ฉบับที่ 228 ปักษ์แรก1-15 เมษายน 2547

[01] บทนำข่าวอโศก:ที่ประชุมน่าเบื่อเพราะใคร
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ (ตอนจบ)"
[03] สดจากปัจฉาสมณะ
[04] จับกระแส ตอ เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ
[05] กสิกรรมธรรมชาติ : อาหารที่ปลอดภัยที่สุดในโลก (ตอน ๓)
[06] สัมมนาคุรุชาวอโศกครั้งที่ ๑๔ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
[07] ปลุกเสกฯครั้งที่ ๒๘ ต่อวิถีพุทธ ปัจฉาฯพ่อท่านจัดวาไรตี้ยามบ่าย
[08] ศูนย์สุขภาพ:นวดลดไข้
[09] ครู จ.อุบลฯ ๑๕๖ โรงเรียนมาบ้านราชฯ ดูการศึกษาตามแนววิถีพุทธของ ร.ร.สสธ.
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] หมู่บ้านศีรษะอโศก เปิดร้านหนึ่งน้ำใจ
[12] พ่อท่านเทศน์ที่ราชภัฏอุบลฯ ออกวิทยุให้แนวทางการแก้ปัญหาสังคม
[13] จัดคอนเสิร์ตช่วย กวีอังคาร กัลยาณพงษ์ รักษาโรคหัวใจ
[14] สคช.แฉเศรษฐกิจดีแต่สังคมไทยเสื่อม คนแก่ถูกทิ้ง-หย่าเพียบ
[15] นางงามรายปักษ์ : นางมา เบื้องสุวรรณ
[16] ปฏิทินงานอโศก


ที่ประชุมน่าเบื่อเพราะใคร

เหตุใดการประชุมบางกลุ่มจึงวุ่นวาย ไม่อบอุ่น และน่าเบื่อ

เรื่องนี้ในฐานะนักปฏิบัติธรรม ตอบฟันธงได้เลยว่า คนที่ประชุมในกลุ่มนั้นๆ ไม่มุ่งหมายที่จะปฏิบัติธรรมขณะกำลังประชุม

แต่มุ่งหมายเอาชนะคะคานผู้อื่นด้วยเหตุผล ไม่มุ่งหมายเอาเหตุผลเพื่อชนะกิเลสตัวเอง สู่มรรคผลตามแนวสัมมาอาริยมรรค มีองค์ ๘

ไม่เชื่อก็ลองสังเกตดูบรรยากาศในที่ประชุมได้เลย ว่าเป็นดังว่านี้หรือไม่

โดยเฉพาะตัวเราเองนั่นแหละ!.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ
(ตอนจบ)

ชุมชนที่เข้มแข็ง มีคุณลักษณะ ๑๔ ประการ คือ
๑. เป็นสังคมที่เห็นชัดถึงลักษณะของคนมีศีล มีคุณธรรม มีอาริยธรรม
๒. เป็นสังคมที่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น
๓. มีงานที่เป็นสัมมาอาชีพ มีกิจกรรมที่เป็นสาระ ที่มั่นคง
๔. ขยัน สร้างสรร ขวนขวาย กระตือรือร้น
๕. อยู่กันอย่างผาสุก สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบานร่าเริง
๖. ไม่ฟุ้งเฟ้อแต่รุ่งเรือง ฟุ้งเฟื่อง ไม่ผลาญพร่า สุรุ่ยสุร่าย
๗. มีความประณีตประหยัด แต่เอื้อเฟื้อ สะพัดแจกจ่าย
๘. ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีอบายมุข ไม่มีทุจริตกรรม
๙. มีความพร้อมเพรียง สามัคคี อบอุ่น มีเอกภาพ
๑๐. สัมผัสได้ในความเป็นปึกแผ่น แน่นหนา ของความเป็นกลุ่มก้อน ภราดรภาพ
๑๑. มีความแข็งแรงมั่นคง ยืนหยัดยั่งยืน
๑๒. เป็นสังคมที่สร้าง ทุนทางสังคม มีประโยชน์คุณค่าต่อผู้อื่นและสังคมทั่วไปในรอบกว้าง
๑๓. อุดมสมบูรณ์แต่ไม่สะสม หรือ กอบโกยกักตุน
๑๔. มีน้ำใจไม่เอาเปรียบ เสียสละอย่างเป็นสุข และเห็นเป็นคุณค่าของคนตามสัจธรรม

ถ้าชุมชนใดมีคุณสมบัติตาม ๑๔ ข้อข้างต้น จะเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ความอุดมสมบูรณ์ไม่อยู่ที่การสะสมกักตุน แต่คือการมีกินมีใช้ทุกวัน กินใช้อย่างมีวินัยไม่ฟุ้งเฟ้อทิ้งขว้าง สิ่งที่เป็นปัจจัยของชีวิตจะเพียงพอ ศาสนาพุทธ สอนให้เรียนรู้กิเลส และล้างกิเลสให้หมดไป จะทำให้จิตวิญญาณสะอาดอ่อนโยน เป็นศาสนาสังคม อยู่กันอย่างอบอุ่น ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบ สังคมใดมีคนมีศีลธรรม อาริยธรรม จะไม่เห็นแก่ตัว กินน้อย ใช้น้อย สร้างสรร พอกินพอใช้จนเหลือให้คนอื่นได้พึ่ง ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เป็นสภาพสังคมที่พึ่งตนเองได้

สังคมที่อุดมสมบูรณ์จึงไม่จำเป็นต้องรวย เป็นคนจนที่จนอย่างมีประโยชน์คุณค่า มีสมรรถนะ ขยัน หมั่นเพียร จนอย่างเสียสละ แจกจ่าย เกื้อกูล มีความสุข มั่นใจในทรัพย์ คือ ความขยันและสมรรถนะ เป็นคนที่แปลกน่ามหัศจรรย์ เป็นบุญญาภินิหาร เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธจึงเป็นศาสตร์ที่มีอยู่ในศาสนา และเป็นเศรษฐศาสตร์อย่างสมบูรณ์.

(เก็บตกจากการแสดงธรรม ของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ มี.ค.๔๕ ณ สังฆสถานทักษิณอโศก)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สดจากปัจฉาสมณะ - สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

ไปงานปลุกเสกฯ "ได้" อะไร?

คำถามสามัญที่ถามกันเป็นประจำ เมื่อกลับจากไปร่วมงานประจำปีของชาวอโศก หรืองานอื่นใดที่พวกเราไปร่วมกันมากๆ เหมือนเป็นการสรุปบทเรียนร่วมกัน หรือถ้าพูดตามสำนวนราชการก็คือการประเมินผล ถ้าใช้สำนวนภาษาของพระพุทธเจ้าก็คือ การใช้เตวิชโช การระลึกย้อนทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่ามีอะไรดี อะไรไม่ดี ซึ่งก็คือบุพเพนิวา สานุสติญาณนั่นเอง

มีเสียงเปรยว่างานปีนี้คนมาน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบได้ และเสียงเปรยผ่านๆนั้นได้บอกถึงเหตุว่า ที่คนมาน้อยอาจเป็นเพราะรายการภาคบ่าย ไม่มีการฟังเทศน์อย่างที่เคยเป็น เนื่องจากมีการแบ่งกลุ่มสัมมนาย่อย หรือไปฝึกเรียนรู้และทำ ตามฐานงานต่างๆที่แต่ละคนสนใจ ฟังแล้วเหมือนกับผู้นี้ต้องการฟังเทศน์มาก หรืออยากได้สาระ จากการฟังเทศน์เท่านั้น รายการอื่นๆดูไม่น่าสนใจอะไร ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เป็นจริตอีกแบบหนึ่ง ท่ามกลางจริตอื่นๆ ที่หลากหลาย แน่นอน ว่าผู้ที่ไม่ได้คิดอย่างนั้นก็ย่อมมี และน่าจะมากกว่าด้วย เพราะจำนวนผู้ที่ไม่มา เปรียบเทียบกับผู้ที่มา ผู้ที่มายังมากกว่าที่หายไป

โดยจริงแล้วสาระที่เข้มข้นสุด ต้อง ยกให้การแสดงธรรมทำวัตรเช้าของพ่อท่าน แทนที่ผู้หายไปไม่มางานจะคิดเป็นเหตุว่า เพราะได้ฟังธรรมภาคบ่ายน้อยลง ที่น้อยลงก็คือประมาณสามรายการ กลับน่าจะคิดเสียดาย ที่ตนไม่ได้มาฟังพ่อท่าน เลยสักรายการเดียว ดังนั้นเหตุผลที่ไม่มาร่วมงานเพราะฟังธรรมภาคบ่ายน้อยลง จึงไม่น่าจะใช่

ชาวอโศกไม่น้อยที่คิดว่า เพียงแค่ได้ฟังธรรมพ่อท่านก็คุ้มมากแล้วกับการมาร่วมงาน อื่นๆถือเป็นของแถม

ผู้ไม่มาร่วมงานบางคนอาจคิดว่า แม้ไม่ได้มางานก็หาเอาเทปพ่อท่านมาฟังก็ได้ ซึ่งการคิดอย่างนี้ เป็นการมองประโยชน์ ด้านเดียว เพราะกิจกรรมอื่นก็มีส่วนให้เราได้พัฒนาขึ้น ทั้งรูปและนาม การไม่มาร่วมงานจึงเท่ากับตัด หรือลดโอกาส ที่ตนเองจะได้ประโยชน์แท้ๆ

ปีนี้อากาศก็ร้อน ฝนก็ตกเปียกแฉะ ผู้มาร่วมงานจึงได้ฝึกสร้างขันติบารมี ฝึกความลำบาก จะอยู่จะกินจะนอน ไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน น้ำใช้ก็ไหลช้า ที่เรียนๆ ฟังๆมา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เมื่อต้องเจอกับ สภาพการณ์จริง ไม่ใช่คิดเอา แล้ว จิตใจของเราเป็นอย่างไร? เบาสบายหรือเป็นทุกข์กังวล ลดละเสียสละได้หรือยังเห็นแก่ตัวอยู่ในเรื่องใด

การประชุมองค์กรต่างๆที่พ่อท่านต้องร่วมประชุมด้วย ครั้งนี้มากกว่างานพุทธาภิเษกฯที่เพิ่งผ่านมา (ทั้งประชุมคุรุอโศก ประชุมเตรียมงานเพื่อฟ้าดิน ประชุมสุขภาพบุญนิยม ประชุมกลุ่มร้อยเอ็ดอโศก ประชุมพลังพัฒนาแผ่นดิน ประชุมวิทยุชุมชน ประชุมเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ (คกร.) ประชุมพาณิชย์ บุญนิยม ประชุมเตรียมงานคืนสู่เหย้า ประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน ประชุมองค์กร บุญนิยม) ทั้งๆที่มีความพยายามจะลดแล้ว

พ่อท่านให้โอวาทในการประชุมกับคุรุอโศก มีประเด็นที่น่าถ่ายทอดสู่วงกว้างคือ อโศกยังเล็กยังน้อยเพราะ หนึ่งสังคมทุนนิยม จะดูถูกว่าพวกเราต่ำต้อย ไม่หรูหรา ไม่มีโลกีย์อย่างที่คนส่วนใหญ่นิยม สองชาวอโศกทำเข้มจัดเกินไป สามผู้ที่เห็นดีเข้าใจ แต่เอาเข้าจริงๆ เขาก็ไม่กล้าทำอย่างที่พวกเราทำหรอก ดังนั้น อโศกจึงยังเป็นส่วนที่เล็กที่น้อยในสังคม

สิ่งนี้บอกให้รู้ว่า หนึ่งเรายังต้องเจียมเนื้อเจียมตัวต่อไป สองแม้ชาวอโศกที่ยังอยู่ภายนอก จะเข้ามาช่วยงาน ภายในส่วนกลาง ได้ทั้งหมด (ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว) ชาวอโศกก็ยังเล็กยังน้อยอยู่ สามแม้จะมีผู้เข้าใจและเห็นดี ยอมรับชาวอโศกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็อย่าได้รอหรือหวังอะไรจากสังคมภายนอกว่า เขาจะมาทำมาเป็นอย่างเรา จึงเป็นเรื่องที่ชาวอโศกต้องทำกันเอง ต่อไป และต่อไปๆๆๆ

การเทศน์เปิดร้านหนึ่งน้ำใจ (๒เม.ย.) คือร้านค้าของศีรษะอโศก พ่อท่านให้สัญญาณว่า ยิ่งกระแสความยอมรับ ของสังคม ต่อชาวอโศก มากขึ้น แต่อัตราเจริญของพวกเรา ทั้งมวลปริมาณ คุณภาพ คุณธรรม และสมรรถนะ ยังเป็นไปได้น้อย ดังนั้น จึงไม่ควรอ้าขาผวาปีก ออกไปภายนอกมาก แต่ควรหันมาปัดกวาดบ้าน หรือเร่งพัฒนาภายในของเราเองให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการให้สัญญาณเตือนนี้ ในช่วงงาน พ่อท่านยังคงกล่าวแวะถึงอีก หลายต่อหลายครั้ง แถมมีภาษาสำนวนอีสาน มาใช้ให้พวกเรา ได้ขำๆผ่อนคลายด้วย เมื่อมีการพูดถึงการรับงานนอกมาก แล้วถ้าเราทำไม่ได้มันเป็นเรื่องน่าอาย พ่อท่านว่า ไม่ใช่อาย เท่านั้น แต่เราจะตาย แปแรดแป้ด หรือ สำนวนภาคกลางว่า แบนตะแล็ดแต๊ดแต๋

