ฉบับที่ 220 ปักษ์แรก1-15 ธันวาคม 2546

[01] บทนำข่าวอโศก: อย่าลืมรายงานโรงบุญฯ
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "คนคืออะไร ทำไมสำคัญนัก...(จบ) "
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ : ภาพชีวิตที่น่า...ปีติ:
[04] เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ
[05] ปลูกผักอนามัย ผลิตเอง ขายเอง พ่อค้าคนกลางไม่เกี่ยว
[06] นร.สัมมาสิกขาสันติอโศก สืบสานวัฒนธรรม ลงแขกเกี่ยวข้าว
[07] เตรียมงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ณ บ้านราชฯ
[08] อาการที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคไต
[09] พ่อท่านเทศน์โปรด ชมร.หน้าสันติอโศก ยุคปรับปรุงร้านใหม่
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] ชาวอโศกร่วมใจ ตั้งโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลทั่วประเทศ
[12] งานหนักแต่ก็รักที่จะเหนื่อย สุขภาพดีที่ผามออีแดง
[13] เพลิงไหม้สวนส่างฝัน เผาวอดหมดทั้ง ๓ หลัง บทพิสูจน์ใจและพลังสามัคคี
[14] ข่าวสั้นทันอโศก:
[15] นางงามรายปักษ์ นางชูศรี ภู่ระย้า



อย่าลืมรายงานโรงบุญฯ

งานมหาปวารณาที่ผ่านมา ทางส่วนกลางลืมให้พวกเราชาวอโศก แจ้งข่าวการจัดโรงบุญมังสวิรัติ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ในหลวงของเรา ซึ่งชาวเราเริ่มทำมาเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕

พ่อท่านเองก็ยังอุทานว่า ลืมเน้นเตือนชาวเราถึงกิจกรรมนี้

จึงขอฝากให้ชาวเราช่วยรายงาน การจัดโรงบุญฯแต่ละแห่งมายังส่วนกลาง เพื่อการเผยแพร่เช่นทุกปีที่ผ่านมา

ยังไงๆก็ขอฝากย้ำในเรื่องนี้แล้วกันว่า เรามีงานบุญงานกุศลเรื่อง การตั้งโรงบุญฯ ๕ ธันวามหาราช ทุกๆปี ก็ขอให้ช่วยกันทำ ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น แล้วช่วยรายงานไปยังส่วนกลางทุกปี

ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระชนมายุถึง ๕ รอบ ชาวเราก็ร่วมเฉลิมฉลอง ตั้งโรงบุญฯได้ประมาณ ๖๐๐ แห่ง พอพระองค์ทรงพระชนมายุถึง ๖ รอบ ชาวเราก็ตั้งโรงบุญฯเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลไม่ต่ำกว่า ๗๒๐ แห่ง ทั่วประเทศ

ก็หวังว่า เมื่อพระองค์ทรงมี พระชนมายุถึง ๗ รอบ ชาวเราคงพร้อมเพรียงกันตั้งโรงบุญฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ไม่ต่ำกว่า ๘๔๐ แห่งทั่วประเทศ

และเมื่อถึงวันนั้น ก็หวังว่า ชาวเราคงไม่ลืมเขียนรายงาน พร้อมทั้งถ่ายรูปบรรยากาศไปยังส่วนกลางอีกเช่นเคย.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จับประเด็นจากหนังสือคนคืออะไร ?
คนคืออะไร ทำไมสำคัญนัก...(จบ)

สุดท้าย สิ่งทั้งหลาย แม้แต่โลก
สลายสิ้น ไม่หลงเหลือ เชื้อสายคน
ความจริงใจ ของพ่อท่าน ยังบันทึก
ตีสอง พ่อท่าน รู้สึกกาย
แสงปัญญา สว่างวับ ดับกังขา
ปีติเอม อิ่มใจจัง นั่งหรือลุก
ด้วยความแท้ แห่งธรรม คำสั่งสอน
คงมีลูก ที่พากเพียร เรียนจริงจัง
สรุปคนคือ กิริยา อาการหนึ่ง
เมื่อหยุดคน นิ่งสงบ จึงพบพา
เมื่ออ่านแล้ว ยังเข้าใจ ไม่กระจ่าง
เริ่มอ่านใหม่ ด้วยใจ โน้มน้อมตาม
สมาธิพุทธ ทางเอก ปลุกเสกจิต
สารอโศก ดอกหญ้า สารพัน
หนังสือเรา มิใช่ผลิต เพียงเผยแพร่
มาเถอะอ่าน เอาจริง เพื่อชิงชัย
ดวงอาทิตย์ ไม่วายโศก วนสับสน
ดับความวน ก่อนโลกแตก แหลกมลาย
บ่งบอก ความรู้สึก บทสุดท้าย
เข้าห้องถ่าย ธุระเบา บรรเทาทุกข์
หลุดโล่ง ลืมตา พบผาสุก
ก็สิ้นทุกข์ เห็นชัด เป็นปัจจัตตัง
พ่อท่าน ไม่นิ่งนอน ยังวาดหวัง
ได้รับผล สมดัง เจตนา
หมุนวน ขาดที่พึ่ง วิ่งวนหา
เห็นอัตตา บริสุทธิ์ ผ่องผุดงาม
อย่าเหินห่าง ฟังธรรม ฝึกกรรมสาม
พยายาม อ่านหลายรอบ ประกอบกัน
อ่านแล้วคิด คงเห็นทาง ที่สร้างสรร
ชาวอโศก ที่แท้นั้น ควรสนใจ
คนภายใน ไม่เหลียวแล ได้ที่ไหน
อ่านวิจัย เพื่อเสริมสร้าง ทางนิพพาน.

- ธาตุดี -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

ภาพชีวิตที่น่า...ปีติ !

ธันวาคมเป็นเดือนแห่งมหาทานของชาวอโศก ไม่ว่าจะเป็นโรงบุญฯตลอดรวมถึงตลาดอาริยะ ซึ่งดูเหมือน จะเป็นธรรมเนียม ประเพณี ของชาวอโศกต่อไปอีกยาวนาน ควบคู่ไปกับความเป็นกลุ่มสังคมบุญนิยม เนื่องมาจากความเติบโต ของจำนวนผู้ที่ เสียสละ และวงเงิน ในการทำบุญทำทานอย่างนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ

จากเริ่มต้นปี ๒๕๒๕ ที่ตั้งโรงบุญฯ มาถึงปีนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พัฒนาขึ้นมาก ทั้งรูปแบบและจำนวนปริมาณสิ่งของ ที่จะแจกที่จะทาน นอกจากชาวอโศก แล้วบรรดากลุ่มเครือข่าย หรือเกษตรกรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้กับธ.ก.ส. ซึ่งได้ผ่าน การอบรม ตามหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ก็ร่วมกันจัดโรงบุญฯ ในท้องถิ่นของตนด้วย

เช้าวันที่ ๕ ธันวาฯนี้ พ่อท่านนำบิณฑบาตผ่านร้านกู้ดินฟ้า ๑ ที่กำลังจัดเตรียมพืชผักผลไม้ไร้สารพิษไว้แจกใน วันเฉลิม พระชนมพรรษานี้ด้วย เห็นมีมะละกอและฟักทองจำนวนมาก ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งกับจิตใจที่เสียสละของพวกเรา ภาพการเอื้อ ให้แบ่งปัน ของพวกเรา ในหลายที่ หลายแห่งผุดขึ้นมาในความคิด จึงเปรยให้พ่อท่านฟังว่า..พวกเรานี่ใจถึงจริงๆ

พ่อท่านเสริม..นี่ถ้ากลุ่มของเราแข็งแรงมากขึ้น การอยู่การกิน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ป่วยเจ็บมีการดูแลรักษากันได้ พวกเราก็จะมี ความมั่นใจมากขึ้น ไม่ต้องสะสมก็อยู่ได้ การสะพัดสู่สังคม ก็จะมีมากขึ้น

ขณะนั้นผู้เขียนนึกไปถึงคนร่ำรวยทั้งหลายในสังคม หากคิดและทำเช่นนี้บ้าง ภาพชีวิตของสังคม จะอบอุ่นกว่านี้แน่

ปีนี้ทราบว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมืองก็จัดให้มีการแจกอาหารเหมือนกัน แม้ยังไม่เป็นกระแสที่คึกคัก (สู้ข่าวเกี่ยวกับการพนัน ในหลายๆรูปแบบ ที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้) ก็นับเป็นความก้าวหน้าของสังคมแล้ว ส่วนในกลุ่ม ชาวอโศกนั้น ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ที่ ชมร.เชียงใหม่ทำนำมาก่อน มีผู้มาทำบุญเหมาจ่ายให้แจก จองคิวติดต่อกัน เป็นเดือน ส่วนที่อื่นๆนั้น ยังประปราย

วันก่อน ๒ ธ.ค.ที่ศูนย์มังสวิรัติฯหน้าสันติอโศกก็มีการแจก เนื่องในโอกาสฉลอง การปรับปรุงร้าน โดยนิมนต์พ่อท่าน ไปเทศน์ การแสดงธรรมวันนั้น มีเสียงรถยนต์แล่นผ่านไปมามาก ทำให้การบันทึกเสียง ไม่สามารถนำไปใช้เผยแพร่ได้ แต่สำหรับผู้เขียน ตั้งใจว่า จะเก็บเสียงในกิจกรรมต่างๆ ของพ่อท่าน ไว้เป็นประวัติศาสตร์ ให้มากที่สุด เท่าที่จะบันทึกได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียง ประชุม หรือ การสนทนาที่สำคัญ

ความคิดเช่นนี้เกิดเมื่อได้ รับเครื่องบันทึกเสียงที่ใช้กับเครื่องคอมฯ ท่านธัมมาฯช่วยจัดหาให้มาตั้งแต่เดือนกันยาฯ ที่ผ่านมา เนื่องจากมันเบา เล็กกระทัดรัด ไม่ต้องพกพาแผ่นหรือม้วนใดๆ ทำให้การใช้งานบันทึกเสียงสะดวกมาก ขนาดสะดวกๆ อย่างนี้ บางสถานการณ์ ก็ไม่ทันเหมือนกัน เช่นการไปร่วมสัมมนาที่จุฬาฯ (๑๐ พ.ย.) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก่อนขึ้นแท่นบรรยาย ได้เข้ามายกมือ นมัสการ พ่อท่าน แล้วย่อตัวคุกเข่าลงที่พื้นทักทายพ่อท่าน ผู้เขียนคิดไม่ถึงว่าเหตุการณ์เช่นนี้ จะเป็นไปได้ รีบควักเครื่องบันทึกเสียง มาบันทึกไว้ได้ไม่ถึงนาที เมื่อนำเสียงนั้นมาลงในเครื่อง ทำให้ได้คิดว่า ถ้าผ่านไปสักปีสองปี เสียงนี้จะไม่มีความหมายอะไร ผู้เขียนเอง ก็อาจจำไม่ได้แล้ว ป่วยการกล่าวถึงผู้อื่น

จึงเกิดความคิดว่าน่าจะหาวิธีนำเสียงไม่ถึงนาทีนี้ ลงในไฟล์เดียวกับข้อความที่เขียนด้วย เมื่ออ่านข้อความผ่านมา ก็คลิก ฟังเสียง จากเหตุการณ์จริงนั้นได้ทันที แม้เสียงในกาละอื่นๆก็เช่นกัน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับชาวอโศก ในยุคหน้า เมื่อพ่อท่านและชาวอโศกรุ่นนี้ ม้วยมรณาไปแล้ว อีกหลายๆเหตุการณ์ ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ในยุคนี้ ด้วยผู้เสียหาย บุคคลในเหตุการณ์ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในอีก ๑๐๐-๒๐๐ ปีไปแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับ คนรุ่นหน้าโน้น ดุจดั่งการเรียนพระวินัย หรือชาดกต่างๆ ของชาวอโศกรุ่นนี้ อยากจะฟังเสียงใด เรื่องราวอะไร ก็คลิกฟังได้ทันที โดยมีข้อความ เขียนนำอธิบายประกอบบอก ให้รู้ถึงเสียงนั้นๆ มาจากเหตุการณ์เรื่องใด เป็นเสียงของใคร สำคัญอย่างไร

๔ ธ.ค. ที่วัดธาตุทอง พ่อท่านไปร่วมงานเผาศพน้องสาว ซึ่งเป็นลูกลุงหมอ สุรินทร์ พรหมพิทักษ์ คือคุณอาภาวดี วันนั้นมี น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว คุณโสภณ สุภาพงษ์ และแขกผู้มีเกียรติอีกหลายท่าน ที่ผู้เขียนไม่รู้จัก พอดีหมอเสมได้ขยับที่นั่ง มาสนทนา กับพ่อท่าน ผู้เขียนเสียดายมาก ที่อยากจะบันทึกเสียงไว้ แต่ดูบรรยากาศไม่เหมาะ เสียงมโหรีก็ดังมาก ถ้าจะบันทึกเสียงได้ ต้องเข้าไปใกล้ๆ แล้วใช้ไมค์จ่อใกล้ปากให้มากที่สุด ซึ่งประเมินแล้ว ไม่งามแน่ ทั้งตัวหมอเสมเอง รวมถึงผู้มีเกียรติคนอื่นๆ คงไม่เข้าใจว่า จะบันทึกเสียงไปทำอะไร

