ฉบับที่ 245 ปักษ์หลัง16-31 ธันวาคม 2547

[01] สาระบันเทิง
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "ทิฏฐุปาทาน"
[03] น.ศ.ต่างชาติ ศึกษาบุญนิยมที่สันติอโศก ฝึกตื่นทำวัตรเช้า กินมื้อเดียว
[04] ตัวแทนเครือข่ายชุมชนอโศก รับมอบเกียรติบัตรองค์กรดีเด่น ณ อาศรมวงศ์สนิท อนุสรณ์สถานฯ
[05] รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (ตอน ๖ )
[06] : ในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร ได้ฝากข้อคิด ๓ เรื่องใหญ่ๆ
[07] :สวนสิบไร่ ไม่ธรรมดา ผู้มีชื่อเสียงต่างชาติ สนใจมาดู
[08] ศูนย์สุขภาพ: ทำไม จึงปวดข้อ (ตอน ๒ )
[09] เปิดมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน พร้อมหอพุทธศิลป์ สมาชิกร่วมงานบุญคึกคัก
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนกิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ปฐมอโศก - อินทร์บุร
[12] นายสมประสงค์ ปริกัมศีล ชายงามรายปักษ์
[13] ชาวหินผาฯช่วยดับไฟป่า ด้วยสำนึกนักอนุรักษ์ เพื่อประเทศชาติ ที่ภูแลนคา
[14] เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ
[15] กระถางย่อยสลาย' จากใบไม้ แปลกใหม่ฝีมือเด็ก-ครู
[16] ปฏิทินงานอโศก



สาระบันเทิง

การแสดงในงานต่างๆ ของชาวอโศก จะเน้นเนื้อหาสาระแต่ผสมผสานความบันเทิง จนเป็นสาระบันเทิง ที่ผู้ดูและผู้แสดงจะได้ประโยชน์มากกว่าโทษ

การแสดงของหลายๆ แห่ง จะนำเด็กนักเรียนสัมมาสิกขามาแสดง

ที่น่าเป็นห่วงในการแสดงของเด็กๆ ก็คือ

ผู้ควบคุมหรือครูฝึกซ้อมการแสดง จะให้ความสำคัญกับการแสดงจนลืมนึกถึงว่านี่คือการแสดงนะ บางคนจะยึดในเรื่องนี้ เป็นจริงเป็นจัง เอาจริงเอาจังจนเกินงาม จนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

ด้านเด็กๆ ก็ถูกปลูกฝังให้ยินดีในการร้องรำทำเพลง การกรีดร้องร่ายรำ ความสวยความงามแบบโลกีย์มากขึ้น จนขี้เกียจ ทำการทำงาน นิยมชมชอบชีวิตแบบเต้นกินรำกิน

เด็กบางคนไม่ยินดีในเรื่อง ดังกล่าว ก็ถูกปลูกฝังให้เกิดความหลงใหลได้ปลื้ม รวมทั้งผู้ใหญ่ จนมักจะมีการละเมิดกฎระเบียบ การแสดงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเรื่อง การแต่งหน้าและการแต่งตัว

ที่กล่าวมานี้อาจเป็นข้อวิจารณ์ของคนเพียงบางคน แต่ก็เป็นข้อมูลให้ทบทวนว่า ทุกวันนี้การแสดงของชาวเรา สร้างกระแส เอียงไปสู่โลกีย์ หรือเป็นสาระบันเทิงตามเป้าหมายจริงๆ แค่ไหน

มิฉะนั้นการลงทุนลงแรงของเราต่อลูกๆหลานๆและชาวชุมชน จะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมกระแสโลกีย์ที่นับวันยิ่งรุนแรง และจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกจากชาวบุญนิยม ที่กำลังเป็นความหวังของคนในสังคม ที่เริ่มมองเห็นโทษภัยของทุนนิยม อย่างน่าเสียดาย !.

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ทิฏฐุปาทาน

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในที่ประชุม ถ้ามีพ่อท่าน เป็นประธาน เรื่องยากจะเป็นเรื่องง่าย การตัดสินอะไรก็เป็นเอกฉันท์ โดยดูที่พ่อท่านเป็นหลัก แต่ที่ประชุมใด ถ้าไม่มีพ่อท่านเข้าร่วม เรื่องง่ายก็ดูจะยาก การตัดสินก็แตกเป็นหลายเสียง ต่างคนต่างก็คิดว่าตนเองถูก ดังนั้น คนที่ไม่อยากเผชิญกับความยุ่งยาก ก็จะนิมนต์พ่อท่านเป็นประธานที่ประชุม ซึ่งจะทำ ให้พ่อท่านเหน็ดเหนื่อยมากขึ้น ข้อสังเกตนี้พ่อท่านได้อธิบายว่า

....ก็เพราะไม่เจริญด้วยวุฒิภาวะของความจริงและความรู้ที่พูดกันมานั่นแหละ คือเป็นสงครามอัตตา เมื่อใครยึดตัวเองใหญ่ ตัวเองเก่ง ก็ยึดตัวตน ยึดตัวเรา ยึดความเห็นของเราเป็นหลัก เกิดเป็นทิฏฐุปาทาน และมีสงครามของทิฏฐุปาทานตามมา หรือสงครามของอัตตาที่ยึดความรู้ความเห็นนี่แหละ

"ทิฏฐุปาทาน " เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแตกแยก ไม่เป็นพลังรวม ไม่เป็นปึกแผ่น ไม่เป็น คุณค่าอะไรที่ดูอบอุ่น ฉะนั้นต้องศึกษาเรื่องทิฏฐุปาทานกันให้ดีเลย ศึกษาเรื่องการยึดถือความเห็นของตน ตัวใครก็ตัวใคร นึกว่า แหม...ความเห็นของเรานี่วิเศษหนักหนา ตัวฉันต้องเป็นผู้รู้ ตัวฉันต้องดี ตัวฉันต้องถูก มันยึดจริงๆเลย แล้วมันจะเอาตามใจ แม้บางคนรู้ทั้งรู้ของตัวเองไม่ถูกนะ แต่มันก็ยังไม่ยอม มีความยึดตัวเองเป็นตัวกูของกู นี่แหละคืออัตตา ลึกๆถึงรู้ว่าไม่ถูก แต่กูก็ยังจะเอาตามใจกูนี่แหละ ใครไม่เคยเป็นบ้าง บางทีรู้ทั้งรู้มันไม่ถูกหรอก แต่กูจะเอาอย่างนี้แหละเอาชนะคัดค้านกันอย่างนี้แหละ เอาดื้อๆ มันฮึดฮัด รุนแรง

ความยึดถือนี้ก็คือเป็นตัวกูของกู หรือว่าตัวอัตตาที่มันยึดเหลือเกินจริงๆ คือมันยึดภพ ยึดทิฏฐิ ยึดสภาพที่ตัวเองไปมีอาการอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาในใจ ยึดขนาดอย่างที่ยกตัวอย่าง บางทีรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ถูก แต่มันจะเอาชนะ ยอมไม่ได้ กลัวเสียหน้า เนื่องจากตัวตนเป็นใหญ่ เอาเรื่องเอาราว เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ ก็จะเห็นจริงว่าเป็นเรื่องทุกข์ เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องที่ไม่เจริญอะไรทั้งนั้น พวกเราเรียนรู้จริงๆ ก็ปล่อยเถอะ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งพวกนี้เลย ยิ่งยึดก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งยึดมั่นก็ยิ่งไม่เกิดประโยชน์แก่ตน และสังคมส่วนรวม

เพราะฉะนั้น จะต้องเรียนรู้อาการพวกนี้ เกิดขึ้นมาอย่างไร ก็พยายามล้างมัน ฝึกปฏิบัติเพื่อกำจัดมัน จนเราเห็นผล เห็นคุณค่าในการละลด ทุกอย่างก็จะประสานสมานสามัคคีมากขึ้น เป็นปึกแผ่น ดีขึ้น สงบเรียบร้อยยิ่งขึ้น