การประชุมพาณิชย์บุญนิยม "เราจำต้องเกี่ยวข้องกับการค้า แต่เราก็ทำอย่างบุญนิยม การมาร่วมกันทำ ร่วมกันประชุม โดยมีสมณะ เป็นประธาน จะได้ช่วยเหลือกัน ช่วยลดกิเลส..." คือโอวาทบางส่วนที่พ่อท่านให้ ประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ การป้องกันอาบัติให้ภิกษุ งดการขายสินค้ากับภิกษุ เพื่อท่านจะได้ไม่อาบัติ เว้นแต่ ท่านจะมีฆราวาสมาด้วย มีข้อยกเว้น กรณีพระจีนนิกาย หรือพระมหายาน เพราะเขาไม่มีวินัย ไม่มีธรรมเนียมประเพณีอย่างพระไทย เราก็คงต้องอนุโลม กับกรณีพระจีน

เรื่องต่อมาพ่อท่านอยากให้พวกเรารณณรงค์ปลูกงาให้มากขึ้น เพราะพวกเรากำลังหีบน้ำมันงามาใช้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ตลาดงา ราคาสูงมาก เพราะส่งออก ได้มาก ทั้งญี่ปุ่นและไต้หวันต้องการมาก ส่วนใหญ่น้ำมันงา พวกเราซื้อมาจาก แม่ฮ่องสอน ซึ่งเขาผสมน้ำ เพื่อให้การหีบง่ายขึ้น แต่ของเขาเก็บไว้ได้แค่ปีเดียว ถ้าพวกเราหีบกันเอง จะได้น้ำมันงา ๑๐๐ % จะเก็บได้นานกว่า

เรื่องถุงพลาสติก มีการเสนออยากให้ทุกร้านค้าของชาวอโศก รณรงค์ไม่ใช้ ถุงพลาสติก

พ่อท่านเห็นว่า พลาสติกเป็นพิษกับดินน้ำ เผาก็เป็นพิษ แต่เราก็คงลดได้ยาก เพราะพลาสติกอย่างไรๆเขาก็ทำมา ไม่มีวันหมด ไปจากโลกแน่ จึงไม่ควรเข้มงวดจนกลายเป็นโง่ เราควรเลือกใช้กับของที่เป็นของแห้งได้ อย่าเอาไปใช้กับของร้อน สินค้าบางอย่าง ถ้าเราเอากระดาษห่อ มันก็เสียของได้

มีผู้เสนอให้ร้านค้าของชาวอโศกทุกแห่ง งดขายสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปที่เป็นซองๆ เพราะสารเคมีเยอะ คุณค่าอาหารน้อย ถือเป็นสินค้า มอมเมาอันตราย แต่พ่อท่านยังไม่ได้ตัดสินกำหนดเป็นนโยบาย ให้แต่ละร้านค้าไปตกลงกันเอง

การประชุมวิทยุชุมชนนั้น ได้มีการจัดตั้งเป็นชมรมวิทยุชุมชนบุญนิยมกันในงานนี้ด้วย

งานนี้มีข้อมูล ที่เป็นตัวเลข คร่าวๆดังนี้

จำนวนผู้มาลงทะเบียน ๒,๐๘๕ คน ผู้ที่มาร่วมงานเฉลี่ยวันละ ๑,๗๔๕ คน เฉลี่ยเป็นค่าอาหารต่อคนต่อวัน ๑๖ บาท

การใช้น้ำแต่ละวัน ๒๕๐,๐๐๐ ลบ.ซม.

ถั่วเหลืองที่ใช้ทำเต้าหู้ ๗ วันประมาณ ๖๕๐ กก. ถั่วพันธุ์ต่างๆที่ใช้ ๕๐๐ กก. เห็ดฟางประมาณ ๒๕๐ กก. งาป่น ที่ใช้ตลอดงาน ๒๑๐ กก.

ใช้ข้าวสารเฉลี่ยวันละ ๑๗๕ กก. ตลอดงาน ๑,๒๒๕ กก. หรือ ๑ ตัน ๒๒๕ กก. ส่วนข้อมูลอื่นๆขอข้ามผ่าน เรื่องการใช้น้ำนั้น ผู้เขียน คำนวณไม่ถูกว่า จะมากมายขนาดไหน แค่ดูจากตัวเลขก็รู้สึกว่า มากอย่างไม่เคยคิดมาก่อน เชื่อว่าหลายท่าน ก็ไม่ได้คิด

ชีวิตแต่ละชีวิตใช้ทรัพยากรของโลก มโหฬารยิ่ง ถ้าคิดเป็นตัวเลขทุกอย่างหมด จะได้ตัวเลขที่มหาศาล น่าตกใจมาก ถามว่า แล้วเราทำอะไร ให้กับโลกใบนี้บ้าง ตอบได้เลยส่วนใหญ่มีแต่ "ใช้" ไม่เคย "สร้าง"เลย มีบ้างที่ "สร้าง"แต่ก็ยัง "ใช้"มากกว่า จะมีสักกี่คนที่ "สร้าง" มากกว่า "ใช้"

ได้ฟังชาวสันติอโศกสรุปการไปร่วมงานปลุกเสกฯ มีผู้ตั้งใจไม่อาบน้ำ รวม ถึงการลดละเรื่องอื่นๆ เพื่อการละล้าง อุปาทาน ฟังแล้วรู้สึกอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ได้คิดว่าน่าจะเพิ่มประเด็นสรุปการไปร่วมงานปลุกเสกฯ จากแค่เรา "ได้" อะไร เพิ่ม เรา "ให้" อะไรเข้าไปด้วยก็จะสมบูรณ์ดี

งาน"เพื่อฟ้าดิน" ปีนี้ยิ่งใหญ่มาก ด้วยจะมีบุคคลภายนอกไปร่วมงานด้วยมาก แล้วเราจะไป "ให้" อะไรกันดี.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ


ฆ่าตัดตอนกันซะได้

พนักงาน... (ยืนมองภาพน่าชื่นใจ นานๆจะได้เห็นซะที)
ณ แผงหนังสือมุมหนึ่งในร้าน เด็กชายอายุประมาณ ๑๑ ปี ตัวอ้วนกลมยืนอ่านหนังสือเล่มโตอย่างขะมักเขม้น รอคุณแม่เดินซื้อสินค้าในร้าน นั่น...คุณแม่เดินมาแล้ว หอบสินค้าใส่ตะกร้าเต็มๆมาตั้ง ๒ ใบ
แม่.. เร็วลูก แม่ซื้อของเสร็จแล้ว ไปจ่ายเงินกันเถอะ
ลูกชาย... แม่ครับ ซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย
แม่... เอาอีกแล้ว ที่บ้านมีอยู่ตั้งหลายเล่ม จะซื้อไปทำไมอีก
ลูกชาย... สนุกมาก ที่บ้านไม่มีเรื่องนี้
แม่... ไม่เอา ไม่เอา เปลืองสตังค์จัง ลูกคนนี้
ลูกชาย... ผมอยากอ่าน โธ่...(วางหนังสืออย่างเสียดาย)
พนักงานเดินไปหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาดู "ท่องนรก" ถ้าเด็กชายคนนั้นได้อ่านหนังสือต่อจนจบ บางทีสังคมอาจได้พบเห็นเด็กดี ที่กลัวบาปกรรม ไม่กล้าทำบาปทำชั่ว เพิ่มอีก ๑ คน ก็ได้นะ จริงไหม

ความกล้าหาญทางจริยธรรม
พนักงาน ๑... มีลูกค้าเดินกินน้ำในร้านเรา ๒ คน
พนักงาน ๒...ไปบอกเขาเลย ตามกฎระเบียบ ห้ามลูกค้ากินน้ำในร้าน
พนักงาน ๑... รู้สึกว่าเขาจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ กำลังซื้อสินค้ามากมายและแต่งตัวภูมิฐานมาก ท่าทางก็ดูเป็นผู้ใหญ่ ไม่กล้า ไม่กล้า
พนักงาน ๒ : (เดินไปดู) เออ! จริงแฮะ ชักปอด(แหก) แต่ไม่ได้ต้องจัดการ (รักษากฎระเบียบ) ยืดอก สูดลมหายใจ เต็มปอด เดินเข้าไปอย่างองอาจ ไหว้อย่างนอบน้อม
พนักงาน ๒... ขอโทษนะคะ ร้านเรามีระเบียบ ไม่อนุญาตให้กินน้ำในร้านค่ะ
ลูกค้า... เหรอครับ ผมไม่ยักทราบ เพราะ เพิ่งมาเป็นลูกค้าวันแรก เฮ้ย!...(ตะโกนบอกเพื่อนที่มาด้วย) เขาไม่ให้กินน้ำในร้าน ทิ้งซะๆ
พนักงาน... ไม่เป็นไรค่ะ เชิญดื่มให้หมดก่อนก็ได้ เรามีถังขยะวางอยู่ด้านหน้า ขอบคุณที่ให้ความร่วมมือค่ะ
ลูกค้า... ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร

หน้าแตกเป็นเสี่ยงก็คราวนี้แหละ
ณ ห้องบัญชี
ลูกค้า... ขอโทษครับ สมุนไพรไล่แมลงสาบ บนชั้นไม่เห็นมีครับ
พนักงาน ๑... รู้สึกว่าจะไม่มีนะคะ
ลูกค้า... ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมเดินหาอีกที
พนักงาน ๑... เอ!ร้านเราขายสมุนไพรไล่แมลงสาป หรือเปล่านะ
พนักงาน ๒... ไม่มี เราไม่เคยขาย
พนักงาน ๑... อ้าว-เหรอ ถ้างั้นต้องไปบอกลูกค้าก่อน
พนักงาน ๑... ขอโทษนะคะ ร้านเราไม่มีสมุนไพร ไล่แมลงสาบขายค่ะ
ลูกค้า... อ๋อ! ผมได้แล้วครับ นี้ไง อยู่ตรงชั้นเดิม แต่ผมมองไม่เห็นเอง
พนักงาน ๑... เออ!...เออ! ค่ะค่ะ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปฏิวัติประเทศไทยด้วยเกษตรอินทรีย์
"อาหารที่ปลอดภัยที่สุดในโลก"(ตอน ๓)
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

กิจพงศ์ ภัทรธุรานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเดน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งบุกเบิกร้านขายสินค้าเกษตรอินทรีย์กว่า ๑๕ สาขาทั่วประเทศ นานกว่า ๗ ปี และคือหนึ่งในภาคีความร่วมมือชาวบ้าน บอกว่าปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิที่นี่ ได้วางขาย แล้วที่อิตาลี ด้วยคุณภาพ ทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอิตาลี เขียนรายงานชื่นชมการผลิต ที่เป็นระบบเกษตรยิ่งยืน และบริษัท ริโซสกอร์ตี้ จากอิตาลี ก็ตกลงที่จะวางขายข้าวอินทรีย์นี้ ให้ทั่วยุโรปด้วย

"หนังสือรับรองล่าสุดของบีซีเอส จะมีข้าวจากที่นี่อีก ๕ ตู้คอนเทนเนอร์ส่งเข้าไปขายที่เยอรมันได้" กิจพงศ์ กล่าว

เขาบอกด้วยว่า การที่พื้นที่ใดได้รับการรับรอง ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อรับรองได้แล้ว ก็ควรจะเพิ่มมูลค่าด้านอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น การปลูก ผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพและการ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งสิ่งที่ต้องไม่ลืม ก็คือ เกษตรอินทรีย์ คืออาหารที่ปลอดภัย ที่สุดในโลก และไม่มีมาตรการการกีดกันทางการค้าใดๆ จะมาขัดขวางได้

ไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะไร้ขวากหนาม มนัส วงษ์จันทร์ ฝ่ายปฏิบัติการ สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) ซึ่งเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง บอกว่า ตอนที่กลุ่มเกษตรกร ทดลองส่งออกข้าวไปไต้หวันเอง ก็ไม่ทันเล่ห์ พ่อค้าที่ให้ไปส่งมอบข้าว ที่ท่าเรือไต้หวัน ทำให้ถูกหัก สารพัดข้ออ้าง จนทุนก็แทบจะไม่เหลือ ถือเป็นการซื้อบทเรียน ราคาแพงเพื่ออนาคต

ความสำเร็จข้างต้น ทำให้แผนงานในปี ๒๕๔๗ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน อ.วังค้อ จึงตัดสินใจร่วมลงทุนสร้าง โรงสีข้าวชุมชนขนาด ๔๐ เกวียนต่อวัน ด้วยเงินลงทุนถึง ๕.๑ ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาในปีที่ผ่านมา ลดต้นทุน ที่ต้องไปจ้างโรงสีอื่นสี และยังได้ผลพลอยได้คือ แกลบและรำ ซึ่งนำไปเลี้ยงสัตว์ และทำปุ๋ยชีวภาพ ได้ และได้วางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ ๒ มี.ค.ที่ผ่านมา.


