ฉบับที่ 236 ปักษ์แรก 1-15 สิงหาคม 2547

[01] ปิดร้าน
[02] ธรรมะพ่อท่าน: สติแบบไหน ปฏิบัติแล้วพาบรรลุถึงพุทธธรรม""
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ:อรูปอัตตา กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
[04] ชมร. ช.ม.ทำบุญวันเกิด ครบรอบนักษัตร พ่อท่านเทศน์ให้พรจากบ้านราชฯ
[05] ซูเปอร์มาร์เก็ต กลางป่า
[06] ๗๒ พรรษาราชินี ธนาคารอาหารชุมชนพระราชดำริห่วงใยภาวะขาดแคลน
[07] ทำบุญฉลองศาลาหลังใหม่ ในจ.อุบลฯ พร้อมเปิดตลาดไร้สารพิษที่อุทยานบุญนิยม
[08] ผักไร้คุณภาพทะลักเข้าไทยระวังกินแล้วอาจท้องร่วงได้
[09] บ้านราชฯ จัดกิจกรรมอนุโมทนาจิต
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] มติจากการประชุมคณะทำงาน ต.อ.กลาง
[12] ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
[13] นางงามรายปักษ์ นางพร สติใหม่
[14] มหกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ชาวอโศกร่วมกับองค์กรภาคประชาชน



ปิดร้าน

ก่อนเข้าพรรษาในปีนี้ พ่อท่านได้เน้นให้ชาวเราที่ร้านกู้ดินฟ้า หน้าสันติอโศก กับร้านมังสวิรัติของชุมชน สีมาอโศก ขายและปรุงอาหารจำหน่าย ประชาชนด้วยพืชผักไร้สารพิษเท่านั้น ถ้าไม่มีพืชผักไร้สารพิษก็ให้ปิดร้าน ไปก่อน

ทำให้พวกเราเกิดความตื่นตัวในเรื่องพืชผักไร้สารพิษโดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้าน มีผลให้ผู้ดูแลร้านกู้ดินฟ้า ๑ บางส่วน ผันชีวิตตัวเองจากแม่ค้าเป็นกสิกร ปลูกพืชผักไร้สารพิษในต่างจังหวัด เพื่อให้ตลาดไร้สารพิษหน้าสันติอโศก มีพืชผักไร้สารพิษจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องปิดร้าน เช่นที่ผ่านมา

จากนโยบายของพ่อท่านที่ให้กล้า ปิดร้าน ถ้าไม่มีพืชผักไร้สารพิษจำหน่าย ทำให้ชมรมมังสวิรัติฯหน้าสันติอโศก ไม่ค่อยมีพืชผักมาทำอาหารจำหน่ายเหมือนแต่ก่อน แต่จะมีพืชผักพื้นบ้านที่พ่อครัวแม่ครัวไม่ค่อยชินนักเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารแทน

พ่อท่านพูดให้พวกเราฟังว่า พืชผักพื้นบ้านมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าพืชผักทั่วไปในตลาด และปลอดภัยกว่า อย่างแน่นอน เพราะเป็นของเราปลูกเองหรือเกิดเองในชุมชน เราควรเปลี่ยนนิสัยหรือค่านิยม ในการบริโภค ของตัวเองกับลูกค้าให้มานิยมพืชผักพื้นบ้าน

เข้าพรรษาปีนี้ทางรัฐบาลมีโครงการ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ส่วนชาวเราน่าจะเริ่มโครงการงดผักตลาด หัดกินผัก พื้นบ้าน ผักป่า ช่วงเข้าพรรษานี้จะดีไหม?

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

สติแบบไหน ปฏิบัติแล้วพาบรรลุถึงพุทธธรรม (ตอนจบ)

แต่ก็ยังชื่อว่า"สติกัลยาณปุถุชน" เพราะยังเป็น "สติ"ของคนที่ยัง ไม่ถึงขั้น"ปรมัตถธรรม" (ธรรมที่ป็นความจริง ขั้นสูง เข้าเขต โลกุตรธรรม) ยังไม่พ้นความเป็นโลกียะ เพราะยังไม่สามารถ รู้จักวัฏฏะของความเป็นโลก หรือโลกีย์ต่างๆ ตั้งแต่วัฏฏะของ "โลกต่ำ" คือโลกอบาย เป็นต้น และวัฏฏะของ"โลก"อื่นๆ คือ โลกกาม โลกธรรม โลกอาตมัน หรือ โลกอัตตา เป็นอาริยชน ผู้หลุดพ้นโลกเหล่านั้น ยังไม่ได้

เพราะยังไม่มี"วิชชา ๙" จนสามารถรู้จัก ความเป็นโลก และ "ตัวตนของเหตุที่พาหลงวนอยู่ในโลกหรือในวัฏฏะ" นั้นๆ แล้วกำจัด "ตัวตน" (อัตตา-สักกายะ-อาสวะ) เหล่านั้นได้ กระทั่งสิ้นเกลี้ยงสนิท จึงไม่หลุดพ้นโลก ได้อย่างเที่ยงแท้ (นิจจัง) ถาวร (ธุวัง) ยั่งยืน(สัสสตัง) เป็นวิทยาศาสตร์ แม้จะมีวิธี กดข่มกิเลสไว้ จนดูเหมือนว่า เราหลุดพ้นแล้วได้นานเท่าใดก็ตาม

แม้คนผู้นั้นจะพากเพียร ละชั่ว-ประพฤติดี ได้เก่งมาก ตั้งใจประพฤติศีลปฏิบัติธรรมได้สูงส่ง มากยิ่งปานใด ก็ตาม แต่ถ้ายัง ไม่สามารถกำจัดกิเลสในจิตชนิดรู้จักรู้แจ้งรู้จริง "ตัวตนของกิเลส" (สักกายะ-อัตตา-อาสวะ) กระทั่งจิตสะอาด ปราศจากกิเลส หรือทำจิตให้ผ่องใสได้อย่างแม่นมั่นถูก"ตัวตนของกิเลส" เพราะไม่มี "วิชชา ๙" ที่วิเศษ สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงใน "ปรมัตถธรรม" ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงในความเป็น "โลกียะกับโลกุตระ" แยก "เคหสิตเวทนา" (เวทนา ที่มีความติดยึดอยู่กับ ความเป็นโลกนั้นๆ) ว่าแตกต่าง "เนกขัมมสิตเวทนา" (เวทนาที่ละ ออกจากโลกนั้น หรือปลดเปลื้องจากโลกียวิสัย)ไม่ได้ ไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" ที่สามารถกำจัดกิเลสได้สำเร็จ จนถึงที่สุด "ตัวตนของกิเลส" นั้นๆ หมดสิ้นเป็น "อนัตตา-สุญญตา"

"สติ" ของคนผู้นี้ก็เจริญแต่ "โลกียธรรม" ไม่มีวิชชา ๙ สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง "โลกุตรธรรม" แม้จะเจริญในธรรม สูงส่ง ยิ่งยอด ปานใดก็ยังคงเป็นได้แค่ "กัลยาณปุถุชน" ในโลกีย์ที่ลึกซึ้งซับซ้อนและยังลึกลับยิ่งนัก ดังนั้น "สติ"ชนิดนี้ จึงชื่อว่า "สติกัลยาณชน"

สติอาริยชน คือสติที่ต่างจาก "สติปุถุชน-สติกัลยาณชน" ตรงที่ไม่ใช่"สติ" สามัญของโลกียะ แต่เป็น"สติ"ที่รู้แจ้ง รู้จริง ถึงขั้น "โลกุตระ" มีคุณภาพถึงขั้น "สติสัมโพชฌงค์"

"สติสัมโพชฌงค์" เป็นสติที่มีคุณวิเศษ ถึงขั้นพาบรรลุโลกุตรธรรม เป็นอาริยชนได้ เมื่อระบุว่าเป็น "สัมโพชฌงค์" คุณภาพ ก็ต้องถึงขั้น "สัมโพชฌงค์" คือ "มีปัญญาขั้นตรัสรู้" นั่นก็หมายความว่า "สติ"ของคนผู้นี้พิเศษแน่ คุณภาพ ของความเป็น "สติสัมโพชฌงค์" ต้องประกอบไปด้วยสัมปชัญญะและปัญญา สามารถทำงาน "สติปัฏฐาน ๔" ทำงานกับ "สัมมาทิฏฐิ" ดำเนิน"มรรค ๘" ไปสู่"อาริยมรรค-อาริยผล" ได้ตามธรรมสมควรแก่ธรรม โดยลำดับของโลกุตรธรรม และมี "สัมโพธิปรายนะ" (การตรัสรู้เป็นที่สุด) แน่นอน

ตราบใดยังไม่รู้จักตัวตนของกิเลสในจิตของตนเอง ก็ยังเป็นสติกัลยาณปุถุชนในโลกีย์ เมื่อใดรู้แจ้งรู้จริงตัวตน ของกิเลส แล้วสามารถ จัดการกับกิเลสแต่ละตัวได้ไปพร้อมๆกับการดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ชนิดทำงาน ไปด้วย เห็นกิเลสเกิด แล้วล้าง กิเลสไปด้วย รู้ไว้เถอะว่าสติของเรา ณ ขณะนั้นเป็นสติของอาริยชน นี่แหละ "สติของนักปฏิบัติธรรมที่แท้จริง".

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

อรูปอัตตา กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

พรรษานี้น้ำท่วมบ้านราชฯอีกแล้ว ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าปีที่ผ่านๆมา เข้าพรรษายังไม่ทันไร ต้องใช้เรือเดินทาง เข้าออกแล้ว
(๗ ส.ค.) ขณะที่น้ำจากลำน้ำชีที่ผ่านยโสธร และร้อยเอ็ดยังคงไหลบ่าลงมาเรื่อยๆ กรมอุตุฯประกาศเตือนว่า จะมีพายุเข้ามาอีก ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าน้ำจะท่วมมากกว่าปีที่แล้วแน่ แต่จะถึงขนาดปีž๔๕ หรือไม่ ยังไม่อาจจะคาดการณ์ได้

ที่สนามบินตรัง ก่อนลงจากเครื่องบินเหลือบไปเห็นวงดุริยางค์และป้ายข้อความต้อนรับ อดีตนายกฯชวน หลีกภัย เหลียวไปมอง ที่นั่งด้านหน้า เพิ่งจะถึงบางอ้อว่าขึ้นเครื่องบินมาลำเดียวกับท่านชวน เมื่อลง จากเครื่องบิน พ่อท่านเดินอ้อม หลบกลุ่มคนที่กำลังต้อนรับ ท่านชวน เพื่อเดินเข้าสู่ตัวอาคารของสนามบิน พ่อท่านเหลียว ไปมอง ท่านชวนเหลือบมาเห็น พ่อท่านส่งยิ้มให้ ท่านชวนยกมือพนมนมัสการ แล้วขยับตัว ออกจากกลุ่มคน ที่กำลัง รุมล้อมท่านอยู่ เดินเข้ามาทัก ถามว่า ท่านจะไปไหนครับ พ่อท่านตอบ "ทักษิณอโศก" ดูเหมือนท่านชวน จะไม่รู้ ว่าอยู่ที่ใด ท่านสู้ซื่อรีบเสริมว่า อยู่ที่ควนขัน ท่านชวนตอบรับ อย่างเข้าใจทันที ด้วยตรัง เป็นถิ่นของท่าน แล้วบอกเล่าว่า ท่านได้รับเชิญให้มาเป็นประธาน เปิดเที่ยวบินแรก ของสายการบิน PB Air กรุงเทพ-ตรัง

"เชิญตามสบายเลยนะ" พ่อท่านกล่าวด้วยเกรงใจ ที่ท่านชวนกำลังอยู่ในพิธีการ จากนั้นทั้งท่านชวนและพ่อท่าน ได้ละจากกันไป ตามกิจ ที่แต่ละท่านมี ภาพเหตุการณ์นี้รวดเร็วและไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ผู้เขียนไม่ทันได้ บันทึกภาพ อีกทั้งอยู่ในอาการหิ้ว และ สะพายสัมภาระ ดีที่นิสิตทองไท (ปุ๊ก) เข้าไปบันทึกภาพวิดีโอได้ทั้งหมด

งานภราดรภาพซาบซึ้งใจ ครั้งที่ ๓ ที่ทักษิณอโศก พ่อท่านวิจารณ์เหตุสำคัญที่ญาติธรรมชาวใต้ไม่สามารถ รวมกัน อย่างประสาน สัมพันธ์ เพื่อเพิ่มมวลของชุมชนทักษิณอโศก เหมือนเช่นชุมชนอื่นๆ ก็เพราะอรูปอัตตา โดยแท้ (ยึดถือ ความคิดเห็น ความรู้ ความดีของตน) ดังนั้น ถ้าชุมชนทักษิณอโศก จะเจริญก้าวหน้า ก็ต้องลด อรูปอัตตากัน ให้จริง ที่สำคัญ ต้องมี คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ หรือยุทธศาสตร์ของบุญนิยมกันให้มากๆด้วย

ฟังอย่างนี้แล้วชุมชนอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็มีปัญหาไม่ประสานสามัคคีเหมือนกัน ก็น่าจะนำสิ่งเหล่านี้ ไปสังวร อาจจะถือ เป็นข้อปฏิบัติ ในช่วงเข้าพรรษานี้ก็ได้

ในสังคมที่กำลังเป็นข่าวใหญ่ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ ทั้งๆที่ต่างก็เป็นคนดีด้วยกัน ถ้ายกเรื่องทุจริต หรือ ไม่ออกเสียแล้ว เรื่องของอรูปอัตตาก็เป็นเหตุสำคัญทำให้คนดีทะเลาะกัน ด้วยยึดกรอบ ยึดเกณฑ์ รวมถึงยึดถือ ความเห็น ยึดถือความรู้ ของตนมากเกินไป

ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้ที่อยู่กับภพของตนมากๆ หรือจมอยู่กับความคิดของตนจัดๆ จะมีอรูปอัตตามาก แม้จะเป็น ความมุ่งมั่น มุ่งหมายในธรรม มุ่งหมายในงานด้วย แต่ถ้าไม่ดูสังคมสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นๆเป็นอย่างไร กาละ บุคคล บริษัทประชุมชน เป็นอย่างไร ความมุ่งมั่นมุ่งหมาย ในธรรม นั้นก็ดูเด๋อไป ตัวอย่างเช่นมีสมณะรูปหนึ่ง เข้ามาแทรกถามเรื่อง เวทนา ๑๐๘ ในขณะที่พ่อท่าน กำลังสนทนากับฆราวาสกลุ่มหนึ่ง ถึงผลกระทบ จาก FTA หรือเขตการค้าเสรี สมณะท่านอาจคิดว่า เรื่องเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นธรรมะที่สำคัญกว่าเรื่อง FTA ที่กำลัง คุยกันอยู่ก็ได้ พ่อท่านก็ดีใจหายอุตส่าห์ตอบให้

อีกตัวอย่างหนึ่งในห้องทำงานที่สันติอโศก ขณะกำลังสนทนากับคณะทำงานจัดหาผักไร้สารพิษมาป้อนให้ร้าน ศูนย์มังสวิรัติ และการตรวจสอบ แหล่งผลิตที่ผ่านๆมา การสนทนาชะงักหยุดลง เมื่อมีญาติธรรม หญิงคนหนึ่ง เปิดประตู พรวดเข้ามาขอ ถ่ายภาพพ่อท่าน เพื่อจะส่งให้เพื่อน ผู้เขียน บอกเธอว่า เอาไว้ให้พ่อท่าน คุยเรื่องงาน เสร็จก่อนได้ไหม เธอก็ฟัง แต่เหมือนเธอไม่ได้คิดตาม ใจมุ่งมั่นที่จะขอถ่ายภาพให้ได้ แม้พ่อท่านจะบอกว่า ไปหารูปที่ได้ถ่ายไว้
เยอะแยะแล้ว ส่งไปให้ก็ได้ จะมาถ่ายอะไรกันตอนนี้ล่ะ ดูเหมือนเธอจะไม่ได้เฉลียวใจ คิดถึงคำท้วงของพ่อท่าน หรืออาจจะ คิดตามแล้ว แต่ใจที่มุ่งมั่นจนกลายเป็นดึงดัน จะเอาให้ได้ดังใจ ทำให้เธอยังคงต่อรองว่า ไหนๆ ก็เข้ามาแล้ว และมีฟิล์มเหลือ จะขอถ่ายให้ได้ ดีที่เธอถ่ายเองไม่เป็น ช่างกล้องที่ไป ขอให้เขา มาช่วยถ่าย เห็นเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะนั้น จึงถอยออกไปก่อน แต่เธอก็ไม่วาย ขอเข้าไปประเคนอาหาร ถวายให้พ่อท่าน กับมืออีก ซึ่งพ่อท่านก็เอื้อ รับประเคนให้

เป็นเรื่องแปลกตรงที่ปกติแล้วเธอสุภาพเรียบร้อยอย่างยิ่ง พูดจาใช้คำไพเราะมาก จากกิริยาดูเป็นคน มีมารยาท ยิ่งนัก แต่เหตุการณ์นี้ เหมือนเธอไม่มีมารยาทเอาเสียเลย คงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากอรูปอัตตา ของเธอโดยแท้

พูดถึงเรื่องมารยาทและอรูปอัตตาแล้ว ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์ที่ฝ่ายรับโทรศัพท์ โอนสายมาให้ เธอเป็นหญิง มีอายุคนหนึ่ง คำพูดจาดูมีการศึกษา ดูเป็นคนมีระดับชั้นในสังคม ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป เธอขอ เรียนสายกับพ่อท่าน เนื่องจาก เสียงไม่คุ้น ผู้เขียนจึงถามเธอแบบอ้อมๆไปว่า โทรมาจากที่ใดหรือ แทนที่จะถาม ตรงๆว่าเธอเป็นใคร ทำงานที่ใด แต่เหมือน เธอจะพาซื่อ เธอตอบว่าโทรมาจากนนทบุรี ทำให้ผู้เขียนจำต้อง ถามเธอ กลับไปตรงๆว่า เธอเป็นใครหรือ เธอตอบว่าชื่อวิมล ได้มาฟังธรรม วันอาทิตย์ ข้อมูลเท่านี้ไม่พอ ในการตัดสินใจว่า สมควร จะให้เธอได้พูดโดยตรงกับพ่อท่านดีหรือไม่ ผู้เขียนจึงถามอีกว่า จะพูดเกี่ยวกับ เรื่องอะไรหรือ จะได้ไปเรียน ให้พ่อท่านได้ถูก เธอตอบมาว่า จะพูดเกี่ยวกับเรื่องสันติอโศก แหมดีเข้าทางเลย ผู้เขียนจึงถามเธอต่อว่า เป็นเรื่อง เกี่ยวกับอะไรหรือ เพราะบางเรื่องพ่อท่านไม่ได้ทราบ รายละเอียด ทั้งหมด ของงาน ในแผนกต่างๆหรอก จะได้ให้พูดกับผู้ดูแล ในหน่วยงานนั้นๆเลย ดูเธออ้ำอึ้งอยู่พักหนึ่ง แล้วบอก กลับมา คราวนี้เปิดประเด็นใหม่ ว่าเธอเป็นญาติของพ่อท่านคนหนึ่ง ผู้เขียนเริ่มสะดุดใจว่า เธอจะไม่ซื่อแล้วล่ะ คำว่าญาติ.. ชื่อวิมล.. อยู่นนทบุรี.. มาฟังธรรมวันอาทิตย์ เป็นปัจฉาฯมาหลายปี ข้อมูลอย่างนี้ไม่เคยได้ยิน พ่อท่านพูดถึงเลย ผู้เขียนจึงให้เธอ ถือสายรอ เพื่อไปเรียนให้พ่อท่านทราบ หลังจากบอกเล่าให้พ่อท่านฟังย่อๆ พ่อท่านปฏิเสธว่า ไม่มีญาติชื่อนี้อยู่นนทบุรี ผู้เขียนชัก สองจิตสองใจ จะเอาอย่างไรดี หรือเป็นญาติจริงๆ ที่พ่อท่านไม่รู้จัก หรือจำไม่ได้แล้ว เอาน่าลองดูให้พ่อท่าน เสียเวลาทำงานดีกว่า ถ้าเกิดเป็นญาติจริงๆ เขาจะเสียความรู้สึกได้

เมื่อผู้เขียนยื่นโทรศัพท์ให้พ่อท่านแล้ว เธอไม่ได้พูดถึงเรื่องเป็นญาติและไม่ได้พูดเรื่องสันติอโศก ตามที่เธอ บอกเลย กลับเป็นเรื่อง ลูกสาวของเธอจะเรียน แล้วไม่มีเงิน อยากจะขอเงินจากพ่อท่าน เพื่อส่งให้ลูกได้เรียน พ่อท่าน ก็ยังมีเมตตา พูดกับเธอดีๆว่า อาตมาให้ในเรื่องวัตถุเงินทอง ไม่ได้หรอก อาตมามีแต่ธรรมะเท่านั้น ที่จะให้ได้

เรื่องนี้เป็นอรูปอัตตาที่เกิดมาจากโอฬาริกอัตตา เธอต้องการเงินให้ลูก แต่ความคิดและวิธีการให้ได้มา ซึ่งเงินนั้น ถึงขั้น ทำให้เธอมุสา และขาดหิริโอตตัปปะ นั่นคืออรูปอัตตานั้นทำให้คนเสื่อมเสีย กล้าที่จะทำบาป และผิดศีลได้ เพื่อให้ได้มา ซึ่งสิ่งที่ต้องการ ตามความคิดเห็นของตน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอรูปอัตตาที่เกิดมาจากมโนมยอัตตา คือมีพระรูปหนึ่งโทรมาบอกว่า ท่านได้ท้า พระพุทธเจ้า ทางกระแสจิต และถามพระพุทธเจ้า ว่าพ่อท่านเป็นศาสนาพุทธหรือเปล่า พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าเป็น จากนั้น ทำให้ท่านเป็นบ้าไปเลย อีกหลายวันต่อมา พระรูปเดียวกันนี้ก็โทรมาอีก ถามพ่อท่าน ด้วยสงสัยว่า ตนจะบรรลุ ธรรม หรือเปล่า ทั้งสองครั้งคราวนี้ พ่อท่านก็เอื้ออธิบายให้ เพื่อไถ่ถอนความเชื่อความเห็นที่ผิดๆนั้น แม้จะรู้ว่า อาการของท่านนั้น เป็นอรูปอัตตา ที่ดิ่งลึก ยากที่จะแก้ไขความคิด ความเชื่อของท่านได้

พระอีกรูปหนึ่งมาจากจันทบุรีขอพบพ่อท่าน ในขณะที่พ่อท่านกำลังติดประชุม เมื่อผู้เขียนถามท่านว่า มีเรื่องด่วน อะไรหรือเปล่า ท่านก็บอกว่า เป็นเรื่องระหว่างท่านกับพ่อท่าน คือท่านมาขอบคุณที่พ่อท่าน ได้ส่งกระแสจิต ไปช่วยท่าน และขอขมา ที่ท่านเคยเพ่งโทษ ถือสาพ่อท่าน ผู้เขียนพยายามอธิบาย ให้ท่าน คลายจาก ความหลงผิด กับ มโนมยอัตตาว่า ทุกวันนี้ พ่อท่านมีงานเยอะมาก จึงไม่มีเวลา จะส่งกระแสจิต ไปให้ใครหรอก ท่านมีอุปาทาน ไปเองหรือเปล่า ที่เข้าใจว่า พ่อท่าน ส่งกระแสจิต ไปช่วย ดูเหมือนท่านจะเห็นว่า ผู้เขียน ไม่เข้าใจท่านหรอก แล้วท่านก็เขียนข้อความ ฝากผู้เขียนส่งต่อ ให้พ่อท่านด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมีในปลาย เดือนนี้ ชาวอโศกส่วนหนึ่งตั้งใจให้คะแนนกับ ดร.มานะ อีกส่วนหนึ่ง ให้กับ ดร.วุฒิพงษ์ และอีกส่วนหนึ่ง ให้กับ ดร.นิติภูมิ นอกนั้นก็อาจจะมีให้กับผู้สมัครรายอื่นๆอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเด่น เป็นกลุ่มก้อน เหมือนเช่น สามท่าน ที่กล่าวมานี้ จึงมีผู้เป็นห่วงว่า เสียงจะแตก ที่สุดแล้ว ทั้งสามท่านนี้ก็อาจจะ ไม่ได้รับเลือกเลย ผู้ที่ไม่ต้องการ ให้มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็อาจจะได้รับเลือกเข้ามาได้ ถ้าอย่างนั้นชาวอโศกมาคุย และตกลงกัน ดีกว่าไหม ว่าให้เลือก คนใดคนหนึ่ง ในสามท่านนี้ เพื่อที่คะแนนเสียง จะได้เป็นเอกภาพ โอกาส ชนะจึงมี ไม่เช่นนั้น กระจัดกระจาย เสียงแตกหมด

พ่อท่านเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นอิสระ ใครรักใคร ชอบใคร จะไปช่วยใคร ก็ให้เป็นสิทธิส่วนตัว ถ้าเราไปเกณฑ์ ไปกำหนด หรือไปล็อบบี้ ให้เลือกใคร อย่างนั้นมันไม่ใช่ประชาธิปไตย และถ้าคน กทม.จะเลือกคนไม่ดี เข้ามาเป็น ผู้ว่าฯ กทม. มันก็เป็นกรรม เป็นวิบากของสังคมเท่านั้นเอง เราจะไปทำอะไรได้ ในเมื่อคนส่วนใหญ่ เขาจะเอาอย่างนั้น ส่วนใครจะได้ ใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เราก็ไม่มีปัญหา เพราะอย่างไร เราก็มี คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ ของเราอยู่แล้ว

ได้บอกมาตั้งหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า เรื่องผิด-ถูก เรื่องแพ้-ชนะ มันเป็นเรื่องของสมมุติสัจจะเท่านั้น ซึ่งสมมุติสัจจะ นั้น ไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนปรมัตถ์ สัจจะนั้นไม่ว่าใครจะผิด-ถูก แพ้-ชนะ ใจเรา จะไม่โลภ ไม่โกรธไปกับเขา อย่าว่าแต่เรื่องนี้เลย ธรรมะก็เหมือนกัน แม้คุณจะดี เก่ง และถูกต้อง มากที่สุด จริงๆด้วย แต่ถ้าคุณ ไปยึดถือ ความดี เก่ง หรือ ถูกต้องนั้นๆ มันก็คือกิเลส อรูปอัตตาของคุณเท่านั้นเอง.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชมร. ช.ม.ทำบุญวันเกิด ครบรอบนักษัตร
พ่อท่านเทศน์ให้พรจากบ้านราชฯ