สังเกตดูให้ดี เวลาพวกเรามีอะไรขึ้นมาก็ประชุมกัน และต้องมีความยึดความเห็นของตนเองเข้ามาในนั้น เสร็จแล้วก็ไม่ยอมกัน ถ้าเผื่อว่าอาตมาไปตัดสิน ก็เชื่ออาตมา เมื่อไม่มีอาตมา ก็ควรจะศรัทธากันและกันบ้าง หรืออย่างน้อยก็ควรเห็นแก่ความสามัคคีบ้าง เคารพความ เห็นของคนอื่นบ้าง ยอมรับความเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ความเห็นของเรา เอาแต่ตัวเราเป็นหลัก อะไรอย่างนี้ แม้ว่ามันจะถูกจะดีอย่างไร แต่ถ้าส่วนรวม ส่วนใหญ่เขาวิเคราะห์วิจัยให้เหตุผลกันแล้วว่า จะเอาอย่างนี้ เขาทำได้กันส่วนใหญ่ เท่านี้ เกินกว่านี้เขาไม่ไหวกัน หรือเราเห็นว่าไม่ดีอย่างไร ก็ให้เหตุผลไป แต่ถ้าทุกคนฟังแล้วยังเข้าใจว่าอย่างนั้นดีกว่า เรา ก็ต้องเอากับเขาตามมติส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ เรียกว่า "เยภุยยสิกา " คือหลักเกณฑ์ที่เอาความเห็นส่วนใหญ่เป็นสำคัญ อันนี้ซึ่งที่ไหนๆก็ทำกัน ในระบอบประชาธิปไตย เขาก็ใช้วิธีนี้กัน ทั้งนั้น ซึ่งอันที่จริงพระพุทธเจ้าใช้หลักนี้มาตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว

แล้วการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ยอมให้พ่อท่านองค์เดียว....

นั่นแหละมันไม่ยอมใคร ถ้าอาตมาไปตัดสินซะ ก็รู้สึกว่าอาตมาฉลาด แต่คนอื่นไม่ยอมให้ใครฉลาด ทั้งๆที่หมู่กลุ่ม โหวตกันแล้ว ตัดสินกันแล้ว ความเห็นของแต่ละคนมาร่วมกันคิดแล้ว ก็ยังไม่ยอมกันอยู่ แสดงว่าเรามีอัตตามานะ มีการถือดี ถือตัวมากเกิน มีทิฏฐุปาทาน มีการยึดความเห็นของตนมากเกินไป อันนี้มันก็ไม่ดี เราต้องรู้จักบ้างว่า อาจมีคนที่เขาก็รู้ดีกว่าเรา และเราควรเคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่อาตมาคนเดียวเท่านั้นที่ยอมให้ โดยให้อาตมาใหญ่คนหนึ่ง นอกนั้นใหญ่เท่ากันหมด ไม่มีใครยอมใคร สักคน อย่างนี้ก็บรรลัยเลย ควรเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง เออ..คนนี้อยู่ในฐานะนี้ได้นะ ทั้งที่สมณะอื่นก็น่าจะมีความน่าเชื่อถือ ควรยอมรับกันบ้างการปฏิบัติธรรมของพวกเรา มาดำเนินชีวิตโดยสละรายได้ที่เป็นทรัพย์สมบัติ เงินทอง ก็เพื่อที่จะมีอาริยทรัพย์เป็นรายได้ อันคือการปฏิบัติธรรม มีการได้ลด ได้ละออก เป็นทรัพย์เป็นรายได้ แล้วก็หลงมายึดเอาคุณธรรมที่ได้เป็นอัตตามานะ และอัตตามานะนี่แหละเป็นตัวสำคัญ หรือการยึดทิฏฐุปาทาน ยึดถือความเห็นของเราเป็นใหญ่ และก็ไม่ยอมใคร นี่แหละมันร้ายแรงน่าดู

เพราะฉะนั้นเราจะไปไม่ได้ไกลเลย ถ้าเผื่อว่าไม่สามารถลดละอัตตาตัวตนเหล่านี้ และต่างทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เป็นพลังรวมกันอยู่อย่างนี้ ทำอะไรก็ไม่เป็นผลดี มันเป็นความแตกแยก มันไม่เป็นพลังที่จะเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีน้ำหนัก มีพลังแข็งแรง เพราะต่างคน ไม่ร่วมมือกันเต็มที่.

(จากคอลัมน์ ๑๕ นาทีกับพ่อท่าน สารอโศกฉบับที่ ๒๑๓ )

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


น.ศ.ต่างชาติ ศึกษาบุญนิยมที่สันติอโศก ฝึกตื่นทำวัตรเช้า กินมื้อเดียว

Tobhiyah Holmes อายุ ๒๕ ปี จากเมือง San Francisco, California, USA จบการศึกษาคณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ จากเมืองเดวิด แคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโทปีที่ ๒ สาขา Thai Studies (ไทยศึกษา ) และศึกษาอิสระตามความสนใจ (independent study ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเลือกศึกษา ผลกระทบของพุทธศาสนาต่อเศรษฐกิจไทย (impact of Buddhism on Thai Economy ) และได้มาศึกษาวิถีชีวิตบุญนิยม ที่สันติอโศกตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑๒-๑๗ ธ.ค. โดยปฏิบัติตามระเบียบของวัด โดยเคร่งครัด คือ ตื่นตี ๓ ครึ่ง ร่วมทำกิจวัตร ช่วยงานตามองค์กรต่างๆหมุนเวียนไปแต่ละวัน รับประทานอาหารวันละ ๑ มื้อ ไม่สวมรองเท้า

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ความรู้สึกที่ได้มาศึกษาที่สันติอโศก ดังนี้

"ทุกคนที่นี่เป็นเพื่อนที่ดีมาก ช่วยผม ในทุกๆเรื่อง ผมเคยไปทำงานกับกลุ่มต่างๆในอเมริกา แต่ไม่มีใครคอยตอบคำถาม เหมือนที่นี่ ที่อโศกมีแต่คนคอยช่วยเหลือ และพร้อมที่จะตอบคำถามตามที่ผมต้องการ ตลอดเวลา และคอยบอกว่า ผมควรจะทำอะไรบ้าง

ตั้งแต่มาอยู่ผมยังไม่เห็นแง่ลบ ทุกคนเป็นมิตรและต้อนรับอย่างดี ถ้าผมทำไม่ถูกต้องหรือทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น มีวันหนึ่ง ผมตื่นมาทำวัตรไม่ทัน ในขณะที่ผมพยายามเคารพกฎกติกาของที่นี่ ก็มาให้กำลังใจว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวคุณก็ทำได้เอง

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มาหัดฝึกตื่นตี ๓ ครึ่ง ทานมื้อเดียว ถอดรองเท้า การกินมื้อเดียว ถอดรองเท้า ตื่นตี ๓ ครึ่ง ตอนนี้ ผมทำไม่ได้ แต่หากผมมีความพร้อมทางด้านจิตใจมากกว่านี้ คิดว่าน่าจะทำได้ในอนาคต แค่ ๕ วันที่เดินเท้าเปล่า ส้นเท้าผมแตกเลย

ผมสนใจศาสนาพุทธ ได้อ่านหนังสือที่ดร.มาลาเขียนถึงสันติอโศก เลยอยากมาดู ด้วยตาตัวเองเกี่ยวกับเศรษฐกิจบุญนิยม ว่าเหมือนกับที่ผมอ่านหรือเปล่า การมาอยู่ในชุมชนทำให้ผมรู้ว่า เหมือนกับที่หนังสือเขียนไว้ และผมยังได้ข้อมูลมากกว่า ในหนังสือเสียอีก โดยเฉพาะทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งในหนังสือไม่ได้เขียนไว้

ผมสนใจเรื่องเศรษฐกิจเมืองไทย เพราะว่าเมื่อมาเมืองไทย และได้ศึกษาพุทธศาสนาจากเมืองไทย ผมเห็นพระในเมืองไทย มีคนเอาเงินให้มากมาย แล้วเวลาตายไปเงินตรงนั้นเอาไปทำอะไร เพราะเงินไปกองอยู่ที่พระมากมายจำนวนมหาศาลทีเดียว ซึ่งพระไทยเหล่านั้น เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง พระพุทธเจ้าเดินจากการเป็นกษัตริย์ มีเงินทองมากมาย ไปสู่การเป็นคนจนไม่มีเงิน แต่พระที่เมืองไทยส่วนมากมาจากคนที่ไม่มีอะไร เมื่อมาบวชแล้วได้เงินมากมาย ผมรู้มาจาก หนังสือว่า พระอโศกไม่ใช้เงินและไม่มีเงิน และเมื่อผมมาอยู่ที่นี่ผมก็เห็นว่าเป็นความจริง นอกจากพระจะไม่มีเงิน และไม่ใช้เงินแล้ว คนวัดของอโศกก็ไม่มีเงินและไม่ใช้เงินอีกด้วย