(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นสพ. คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๘ มี.ค.๔๗ โดย พันธ์ศักดิ์ ภักดีฉนวน)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัมมนาคุรุชาวอโศกครั้งที่ ๑๔
ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

เมื่อวันที่ ๑ เม.ย. ๔๗ สมณะ-สิกขมาตุ และตัวแทนคุรุจากโรงเรียนสัมมาสิกขา ร่วมสัมมนาคุรุชาวอโศก ครั้งที่ ๑๔ ในหัวข้อ "การศึกษาบุญนิยม" ที่พุทธสถานศีรษะอโศก นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของ คุรุชาวอโศก ที่การสัมมนาที่กระชับ แม่นประเด็น เห็นชอบด้วยกัน และใช้เวลาเพียง ๗ ช.ม. ๓๐ นาทีเท่านั้น มีผู้เข้าร่วมสัมมนา สมณะ ๑๕ รูป สิกขมาตุ ๓ รูป ตัวแทนคุรุ แต่ละโรงเรียน ๔๐ คน โดยแบ่งการสัมมนาออกเป็น ๔ วาระ เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา ๐๔.๐๐-๐๙.๐๐ และ ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

วาระที่ ๑ สรุปการทำ work shop ของงานพุทธาฯและงานปลุกเสกฯ ปรากฏว่า ทุกท่านเห็นดีด้วยกับการเรียนการสอนแบบนี้ เพราะเป็นการ บูรณาการการศึกษา ที่ให้ชุมชน มีส่วนร่วมในการศึกษา โดยเฉพาะเจ้าของฐานงาน ก่อนที่จะให้เด็กทำงาน ก็ต้องมีการให้การศึกษา กับเด็กก่อน และหลังเสร็จงานก็มีการสรุปประเมินผลทุกครั้ง ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า เราไม่ได้ใช้แรงงาน เด็กเฉยๆ แต่การทำงาน ก็เป็นการศึกษา อย่างหนึ่งด้วย

วาระที่ ๒ เปิดโอกาสให้แต่ละ ร.ร. นำเสนอโครงร่างหลักสูตรที่ได้ทำมา มีคุรุตำนานบุญ จาก ร.ร. สัมมาสิกขาปฐมอโศก ได้บรรยาย อย่างเป็นลำดับ ขั้นตอน การ บูรณาการทางการศึกษาของหน่วยงานศูนย์เจาะวิจัยฯว่าได้เริ่มทำตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๒ และมีการเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข จนถึงขณะนี้ได้ทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ศูนย์เจาะวิจัย มี ๖ สาระการเรียนรู้ ทำให้ที่ประชุม ได้เรียนรู้ และเป็นการบูรณาการ การศึกษาในหน่วยงาน อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

คุรุขวัญดิน จากสัมมาสิกขาศีรษะอโศก ได้รายงานการบูรณาการการศึกษาของฐานงาน ปุ๋ย เพื่อแก้ปัญหาชุมชน และแก้ปัญหาเด็ก ที่ไม่อยากเข้าฐาน เป้าหมายให้เด็กมีความสุขในการทำปุ๋ยและชุมชนมีปุ๋ยพอใช้ และในการบูรณาการ ทางการศึกษา ของศีรษะ เน้น เอาฐานงาน เป็นหลัก กระตุ้นให้คุรุฐานงานเป็นผู้สอน โดยให้คุรุวิชาการเสนอแนะและให้แนวการสอน เทคนิคในการประเมินน้อยไว้ก่อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อๆไป

วาระที่ ๓ ร่วมกันระดมสมองทำโครงร่างหลักสูตร หน่วยการเรียนรู้งานพุทธาฯ ต่อ โดยร่วมกันกำหนดสาระ การเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ ที่คาดหวังจนเสร็จ แล้วต่อด้วยการ บูรณาการของนร.ชั้นม.๒ หน่วยการเรียนรู้งานปลุกเสกฯ และหน่วยการเรียนรู้ งานอโศกรำลึก ของนร.ชั้นม.๕ ส่วนมาตรฐาน การเรียนรู้ให้เทียบกับของกระทรวง คำอธิบายรายวิชา และแผนการสอนให้ ร.ร. ในพื้นที่กำหนด เอาเอง ปรากฏว่าใช้เวลาในการทำประมาณ ๒ ช.ม. จึงแล้วเสร็จ

วาระที่ ๔ เรื่องอื่น พูดถึงเกณฑ์ในการประเมินทุก ร.ร.ประเมินเป็นเกรด ยกเว้น ราชธานีฯในช่วงชั้นที่ ๑-๓ ประเมิน เป็นคะแนน สำหรับ ช่วงชั้นที่ ๔ ประเมินเป็นเกรด ตามที่กระทรวงกำหนด แต่ก็ทำความตกลงร่วมกันได้ว่า เวลา นร.ย้าย ร.ร.ก็นำเอกสาร มาตรฐานการเรียนรู้ ของเด็กไปด้วย ว่าเรียนถึงมาตรฐานไหน เพื่อร.ร.ที่รับจะได้สอนต่อได้

ที่ประชุมตกลงให้เด็กขอเปลี่ยนชื่อกับพ่อท่าน หรือสมณะมหาเถระได้ เมื่ออยู่ชั้น ม.๒ เพื่อให้เด็กชัดเจนในตัวเอง และมั่นใจ ที่จะเรียนใน ร.ร.สัมมาสิกขา จะได้ไม่ต้องเสียเวลา มาเปลี่ยนชื่อใหม่อีก หรือต้องออกไปก่อน

การสัมมนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ได้โครงร่างหลักสูตรงานพุทธาฯ งานปลุกเสกฯ งานอโศกรำลึก เป็นแนวทาง ให้คุรุแต่ละท่าน นำไปเป็นแบบอย่าง ในการทำโครงร่างหลักสูตร ในหน่วยการเรียนรู้อื่นๆต่อไป โดยเน้นสาระ การเรียนรู้ เป็นไปเพื่อพัฒนา หน่วยงานของตนเอง ชุมชนและประเทศชาติ

วันที่ ๒ เม.ย. ๒๕๔๗ เวลา ๑๖.๑๐-๑๘.๑๕ พ่อท่านให้โอวาทคณะคุรุที่เข้าร่วมสัมมนาและเปิดโอกาส ให้ซักถามปัญหา

คุรุที่ร่วมสัมมนาให้สัมภาษณ์ความรู้สึก ดังนี้

คุรุถึงดิน วิฆเนศ สัมมาสิกขาราชธานีอโศก "การสัมมนาครั้งนี้ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง ปกติจะสัมมนาใช้เวลา ๔-๕ วัน แล้วกลับมา เหมือนเดิม ไม่สามารถ นำไปใช้ได้ แล้วก็ได้หนังสือไป ๑ เล่มกับข้อถกเถียงมากมาย แต่ครั้งนี้ บรรยากาศดี อบอุ่น คุรุแต่ละคน รอฟังว่า แต่ละคน จะให้แนวความคิด อะไรออกมา พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้สึกที่ดีต่อกัน ไม่ใช่เอาคุรุเป็นศูนย์กลาง แต่เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ว่าเราจะให้อะไร พัฒนาการอะไรกับเด็ก แล้วมาเรียนรู้ร่วมกัน จุดยืนก็อยู่บนทิศทางเดียวกัน ไม่ได้ยืนอยู่บนอัตตาของตัวเอง เป็นจุดเริ่มที่ดี ทำให้บรรยากาศ ของการสัมมนายิ้มแย้มแจ่มใส ใช้เวลาไม่กี่ ช.ม. และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมาย การสัมมนาครั้งนี้ ร่วมกันว่า เราจะทำหลักสูตรการศึกษา ทุกคนก็ไม่เหนื่อย ไม่เครียด ทำให้การศึกษาของเราเป็นไปได้ด้วยดี และมีพลัง มีเป้าหมายเดียวกัน"

คุรุใจกลั่น นาวาบุญนิยม สัมมาสิกขาปฐมอโศก "เป็นการสัมมนาที่อบอุ่น เป็นกันเอง บรรยากาศไม่เครียด สบายๆ อาจจะเป็นเพราะว่า เรามีประสบการณ์ กันมาเยอะ สามารถเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว การสัมมนาเราเน้นในเรื่องของหลักสูตร ว่าแต่ละแห่ง เอาไปทำแล้ว มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วควรจะทำอะไรต่อไปบ้าง สัมมาสิกขาแต่ละแห่ง เข้าใจในเรื่องของการบูรณาการมากขึ้น ปัญหาของเด็ก คือยังติดยึด กับห้องเรียน แต่ที่ราชธานีฯกับศีรษะฯ สัมผัสได้เลยว่า เด็กเข้าใจการบูรณาการ หลักสูตรของเรา ทำแล้วมาเขียน จึงง่าย แต่ถ้า เขียนแล้วไปทำ จะยาก

ปฐมอโศกจะบูรณาการตั้งแต่ ม.๔ ในงานมหาปวารณา โดยจะดูตัวอย่างของแต่ละที่ ไปเป็นแบบอย่าง แต่ในฐานงานนั้น บูรณาการมาแล้ว"..

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปลุกเสกฯครั้งที่ ๒๘ ต่อวิถีพุทธ
ปัจฉาฯพ่อท่านจัดวาไรตี้ยามบ่าย
ผวจ.ศรีสะเกษให้เกียรติมาเปิดงาน

ประชุมสมณะมหาเถระ ก่อนงาน
มีการบริการตรวจสุขภาพ
สัมมาสิกขา ม.๒ เข้าชั้นเรียนวิชาปลุกเสกฯ

งานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๒๘ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก ต.กระแซง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ ๔ - ๑๐ เม.ย. ๒๕๔๗

มีสมณะ ๔๖ รูป สิกขมาตุ ๑๗ รูป ร่วมเป็นเกจิอาจารย์ปลุกเสกด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ชี้แนวทางวิถีพุทธสู่โลกุตระ

สำหรับรายการธรรมะในแต่ละวันมีดังนี้
ทำวัตรเช้า
เริ่มเวลา ๐๓.๓๐-๐๕.๓๐ น. พ่อท่านแสดงธรรมหัวข้อเรื่อง "วิถีพุทธ" ประกอบหนังสือวิถีพุทธ ต่อจากงานพุทธาฯ จนจบสมบูรณ์ ขอส่งข่าว ด้วยความปรารถนาดีว่า เพื่อความเจริญในธรรมของตัวท่านเอง อย่าลืมติดตามหา เท็ปไปฟังซ้ำอีกหลายๆรอบ

 

ธรรมะก่อนฉัน
เริ่มเวลา ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. สมณะ-สิกขมาตุเกจิอาจารย์ ขึ้นแสดงธรรมหมุนเวียนระหว่างวันที่ ๔ - ๑๐ เม.ย. ยกเว้นวันที่ ๗ เม.ย. ปาฐกถาธรรม โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เรื่อง "ไม่ทำบุญทำทานแล้วจะทำอะไร?"

ธรรมะภาคบ่าย
เริ่มเวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. ๔ เม.ย. ปฐมนิเทศ เรื่อง "ปลุกเสกอย่างไรให้สุขภาพกาย-ใจแข็งแรง" ประกอบด้วย น.พ.วีรพงศ์ ชัยภัค, น.พ.ไฟเพชร (หมอก้อง), ท.ญ.ฟ้ารัก ทิพยธรรม และนักกายภาพบำบัด คุณเพ็ญพร วิเชียรทอง ดำเนินรายการโดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร

๕ เม.ย. สัมมนากลุ่มย่อย ตามความสนใจ ๑๐ ฐานเลือก คือ
๑.สนทนาธรรมกับสมณะ-สิกขมาตุเกจิฯ
๒.ธรรมะกระดานดำ ๓ จุด
๓.เดินจงกรม-นั่งสมาธิ
๔.โยคะและกายบริหารบำบัด
๕.ปุ๋ยสูตรต่อยอด
๖.การเผาถ่าน เพื่อกลั่นเอาน้ำส้มไม้
๗.เชื้อทำเต้าเจี้ยว-ซีอิ๊ว, ปลาร้าเจสูตรสุดยอด
๘.การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (๗ อ.)
๙.อาหารปรับธาตุ
๑๐.การประชุมสุขภาพบุญนิยม, การประชุมร้านมังสวิรัติของชาวอโศก

 

๖ เม.ย. แสดงธรรม เรื่อง "วาไรตี้ยามบ่าย" โดยสมณะบินบน ถิรจิตโต และสมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ในครั้งนี้ สมณะแน่วแน่ ได้นำอิริยาบถต่างๆของพ่อท่านและเรื่องราวที่ได้บันทึกไว้ ฉายประกอบการแสดงธรรม และให้ผู้ที่ปรากฏในภาพ ที่บันทึกไว้ อธิบาย ขยายความ ในเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพ่อท่าน ทำให้ได้รับความรู้เรื่องราว การทำงานศาสนา ของพ่อท่านมากยิ่งขึ้น ที่ประสานกับองค์กร - กลุ่มบุคคลต่างๆ โดยมีสมณะบินบน ถิรจิตโต พูดคุย-ซักถามและให้ข้อคิด เป็นรายการ น่าสนใจมากทีเดียว

๗ เม.ย. สัมมนากลุ่มย่อยเหมือนวันที่ ๕ และประชุมเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ
๘ เม.ย. พ่อท่านตอบปัญหา ในหัวข้อ "ตอบให้พ้นโลกีย์สู่วิถีพุทธ"
๙ เม.ย. สัมมนากลุ่มย่อยเหมือนวันที่ ๕ และประชุมพรรคเพื่อฟ้าดินและองค์กรบุญนิยม

ธรรมะภาคค่ำ
เริ่มเวลา ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. เป็นรายการสัมภาษณ์ปฏิบัติกรในเรื่องต่างๆ

๔ เม.ย. "ผู้นำจากสัจธรรมชีวิต" ดำเนินรายการโดย สมณะกล้าจริง ตถภาโว
๕ เม.ย. "ฝันให้ไกล ไปให้เขียว" ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร
๖ เม.ย. "ตลาดบุญญาวุธหมายเลข ๓" ดำเนินรายการโดย สมณะฟ้าไท สมชาติโก
๗ เม.ย. "จนไม่กลัว กลัวไม่จน" ดำเนินรายการโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต
๘ เม.ย. "ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ" ดำเนินรายการโดย สมณะเสียงศีล ชาตวโร
๙ เม.ย. "๒ นาทีทอง ของเกจิฯ" ดำเนินรายการโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต

บรรยากาศทั่วไปของงาน
ก่อนเริ่มงาน ระหว่างวันที่ ๒๘ มี.ค.- ๑ เม.ย. ๒๕๔๗ นร.สัมมาสิกขาชั้น ม.๒ จำนวน ๑๐ แห่ง จากปฐมฯ สันติฯ ศีรษะฯ ศาลีฯ สีมาฯ ราชธานีฯ ภูผาฯ หินผาฯ ดินหนองฯ เลไลย์ฯ เข้าห้องเรียนบูรณาการการเตรียมงานปลุกเสกฯ คุรุที่นำนร. มาเตรียมงาน ได้อธิบายว่า "การนำ นร.ชั้น ม.๒ มาบูรณาการช่วยเตรียมงานปลุกเสกฯ เป็นการก้าวไปสู่ การเรียนของ การศึกษาไทย ซึ่งทำได้ยาก ในปัจจุบัน ทำโลกของการเรียนรู้ ของนักเรียนให้กว้างขึ้น โดยรูปแบบ การเรียนการสอน ไม่จำกัด อยู่ในห้องแคบๆ เมื่อมาเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการยกระดับ มาตรฐานการเรียน ของเด็กชาวอโศก ให้แข็งแรง ก้าวหน้า ทัดเทียมกัน หรือมีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้เขารู้สึกว่า การเรียนกับชีวิตจริง เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่แยกส่วน เหมือนปัจจุบัน การเรียน แบบบูรณาการ ทำให้เขาคิดออก ว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร ในชีวิตประจำวัน หรือในสังคม เขาได้เรียนรู้ วิชาการ ที่นำไปใช้ ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต เพราะชีวิตไม่ได้แยกส่วน แต่เป็นองค์รวม ที่อี.คิว. ไอ.คิว. และมนุษยสัมพันธ์ พัฒนาไปพร้อมๆกัน"

วันที่ ๑ เม.ย. เป็นการสัมมนาคุรุของชาวอโศกครั้งที่ ๑๘
วันที่ ๒ เม.ย. ร่วมฉลองเปิดร้านหนึ่งน้ำใจของศีรษะอโศก
วันที่ ๓ เม.ย. ในภาคเช้าประชุมมหาเถระครั้งที่ ๓ และที่เฮือนน้ำดื่ม น.พ.สมนึก ศิริพานทอง หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์ แผนพหุลักษณ์ ร.พ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี บรรยายเรื่อง "การดูแลสุขภาพ" ให้กับทีม สุขภาพบุญนิยม และผู้สนใจทั่วไป ในภาคบ่ายตรวจร่างกายสมณะมหาเถระ โดยมีทีมสุขภาพบุญนิยม เรียนรู้ศึกษาไปด้วย

หลังทำวัตรเช้า ๐๖.๐๐-๐๘.๓๐ น. แม้ตามตารางงานจะลดการประชุมลงเพื่อให้พวกเราเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง แต่เนื่องจาก เรามีองค์กร มากมาย และงานที่จำเป็นที่ต้องประชุม ปรึกษาหารือร่วมกัน ก็ยังคงมีการประชุมต่างๆ เช่น ประชุม เตรียมงาน เพื่อฟ้าดิน, ประชุมสุขภาพบุญนิยม, ประชุมต.อ.ชุมชน, ประชุมพาณิชย์บุญนิยม, ประชุมวิทยุชุมชน

ปีนี้อากาศค่อนข้างอบอ้าว เทวดาจึงโปรยปรายความชุ่มฉ่ำมาให้ ๒ วันในภาคบ่ายของวันที่ ๗ และ ๘ เม.ย. เพื่อช่วยให้พวกเรา ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมจะได้เจริญยิ่งขึ้น

โครงการศูนย์พลาภิบาล ยังคงดำเนินต่อไป ยอดเงินที่บริจาคและให้ยืม ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ท่านใดที่ประสงค์ จะร่วมบุญ สามารถติดต่อ ไปที่ปฐมอโศก ได้ตลอดเวลา

๑๐ เม.ย. วันสุดท้ายของงาน หลังทำวัตรเช้าช่วยกันเก็บบุญด้วยการช่วยกันเก็บงาน ช่วงก่อนฉัน ตัวแทน ม.วช. กล่าวสรุปงาน และกล่าวขอบคุณทุกท่าน ที่มาช่วยงานและมาร่วมงาน สมณะเดินดินฝากว่า อีก ๒ ปีที่พ่อท่านจะมีอายุครบ ๗๒ ปี และ ครบอายุขัยนั้น เรามาช่วยกัน ผนึกกำลัง ประสานภายใน สร้างความสามัคคี เร่งทำชุมชน-ศูนย์อบรมของเรา ให้สมบูรณ์ และดีที่สุด ทำโครงสร้างของเรา ให้แน่นลึกซึ้ง กับจิตวิญญาณ สู่แนวลึกแบบบุญนิยม อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว อ่อนน้อม ถ่อมตน แต่หากเรามัวขยายกว้าง หลงไปกับการงาน ภายนอกชุมชน พร้อมกับอัตตาที่ใหญ่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ภายในของเรา แตกกระสานซ่านเซ็น โดยเฉพาะตัวเราเอง อาจหลุดร่วง ออกจากชาวอโศก ไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้

นอกจากมีพี่สัมมาสิกขา ม.๒ มาร่วมกิจกรรมบูรณาการ ในงานปลกุเสกฯแล้วยังมี นร.สัมมาสิกขาราชธานีอโศก ระดับชั้น ประถม ปีที่ ๑ -๖ (กลุ่มสมุนพระราม) บูรณาการเรียนในงานพุทธาฯด้วย โดยร่วมกิจกรรมฟังธรรม ในช่วงเทศน์ก่อนฉัน และ ธรรมะภาคค่ำ รายการละ ๑ ช.ม. และร่วมกิจกรรมกับพี่ๆ สัมมาสิกขา ขายอาหารสำหรับญาติธรรม ตักบาตรในตอนเช้า และร่วมลงฐานทำงาน ในช่วงบ่าย สำหรับช่วงบ่าย รายการตอบปัญหา โดยพ่อท่าน กลุ่มสมุนพระราม ก็ได้ร่วมถามปัญหาด้วย

สำหรับการบูรณาการการศึกษาในการเตรียมงานปลุกเสกฯ สมณะฟ้าไท สมชาติโก ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา ได้อธิบายว่า "เป็นการจัด work shop หน่วยการศึกษาเรียนรู้งานปลุกเสก ของนร.ชั้น ม.๒ ว่ามีสาระที่ควรเรียนรู้อะไรบ้าง มีกิจกรรม งานอะไรบ้าง ที่ได้เรียนกัน

ต่อไปนี้งานสำคัญของชาวอโศก ก็จะเป็นหน่วยการเรียนรู้ของนร.สัมมาสิกขาทุกแห่ง เช่นงาน พ.ฟ.ด.ที่บ้านราชฯ ในเดือน พ.ค. เป็นหน่วย การเรียนรู้ ของนร.ชั้น ม.๕ และยังมีงานอโศกรำลึก งานมหาปวารณา งานฉลองหนาวฯ ก็เป็นหน่วยการเรียนรู้ของ นร.ชั้นต่างๆ เช่นเดียวกัน"

สำหรับผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

นางทอธรรม เจนชัย อายุ ๔๙ ปี ภูผาฟ้าน้ำ เชียงใหม่ "เป็นครั้งแรกที่ได้มาช่วยเตรียมงาน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มี.ค. บรรยากาศ เป็นกันเอง ประทับใจ ที่ได้กราบ พระบรมสารีริกธาตุ ได้ฟังธรรมะจากพ่อท่าน สมณะ-สิกขมาตุ และร่วมเป็นลูกมือทำอาหารเพื่อสุขภาพ"

คุณสุรางรัตน์ กีรติกรพิสุทธิ์ อายุ ๔๘ ปี จ. ตรัง "เป็นร่วมงานเป็นครั้งที่ ๒ การมีฐานงานให้เลือก ทำให้ ไม่น่าเบื่อ ไม่หนักเกินไป ได้สาระมากๆ อาหารก็ดีค่ะ"

คุณแน่นในดิน เบ้าทอง อายุ ๓๐ ปี สวนส่างฝัน จ.อำนาจเจริญ "มาครั้งแรก ได้รับความรู้เพิ่มมากมาย จะพยายามเพิ่มอธิศีล ให้มากขึ้น ประทับใจ ความเป็นพี่เป็นน้อง ของชาวอโศก และประทับรายการ ๒ นาทีทองของเกจิฯ"

คุณวาริน ขอศีลกลาง อายุ ๖๐ ปี สันติอโศก "มาร่วมงานเป็นครั้งที่ ๒๔ เข้าใจธรรมะมากขึ้น จิตใจสบายขึ้น อาหารรสชาติดี แต่ข้าว ค่อนข้างจะดิบ เกือบทุกวัน"

น.ส.รัตนาวดี แสงประสิทธิ์ อายุ ๑๕ ปี ม.๒ สัมมาสิกขาสีมาอโศก "ได้มาเรียนบูรณาการกับการเตรียมงานปลุกเสกฯ ดีมากค่ะ ทำให้รู้จัก เพื่อนมากขึ้น สนุก ประทับใจทุกคนที่มาฝึกตน และอยู่จนวันสุดท้าย หนูทำงาน ลวกผัก เพื่อนๆช่วยกันดี การประชุมภาคบ่าย และรายการภาคค่ำ ได้ประโยชน์มากค่ะ"

นายตำนานเพชร สัมละคร มว.ช.ปี ๓ ศีรษะอโศก "ผมบอกได้เลยว่ามว.ช.ทุกคนทุ่มด้วยใจ และแรงกายทุกหยาดเหงื่อ ปีนี้เตรียมงาน ไม่ทัน หลายๆอย่าง แบ่งแรงงานไปที่ร้านหนึ่งน้ำใจ สัมมาสิกขาของศีรษะ ก็ลดน้อยลงเหลือเพียง ๘๐-๙๐ คน ความหวังจึงอยู่ที่น้อง ม.๒ ที่มาช่วย ล่วงหน้า ๑ อาทิตย์ ขอบคุณน้องๆ ม.๒ ทุกพุทธสถานและญาติธรรมทุกท่านครับ"

นายจิตกร หน่อแก้ว ม.๖ ศีรษะอโศก "เหนื่อย จริงๆครับ แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในงานของการเข็น กงล้อศาสนา ได้ฝึกตัวเอง ทุกๆด้าน แม่ครัวและคนมาไม่เหมือนกัน เลยได้หัดปรับใจ หัดยอม หัดเป็นผู้ตาม บริหารน้องๆ เลยรู้สึกว่า แป๊บเดียว ๗ วัน ขอบคุณทุกท่าน ที่ทำให้ผมได้ฝึกในจุดนี้ครับ"

สมณะหนักแน่น ขันติพโล ๘ พรรษา "แม้รูปแบบของงานจะเปลี่ยนไปบ้าง เพราะงานเรามีมากขึ้น แต่ก็ลงตัวดี ทำให้คน เลือกได้ หลากหลาย เป็นเหตุให้คนเข้ามาฟังธรรมะจากพ่อท่านมากขึ้น ตั้งใจฟังมากขึ้นและเข้าใจมากขึ้น เพราะเขาได้การงาน และฟังธรรม ที่เป็นปรมัตถ์ มากขึ้น สำหรับอาตมาปีนี้ได้ประโยชน์จากการฟังธรรม ง่วงน้อยมาก ไม่เมื่อย เปลี้ย เพลีย เหมือนครั้ง ที่ผ่านมา มาร่วมงานเป็น ครั้งที่ ๑๖".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


นวดลดไข้

อยากจะขอเล่าอีกประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่องานฉลองหนาวฯบนภูผาฟ้าน้ำปีนี้ หลังจาก ฉลองหนาวเสร็จ ก็ต่อด้วยค่าย ๗ อ. ผู้เขียน ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน บรรยากาศคึกคัก แต่ละคนกระตือรือร้น ระปรี้กระเปร่า

วันแรกช่วงเช้ามีการสอนโยคะ จากครูฝึกโยคะมืออาชีพจากกรุงเทพฯ คุณครูเป็นคนเก่ง สุขภาพดี รูปร่างสมส่วน จิตใจ ดีงาม ท่าโยคะ ของคุณครู เป็นท่าที่ค่อนข้างยาก พวกเราที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายทำตามได้ยาก เรียกว่าคงต้องฝึกกันอีกนาน ผู้เขียนเอง ก็พยายามฝึก อย่างเต็มที่ จนรู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งเนื้อทั้งตัว ไม่ทราบเพราะเหตุใดตอนบ่ายๆไข้ขึ้น หน้าแดง ตัวร้อนไปหมด รู้สึกต้องป่วยแน่ๆเราคราวนี้ พยายามรักษา แบบธรรมชาติ ด้วยการดื่มน้ำมากๆ แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นๆ แต่รู้สึก อาการจะไม่ดีขึ้น คุณวงศ์ศีลทราบข่าวก็เลยอาสาจะนวด จับเส้นแบบ ยืดเส้นยืดสาย เพื่อให้ไข้ลด เพราะคุณวงศ์ศีล มีประสบการณ์ ในการนวดลดไข้มาหลายราย ผู้เขียนเอง ก็รู้สึกไม่อยากขัด น้ำใจที่หวังดี ก็เลยยอมให้นวด ทั้งๆที่ก็ปวด ไปทั้งเนื้อ ทั้งตัว ไม่อยากให้ใครจับเลย แต่คุณวงศ์ศีล ก็พยายามใช้ความนุ่มนวล และเบามือที่สุด ซึ่งก็พอทนได้ พอนวดไป ไม่ถึง ๑๐ นาที ความรู้สึกตื้อๆ หนักๆ บริเวณต้นคอและศีรษะ มันคลาย รู้สึกโปร่ง โล่ง เลือดลม เดินพลุ่งพล่าน แถมมี การนวดกระตุ้น บริเวณต่อมน้ำเหลือง เพื่อให้ทหารของเราออกรบ มาต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บด้วย

หลังจากนวดเสร็จภายใน ๕ นาที เหงื่อเริ่มซึม ไข้ลดลงอย่างปลิดทิ้ง เนื้อตัวเบาโปร่งโล่งอย่างไม่น่าเชื่อเลย ดีกว่ากินยาแก้ไข้ ไม่รู้กี่เท่า ผู้เขียน แปลกใจมาก จนอดไม่ได้ที่พอลงจากภูผาฯ จึงหาหนังสือเกี่ยวกับการนวดมาอ่าน ยังแปลกใจ ที่ในหนังสือ บอกว่า เวลามีไข้ ห้ามนวด แต่ผลของการนวดคือ ทำให้การไหลเวียนของเลือดสะดวก กล้ามเนื้อคลาย คิดว่าของเสียที่ อาจคั่งค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ ที่ทำให้ปวดเมื่อย หรือมีไข้ คงถูกระบายออกได้ จึงทำให้รู้สึกสบายและผ่อนคลาย แถมมีการกระตุ้น ให้ทหารของร่างกาย ออกรบด้วย การนวด ก็น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้ ในคนที่ออกกำลังกายไม่ได้

ผู้เขียนคิดว่า การนวดคงลดไข้ได้จริงในบางกรณี บางกรณีอาจเป็นข้อห้าม และคงขึ้นอยู่กับวิธีการนวดด้วย ว่านวดอย่างไร คงต้องศึกษา กันต่อไป ถึงอย่างไรผู้เขียนขอขอบคุณ คุณวงศ์ศีล ที่มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้เขียนในวันนั้น วันนี้คงต้องขอจบ อย่างสั้นๆว่า "ธรรมย่อมรักษา ผู้ประพฤติธรรม".