เมื่อกลับมาที่สันติฯได้บอกเล่าความคิดที่อยากจะบันทึกเสียงในเหตุการณ์อย่างนี้ ในครั้งต่อๆไปให้พ่อท่านฟังว่า จะขออนุญาต จากบุคคลสำคัญ ที่พ่อท่านสนทนาก่อนว่า จะบันทึกเสียงเอาไปทำอะไร พ่อท่านยิ้มๆ ตอบรับว่าได้

เมื่อคิดเรื่องเสียงก็ทำให้คิดถึงเรื่องภาพด้วย ถ้าสามารถนำภาพมาลงในไฟล์เดียวกับข้อเขียนและเสียง ในเหตุการณ์นั้นๆ ได้จะสมบูรณ์ทีเดียว แต่ปัญหาก็คือ ยังไม่รู้วิธีทำได้อย่างที่คิด ถามใครต่อใครที่ดูมีความรู้ ก็ยังไม่ได้อย่างที่ต้องการ แรกเริ่มถามท่านธัมมาฯ ซึ่งยังไม่เคยใช้จึงขอศึกษาดูก่อน ถามสามเณรสู่สูญและนิสิตเต็มบาท ก็แนะนำให้ไปใช้ Power Point ทดลอง แล้วก็ยังไม่ใช่ เนื่องจากเป็นการนำเสนอชิ้นงานเป็นคราวๆ ไม่ใช่การเก็บข้อมูลจำนวนมากยาวๆ เป็นเดือนเป็นปี แถมภาพข้อความเสียง มีเพียงรูปไอคอนให้คลิก แม้เสียงจะมาได้แต่ไม่สามารถปรับอะไรได้ แม้แต่พักเสียงชั่วคราว Pause ก็ไม่ได้ ต่อมาท่านธัมมาฯ แนะนำให้ไปคลิกที่ Insert -> Object -> Create from File -> Float over text -> Browse -> เลือกเสียง ที่จะนำมาลงแทรก -> OK ทำตามที่ท่านธัมมาฯแนะนำ แรกๆก็เป็นไปได้ดี พอใช้หลายวันๆเข้า ข้อความเสียงมีมากขึ้น แม้ยังไม่มีภาพมาแทรก เครื่องก็ชักอืดช้า บางทีก็นิ่งไปนานๆ พร้อมกับข้อความ not Responding ไม่ตอบสนอง คำสั่งใดๆ ปรากฏ ท่านธัมมาฯจึงขอนำไปศึกษาดูอีก พร้อมกับแนะนำให้ใช้การแยกข้อเขียน..เสียง..ภาพเป็นคนละไฟล์เหมือนเดิม เพียงแต่ให้นำมาลงใน Folder เดียวกันไปก่อน

พบเจอคนใหม่ที่เริ่มมีศรัทธาถามเรื่องการใช้งานอย่างที่เราต้องการนั้นเขาบอก ไม่ยาก แนะนำให้ไปใช้โปรแกรม Dream Weaver เพียงแต่เขายังไม่มีเวลาที่จะมาสอนให้ ก่อนออกจากสันติฯ เดินทางมาบ้านราชฯ (๕ ธ.ค.) เจอเจ้าชุบลูกชาย แม่ครัว ผู้เขียนก็เปรยเรื่องนี้ให้ฟัง ชุบก็บอกไม่ยากแล้วพูดอะไรนิดหน่อยถึงวิธีการใช้งานนั้น พอดีต้องรีบขึ้นรถเดินทาง ตอนนี้จึงได้แต่รอ ผู้รู้ที่จะมาช่วยแนะนำให้

ตอนพ่อท่านไปที่ศูนย์ฝึกผู้นำ ที่กาญจนบุรี (๑๒-๑๓ พ.ย.) ได้เจอคุณแก่นฟ้าก็ถามเรื่องนี้ คุณแก่นฟ้าก็บอกว่าไม่ยาก พอดีพ่อท่าน จะเดินทางกลับสันติฯ จึงยังติดค้างไว้ไม่มีเวลาแนะนำการใช้งานให้ พร้อมกันนั้นคุณแก่นฟ้า อาสาจะจัดหา กล้องเล็กๆ มาให้ใช้ เมื่อผู้เขียนทักถามเรื่องเงิน คุณแก่นฟ้าจะไปเอามาจากไหน เนื่องจากอยู่ช่วยงาน ไม่มีรายได้มากว่า ๑๐ ปีแล้ว คุณแก่นฟ้าว่าไม่ยาก..เดี๋ยวผมจัดการให้

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ส่งการ์ดอวยพรปีใหม่มาถวายพ่อท่าน เป็นที่น่าเสียดาย ว่าผู้เขียน เก็บไว้ดีมาก จนป่านนี้ ยังหาไม่เจอ ตั้งใจไว้แล้วว่า จะนำมาถ่ายเก็บไว้ในเครื่องคอมฯ เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ ไม่ต้องมีแฟ้ม ไม่ต้องมีตู้ การค้นหาก็ง่าย นอกจากนี้เอกสารต่างๆที่องค์กรภายนอกติดต่อมา ก็จะถ่ายจัดเก็บในเครื่องให้หมด รวมถึง จดหมายลายมือพ่อท่าน ที่เขียนให้บุคคลต่างๆด้วย เช่นจดหมายที่พ่อท่านเขียนไปนมัสการ เยี่ยมไข้ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา (๓๑ ต.ค.) หลังทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ ว่าท่านเจ้าคุณ กำลังอาพาธ นับเป็นฉบับ ที่สองแล้ว ที่พ่อท่านเขียนไปคารวะ แต่ฉบับแรกนั้น ยังไม่แน่ใจว่า จะจัดเก็บเอาไว้หรือไม่ หากจัดเก็บ ก็ไม่แน่ใจว่า จะค้นหาเจอหรือไม่ ด้วยนานมาแล้ว ประมาณปี ๒๕๓๐-๓๑

งานปีใหม่นี้คงมีภาพที่น่าประทับใจหลายภาพให้บันทึกจดจำ การเข้าค่ายของนักเรียนสัมมาสิกขา หรือ ยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ย.อ.ส.) รวมไปถึงการเข้าค่ายของนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต กิจกรรมที่สำคัญยิ่ง ของกลุ่มคนสองค่ายนี้ก็คือ.. การรวมพลัง จัดเตรียมงานปีใหม่ ใครที่ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ น่าจะได้มาดูมาเห็นบ้าง เผื่อสารเอ็นโดฟิล จะได้หลั่งออกมา ช่วยให้อายุยืนยาว หรือ จะให้ยิ่งกว่าดู..มาช่วยเป็นเรี่ยวแรงด้วยก็ยิ่งดี เพื่อภาพชีวิตที่ดูดีสำหรับตน ในโอกาสสิ้นปีเก่า เริ่มต้นปีใหม่

ยังจำกันได้ไหมว่าต้นปี'๔๖ นี้ พ่อท่าน ให้ข้อคิดคำคมสำหรับการไปร่วมงานต่างๆของชาวอโศกว่าอย่างไร? คำว่า..ยอดตาล.. เต่าในกระดอง..แขก..กระบอง สำหรับชาวอโศกคงเข้าใจความหมายเหล่านี้ดี

พ่อท่านบอกว่างานปีใหม่เหมือนการสอบไล่ของชาวอโศก คงไม่มีใครอยากจะสอบตกซ้ำซาก หรือสอบตกไปตลอดชีวิต เพราะในวัฏสงสาร ของเราๆท่านๆ..ตกกันมานับชาติไม่ถ้วนแล้ว ดังนั้นปีใหม่นี้ ผู้ที่กำลังเตรียมตัวมาเพื่อ..สนุก..เสพ..กอบ-หอบ..อะไรๆ กลับไป คงต้องคิดให้มากๆหน่อยนะ

ชาติต้องการคนที่ซื่อสัตย์ ชาติต้องการ คนเสียสละ...เสียงเพลงคนสร้างชาติ ดังกระหึ่มในหลายๆกิจกรรม ของชาวอโศก มาถึงวันนี้ ท่านประธานรัฐสภาฯ ฯพณฯ อุทัย พิมพ์ใจชน ติดต่อผ่านคุณสุทธินันท์ จันทระ ให้ทางปฐมอโศก บันทึกเสียงร้อง เพลงคนสร้างชาตินี้ เอาไปเปิดที่สถานีวิทยุของรัฐสภาฯ หลังการเคารพธงชาติทุกวัน รวมถึงให้เปิดในวันที่มีการประชุมสภาฯ ทั้งก่อน และช่วงพักการประชุม มีเกร็ดเล็กๆว่าเมื่อ ฯพณฯ อุทัย ได้ฟังจากแผ่นบันทึกเสียง ที่คุณสุทธินันท์นำเอาไปให้ ท่านอุทัยถึงกับ เอามือทุบโต๊ะแล้วกล่าวว่า.. มันต้องอย่างนี้ซิ

ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนในบ้านเมืองนี้ กำลังสร้างชาติด้วยระบบทุนนิยม เพิ่มรายได้ด้วยการทำหวยรัฐ ส่งเสริมบ่อนไก่ และกำลังจะสร้าง บ่อนกาสิโน พร้อมกันนั้นก็กวาดศีลธรรม กวาดคำทักท้วงของกลุ่มศาสนา ว่าเป็นความคิดเห็นที่คร่ำครึ... โบราณ ไม่ทันสมัย มองมุมเดียว ไม่รอบด้าน อย่างที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นกำลังเห็นกำลังทำอยู่

งานปีใหม่นี้เรามาร่วมด้วยช่วยกันสร้างชาติ.. สร้างระบบบุญนิยม...หรืออย่างน้อยๆก็สร้างคุณภาพชีวิตของเราให้ดูดีกัน ดีมั๊ย... เผื่อผู้ที่มีธุลี ในดวงตาน้อยจะเห็นได้!

- ทีมข่าวพิเศษ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ

*** แล้วเราก็พบกันอีก
เกือบ ๒ อาทิตย์ที่ลูกค้าคนหนึ่ง ลืมกล่องพลาสติกใส่ของจุกจิกไว้ข้างใน เมื่อเปิดดู พบบัตรต่างๆและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี พร้อมทั้งเงิน จำนวนหนึ่ง ไม่มีเบอร์โทรฯที่จะติดต่อกลับได้ พบแต่ชื่อและที่อยู่ในบัตรใบหนึ่ง จึงเขียนไปรษณียบัตรแจ้งให้ทราบ

๒ วันต่อมา เจ้าของกระวีกระวาด เข้ามาพบ "...ไม่คิดว่าจะลืมไว้ที่พลังบุญ มัวแต่นึกว่า ลืมไว้ที่ศูนย์มังสวิรัติ กลับไปถามหา ก็ไม่มีใครพบเห็น ดีใจจริงๆ ที่นี่นอกจากเก็บของไว้ให้ ทุกอย่างก็อยู่ครบ และยังแจ้งให้มารับอีก ขอบคุณมาก..."