ผมมีความสุขมากที่ได้มาอยู่ที่นี่แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่นี่ต่างจากสังคมชาวคริสต์บางกลุ่ม ซึ่งเขาพยายาม ชักจูงผมว่าต้องเป็นคริสต์นะถึงจะเป็นคนดีได้ แต่ที่นี่ไม่ได้บังคับว่าต้องมาเป็นชาวอโศกนะถึงจะเป็นคนดีได้ ที่นี่ให้อิสระ ใครจะเป็นก็เป็น ไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ใครจะมาก็มา ไม่มาก็ไม่เป็นไร

ผมมีประสบการณ์ตอนไปช่วยงานที่ร้านพลังบุญ ช่วยติดราคา เอาสินค้าขึ้นชั้น วันนั้นผมแต่งตัวคล้ายชุดอโศก มีเด็กผู้หญิง คนหนึ่งมาจ้องดูผมด้วยสีหน้าแปลกใจ ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าทำไมฝรั่งถึงมาทำงานที่นี่ เขาเห็นฝรั่งมาเยอะ แต่ไม่เคยเห็นฝรั่ง ทำงานแบบนี้ อาจจะเป็นเรื่องแปลกที่ฝรั่งมาทำงานแบบนี้

ผมมีโครงการไปชุมชนของชาวอโศกอีก ๒-๓ แห่ง เช่น ปฐมอโศก เพราะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพราะผมต้องเรียนด้วย
ผมอยู่ในครอบครัวของศาสนาคริสต์ แต่ไม่เคยปฏิบัติตามที่ศาสนาคริสต์สอนเลย ผมไม่ได้กำหนดว่าจะนับถือศาสนาอะไร แต่เมื่อมาถึงเมืองไทย และได้มาศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธ ผมรู้สึกว่าคำสอนของศาสนาพุทธ ใกล้เคียงกับแนวความเชื่อ ของผม ".

(ขอขอบพระคุณคุณดาบบุญ ดีรัตนา ที่ช่วยแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย )

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ตัวแทนเครือข่ายชุมชนอโศก รับมอบเกียรติบัตรองค์กรดีเด่น
ณ อาศรมวงศ์สนิท อนุสรณ์สถานฯ

สัมมนารวมพลชุมชนทางเลือก จากเหนือจรดใต้ รวม ๒๐ แห่ง
อ.ขวัญดิน เป็นตัวแทนรับที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ ธันวาคม อาศรมวงศ์สนิท อนุสรณ์สถานพระยาอนุมานฯ-พระสารประเสริฐ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ถ.รังสิต-นครนายก อ.องครักษ์ จ.นครนายก จัดงานครบ ๒ ทศวรรษ และเวทีสัมมนารวมพลชุมชนทางเลือกในเมืองไทย

๑๐ ธ.ค. เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ พร้อมปัจฉาสมณะ ๒ รูป สมณะชัดแจ้ง วิจักขโณ และตัวแทนชาวอโศก เดินทางถึงอาศรมวงศ์สนิท และเดินชมรอบๆบริเวณ ซึ่งมีพื้นที่ ๓๔ ไร่ ๒ งาน ๗๖ ตารางวา แรกทีเดียวพ่อท่านตั้งใจว่าจะอยู่ฟังรายการต่างๆจนถึงเย็น แต่อาการไอกำเริบ ทำให้ต้องเปลี่ยนความตั้งใจ อยู่ฟังถึงเที่ยงจึงเดินทางกลับ

ภาคเช้า ๐๙.๐๐-๐๙.๔๕ น. นายประชา หุตานุวัตร เป็นตัวแทน อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นเป็นการปาฐกถา ปาจารยสาร ครั้งที่ ๑๕ "วิทยาศาสตร์กับสังคม " โดยดร.สิวินีย์ สวัสดิอารี

ภาคบ่าย ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. สัมมนารวม "นำเสนอ ความเป็นชุมชนทางเลือกจาก ๒๐ ชุมชน จากเหนือจรดใต้ " ดำเนินรายการโดยคุณชัชวาล ทองดีเลิศ ตัวแทนแต่ละชุมชน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆสู่กันฟัง คุณแก่นฟ้า แสนเมือง เป็นตัวแทนชุมชนอโศก พูดถึงจุดเริ่มต้นจนก่อเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งด้วยหลัก ๑๔ ข้อ และเอกลักษณ์ของชาวอโศก คือ มาเป็นคนจน จนกระทั่งแม้รองเท้าก็ไม่ใส่ แต่เป็นคนจนที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชผักผลไม้
ไร้สารพิษรับประทานอย่างพอเพียง มีพี่น้องชาวชุมชนที่หัวใจบุญนิยมอยู่ร่วมกัน มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิต ยึดหลัก เสียสละ กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร สวรรค์นิพพาน

หลังจากนั้น เป็นรายการตามอัธยาศัย อบสมุนไพร รับประทานอาหารเย็น

ภาคค่ำ การแสดงงานวัฒนธรรมของ พี่น้องปกาเกอะญอ และธรรมคีตา "ชุมชนบนหลังคาโลก " โดยนาวาง เกช็อก ศิลปินขลุ่ยไม้ไผ่ชาวธิเบตผู้โด่งดัง ที่เคยร่วมแสดงดนตรีกับคีทาโร่ และมีผลงานเพลงออกมาหลายอัลบั้ม ถึงอันดับ Best seller ปัจจุบันเขาเดินทางไปทั่วโลก มิใช่ในฐานะศิลปินที่มีชื่อเสียงเท่านั้น หากแต่ไปในฐานะทูตแห่งสันติภาพ

๒๐.๐๐-๒๒.๐๐ น. ภาพยนตร์ "The Village " และสารคดีชุมชนทางเลือก ณ บ้านดินเธียเตอร์

๑๑ ธ.ค. เวลา ๐๕.๓๐-๐๖.๐๐ น. สวดมนต์ ณ สันฐาคาร ออกกำลังกายตามอัธยาศัย โยคะ, ชี่กง, นั่งสมาธิ สวดมนต์ นำภาวนาโดย พระไพศาล วิสาโล และทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ ๒ ทศวรรษอาศรมฯ

๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น.ก่อนรายการ นาวาง เกช็อก บรรเลงเพลงจากขลุ่ยไม้ไผ่ให้ได้สำราญใจอีกครั้งหนึ่ง แล้วเป็นรายการประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรดีเด่น ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ประจำปี ๒๕๔๗ แก่เครือข่ายชุมชนชาวอโศก และนายสมบัติ สมพร ผู้อำนวยการศูนย์แนวร่วมพัฒนา ประเทศลาว โดยอาจารย์ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย เป็นผู้อ่านประกาศเกียรติคุณ หลังจากนั้น น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ เป็นตัวแทนชาวอโศกรับมอบเกียรติบัตรจาก ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ เสร็จแล้วถ่ายรูปร่วมกัน

๑๐.๐๐-๑๑.๓๐ น. ปาฐกถาพิเศษ "๒๐ ปี อาศรมวงศ์สนิท ๒๐ ปีชีวิตทางเลือก ของข้าพเจ้า " โดยนางศิริพร โชติชัชวาลย์กุล (พี่ปอน แห่งสวนฝากดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา )

๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. สัมมนากลุ่มย่อย "บทเรียนและทิศทางในอนาคตของชุมชน ทางเลือก " ดำเนินการสัมมนาโดยชัชวาล ทองดีเลิศ

ภาคค่ำ การแสดงวัฒนธรรมจากชุมชนต่างๆ ละครชีวิตชุมชน จากละครบ้านทีมู หนังใหญ่จากวัดสว่างอารมณ์

๑๒ ธ.ค. ช่วงเช้า ๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. เสวนา "เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ชุมชนทางเลือกในต่างแดน " โดยรัชนี ธงไชย, โจน จันใด, เฉลิมชัย ทองสุข ดำเนินการเสวนาโดย ณัฐฬส วังวิญญู