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ เป็นวันครบรอบ ๑๒ ปีของการก่อเกิดร้านชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ ทาง ชมร.ช.ม. จึงได้จัดให้มีการทำบุญขึ้นที่ร้าน โดยในวันดังกล่าวพ่อท่านได้เทศน์โปรดลูกๆ ชาวชมร.ช.ม.ด้วย น้ำเสียง ที่คมชัด และแฝงไว้ด้วยความเมตตา เอื้อเอ็นดู ตลอดเวลา ๘ นาที ที่ได้เทศน์ผ่าน ทางโทรศัพท์ทางไกล และแม้พ่อท่านจะมีอายุมาก แต่ก็ยังแข็งแรง ทั้งกายและใจ ทั้งเป็น ตัวอย่างที่ดี ซึ่งหาได้ยาก ในสังคมยุคนี้ ทำให้เกิดความปีติยินดี กับชาวชมร. ช.ม. เป็นอย่างยิ่ง

ต่อจากนั้น สมณะทุกรูปได้แสดงธรรมต่อโดยเน้นย้ำเตือนคำสอนของพ่อท่านสู่พวกเราญาติธรรมอีกครั้ง

เนื่องในงานครั้งนี้ ชาวชมร.ช.ม. ได้ระลึกถึงบุญคุณและขอกราบคารวะแทบเท้าพ่อท่าน พร้อมด้วยสมณะ - สามเณร ทุกรูป และขออนุโมทนา ชาวอโศกทุกฐานะ รวมไปถึงบรรดาลูกค้าทุกคนที่มาร่วมงานบุญ ได้ช่วยกัน เตรียมงาน เตรียมสถานที่ เตรียมอาหาร บริจาคผักและผลไม้ ไร้สารพิษ ข้าวหม้อแกงหม้อ ทำให้วันนั้นทุกคน ที่มาร่วมงาน ต่างอิ่มทั้งอาหารกาย อาหารใจ กันถ้วนทั่ว สำหรับการจัดงานปีนี้ลงตัวกว่าทุกปี ที่ผ่านมา โดย มีลูกค้าหลายคน ช่วยทำบุญและนั่ง ฟังธรรมด้วย

นอกจากนี้คณะพยาบาล (สุขภาพบุญนิยม) ยังได้มาทำการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตให้ญาติธรรม ส่วนทาง ประชาสัมพันธ์ ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึง เรื่อง สถาบันบุญนิยม เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในระบบขององค์กรและสมาชิก องค์กรต่างๆ และมีการสมัครสมาชิกเครือข่าย ภูผาฟ้าน้ำในวันนี้ด้วย.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


'ซูเปอร์มาร์เก็ต' กลางป่า

คนในเมืองคงไม่ปฏิเสธ ถ้าจะกล่าวว่า ดิสเคาน์สโตร์ อย่างโลตัส คาร์ฟู บิ๊กซี และห้างอื่นๆอีกมากมาย มีความสำคัญ กับปากท้อง ทั้งในเรื่องอาหารการกินตลอดจนข้าวของเครื่องใช้หลากหลายชนิดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แตกต่างจาก ชาวปกาเกอะญอ บ้านหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใน หุบห้วยหินลาด แทรกตัว อยู่ในผืนป่าใหญ่ ซึ่งมีความสูงประมาณ ๙๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

ชาวบ้านที่นี่พึ่งพาป่า โดยแทบ จะไม่ต้องพึ่งพาตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะแบบแผนทางการผลิต ของชาวบ้าน หินลาดใน เป็นระบบเกษตร บนพื้นที่สูงที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวในพื้นที่ป่าชุมชน หรือ ป่าอนุรักษ์ ที่ชาวบ้าน กำหนดขึ้น มีทั้งการผลิต และการกิน ใช้ผลผลิตจากป่า ซึ่งผูกโยงกับวิถีชีวิต และ วัฒนธรรมชาวบ้าน อย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกัน พื้นที่รอบหมู่บ้าน ก็ทำสวนชา หรือสวนเมี่ยงตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังทำ ไร่หมุนเวียน และนาดำ เป็นฐานแห่งการดำรงชีวิต กล่าวได้ว่าหมู่บ้าน เป็นต้นแบบ ของการจัดการ ป่าชุมชน อีกแห่งหนึ่ง

เตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ระบุว่า ชุมชนบ้านหินลาดในมีศักยภาพในการปกป้องและ รักษาป่า อย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านจำนวน ๒๐ ครัวเรือน ดูแลรักษาป่าประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ โดยไม่ต้องใช้ งบประมาณ ใดๆ เป็นภูมิปัญญา เป็นวิถีชีวิตจริงๆ การดำรงชีวิตของพี่น้องปกาเกอะญอ เป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนว พระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอที่นี่มีรูปแบบการผลิตที่ผสมผสานลงตัว ชีวิตของชาวบ้าน กับผืนป่าเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ปรีชา ศิริ อดีตพ่อหลวง ปัจจุบันเป็นผู้นำหมู่บ้านของบ้านหินลาดใน บอกว่า อาหารของชาวบ้านมาจากป่า มีอาหารการกิน ทุกฤดูกาล อย่างในนาไม่ใช่เป็นเพียงแค่การปลูกข้าวเท่านั้น แต่ชาวบ้าน ที่นี่ปลูกพืชผัก ที่เก็บกินได้ ตลอดปี เช่น แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ไม่ต้องพึ่งพา ตลาดสด เป็นไร่หมุนเวียน.

(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๕ ก.ค.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


๗๒ พรรษา ราชินี
'ธนาคารอาหารชุมชน'พระราชดำริห่วงใยภาวะขาดแคลน

"อาหาร" เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ แต่นับวันปริมาณอาหารลดลง จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและ การลดลง ของ ทรัพยากร ธรรมชาติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึง ความสำคัญ ในเรื่องนี้ จึงทรงมี พระราชดำริ ให้จัดตั้ง "โครงการธนาคารอาหาร ชุมชน" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ของคนไทย ในอนาคต เริ่มแห่งแรก ที่หมู่บ้านใน จ.เชียงใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้สนองพระราชดำริ

คุณหญิงประไพศรี พิทักษ์ไพวัน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มี พระราชเสาวนีย์จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง อ.อมก๋วย จ.เชียงใหม่ และที่ บ้านปางขอน จ.เชียงราย โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งอยู่ตามตะเข็บชายแดน มีชาวไทยภูเขา อยู่หลายเผ่า พื้นที่อยู่บนที่สูง และเป็นบริเวณ ที่บุกรุกแผ้วถาง เนื่องจากชาวไทยภูเขา ทำไร่เลื่อนลอย ครั้นเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทรงทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ ของเกษตรกร ทอดพระเนตรเห็น ราษฎรอยู่อย่างยากลำบาก น้ำในการทำ เกษตรกรรมไม่มี จึงรับสั่งว่า "ถ้าตั้งสถานี พัฒนาเกษตรที่สูง จะช่วยให้ชาวบ้าน มีงานทำ" จึงเป็นที่มาของการตั้ง โครงการสถานี พัฒนาเกษตรที่สูง ในพื้นที่ต่างๆ และในโครงการ พระราชดำริ ทุกโครงการ รับสั่งว่า ให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งอาหาร จึงมีเรื่องของการปลูกข้าว ปลูกผลไม้ ปลูกผักสวนครัว ฯลฯ

ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้งโครงการธนาคารอาหาร ชุมชนว่า เกิดจาก ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ใน จ.แม่ฮ่องสอน ในศูนย์พัฒนาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน โครงการพัฒนา ตามพระราชดำริ เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ โดยมี พระราชประสงค์ สำคัญ ๓ ประการคือ การพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของราษฎร และการพัฒนา เพื่อความมั่นคง ซึ่งการดำเนินโครงการ ตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก้าวหน้าขึ้น เป็นลำดับ ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้พัฒนา จ.แม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งผลิตอาหาร เลี้ยงตนเอง และหรือจำหน่าย ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเริ่มสร้างแหล่งอาหาร ตั้งแต่ป่า จนถึงชุมชน

"ในเดือน มี.ค.๔๓ โครงการธนาคารอาหารชุมชนจึงเริ่มดำเนินการขึ้นในพื้นที่ดำเนินการครอบคลุม ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาป่าแปก บ้านห้วยมะเขือส้ม และบ้านรวมไทย เป็นพื้นที่การเกษตรปลูกป่า และพืชสมุนไพร โดยมีคณะทำงาน ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับพื้นที่ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการพิจารณาพื้นที่คัดเลือก จากการเป็นพื้นที่ป่าไม้ มีแหล่งน้ำ มีชุมชน มีหน่วยงานสนับสนุน โดยยึดแนว พระราชดำริสำคัญ ๒ ประการ คือ แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการจัดสร้างธนาคารข้าว และ พระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข รวมทั้งการดูแลรักษาป่า ในพื้นที่ชุมชน ของตนเอง" ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลำดับความเป็นมา

คุณหญิงประไพศรีกล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งว่า ทรงเคยฟังรายงานของนิตยสาร FAO รายงานว่า ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า โลกจะขาดแคลนอาหาร ถ้าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น และ ถ้าประชากรเพิ่มขึ้น จึงรับสั่งว่าควรจะมีการเตรียมในเรื่อง ธนาคารอาหาร โดยมีเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุด...

(บางส่วนจาก นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๖ ส.ค.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ทำบุญฉลองศาลาหลังใหม่ ในจ.อุบลฯ
มีการอภิปรายเรื่อง "การค้าเสรี" พร้อมเปิดตลาดไร้สารพิษที่อุทยานบุญนิยม

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ อุทยานบุญนิยมในวันนี้ มีสภาพแวดล้อมสมชื่ออุทยานมากยิ่งขึ้น บริเวณ มุมถนนเทพโยธี และถนนศรีณรงค์ จัดเป็นน้ำตก ฝีมือทีมหรรษา ถัดมาเป็นศาลาหลังใหม่ ตั้งตระหง่าน ซึ่งวันนี้จัดเป็น เวทีสาธารณะ ส่วนเฮือนไทยหลังเก่า เป็นศาลาฉันภัตตาหาร

วันนี้อุทยานฯเปิดโรงบุญ แจกอาหารฟรีตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. ทางด้านตลาดนัดกสิกรรมไร้สารพิษ พ่อค้า แม่ค้า ร่วมใจ ขายขาดทุน (กำไรอาริยะ) เนื่องในโอกาสฉลองศาลาทรงไทยหลังใหม่

๐๙.๐๐ น. พ่อท่านแสดงธรรม

๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. เสวนาเรื่อง "เขตการค้าเสรีเรื่องใกล้ชิดคนอุบล" โดยสำนักงานโครงการชีวิตสาธารณะ อุบลฯน่าอยู่ (ฮักแพง แปงอุบล) ร่วมกับสำนักงาน โครงการพัฒนาเครือข่ายประชาสังคม ในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จังหวัด อุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย อจ.นพพร พันธ์เพ็ง อาจารย์ด้าน เศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัย อาชีวศึกษาอุบลฯ ผู้ร่วมรายการ ประกอบด้วย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ในฐานะผู้นำ ของชาวอโศก ซึ่งมีวิถีการดำเนินชีวิต ที่เรียบง่าย พึ่งพาตนเองสูง เน้นการบริโภคอาหาร ที่ผลิตขึ้นเอง และการทำ เกษตรไร้สารพิษ

นายแพทย์นิรันทร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลฯ ในฐานะที่ทำงานเชื่อมประสานนโยบายระดับชาติสู่วิถีชีวิตชุมชน ในท้องถิ่น

นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการโครงการการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งคลุกคลีเรื่อง เขตการค้าเสรีมายาวนาน

นางวิไลวรรณ ธานี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบุกลาง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ในฐานะเกษตรกรและประธาน กลุ่มแม่บ้าน ผู้มีอุดมการณ์ พัฒนาชุมชนและลงมือกระทำจริง

ได้รับความสนใจจากชาวอุบลฯ ร่วมนั่งฟังจนเต็มศาลา ประมาณ ๑๐๐ กว่าคน ทั้งนักวิชาการ นักพัฒนาชุมชน เกษตรกร กลุ่มต่างๆ นักศึกษาปริญญาตรี-โท สาขาพัฒนาจากมหาวิทยาลัยอุบลฯ และประชาชนทั่วไป รวมทั้ง ญาติธรรม มีการ ซักถาม เสนอความคิด และแลกเปลี่ยน ความคิดอย่างกว้างขวาง แล้วรับประทานอาหาร ร่วมกัน

ผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

นายแพทย์นิรันทร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว. อุบลราชธานี "วันนี้เป็นวันที่ดี เพราะว่าเรามีบุญหลายอย่าง บุญที่ได้ร่วม ฉลองศาลา ถึงแม้จะเป็นวัตถุ แต่เป็นสถานที่ที่หล่อหลอมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ที่ยึดมั่นในสันติภาพ ความรัก ความเข้าใจ และช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน บุญที่สองคือเรามาทำให้จิตใจเรามีความคิด ในเรื่องของ การทำงาน และเข้าใจ ในสังคมมากขึ้น คือมาพูดคุยในเรื่อง ของการค้าเสรี ได้เรียนรู้ว่า อะไรที่เป็นตัวกระทบ ต่อเรื่องของการทำบุญทำความดี ในสังคมไทย เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราจะหาวิธีป้องกันให้คนไทยเรา อยู่ในสังคม ที่มีความรักเอื้ออาทร อย่างแท้จริง ไม่ใช่สังคม ที่อยู่ด้วยกัน ด้วยธุรกิจหรือการค้า แล้วเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง การรู้เท่าทัน ในภาวะของสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของทุน เป็นหลักบริโภคนิยม น่าจะเป็นสิ่งที่ มีความสำคัญ ที่ชาวพุทธรู้เท่าทัน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดหายนะ ในสังคมไทย การได้พูดคุย ในสถานที่ ที่เป็นบุญ เป็นกุศล ก็จะทำให้เรามีกิจกรรมที่เป็นบุญได้มากขึ้นเรื่อยๆ สถานที่แห่งนี้ เหมาะมาก เพราะเป็น สาธารณะ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม เป็นนิมิตหมายใหม่ว่า เรามีศาลาแห่งใหม่ ที่เป็นศาลา บุญนิยม จะเป็นประโยชน์ต่อคนอุบลฯ ต่อคนอีสานใต้"

นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "มาที่นี่เป็นครั้งแรกประทับใจมาก ไม่เคยทาน อาหารมังสวิรัติ มาก่อน ไม่คิดว่าจะอร่อยขนาดนี้ ประทับใจรูปแบบของความมีน้ำใจ ทักทาย อัธยาศัยดี ผมคิดว่าที่นี่ เป็นสถานที่ที่ควรจะมาพบปะพูดคุย ได้ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผมหวังว่าที่นี่จะเป็นศูนย์กลาง ของชุมขน เป็นแหล่งทั้งความรู้และแหล่งที่มีอาหารไร้สารพิษ ผมเห็นว่า ตรงนี้สำคัญ เนื่องจากว่า มันสะท้อน ความสามารถ ในการพึ่งตนเอง ของชุมชนและของกลุ่มคนได้ ผมอยากให้ตรงนี้ขยาย สะท้อนบริบท ของสังคมไทยด้วย ไม่อยากให้ จำกัดเฉพาะ ในแวดวงที่มองเห็น เป็นชุมชนเล็กๆ เพราะผมคิดว่า แนวความคิดนี้ อาจจะไม่ได้รับ ความสนับสนุนเท่าไร เนื่องจากว่าเราเปิด การค้าเสรีทางการค้า กับประเทศอื่นๆ มากๆ การที่เรามาแลกเปลี่ยน โดยที่ไม่เอาเรื่องของ การค้ากำไร เป็นตัวตั้ง ผมถือว่าจริงๆแล้ว ทางเศรษฐศาตร์ มันดำเนิน ได้แต่คน มักจะมองข้าม"

นายสุชัย เจริญมุขยนันท์ ผู้ประสานงานจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุประชาสังคม จ.อุบลราชธานี "กับโลกที่ กำลังร้อนในเรื่องของ การพยายามเอาทุกอย่างเข้าตัว แต่ในงานนี้ก็ได้เห็นการเสียสละ ไม่ว่าจะเป็น โรงบุญ ที่เลี้ยงอาหารฟรี พืชผักที่นำมาขาย กันอย่างขาดทุน ที่นี่เรียกกำไรอาริยะ และยังมีองค์ความรู้ ที่จะให้ในเรื่อง ของเขตการค้าเสรีด้วย เรียกว่า เป็นส่วนที่หายาก ผมรู้สึกว่า น่าจะมีเวทีอย่างนี้ เกิดขึ้นเยอะๆ แต่ก็เป็นไป ไม่ได้ง่ายๆ เพราะองค์ประกอบที่จัดได้แบบนี้ เป็นการสั่งสมบารมี มายาวนาน"

นายนพพร พันธ์เพ็ง อจ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาศึกษาจ.อุบลฯ "ตรงนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางที่จะให้ความรู้แก่ คนอุบล เพราะอยู่ใกล้ คนอุบลฯได้มีโอกาสแสดงความคิด ผมมาในฐานะ ผู้ดำเนินรายการ เพื่อให้ผู้ฟัง ได้เข้าใจว่า เอฟทีเอ คืออะไร และส่งผล อย่างไร ต่อคนไทย ผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง เพื่อจะเป็นข้อมูลหนึ่ง ในการที่จะทำให้พี่น้อง เห็นว่า เอฟทีเอ ควรจะคัดค้าน หรือ ควรจะส่งเสริม หรือจะแสดงจุดยืน อย่างไร กลุ่มคน บุญนิยม มีความเป็นอยู่ อย่างพอเพียง มีเรื่องราวเศรษฐกิจ ที่น่าศึกษา มีแนวทางที่ชัดเจน ว่าตนเองทำอะไรอยู่ ซึ่งคนสามารถ เข้ามาศึกษาได้ ทำเลที่เหมาะมาก"

นางรัญญา ชนะสิมา เกษตรกร อ.สำโรง "ที่มาวันนี้อยากมาฟังว่าการค้าเสรีจะมีผลกระทบอย่างไร ฟังแล้ว เข้าใจ จะนำไปพูดคุย ในกลุ่มคนที่หมู่บ้านเพื่อทำความเข้าใจ มาที่นี่เป็นครั้งแรก บรรยากาศดีมาก"

นายธีระพล อันมัย จนท.โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ มนุษยชน จ.อุบลราชธานี "เป็นบรรยากาศที่ดี เรื่องที่ฟังเป็นสิ่งที่คนไทยควรรู้ สิ่งที่รัฐบาลทำไป แต่คนไทย ไม่รู้เลย แต่เกษตรกร ได้รับผลกระทบ จัดงานที่นี่ดีอยู่ใจกลางเมืองและชุมชนอโศกเป็นต้นแบบ เป็นชุมชน ทางเลือก ของสังคม

ปัจจุบันคนหันสู่กระแสบริโภคนิยมมากขึ้น ที่จะลงมือสร้างเอง ทำเอง กินเอง และมีเหลือก็เผื่อแผ่ ตรงนี้เป็น ต้นแบบ และตรงนี้ น่าจะเป็นเวทีกลางให้กับชาวบ้านหลายๆครั้ง"

นายปริญญา สิงห์เรือง ธ.ก.ส. สาขาตระการพืชผล "ผมมาที่นี่เป็นประจำ ได้ฟังเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวบ้าน ได้รับ ความรู้ ที่น่าจะเป็น ประโยชน์ต่อเกษตรกร สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่ปรับตัว จะเป็นปัญหาภายหลัง การที่เรา ได้รับรู้ ข่าวสารทำให้เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ทัน พวกบุญนิยม ได้แนะนำมานานแล้ว คิดว่าพี่น้อง ประชาชน น่าจะหันมามอง กลุ่มนี้เขาเข้มแข็งมานาน ทางเลือกทางรอด น่าจะมาในส่วนของ บุญนิยม ดีกว่าที่เราจะวิ่งตาม กระแสทุนนิยม ผมว่าที่นี่ น่าจะเปิดเวทีเรื่อย ๆ"

นายชัยรัฐ บุญศิริโชควัฒนา อจ. วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี "ผมมาประจำทุกวันเพราะชอบอาหาร ที่ไม่มี เนื้อสัตว์ และที่ชอบมากๆ คือน้ำตก เป็นธรรมชาติ เขาออกแบบดี ชีวิตอยู่กลมกลืน กับธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ ดีมาก โอกาสที่จะพบเจอ ไม่ใช่ง่ายๆ ผมเห็นด้วยกับคำคม ของหลวงพ่อโพธิรักษ์ที่ว่า เอาคนดีมารวมกัน แล้วคนเลว จะถูกกำจัดไป ผมอยากให้ บุญนิยมขยายออกไป เป็นอำเภอ บุญนิยม จังหวัดบุญนิยม ผมรู้สึกว่า ที่นี่ เป็นบ้านของผม หลังหนึ่ง"

คุณวิลาวัลย์ เอื้อวงศ์กูล ผู้ประสานงานโครงการชีวิตสาธารณะ อุบลน่าอยู่(ฮักแพง แปงอุบล) "จัดเวที ครั้งก่อน ที่ข้างพิพิธภัณฑ์ ได้รับความสนใจน้อย จัดที่นี่ได้ร่วมมือ กับกลุ่มคน ที่มีอุดมการณ์ชัดเจน มีการนำอาหาร ไร้สารพิษ มาให้กิน คนแวะเวียนมา มีหลายอาชีพ ไปมาสะดวก โดยวิถีของคนอโศกเอง จึงน่าจะเป็นทางออก ทางหนึ่งของ กรณีวิกฤติ จึงอยากจะมีกิจกรรม ลักษณะนี้ด้วยกัน ที่นี่มีความเป็นธรรมชาติ มีองค์ประกอบ หลายอย่างดี เหมาะที่จะเรียกว่า เวทีสาธารณะ"

นายปิยทัศน์ ทัศนิยม ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อ. สำโรง "ได้ทั้งอาหารกายและอาหารใจ อิ่มความรู้ อิ่มเอม เอื้อเฟื้อแบ่งปัน โดยเฉพาะ การขายสินค้า จากสมาชิกเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ เอาสินค้าที่ ปราศจาก สารพิษ มาให้พี่น้องในเมืองได้กิน ผมว่าสุดยอด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อาหารเป็นหนึ่งในโลก เรามาแจกจ่าย อาหาร ที่เป็นอาหารบริสุทธ์ ย่อมถือว่า ดีที่สุด แล้วนอกจากนั้นเรายังได้ฟังธรรมจากพ่อท่าน"

นายอัมคา ธานี เกษตรกรบ้านบุกลาง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี "วันนี้ผมเอา ผลไม้ไร้สารพิษมาขาย มาขายที่นี่ เป็นประจำ มาทั้งครอบครัว อาทิตย์ละสองครั้ง แต่ก่อนไม่เคยขาย มาหัดขายก็ดี มาแล้วสบายใจ ได้พบพี่ พบน้อง จากหลายหมู่บ้าน และดีใจ ที่ให้พี่น้องคนเมืองอุบล ได้กินของราคาถูก ขายขาดทุนแล้วได้บุญอิ่มใจ".

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ผักไร้คุณภาพทะลักเข้าไทยระวังกินแล้วอาจท้องร่วงได้

ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประทานสัมภาษณ์ระหว่างเสด็จเยือนงานพืชสวนนานาชาติ (Pacific Flora) ณ ประเทศญี่ปุ่น ถึงพืชผัก ผลไม้ จากประเทศจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยในขณะนี้ว่า หลังจากที่ประเทศไทย ได้เปิดเขต การค้าเสรี กับทางประเทศจีน ปรากฏว่า มีพืชผัก-ผลไม้ทะลักเข้ามา ในประเทศไทย จำนวนมาก โดยขนส่ง มาทางเรือ ทำให้มีต้นทุนถูกเมื่อเทียบกับราคาพืชผักในประเทศไทย ที่สำคัญคนไทยเอง ก็ชอบของถูก จึงน่า เป็นห่วง ทั้งเกษตรกรไทย และคนไทยในเวลานี้ ที่รับประทานผักถูก แต่อาจไม่ปลอดภัย เนื่องจากเคยไปเห็น การปลูกผักหลายๆ แหล่งของจีน ไม่ว่า ที่เชียงรุ้ง คุนหมิง เกษตรกรของเขา ยังใช้ปุ๋ยส้วมรดพืชผักอยู่เลย หากคนไทย บริโภคเข้าไป ก็อาจเป็นอันตราย ต่อสุขภาพได้ เพราะที่ผ่านมามีรายงานตัวเลขของผู้ป่วย ที่เป็นโรคท้องร่วง หรือโรคทางเดินอาหาร ในประเทศจีน สูงถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์

"อยากให้คนไทยหันมาบริโภคผักในประเทศไทยเรา ซึ่งเดี๋ยวนี้มีการผลิตพืชผักปลอดภัยสารพิษ ออกสู่ตลาด มากขึ้น อย่างตราดอยคำ ของโครงการหลวงเอง ปัจจุบัน ผลิตส่งออกไป ตลาดต่างประเทศ แทบไม่ทัน ความต้องการ และผลิตภัณฑ์ ของโครงการหลวงเอง ก็ได้รับการรับรองทั้ง GAP, HACCP,GMP และเร็วๆนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะมอบรางวัลตัว Q ให้หน่วยต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด ๓๗ ศูนย์ด้วย ซึ่งนับเป็นรายแรกๆ ของประเทศ ที่ได้รับการรับรอง เรื่องพืชผักสมบูรณ์ที่สุดในเวลานี้".

(จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๙ เม.ย.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


บ้านราชฯ จัดกิจกรรมอนุโมทนาจิต

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ชุมชนราชธานีอโศก จัดกิจกรรมอนุโมทนาจิต เนื่องในงาน อุปสมบท นาคสุวัฒชัย สิงห์คำ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี ณ บริเวณชั้นล่าง เฮือนศูนย์สูญ มีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานประมาณ ๒๐๐ คน ซึ่งส่วนมากอยู่ในแวดวงตุลาการ อาทิเช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ตำรวจ และข้าราชการ หน่วยอื่นๆ

๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น. นายชัยวัฒน์ เตชะวิจิตรชัย ท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงอุบลราชธานี เป็นประธาน กล่าว อนุโมทนาจิต ต่อมา นายเอกมัย ศรีกฤษณรัตน์ ประธาน ผู้พิพากษาสมทบ, นายวิสิทธิ์ ศักดิ์สิงห์ ประธาน ทนายความ จังหวัด อุบลราชธานี และ น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ กล่าวอนุโมทนา มาตามลำดับ หลังจากนั้น ผู้เตรียมบวช กราบขมาบิดามารดาและ ผู้มีพระคุณ และกล่าวขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน

๐๙.๓๐-๑๑.๐๐ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ แสดงธรรมเรื่อง "ทรัพย์แท้ๆของมนุษย์" เป็นการแสดงธรรม แบบ กระชับ และเข้มข้น แยกถูกผิด ช่วงท้ายของการแสดงธรรมมีผู้ซักถาม ๑ คน

๑๑.๐๐ น ร่วมรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์บนชั้นสอง โดยจัดโต๊ะอาหารอยู่กลางห้องโถง โต๊ะนั่ง รับประทาน อยู่ทางด้าน ตะวันออก ตะวันตก และจัดมุมล้างจานให้ผู้รับประทานล้างจานเองบริเวณระเบียง ด้านทิศตะวันตก โดยเฉพาะ มุมวีไอพี จัดแบบหรูหรามาก แต่คลาสสิค ผู้ไปร่วมงานกล่าวว่าบรรยากาศยิ่งกว่า โรงแรมห้าดาว

นาคท่านสุวัฒชัย สิงห์คำ ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดป่า หนองหญ้าลาด บ้านโนนม่วงใต้ ตำบล หนองหญ้าลาด อำเภอ กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ท่านสุวัฒชัย สิงห์คำ อายุ ๓๒ ปีเกิดวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นบุตร ของนายอุดร สิงห์คำ และนางสนใจ สิงห์คำ สมรสกับนางวาสนา สิงห์คำ มีบุตรชาย ๑ คน ด.ช.เย็นกลางเพลิง สิงห์คำ

ท่านสุวัฒชัย สิงห์คำ เคยเป็นนักเรียนแซงแซวน้อยรุ่นแรกของศีรษะอโศก จบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ร.ร.กันทรลักษ์ วิทยา จ.ศรีสะเกษ, นิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง ม.ธรรมศาสตร์, ประกอบอาชีทนายความ, ทหารกองประจำการ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๖ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลฯ สอบเป็นผู้ช่วย ผู้พิพากษา รุ่นที่ ๔๑ ออกปฏิบัติหน้าที่ ผู้พิพากษา ครั้งแรก ที่ศาลแขวง อุบลราชธานี จากนั้นย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่ศาล จ.อุบลราชธานี ปัจจุบัน รับราชการ ที่ศาลเยาวชน และครอบครัว จ.อุบลราชธานี

ผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

นาคท่านสุวัฒชัย สิงห์คำ "ชีวิตผมคลุกคลีและคุ้นเคย กับศาสนามาตั้งแต่ยังเล็ก ตอนอายุ ๕-๖ ขวบ ย่าถ่ำ สิงห์คำ จะจัดอาหาร เพื่อไปถวายที่ศีรษะอโศก ช่วงแรกๆ ผมก็ไม่รู้สึกอะไร ก็ทำไปตามคำสั่งของท่าน ทำไปเรื่อยๆ ก็รู้จัก เข้าใจศาสนา จนอายุ ๑๕-๑๖ ปี อยากบวช ไม่อยากเรียนต่อ แต่ก็ได้รับการทัดทาน จากญาติ และสมณะมนาโป ว่าให้ได้เรียนรู้ โลกข้างนอกก่อน ใจเย็นๆ เราอาจจะมีปีติเกินไปก็ได้ จะทำให้ไม่ใช่ของจริง จึงได้ไปเรียน และทำงาน เป็นทนายความ และผู้พิพากษา และเป็นทหารเกณฑ์ มาถึงจุดที่ลงตัวในวันนี้ว่า

๑. การได้บวชเป็นการตอบแทนบิดามารดา

๒. มีแต่ความรู้และตรรกะว่าการเป็นนักบวชนั้นคงลำบากที่ต้องปฏิบัติถือศีลเคร่งมีวินัย อยากจะพิสูจน์ ด้วยตนเอง ถ้ายากจริง จะได้รู้ว่า ไม่ใช่ฐานะของตนเองที่จะทำได้ง่ายๆ การรับราชการ ๔-๕ ปี ที่ผ่านมา ตัดสินคดี ทุกวัน ใช้สมองเยอะ ทำให้การปฏิบัติธรรม เริ่มตกต่ำ ไม่เพิ่มอธิศีลให้กับตนเอง จึงอาศัย จุดนี้เป็นจุดพัก และเรียนรู้ อธิศีล

๓. ผมรับราชการที่อุบลฯมา ๔ ปี แต่เพื่อนร่วมงานหลายคนยังไม่เคยมาสัมผัสชาวอโศกหรือยังไม่เข้าใจ ผมเลย จัดงานบวช เพื่อนำพุทธศาสนิกชน ที่แสวงหา และมีความเลื่อมใส มาสัมผัสศาสนาพุทธ ในมุมมองที่ผมและ อีกหลายคน ยึดถือปฏิบัติมา และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และพิสูจน์ว่า สามารถที่จะพัฒนาตัวเอง ไปสู่จุดที่เจริญ ของตัวเองได้ อาจจะทำให้หลายคน เข้าใจอโศกมากขึ้น

และเป็นโอกาสเลี้ยงขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมมือปฏิบัติหน้าที่กันมา ขอมอบของขวัญที่คิดว่ามีค่าที่สุด ในชีวิต มีความยั่งยืน เที่ยงแท้กว่า ที่จะให้สิ่งอื่นตอบแทน และเป็นการค้นหาญาติพี่น้อง ที่มีเชื้อแห่งพุทธ ถ้าได้มีสะพานเชื่อม ก็ได้ติดตามญาติพี่น้อง ให้มาร่วมสร้างสรรสิ่งที่ดีให้แก่โลกต่อไป มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า งานครั้งนี้เราต้องเสียสละในการที่จะให้พ่อท่าน ได้ทำงาน ประกาศศาสนา ให้กับชาวโลกได้ ถ้าจะรอให้เขา เหล่านั้นได้มาสัมผัสด้วยตนเอง ก็ไม่รู้ว่าวันเวลา จะมีหรือไม่ เราเสียสละ เป็นสะพาน ให้คนเหล่านั้น เดินเข้ามาถึง ซึ่งเราก็ได้พัฒนาตนเอง ได้ขัดใจตนเองได้ลดละเลิก กิเลสตนเอง ขอกราบขอบคุณ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์, สมณะ, สิกขมาตุ,ญาติธรรม และนักเรียน ในชุมชนราชธานีอโศก ที่อุทิศแรงงานแรงใจ สร้างสรร ให้วันนี้ ได้บังเกิดขึ้น สำเร็จลุล่วงด้วยดี

งานนี้น่าจะเป็นการเปิดโลกของชาวอโศกให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมข้างนอกได้มาสัมผัส และเป็นงานที่ผม จะจดจำไป จนชั่วชีวิต และผมก็ดีใจที่มีพ่อท่านมาแสดงธรรมเทศนาให้แก่ผม ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยคิดว่า อยากให้พ่อท่าน บวชให้ แต่ก็คง เป็นไปได้ยากแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้ตัวเองได้ตระหนัก ครั้งนี้พ่อท่านได้เอื้อ และเสียสละให้แก่เรา เราต้องตั้งใจ ให้สมดั่งที่ท่าน มีความเมตตา ให้แก่เราในส่วนนี้ ขออานิสงส์ของงานนี้ ได้บังเกิดผลแก่ทุกๆ ท่าน ที่มีส่วนร่วมด้วยครับ"

นายนพดล ศรีชยันดร อดีตนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย "รู้สึกยินดีมากครับ ที่ได้เห็นผู้คน หลั่งไหล เข้ามา ร่วมงานกุศล เพื่อบวช สุวัฒชัย สิงห์คำ เขาเคยร่วมงานกับผม มานานหลายปี สมัยที่เป็นทนายความ ร่วมกัน รู้สึกภูมิใจกับเขา สถานที่ต้อนรับดีมาก อาหารเยี่ยมมาก"

นางสุณี ตริยางกูลศรี ประธานมูลนิธิของศาลเยาวชนอุบลราชธานี "จัดงานจัดได้ดีมาก ท่านสุวัฒชัย เป็นบุคคล ที่เพื่อนร่วมงาน รักใคร่ มาทานข้าวที่นี่อร่อยมาก ดีใจมาก ที่เห็นการช่วยงานจริงจัง บริการดีมาก ได้ฟังธรรม พ่อท่านเป็นรส พระธรรม อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะหาฟังได้น้อยมาก ต่อไปจะพยายาม มาฟังธรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ให้ดีขึ้น"

นายจรูญ กล้วยไม้ "ปลื้มที่สุด ไปมาหลายงานไม่เคยเห็นดีอย่างนี้ เห็นแล้วอยากจะมาช่วงเข้าพรรษา ขาแม่ ไม่ค่อยดี พ่อท่าน เดินมาพูดคุยทักทาย แม่ปลื้มมาก แม่เคยเจอพ่อท่าน สมัยกองทัพธรรม ที่โรงเรียน เบญจะมะ มหาราช เคยไปฟังเทศน์ และนอนที่นั่น คืนหนึ่ง เพิ่งจะได้มากราบพ่อท่าน แม่ดีใจมาก"

นายพิทยากูล หงส์ภักดี ทนายความ, อดีตกรรมการยุวพุทธิกสมาคม "มาที่นี่เป็นครั้งที่สาม เคยมาตั้งแต่ตึก ยังสร้าง ไม่เสร็จ วันนี้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก ท่านสุวัฒชัย เป็นคนนิสัยดี หลายคนรัก พิธีบวชของท่าน เป็นพิธีที่แปลกๆ ผมไม่เคยฟังสมณะโพธิรักษ์เทศน์ เป็นเทศน์ที่เข้าใจง่ายๆ เน้นแนวทางการปฏิบัติ ที่จะเผยแพร่ ศาสนา ผมมีความเห็นคล้อยตามท่านพ่อโพธิรักษ์ว่า การเทศน์ให้เอาเรื่องที่เป็นปกติในชีวิตเข้ามา อย่าไปเอาเรื่อง ที่ไม่เข้าใจฟังธรรมะ ได้ข้อคิด ที่ท่านเอาเพลงผู้แพ้ มาเป็นผู้ชนะ เพราะการทำงาน บางที เราจะท้อแท้"

คุณนวลศรี ศุภสุข "กิจกรรมแปลก ได้มาร่วมฟังเทศน์ฟังธรรม จากสมณะโพธิรักษ์ ฟังแล้วประทับใจ ท่านยึดถือ ตามหลัก พระไตรปิฎก เป็นครั้งแรกที่มาที่นี่ ประทับใจมาก"

คุณสุพรรณี ปรัศพันธ์ "ดีใจมาก เคยได้ยินแต่ชื่อของราชธานีอโศก มีครูรุ่นน้องที่ลาออกมาอยู่ที่นี่ ชื่อมิ่งหมาย ได้เจอกัน แล้วดีใจ พิธีกรรมเรียบง่ายแต่ขลัง อาหารก็อร่อยมาก ปกติไปอุดหนุน ที่อุทยานบุญนิยม"

นายธีระวัฒน์ บั้งทอง ผู้พิพากษาศาล จ.อุบลฯ "ประทับใจสภาพแวดล้อม คน และวิธีการจัดงาน ความเป็นอยู่ ดูสงบร่มรื่น ผมมาเป็นครั้งแรก คิดว่าโอกาสหน้า จะพาครอบครัวมาอีก"

นางสุชาดา เรืองฤทธิ์ "แม้ไม่ได้บวชของชาวอโศก แต่ก็มาจำพรรษาที่ศีรษะอโศก ไม่คิดว่าหลานจะตัดสินใจบวช ถึงสามเดือน ก็ขอเป็นกำลังใจ สิ่งที่ประทับใจที่สุด ตนเองอยู่อโศกมายี่สิบกว่าปี ไม่นึกว่าอโศกจะสามารถ เชื่อมกับคนข้างนอกได้ขนาดนี้ ขอขอบพระคุณ ญาติธรรมราชธานีอโศก การทำงานสิ่งนี้ เป็นสายเลือดของ พุทธธรรม"

น.ส.อุ่นเอื้อ สิงห์คำ "ไม่คิดว่าจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ บ้านราชฯทำเซอร์ไพรส์มาก ถ้าไม่ได้ทางบ้านราชฯช่วย งานนี้จบแน่ๆ ขอขอบคุณ ที่เป็นภาระให้ คิดว่าชีวิตหนึ่ง ไม่ธรรมดาที่สามารถมาจัดงานที่นี่ได้ และทุกคน เป็นภาระ กราบขอบคุณ พ่อท่านเสียสละมีเมตตา บินมาเทศน์ ให้พี่ชาย ท่านไม่ใช่คนธรรมดา ที่จะให้ค่าคนทั่วไป เราอยู่ในอโศก ต้องทำอะไรเพื่อตอบแทนพ่อท่านให้มากๆ"

น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ "หลานชายคิดว่าจะบวชให้โอกาสคนในอุบลฯมาฟังธรรมพ่อท่าน ซึ่งคนที่เขารู้จัก ในระดับ ผู้กำกับ ผู้การ อัยการ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ทนายความ โอกาสที่คนระดับนี้ จะมาวัดเราหายาก เขาเลยตั้งใจอย่างนี้

เขาเป็นเด็กที่ดีมากมาตั้งแต่เด็ก เรียนเก่ง มีความกตัญญู ดูแลน้อง ดูแลอา ตั้งใจเรียน ไม่เคยเกเร ได้เกียรตินิยม เหรียญทองธรรมศาสตร์ งานนี้มีนายเก่า และทีมงาน นั่งเครื่องบินมาร่วมงาน ตั้งแต่เมื่อวาน ตั้งใจมางานนี้จริง ๆ

ประทับใจที่เขานั่งอยู่ในใจคนและได้เห็นเขารู้จักเข้ากับผู้ใหญ่ได้ เขาเกิดอยู่ในธรรมะ ศึกษาธรรมะตั้งแต่ ม. ๒ เขาเติบโตมา จนถึงวันนี้ มาต่อยอดให้กับศาสนาอีก น่าจะเป็นบุญกับตัวเขา และงานของเขา ก็เป็นงาน ต้องตัดสินคน ถ้ามีคุณธรรม และยิ่งตัดสินได้ตรง จะดีมากขึ้น คาดไม่ถึงว่างานนี้ จะจัดได้ดีอย่างนี้ โดยเฉพาะ ผู้จัดประทับใจมาก".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