ลูกค้าซาบซึ้ง เราก็ซาบซึ้งลูกค้าเหมือนกัลล์ล์ล์ ที่ให้โอกาสเราได้แสดงความซื่อสัตย์ เสียสละ มีน้ำใจ ซึ่งเป็นนโยบายบุญนิยม ของบริษัทอยู่แล้ว ^_^

*** พลัดพรากชั่วนิรันดร์
ยามนี้ใครก็ตามเดินผ่านห้องบัญชี อดไม่ได้ที่จะทัก อ้าว...เฮ้ย... พลังบุญขายร่มด้วยหรือไง เพราะมีแขวนห้อยอยู่ มากพอสมควรทีเดียว แต่ดูดีๆ ร่มมีหลายๆรูปแบบและขนาด มีทั้งร่มเก่า, ร่มกลางเก่ากลางใหม่, ร่มใหม่ก็มี แขวน รอเจ้าของ เมื่อไรจะคิดได้สักทีนะ ว่าลืมร่มไว้ที่พลังบุญ อีกเมื่อไรจะมารับคืนไปหนอ หรือจะไม่ได้พบกันอีกแล้วชาตินี้
ใครอ่านข่าวนี้ คิดได้ ก็รีบมารับคืน ภายใน สิ้นปี'๔๖ นี้เด้อ พอปีใหม่ฟ้าใหม่ ทางบริษัทจะส่งถ่ายไปที่ร้านทึ่งข้างวัด ใครพบร่มตัวเอง ที่นั่นก็อย่า งงง์ง์ เด้อ อยากได้รีบซื้อคืนซะดีๆ ^_^

็*** พนักงานหัวใส
ลูกค้า... "ข้าวกล้องบรรจุขนาด ๒ กก. ไม่มีแล้วหรือคะ"
พนักงาน... "งวดนี้เขาบรรจุมาแต่ ๕ กก. ขนาด ๒ กก. เขาไม่ได้บรรจุค่ะ"
ลูกค้า... "ลำบากละซี ที่บ้านคุณแม่ทานคนเดียวซะด้วย ถุงละ ๕ กก.กว่าจะหมด คงอีกนาน ทำไงดี"
พนักงาน... ???
ลูกค้าอีกคน..
."ลุงอยากได้ข้าวบรรจุ ๒ กก. เพราะถุงละ ๕ กก. มันหนักเกินไป ลุงถือไม่ไหว"
พนักงาน... "เจ๋ง! เอาอย่างนี้ เดี๋ยวจะแบ่งข้าวถุงละ ๕ กก. ออกเป็น ๒ ถุง ถุงละ ๒ กก.ครึ่ง คุณก็นำไปให้คุณแม่ จะได้ไม่ต้องเก็บไว้กินนานเกินไป ส่วนคุณลุงก็จะได้ไม่ต้องหิ้วหนัก จ่ายเงิน คนละครึ่ง
ลูกค้า... ^_^ "โอเค เอ้ย...ไม่ใช่ ตกลงครับ ตกลงค่ะ". ^_^

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปลูกผักอนามัย ผลิตเอง ขายเอง
พ่อค้าคนกลางไม่เกี่ยว
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

นายวิชัยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สมัยก่อนปลูกผักต้องพึ่งสารเคมีมาก เป็นที่รู้กันอยู่ว่าปลูกผักนั้นปัญหาเยอะ ทั้งโรคและแมลง แต่เมื่อยิ่งใช้สารเคมีมากและใช้ต่อเนื่อง แทนที่จะดี ทุกอย่างกลับแย่ลง ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ พอดีมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอปราณบุรี และจากเกษตรจังหวัดได้เข้ามาแนะนำ ส่งเสริมให้หันมาผลิตพืชผักอนามัยแทนการผลิตแบบเดิม ซึ่งก็ได้ทำตาม และเห็นผลว่าดีจริง จึงทำการผลิตผักอนามัยปลอดภัยจากสารพิษทั้งหมด สามารถลดต้นทุน การผลิตไปได้มาก เพราะเดี๋ยวนี้ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเอง ทำให้ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อดินดี พืชผักที่ปลูกก็เจริญงอกงามกว่าเดิม

ที่สำคัญผักอนามัยขายได้ราคาดีกว่าผักที่ใช้สารเคมีถึงกิโลกรัมละ ๑-๒ บาท ด้านการตลาดที่ประสบความสำเร็จได้นั้น นายวิชัยเผยว่า ต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่เกษตร เพราะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังคอยผลักดันและอยู่เคียงบ่า เคียงไหล่ตลอด โดยเป็นพี่เลี้ยงพาตนเองนำผลผลิตไปขายตามตลาดนัดต่างๆภายในจังหวัด ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคติดต่อกับผู้ผลิตได้โดยตรง ถ้าเป็นตลาดนัดใหญ่ๆ จะสามารถสร้างรายได้มากถึง ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท/ครั้ง ซึ่งจะออกตลาดนัดสัปดาห์ละ ๔ วัน อีก ๓ วันจะเข้าแปลงเพื่อดูแลผลผลิตอย่างเต็มที่

นายวิชัยบอกว่า ที่ไม่ต้องการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะไม่อยากถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดราคา เมื่อผลิตได้เอง ก็ควร ขายเสียเอง ยิ่งถ้ามั่นใจว่าผลผลิตของเรามีคุณภาพก็ไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ สามารถกำหนดราคาได้เองอีกด้วย ถึงเหนื่อยมากหน่อย แต่ก็สบายใจ ทุกวันนี้ที่ขายได้เงินมาก เพราะต้องขยันมาก แต่ก็คุ้มค่า พยายามสร้างผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ลูกค้าผิดหวัง และต้องคอยรักษาคุณภาพด้วย ปัจจุบันจึงมีลูกค้าประจำอย่างเหนียวแน่น

นายวิชัยตบท้ายไว้อย่างน่าคิด "เป็นเกษตรกรไม่ยาก แต่ให้ประสบความสำเร็จได้ดั่งใจน่ะมันไม่ง่าย ทุกวันนี้ได้คาถาเด็ดท่อง ให้ขึ้นใจไว้ว่าอดทนๆ...ขยันๆ... ท่องแล้วต้องลงมือทำ ซึ่งก็ได้ผล ท่องแล้วทำ มันจึงจะรวย ! !"

ดังนั้นใครสนใจดูงานและ เรียนรู้การผลิตผักอนามัยแบบชีวภาพของนายวิชัย สุขสำราญ ติดต่อผ่านมาได้ที่ คุณสุนารถ เชี่ยวเวช สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร.๐-๓๒๖๑-๑๒๓๕.
(จากคอลัมน์ "เหลือกิน เหลือใช้" โดยไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์ นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๓๐ มิ.ย.๔๖)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


นร.สัมมาสิกขาสันติอโศก
สืบสานวัฒนธรรม ลงแขกเกี่ยวข้าว

เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ย.ที่ผ่านมา นร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ชั้น ม.๑, ม.๕-๖ และคณะอา ๕ ท่าน รวมทั้งหมด ๔๖ ชีวิต ได้เดินทางไปเกี่ยวข้าวที่ จ.สุรินทร์ รถออกจากสันติอโศกเวลา ๒๐.๓๐ น. มุ่งหน้าสู่ จ.สุรินทร์ โดยมีคุณกวี ปริกัมศีล เป็นผู้ขับรถ ไปถึงที่หมายประมาณตีสามของวันรุ่งขึ้น แล้วแยกย้ายไปพักผ่อน จนกระทั่งเวลา ๐๖.๐๐ น. ได้มารวมตัว ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารและรับประทานอาหารเช้า

กระทั่งเวลา ๑๑.๐๐ น. ได้ออก เดินทางไปเกี่ยวข้าวที่นาคูใหญ่ ซึ่งเป็นที่นาของคุณพ่อของ นร.สส.สอ. (กระแต) ที่ได้ปลูกข้าวในที่นาประมาณ ๑๕ ไร่ เพื่อมอบให้โรงเรียน โดยให้เด็กๆ ไปเกี่ยวข้าวกันเอง

หลังจากคณะนักเรียนไปถึงบริเวณนา และได้ฟังคำแนะนำจากอากวีเรียบร้อย แล้ว ได้ลงมือเกี่ยวข้าวทันที ซึ่งแม้อากาศ ตอนกลางวันจะร้อนมาก แต่ทุกคนได้ช่วยงานกันอย่างเต็มที่ จนงานลุล่วงสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ว่าจะใช้เวลา ๓ วันในการเกี่ยว และอีก ๒ วัน สำหรับการมัด นวดข้าว และนำข้าวขึ้นยุ้งข้าวให้เรียบร้อย

บรรยากาศในการทำงานหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็มาช่วยกันมัดข้าวซึ่งเป็นงานหนักพอควรบางคนก็ถูกฟางบาดมือ แต่ทุกคนก็ช่วยกันทำงานด้วยความสนุกสนาน

หลังเสร็จงานในแต่ละวัน เด็กๆจะมาร่วมกันกินข้าว คุยกันและนั่งผิงไฟ บรรเทาความหนาวเย็นของอากาศยามค่ำคืนของที่นี่ ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอน เพื่อร่วมลุยงานในวันรุ่งขึ้นต่อไป

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการนวดข้าว ซึ่งวิธีนวดข้าวของที่นี้มีรถนวดข้าวบริการถึงที่เลย เด็กๆจึงเพียงแค่ขนข้าวมากองรวมกันไว้ แล้วช่วยกันขนโยนใส่ รถนวดข้าวก็จะแยกเม็ดข้าวและฟางออกให้เรียบร้อยได้ข้าวเกือบ ๔๐ กระสอบ ซึ่งเป็นไปตามที่ทุกคนต้องการ แต่สิ่งสำคัญที่ทุกๆคนได้รับจากการไปช่วยกันทำงานครั้งนี้ คือได้เรียนรู้ชีวิตของการเป็นชาวนาอย่างแท้จริงนั่นเอง

จนกระทั่งมาถึงวันสุดท้ายของงานนี้ เป็นค่ำคืนแห่งความทรงจำของพวกเขา มีกิจกรรมรอบกองไฟ มีคุณพ่อคุณแม่ ของนักเรียนและคณะอามาร่วมกิจกรรมด้วย มีการเปิดใจของแต่ละคน และการให้โอวาทของพ่อแม่ ซึ่งเป็นบรรยากาศ ที่เป็นกันเองสนุกสนานและมีความสุขกันถ้วนหน้า สุดท้ายจบลงด้วยการกราบคุณพ่อคุณแม่ และคณะอาทุกคน แล้วเดินทางกลับสันติอโศกในวันรุ่งขึ้น (๒ ธ.ค.)

สำหรับความรู้สึกของผู้ไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีดังนี้

คุณรุจี บุญกล้า ผู้ปกครองนักเรียน"รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสรับใช้และได้ทดแทนบุญคุณที่ทางโรงเรียนได้เลี้ยงดูบุตรหลานอย่างดียิ่ง"

คุณแก้วบุญเกื้อ รัตนจันทร์ นร.ชั้น ม.๑ "เกี่ยวข้าวครั้งนี้ถึงแม้เด็ก ม.๑ จะทำได้ไม่มาก แต่ก็ได้ประสบการณ์กลับไปมากมาย"

คุณชยาภรณ์ ลินชุม นร.ชั้น ม.๕ "เห็นใจคนที่ทำงานหนักกว่า ตากแดด ทั้งวัน แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่ดีแล้ว ขอชื่นชมพี่ๆน้องๆเข้มแข็งกันมาก ดีใจที่มีพี่น้องแบบนี้ทุกคนเลยค่ะ"

นายกลวิชย์ ภาติยะกุล แพทยศาสตร์บัณฑิต ม.เชียงใหม่ "อยากฝากให้น้องๆ ทราบอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เราได้ทำในวันนี้ จะเป็นประสบการณ์อย่างดีในอนาคตของเรา และเราจะบอกใครๆได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยลงมือเกี่ยวข้าวเป็นสิบๆไร่ร่วมกับเพื่อนๆมาแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งน่าภูมิใจมากจริงๆ...".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เตรียมงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ณ บ้านราชฯ

งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๔๖ - ๓ ม.ค. ๔๗ นี้จะใช้นโยบายสาธารณโภคี รวมศูนย์เข้าส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุดทั้งเวลา แรงงาน ทุนรอน เช่น ร้านที่เปิดขายอาหารสด ให้นำเงินนั้นไปรวมไว้ที่ส่วนกลาง แล้วแจ้งความต้องการใช้วัตถุดิบอะไร เพื่อจะได้รวมกันซื้อของในคราวเดียว โดยสโตร์ส่วนกลางเป็นผู้เตรียมวัตถุดิบล้าง หั่นให้ ร้านรับไปประกอบปรุงรสเอง, เด็กนักเรียนทั้งหมดจะรวมตัวกันที่ส่วนกลาง ร้านใดต้องการให้แจ้งขอไป ส่วนกลางจะพิจารณาให้ตามเนื้องาน ตามจำนวนที่มี, ส่วนรถกองทัพธรรมของแต่ละพุทธสถานให้โอนเข้าส่วนกลาง ซึ่งจะเตรียมที่จอดรถให้เฉพาะ โดยคนในพุทธสถานนั้นๆเป็นผู้ขับรถ เป็นต้น

ตลาดอาริยะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. ตลาดอาหาร เปิดขาย ๓๑ ธ.ค. ๔๖ - ๒ ม.ค. ๔๗ เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. เวลาพักให้แต่ละร้านจัดสรรเอง โดยมีการจัดแบ่งตามประเภทของอาหาร ดังนี้

๑.) ก๋วยเตี๋ยว ๒.) ข้าวราดแกง, อาหารจานเดียว ๓.) ของทอด ๔.) ส้มตำ, อาหารพื้นบ้าน ๕.) ผลไม้,สลัด,น้ำผลไม้ ๖.) ขนมหวาน ๗.) อาหารสุขภาพ ๘. อื่นๆ

๒. ตลาดอาริยะ เปิดขาย ๓๑ ธ.ค. ๔๖ - ๒ ม.ค. ๔๗ เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. เวลาพักให้แต่ละร้านจัดสรรเอง

ตลาดสละของรัก (ของเกินความจำเป็น สภาพดี ไม่ฟุ่มเฟือยหรือมอมเมา)

๒๘ ธ.ค. ๔๖ วันสุดท้ายของการส่งใบสมัครร้านตลาดอาริยะ - ตลาดอาหาร

๓๐ ธ.ค. ๔๖ ปฐมนิเทศน์ร้านตลาดอาริยะ - ตลาดอาหาร โดยสมณะ เดินดิน ติกขวีโร

ฝากพิจารณาวันเดินทางกลับคือวันที่ ๓ ม.ค. ๔๗ หลังเที่ยง โดยช่วงเช้าจะร่วมกันแสดงความเป็นเจ้าภาพด้วยการรวมพลังเก็บงานตลาดอาริยะ

การจราจรจะไม่ให้รถวิ่งผ่านหน้าตลาดอาหารและตลาดอาริยะ เพื่อความปลอดภัยและลดปัญหาฝุ่นฟุ้ง

"เราไม่ได้ขายเฉพาะสินค้า แต่เราขายวัฒนธรรมของชาวอโศกด้วย"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อาการที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคไต?