ช่วงบ่าย ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. นำเสนอ "สรุปบทเรียนและทิศทางในอนาคต พร้อมทั้งเสนอรูปธรรมความร่วมมือระหว่างชุมชนทางเลือก " ดำเนินการสัมมนาโดย ชัชวาล ทองดีเลิศ และประชา หุตานุวัตร

๑๖.๓๐-๑๗.๐๐ น. กล่าวปิดงาน โดย อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

สำหรับผู้ไปร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

พะตี มูเสาะ เสนาะพรไพร พี่น้องปกา เกอะญอจากบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ "ที่ชุมชนมีพันกว่าชีวิต พะตีร่วมงานทางเสมสิกขาลัยหลายครั้ง มาครั้งนี้รู้สึกดีใจที่ได้รู้จักกัน ได้พูดคุยกันแบบอิสระ พบปะกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส พะตีชื่นใจมาก ชุมชนของพะตี เป็นชุมชนทางเลือกเศรษฐกิจพอเพียง เจ้าหน้าที่ ทางรัฐมองว่าพวกปกากะญอเป็นคนทำลายป่าเขา พะตีก็คิดว่าจะทำยังไงที่จะรู้เขารู้เรา และหาทางออกร่วมกัน มาเชื่อมกับทางอาศรมฯ ทำให้การพูดมีน้ำหนัก จะได้ช่วยกันได้ จริงๆแล้วเราเป็นพี่น้องกัน ไม่มีชาวเขา ชาวพื้นราบ เราอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน นี่คือความคาดหวังของพะตี ปากะญอก็คือคนไทย ที่รักษาต้นน้ำ ไม่ใช่ทำลายป่า "

นายสมบัติ สมพร บุคคลดีเด่นของมูลนิธิฯ อายุ ๕๒ ปี "รู้สึกดีใจที่ได้รางวัล รางวัลที่แท้จริงคือการได้มาพบเพื่อนที่มีอุดมคติ เหมือนกัน เพราะเป็นพลังบันดาลใจ ส่วนรางวัลที่ได้รับนั้นช่วยให้เราสืบต่องานที่ทำมาแล้ว มาเห็นเพื่อนหลายๆสถาบัน กลุ่มชุมชน ก็เป็นพลังเพิ่มขึ้น ฟังดูแต่ละชุมชนแล้วอุดมคติ เหมือนกัน คืออยากอยู่แบบมีความสุข พึ่งความสามารถของตนเอง เป็นผู้ตัดสินไม่ใช่เป็นผู้ตั้งรับอย่างเดียว แต่วิธีการปฏิบัติอาจจะต่างกัน เพราะว่าระบบการปกครองต่างกัน วิธีการต่างกัน แต่พื้นฐานทางศาสนาเหมือนกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องหันกลับไปเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้

ระบบการศึกษาไม่ได้เอาการพัฒนาจิตใจเข้ามาในหลักสูตร คนเรียนจบมาก็ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราต้องนำคำสอนของพระพุทธเจ้า คุณธรรมทั้งหลายกลับเข้ามาในโรงเรียน หากโรงเรียนนำไปใช้คิดว่าอนาคตจะดีแน่นอน ถ้าเราสามารถทำให้รัฐบาลเห็นเป็นตัวอย่างว่าอันนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม คิดว่าคงจะง่ายขึ้น

ท้อมาก็ต้องหาเพื่อน บางครั้งก็ตั้งสติ อ่านหนังสือให้มาก การท้อแท้ไม่ค่อยมีเพราะมีกิจกรรมทำเยอะแยะไปหมด เลยไม่มีเวลามาท้อ สำคัญว่าเราตัดสินใจที่จะไปทางสายนี้เราก็มุ่งหน้าเดินต่อไปให้ถึง

ผมไม่ได้ต่อสู้อะไร คิดว่าเป็นการปฏิบัติวิถีชีวิตที่ผมคิดว่าเหมาะสม เพราะว่าเราได้ช่วยคนอื่นได้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ แต่เป็นเรื่องธรรมดา ผมทำมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ซึ่งตอนนี้เริ่มได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยให้ความร่วมมือ ผมไม่ได้สอนเด็กโดยตรง แต่ฝึกครู ไปสอนอีกทีหนึ่ง แล้วผมก็ติดตามเพิ่มความรู้ เพิ่มข้อมูลให้

อยู่ที่เมืองหลวง เวียงจันทร์ ผู้ริเริ่มและเป็นผู้อำนวยการศูนย์แนวร่วมพัฒนา ประเทศลาว ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่เอกชนบริหาร อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ "

นายสันวิทย์ ไชยจำนงค์ อายุ ๓๔ ปี "ผมทำงานห้องแล็บ รพ.ของรัฐมา ๑๐ ปี รู้สึกว่างานที่ผ่านมาเหมือนตำรวจไล่จับโจร ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ไม่ได้มามองกันว่าทำยังไงคนจะไม่เจ็บป่วย มีสุขภาพที่ดี การป้องกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆแค่เต้นแอโรบิค แต่เป็นเรื่องขององค์รวมของการมีชีวิต เครียดอยู่แล้วไปเต้นอย่างนั้น ยิ่งทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นอีก

การทำงานที่ผ่านมาเหมือนกับไม่ได้แก้ปัญหาเลย เหมือนย่ำอยู่กับที่และเสื่อมลงด้วยซ้ำ ยิ่งคิดก็ยิ่งเหมือนรับจ้างทำงานไปวันๆเหมือนกรรมกรรับจ้างรายวัน จริงๆแล้วคนเรามีศักยภาพมากว่าทำงานไปวันๆ

ผมเห็นว่าวิถีทางของคนปัจจุบันนี้สวนทางกับการไปสู่ความสุข เบาบางจากความทุกข์ คนเราเลือกได้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างเผาลน หรือจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบเย็น โดยมีพระพุทธองค์เป็นครูที่ดีที่สุดในการชี้นำ

ผมยังใหม่ในวิถีทางนี้ ยังไม่รู้ว่าผมจะมีความสามารถในวิถีทางของเกษตรกรรมมากแค่ไหน ผมยังเป็นนักเรียนคนใหม่ที่เข้ามาฝึกฝนเลือกวิถีทางเกษตรกรรมพึ่งตนเอง จึงอยากมาพบกับผู้คนชุมชนต่างๆซึ่งล้วนเลือกวิถีทางเกษตรกรรมพึ่งตนเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว อยากจะมารู้จักหรืออาจจะติดสอยห้อยตามไปตามกลุ่มที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองในขณะนี้

ช่วงที่รับราชการอยู่ก็เคยไปดูหลายๆที่ เคยไปที่สวนส่างฝัน อำนาจเจริญ สวนของ คุณโจนที่แม่แตง และหลังลาออกจากงานก็ได้ไปทำงานกับชาวปกาเกอะญอบนดอยช่วง เก็บเกี่ยวข้าว พอไปเห็นไปดูไปทำก็มีความสุข เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ แต่ในขณะที่งานในเมืองเป็นงานที่เหนื่อยใจ

หลังจากงานนี้ผมจะไปศึกษาตามชุมชนต่างๆที่ทำเกษตรกรรมพึ่งตนเอง ก็จะไปศึกษาดูหลายๆที่โดยจะให้เวลาเรียนรู้ประมาณ ๑ ปี และจะไปที่ชุมชนอโศกอีกสักแห่ง ".