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ครู จ.อุบลฯ ๑๕๖ โรงเรียนมาบ้านราชฯ ดูการศึกษาตามแนววิถีพุทธของ ร.ร.สสธ.

เมื่อวันที่ ๒๖ มี.ค. ๒๕๔๗ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑ นำ ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียน วิถีพุทธจำนวน ๓๒๐ คน จาก ๑๕๖ โรงเรียน ใน ๕ อำเภอ ของจังหวัดอุบลฯ คือ อำเภอเมือง, อ.ดอนมดแดง, อ.เขื่องใน, อ.เหล่าเสือโก๊ก และ อ.ม่วง สามสิบ ปฐมนิเทศที่โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก

การปฐมนิเทศจัดขึ้นที่ชั้น ๒ เฮือน ศูนย์สูญ นายอังกูล สมคะเนย์ หัวหน้ากลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล การจัดการศึกษา กล่าวรายงาน ถึงความเป็นมา ของโครงการว่า โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก เป็นโรงเรียนวิถีพุทธนำร่อง เพียงแห่งเดียว ในจังหวัดอุบลราชธานี จากโรงเรียนวิถีพุทธ ๘๙ โรงเรียนทั่วประเทศ ในปี ๒๕๔๖ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดรับสมัครโรงเรียนวิถีพุทธ ขึ้นอีก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อุบลฯ เขต ๑ มีโรงเรียนสมัครเข้าโครงการ จำนวน ๑๕๖ โรงเรียน เพื่อให้สามารถดำเนินงาน ตามแนวทาง โรงเรียนวิถีพุทธได้ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้นำมาดูการดำเนินงานที่นี่

หลังจากนั้นนายวิชัย แสงสี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑ เป็นประธาน กล่าวเปิดการอบรม

เสร็จแล้วแบ่งเป็น ๖ กลุ่ม เพื่อหมุนเวียนศึกษาเรียนรู้ ๖ ฐานงาน คือ ๑.สื่อสารการศึกษา ๒.นิทรรศการการเรียนการสอน โรงเรียนวิถีพุทธ ๓.ปุ๋ยชีวภาพ ๔.บ้านสุขภาพ ๕.จุลินทรีย์ ๖.วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต-สมุนไพร และชมปลา ใช้เวลาฐานละ ๑๕ นาที

ก่อนรับประทานอาหาร นร.สมุนพระรามแสดงรีวิวเพชฌฆาตผู้ลอยนวล ขณะรับประทานอาหารฉายซีดีเรื่อง "ชีวิตที่ หันหลัง ให้กับทุนนิยม" ของมาร์ติน วีลเลอร์

ภาคบ่ายฟังบรรยายพุทธปรัชญา โดยอาจารย์ประหยัด กองศรีมา พักรับประทานอาหารว่าง ฟังแนวทางการดำเนินงาน โรงเรียน วิถีพุทธ โดยสมณะฟ้าไท สมชาติโก ที่ปรึกษา ร.ร.วิถีพุทธสัมมาสิกขาราชธานีอโศก โดยนำเสนอ Power Point การศึกษาบุญนิยม ของโรงเรียน วิถีพุทธ ซีดีการศึกษาระดับประถมฯ (สมุนพระราม) และมัธยมฯ หลังจากนั้น นร.ชั้น ม.๕ จำนวน ๓ คน ขึ้นบอกเล่าชีวิต ก่อนจะมาเรียนที่นี่ และ ๕ ปีกับการศึกษาที่นี่ ว่ามีความสุขอย่างไร ในช่วงท้าย เปิดโอกาสให้ซักถาม

ผู้บริหารและครูที่มาในวันนี้ได้รับการต้อนรับอย่าง ร.ร.วิถีพุทธ อย่างเรียบง่าย จัดให้นั่งพื้นบนเสื่อ ท่ามกลางบรรยากาศ ธรรมชาติ ลมพัด เย็นสบาย เป็นช่วงๆ ท่องบทพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน ล้างถาดอาหาร -แก้วน้ำ ด้วยตนเอง ซึ่งคณะครูที่มา ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส

สำหรับศึกษานิเทศก์ผู้จัดโครงการในครั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

อาจารย์วิฑูรย์ นาสาลี ศึกษานิเทศก์ หัวหน้าโครงการฯ "ดีใจที่ได้มาสัมผัส ก่อน จะเริ่มงานวันนี้ ผมมาล่วงหน้าก่อน ๓ วัน โดยไม่มีใคร รู้จักผม ไปดูครบทุกฐาน ได้เห็นกิจกรรมที่ดีมากๆเลย รู้สึกชื่นชมยินดี ที่มีตัวอย่างที่ดีในสังคมเรา เป็นแหล่ง หล่อหลอม เยาวชนของชาติ เพื่อที่จะสร้างชาติ ในอนาคต อยากเห็นสถานศึกษาทุกแห่ง เป็นอย่างนี้ อยากให้มีอย่างนี้ ยังไงเราก็ คงต้องมาขอ ความอนุเคราะห์ท่าน ในอีกหลายๆครั้ง

จริงๆเราวางแผนกันว่า จะปฐมนิเทศกันที่ห้องแอร์ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พูดให้ฟังหรือให้หนังสืออ่านอย่างเดียว จะไม่เห็นประจักษ์ ไม่เห็นของจริง จะมองภาพไม่ออก เราก็เลยลงมติกันว่า น่าจะมาที่สถานที่ ที่เป็นที่ปฏิบัติจริง เห็นจริง และก็ได้รับคำแนะนำมาว่า ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ดีที่หนึ่ง ผมก็เข้ามาศึกษาด้วยตัวเองก่อนว่าจริงมั้ย ใช่ของจริงมั้ย เมื่อวานผมเดินตากแดดดู แต่ละฐานทำอะไร เหมาะไหม ดูแล้วก็เห็น โอ...เมื่อคืนนอนตาหลับเลย ไม่กังวลในเรื่องวันนี้ ทุกคนกังวลว่า ผู้บริหาร ครูอาจารย์จะเหนื่อย แล้วจะรับไม่ได้ จริงๆแล้วผมว่า ผู้บริหารและครูบาอาจารย์ เราเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดี มาเห็นวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ภูมิใจ ดีใจนะครับ ที่เราได้แหล่ง เรียนรู้ที่ดี

โรงเรียนวิถีพุทธเป็นภารกิจที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว คิดว่าเราน่าจะต้องสร้างเครือข่ายมากยิ่งขึ้นนะครับ เป็นสัมมาสิกขา ราชธานีอโศก ๒, ๓ ไปอย่างนี้ เพื่อให้มีตัวอย่างที่ดี ให้เราได้เหนื่อยน้อยลงอีก เพื่อเราจะได้สร้างบุคลากร ในส่วนอื่นด้วย ก็อยากให้ขยายเครือข่ายมากๆ"

อาจารย์ไพบูลย์ เพิ่มพูน ศึกษานิเทศก์"อุปสรรคของโรงเรียนวิถีพุทธ คืออยู่ที่ ตัวครูส่วนหนึ่ง ครูยังไปตามกระแสโลก จึงเป็นเรื่องยาก บุคคลิก ส่วนตัวของครู และ ผู้บริหารจึงสำคัญมากในการสร้างเด็ก

ที่นี่ทำได้เพราะสิ่งแวดล้อมดี ครูทุกคน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน มีบุคลิกที่น่าเลื่อมใส ข้างนอกเด็กไม่รู้จะฟังใคร เชื่อใครดี เพราะครูคนหนึ่ง บอกอย่างนี้ แต่อีกคนหนึ่ง บอกอีกอย่างหนึ่ง หรือโรงเรียนสอนอย่างนี้ แต่กลับไปบ้าน พ่อให้ลูกไปซื้อเหล้า บางครั้ง สังคมก็ทำให้เด็ก เกิดความขัดแย้ง สับสน เป็นสังคมบริโภคนิยม ที่เอาประโยชน์จากคนมากขึ้น เราเป็นเหมือนเขื่อน ที่พยายามกักน้ำ ไว้ให้นานที่สุด แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ กลัวว่าจะหมดแรงเสียก่อน

โครงการนี้ผู้อำนวยการท่านสนับสนุนอนุมัติเงิน และทางราชธานีฯ ก็คิดราคาอาหารในราคามิตรภาพ แล้วยังให้หนังสืออีก ดีมากๆ เลยครับ เราเองก็เกรงใจ ไม่อยากรบกวน ไม่อยากให้เดือดร้อน คือชาวอโศกให้มาก ให้ชุมชน ให้ชาวบ้าน ของราคาแพงๆ ก็ขายบาทเดียว ไม่ธรรมดา ผมไม่เคยมาร่วมงาน แต่ผมติดตามข่าวอยู่เสมอ หนังสืออโศกที่วางขาย ผมก็ติดตามซื้ออ่านเป็นประจำ คำพูดของชาวอโศก ไม่มีที่ทิ้ง มีแต่ประโยชน์ หนังสือของชาวอโศกก็เหมือนกัน คนที่ขาดกำลังใจ ก็จะมีกำลังใจ ถ้าคนหลงทาง ก็จะได้สติ"

อาจารย์ปรีชา ทาศิริ ศึกษานิเทศ "จริงๆแล้วเป็นความตั้งใจของคณะเรา ส่งเสริมสื่อนวัตกรรม ในเรื่องนี้ก็เป็น นวัตกรรม อีกแบบหนึ่ง ที่มีแนวคิด จะให้ครูมาดู มาศึกษาจริง เรื่องจริงนี้มันสอนง่าย ก็เลยมีมติมาที่นี่ เห็นคณะวิทยากร และทีมงานที่เสียสละ ให้ความรู้กับ ครูบาอาจารย์ในวันนี้ ประทับใจมาก ทุกโรงเเรียนสมัครใจ มีความตั้งใจ อยากให้ลูกศิษย์ของเรา มีผลผลิต หรือมีผลลัพธ์ ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะ ในโครงการวิถีพุทธ"

อาจารย์สนั่น เต็มมณี อาจารย์ใหญ่ ร.ร.บ้านหมากมี่ อ.เมือง "ดีมากครับ ไม่ได้หวังว่าจะได้รูปแบบทั้งหมด เวลาเอาไปปฏิบัติจริง คาดว่าจะประยุกต์ ในส่วนที่เกี่ยวกับศีลธรรม ให้ชุมชนมีส่วนร่วม การปฐมนิเทศแบบนี้ เราได้สัมผัสจริง ในเชิงประจักษ์มากขึ้น"

อาจารย์สุนัย ทองเจียว ร.ร.บ้านท่าสนามชัย ต.หนองบ่อ "ประทับใจ รายละเอียดยังไม่ได้เท่าไหร่เพราะเวลามีน้อยครับ ที่นี่ทำ วิถีพุทธได้ ว่าจะมาหลายครั้ง แต่ไม่มีโอกาส แต่วันนี้ประทับใจมากครับ"

อาจารย์รัชนีวรรณ อาจศิริ อาจารย์ ๒ ระดับ ๖ โรงเรียนห้วยคำน้อย ต. ปะทุม อ.เมือง "เคยมาร่วมอบรม ก็ดีใจมากเลย มาเที่ยวบ่อย มาดูสถานที่ ชอบบรรยากาศ ชอบต้นไม้มากเลย มาแอบชมบ่อยๆ มาวันนี้ดีมากเลยค่ะ ได้แนวคิดหลายอย่าง ที่จะนำไปใช้ ในการจัดการเรียนการสอน ในโรงเรียน และเป็นแนวคิด ที่อยู่ในใจตัวเองด้วยนานแล้ว ดีมากๆ อาหารก็อร่อย บรรยากาศก็ดีมากเลย"

อาจารย์ศรีสมบัติ ภูมิเขียว อาจารย์ระดับ ๙ ผอ.ร.ร.ดอนมดแดงวิทยาคม อ.ดอนมดแดง "โรงเรียนที่นี่ นร.มีความสุข เพราะท่าน พยายามสร้างให้ นร.ทำความดี ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อองค์กร ชุมชน และเพื่อคนอื่น ซึ่งโรงเรียนต่างๆ ยังทำไม่ได้ เพราะปัญหาภายนอก ที่เป็นอุปสรรค