?P1_Prod_Version=ShockwaveFlash" type="application/x-shockwave-flash" width="200" height="200">
หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๓๖ (๒๕๘) ปักษ์แรก ๑-๑๕ ส.ค.๔๗

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวของชาวเราในหน้าปัดชาวหินฟ้าฉบับนี้ มีดังนี้

ขันธมาร...สมณะถักบุญ ซึ่งปีนี้จำพรรษาอยู่บ้านราชฯ เมืองเรือ แต่โยมพ่อโยมแม่ต้องอยู่ที่บ้าน เพราะสุขภาพ ของแม่บุญชู ไม่ดี พ่อนิทัศน์เล่าให้จิ้งหรีดฟังว่า หลังงานฉลองหนาว ปี ๒๕๔๖ แม่บุญชู บอกปวดขา พอปวด มากๆ ก็พาไปหาหมอ ที่คลินิค หมอฉีดยาให้และให้ยามากินก็รู้สึกดีขึ้น พอไปร่วมงานพุทธาฯ กลับมาก็บ่น ปวดขามาก พ่อนิทัศน์ก็พาไปหาหมอ ที่คลินิคอีก ระหว่าง ที่ไปงานพุทธาฯ พ่อนิทัศน์ไปช่วยเขา ทำบ้านดิน เขาบอกว่า นอนบ้านดินแล้วโรคปวดจะหาย พ่อนิทัศน์พอกลับมาบ้า นก็รีบทำบ้านดินให้นอน เพื่อจะให้แม่ บุญชู หายจากโรค และก่อนงานปลุกเสกฯ ก็บ่นปวดมาก พ่อนิทัศน์ก็เร่ง จะทำบ้านดินให้เสร็จ เพื่อให้แม่บุญชู ได้อยู่รักษาโรคปวดขา ขณะแม่บุญชู เดินอยู่ในบ้าน ขาข้างที่ปวดก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถึงกับเดินไม่ได้ และล้มลง แล้วลุกไม่ขึ้น นอนร้องไห้อยู่ในบ้าน พ่อนิทัศน์ซึ่งทำงานอยู่นอกบ้าน ก็ไม่ได้ยินเสียงร้อง นานพอสมควร จึงได้เข้าไปดูในบ้าน ก็เห็นแม่บุญชู ล้มนั่งอยู่กับพื้นบ้าน ถ้วยชามกระจัดกระจาย และเดินไม่ได้ อยู่หลายวัน ก็พาไปหาหมอฉีดยาอีก อาการเป็นปกติ และเตรียมตัวจะมาวัด แต่พ่อนิทัศน์ ให้รอดูอาการก่อน แต่พอหมด ฤทธิ์ยา ก็เป็นอีก หมอก็ไม่บอกว่า เป็นอะไร พ่อนิทัศน์จึงคิดรักษาเองที่บ้าน เพราะเป็นแพทย์แผนไทย จึงทำยา สมุนไพรให้กิน ทำลูกประคบให้ ก็รู้สึกดีขึ้น ก็ตั้งใจว่า จะไปวัดก่อนเข้าพรรษา เตรียมพร้อมแล้ว แต่พอพา ทดลอง เดินดู ก็เดินได้ไม่ถึง ๑๐๐ เมตร ขาก้าวไม่ได้ จึงพาไปโรงพยาบาลอีก หมอตรวจแล้วบอกว่า กระดูก สันหลังเสื่อม และกระดูกทับเส้น ห้ามไม่ให้นั่งนาน และโดนหมอว่าอีกว่า ทำไมปล่อย ให้เป็นมากขนาดนี้ แล้วให้ยามากิน และสั่งให้ไปพบหมอบ่อยๆ จึงยังไปวัดไม่ได้ แต่แม่บุญชู ก็พูดถึงแต่วัด และคิดถึง สมณะ และ ญาติธรรม ทุกคน บอกถ้า ไปวัดได้ คราวนี้จะอยู่นานๆ เผื่อตาย จะได้มีคนช่วยเผา เพราะญาติพี่น้อง ที่วัดเรา มีมาก อยู่บ้านก็มีแค่ ๒ คนตายาย ถ้าตายคงจะลำบาก

โยมพ่อนิทัศน์ก็พร้อมจะไปอยู่วัดเสมอ จากวัดไปหลายเดือนแล้ว ก็รู้สึกคิดถึงสมณะและพี่น้องญาติธรรม ทุกคน เพราะไปอยู่วัด มีสมณะเทศน์ให้ฟังและอบอุ่น เพราะญาติพี่น้องมาก พอไปอยู่บ้าน ๒ คน มันเงียบเหงา มาก วันแล้ว วันเล่า ไม่เห็นมีอะไร มีแต่ใกล้ตายเข้ามาทุกขณะ ก็เตรียม กระเป๋าเสื้อผ้าไว้หลายเดือนแล้ว ก็ไม่ได้ไปวัด เพราะต้องอยู่คอยดูแล แม่บุญชูไปก่อน ส่วนข้อมือ ของพ่อนิทัศน์ ที่ปวดไปให้หมอตรวจแล้ว ปรากฏว่า พังผืดอักเสบ รักษาไม่หาย ต้องผ่าตัดลอกเอาพังผืดออก ซึ่งพ่อนิทัศน์ ก็บอกให้หมอผ่าเลย แต่ก็ยัง ไม่ได้ผ่า แต่ให้ฉีดยาไปก่อน ซึ่งอาการตอนนี้ก็ พอทนได้ เพราะมืออีกข้างยังดี ขาก็ยังดีอยู่

แถมยังฝากบอกจิ้งหรีดอีกว่า สมณะรูปใดมีกิจเดินทาง ถ้าผ่านพิษณุโลกก็นิมนต์แวะที่บ้านได้เลย พ่อนิทัศน์ กับ แม่บุญชู ยินดีต้อนรับเสมอ

คำบอกเล่าของพ่อนิทัศน์ คงทำให้ได้คติชีวิตหลายอย่างนะฮะ โดยเฉพาะเรื่องสังขารขันธ์ เป็นอุปสรรค ในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าเป็นขันธมาร แต่ถ้าเราเจริญอยู่ในอาริยมรรค มีองค์ ๘ ก็จะสามารถ เอาประโยชน์ จากความเจ็บป่วย ให้เจริญธรรมได้ แต่ถ้าพลอินทรีย์อ่อนก็เอาประโยชน์ยาก และแม้เอา ประโยชน์ได้ ก็ไม่สามารถสร้างประโยชน์ท่าน ได้ดี เช่นผู้มีขันธ์ปกติ จริงไหม ฮะ สุดท้าย จิ้งหรีดก็ขอฝาก บอกนะฮะว่า ใครรู้ญาติธรรมเราเจ็บป่วยอะไร ก็เขียนมา บอกเล่ากันนะฮะ จิ้งหรีดขอเป็นสื่อกลาง ให้พวกเรารู้ เผื่อจะได้ช่วยอะไรกันได้...จี๊ดๆๆๆ...

ศิษย์เก่า นศ.ปธ....หลังจากจบการศึกษา ม.ปลาย จาก ร.ร.จอมทอง ก็ได้ทุน ของโครงการเพชรในตม เรียนที่ มศว. ประสานมิตร ในช่วงนั้นก็ได้มาช่วยเป็นครูพุทธธรรมที่สันติอโศก รุ่นนั้นยังมี อ๋อย อุ๋ย ดาว เป็น นร.พุทธธรรมอยู่ พอเรียนจบ คณะศึกษาศาสตร์ เอกประถมศึกษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ก็กลับไปสอน หนังสือเด็กๆ ที่บ้านเกิด จนถึงทุกวันนี้ ก็กลายเป็น ครูใหญ่ของ ร.ร.บ้านสบแปะ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นข้าราชการซี ๖ สอนชั้น ป.๑ - ป.๖ เพิ่งจะสมัคร เป็นสมาชิก นสพ.ข่าวอโศก ในงานคืนสู่เหย้า เข้าคืนรัง นศ.ปธ.ที่ผ่านมา ตอนนี้ (เช้าของวันที่ ๑๐ ส.ค.๔๗) ครูใหญ่ศรี ก็กำลัง เตรียมเข้าประชุม ๐๘.๐๐ น. โรงเรียน นี้มีครูแค่ ๓ คนนะฮะ ต่างกับ ร.ร.สัมมาสิกขา ที่มีครูเพียบ บางแห่งนั้น มีมากกว่านักเรียน ก็แสดงว่า นักเรียนของเรา โชคดีนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

สถาบันบุญนิยม...สำหรับความคืบหน้าของการจัดตั้งสถาบันบุญนิยม ซึ่ง มีจุดประสงค์ให้มีสถานะเป็น สถาบันกลาง ของเครือข่าย องค์กรบุญนิยมทั้ง ๑๑ ด้าน โดยให้สำนักงานเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ เป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งสถาบันบุญนิยมและดำเนินการ ให้แล้วเสร็จ ในปี ๒๕๔๗ และที่ประชุม ได้เลือกตั้ง คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๑๐ ท่านนอกเหนือจาก คณะกรรมการ ที่เป็นผู้แทน จากเครือข่าย องค์กรบุญนิยม ในแต่ละด้าน

โดยที่ประชุมได้มีมติ เลือกตั้งกรรมการ บริหารสถาบัน ดังนี้ ให้นายสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ เป็น ประธานสถาบัน,
นายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ เป็น เลขาธิการสถาบัน, ผู้แทนเครือข่ายองค์กรบุญนิยมแต่ละด้าน เป็น คณะ กรรมการ บริหารสถาบัน โดยขอให้สมาชิก เครือข่ายองค์บุญนิยม แต่ละด้าน ที่ยังไม่ได้คัดเลือก ผู้แทน เครือข่าย อย่างเป็นิ ทางการ ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้แทน เพื่อขึ้นมาเป็นกรรมการ สถาบันต่อไป, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ เป็น ผู้จัดการ สำนักงาน เลขาธิการสถาบัน, น.ส.ลัดดา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง เป็นรองผู้จัดการ สำนักงานฯ, ให้ทีมคณะกรรมการ ผู้ทรง คุณวุฒิมีบทบาท ในทีมเลขาธิการ สำนักงานเลขาธิการ สถาบัน และแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในทีมงาน เพิ่มเติม โดยแบ่งออก เป็น ๔ ฝ่าย คือ ฝ่ายแผนงาน และประเมินผล ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายข้อมูลข่าวสาร ฝ่ายบริหาร อีกจำนวนหนึ่ง

โดยให้คณะกรรมการบริหารสถาบัน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ๒ ปี (สิ้นสุดสมัยวาระ เดือน มิ.ย.๔๙), ให้คณะกรรมการ สถาบันบุญนิยม มีวาระประชุมสามัญประจำเดือน เดือนละ ๑ ครั้ง ในวันอาทิตย์ สุดท้าย ของทุกเดือน, ให้ทีมสำนักงาน เลขาธิการ จัดองค์กรกิจกรรมต่างๆของ ชาวอโศกให้อยู่ในหมวดหมู่ องค์กร บุญนิยม แต่ละด้าน และให้มี องค์กรบุญนิยม ที่เป็นนิติบุคคล รองรับสถานภาพ ทางกฎหมาย ในกรณีที่องค์กรสมาชิก อื่นๆ ต้องการ

และหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม จิ้งหรีดจะนำมาฝากในโอกาสหน้านะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ปรับปรุงศาลา พัฒนาตนเอง...ศาลา ฟังธรรมสันติอโศกวันนี้ดูกว้างขวาง และสวยงาม มีการปรับปรุงพื้นที่ บริเวณ ศาลาฟังธรรม จากเสื่อน้ำมันเป็นปูกระเบื้องสีสดใส เย็นตา และย้ายโรงครัว ไปรวมกันที่ ชมร. หน้าสันติฯ ใครมีเวลา ก็แวะไปช่วยปอกเห็ด เด็ดผักได้

หลังจากย้ายไปได้ ๒ สัปดาห์ ครัว ชมร.หน้าสันติฯก็ก้าวสู่ระบบสาธารณโภคี หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบ อาหาร ทำอาหาร ขึ้นศาลา ในแต่ละวัน ซึ่งจะไปปรุงอาหารที่นี่ แล้วก็สามารถ นำผักต่างๆที่ ชมร.หั่นเตรียมไว้ มาปรุงอาหาร ขึ้นศาลา ได้อีกด้วย โดยไม่แยกว่า ผักชนิดนี้ หั่นไว้สำหรับทำอาหารขาย จะเอาไปทำอาหาร ขึ้นศาลาไม่ได้ และหากมีแรงงานพอก็ทำเผื่อขายที่ ชมร. อีกด้วย นอกจากจะได้รวมกันเป็นหนึ่งแล้ว ลูกค้า ยังได้ชิมอาหาร หลากหลายของ แม่ครัวจากหน่วยงานต่างๆ ที่หมุนเวียนไป ในแต่ละวัน เป็นอีกก้าวหนึ่ง ของการพัฒนาระบบสาธารณโภคี ของชุมชนสันติฯ ของหน่วยงานชมร. โดยเฉพาะ ได้ลดอัตตาตัวตน ผักของข้า ใครอย่าแตะ! ส่วนใครลดได้กี่ตัว ย่องไปถามกันเอาเองนะฮะ.....จี๊ดๆๆๆ...