สำหรับใบประกาศเกียรติคุณนั้น เขียนด้วยลายมือบนกระดาษสา ลักษณะเป็นกระดาษพับไปพับมาเหมือนหนังสือใบลาน ในสมัยโบราณ ปกหน้า-หลังทำด้วยแผ่นไม้ สำหรับรายละเอียดของคำประกาศเกียรติคุณมีดังนี้

คำประกาศเกียรติคุณของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
องค์กรดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗
เครือข่ายชุมชนชาวอโศก

นับถอยหลังจากวันนี้ไปเกือบ ๓๐ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ สมณะสันตจิตโต ซึ่งเป็น สมณะรูปหนึ่งของกลุ่มพุทธศาสนิกไทยที่เรียกตนเองว่าชาวอโศก ได้ขอจับจองที่ดินป่าช้าร้าง เนื้อที่ ๔๔ ไร่ ต.กระแซงใหญ่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อสร้างศาสนสถาน สิบปีต่อมาก็เกิดชุมชนศีรษะอโศกขึ้นในบริเวณใกล้กัน สภาพที่ดินรกร้าง ขาดน้ำและธาตุอาหารสำหรับปลูกพืชใดๆ ในชั้นต้นทำให้ความเป็นอยู่ของชาวชุมชนแร้นแค้นเกินคำบรรยาย นอกจากความจริงที่จำกันได้ว่า กล้วยหนึ่งผลต้องตัดแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเพื่อให้เด็กน้อยสี่คนได้รับประทาน แต่ด้วยความทรหดและจิตใจที่แน่วแน่ ชาวชุมชนได้เริ่มต้นขุดบ่อน้ำ ปลูกผักด้วยปุ๋ยอินทรีย์เพื่อฟื้นผืนแผ่นดินสร้างปัจจัยสี่เลี้ยงตนเองให้ได้ ขณะเดียวกันก็จำกัดรายจ่ายลดลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น

ปัจจุบันศีรษะอโศกเป็นหมู่บ้านที่สมบูรณ์พร้อมทั้งวัด โรงเรียน หมู่บ้าน นา สวน ร้านค้า เด็กๆมีอาหารรับประทานอย่างพอเพียง และเมื่อชาวชุมชนผลิตข้าว ผัก ผลไม้ อาหาร ยาสมุนไพรและเครื่องอุปโภคได้เกินความจำเป็นของชุมชนแล้ว สิ่งของเหล่านั้นจึงได้ถูกนำมาวางขายในราคาย่อมเยาอยู่ตามร้านค้า แม้ในกรุงเทพมหานคร

ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ชาวชุมชนศาลีอโศกในเขตอำภอไพศาลี จ.นครสวรรค์ ก็เริ่มต้นช่วยแผ่นดินขนาด ๕๐ ไร่ ที่ขาดธาตุอาหาร ขาดน้ำสำหรับพืช โดยการขุดสระ ทำประปา ถมดินด้วยมูลสัตว์และอินทรีย์วัตถุ เพื่อปลูกพืชและเลี้ยงตัวเอง ๑๕ ปีต่อมา ชาวชุมชนนั้นจึงได้อยู่กินอย่างสมบูรณ์พร้อมทั้งได้ช่วยเหลือสังคม โดยการตั้งโรงเรียน
ทำนา ทำสวน แปรรูปอาหารออกสู่ภายนอกเช่นเดียวกัน

แม้ในปัจจุบัน การช่วยเหลือสังคมประเทศชาติของชาวพุทธกลุ่มนี้ ยังต้องต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งในทุกภาคของประเทศ ด้วยเหตุที่ทุนน้อย หากมีแรงใจอันเด็ดเดี่ยวเป็นที่ตั้ง พวกเขารับเอาผืนนาร้างมาสร้างชุมชนและป่าในเมือง อย่างเช่น ชุมชนปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม ชุมชนสีมาอโศก จังหวัดนครราชสีมา ชุมชนทักษิณอโศก จังหวัดตรัง ชุมชนธรรมชาติอโศก จังหวัดชุมพร สร้างชุมชนภูผาฟ้าน้ำบนเขาสูง จังหวัดเชียงใหม่ พวกเขา ยอมแม้กระทั่งขึ้นอยู่บนเรือในหน้าน้ำท่วม และปลูกพืชใหม่เมื่อน้ำลดลงทุกปีที่ชุมชนราชธานีอโศก จังหวัดอุบลราชธานี ยอมรับแผ่นดินอันผู้อื่นไม่ต้องการเพราะมีแต่ก้อนหิน ขนาดใหญ่ระเกะระกะมาจัดการจนกลายเป็นชุมชนหินผาฟ้าน้ำ จังหวัดชัยภูมิ

ทุกวันนี้ ชุมชนของชาวอโศกกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ เป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับหมู่บ้าน ชุมชน กลุ่มชน และระดับชมรม

ความสำเร็จของชาวพุทธกลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยการสร้างรากฐานที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างคนของพระภิกษุนามว่าสมณะโพธิรักษ์ คนของกลุ่มนี้จะต้องยึดมั่นในศีล ยืนหยัด ในการไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก แม้ชีวิตสัตว์ก็ไม่เอามาเป็นอาหาร ถือตนเองเป็นที่พึ่งตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล้าเป็นคนจน ทนต่อการเสียดสีทุกรูปแบบ ต้องเป็นผู้กินน้อยใช้น้อย ยินดีแบ่งส่วนที่เหลือออกเจือจุนผู้อื่น แม้เงินที่หาเข้าชุมชนได้ ก็ต้องไม่เก็บสะสมไว้เพื่อสะสม หากแต่ต้องสะพัดออกเพื่อสังคมให้มากที่สุด ชาวพุทธกลุ่มนี้ไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ต้องนำความรู้นั้นมาประกอบการแก้ปัญหา ทุกคนจะต้องไม่รีรอเกียจคร้านในการทำงานให้เต็มศักยภาพ และที่สุดพวกเขาปฏิเสธระบบทุนนิยม บริโภคนิยม กามนิยม และอัตตนิยม หากเชื่อมั่นในระบบบุญนิยมในทุกกิจการที่ทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกิจบุญนิยม พาณิชย์บุญนิยม การศึกษาบุญนิยม การเมืองบุญนิยม ฯลฯ

ด้วยเหตุแห่งปณิธานอันแน่วแน่ของผู้นำในเบื้องแรก และความวิริยะของสมาชิก ชุมชนในการสืบสานและการพิสูจน์ตนเอง ช่วยเหลือสังคม แม้ด้วยเวลาอันยาวนานในเบื้องที่สุด มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป จึงมอบรางวัลองค์กรดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗ ให้แก่ชุมชนชาวอโศก เพื่อเป็นเกียรติประวัติ ยืนยันถึงคุณค่าของพุทธศาสนา ที่นำมาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ของมนุษยชาติ.

ลายเซ็นต์ ส.ศิวรักษ์
ประธานมูลนิธิฯ

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (ตอน ๖)

(ต่อจากฉบับที่แล้ว )
๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ ไปสวนน้ำเพชร ของคุณมานพและคุณโอ๋ ที่คลอง ๑๒ ซึ่งเป็นสวนส้มประมาณ ๑๐๐ ไร่ และพลิกแผ่นดินกลับมาทำแบบไร้สารพิษประมาณ ๓ ปี ผลิตปุ๋ยใช้เองโดยใช้กากถั่วเหลืองผสมกับน้ำหมักชีวภาพและอินทรียวัตถุเป็นส่วนผสม ปัจจุบันได้ตัดต้นส้มออกบางส่วน ทำเป็นแปลงปลูกผักไร้สารพิษบ้างแล้ว ทางทีมงานได้เสนอแนวทางในการกำหนดแผนการผลิตร่วมกัน ได้นัดกันอีกครั้งในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ เพื่อคุยกันในรายละเอียด

๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ ไปบ้านคุณหนุ่ยเยื้องโรงพยาบาลศรีสยาม เป็นผู้ที่เคยส่งผักกับร้านกู้ดินฟ้า ซึ่งปลูกโหระพา กะเพรา แมงลักและตะไคร้ สามารถส่งให้กับเราได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผักกลุ่มดังกล่าวนี้ปลูกได้ไม่ยาก ที่สำคัญคุณหนุ่ยปลูกผักจำพวกนี้ได้อย่างเหมือนไม่ได้ตั้งใจปลูกคือ หว่านเมล็ดลงไปในพื้นที่ว่างข้างบ้านตัวเอง ไม่ได้มีเป็นร่องเป็นแปลง ไร้ความเป็นระเบียบ ไม่สวยงาม แต่มีผักให้กิน

และที่สำคัญ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ ไปสวนคุณปัทมา คลอง ๙ ปลูกผักไร้สารพิษแต่ไม่ได้เป็นญาติธรรม มีความตั้งใจในการทำกสิกรรมไร้สารพิษสูง สั่งปุ๋ยหมักชีวภาพของชาวอโศก หมักน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ได้ตอกย้ำความชัดเจนในกระบวนการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ซึ่งแตกต่างจากกสิกรรมแบบปลอดสารพิษในนิยามและความหมายในเบื้องต้น และวางแผนร่วมกันในการกำหนดการผลิต ต่อจากนั้นไปสวนน้ำเพชรที่คลอง ๑๒ ตามที่นัดกับคุณมานพไว้เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม แต่คุณมานพไม่ได้มาตามนัด จึงเดินทางกลับ

๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ นัดกับคุณมุทิตา ที่ปฐมอโศกแล้วเดินทางไปยังอำเภอบางเลน สวนของร้อยเอก ทอน แป้นโก๋ ซึ่งเป็นกสิกรที่ผ่านการอบรมของปฐมอโศก ปัจจุบันทานมังสวิรัติ เกษียณออกจากราชการและทำกสิกรรมไร้สารพิษเพียงอย่างเดียว ทำกันทั้งหมด ๖ คน เป็นคนงาน ๓ คน กับครอบครัวของคุณทอนเอง อยู่บนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๐ ไร่ ได้วางแผนการผลิตร่วมกัน จากนั้นกลับไปปฐมอโศก หลังรับประทานอาหารได้ประชุมร่วมกับท่านสมณะเสียงศีล รายงานแผนการดำเนินงานให้ท่านรับทราบ ปรึกษาท่านเรื่องปุ๋ยหมักชีวภาพ ตลอดจนกสิกรที่ท่านอบรมพร้อมที่จะร่วมแผนการผลิต โดยที่ทางสันติฯ จะจัดสรรโควตาที่ทาง กสิกรสามารถผลิตให้ได้ นอกเหนือจากนั้นท่านเสียงศีลก็ยังเกื้อหนุนเรื่องสื่อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกสิกรรมไร้สารพิษ โดยเฉพาะแผ่นซีดีเกี่ยวกับการหมักปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อไปถ่ายทอดให้กับกสิกร

บ่าย ๓ โมงเดินทางต่อไปยังไร่ปลูกรัก เข้าเยี่ยมชมและศึกษากรรมวิธีการดำเนินงานของไร่ปลูกรัก ซึ่งก็เป็น การเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของการทำกสิกรรมไร้สารพิษในลักษณะกึ่งวิชาการกึ่งธุรกิจเป็นอย่างดี จากนั้นเดินทางกลับสันติอโศก

๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ เดินทางไปยังเชียงใหม่

๙-๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ ไปพบปะพูดคุยกับญาติธรรม หลายๆท่านที่ชมรมมังสวิรัติ เชียงใหม่ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับร้านกู้ดินฟ้า ๔ ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์กลางตลาดไร้สารพิษของชาวอโศกในภาคเหนือ ได้ข้อมูลมาว่า ร้านกู้ดินฟ้า ๔ ปัจจุบันได้รับการดูแลโดยคณะกรรมการทั้งหมด ๕ ท่าน ซึ่งลักษณะการดำเนินงานที่ผ่านมาคือ ถ้ามีผักจากชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ซึ่งโดยมากมักจะเป็นผักป่าและผักพื้นบ้าน ถ้ามีปริมาณมากเกินที่ร้านชมรมมังสวิรัติรับไปทำอาหารแล้วก็จะวางขายให้กับลูกค้าทั่วไป.

(อ่านต่อฉบับหน้า )

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร

ในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร ได้ฝากข้อคิด ๓ เรื่องใหญ่ๆ ให้กับญาติธรรมชาวอโศก ได้นำไปพิจารณา ดังนี้

ขอฝากเรื่องสำคัญของชาวอโศกไว้พิจารณา ๓ เรื่องใหญ่ๆด้วยกัน

๑. การศึกษาบุญนิยม พ่อท่านได้ปรารภอยู่หลายครั้งว่า ถ้าเราไม่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา จะมีปัญหาเรื่องรอยต่อที่จะขาดคนหนุ่มสาวขึ้นมาเป็นทายาทสืบทอดอุดมการณ์ของพวกเรา ทุกวันนี้เรามีผู้อายุยาวหรือพวกบรรพชน พวกนี้ยังไงก็ตายกับศาสนาอยู่แล้ว แล้วเด็กรุ่นเล็กๆที่เป็นลูกเต้าเหล่าหลานของชาวอโศกโดยตรง พวกนี้ก็ต้องอยู่กับพ่อกับแม่ไปจนตาย อันนี้ก็แน่นอนอยู่แล้ว แต่คนในช่วงกลางที่จะต่อจากพวกคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นเด็กยังขาดอยู่ ซึ่งพ่อท่านก็เน้นความสำคัญว่า เราคงจะมาเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อการสร้างคนขึ้นมา แต่ก่อนนี้ศีรษะอโศกมีจุดเด่นในเรื่องของการศึกษา ซึ่งเราได้ข้อสรุปกันว่า ความสำเร็จนั้นเกิดจากการที่ทุ่มเทให้กับเด็กๆ ให้เวลา ให้โอกาส ให้ความเข้าใจ ให้ความอบอุ่นและให้การสนับสนุน การทุ่มเทไม่ได้หมายความว่า ต้องหาเงินหาทอง หาอาหารการกินมาบำรุงบำเรอเด็ก แต่ผู้ใหญ่ต้องมีเวลาให้ความอบอุ่น ให้ความเข้าใจ ให้ความใกล้ชิดกับเด็ก

ปัญหาที่เราเอาเด็กมาเรียนมาศึกษาแล้วเด็กไม่อยากอยู่กับเรา ก็จะมีปัจจัยสำคัญ ๒ อย่างด้วยกัน คือ

๑. ขาดความอบอุ่น เหมือนกับเราเอาเด็ก มาใช้งานเฉยๆ หรือให้แค่ความรู้ แต่เราไม่ค่อย ได้ทุ่มเทในการที่จะพัฒนาจิตวิญญาณของเขาเท่าไหร่ ปัจจัยนี้ก็ทำให้เด็กไม่ได้มีความสัมพันธ์ ผูกพัน หรือรักสถาบัน รักชุมชนที่ตนเองอยู่

๒.เด็กขาดความชัดเจนในเป้าหมายและทิศทางของชีวิต เพราะว่าผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างแบบอย่าง ให้เขาได้เห็นก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน ในยุคนี้เป็นยุคของกระแส พวกเราทำอะไรก็เหมือนกับเป็นนักการตลาดที่วิ่งไปตามกระแสเป็นพักๆ แต่ไม่ได้เป็นนักการศึกษา นักการศึกษาจะเป็นคนที่ทำอะไรต่อเนื่องจนเกิดบูรณาการ แต่ถ้าทำอะไรเป็นพักๆ ก็จะเป็นได้แค่นักสร้างกระแสเฉยๆ ซึ่งตรงนี้ทำให้เราไม่เป็นแบบอย่างของความชัดเจนในชีวิตว่าดีอย่างไร มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างไร

ในหลวงของเรานับเป็นตัวอย่างของนักการศึกษาที่ดี วันที่ ๕ ธันวาฯที่ผ่านมา ท่านได้เล่าถึงชีวิตของท่าน ที่ติดตามฟังท่านนายกฯ มาตลอด รายการวิทยุวันหนึ่งท่านนายกฯได้พูดถึงประสบการณ์ได้พบกับท่านผู้นำคนสำคัญอย่างนายลีกวนยู ท่านนายกฯก็ได้ถามนายลีกวนยูว่าปกติท่านอ่านหนังสือหรือเปล่า ? นายลีกวนยูกลับตอบว่า การอ่านหนังสืออย่างเดียวไม่พอหรอก มันต้องไปฟังแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่นด้วย ในหลวงก็ยกเอาเรื่องนี้มาพูดเหมือนกันว่า ท่านก็ติดตามฟังนายกฯมาตลอด แล้วที่ฟังก็ฟังเพื่อเอาไปปฏิบัติ อันไหนดีก็จะเอาไปปฏิบัติด้วย คนอื่นๆ ก็ฟังเหมือนกัน ซึ่งบางทีก็ฟังไม่เข้าเรื่อง แต่พระองค์ก็บอกว่า ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน ก็รู้ว่า แม้จะพูดไม่ได้เรื่องก็มีคนเชื่ออยู่เยอะ ก็ได้รู้ว่าทำไมคนเขาถึงเชื่อ ท่านก็เน้นว่าการฟังอย่างเดียวไม่พอ จะต้องพิจารณาใคร่ครวญด้วย ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ไม่ใช่เชื่อไปอย่างเดียวหมด ซึ่งตรงนี้ก็เห็นถึงความเป็นนักศึกษาของในหลวง ของเราอย่างยิ่ง