อาการบวม โรคไตมีการสังเกตได้หลายอย่าง โดยอาจจะสังเกตหลังจากตื่นนอนในตอนเช้าและไปส่องกระจกดู อาจพบอากา รผิดปกติหน้าบวม เปลือกตาบวม ตัวบวม ซึ่งที่พบบ่อยคือโรคไตอักเสบชนิดเนฟโฟรซินโดรม (Nephrotic Syndrome)

ความดันโลหิตสูง ก็เป็นอาการบ่งบอกอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากไตทำหน้าที่ในการสร้างการควบคุมความดันโลหิต และไต ยังมีหน้าที่รักษาความสมดุลของน้ำกับเกลือแร่ในร่างกาย เพราะฉะนั้น ความดันโลหิตสูง อาจเป็นอาการที่เกิดจาก โรคไตโดยตรง หรือในระยะที่มีอาการไตวายมากๆ ความดันโลหิตจะสูง และนอกจากนี้ถ้าเส้นเลือด ที่ไปเลี้ยงไตตีบ จะทำให้ ความดันโลหิตสูง

อาการซีดหรือโลหิตจาง โดยสาเหตุของโรคโลหิตจางนั้นมีหลายชนิด แต่สาเหตุหนึ่งคือ โรคไตวายเรื้อรัง เนื่องจากปกติ ไตจะสร้าง อีธิโธรปัวอีดิน (Erythropoientin) เพื่อกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงเมื่อเกิดไตวายเรื้อรัง ไตก็ไม่สามารถสร้าง อีธโรปัวอีตัน ไปกระตุ้นไขกระดูกได้ ทำให้โลหิตจางลง และมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเป็นลม หน้ามืด

สำหรับอาการดังกล่าว เป็นอาการบ่งชี้โรคแต่เพียงเบื้องต้น ถ้ามีลักษณะอาการคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบปรึกษา แพทย์ เพื่อสอบถามประวัติ อาการข้างเคียง และวินิจฉัยโรคภายในอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน และจะได้รักษาโรค ได้อย่างทันท่วงที

สภาพแวดล้อมในปัจจุบันล้วนเป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทาน ที่มีสารเคมีมากมาย สภาพอากาศที่มีแต่ควันพิษ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด ความผิดปกติในร่างกาย ดังนั้นควรหมั่นตรวจสุขภาพ เป็นประจำ ทุกปี เพื่อจะได้ป้องกัน และสามารถหาทางแก้ไข อาการผิดปกติต่างๆได้อย่างทันท่วงที.

(จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๓๑ ต.ค.๔๖)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พ่อท่านเทศน์โปรด
ชมร.หน้าสันติอโศก ยุคปรับปรุงร้านใหม่

เนื่องในโอกาสฉลองการปรับปรุงร้านใหม่ ชมร.หน้าสันติอโศก ได้นิมนต์พ่อท่านไปเทศน์ แสดงธรรม พร้อมบริการอาหารแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปฟรี

เนื่องจากทางร้าน ชมร.หน้าสันติอโศก (ชมร.สตอ.) ซึ่งได้หยุดให้บริการเพื่อปรับปรุงร้านในช่วงงานมหาปวารณาจนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารจึงมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะทำบุญในโอกาสปรับปรุงร้านใหม่ในวันที่ ๒ ธ.ค.๔๖

ทาง ผรช.คุณดาบบุญ ดีรัตนา จึงได้กราบนิมนต์พ่อท่านมาเทศน์ในงาน พร้อมทั้งนิมนต์สมณะและสิกขมาตุ มาฉันอาหาร ที่ร้านในวันดังกล่าว โดยให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของร้านประกาศงานบุญนี้ให้ลูกค้าทราบด้วย

โดยทีมงานได้จัดเตรียมร้านกันตั้งแต่วันที่ ๑ ธ.ค. เพราะต่างตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานบุญกันอีกครั้ง หลังจากร้านปิดไปกว่า ๓ อาทิตย์ จนกระทั่งเช้าตรู่วันที่ ๒ ธ.ค.ซึ่งเป็นวันงาน พ่อครัว แม่ครัว อาสาสมัครประจำร้าน และญาติธรรม ต่างก็มาช่วยงาน กันอย่างคับคั่ง โดยทางร้านได้เปิดให้บริการตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น. จนถึงเวลา ๐๙.๐๐ น. ทางร้านได้หยุดให้บริการ เพื่อฟังธรรมจากพ่อท่านจนถึงเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ซึ่งพ่อท่านได้เทศน์ให้กำลังใจทุกคนและทุกแผนกของร้าน ไม่เว้นกระทั่งแม่ครัว ก็ให้ระมัดระวังเรื่องกระทะและตะหลิวด้วย

จากนั้นพ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ ฉันอาหารที่ร้าน เสร็จแล้วชาวชมรมมังสวิรัติฯ ได้ถ่ายรูปกับพ่อท่านเพื่อเป็นที่ระลึกด้วย

เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. ได้เปิดให้บริการอาหารฟรีสำหรับลูกค้าที่มาทานที่ร้าน (ส่วนอาหารที่ต้องการนำกลับบ้าน ขายตามปกติ) ซึ่งลูกค้ามาร่วมงานกันอย่างอบอุ่นแน่นทุกโต๊ะ และอาหารหมดทุกชนิด งานนี้ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้อิ่มท้อง และอิ่มใจกลับบ้านกันทีเดียว

เสร็จงานทำบุญฉลองเปิดร้าน ชมร. หน้าสันติอโศก หลังปรับปรุงโฉมใหม่แล้ว ทางทีมงาน ชมร.สตอ.ได้เตรียมงานโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ ต่อทันที ด้วยการติดต่อพ่อครัวและแม่ครัวกิตติมศักดิ์ให้มาร่วมในงานดังกล่าวด้วย.


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ. ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๒๐(๒๔๒) ปักษ์แรก ๑ - ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๖

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทีมงาน นสพ.ข่าวอโศกและชาวอโศกทุกคน ขอร่วมใจถวายพระพร ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ

และในวโรกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ชาวเราได้ร่วมมือร่วมใจจัดโรงบุญมังสวิรัติ ๕ ธันวามหาราช ทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็น พระราชกุศล แด่ในหลวงของเราต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒๑ แล้ว สำหรับบรรยากาศโรงบุญฯ บางแห่งได้นำมาเสนอในฉบับแล้ว

ปฐมฤกษ์...วันพุธที่ ๓ ธ.ค.๔๖ ที่สันติอโศกเริ่มปรับจากวันหยุดทำวัตร มาเป็นวันทำวัตรเย็น เป็นครั้งแรก

พ่อท่านมีเมตตามาร่วมเป็นประธานเป็นปฐมฤกษ์ของการทำวัตรเย็นที่ สันติอโศก โดยจัดให้เป็นรายการเอื้อไออุ่น

ส่วนวันอังคารที่ ๒ ธ.ค.ที่ผ่านมา พ่อท่านก็เทศน์ในโอกาสปรับปรุงร้านและห้องน้ำของ ชมร.หน้าสันติอโศก

คุณดาบบุญ ดีรัตนา ผรช.ประจำร้าน เอ่ยกับจิ้งหรีดว่า คงเป็นครั้งแรกที่ได้นิมนต์สมณะและสิกขมาตุ มาเทศน์ และฉันอาหาร ที่หน้าร้าน (บริเวณภายในร้าน)เช่นนี้

วันนั้นยังได้แจกอาหารฟรี โดยมีคุณหินทองช่วยประชาสัมพันธ์ตามสไตล์ สนุกๆไปด้วย

จิ้งหรีดเองได้เดินไปดูที่ร้าน ก็รู้สึกว่าโปร่งขึ้นเยอะ

ก็หวังว่า คณะทำงานในร้านและอาสาสมัครคงจะทำงานด้วยอารมณ์ที่ปลอดโปร่งด้วยเช่นกัน เพราะพ่อท่าน ได้เทศน์ ให้ข้อคิดในวันนั้นด้วยว่า "เราอย่าทำแต่งาน โดยลืมการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย" สาธุ...จี๊ดๆๆๆ

โรงบุญฯ...โรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ ของกลุ่มรวมญาติ เมื่อวันที่ ๗ ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีอาซ้อ(เจ้ง้อ)เป็นโต้โผใหญ่ เมนูอาหารวันนั้น มีมากมาย หลายอย่าง จาระไนไม่หวาดไม่ไหว

บรรยากาศก็ประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะต่างชื่นชมกับรสมือของบรรดาพ่อให้แม่ให้ (จนมีคนอยากจะว่าจ้าง ไปทำ อาหารแจกเด็ก ในโอกาสต่างๆบ้าง) ปรากฏว่าอาหารต่างๆ โดยเฉพาะของทอดๆ บริการไม่ค่อยทันคนกิน เอาเสียเลย คงมีแต่ก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่า รสมืออาซ้อเท่านั้น ที่ชนะผู้กินอย่างขาดลอย หาใช่เพราะว่าฝีมือตก แต่ประการใด แต่เป็นเพราะ มีประสบการณ์ โรงบุญมาหลายปี ปีนี้จึงเตรียมมาบริการมากกว่าทุกๆปี เพื่อไม่ให้ผู้รับ ต้องผิดหวัง เพราะของหมด งวดนี้ จึงต้มน้ำซุป หม้อขนาดเบอร์ ๖๐ มาบริการถึง ๑๐ หม้อ เท่ากับสถิติที่แจกในงานอโศกรำลึก กันเลยทีเดียว เรียกว่า ให้กันชนิดไม่อั้น อนุโมทนาสาธุกับพ่อให้แม่ให้ ทุกๆคน...จี๊ดๆๆๆ

น่องทอง...ไม่ใช่น่องสวยเหมือนชาวโลกๆเขา แต่ยกตำแหน่งนี้ให้ญาติธรรมแถวๆข้างวัดรายหนึ่ง ที่ช่วยเตรียมลูกโป่ง ตกแต่งโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ ของกลุ่ม รวมญาติ จิ้งหรีดเห็นลูกโป่งที่มีผู้ใจบุญนำมาบริจาคหลายร้อยใบ พร้อมกับให้ยืม ที่สูบลม ชนิดใช้เท้าเหยียบ ๑ อัน แล้วก็ต้องตะลึงว่า ทำไมมากมายอย่างนี้

แต่ญาติธรรมท่านนี้ก็ตั้งอกตั้งใจเหยียบเอ๊า เหยียบเอา(สูบลูกโป่งน่ะ) ดีแต่มีเทวดาอีกคนมาช่วยเหยียบต่อ เธอเลยรอดมาได้ และมาเปิดใจ ให้จิ้งหรีดฟังทีหลังว่า ตอนเหยียบน่ะสนุกมาก แต่พอเลิกแล้วนะซิ ปวดจนขาแข็ง ไปหมดเลย แต่คงด้วย อานิสงส์ผลบุญ ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้นเธอก็หายปวดเป็นปลิดทิ้ง

จิ้งหรีดฟังแล้วก็โล่งใจ ที่เพื่อนไม่ต้องพิการน่องโป่งไปทั้งสองข้าง ว่าแต่ว่า งานคราวหน้า ถ้ามีลูกโป่งมาให้อีก เธอจะว่ายังไงฮะ...จี๊ดๆๆๆ

ยิ่งใหญ่ดุจวีรบุรุษ...นักเรียน สส.สอ. ยกทัพไปเกี่ยวข้าวที่ จ.สุรินทร์ กลับมาในช่วงเย็นของวันอังคารที่ ๒ ธ.ค.ที่ผ่านมา

อานิ่ม ช่วยประกาศบอกชาว สส.สอ. ที่เหลืออยู่ในวัดที่สันติอโศกว่า เพื่อนๆของเรากลับมาจากเกี่ยวข้าวแล้ว ใครจะออกมา รับเพื่อนๆ ก็เตรียมตัวได้เลย

จิ้งหรีดได้ฟังอานิ่มประกาศแล้ว รู้สึกว่านักเรียนที่ช่วยเกี่ยวข้าวกลับมาจาก จ.สุรินทร์ เหมือนกับนักรบที่ออกรบ กลับจากศึก สงคราม เยี่ยงวีรบุรุษ ประมาณนั้น

พอเพื่อนๆกลับมาถึงสันติอโศก ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น น่าประทับใจจริงๆ

จิ้งหรีดเลยรู้สึกประทับใจที่นี่ แม้จะเป็นสังคมเมือง แต่ก็มีเรื่องดีๆเช่นนี้เหมือนกัน...จี๊ดๆๆๆ