จะทำให้ยังไงให้โรงเรียนวิถีพุทธมีความสุข ไม่ใช่เกรด เอ บี ซี หรือ ๓ ๔ ที่ครูจะต้องยัดเยียดให้นักเรียน แต่เป็นความดี ที่เป็นผลพวง ที่เกิดขึ้น จากการเรียนรู้ จุดนี้ผมสนใจว่าโรงเรียนแห่งนี้มีเคล็ดลับอะไร ที่สามารถที่จะโยงใยจิตใจครู แค่ครูสมัครใจมาอยู่ที่ โรงเรียนนี้ ผมว่า ก็สุดยอดแล้ว

มาเห็นวันนี้ ผมคิดว่ามันเหมือนคนละโลกเลย สิ่งที่เราต้องการเห็นที่สุดคือ นร.มีบุคลิก เหมือน นร.ม.๕ ทั้ง ๓ คนที่พูด เมื่อสักครู่นี้ คือ กล้าแสดงออก มีบุคคลิก ที่สง่างาม ผมภูมิใจที่ลูกๆ นร.ประถมศึกษาฯ (สมุนพระราม) แวววตาเต็มไปด้วย ความกระตือรือร้น ความสร้างสรร ซึ่งต่างจาก นร.ข้างนอก

โรงเรียนนี้สามารถทำให้คนที่มาเรียน คิดออก เกิดการเรียนรู้ และสมัครใจ ผมว่าตรงนี้เป็นเทคนิค มีกลยุทธ์ให้คน ให้ครู ให้นักเรียน เกิดความสุข ที่ไม่ได้มาจากวัตถุ แต่มาจากความดี ซึ่งเป็นจุดลึกจริงๆ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๒๘ (๒๕๐) ปักษ์แรก ๑-๑๕ เม.ย.๔๗

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับข่าวความเคลื่อนไหวในหมู่เราชาวอโศกกันเหมือนเคยนะฮะ...

หมอฟันไว...ขณะพ่อท่านนั่งฉันอยู่กับลูกๆในงานปลุกเสกฯอย่างอบอุ่น พ่อท่านได้เปรยขึ้นว่าปวดกราม เท่านั้นแหละท.ญ. ฟ้ารัก ก็รีบนิมนต์พ่อท่านไปตรวจช่องปาก

พ่อท่านก็รีบบอกหมอฟันว่าไม่ได้ปวดแบบนั้น เคี้ยวข้าวนานก็ปวดเมื่อยกรามเป็นธรรมดา

พอได้รู้คำตอบ ท.ญ.ฟ้ารักก็ร้องอ๋อ แต่จิ้งหรีดประทับใจในความไวของคุณหมอ ที่จะช่วยดูแลสุขภาพ ของพ่อท่าน เมื่อรู้สึกว่า มีอะไรผิดปกติทางช่องปาก แต่เมื่อรู้คำตอบว่าเป็นปกติที่พ่อท่านเคี้ยวอาหารนาน ย่อมเมื่อยกรามเป็นธรรมดา ยิ่งไม่ฉันอาหาร อย่างติดยึด ในรสชาติด้วย ก็ยิ่งเห็นทุกข์ในการกินกว่าผู้ยังหลงรสชาติอยู่ จิ้งหรีดจึงรู้สึกว่าเรื่องนี้หมอฟันไว... จี๊ดๆๆๆ...

เกร็ดงานปลุกเสกฯครั้งที่ ๒๘ .... ก่อนถึงงานปลุกเสกฯ สมณะมหาเถระนัดประชุมกันที่ศีรษะอโศก เมื่อ ๓ เม.ย. ๔๗ เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. จิ้งหรีดนับจำนวน ได้ ๒๒ รูป บางรูปไม่ได้มาร่วมเพราะติดภารกิจ เช่น ท่านกรรมกร ท่านทำดี และท่านจันทร์ เดินทางไปคารวะต่อสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย พ่อท่านไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ เพราะติดภารกิจไปเทศน์หน้าศพคุณแม่ของคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ จ.บุรีรัมย์ งานนี้ พล.อ.ธรรมรักษ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานฌาปนกิจ มีฝนโปรยปรายให้ชุ่มเย็น ท่ามกลางสภาพ ความแห้งแล้ง ของภาคอีสาน ในขณะนี้ มีญาติธรรมแวะไปร่วมงานกันหลายคณะ เพราะจะเดินทางไปงานปลุกเสกฯด้วย

......ผู้ว่าฯซีอีโอของจ.ศรีสะเกษมาให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานปลุกเสกฯ ได้กล่าวว่า ศรีสะเกษมีอะไรดี หลายอย่าง แต่ที่ท่าน ประทับใจ คือมีชุมชนศีรษะอโศก ที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาสู่ยุทธศาสตร์ของจังหวัด จิ้งหรีดฟังแล้ว ก็ต้องเจียมตน ให้ดี ยิ่งเขายกค่าให้ เราก็ต้องสังวรเจียมตน ไม่หลงเหลิงให้ยิ่ง...

.....แม้ภรรยาจะตั้งครรภ์ อาเขมรก็ปลีกเวลามาช่วยดูแลงานปลุกเสกฯในเรื่องต่างๆ เสร็จงานแล้วก็ยังเตรียม ช่วยงาน พ.ฟ.ด. ที่บ้านราชฯ ต่ออีก ส่วนภรรยาคือคุณหน่อยก็ช่วยดูแลเรื่องอาหารการกินลูกทีม ของอาเขมรที่มาช่วยงาน แล้วยังสละที่นอน ในบ้าน ออกมานอนข้างนอก จิ้งหรีดรู้ข่าวนี้ก็ประทับใจ

.....ส่วนคุณน้อยนอย ลูกสาวคนเดียวของ ดร.อภิชาติ แม้จะแต่งงานแล้วใช้ชีวิตสุขสบายที่ประเทศอเมริกา พอรู้ข่าวว่า พ่อท่าน อาจจะมีชีวิตอยู่อีกประมาณ ๒ ปีตามอายุขัยในชาตินี้ ก็รีบบินมางานปลุกเสกฯ ซึ่งเป็นงานฝึกลำบาก ก็มาหัดฝึก ตามโอกาส ที่มี นี่ก็เป็นความน่าประทับใจ และประทับใจ นิสิตสวยใส แม้จะติดภารกิจของม.วช. ก็อุตส่าห์เป็นเพื่อน ให้คุณน้อยนอย ไม่โดดเดี่ยวเกินไป ภายในงาน

.....จิ้งหรีดฟังธรรมพ่อท่านจึงได้รู้ว่ามีคนขโมยระฆังของบ้านราชฯ แต่อีกระยะหนึ่งพวกเราก็เจอระฆัง ที่ถูกขโมย วางอยู่ที่ถนน ทางเข้าบ้านราชฯ ก็ไม่รู้ว่าจะเจออาถรรพ์ ระฆังบุญหรือเปล่า จิ้งหรีดได้ข้อคิดว่า เมื่อไม่สุจริตก็ต้องขโมยเอาไป แม้สำนึก ก็ยังต้องขโมยเอามาคืน แต่ยังไงก็ดีกว่าการขโมยเอาไปแน่นอน

....เริ่มฉายแล้ว ภาพยนตร์เรื่องแรกของชาวอโศก "ฝากฟ้า แด่ดิน" แต่แค่ฉายหนังตัวอย่าง ในงานปลุกเสกฯ ครั้งนี้ ก็คงต้องรอดูอีกทีว่า จะสร้างเสร็จทันงาน พ.ฟ.ด. ที่บ้านราชฯหรือเปล่า ดาราที่เห็นในภาพยนตร์ ก็ดูคุ้นๆหน้า จิ้งหรีด ได้ข่าวมาว่า ถ่ายทำกันหนักพอดู ขนาดพระเอกของเรื่องยังท้อ เพราะต้องถ่ายบทซ้ำๆกันหลายรอบ จนทีมงาน ต้องไปตามตัวเข้าฉาก เพราะพระเอก อยากเลิกแสดง แปลกดีแฮะ

.....เห็นมาตั้งแต่งานพุทธาฯที่ศาลีฯ มางานปลุกเสกฯนี้ก็ยังเห็น และรู้สึกชื่นชมในกระบวนการกลุ่ม ของเด็กรุ่น "สมุนพระราม" ซึ่งเป็นเด็กชั้น ประถมศึกษา ของราชธานีอโศก เท่าที่จิ้งหรีดเห็นในสายตา รู้สึกว่ารุ่นพี่เอาใจใส่ดูแลรุ่นน้อง ส่วนรุ่นน้อง ก็ให้ความเชื่อฟัง รุ่นพี่ แถมยังรู้จักพากันมาฟังธรรมยากๆ ทั้งเขียนสรุป เขียนถาม ใครอยากรู้ว่า เด็กมีระบบระเบียบ ดูแลกันเอง ได้ขนาดนี้ เพราะอะไร ก็คงต้องไปสอบถามคุรุที่ดูแลนะฮะ

.......หลังจากพ่อท่านเชิญชวนผู้ที่มีความพร้อมเข้าวัดก็ให้รีบมา ซึ่งพ่อท่านมิใช่ จะกล่าวเช่นนี้ง่ายๆ ปรากฏว่า มีญาติธรรม หลายราย มาสอบถามคุณกรักน้ำเพชร เพื่อหาทางที่จะมาอยู่วัด

.....ส่วนคุณปะบัวบุญก็รู้สึกขำๆ จิ้งหรีดก็สงสัยว่าขำอะไร คุณปะเฉลยว่าดูพวกเราอายุยาว หรือแก่กันมากขึ้น นั่งก็ ไม่ทน เหมือนเก่าก่อน ที่นั่งฟังธรรมกันได้นานๆ เป็นวันๆ ต้องฟังไปพักไป เลยขำในอนิจจังของสังขาร ที่ปรากฏชัดเจน

.....เมื่อวันพฤหัสฯที่ ๘ เม.ย. ๒๕๔๗ ผู้เข้าอบรมอยู่ในงานปลุกเสกฯ ได้มีโอกาสดูการถ่ายทอดสด การจัดงาน ปิดโครงการพักชำระหนี้ เกษตรกรของรัฐบาล ที่ดำเนินมาถึงกำหนด ๓ ปี ที่มธ.รังสิต คุณธำรงค์ (ถึงไท) แสงสุริยจันทร์ ประธาน คกร.ได้รับการชื่นชม จากท่านนายกรัฐมนตรีว่า สันติอโศกมีส่วนสำคัญ ในการช่วยรัฐบาล ในโครงการนี้ ให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งท่านนายกฯ ได้กล่าวกับประชาชนทั้งในห้องประชุม และในประเทศที่ดูทีวีช่อง ๑๑ ถ่ายทอดสด จิ้งหรีด รู้สึกยินดี และคิดว่าชาวอโศกคงเกิดกำลังใจ ในการช่วยเหลือประเทศชาติมากขึ้น ข้อสำคัญเราจะถูกการคาดหวัง จากสังคมมากขึ้น พ่อท่านจึงได้เน้นให้ชาวเราเคี่ยวใน เพื่อมิให้คนภายนอก ผิดหวัง เอ้า..! จิ้งหรีดก็ขอตีเกราะ เคาะไม้ ให้ชาวเรา ที่กำลังตัดสินใจ เข้าวัดช่วยงาน ก็รีบตัดสินใจให้ดี เพราะเรามีงานช่วยเหลือสังคมมาก แต่ยังขาดแรงงาน อีกมาก โอกาสแห่งการเสียสละ อันยิ่งใหญ่ ได้ลอยมาอีกวาระหนึ่งแล้วนะฮะ

.....ขอแสดงความยินดีกับโต (ดื่มธรรม) จับได้ใบดำ ทำให้อยู่ช่วยงานศาสนาต่อไปได้ เต็มตัว ส่วนพงษ์จากสันติอโศก จับได้ใบแดง เป็นทหารเรือ ก็ขอแสดงความยินดี ที่จะได้รับใช้ชาติ ในอีกรูปแบบหนึ่ง ใครเป็นห่วง ก็เตรียมทำน้ำพริกเจ พกติดตัว ไปกินได้แล้วนะฮะ

.....ส่วนใครห่วงหมา ห่วงแมว จนไม่ได้มาร่วมงานปลุกเสกฯ หรืองานบุญต่างๆก็ให้ระวังนะฮะ พ่อท่านเทศน์ ในงานอยู่หลายครั้งว่า ถ้าห่วงพ่อแม่ที่ป่วยต้องอยู่ดูแล ก็ว่าไปอย่าง นี่กลับห่วงสัตว์เดรัจฉานจน ไม่รู้ความสำคัญ ในความสำคัญ ชาติต่อไป อาจจะได้แฟนเป็นแมวเป็นหมา ที่เกิดเป็นคนก็ได้นะฮะ..... จี๊ดๆๆๆ...