พ่อท่านเองได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ขนาดในหลวงก็ยังเป็นนักฟัง แล้วเราใหญ่แค่ไหนถึงไม่ค่อยฟัง ไม่ค่อยมีปรโตโฆสะ ไม่มีโยนิโสมนสิการ คนที่จะเป็นนักการศึกษา จะต้อง เป็นนักฟังที่ดี แล้วก็เอามาพิจารณาใคร่ครวญ อย่างลึกซึ้งให้ได้อยู่เสมอๆ จึงจะเป็นการเพิ่มสัมมาทิฐิ เพิ่มความเจริญก้าวหน้าให้กับชีวิตของเรา ไม่ใช่ฟังเอาไปคุย ฟังเพื่อเอาไปปฏิบัติ เอาไปกระทำ ให้ต่อเนื่อง หัวใจของการศึกษา ก็คือว่ามีการกระทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดบูรณาการ นักการศึกษาจะต่างจาก นักการตลาด นักการตลาดจะมีกลยุทธ์ในการสร้างกระแสได้เป็นพักๆ แต่นักการศึกษาจะต้องทำให้ต่อเนื่องยาวนานจนเกิดบูรณาการได้ ความชัดเจนในเป้าหมายอุดมการณ์ของชีวิตจึงจะเกิดได้อย่างสมบูรณ์

๒. กสิกรรมบุญนิยม พ่อท่านจัดให้เป็นบุญญาวุธหมายเลข ๓ มีคำคมกล่าวไว้ว่า จะปลูกพืชต้องสร้างดิน จะกินต้องสร้าง อาหาร จะพัฒนางานต้องสร้างคน แต่ทุกวันนี้นักกสิกรรมของเราไม่ค่อยจะแทงทะลุ ไปถึงการสร้างดินให้มีชีวิตได้มากเท่าไหร่ เหมือนปัญหาของสังคมทุกวันนี้ นักการศาสนาส่วนใหญ่ อย่างเก่งก็จะได้เพียงแค่สร้างความรู้ สร้างวิชาการ รัฐบาลไม่ว่า จะกี่ยุค กี่สมัย จะทำได้อย่างมากก็เพียงแค่สังคมสงเคราะห์ ลดแลกแจกแถม มีโครงการฟรี โครงการเอื้ออาทรต่างๆนานา แต่ไม่สามารถจะสร้างคนให้พัฒนาขึ้นมาได้ การแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นการแก้ปัญหาแบบพายเรือในอ่าง ในทำนองเดียวกับการทำกสิกรรมธรรมชาติ คนของเราน้อยมากที่จะพูดถึงเรื่องสร้างดินให้มีชีวิต อย่างมากก็แค่เน้นเรื่อง การสร้างปุ๋ยให้ดีวิเศษอย่างไร จะทำจุลินทรีย์ที่สุดยอดอย่างไร แต่มันไปไม่ถึงการสร้างดินให้มีชีวิต

ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะทำกสิกรรมให้ประสบความสำเร็จได้ ก็ขึ้นอยู่กับการสร้างตัวเราเองให้มีคุณธรรมเป็นสำคัญอันดับแรกเลย ถ้าชีวิตไม่ไร้สารพิษก็ไม่สามารถทำกสิกรรมไร้สารพิษอย่างแน่นอน ถ้าคนยังกินเหล้าสูบบุหรี่อยู่ อย่างนี้ตัดทิ้งไปได้เลยว่า ทำไม่ประสบความสำเร็จแน่

อันดับที่สอง เมื่อชีวิตไร้สารพิษแล้ว เราจะต้องมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณธรรมของเรา ให้ละโลภ โกรธ หลงได้อย่างไร เมื่อเร็วๆนี้อาตมาได้ไปเยี่ยมสวนของคุณชมภู สมาชิกของสวนส่างฝัน ซึ่งเขาเพิ่งอบรมไปได้เพียงแค่ปีสองปีเท่านั้นเอง จากชีวิตเดิมที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำกสิกรรมในชีวิตเลย เพราะว่าเป็นเถ้าแก่โรงสี วิ่งรถโดยสาร รถสิบล้อ จนหมดเนื้อ หมดตัว ไม่รู้จะไปทางไหนถึงได้เข้ามาอบรม กลับไปก็ตั้งหน้าตั้งตาขนฟาง จนชาวบ้านเขาแซวว่าเป็นผีบ้า เป็นบ้าหอบฟาง จนกิตติศัพท์ลือกันว่าพ่อชมภูเอาฟางไปคลุมดินจนสวนงามขึ้นมาทันตาเห็น อาตมาก็เลยอยากจะไปดูว่า เอ...แค่เอาฟาง มาคลุมทำให้เขาทำสวนประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ไปดูแล้วก็ไม่สงสัยเลย ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จจริงๆก็คือ ความเอาจริง ตั้งหน้าตั้งตาขนฟางโดยไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย น้ำไม่มี ก็อาศัยน้ำที่ทางการไปเจาะเอาไว้ โยกเช้าโยกเย็น นอกจากนี้สามคน พ่อแม่ลูกยังช่วยกันเจาะบ่อบาดาลลึกถึง ๗ เมตร ใช้เวลาเพียงแค่ ๔ วัน โอ้โห !...หัวใจอย่างนี้ เทวดาฟ้าดิน ก็ต้องยอมแพ้ ต้องยกให้เลย แล้วมีจิตใจที่คิดจะให้ ไม่คิดถึงเรื่องเอาเงินเอาทอง มีกล้วย มีมะละกอ มีผัก มีผลไม้ หลายร้อยอย่าง ก็ไม่คิด เรื่องไปทำมาค้าขายอะไร เอาไปแลก ไปแจก ไปแถม แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้อย่างมีความสุข แม้มีลูกชายคนเล็ก เรียนจบวิศวะฯ มา คุณชมภู ก็อยากให้ลูกมาอยู่กับสวนด้วยซ้ำไป คือในหัวใจ ไม่ได้มีเรื่องของเงินทองเลยนะ มีแต่เรื่องของบุญ เรื่องของการให้ เป็นหลัก โทรทัศน์มีก็เลิกดูไปแล้ว เอาจอหันเข้าฝา ฟังแต่รายการธรรมะอย่างเดียว และเขาไม่ทำมาก ทำแค่สองไร่กว่าๆ รายได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่าสามร้อยทีเดียว ทำจิ๋วแต่แจ๋ว แต่ส่วนใหญ่ของพวกเราทำแล้วมักจะเจ๊ง เพราะไปถือคติ อย่างที่เขาโฆษณากัน ทุนนิยมว่า "เล็กๆไม่ - ใหญ่ๆ ทำ "

สรุป การทำกสิกรรมจะประสบความสำเร็จ ต้องตั้งเป้าหมายลดโลภ ลดโกรธ ลดหลง ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาจะให้ได้กินผักอย่างเดียว ลดโลภจะลดอย่างไร โลภที่มันจะเอาแต่ใจกูเป็นใหญ่ ไม่ได้ให้ความสำคัญ ของธรรมชาติ ถ้าเราเอาแต่ใจกู กูก็เลยทำงานหนักคนเดียว บางทีเพื่อนฝูงก็ไม่สามารถ เข้ามาช่วยได้เพราะเราเอาแต่ใจ บางทีธรรมชาติ ที่จะเข้ามาช่วยได้เป็น นก ไส้เดือน จุลินทรีย์ หรือปลูกต้นไม้ช่วย เช่น ต้นฉำฉา ต้นขุนศึก ต้นขุนเหล็ก พืชตระกูลถั่วเหล่านี้ เป็นโรงงานสร้างปุ๋ยอย่างดี ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ แต่ถ้าเราโลภจะกินแต่ผักปัญญาอ่อน เอารถไป ไถเกรดทำลายดิน ทำลายไส้เดือน ทำลายจุลินทรีย์ ทำลายต้นไม้ใหญ่หมด อันนี้เอาแต่ใจกู เพราะความโลภ ก็เลยหนักหนา อยู่ที่กูคนเดียว

หากลดโลภ โกรธ หลงได้ มีหัวใจของการเป็นบุญนิยม มีหัวใจของการสร้างดิน ทำดินให้มีชีวิต คนส่วนใหญ่ทำไม่สำเร็จ เพราะหัวใจเป็นทุนนิยม คิดที่จะเอาจากดิน จะกอบโกยจากดินมากกว่าจะให้ สุดท้ายก็ถูกธรรมชาติ ลงโทษไปตามๆกัน