ถูกเผาก่อน...ท่านเลื่อนฟ้า นำคณะญาติธรรมจะไปเผาศพคุณวรกิจ วิริยะพาณ (คุณพ่อของคุณหลอด ชาวบ้านราชฯ) ที่ จ.อุตรดิตถ์ แต่เดินทางไปยังไม่ถึง จ.อยุธยา รถที่โดยสารไปพลันเครื่องก็ร้อนจนต้องจอดตายอยู่ข้างถนน ซึ่งพอท่านเมืองแก้ว ติสสวโร ทราบเรื่องก็รีบส่งรถจากสันติอโศกไปช่วยทันที

แต่กระนั้น ท่านเลื่อนฟ้า และคณะก็ไม่สามารถเดินทางไปเผาศพที่อุตรดิตถ์ได้ทันเวลา

เรื่องของเรื่องเพราะเจ้าเครื่องยนต์มาถูกเผาเสียก่อนนั่นเอง แต่ใจใครจะถูกเผาไปด้วย อันนี้จิ้งหรีดมิอาจหยั่งรู้ได้ ดีนะที่ได้ น้องชาย ของท่านเสียงศีล ชาตวโร ช่วยซ่อมรถให้ที่ จ.สิงห์บุรี

นี่แหละที่ว่า "ผู้มีศีล ย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" เพราะได้เทวดาช่วยดับไฟให้นั่นเอง...จี๊ดๆๆๆ

ฝึกภาคสนาม...จับกล้องวิดีโอมานาน คงรู้ตัวว่าชักหย่อนยาน พระอาจารย์นาไท เห็นแก่ลูกศิษย์ตาดำๆ จึงฝึกให้ทำ ภาคปฏิบัติ พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางที่ชุ่มอยู่ในน้ำ แล้วเอาไม้ไปตากแดดให้ยางเหือดแห้ง

จึงตัดสินใจพา ๒ หนุ่ม ๒ มุม คือ จอมฟ้า และ ทองไท ออกเดินจาริกไปทางภาคเหนือ

ป่านนี้คงเหือดแห้งดำปี๋เป็นตอตะโกได้แล้วกระมัง เพราะท่านพาแท่งไม้ ๒ แท่งเดินตากแดดจริงๆ

เอ!...แต่จะแห้งถึงข้างในเลยหรือเปล่า อันนี้ไม่มีรายงานฮะ

จิ้งหรีดก็ขอเอาใจช่วยคนหนุ่มๆ ที่ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกผู้ทุกคน

งานนี้ยังไงๆ ก็ได้ไปกับพระ ก็ดีกว่าไปกับผีแน่นอน จริงไหมฮะ...จี๊ดๆๆๆ

อายุยาว...ในงานทำบุญครบรอบ ๗ วันการเสียชีวิตของคุณวิเชียร แต่งประณีต มารดาของอัยการอัจฉรา (คุณติ๋ม) พ่อท่าน ได้เทศน์ ระลึกถึงผู้ตายว่า เป็นคนเก่าแก่ ก็นึกไม่ถึงว่าจะอายุยืนยาวเกือบ ๘๐ ปี เพราะเป็นคนอ้วน ปกติคนอ้วน จะอายุไม่ค่อยยืน

พ่อท่านได้พูดถึงป้าสำอางค์ กิตติเวช คนเก่าคนแก่อีกคนของชาวอโศก ซึ่งแต่ก่อนก็เป็นคนอ้วน แต่ก็อายุยืน เพราะเป็นคน วางง่าย หลับง่าย ตอนนี้รูปร่างก็ไม่ใหญ่โตเหมือนก่อน ด้วยวัยที่สูงขึ้นถึง ๘๘ ปี จิ้งหรีดก็ขอให้ป้าอางค์ อยู่นานๆ ต่อไปอีกนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ

ฝากข่าว...ร.ร.พุทธธรรมวันอาทิตย์ที่สันติอโศกเปิดมาหลายปีแล้ว บรรดาครูพุทธธรรมคงชื่นใจ ที่ศิษย์เก่าของที่นี่ ต่างได้ดิบได้ดี ตามฐานะไปมากหลายแล้ว ตอนนี้จิ้งหรีดได้ข่าวว่า คุณครูพุทธธรรมจะจัดงานคืนสู่เหย้า ชาวพุทธธรรม เลยอยากฝากข่าว ถึงศิษย์เก่าคนใดพร้อม มาช่วยจัดงาน แจ้งไปได้ที่ ท่านกล้าตาย ปพโล ที่สันติอโศกด้วยเด้อ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ

มรณัสสติ
นางฮุ่ยเจ็ง แซ่ลี้ อายุ ๗๙ ปี (มารดาของคุณหนึ่งพุทธ วิมุตตินันท์) เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๔๖ ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ที่ชุมชนสันติอโศก วันที่ ๙-๑๑ ธ.ค. และวันที่ ๑๒ ธ.ค.๔๖ ได้เคลื่อนศพไปยังสุสาน สว่างอุทยานธรรมสถาน จ.ชลบุรี

ก่อนจากขอฝากคติธรรม-คำสอนของพ่อท่านที่ว่า
สังคมใดมีคนที่ดีใจเพราะ "ได้ให้"
มากกว่า มีคนที่ดีใจเพราะ "ได้รับ"
สังคมนั้นย่อมสุขเย็นและแน่นแฟ้น ถาวร
ยิ่งกว่าสังคมที่มีคนตรงกันข้ามดังกล่าวนั้น

(๒๔ มี.ค.๒๓)
(จากหนังสือ โศลกธรรมสมณะโพธิรักษ์ หน้า ๖๔)

พบกันใหม่ฉบับหน้า

- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวอโศกร่วมใจ ตั้งโรงบุญฯ ๕ ธันวา
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลทั่วประเทศ
เครือข่ายต่างๆร่วมตั้งโรงบุญฯ ชมร.ช.ม. ร้องเพลงสดุดีมหาราชา

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุครบ ๗๖ พรรษา ชาวอโศกขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศล โดยจัดโรงบุญมังสวิรัติแจกอาหารฟรี พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็น พระราชกุศล และราชสักการะ แด่ในหลวงของชาวไทย เหมือนเช่นทุกๆปีที่ผ่านมา

สำหรับบรรยากาศของโรงบุญฯบางแห่ง มีดังนี้

เริ่มวันที่ ๓๐ พ.ย. ๔๖ ช่วงเช้าบจ.พลังบุญ เปิดโรงบุญมังสวิรัติบริเวณหลังร้าน อาหารมีข้าวราดแกง ผัดไทย ฯลฯ เมื่ออิ่มแล้ว ยังได้รับแจกยาสีฟันคนละ ๑ หลอดกลับบ้านด้วย

ในวันที่ ๕ ธ.ค. ๔๖ บรรยากาศในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. นักเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก กระจายออกไปช่วยงาน ตามโรงบุญมังสวิรัติต่างๆ เช่น ชมร.หน้าสันติ สวนพฤกษชาติ สวนสามวา และสนามหลวง

*** ชมร.หน้าสันติอโศก
เริ่มแจกตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. บริการ อาหารมังบุฟเฟ่ต์ ด้วยบรรยากาศใหม่โปร่งโล่งลมพัดสบายๆ (หลังจากปิดปรับปรุงร้าน มาเกือบเดือน) ผู้มารับบริการตักอาหารด้วยตัวเองโดยตักแต่น้อยก่อน ไม่พอมาตักเพิ่มได้อีก อาหารมีหลากหลายชนิด ทั้งต้ม ผัด แกง ยำ ขนมจีน สลัด โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ขนม ฯลฯ มีนักเรียนคอยช่วยเติมอาหารให้เต็มเป็นระยะๆ เมื่อรับประทานอิ่มแล้ว ต่างช่วยล้างถ้วยจานชาม บริเวณด้านหน้าร้าน คนเริ่มมาแน่นร้านราว ๐๗.๔๐ น. ผู้มาใช้บริการไม่ขาดสายจน ๑๔.๐๐ น. ถึงปิดบริการ

*** ชมร.จตุจักร
เมื่อเดินเข้ามาในร้านบริเวณโต๊ะจำหน่ายคูปอง จะเห็นป้ายเขียนว่า "งดจำหน่ายคูปอง" ๕ ธันวามหาราช เชิญรับประทานฟรี มีอาหารมากมายจากหลายร้าน ทั้งข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน สลัด กุ๋ยฉ่าย ซาลาเปา ขนมหวาน น้ำผลไม้ ผักสด ผลไม้ ฯลฯ ช่วงเช้าราว ๐๘.๐๐ น. คนมารับบริการมาก ร้านผักสดแจกหมดก่อนเป็นอันดับแรก ปีนี้คนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่วนร้านขายของแห้งเปิดจำหน่ายตามปกติ

ชมร.จตุจักร

*** ตะวันงาย ๒
ประมาณ ๐๗.๐๐ น. เปิดโรงบุญมังสวิรัติ จัดแบบง่ายๆ มีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมารับแจกกระเพาะเจ ไอศกรีม อิ่มอร่อยแบบกันเอง

*** สวนพฤกษชาติ
จัดโดยร.ร.สัมมาสิกขาสันติอโศก นักเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์สันติอโศก บจ.แด่ชีวิต มีอาติ้วและครูผึ้ง นำทีม บริเวณ รอบๆสวนมีผู้คนเนืองแน่นทั้งมาออกกำลังกายและมาจ่ายตลาด ที่เต็นท์โรงบุญฯ ได้ยินเสียงเพลงของเด็กๆ ร้องสลับกับ เสียงประกาศเชิญชวน มารับประทานอาหารมังสวิรัติ ผู้ให้ไหว้ผู้รับ ดูบรรยากาศสบายๆ อบอุ่นดี รับอาหารแล้วนั่งทานใต้ร่มไม้ ข้างสระน้ำ ยืนทานบ้าง อิ่มแล้วช่วยกันล้างถ้วยชาม ปีนี้เราทำอาหารน้อยลงเพราะแม่งานมือใหม่ (ขาดแม่งานหลัก คือ สิกขมาตุผาแก้ว) ผู้มารับบริการก็น้อยลงด้วย ราว ๐๙.๐๐ น. ปิดโรงบุญฯ มีบางคนเดินทางไปสมทบกับชมรมมังสวิรัติฯ ที่สนามหลวง

สวนพฤกษชาติ

 

*** ร้านกู้ดินฟ้า ๑
ช่วงเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. มีโรงบุญมังสวิรัติหลายแห่งเปิดบริการเวลานี้ เริ่มจาก ร้านกู้ดินฟ้าแจกผักผลไม้ฟรี ผู้คนยืนออกัน เต็มหน้าร้าน ต้องช่วยกันจัดให้เข้ามาในร้านเป็นกลุ่มน้อยๆราว ๑๕ คน เพื่อความสะดวกในการเลือกพืชผัก-ผลไม้ บรรยากาศสนุกสนาน มีแต่รอยยิ้ม วันนี้คุณเคยจ่ายตลาดฟรีหรือยัง?

*** บจ.แด่ชีวิต
จัดโดยบจ.แด่ชีวิตร่วมกับชมรมสัมมาสิกขาพุทธธรรม(กลุ่มผู้ปกครองฯ) คุณจิรภา ดีรัตนา เป็นแม่ครัว มีผัดไทย ขนมครก ทำแจกกันร้อนๆเลย ดูน่าอร่อย

*** สวนสามวา
จัดโดยกลุ่มศิษย์เก่าสัมมาสิกขาสันติอโศก มีนักเรียนสัมมาสิกขาฯมาช่วยส่วนหนึ่ง เป็นการรวมพวกศิษย์เก่า มาร่วมทำกิจกรรม สาธารณประโยชน์ อย่างมีสาระและคุณค่าต่อสังคม เริ่มแจกอาหารมีผัดซีอิ๊ว ขนมจีน แกงเขียวหวาน ฯลฯ ปีนี้เราไม่ได้วิ่งรถ ประกาศเชิญชวน เหมือนปีก่อน คนจึงมาน้อย ช่วงเช้ามีคนมาบางตา สายหน่อยค่อยทยอยกันมา ตอนแรก เรายังไม่ให้ตักใส่ถุง หรือปิ่นโต พอเห็นว่าคนมาน้อย จึงตักใส่ถุงแจกกลับไปกินต่อที่บ้าน อาหารหมดประมาณบ่ายสองโมง

สวนสามวา

*** โรงบุญมังสวิรัติ สนามหลวง
จัดโดย ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย บจ.ฟ้าอภัย ร.ร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ชมรมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม และคุณพรชัย โดยมีคุณศิริลักษณ์ ศรีเมือง เป็นแม่งาน เริ่มแจก อาหารราว ๐๘.๐๐ น. เลิกราว ๑๘.๐๐ น. มีนักเรียนราว ๕๐ คน ช่วยผัดก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย ราว ๗๐๐ กิโลกรัม ตลอดวัน อาหารมีหลากหลายชนิด ประชาชนยืนเข้าแถวเรียงเดี่ยว เป็นแนวยาว ทั้งด้านซ้าย และขวาของเต็นท์ตลอดวัน ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ก่อเกิดวัฒนธรรมที่งดงามน่าชื่นชม