หนึ่งน้ำใจ..... หลังจากร้านน้ำใจของศีรษะอโศกถูกวางเพลิงจนวอดวาย ซึ่งก็ไม่สามารถจับผู้ร้ายได้ แต่เราก็เดินหน้า ต่อไป เพื่อชุมชน เพื่อสังคม ดังนั้นจึงมีการก่อสร้างร้านขึ้นใหม่ ที่ใหญ่และงามกว่าเดิม เริ่มเปิดเมื่อ ๒ เม.ย. ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา โดยมีพ่อท่าน เทศน์เปิดร้าน ในช่วง เปิดร้านใหม่ ทุนรอนก็ไม่มาก เพราะเราไม่ได้สะสมเงินทอง คือได้เงินมาก็เอาไปใช้ ให้เกิดกุศล อยู่เรื่อยๆ เทวดาในหมู่ชาวโลก จึงเห็นใจออกทุน ให้ในการสั่งซื้อสินค้า โดยไม่กำหนดการคืนทุน หรือพูดง่ายๆก็คือ มีเมื่อไร ค่อยคืนทุนให้ แล้วถ้าไม่คืน จะว่าอย่างไรฮะ เสียงเทวดาก็ตอบมาว่า มั่นใจในชาวศีรษะฯ คำตอบนี้ใครสงสัยว่า มั่นใจอย่างไร ก็ไปถามหาเทวดากันเองนะฮะ ส่วน อาปอก็ผันตัวเอง จากการดูแลนักเรียนมา ดูแลด้านการเงิน ของร้าน และชุมชนอีกงาน หลายคนเป็นห่วงอาปอจะเครียด เพราะเป็นคนรับผิดชอบสูง จิ้งหรีดขออธิษฐาน ให้อาปอใจเย็นๆ รวมทั้ง คนทำงาน รอบข้างด้วยนะฮะ เวลาทำงานแข่งกับเวลา จนเครื่องร้อน จะได้ไม่ถึงกับแฮ้งก์นะฮะ เพราะร้านใหญ่ สินค้ามาก ต้องใช้คนมาก คนเป็นงานก็น้อย ต้องดึงกำลังคนมาช่วยพอสมควร ดังนั้น งานที่เคยทำมาบางงานก็ย่อมขาด หรือพร่อง มากขึ้น เป็นธรรมดา ยังไงๆผู้นำก็พึงระวังเรื่องการสร้างงาน และเชื่อมั่นตนเอง จนดูแคลน ความคิดของผู้น้อย ส่วนผู้น้อย ก็ให้ระวัง การแสดงความเห็น ขัดแย้งอย่างขาดสัมมาคารวะ ขาดกตัญญูต่อคนรุ่นเก่าหรือผู้ใหญ่ในชุมชนนะฮะ..... จี๊ดๆๆๆ...

ยินดี...ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ส.ว.กทม. คว้ารางวัลพิทักษ์สิทธิเด็กโลก (WCPRC) ซึ่งเป็นการโหวตของเด็กนักเรียน อายุไม่เกิน ๑๘ ปี จาก ๔๕ ประเทศทั่วโลก พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นที่ประเทศสวีเดิน โดยพระราชินี ซินเวียแห่งสวีเดน จะพระราชทาน รางวัลดังกล่าว ในช่วงบ่ายวันที่ ๑๖ เม.ย.นี้ จิ้งหรีด ก็ขอแสดงความยินดีกับครูประทีป ที่ชาวเรา รู้จักนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

มรณัสสติ
น.ส.จำรัส ศิริวัฒน์ อายุ ๙๑ ปี สมาชิกก่อตั้งกลุ่มปราการอโศก กินมังสวิรัติตั้งแต่อายุ ๑๘ ปีจนกระทั่ง เสียชีวิต เป็นนักมังสวิรัติ ถึง ๗๓ ปี (คุณยายจำรัสเป็นญาติกับ น.พ.โกศล กันตะบุตร ผู้ที่ช่วยบุกเบิกเรื่อง มังสวิรัติ ในยุคต้นๆ ของชาวอโศก) เสียชีวิตด้วยโรคชรา ที่ ร.พ.เมืองสมุทร จ.สมุทรปราการ เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ ๒ เม.ย. ๒๕๔๗ ฌาปนกิจศพ วันที่ ๔ เม.ย. ๒๕๔๗ วัดกลาง (พิชัยญาต) จ.สมุทรปราการ

นางเล็ก แซ่อึ้ง อายุ ๗๗ ปี (มารดาของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์) เสียชีวิตด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อ ๒๘ ธ.ค. ๒๕๔๖ เวลา ๕ ทุ่ม ฌาปนกิจ ๓ เม.ย. ๒๕๔๗ ที่ จ.บุรีรัมย์

แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะฮะ...
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

หมู่บ้านศีรษะอโศก เปิดร้านหนึ่งน้ำใจ

เมื่อวันที่ ๒ เม.ย. ๒๕๔๗ พ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ ได้รับกิจนิมนต์แสดงธรรม และฉันภัตตาหาร เนื่องในวันเปิดร้าน หนึ่งน้ำใจ ที่หมู่บ้านศีรษะอโศก มีสมณะร่วมงาน ๔๕ รูป สามเณร ๑ รูป สิกขมาตุ ๖ รูป ญาติธรรม และนร. ชั้น ม.๒ สัมมาสิกขา ประมาณ ๑,๐๐๐ คน นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่มารอซื้อสินค้า ร่วมฟังธรรม รับประทานอาหารฟรี และชมการแสดงดนตรี วงฆราวาส

เริ่มเปิดขายเป็นวันแรก ในเวลา ๑๓.๐๐ น. ปรากฏว่า ภายในเวลา ๔ ช.ม. มีประชาชนมาใช้บริการมากมาย จนสินค้า ที่เตรียมไว้ แทบจะหมดร้าน โดยเฉพาะ พัดลมตั้งโต๊ะตัวใหญ่จำนวน ๕ ตัวหมดภายในพริบตา เนื่องจากติดราคาผิดไป ๑๐๐ บาท จากราคา ๒๘๕ บาทติดผิดเป็น ๑๘๕ บาท

ร้านหนึ่งน้ำใจสร้างขึ้นใหม่ทดแทนร้านน้ำใจหลังเก่าที่ถูกวางเพลิงไปเมื่อปี ๒๕๔๖ และจนบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถหาตัว ผู้วางเพลิงได้

สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๔๗ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวศีรษะอโศกและศิษย์เก่าสัมมาสิกขา ศีรษะอโศก ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้างอาคาร ๒ ล้านบาท นับเป็นร้านจำหน่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของชาวอโศก โดยจำหน่าย ในราคาบุญนิยม ระดับที่ ๑ คือต่ำกว่าท้องตลาด ด้วยระบบเครดิตเหนือเครดิต จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง จำหน่ายสินค้า ตั้งแต่ วันอังคาร-วันอาทิตย์ หยุดทุกวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พ่อท่านเทศน์ที่ราชภัฏอุบลฯ ออกวิทยุให้แนวทางการแก้ปัญหาสังคม

เมื่อวันพุธที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๗ พ่อท่านได้รับกิจนิมนต์จากสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมประชุม สัมมนาเรื่อง ธรรมะ-เศรษฐกิจพอเพียง กับการป้องกันและแก้ไขการคอร์รัปชั่น ณ ห้องสัตตบงกช ศูนย์วัฒนธรรม กาญจนาภิเษก อุบลราชธานี สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี มีการถ่ายทอดสด ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ น. ทางสถานีวิทยุ สวท. ระบบเอฟเอ็ม คลื่นความถี่ ๙๘๕ เม็กกะเฮิร์ซ มีสมณะ-สิกขมาตุและชาวบ้านราชฯ ไปร่วมฟัง ๘๑ คน

เวลาประมาณ ๑๑.๐๐-๑๓.๓๐ น. เป็นการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในการป้องกัน และ แก้ไขการ คอร์รัปชั่น ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ผช.ศจ.สุบรรณ จันทรบุตร ประธานองค์กร สงฆ์นักพัฒนา และองค์กรศาสนา จ.อุบลฯ, รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุโร คณบดีคณะศิลปประยุกต์และออกแบบ ม.อุบลฯ, นายชนวิช ศรีสุข หน.สนง.ปชส.จ.อุบลฯ, นายมังกร นาคประทุมสวัสดิ์ ฝ่ายวิชาการ มหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน วัดแสนสุข, พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ พุทธสถาน ราชธานีอโศก, นายวิสุทธิ์ เจตสันติ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และท่านอธิการบดี ม.อุบลฯ ดำเนินการอภิปราย โดย ศจ.ดร.เสถียร ยุทธชัย รองอธิการบดี ม.ราชภัฏฯ ประธานรวมมิตร คิดทำ จ.อุบลฯ

ในช่วงของการอภิปราย ผู้ดำเนินรายการได้กราบนิมนต์พ่อท่านให้ข้อคิดว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาของสังคมทั้งหมด ได้อย่างไร และช่วงท้าย กราบนิมนต์พ่อท่าน กล่าวปิดการอภิปราย พ่อท่านได้ให้ข้อคิดสรุปได้ว่า "คนสมัยนี้เป็นชาวพุทธ แต่เกือบไม่เหลือ เชื้อของพุทธแล้ว เพราะเป็นเทวนิยม

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสัจธรรม เป็นโลกุตรธรรม เป็นอเทวนิยม สอนให้พึ่งตน (อัตตาหิ อัตตโน นาโถ) สามารถพิสูจน์ได้ สอนให้คนมาจน มาลดกิเลส มีศีล-สมาธิ-ปัญญา เป็นองค์รวมไม่แยกส่วน และยกตัวอย่าง ชาวราชธานีฯ ที่นำทฤษฎีของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติจนลดกิเลสได้จริง จนรวมเป็นหมู่บ้านชาวพุทธ ที่อยู่กันด้วยระบบ สาธารณโภคี
ศาสนาพุทธ สอนให้คนมากล้าจน เป็นคนจนที่มหัศจรรย์ มีความสุข มีสมรรถนะ สร้างสรรค์ เสียสละ ไม่สะสม มักน้อย สันโดษ ถ้าเข้าใจเป้าหมายนี้ชัดแล้วปฏิบัติตรงตามทฤษฎีแล้วก็จะแก้ปัญหาสังคมได้ จะช่วยโลกได้ทั้งโลก เมื่อมั่นใจแล้ว เราจึงไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำด้วยวิชชา"

แล้วพักรับประทานอาหาร เริ่มอภิปรายอีกครั้งในเวลา ๑๔.๒๐-๑๖.๐๐ น. โดยประมาณ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ อภิปรายร่วมกับ นายชุมพล สิมาจารึก รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาบุณฑริก จ.อุบลฯ ในหัวข้อ โรงเรียนวิถีพุทธ และ เศรษฐกิจบุญนิยม ดำเนินรายการโดย นายวิสุทธิ์ เจตสันติ์ ช่วงแรก พ่อท่านนำเสนอวีซีดี โรงเรียนวิถีพุทธ สัมมาสิกขา ราชธานีอโศก ทั้งระดับประถมฯ และมัธยมฯ แล้วเปิดโอกาสให้ซักถาม

พ่อท่านได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการศึกษา ของ ร.ร.สัมมาสิกขาของชาวอโศก ว่าเป็นการศึกษาเอกชนการกุศล ม.๑๕ () ของ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นการศึกษาเหมือนกับมีชีวิตประจำวัน เรียนรู้วิถีชีวิตและดำเนินชีวิตจริงกับสังคม ไม่แยกส่วนกับ วิถีชีวิต รู้เรื่องภายในชุมชนตามฐานะของตน การเรียนการศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิต เน้นให้มักน้อย สันโดษ ตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า แต่การศึกษาสมัยนี้รู้แต่ในตำรา เฟ้อเรื่องความรู้ แต่ด้อยเรื่องศีลธรรม สอนให้คนไปแย่งชิง โลกธรรม ไม่ได้สอน ให้คนไปเสียสละ ถือว่าเป็นความล้มเหลวของการศึกษา

ช่วงที่ ๒ ชมวีซีดีของ ธ.ก.ส. นำเสนอหมู่บ้านที่ ธ.ก.ส. ร่วมมือกับทหาร เข้าไปแนะนำอาชีพ จนสามารถพึ่งตน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

ช่วงสุดท้าย นางอรพิน จำปาเนตร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวปิดการสัมมนา.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จัดคอนเสิร์ตช่วย กวีอังคาร กัลยาณพงษ์ รักษาโรคหัวใจ

สันติอโศก... มหาจำลอง รับหน้าที่จัดคอนสิร์ต สืบทอดสายธารแห่งน้ำใจ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือกวีอังคาร กัลยาณพงษ์ ที่ล้มป่วย ด้วยโรคหัวใจ

พลตรีจำลอง ศรีเมือง รับเป็นโต้โผจัดคอนเสิร์ตการกุศลหารายได้ช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงษ์ ที่ป่วย เป็นโรคหัวใจ เพื่อสนับสนุนให้มีศิลปินที่ผลิตผลงานดีๆระดับเมืองไทย

หลังจากที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ได้นำเสนอข่าวการป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นอย่างเฉียบพลัน เกือบจะต้องเสียชีวิต ญาติ หามส่งโรงพยาบาล และเข้ารับการผ่าตัดช่วยชีวิตได้ ของกวีซีไรต์ อังคาร กัลยาณพงษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยความที่เป็น บุคคลตัวอย่าง รวมทั้งเป็นอัจฉริยะกวี สมควรที่ทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องหันมาเอาใจใส่ ให้การดูแล เพื่อให้ได้สร้างผลงานต่อไป จึงได้เตรียมจัดคอนเสิร์ต สืบทอดสารธารแห่งน้ำใจ เพื่อไม่ให้ขาดสายธาร ศิลปวัฒนธรรม แห่งชาติสยาม อังคาร กัลยาณพงษ์ ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒ พ.ค.๔๗

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คอนเสิร์ตในวันนั้นจะมีศิลปินมากมาย อาทิ วงฆราวาส, วงดนตรีวัยรุ่นอย่างวงโอเวอร์โค้ช พร้อมกับแซ็ก กำพล ปานพุ่ม นักร้องนำวงไอแซ็ก อุ๊ หฤทัย อดีตวงเปเปอร์แจม รวมไปถึงทอดด์ ทองดี นอกจากนี้ ยังมีศิลปินชื่อดังอย่าง ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล มาร่วมเปิดอัลบั้ม "ทะเลจันทร์" ที่ห่างหายไปนานกว่า ๑๕ ปี เป็นครั้งแรก และนำเทป-ซีดี มาวางจำหน่าย เพื่อหารายได้ สมทบทุน มูลนิธิ ดุริยางค์กรุงเทพฯ อีกด้วย