ไร้สารพิษ ๑๐๐ %... ที่กู้ดินฟ้ามีผักน้อยลงไปกว่าเดิม แต่มั่นใจได้ว่า ไร้สารพิษ ๑๐๐% เพราะเรานำพืชผักที่ ชาวอโศก หรือ เครือข่ายฯ ปลูกเท่านั้นมาจำหน่าย ที่นำมาขายประจำ ก็มีจาก วังน้ำเขียว, ร.ร.ผู้นำ และ ศีรษะอโศก ส่วนผลไม้ตอนนี้ ก็ทยอยมา จากธรรมชาติอโศก จ.ชุมพร ที่นำมาขาย นี่เหลือจากกระรอก กระแตกินแล้วนะ ...จี๊ดๆๆๆ...

ได้ฉลองน้ำแน่นอน...น้ำท่วมถนนเข้าบ้านราชฯเรียบร้อยแล้ว ทั้งทางหมู่บ้านกุดระงุมและหมู่บ้านคำกลาง คาดว่า ปีนี้ อาจจะได้ ร่วมงาน ฉลองน้ำ และระดับน้ำอาจสูงกว่าปีที่ท่วมสูงสุดด้วย ผลไม้อะไร ที่ใกล้จะสุก ผักอะไร ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ อย่าลืมส่งไปเยี่ยมเยียน พี่น้องบ้านราชฯ ด้วยนะฮะ ตอนนี้ก็ทยอยขนของแล้ว ส่วนกำหนด งานฉลองน้ำ จะมีหรือไม่ จะแจ้งให้ทราบ ในโอกาสต่อไป...จี๊ดๆๆๆ...

คุณเล็ก ดาบบุญ...หลายคนพูดเหมือนกันว่า เป็นผู้ที่ทำงานอย่างมีความสุข และสนุกกับการทำงาน ต้องยกให้ ผรช.ชมร. หน้าสันติฯ นอกจากมีความคิดสร้างสรรค์ บริหารจัดการดี มีน้ำใจ ยินดีรับใช้ เอาใจใส่ต่อทุกๆ คนแล้ว ยังเห็นแต่ใบหน้า ที่เต็มไปด้วย รอยยิ้ม อยู่ตลอดเวลา คุณเล็กมีเคล็ดลับอะไร ถึงมีความสุข อยู่ท่ามกลาง งานหนัก ใครอยากรู้ ไปถามดูนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

มรณัสสติ
นายจอง หอมจันทร์ อายุ ๘๐ ปี โยมพ่อของสมณะธาตุดิน ปฐวีรโส เสียชีวิตด้วยโรคชรา ฌาปนกิจศพที่วัด หนองไผ่สามัคคี ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ ๒ ส.ค.๔๗

คติธรรม-คำสอนของพ่อท่านประจำฉบับ คือ
จงเป็นนัก "ทำ" หรือนัก "ธรรม" ให้มากกว่านักคิด หรือนักวิชาการ.
(งานตลาดอาริยะปีใหม่ ครั้งที่ ๑๑/๒๕๓๓...จากหนังสือ โศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๙๒)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

มติจากการประชุมคณะทำงาน ต.อ.กลาง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. คณะทำงาน ต.อ.กลาง ได้มีการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ ณ ห้องประชุมชั้น ๑ บจ.ฟ้าอภัย มีผู้ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ สมณะ ๒ รูป คณะทำงาน ต.อ.กลาง ๗ ท่าน ตัวแทน พาณิชย์บุญนิยม ๑ ท่าน ตัวแทนอุตสาหกิจ ชุมชน ๑ ท่าน โดยมี สมณะติกขวีโร เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งมีเรื่องเพื่อพิจารณา ดังต่อไปนี้

เรื่องที่ ๑ การติดตราสัญลักษณ์ข้อความ "ผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายองค์กร/ชุมชนชาวอโศก" บนฉลากสินค้า

มติที่ประชุม พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกำหนดคุณสมบัติของตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นการประกาศรับรอง คุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานทางเอกสาร การตรวจสอบสถานที่ผลิต และการส่ง ตัวอย่างตรวจ ทางห้องปฏิบัติการ ทางวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นระบบ และสม่ำเสมอ ซึ่งต.อ.ชุมชน และ ต.อ.กลาง ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการ ดังกล่าว จึงขอให้ใช้ชื่อ ของชุมชนผู้ผลิตเป็นผู้รับรองการผลิต และคุณภาพการผลิต ของผลิตภัณฑ์ ตามศักยภาพของตนเอง โดย ต.อ.กลาง ยังทำหน้าที่รับจดแจ้ง และสุ่มตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบคุณภาพ เป็นระยะๆต่อไป

เรื่องที่ ๒ การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนชาวอโศกพัฒนาสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)

โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็น โครงการ ที่สนับสนุนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐานโดยให้การรับรอง เพื่อเป็นหลักประกัน แก่ผู้บริโภค แนวทาง การดำเนินงานมี ๔ ด้าน คือ

๑. กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
๒.การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยให้ผลิตภัณฑ์สามารถแสดงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ และมี ระบบ การตรวจ ติดตามผล โดยเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบตัวอย่าง ทางโครงการฯ ให้การสนับสนุน ทั้งหมด
๓. การพัฒนาผู้ผลิตในชุมชน กรณีที่มีปัญหาในการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สนง. มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไป ให้ความรู้เบื้องต้น โดยการฝึกอบรม และให้การแนะนำ ในสถานที่ผลิต จนมีขีดความสามารถ และความพร้อมในการขอการรับรอง
๔. การส่งเสริมประชาสัมพันธ์ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ยกย่องผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง
ผู้ยื่นคำขอ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

มติที่ประชุม เห็นชอบให้ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยผลิตชาวอโศกทราบและส่งเสริมให้เข้าร่วมโครงการมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ ชุมชน (มผช.)

** หมายเหตุ หน่วยผลิตใดสนใจ ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ หน่วย ต.อ.กลาง โทร.๐-๒๓๗๔-๙๕๗๐, ๐-๖๐๔๗ -๒๙๐๙

เรื่องที่ ๓ ทิศทางการผลิตสบู่ก้อนของชาวอโศก
มติที่ประชุม
๑. ไม่สนับสนุนการผลิตสบู่ก้อนในชาวอโศก เนื่องจากเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นและเป็นการไม่สร้างค่านิยม การใช้สบู่ ในหมู่ชาวอโศก ทั้งเป็นการประหยัดเวลา แรงงาน บุคลากรชาวอโศกซึ่งมีน้อยในขณะนี้
๒. ให้มีการสาธิตการผลิตสบู่ก้อนแก่เกษตรกรผู้เข้ารับการอบรม เพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองได้ โดยขอให้ เลือกใช้ เกล็ดสบู่ ที่เป็นวัตถุดิบ ที่ผลิตได้ในประเทศไทย

** หมายเหตุ
๑. พ่อท่านได้ให้ข้อคิดเรื่องการใช้สบู่ ทั้งมีข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญ โปรดติดตามในฉบับต่อไป
๒. ข้อสังเกต - สบู่เนื้อขุ่น เป็นสบู่ที่ผลิตได้เองจากวัตถุดิบหลักภายในประเทศ
- สบู่เนื้อใส เป็นสบู่ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ
๓. ให้ร้านค้าชุมชนขายสบู่ ซึ่งผลิตจากชุมชนอื่นได้เพื่อเอื้อต่อผู้บริโภคทั่วไปที่ยังใช้สบู่อยู่ โดยขอให้ขายสบู่ ที่ผลิตจากวัตถุดิบ ที่ผลิตได้ ในประเทศเช่นกัน

อนึ่งในที่ประชุมพาณิชย์บุญนิยม เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ซึ่งมีพ่อท่านเป็นประธานในที่ประชุม มีความเห็นชอบกับมติ ที่ประชุม ข้างต้น คือ ไม่สนับสนุนให้ชุมชนชาวอโศกผลิตสบู่ก้อนเช่นกัน

เรื่องที่ ๔ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโมโนโซเดียมกลูตาเมต(ผงชูรส)ในร้านค้าชุมชนชาวอโศก ได้แก่ ซุปก้อน ผงปรุงรส ซีอิ๊ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ

มติที่ประชุม เห็นควรให้ร้านค้าพิจารณางดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) ที่มีการระบุ อย่างชัดเจนบนฉลาก เพื่อแสดงจุดยืน และส่งเสริม นโยบาย เน้นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อีกทั้ง ชาวอโศก เคยไปร่วมรณรงค์ ต่อต้านการไม่ใช้ผงชูรส ในอาหารที่กระทรวงสาธารณสุขมาแล้วด้วย

** หมายเหตุ ขณะนี้มีเส้นหมี่ข้าวโพดกึ่งสำเร็จรูปเจ/มังสวิรัติ และซีอิ๊วไม่ใส่ผงชูรสแล้ว กรุณาติดต่อได้ที่ บจ.พลังบุญ
(และเส้นหมี่ กึ่งสำเร็จรูปมังสวิรัติ ไม่ใส่ผงชูรส กำลังจะมีออกมาจำหน่ายในไม่ช้านี้).

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
- แม่ครัวจำเป็น -

ในยามยากที่ผักพื้นบ้านจากพี่น้องชุมชนต่างๆ ยังไม่ได้ส่งเข้ามาที่สันติอโศก ข่าวว่าในครัวอาหารหลัก มักจะเป็น หน่อไม้ มะละกอ แล้วก็กล้วย

เมนูวันนี้ ก็จะรวมมิตรว่าด้วยเรื่องกล้วย กล้วย เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาง่าย ทำกันง่ายๆ แต่ได้คุณค่ามากมาย ซึ่งเภสัชกรหญิง สุดสายธรรม หลิมกำเหนิด ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ ศูนย์รวมสมุนไพร และผักพื้นบ้าน ชุมชนปฐมอโศก เล่มที่ ๑ ใครอยากทราบ สรรพคุณทางยาของกล้วย ทั้งผลดิบ ผลสุก ยางกล้วย ดอกกล้วย หัวปลี หยวกกล้วย เหง้า ราก ใบ ก็สอบถามกันมาได้นะคะ

แกงหยวกกล้วย
เครื่องปรุง หยวกกล้วยหั่นตามยาวของต้น ๓ ขีด วุ้นเส้น ๑ ขีด เต้าหู้แข็ง ๑ ขีด (โปรตีนเจ ๑/๒ ขีด) น้ำมัน ๓ ช้อนโต๊ะ น้ำ ๓ ถ้วย พริกแห้ง ๓ ดอก ตะไคร้หั่นซอย ๒ ช้อนโต๊ะ หอมแดง ๓ ช้อนโต๊ะ ปลาร้าเจ ๑ ช้อนโต๊ะ

วิธีปรุง ๑. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
๒. หยวกกล้วย, โปรตีนแจ แยกแช่น้ำ
๓. ใส่น้ำมันลงกะทะ ใส่เครื่องแกงผัดให้หอม ใส่โปรตีนแจ ตักใส่หม้อต้มให้นุ่ม ใส่หยวก ตั้งไฟต่อสักครู่ ใส่วุ้นเส้น คนให้ทั่ว ปรุงรสตามชอบ


ผัดหัวปลี
เครื่องปรุง หัวปลี ๑ หัว เครื่องแกง (พริกแห้ง, หอม, กระเทียม, ข่า, กะปิ, ตะไคร้, รากผักชี, พริกไทย) เห็ดนางฟ้า ๑ ขีด มะพร้าว ๑ ช้อนโต๊ะ, ซีอิ๊ว, น้ำตาล, หัวหอมเจียว, ผักชี

วิธีปรุง
๑. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
๒. นำหัวปลีลอกเปลือกแข็งทิ้ง หั่นซอยตามขวาง คั้นด้วยน้ำมะนาวให้ขาวน่ารับประทาน
๓. คั่วมะพร้าวจนแตกมัน ใส่เครื่องแกง ใส่เห็ด คั่วจนสุก ใส่หัวปลี ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว น้ำตาล ตักใส่จาน โรยหน้า ด้วยหัวหอมเจียว และ ผักชีสด
หมายเหตุ หัวปลีกล้วยตานี เป็นหัวปลีที่มีรสชาติดี นุ่มหวานและขาวไม่เปลี่ยนเป็นสีดำง่าย


ตำกล้วย
เครื่องปรุง กล้วยดิบ ๑ ลูก มะเฟืองเปรี้ยวห่าม ๒ ลูก มะเขือขื่น ๒-๓ ลูก น้ำมะนาว ๒ ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปีบ ๒ ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊ว ๑ ช้อนโต๊ะ น้ำปลาร้าเจ ๑ ช้อนชา พริกสดหรือพริกแห้ง ๕-๗ เม็ด

วิธีปรุง
๑. นำกล้วยมาสับรอบๆลูก หั่นตามขวางเป็นแว่นๆ หั่นผลมะเฟืองตามขวาง หั่นมะเขือเป็นแว่นยาวๆ
๒. โขลกพริกให้ละเอียด นำกล้วยมาโขลกให้แหลก ใส่มะเฟือง, มะเขือ โขลกเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำมะนาว ซีอิ๊ว ชิมรสตามชอบ (อ่านต่อฉบับหน้า)


สืบสานวัฒนธรรมการกินผักพื้นบ้าน ทำไม?
เพราะ... ผักพื้นบ้านกำลังจะถูกลืม
เพราะ... ช่วยกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
เพราะ... ผักพื้นบ้านราคาถูก และปลอดภัย
เพราะ... คนจนมีมาก ช่วยให้คนไทยพึ่งตนเองได้
เพราะ... ผักพื้นบ้านต้านโรค

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางพร สติใหม่
เกิด วันศุกร์ เดือน ๙ ปีวอก อายุ ๗๒ ปี
ภูมิลำเนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา
การศึกษา ป.๔
สถานภาพ แต่งงานแล้วปี มีลูก ๙ คน (ตาย ๑ คน)
น้ำหนัก ๔๘ กก.
ส่วนสูง ๑๕๓ ซ.ม.

