเวทนา

ยกระดับจิตในจิต เห็นอาการของจิตตัวเองที่ไปสร้างอุปาทานหลงใหล จะต้องมี จะต้องเป็น เห็นจิตที่หลงปรุงแต่งไปสร้างเกณฑ์มาตรฐานประจำตัวอยู่อย่างเงียบๆ คนเดียว จับจิตให้ทัน พลันสอนตัวเอง ให้ยอมรับ ให้สงบ ให้ศิโรราบ ยกเลิกกฎเกณฑ์บ้าบอเหล่านั้นซะ

ทุกคนมีสิทธิ์คิด เราหลงความคิดของเรา เขาก็หลงความคิดของเขา เปิดใจฟังหน่อยปะไร ทำตัวแบบพระสารีบุตรดีกว่า ทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน ของหอมของเหม็นอย่าไปรังเกียจ อย่าไปหวั่นไหว

ธรรมในธรรม จะค่อยๆ แจ่มชัด แจ๋วแหวว

ด้วยเหตุนี้ เรื่องของสติปัฏฐาน ใครว่านักการเมืองไม่เกี่ยว ความจริงเกี่ยว และต้องเกี่ยวให้เป็น เพราะยิ่งโง่ บ้านเมืองก็ยิ่งวอด! กาย-เวทนา-จิต-ธรรม ถ้าไม่เถรตรง เราก็สามารถปรับประยุกต์ใช้ได้สม่ำเสมอ

ละเลย สติปัฏฐาน ระวัง สงครามมหาประลัย จะสิ้นชาติหรือสร้างชาติก็คราวนี้!

การรวมหัวร่วมกันระดมทำงาน ถ้าดี เขาเรียก สวดพระปริตร แต่ถ้าเลว เขาเรียก สวดบัง-สุกุล!

คติก่อนจาก ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม!

หมายเหตุ ๑, ๒ เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรม ๘ คือ ลาภ-เสื่อมลาภ ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์ คนหลงยศ ก็เพราะรวย เพราะใหญ่โต รวมทั้งเพราะหลงตัวกูของกู รวมเรียกเป็นกิเลสมานะทิฐินั่นเอง

๓ มงคลสูตร มีทั้งหมด ๓๘ ข้อ เริ่มจากข้อแรก ไม่คบคนพาล จบลงที่ข้อ ๓๘ จิตเกษม ท่านโพธิรักษ์ได้บรรยายภาคพิสดารไว้ โดยแบ่งมงคลสูตรเป็น ๓ มิติ มิติแรก – ระดับกัลยาณชน มิติที่ ๒ ระดับอริยชน มิติที่ ๓ ระดับอรหัตตชน หนังสือเล่มนี้อาจจำหน่ายหมดแล้ว

(๔) ขบวนการทำงานเป็นกลุ่ม ระบบประชาธิปไตย ใช้เสียงข้างมากตัดสิน

ธรรมดาของโลก จะได้ไม่ต้องโศกสลด โดย สมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๘ หน้า ๕๐ - ๕๒ เดือนมีนาคม ๒๕๔๔)