สนามหลวง

*** ทาวน์เฮ้าส์ หน้าสันติอโศก
กลุ่มรวมญาติ โดยมีอาซ้อ(เจ้ง้อ) เป็นโต้โผใหญ่ ร่วมกับญาติธรรมชาวทาวน์เฮ้าส์ในซอยหน้าสันติอโศก จัดโรงบุญฯ บริเวณถนน ในซอยดังกล่าว เมื่อวันที่ ๗ ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้บริการอาหารหลากหลายชนิด เช่น ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น จับฉ่าย แกงฟัก ของอาซ้อ, ลุงอ้วน น้ำแข็งใส, ไอศกรีม บ้านนวชีวัน, แหนมและเต้าหู้ทอด จากคุณแป๊ด, ลูกชิ้น-เกี๊ยว-แหนมทอด จากบ้านกตัญญู, น้ำสมุนไพรและผลไม้ จากกลุ่มเกลียวใจ, ข้าวเหนียวส้มตำ-ซุปหน่อไม้ จากกลุ่มโฮมแฮง, ข้าวต้มเครื่อง จากคุณม่วย และส้มไร้สารพิษ จากคุณจินดา คลอง ๑๓ เป็นต้น

เริ่มแจกอาหารตั้งแต่เช้ามืดราว ๐๖.๐๐ น. วันนี้บางคนบอกว่าไม่ได้กินข้าวเลย (แฮะ.. แฮะ..ก็กินก๋วยเตี๋ยวไง)

ทาวน์เฮ้าส์ หน้าสันติอโศก

 

*** ราชธานีอโศก
ปีนี้จัดโรงบุญ ๑๑ แห่ง ตามหมู่บ้านต่างๆ ใน จ.อุบลราชธานี ที่เกษตรกรและนักเรียนมาเข้ารับการอบรมที่บ้านราชฯ โดยแจก ในวันที่ ๔ และ ๕ ธ.ค. นำทีมโดยพี่เลี้ยงงานอบรมทั้งนิสิต และนร.สัมมาสิกขาฯ มีสมณะไปแสดงธรรมและบิณฑบาต

วันที่ ๔ ธ.ค. จัดโรงบุญ ๓ แห่งคือ

๑. ร.ร.สำโรงวิทยาคาร อ.สำโรง มีสมณะไป ๒ รูป เย็นวันที่ ๓ คณะครูนำ นร.ชั้น ม.ปลาย ๙๐ คน มาร่วมปฏิบัติธรรม โดยช่วยเตรียมงาน และแบ่งกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ เริ่มให้บริการจนถึงเที่ยง อาหารก็หมด มีนักเรียนมารับบริการ ๘๐๐ คน

๒. ร.ร.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน อยู่ห่างจากชายแดนประเทศลาว ๒ ก.ม.เท่านั้น ซึ่งนักเรียนโรงเรียนนี้ เพิ่งออกจากค่ายอบรม คนสร้างชาติ ที่บ้านราชฯ เพียง ๒ ช.ม.เท่านั้น ตอนเย็นคณะครูมาช่วยเตรียมงาน ก่อนแจก อาหารสมณะแสดงธรรม บริการอาหาร ถึงบ่ายโมง ปรากฏว่าอาหารเหลือ เพราะเตรียมไว้สำหรับนักเรียน ๘๐๐ คน แต่มีนักเรียนมาเพียง ๔๐๐ คน

๓. ร้านมังฯบุฟเฟ่ต์ อ.วารินชำราบ มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษาฯ(สพท.) และประชาชนทั่วไป มารับบริการ ตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. ส่วนผู้ที่ต้องการใส่ถุงกลับบ้านก็ขายตามปกติ

วันที่ ๕ ธ.ค. จัดโรงบุญ ๘ แห่ง คือ

๑. ร.ร.บ้านแก้งลิงวิทยา อ.กุดข้าวปุ้น มีเกษตรกรที่เคยมาอบรมมาร่วมฟังธรรม แจก อาหารตั้งแต่ ๐๘.๐๐-๑๑.๐๐ น. มีชาวบ้านอีกหลายคน ที่อยากมาคุยกับสมณะ และมารับประทาน แต่ไม่กล้าเพราะความอาย และบางคนเข้าใจผิด คิดว่าต้องเสียเงิน

๒. บ้านนาชุมใต้ อ.เขมราฐ ไปจัดเป็นครั้งแรก มีชาวบ้านจากบ้านขามป้อม มาสมทบ ช่วยเตรียมงาน โดยมี ผอ.ร.ร. กล่าวเปิดงาน

บ้าน-วัด-โรงเรียน ประสานสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดี แจกอาหารจนถึงเที่ยงและแจกใส่ถุงกลับบ้าน

๓. ร.ร.บ้านดอนหมู อ.ตระการพืชผล สมณะไป ๑ รูป ตอนเย็นเปิดวิดีโอ เรื่องการทำนาไร้สารพิษ ของกลุ่มบ้านม่วง ที่บ้านของ ผู้ใหญ่บ้านให้ชม ตอนเช้าเด็กเล็ก ผู้เฒ่าผู้แก่มารับอาหารมากมาย บริการเพียง ๒ ช.ม.เศษก็หมด มีชาวบ้านนำผักสด และข้าวเหนียวนึ่ง มาร่วมงาน ช่วงนี้ชาวบ้านบางส่วนติดเกี่ยวข้าว

๔. บ้านบุกลาง อ.น้ำยืน จัดที่วัดภูน้อย พระที่วัดให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกดีมาก กลางคืนมีผู้สนใจ มาฟังธรรม จากสมณะที่ไปร่วมงาน ๒ รูป ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านมานอนค้างคืนที่วัด ตอนเช้าสมณะบิณฑบาต และแสดงธรรม ก่อนแจกโรงบุญ เริ่มแจกตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. มี ผู้มารับอาหาร ๓๒๐ คน ก่อนกลับ ชาวบ้านฝากมะละกอ และมันมาทำบุญ

๕. บ้านคำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง เกษตรกร ที่เคยมาอบรมมาช่วยเตรียมงาน และฟังเทศน์จากสมณะและสามเณร ในตอนเย็น ตอนเช้าสมณะบิณฑบาต เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.นำรถมารับ-ส่ง

๖. บ้านนาเยีย กิ่ง อ.นาเยีย จัดมาหลายปีแล้ว ชาวบ้านรู้จักดี จึงชวนกันมารับประทานอาหารมากมาย (ประมาณ ๔๐๐ คน) เริ่มแจก ตั้งแต่เช้าจนถึง ๐๙.๐๐ น. อาหารก็หมด แต่คนก็ยังมาเรื่อยๆ จึงปอกมะละกอสุกแจกจนหมด

๗. บ้านหินแห่ สมณะไป ๒ รูป ภรรยาผู้ใหญ่บ้านนำกลุ่มแม่บ้านมาช่วยเตรียมงาน มีการประสานกันระหว่างบ้าน-วัด- โรงเรียน เป็นอย่างดี พระในวัดให้สมณะเทศน์ให้พรก่อนบริการอาหาร เริ่มบริการตั้งแต่ ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. อาหารก็หมด

๘. อุทยานบุญนิยม กลุ่มอุบลอโศกเป็นเจ้าภาพ บริการอาหารตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. อาหารก็หมด หากใส่ถุงกลับบ้าน ได้จำหน่ายตามปกติ

*** ศีรษะอโศก
ได้จัดโรงบุญฯ ทั้งหมด ๗ แห่ง ดังนี้

๑.โรงบุญฯ ที่ บ.รุ่งอรุณ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ วันที่ ๒๘ พ.ย. (เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ)
๒. โรงบุญฯ ที่บ้านโนนเกษตร-หมากหม้อ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม วันที่ ๒ ธ.ค.
๓. โรงบุญฯ ที่บ้านวังจาน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม วันที่ ๓ ธ.ค.
๔. โรงบุญฯ หน้า ร.พ.กันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ วันที่ ๔ ธ.ค.
๕. โรงบุญฯ ที่ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม วันที่ ๔ ธ.ค.
๖. โรงบุญฯ หน้า อบต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ วันที่ ๕ ธ.ค.
๗. โรงบุญฯ ที่บ้านดงใหญ่ อ.พยัคฆ์ภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

*** สีมาอโศก
ปีนี้เป็นปีที่ชาวสีมาอโศก จัด "โรงบุญ 5 ธันวามหาราช '๔๖" ครึกครื้นเป็นพิเศษกว่า ปีก่อน ๆ เพราะทั้งท่านสมณะ สิกขมาตุ ชาวชุมชน และนักเรียนสัมมาสิกขา กระจายกันออกนอกพื้นที่ เพื่อระดมจัดงานร่วมกับญาติธรรม และเครือข่าย ที่เคยผ่าน การอบรม จากทางเรา ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ แห่ง ดังนี้

๑. ร้านอาหารมังสวิรัติ นครราชสีมา (มรส.) แจกฟรี แจกวันที่ ๔ ธันวาคม
๒. ร.ร. บ้านหนองแวง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา แจกวันที่ ๔ ธันวาคม
๓. กลุ่มกสิกรรมวังม่วง อ.โนนสูง แจกวันที่ ๕ ธันวาคม
๔. บ้านคุณติ๋ม ศรีจันทร์ กลุ่มประทาย แจกวันที่ ๖ ธันวาคม
๕. ร.ร.ลำนางแก้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แจกวันที่ ๕ ธันวาคม
๖. อบต. หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา แจกวันที่ ๕ ธันวาคม
๗. บ้านคุณนาน้อม จริตรัมย์ จ.บุรีรัมย์ แจกวันที่ ๕ ธันวาคม
๘. บ้านคุณเอื้ออภัย และบ้านคุณยายเกิด อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา
๙. บ้านคุณเอื้ออภัย แจกที่โรงพยาบาลขามสะแกแสง ในวันที่ ๓ ธันวาคม
๑๐. คุ้มจนดี (คุณพร) แจกที่บ้านหนองแหน อ.เมือง จ.นครราชสีมา แจกวันที่ ๕ ธันวาคม
๑๑. แม่พร สติใหม่ บ้านสำโรง ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา แจกวันที่ ๕ ธันวาคม
๑๒. บ้านพ่อหรั่น เสกสรรค์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันที่ ๕ ธันวาคม

ในส่วนของชาวสีมาอโศกมีความคาดหวังและจะสานต่อการจัดงานโรงบุญ ๕ ธันวาฯ ให้เป็นประเพณีอย่างนี้ ให้มากขึ้น และดีขึ้น ตามนโยบายของพ่อท่านที่ว่า ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราจะทำ

สีมาอโศก

 

*** ปฐมอโศก
ปีนี้จัดโรงบุญฯ ประมาณ ๑๕ แห่ง สำหรับบรรยากาศโรงบุญบางแห่งมีดังนี้

อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
วันที่ ๑ ธ.ค.๔๖ ได้ไปบริการที่ ร.ร.วัดหนองกระสังสามัคคี อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นำโดยสมณะเด่นตะวัน นรวีโร และ สมณะ ๓ รูป มีนักเรียน สสฐ และผู้ใหญ่ประมาณ ๕๐ คนไปช่วยงาน มีชาวบ้านมารับบริการอาหาร ประมาณ ๒๐๐ คน บรรยากาศ อบอุ่น สนุกกันดี

ที่มะเซอย่อ จ.กาญจนบุรี
คุณคำหล้า แสงชาติ และชาวชุมชนปฐมอโศก ร่วมกันจัดโรงบุญที่ ร.ร. ต.ช.ด. แฮงเคลไทย มีอาหารมากมายหลายชนิด มีกลุ่มแม่บ้าน นำเครื่องดื่ม มาร่วมงานด้วย มีผู้มารับบริการประมาณ ๒๕๐ คน

นอกจากการบริการอาหารฟรีแล้ว นร.สัมมาสิกขาปฐมอโศก จำนวน ๑๖ คน ได้มาร่วมกิจกรรม พาเล่นเกมตอบปัญหา และนำ อุปกรณ์เครื่องเขียน และเสื้อผ้าไปมอบให้เด็กนักเรียนที่ยากจนด้วย

กาญจนบุรี

โรงบุญที่โรงงานคุณมณทิรา (บัวขวัญ) อ.สามพราน จ.นครปฐม
นักเรียน สสฐ. ชั้น ม.๑ จำนวน ๓๕ คน นำทีมโดย คุณฟ้าดาว นาวาบุญนิยม เดินทางไปจัดโรงบุญ ในวันที่ ๔ ธ.ค. เวลา ๑๐.๐๐-๑๕.๐๐ น.ร่วมกับนักเรียนชั้น ม.๔ อาชีวสิกขา ปฐมอโศก นิสิต ม.วช. และศิษย์เก่าฯ เพื่อบริการอาหาร แก่พนักงาน ของโรงงาน ๘ แห่ง ของคุณมณทิรา จำนวน ๑,๐๐๐ คน แต่บรรยากาศเงียบเหงา มีพนักงานในโรงงานที่อยู่ใกล้ มาเพียง ๓๐๐ คน เนื่องจากสถานที่ของโรงบุญ อยู่ในจุดที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางของพนักงาน ที่อยู่ไกลออกไป แต่พนักงานที่มา ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี

ก่อนกลับคุณมณทิราได้พา นร.สสฐ.เดินชมโรงงานผลิตรถจักรยาน และโรงงานทอผ้า ทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้ เรื่องขั้นตอน และได้เห็นความยากลำบากในการผลิต ทำให้เด็กๆเกิดจิตสำนึกว่า ต้องใช้สิ่งของอย่างประหยัด และคุ้มค่า

วันที่ ๕ ธ.ค. คุณฟ้าดาวและคณะ จำนวน ๕ คน ได้ทำอาหารไปบริการอีก แต่ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นอาหารขณะยังร้อนๆอยู่ มีการจัดร้านใหม่ ให้สะดวกขึ้น ปรากฏว่าอาหารที่นำมาบริการ หมดลงอย่างรวดเร็ว ภายใน ๒ ช.ม. ชื่นใจทั้งผู้ให้ และผู้รับ

*** โรงบุญ มรฐ.
นร.สสฐ. จำนวน ๓๕ คน หลังจากกลับจากช่วยงานโรงบุญที่โรงงานของคุณมณทิราเมื่อวันที่ ๔ ธ.ค.แล้วได้เดินทางมาที่ มรฐ. นครปฐม เพื่อจัดโรงบุญที่ มรฐ.นครปฐม ในวันที่ ๕ ธ.ค. โดยเริ่มบริการฟรีแก่ลูกค้าที่มารับประทานที่ร้าน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐ น. และอาหารถุง ขายในราคาถุงละ ๕ บาท ส่วนอาหาร พิเศษต่างๆ ยังคงขายในราคาเดิม ยิ่งสาย ลูกค้ายิ่งแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนเด็กๆ และผู้ใหญ่ชาวเรา ให้บริการลูกค้าไม่ทัน ปริมาณช้อนที่ให้บริการก็ไม่พอ คนแน่นตลอด จนถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.จึงได้ผ่อนคลาย แต่แม้งานจะหนัก และบางครั้ง ก็ต้องเจอกับผัสสะต่างๆ แต่พ่อให้แม่ให้ ได้เตรียมฝึกทำใจมาก่อนแล้ว จึงรับมือกันได้ด้วยดี เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.จึงได้ปิดร้าน

นครปฐม

*** ศาลีอโศก
โรงบุญฯของชุมชนศาลีอโศกปีนี้ได้ย้ายสถานที่จัดจากเดิมที่ใช้บริเวณเชิงสะพานปูน มาจัดโรงบุญฯ ที่บริเวณ ตลาดนัดไร้สารพิษ ใกล้ปั๊มน้ำมันบางจากศาลีอโศกแทน ซึ่งช่วงแรกมีผู้มารับบริการไม่มากนัก จนกระทั่ง ช่วงเวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๐๐ น. จึงมีผู้มาร่วมงานมากขึ้น ดูคึกคักและอบอุ่นไปด้วยมิตรภาพ ตอนแรกทีมงานฯ คาดว่าอาหารที่นำมาบริการจะเหลือ แต่พอถึงเวลาจริง อาหารที่เตรียมไปหมดทุกอย่าง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คิดว่าต่อไป ทางชุมชนก็คงจะใช้สถานที่นี้ จัดโรงบุญฯ ในปีต่อๆไป

โรงบุญฯแห่งที่ ๒ จัดที่บริเวณธนาคารกรุงไทย อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มี นร.สัมมาสิกขาศาลีอโศกและชาวชุมชน ประมาณ ๓๐ คน รวมทั้งญาติธรรม จากปฐมอโศกส่วนหนึ่งมาช่วยงาน

บรรยากาศของโรงบุญฯที่นี่ มีผู้มาร่วมรับประทานอาหารมากกว่าปีก่อนๆ จากหลากหลายฐานะ สร้างความศรัทธา ให้เกิดขึ้นแก่ แม่ค้า ที่ขายของบริเวณนั้น บางคนถึงกับนำของที่ขาย มาร่วมงานด้วย การบริการอาหารในปีนี้ ใช้เวลาประมาณ สามชั่วโมงเศษก็หมด

โรงบุญฯแห่งที่ ๓ จัดที่บ้านห้วยตะโก ต.วังน้ำลัด อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เช่นกัน โดยก่อนหน้างาน ๑ วัน ได้มีนักเรียน ร.ร. บ้านห้วยตะโก ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาชุมชนด้วย

ศาลีอโศก


*** ชมร.สาขาเชียงใหม่
ปีนี้จัดโรงบุญฯ ในวันที่ ๕ ธ.ค. โดยเปิดให้ลูกค้าบริการตนเองแบบบุฟเฟ่ต์เป็นปีแรก มีผู้มาร่วมงานมากกว่าปีที่ผ่านๆมา และได้นิมนต์สมณะ จากภูผาฟ้าน้ำมาบิณฑบาต โดยแบ่งออกเป็น ๒ สาย เนื่องจากมีสมณะมาร่วมงาน มากกว่าทุกปี เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม ของสมณะนวกะ ภูผาฟ้าน้ำ ซึ่งเพิ่งเสร็จจากการร่วมประชุมที่ลานนาอโศกเมื่อเย็นวันที่ ๔ ธ.ค.

สำหรับบรรยากาศของโรงบุญฯ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดียิ่ง มีการเปิดตลาดอาริยะ ขายของต่ำกว่าทุน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงของบรรดา นร.สัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกค้า ร่วมร้องเพลงบนเวที

เชียงใหม่

*** ชุมชนเมฆาอโศก จ.บุรีรัมย์
ปีนี้ชุมชนเมฆาอโศก ได้ร่วมกันจัดโรงบุญฯ ๔ แห่ง คือ
๑. บ้านสายตรี ๔ (ใต้) อ.บ้านกรวด
๒. บ้านหนองบอน อ.ประโคนชัย
๓. หมู่ที่ ๔ อ.ประโคนชัย
๔. บ้านสนวน อ.นางรอง

สำหรับที่บ้านสายตรี ๔(ใต้) ชาวชุมชนร่วมกันบริการอาหารฟรีที่ลานอเนกประสงค์กลางหมู่บ้าน ในวันที่ ๕ ธ.ค. ซึ่งชาวบ้าน ได้ร่วมกันพัฒนา ถนนสายหลักในหมู่บ้าน โดยอาหารที่นำมาบริการ ใช้พืชผักไร้สารพิษ จากชุมชนเมฆาอโศก

การแจกอาหารมังสวิรัติในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ และ อบต.เป็นอย่างดี ได้ให้บริการตั้งแต่ ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. อาหารก็หมด มีผู้มารับบริการ ประมาณ ๑๖๐ คน

ส่วนที่บ้านหนองบอน อ.ประโคนชัย จัดงานในวันที่ ๑ ธ.ค. ที่ ร.ร.บ้านหนองบอนวิทยา แจกเวลา ๑๒.๐๐-๑๕.๓๐ น. มีผู้มารับบริการทั้งสิ้น ๒๙๐ คน

*** กลุ่มชลบุรีอโศก
เป็นปีแรกที่จัดโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ ที่สนามหญ้า ข้างตลาดสด อ.บ่อทอง หลังจากที่ได้จัดโรงบุญฯ ที่สนามหญ้า หน้าทัณฑสถานหญิง (หน้าหอพระ) อ.เมืองชลบุรี ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๖ ปี (เหตุที่ย้ายเพราะที่เดิม ทางการได้จัด เป็นสวนหย่อม จึงไม่เหมาะแก่การจัดโรงบุญ ด้วยเกรงว่า จะเกิดความเสียหายแก่สวนหย่อม ประกอบกับสถานที่ส่วนกลาง ของกลุ่มชลบุรีอโศก อยู่ที่วนเกษตรชลบุรี ตั้งอยู่ที่ ถ.สุขาภิบาล ๑ อ.บ่อทอง ด้วย)

ผลการจัดโรงบุญปีนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้มารับบริการประมาณ ๕๐๐ คน ที่น่าประทับใจ คือ พวกเรายังคงรักษา ประเพณี ผู้ให้ไหว้ขอบคุณผู้รับ ไว้ได้ แม้บางช่วงจะไหว้ไม่ทันบ้าง เพราะผู้รับหนุนเนื่องเข้ามา จนหลายคนพูดอย่างแปลกใจว่า

แทนที่เขาจะต้องไหว้ขอบคุณพวกเรา แต่กลับได้รับการไหว้ขอบคุณเขา

มีหลายคนบอกว่า อยากไปหาและคบคุ้นกับหมู่กลุ่มเราที่วนเกษตรชลบุรี อ.บ่อทอง บ้าง ซึ่งชาวเราก็ตอบรับด้วยความยินดียิ่ง.

*** กลุ่มปากช่อง จ.นครราชสีมา
ปีนี้ได้เปลี่ยนมาจัดงานโรงบุญฯ แห่งใหม่ที่ ลานจอดรถ ตลาดกังวาฬวัฒนา หน้าร้านทวีพร ซึ่งเป็นเจตนาที่ได้ตั้งใจไว้ เมื่อปีที่แล้ว เพื่อจะได้มีบรรยากาศใหม่ๆบ้าง

การจัดโรงบุญฯที่ใหม่ครั้งนี้ ทางกลุ่มได้แจ้งให้ร้านค้าเพื่อนบ้านได้รับทราบด้วย ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุน เสนอตัวเข้าช่วย ด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง ซึ่งงานโรงบุญฯปีนี้ใหญ่ไม่แพ้งานโรงบุญฯ ที่เคยจัดหน้าธนาคารกรุงเทพ เมื่อหลายปีก่อน การเตรียมงาน จึงเป็นไปอย่างคึกคัก ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทางกลุ่มปากช่องได้มีแนวร่วม ในการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังได้นิมนต์พระคุณเจ้าจากวัดเขาวันชัยนวรัตน์ มารับบิณฑบาตจากร้านค้าเพื่อนบ้านในตลาด ซึ่งได้รับความ ร่วมมืออย่างดี

บรรยากาศการแจกอาหารดีมาก ได้เริ่มบริการตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. มีผู้มารับบริการไม่ขาดสาย จนกระทั่ง ประมาณเที่ยง อาหารก็หมด

สำหรับโรงบุญฯ อื่นๆ ท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้จากหนังสือสารอโศก.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


งานหนักแต่ก็รักที่จะเหนื่อย
สุขภาพดีที่ผามออีแดง

หลังกลับจากงานมหาปวารณา'๔๖ ที่ปฐมอโศกแล้ว ชาวศีรษะอโศกก็พากันลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าวกันอย่าง พร้อมเพรียง

๑๕ วันเต็มๆกับการลุยเกี่ยวข้าว นวดข้าวและทำบุญลอมข้าวก็เสร็จสิ้นลุล่วงผ่านไปด้วยดี ซึ่งกำลังสำคัญของเราก็คือ นร.สัมมาสิกขาศีรษะอโศก โดยมีพี่นิสิตเป็นแม่งานหลัก ส่วนผู้ใหญ่ของชุมชนนั้น มีภาระกับการอบรมเกษตรกร ในโครงการ พักชำระหนี้ ของ ธ.ก.ส.ในหลักสูตรสัจธรรมชีวิต

หลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้เห็นกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ ๓ อาชีพกู้ชาติ เหนื่อยนักพัก ให้สนุก หลังการเก็บเกี่ยว และนวดข้าว เลยพร้อมใจกันจัดงานวันบุญลอมข้าวในวันศุกร์ที่ ๒๘ พ.ย.ที่ผ่านมา บรรยากาศเป็นไป แบบสนุกสนานร่าเริง ทั้งชาวชุมชน คุรุและนักเรียน ได้ร่วมกิจกรรมบนเวทีกันอย่างสุขสดชื่น นอกจากนี้ยังมีพี่น้องจาก บ้านราชฯ ไปร่วมฉลองด้วย ทำให้บรรยากาศทั้งครึกครื้น และอบอุ่นจริงๆ

นอกจากนี้แล้วทีมงานสุขภาพ ซึ่งมีพยาบาลมืออาชีพอย่างคุณใจเกื้อ และนิสิตพลาภิบาลฟ้าฉาย รวมทั้งนักเรียน ม.ปลาย บางส่วนที่เรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ รับผิดชอบงานทางด้านสาธารณสุข หลังจากกลับจากการจัดค่าย ๗ อ. ที่ศูนย์ฝึกผู้นำ จ.กาญจนบุรีแล้ว ก็มาร่วมใจกันจัดค่าย ๗ อ.ให้กับชาวชุมชนและทีมงาน การอบรมด้วย เรียกได้ว่า งานนี้ได้รับความสนใจ กันอย่างล้นหลาม เวลา ๔ คืน ๕ วัน (๒๖-๓๐ พ.ย.๔๖) สำหรับผู้เข้าค่ายก็สุขภาพดีไม่ใช่น้อยเลย