คุณยายพรเป็นญาติธรรมสีมาอโศก งานปีใหม่และงานมหาปวารณายายจะขึ้นร้องเพลงด้วยเวอร์ชั่น ของยายเอง เป็นประจำ แม้อายุ ๗๒ แล้ว แต่ยังแข็งแรงมากๆ ด้วยเคล็ดลับอะไร ไปคุยกับยายกันเลยค่ะ

*** ลูกกำพร้า
เป็นลูกคนเดียว อายุได้ ๒ ปีแม่ตาย ก็ไปอยู่กับย่า พ่อมีลูกกับเมียใหม่อีกคนเป็น ผู้หญิง ยายอายุ ๑๕ ปี พ่อก็เสีย

อายุ ๑๙ ปี ย่าให้แต่งงาน ซึ่งเขาเป็นกำพร้าเหมือนกัน ตอนนี้ยังอยู่ แก่กว่า ๖ ปี มีลูก ๙ คน (ตาย ๑ คน) แต่งงานแล้ว แยกมาทำสวน อยู่ถนนด้านลำคะตอง มีมะปราง มะม่วง เตย กล้วย มะพร้าว เนื้อที่ ไร่ครึ่ง ปลูกต้นเตย เต็มไปหมด ขายดี ยายใช้กระบวยตักน้ำรดทุกวัน วันพระเข้าพรรษา นี้ขายดีมาก จนต้องไปซื้อ จากอีกสวนหนึ่งมาขาย

*** ลูกจูงเข้าวัด
ลูกชายเป็นทหารชื่อบุญส่ง ตอนนี้เขาลาออกจากทหารไปอยู่ที่ปฐมอโศกหลายปีแล้ว พาไปฟังธรรมท่าน มนาโป ที่ป่าช้าจีน โคราช ได้ฟังญาติธรรมมาพูดถึงตัวเขาเองเกี่ยวกับการเล่นหวย เขาพูดให้เราเลิกละ ยายฟังแล้วก็จริงของเขา

เวลาไปงานของชาวอโศกพ่อท่านก็เทศน์ย้ำอยู่เรื่อยๆ กินมังสวิรัติก็ต้องเลิกหวย มันบาป ที่เราบอกว่า เล่นหวย เราไม่เบียดเบียน ใคร แต่จริงๆมันเบียดเบียนตัวเอง ยายก็ค่อยๆเลิกมาเรื่อยๆ แม้มาวัด ก็ยังซื้อหวยอยู่ งวดสุดท้าย ซื้อตัวละ ๕๐ บาท จากเมื่อก่อน ตัวละ ๕๐๐ ยายซื้อทุกงวด เพราะเจ้ามือ เขาให้เราเชื่อได้ ก็จด เป็นหางว่าวเลย เวลาไม่ถูก ก็หากู้ยืมเขาไปจ่าย ยายจดเอาไว้ซื้อหวย หมดไป ๓๐๕,๐๐๐ บาท เคยถูก ได้เงินมา ๒๐,๐๐๐ บาท แต่เอาไปซื้อหวยอีกทั้ง ๓๕ ตัว ตัวละ ๕๐ บาท ไม่ถูกเลย เหมือนที่ พ่อท่านเทศน์ ยิ่งถูก ก็ยิ่งจะโลภ พระข้างนอก ไม่สอนหรอกให้เลิกหวย แถมยังมาถามอีกว่า โยมฝันอะไร

*** การสะสมบุญ
เมื่อก่อนมี ชมร. ๑, ๒ ตอนเช้าพอรดน้ำสวนผักที่บ้านเสร็จยายก็นั่งรถ ๒ แถว ๒ ต่อ ออกค่ารถเอง ไปช่วยขาย หน้าร้านทุกวัน ตอนเย็น อาหารเหลือก็ตักใส่ถุงเดินหิ้วไปขายตามตลาด เดินจนปวดขาเลยแหละ ตอนนั้น มีแต่คนแก่ นักเรียนยังไม่มี

ตอนนี้ก็ไปช่วยงานที่วัด เวลามีงานอบรมก็ไปช่วยห่อข้าวต้มให้ผู้อบรมใส่บาตร บางครั้งก็ร้องเพลง ให้ผู้อบรม ฟัง ยายชอบร้องเพลง ของครูรัก รักพงษ์ เวลารดน้ำผัก หรือเข้าห้องน้ำยายก็ท่องไปเรื่อย ถึงงานปีใหม่, งานมหาปวารณา ยายก็ขอเขา ขึ้นร้อง แต่ทำนองของยายเองนะ ไม่เหมือนที่เขาแต่งไว้หรอก

*** ปฏิบัติธรรม
มาปฏิบัติธรรมแล้วสบายใจ สมัยก่อนเป็นคนใจร้อน ชอบทำบุญเอาหน้า อวดคนอื่น ทำด้วยกิเลส ทำแต่วัตถุ แต่จิตใจไม่ทำ ก็มีแต่โง่กับง่วง ไม่ได้เรื่องอะไร

เดี๋ยวนี้เวลาไปไหนใจเราก็มีแต่เมตตา คนมาขอค่ารถยายก็สงสารให้เขาไป ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท

พ.ศ.๒๕๔๕ ไปเข้าพรรษาที่ปฐมฯ ปีนี้มาเข้าที่สันติฯ พอขายของเสร็จยายก็ห่อข้าวต้มใบเตยเอามาทำบุญ ร้อยกว่าห่อ ขึ้นรถไฟ จากบ้านมาลงรถตี ๓ ครึ่ง ก็ได้ทำวัตรเช้าพอดี มาอยู่สันติฯ ก็ตื่นไปช่วยเขาทำผัก ที่ชมร.หน้าสันติฯ ตี ๒, ตี ๓

เมื่อก่อนขี้ใจน้อย พ่อท่านเทศน์ว่าถ้าเรายังใจน้อยเท่ากับเรากลับไปเป็นเด็กน้อย นึกได้ก็บอกตัวเอง ถ้าไม่เจอ อโศก คงเป็นโรคมะเร็ง ไปแล้ว เพราะเครียดกับลูกเต้าที่บอกอะไรก็ไม่เชื่อ

*** ชีวิตที่เหลืออยู่
ไม่ห่วงอะไรแล้ว ลูกเต้าเขาก็มีอยู่มีกินกันหมดแล้ว ไม่กลัวตาย เราอยู่อโศก ตายที่ไหนเขาก็มีคนช่วยเผาให้ มาเข้าพรรษา ก็ทิ้งสวน ให้ลูกดูแทน ไปไหนก็ไปคนเดียว เมื่อก่อนจัดงานในรามฯยายก็ไปทุกปี นั่งรถไฟ มากลางคืน ไม่กลัวอะไรเลย ปฏิบัติธรรมแล้ว เราไปไหน เราก็ไม่มีของมีค่าติดตัว เงินทองเราก็ไม่ติดตัว มากมาย

*** ฝาก
เป็นชาวพุทธต้องมีศีล ๕ เลิกละอบายมุข เป็นความสุขของครอบครัวและสังคม ถ้าเรามีศีล เราก็จะมีความสุข

ยายฝากว่าเป็นชาวพุทธ ต้องมีศีล ๕ เลิกละอบายมุข พระพุทธองค์ตรัสว่า ศีลนี่แหละจะพาเราไปสู่นิพพาน เพราะฉะนั้นชาวพุทธพันธุ์แท้ ต้องมี ศีล ๕ เป็นปกติ

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


มหกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา
ชาวอโศกร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ใช้สนามหลวงทำพิธีศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ
กระทรวงสาธารณสุขเจ้าภาพ
รมว.สุดารัตน์ ร่วมเป็นประธาน ชาวพุทธทั่วโลกตอบรับ

อาทิตย์ที่ ๑ ส.ค. ๒๕๔๗ เครือข่ายชาวอโศกทั่วประเทศประมาณ ๑,๕๐๐ คน ร่วมเดินรณรงค์เนื่องใน วันงดดื่ม สุราแห่งชาติ ณ บริเวณท้องสนามหลวง และมีประชาชนจากองค์กรต่างๆ มาร่วมรณรงค์ หลายหมื่นคน ทีวีช่อง ๑๑ ถ่ายทอดสด

๐๓.๐๐ น. บริเวณใต้โบสถ์ พุทธสถาน สันติอโศก พวกเราได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ห่อข้าวจำนวน ๒,๕๐๐ ห่อ เพื่อนำ ไปแจกจ่าย แก่ผู้มาร่วมเดินรณรงค์ฯในครั้งนี้

๐๕.๐๐ น. ญาติธรรมจากกลุ่มชุมชนต่างๆทยอยมารวมตัวกันบริเวณลานจอดรถบจ.ฟ้าอภัย พร้อมป้าย รณรงค์ งดเหล้า แต่ละคนล้วนมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และมาในชุดเต็มยศคือไม่ใส่รองเท้า พร้อมแล้วสำหรับ การร่วมเดิน รณรงค์ หลังจาก ซักซ้อมความเข้าใจ ก็ตั้งแถว เดินไปขึ้นรถบัส ซึ่งอยู่ที่ปั๊มแก๊ส บริเวณถัดไป

ระหว่างที่รอรถ ก็ร่วมกันออกกำลังกาย เล็กน้อยๆ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกันไว้และไม่ให้การรอคอยผ่านไป โดยเปล่า ประโยชน์ หลังจากนั้น รถบัส ๔ คันออกเดินทางไปยังท้องสนามหลวง สำหรับผู้ที่นำรถมาเอง ก็นัดเจอกัน ที่สนามหลวง ฝั่งอนุสาวรีย์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม

ที่สนามหลวงขณะที่ตั้งแถวรอผู้สมัครผู้ว่าฯเบอร์ ๕ ดร.มานะ มหาสุวีระชัย ก็ได้เดินเข้ามาทักทายพูดคุย กับพวกเรา พอสมควร และตัวแทนกลุ่ม ไปรับแจกหมวกสีฟ้า ให้กับผู้มาร่วมเดินทุกคน ซักซ้อมความเข้าใจ อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงไป ตั้งแถวเรียง ๖ เตรียมเคลื่อนขบวน บริเวณบาทวิถีด้านอนุสาวรีย์ พระแม่ธรณี หันหน้าไปทางวัดพระแก้ว

๗.๐๐ น. กองดุริยางค์ ๔ เหล่าทัพ โดยแต่ละเหล่าทัพเดินนำขบวนองค์กรต่างๆ ทั้ง ๔ ทิศ เคลื่อนสู่บริเวณพิธี ในลักษณะ เดินเข้าหากันและเมื่อบรรจบกันแล้วก็เลี้ยว เข้าบริเวณพิธี แล้วเดิน ขนานกันไป ทางฝั่งอนุสาวรีย์ พระแม่ธรณี เป็นกองทัพอากาศ และกองทัพบก ทางฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกองทัพเรือ และ สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ โดยมีกลุ่ม องค์กรต่างๆ เดินตามขบวน ระยะทางที่เดินประมาณ ๕๐๐ เมตร

กองดุริยางค์กองทัพอากาศซึ่งใส่ชุด สีกรมท่าเดินนำขบวนชาวอโศก ซึ่งสี เครื่องแบบใกล้เคียงกับสีเสื้อของ ชาวอโศก โดยมี ปฐมอโศกเดินตามเป็นชุมชนแรก มีหนูน้อยสัมมาสิกขา กลุ่มเทียนหยด เดินถือป้ายอยู่ หน้าขบวน เป็นที่น่าเอ็นดู แก่ผู้พบเห็น ขณะที่ขบวนทยอยเข้าสู่ด้านหน้าเวที เมื่อเจอกับกลุ่มต่างๆ พวกเรา ก็โบกไม้ โบกมือ ทักทายกัน แม้หลักปฏิบัติของเรา จะต่างกัน แต่เรามีอุดมการณ์เดียวกัน ร่วมรณรงค์ ทำความดี สากล ที่ทำได้ทุกศาสนิกชน เป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่งนัก เนื่องจากพื้นที่ เฉอะแฉะทางผู้จัด ได้แจกผ้าพลาสติก สำหรับปูนั่ง ให้กับทุกคน

ทางคณะผู้จัดงาน จัดให้ชาวอโศกแบ่งไปทางซ้ายและทางขวาของเวที ประชาชนกลุ่มต่างๆที่เข้ามานั่งก่อน ได้ปรบมือ ต้อนรับ และมีกลุ่มนักเรียนจาก ร.ร.ต่างๆ ทยอยมาเป็นระยะ

๗.๔๕ น. การแสดงบนเวทีก็เริ่มขึ้น จากนักร้องต่างชาติอาสาสมัครจากขอนแก่น ๒ คน ในชุดสยามเมืองยิ้ม, ต่อจากนั้นเป็น การร้องเพลงของชาวเขาเผ่าปกากะญอ, รำตัดจาก จ.สุพรรณบุรี รำสี่ภาค จาก น.ศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ ๒ นักร้องยุวชนยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทยประจำปี ๒๕๔๓ และ ๒๕๔๕ ร้องเพลง ที่มีความหมายถึง การแสวงจุดร่วม สมานจุดต่าง เพื่อให้ประชาชนชาวไทย อยู่ร่วมกัน อย่างสันติ