ส่วนความน่าสนใจของคอนเสิร์ต จะมีการแสดงของสุดยอดศิลปินแห่งชาติถึง ๔ ท่านในชุดมหัศจรรย์แห่ง ดนตรีไทย นำด้วย อ.สุดจิตต์ ตริยปราณีต ยายแท้ๆ ของขุนอินทร์ ในภาพยนตร์เรื่องโหมโรง, ครูแจ้ง คล้ายสีทอง อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ ครูชินกร ไกรลาศ ทั้งนี้ ยังจะมีการพูดคุยตามประสานักปราชญ์ โดย ๔ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ส.ศิวรักษ์ หรือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมณะโพธิรักษ์ และกวีซีไรต์ อังคาร กัลยาณพงษ์

พลตรีจำลอง ศรีเมือง ประธานในการจัดคอนเสิร์ต ในครั้งนี้ เปิดเผยถึงการจัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ว่า "เป็นการยื่นมือ เข้ามาช่วย จากหลายๆฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีความเห็นว่า น่าจะสนับสนุนและหันมาช่วยเหลือ คนดีๆ แบบนี้ ที่ถือเป็นกวีซีไรต์ และ สร้างผลงาน ให้กับประเทศไทย มามากมาย แต่ปัจจุบันกลับมีผู้ที่ให้ความสำคัญน้อย คอนเสิร์ตในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายของเรา ไม่ได้มีเรื่อง ผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการเน้นที่ความบันเทิงมากกว่า พร้อมทั้งอยากจะ ช่วยสนับสนุน ให้คนเริ่ม หันมาเห็นค่า กับศิลปวัฒนธรรม มากขึ้น ไม่ใช่มัวแต่ไม่หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งไม่ดี โดยเฉพาะนักเรียน เยาวชน ด้วยความที่ เราเห็นว่า ท่านอังคารเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นนักกวีที่มีความเก่ง ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน เมื่อถึงวันหนึ่ง ที่ท่านลำบาก เราจึงคิดอยากที่จะทำให้ท่านรู้สึกว่ายังไม่มีคนทอดทิ้ง อย่างที่ผ่านมา เคยจัดคอนเสิร์ตช่วย วัชรภรณ์ สุขสวัสดิ์ ศิลปิน ที่ป่วยเป็นโรคไต ซึ่งก็ได้รับกระแสการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะครั้งนี้เราคิดว่า น่าจะเป็น อีกคอนเสิร์ตหนึ่ง ที่จะมีผู้ที่ให้ความสนใจ เป็นอย่างมาก"

สำหรับสถานที่ในการจัดงาน จะมีขึ้นที่ศาลาวิหารพันปี พุทธสถานสันติอโศก ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่า น่าจะเป็นสถานที่ ที่เหมาะสม ที่สุด ทั้งไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ รวมทั้งมีอาหารมังสวิรัติเลี้ยงฟรี ภายในงาน ท่ามกลาง บรรยากาศ ที่ร่มรื่น เย็นสบาย ของธรรมชาติ.

(จาก นสพ.ไทยโพสต์ เอ็กซ์-ไซท์ ฉบับที่ ๒๗๓๐ วันที่ ๑๖-๑๗ เม.ย.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เก็บมาฝาก - โดยเศษเหล็ก -


สคช.แฉเศรษฐกิจดีแต่สังคมไทยเสื่อม
คนแก่ถูกทิ้ง-หย่าเพียบ

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว ภาวะสังคม ของประเทศไทยว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากสุดคือ ปัญหาด้านอุบัติเหตุและปัญหาด้านครอบครัว ที่มีแนวโน้ม ขาดความอบอุ่น ซึ่งดัชนีสัมพันธภาพ ในครอบครัว เช่นปัญหาการหย่าร้าง และผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๓๘ ที่มี ๑๑๕,๕๐๘ คน ส่วนปี ๒๕๔๒ ถูกทอดทิ้ง ๓๔๒,๕๔๓ คน นอกจากนี้ สามีและภรรยาได้หย่าร้างกันสูงถึง ๗๖,๐๐๐ คู่ ในปี ๒๕๔๕ ส่วนคู่รัก มีการจดทะเบียนกันน้อยลง เพราะต่างคนต่างก็มีงานที่ต้องทำ โดยมีเพียง ๓๐๐,๐๐๐ คู่ ในปี ๒๕๔๕ น้อยกว่าในปี ๒๕๓๕ ที่มี ๔๐๐,๐๐๐ คู่

ทั้งนี้ ปัญหาของครอบครัวยังส่งผลกระทบต่อเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการทำแท้ง ประมาณปีละ ๓๐๐,๐๐๐ ราย โดยผู้หญิงส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๑๔-๒๐ ปี และมีสถานภาพ เป็นนักเรียน หรือนักศึกษา เนื่องจากบิดามารดาไม่ค่อยได้เจอหน้าหรือพูดคุยกับลูกมากนัก และทัศนคติของวัยรุ่นเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องปกติ ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่เรียกว่า "กิ๊ก" มีมากขึ้น จนทำให้วัฒนธรรม การรักนวลสงวนตัว ของหญิงสาว เริ่มลดลงด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น จากปี ๒๕๔๐ บริโภค ๑,๖๐๔ ล้านลิตร ขณะที่ปี ๒๕๔๖ เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๙๒๖ ล้านลิตร โดยวัยทำงานอายุ ๒๕-๕๙ ปี ดื่มมากที่สุด ๓๙.๓ % รองลงมาคือกลุ่มเยาวชน และยังพบว่า ผู้ที่จบปริญญาตรี มีแนวโน้มได้เงินเดือน ต่ำกว่าวุฒิปริญญาตรีในสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ เช่นกัน นอกจากนี้ ในสัดส่วนคนจนก็ลดลงโดยในปี ๒๕๔๕ มีเพียง ๖.๒ ล้านคน หรือ ๙.๘ % ของประชากร ต่ำกว่าในปี ๒๕๔๔ ที่มีสูงถึง ๑๓ %.

(จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๕ มี.ค.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชื่อ นางมา เบื้องสุวรรณ
เกิด ปีกุน อายุ ๘๒ ปี
ภูมิลำเนา อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
การศึกษา ไม่ได้เรียน
สถานภาพ ม่าย บุตร ๔ คน
ส่วนสูง ๑๖๕ ซ.ม.
น้ำหนัก ๕๐ กก.

คุณยายมาเป็นญาติธรรมเก่าแก่อีกคนหนึ่งของศาลีอโศก มาร่วมงานพุทธาฯ ตั้งแต่จัดเป็นครั้งที่ ๒ แล้วค่อยๆเริ่มปฏิบัติธรรม มาจนถึงทุกวันนี้

ประวัติ
มีพี่น้อง ๖ คน ยายเป็นคนที่ ๒ พ่อเป็นคนขอนแก่น แม่เป็นคนไพศาลี อาชีพ ทำไร่ ทำนา ไม่ได้เรียนหนังสือเพราะแม่ให้ทำงาน เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เลี้ยงน้อง ตักน้ำ ตำข้าว สมัยนั้นตำข้าวกิน ทำทุกอย่าง

แต่งงาน ๒ ครั้ง ครั้งแรกอายุ ๑๔ ปี กว่าๆ เราเลือกเอง พ่อกับแม่ไม่เห็นด้วย มีลูก ๑ คน เขาแก่กว่า ๑๐ ปี อยู่ได้ปีกว่า ก็แยกทางกัน ไม่นานเขาก็เสียชีวิต ต่อมาลูกก็เสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๓ ขวบ แต่งงานอีกครั้งอายุ ๑๘ ปีพ่อแม่จัดการให้ ไม่รู้จักไม่เคยเห็นหน้าเลย เขามาขอ ๒ หน พ่อแม่เป็นห่วง ยายเชื่อพ่อแม่ ก็อยู่ด้วยกันจนตายจากกัน มีลูก ๗ คน ตาย ๓ คนเหลือ ๔ คน ชาย ๒ หญิง ๒

พระคอมมิวนิสต์
เคยเห็นพ่อท่านนานแล้วแต่ตอนนั้นยังไม่สนใจ ชาวบ้านว่า "เป็นคอมมิวนิสต์ เวลามันมาบิณฑบาตเอาแตงลูกใหญ่ใส่ให้มันซะ จะได้เต็มบาตร มันจะได้กลับ" ฟังแล้วก็สงสาร

ปีไหนก็จำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าท่านติกขฯบวชแล้ว ยายก็เอามะม่วงมาทำบุญ คนก็บอกว่าไปเล่นขี้อยู่ทำไม ทองดีก็ไม่มาจับ ขยำขี้อยู่นั่นแหละ ฟังแล้วก็เลยมา

เมื่อก่อนคิดว่านรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า ถ้าพระเทศน์เสียงดีก็ฟัง ถ้าเสียงไม่ดีก็ไม่ฟัง ได้ฟังเทศน์ท่านสิริฯ (อดีตพระชาวอโศก) ก็รู้เรื่อง อยากมา เทียวมาใส่บาตรเรื่อยๆ งานพุทธาฯครั้งที่ ๒ สิกขมาตุมาบรรจบบอกให้ละหมาก ยายบอกว่าละไม่ได้หรอก ถ้าไม่ได้กินอยู่ไม่ได้ ข้าวไม่ได้กินก็อยู่ได้ ท่านก็บอกว่ายังงั้นโยมก็ละข้าวซะ ยายก็บอกว่าก็ตายซิ ยายก็ตัดสินใจเลิกหมาก ๗ วันเป็นไงก็เป็นกัน คงไม่ตายหรอกนะ ตอนนั้นให้กินมื้อเดียว ไม่ให้นอนกลางวัน กลับจากงาน นานๆก็ไปหากินหมาก ก็กลับมาบอกสิกขมาตุ ท่านก็บอกว่าอย่าไปบ้านเขาซิจะ เลิกได้ ยายก็เลิกได้ตั้งแต่นั้นมา

ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น
ก็เทียวไปมาอยู่ ๒ ปี จึงลองมาอยู่วัด เมื่อก่อนสนุกเวลาไปกับกองทัพธรรม ตอนไปสวนลุมพินี ที่กรุงเทพฯ มีคนมาถามว่า ยายจะกินเนื้อสัตว์ ไปถึงเมื่อไหร่ ก็ตอบว่า จะกินไปจนสิ้นชีวิตนั่นแหละ

ตอนพ่อท่านถูกจับ ยายจึงตัดสินใจอยู่วัดจนถึงทุกวันนี้ ได้เข้าใจว่าคนที่ตายไปแล้วว่า ไม่สามารถฟังธรรมได้ ได้มารู้ว่า เราฆ่าสัตว์ไปถวายพระนั้นเป็นบาป ไม่ได้บุญ เพราะเราเอาเขาไปกิน เมื่อก่อนคิดว่าได้ปูได้ปลามา เอาไปถวายพระ จะได้บุญ แต่ตอนนี้ รู้แล้วว่าได้บาป

ปฏิบัติยังไม่ได้
แบ่งสมบัติให้ลูกหมดแล้ว แต่ใจก็ยังห่วงเขาอยู่ ยังวางไม่ได้ ทั้งๆที่ไม่มีใครสนใจปฏิบัติสายนี้เลย มันยังทำไม่ได้ คิดห่วงแต่เขา

ตอนสาวๆ ช่วยงานไปทั่ว กินข้าวแล้ว ก็เอาอาหารไปแจกชาวบ้าน ทุกวันนี้ก็ปอกหอมกระเทียม เจอผัสสะก็พยายาม ปล่อยวาง ยายโกรธใครไม่นาน เดี๋ยวก็หาย

ไม่กลัวตาย เพราะยังไงก็ต้องตาย คิดว่าจะตายอยู่กับอโศกนี่แหละ ทุกวันนี้หูยังฟังชัด แต่ปวดหลัง ตาฝ้า

มาอยู่ ๒๐ กว่าปีแล้ว ธรรมะให้ปัญญา แต่ยายยังปฏิบัติไม่ได้ทุกอย่างหรอก กลับไปบ้านก็ไม่อยากอยู่ ต้องรีบกลับวัด ที่นี่มีมิตรดี สหายดี ได้ฟังธรรม

ยายไม่ได้เรียนหนังสือ รู้แต่ว่าอยู่ที่วัดมีมิตรดี สหายดี ได้ฟังธรรม

ยายรู้มั้ยมีผู้คนอีกมากมายที่มีความรู้ท่วมหูท่วมหัว แต่เขาไม่รู้ว่าการทำชีวิตให้มีค่านั้นทำอย่างไร หมดวันไปกับการกิน สูบ ดื่ม เสพย์ แล้วก็จากโลกนี้ เขาเป็นได้แค่เศษสวะของสังสารวัฏเท่านั้นเอง.


- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ปฏิทินงานอโศก

งานคืนสู่เหย้าฯ ครั้งที่ ๒ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก วันพุธที่ ๑๒ - ศุกร์ที่ ๑๔ พ.ค.๔๗

งานเพื่อฟ้าดิน ตลาดไร้สารพิษฯ ครั้งที่ ๑๑ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก อาทิตย์ที่ ๑๖ - อังคารที่ ๑๘ พ.ค.๔๗

งานอโศกรำลึกฯ ครั้งที่ ๒๓ ณ พุทธสถานสันติอโศก พุธที่ ๙ - พฤหัสบดีที่ ๑๐ เม.ย.๔๗

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ ๑,๕๐๐ ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]