พิเศษยิ่งกว่านั้นคือ ในคืนวันที่ ๒๙ พ.ย. ทีมงานสุขภาพและผู้เข้าค่าย ๗ อ. ได้เปลี่ยนสถานที่การทานข้าวมื้อเย็น และการพักผ่อน ในชุมชน ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่ชายแดนเขมร คือ ผามออีแดง เรียกว่า อ.ตัวที่สองผ่านฉลุย ทุกคนร้องรำ ทำเพลงกัน อย่างสนุกสนานสำราญใจ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่มาร่วมด้วยอย่างเป็นกันเอง แม้จะไม่มีกองไฟ แต่พวกเรา ก็พากันโต้ลมหนาว ได้อย่างอบอุ่นและปลอดภัย จึงขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

รุ่งอรุณของวันใหม่ คุรุฝนไท ชาวหินฟ้า ได้นำกล่าวปฏิญาณต่อหน้า พระอาทิตย์ ซึ่งค่อยๆโผล่จากยอดเขา ฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งทอแสงอย่างเจิดจ้าว่า

"พวกเราจะรักษาสุขภาพให้ดียิ่งๆขึ้น โดยจะพยายามไม่เห็นแก่กิน ไม่เห็นแก่กิเลสตัณหา(ของอร่อยๆ) เพื่อรักษาอายุให้ยืนยาว สืบต่องาน ของพ่อท่านให้ยืดต่อไปอีก ๕๐๐ ปี".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เพลิงไหม้สวนส่างฝัน เผาวอดหมดทั้ง ๓ หลัง
บทพิสูจน์ใจและพลังสามัคคี

ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่สวนส่างฝัน จ.อำนาจเจริญ ในบ่ายวันที่ ๒๕ พ.ย.๔๖ เนื่องจากการนึ่งก้อนเห็ดของลูกหลาน ญาติธรรม ซึ่งมาขอทำก้อนเห็ด ประมาณ ๑,๐๐๐ ก้อน เพื่อที่จะเป็นทุนให้แม่เปิดดอกขายในหน้าแล้ง หลังฤดูเก็บเกี่ยว ที่สวนส่างฝันมี โรงทำเห็ด และเตานึ่ง จึงมาขอสถานที่ เพื่อทำก้อนเห็ด ช่วงเที่ยงกำลังนึ่งชุดที่ ๒ ได้เร่งใส่ฟืนเพิ่มความร้อน ทันใดนั้น เปลวไฟได้แลบเลีย ออกนอกเตา เปลวสูงลามถึงชายคา ซึ่งเป็นหลังคามุงด้วยหญ้าคาทั้งหลัง ไฟติดเร็วมาก เนื่องจาก เป็นช่วงหน้าหนาว ลมแรงเวลากลางวัน ไฟยิ่งไหม้ลามได้เร็วขึ้น

ขณะนั้นสมาชิกชาวสวนทั้งหมดกำลังช่วยกันปลูกแตงโมที่แปลงนาท้ายสวน มองมาในสวนเห็นเปลวไฟสูงท่วม เหนือยอดไม้ ทุกคนตกใจ รีบวิ่งมาที่หน้าสวน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเห็ด ต่างคนต่างหยิบฉวยเครื่องมือที่คิดว่าจะช่วยดับไฟได้ วิ่งมาถึงที่ไฟไหม้ ปรากฏว่า เข้าใกล้ไม่ได้เลย ไฟโหมกระหน่ำ เนื่องจากลมช่วย ไฟจากโรงนึ่งเห็ดลามมาถึงโรงเปิดดอก ลามมาถึงโรงนอนชาย ที่ปลูกชิด ไม่ห่างกันนัก หลังคามุงด้วยหญ้าไฟไหม้หมดในเวลาไม่ถึง ๒๐ นาที เหลือแต่โครงเหล็ก และเสาปูน รถดับเพลิง มาถึงช่วงที่ไฟเบาบางลงแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรที่จะไหม้ต่อไป ชาวสวนส่างฝันต่างช่วยกันสาดน้ำ รักษาพื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ ไม่ให้ไฟขยายผลออกไป เพื่อนบ้านใกล้เคียง ก็มาช่วยกันหลายคน

เมื่อไฟสงบและมั่นใจว่าจะไม่ลุกลามขึ้นมาใหม่ พวกเราก็รวมตัวกันนั่งดูซากที่เหลือ บ้างก็น้ำตาไหล ด้วยความเสียดาย หลายคนก็วางใจได้ว่า เมื่อเราประมาท เหตุอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ต่างคนต่างทำใจ ดูจิตดูใจ ตัวเอง ไม่ให้ขาดทุน ไปมากกว่านี้

สมณะดินไท ธานิโย และคุณหมอเขียวที่กำลังเข้าคอร์สสุขภาพที่สีมาอโศก ได้เดินทางมาให้กำลังใจในวันต่อมา

เหตุไฟไหม้ครั้งนี้ ได้พิสูจน์ใจชาวสวนส่างฝันว่า ยังมีความสามัคคีที่เต็มเปี่ยม หลังเพลิงสงบ ปรับจิตปรับใจได้ ก็ลงมือ ปรับปรุงพื้นที่ เท่าที่จะทำได้ มีเวลาอีก ๑๕ วัน ก็จะอบรม สัจธรรมชีวิตจาก จ.กาฬสินธุ์ แต่ชาวสวนส่างฝันก็ไม่ขอ งดอบรม พร้อมทั้งพยายาม ปรับพื้นที่ให้ทันงานดังกล่าว ต่อไป อย่างไม่หยุดอยู่ในกุศลธรรม.


.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พ.๒๗ - พฤ.๒๘ พ.ย.๔๖ - ชุมชนปฐมอโศกจัดอบรมผสมผสาน "โยคะเพื่อสุขภาพ ๗ อ." จำนวน ๔๐ คน โดยครูแก้ว และ ครูกวี จากโครงการ เผยแพร่โยคะเพื่อสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

พฤ.๒๘ พ.ย. - ๒ ธ.ค. - ครูและนักเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ชั้นม.๑,๕,๖ เดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าว ที่บ้านผ.อ.วิเชียร บุญกล้า อ.สังขละ จ.สุรินทร์

ส.๒๙ พ.ย. - นักศึกษาคณะวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน ๖ คนมาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต และนักเรียนชั้น ม. ๑ โรงเรียน บ้านบางกะปิ จำนวน ๑๐ คนมาศึกษาดูฐานงานผลิตชุมชน (เป็นการเรียนแบบบูรณาการของวิชาสังคมศึกษา) ณ ชุมชนสันติอโศก กรุงเทพฯ

พ.๓ธ.ค.๔๖ - พ่อท่านทำวัตรเย็น "เอื้อไออุ่น" ณ สนามหญ้าบ้านดอกไม้ ซึ่งเป็นวันแรกของการเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำวัตรเช้า เป็นทำวัตรเย็นวันพุธ ของชุมชนสันติอโศก กรุงเทพฯ (สรุป ทำวัตรเช้า เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ / ทำวัตรเย็น - พุธ)

- นักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรม จ.ชลบุรี จำนวน ๘๐ คน มาดูงานการศึกษาของโรงเรียน สัมมาสิกขาปฐมอโศก จ.นครปฐม

พฤ.๔ ธ.ค.๔๖ - พ่อท่านไปร่วมงานเผาศพ น.ส.อาภาวดี พรหมพิทักษ์ (น้องสาวของคุณจุฬา ประธานชุมชนสันติอโศก) ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ

จ.๘ ธ.ค.๔๖ - นิสิตมวช.วิชชาเขตปฐมอโศกไปทัศนศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ วัดวาอารามสถานที่ สำคัญบริเวณรอบเมือง จ.อยุธยา นำโดยคุรุขวัญดี อัตวาวุฒิชัย

อ.๙ - ๑๑ ธ.ค.๔๖ - ชุมชนปฐมอโศกจัดอบรม "ค่ายพุทธเวช" ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย ธาตุโดยแบ่งเป็นผู้อบรมเป็น ๒ กลุ่ม คือ ผู้ใหญ่กับนักเรียน สัมมาสิกขาปฐมอโศก

อ.๙ - ๑๒ ธ.ค.๔๖ - ชุมชนสันติอโศกจัดอบรม"สร้างผู้นำ" รุ่นที่ ๒ จำนวน ๖๔ คน

พ.๑๐ ธ.ค.๔๖ - นักเรียนศรีปทุม จำนวน ๒๓ คนและนักเรียนประชาสงเคราะห์ จำนวน ๗๓ คน จ.อุบลราชธานี มาศึกษา ดูวิถีชีวิตชุมชนราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี

กิจกรรมงาน
๒๐ - ๒๒ ธ.ค.๔๖ - ค่าย มวช. (อุดรศึกษา อโศกสัมพันธ์) ที่ชุมชนราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี
๒๔ - ๒๘ ธ.ค.๔๖ - ค่าย ยอส. (ยุวชนอโศก สัมพันธ์) ที่ชุมชนราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี

คำคมคอร์สมหัศจรรย์
"สัมมาวาจา คือ พูดให้เขามีการพัฒนาเสมอ"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชื่อ นางชูศรี ภู่ระย้า
เกิด ปีจอ พ.ศ.๒๔๖๕ อายุ ๘๒ ปี
ภูมิลำเนา ชัยนาท
การศึกษา ป.๑ ไม่จบ
สถานภาพ ม่าย บุตร ๘ คน (เสียชีวิต ๔ คน)
ส่วนสูง ๑๖๓ ซ.ม.
น้ำหนัก ๕๐ กก.

คุณยายชูศรีเป็นญาติธรรมเก่าแก่ มาทำบุญที่สันติอโศกทุกวันอาทิตย์เป็นประจำ ขยัน ทำโน่นทำนี่อยู่เสมอ ไม่ชอบอยู่ว่าง เคร่งครัด ในการปฏิบัติธรรม ไปคุยกับคุณยายกันเลยนะคะ

*** พันธุ์ลูกดก
มีพี่น้อง ๙ คน ชาย ๑ คน หญิง ๘ คน ยายเป็นคนที่ ๒ เสียชีวิต ๕ คน พ่อแม่ทำนา เรียน ป.๑ ไม่จบ แต่อ่านออกเขียนได้ อายุ ๑๘ ปีแต่งงาน แยกครอบครัวมาอยู่กรุงเทพฯ พ่อบ้านเป็นบุรุษไปรษณีย์ ยายหาบเร่ขายขนม และอาหารอยู่ ๓ ปี จึงมีร้านขายประจำ มีลูก ๘ คน ชีวิตลำบาก ต่อสู้ดิ้นรน หาเงินส่งลูกเรียนหนังสือ ปี ๒๕๔๑ พ่อบ้านก็เสียชีวิต

ก่อนเจออโศกเคยไปสวนโมกข์ ได้หนังสือของท่านพุทธทาสมาอ่าน แม้จะไม่จบ ป.๑ แต่อ่านหนังสือธรรมะของท่านรู้เรื่อง เข้าใจได้ดี

*** ถึงรอบ
ลูกชายรู้จักสันติอโศกก่อน ยายไปเยี่ยมลูกชายที่หมู่บ้านปัฐวิกรณ์ เห็นสมณะมาบิณฑบาต ประทับใจ ในความสงบ สำรวมของท่าน ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าท่านฉันมังฯ ตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะแกงปลาสับนกใส่บาตร แต่ลูกชายบอกว่า ท่านไม่ฉัน เนื้อสัตว์ จึงไปที่วัด แล้วลูกพาไปสนทนากับท่านเสียงศีล เกิดศรัทธา และตั้งใจทานมังสวิรัติ ตั้งแต่นั้นจนถึงทุกวันนี้

ยายมาวัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์เป็นประจำ ช่วยพับถุง ทำดอกไม้จันทน์ ทำไส้เทียน และฯลฯ ที่สามารถทำได้ตามกำลัง กลับไปบ้าน ก็ฟังธรรมตลอด ฟังรายการจากวิทยุชุมชน งานพุทธาฯ และปลุกเสกฯ ก็ไปไม่เคยขาด

*** ศาสนาให้อะไรบ้าง
สอนให้รู้ว่าการปฏิบัติธรรมคือการ ทำงาน ชัดเจนกับคำว่ายิ่งให้ไปยิ่งได้มา ไม่หลงใหลในลาภ ยศ สรรเสริญ รู้จักปล่อยวาง รู้สึกศรัทธา ในสมณะชาวอโศก ที่พาทำ พาเป็นตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จนเกิดเห็นผลจริง และสามารถพิสูจน์ได้

*** ความหวัง
อยากมาอยู่วัดในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ยังทำไม่ได้ ใครคิดออกช่วยบอกยายด้วย

ยายมาวัดเป็นประจำทุกสัปดาห์ ยังสามารถเปลื้องทุกข์ได้ถึงเพียงนี้ แล้วถ้ามาอยู่วัดเลยคงมีความสุขมากกว่านี้ แต่อนิจจา! บางคนในชีวิตมาวัดเพียงครั้งเดียว... เมื่อเขาหามมา

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ ๑,๕๐๐ ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]