๓. เรื่องของสุขภาพบุญนิยม พ่อท่านจัดให้เป็นบุญญาวุธหมายเลข ๔ ทุกวันนี้ คนป่วยล้นโรงพยาบาล พวกเราทำงาน ที่โรงพยาบาลเล่าสภาพที่น่าอเนจอนาถใจให้ฟังว่า คนมาแต่เช้ามืดและรอกันจนหมดเวลา ๔ โมง เย็นก็ยังไม่ได้ตรวจ หน้าตาแต่ละคนก็เครียด ต่างจ้องรอที่จะไปให้หมอตรวจ หมอเองก็เครียด ตรวจเท่าไรๆก็ไม่หมดสักที เป็นสภาพที่หนัก ด้วยกันหมด คนไข้ก็ทุกข์ทรมาน นับวันก็จะล้นโรงพยาบาล หมอเองก็น่าสงสาร จนมีข่าวว่าอาชีพหมอ เป็นวิชาชีพที่ฆ่าตัวตาย มากที่สุด เพราะอยู่กับความทุกข์ความเครียดของคนจนหมอรับไม่ไหว

ดังนั้นเราคงจะต้องหันมาคิดพึ่งตัวเราเอง ทำอย่างไรเราจะเป็นหมอให้กับตัวเราเอง ได้ความจริงธรรมชาติในร่างกาย ของเรามีสัญญาณที่วิเศษ มีความเป็นหมอที่วิเศษอยู่ในตัวอยู่แล้ว ปวดฉี่ ปวดอึก็มีสัญญาณบอกให้รีบไปฉี่ไปอึ สมควรไปนอน ก็มีสัญญาณว่าควรไปนอน หิวกระหายควรจะได้กินได้ดื่ม ก็มีสัญญาณบอก เป็นไข้ไม่สบายควรพักผ่อน ก็มีสัญญาณบอก แต่ปัญหาที่อาตมาพบในตัวเองก็คือว่า เราไม่ค่อยได้ฟังสัญญาณอันวิเศษนี้เลย เป็นไข้ ร่างกายไม่สบาย สมควรจะพักผ่อน ก็ไม่ได้สนใจ มุ่งแต่ที่จะลุยทำงานที่เราต้องการอย่างเดียว

สรุปแล้วปัญหาความเจ็บป่วยของชาวอโศกนี่ เกิดจากทรมานร่างกายตัวเองเกินไป กับบำรุงบำเรอตัวเองมากไป

เมื่อบำรุงบำเรอตัวเองมากไป ก็กินอาหาร ตามใจชอบ ส่วนใหญ่ความเจ็บป่วยของพวกเรา ส่วนหนึ่งจะคุมเรื่องอาหารไม่ได้ คนของเรายังกินข้าวขาวอยู่เยอะ ติดกาแฟก็ยังมีอยู่เยอะ จนพ่อท่านเปรยว่า ปีใหม่นี่พวกชมรมคอกาแฟ ทั้งหลายถวายกาแฟ ให้พ่อท่านได้ไหม ?

แฟนมาม่าก็ยังมีอยู่เยอะ แฟนขนมหวาน-อาหารรสจัดก็ยังมีอยู่เยอะ หรือกิน ผลไม้เยอะบางคนไม่กินขนม แต่กินผลไม้แทน เป็นกิโลๆเลย ซึ่งเป็นการเพิ่มน้ำตาลไม่แพ้ขนมหวานเหมือนกัน

ทรมานร่างกาย คือพักผ่อนร่างกายน้อยไป อิริยาบถน้อย เคลื่อนไหวน้อย และที่สำคัญคือใจน้อยอีกต่างหาก คนที่ใจน้อย มักจะเรียกร้องมาก เรียกร้องสูง ให้ความสำคัญกับตัวเองเกินไป ก็เป็นปัจจัยทำให้เจ็บป่วยขึ้นมา

ความเจ็บป่วยเหล่านี้สาเหตุที่สำคัญ เกิดจากการยึดจัด อัตตาแรง พอใจไม่สบายก็เป็นปัจจัยให้ร่างกายไม่สบายไปด้วย ด้วยความที่ยึดจัดอัตตาแรงเมื่อไปทำงานก็จะ IN กับงานมากไป จนไม่สนใจตนเอง พร้อมที่จะเอาชีวิตเข้าแลก แต่ถ้าสะดุด ขึ้นมาหรือใครขัดขวางขึ้นมาก็จะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ทำลายความสมดุลของ ๗ อ. ไปหมด

อีกพวกหนึ่งก็โอ๋ตัวเองมากไป วันหนึ่งๆ คิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่โรคของตัวเอง เรียกว่าโลกทั้งโลกมีแต่โรคอย่างเดียว ความที่จมอยู่กับสิ่งนี้ทำให้คิดวนเวียน จนใจไม่ได้ออกจากโรค ทำให้กลายเป็นคนมีโรคหนัก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นมาก คล้ายๆกับคนที่อดข้าวแล้ว ไม่กล้าไปทำอะไรเลย เพราะกลัวทำไปแล้วจะหิวข้าว จริงๆคนที่อดข้าวแบบนี้จะหิวข้าวที่สุดเลย เพราะใจคิดแต่เรื่องหิวข้าวอยู่ตลอดเวลา ถ้าไปทำงานอะไรเพลินๆ ก็จะไม่มีเวทนา ไม่รู้สึกหิวข้าวมากเท่าไหร่ คนที่จมอยู่กับโรคของตัวเองหรือโอ๋ตัวเองมากไป ก็จะเป็นคนป่วยที่หายยากเหมือนกัน

สรุปแล้วเราต้องมาจัดสรรชีวิตให้เกิดความสมดุล เอา ๗ อ. มาทำให้เกิดผลกับตัวเอง เพื่อที่จะเป็นหมอที่สามารถพึ่งตัวเองได้ การที่เรายังทำลายสุขภาพอยู่ ถือว่าเป็นการรักษาศีลข้อ ๑ ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ เพราะว่าการฆ่าตัวตายนี่บาปที่สุด การทำลายสุขภาพตัวเองก็น่าจะบาปรองลงมา ถ้าอย่างนั้นเราคงต้องมาเน้นเรื่องบุญญาวุธหมายเลข ๔ โดยการทำสุขภาพของเราให้แข็งแรง ทำให้ศาสนาเกิดความรุ่งเรืองตามไปด้วย

แล้ววันเดือนปีก็หมุนไปอย่างซื่อสัตย์ ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังย่างเข้ามา กุศลธรรมของเราก้าวตามปีที่กำลังผ่านไป หรือไม่ ทุกข์น้อยลงๆ ทำงานพร้อมกับตรวจจิตใจอยู่ตลอดเวลาอย่างสุขสงบ หรือว่าจิตใจยังวุ่นวาย- เพ่งโทส-ถือสา ก็ต้องรีบ หาหมอ (สมณะ-สิกขมาตุ ) รักษาโดยด่วนนะคะ แล้วพบกัน ในงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๘ ที่บ้านราชฯ เจริญธรรม-สำนึกดี-มีอภัย-ใจเบิกบาน ตลอดปี ๒๕๔๘ ค่ะ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สวนสิบไร่ ไม่ธรรมดา ผู้มีชื่อเสียงต่างชาติ สนใจมาดู

เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ พระจิ้งเซี่ยงฝ่าซือ (อดีตสมณะสมณลักขโณ ) นำ ดร.เหลยจิ่วหนาน นักโภชนการ จากสถาบัน หลิวหลิ่กวง ด้าน organic ผู้มีชื่อเสียงในการจัดคอร์สอบรมสุขภาพ การขับสารพิษออกจากร่างกาย การ ดูแลสุขภาพที่แพทย์ แผนปัจจุบันไม่สามารถ รักษาได้ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เดินทางมาศึกษาเกษตรกรรมไร้สารพิษ ของสันติอโศก ที่สวน ๑๐ ไร่ โดยสมณะกล้าจริง ตถภาโว ที่ปรึกษาสวน ๑๐ ไร่ นำชมและอธิบาย

ดร.เหลยจิ่วหนาน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

"เคยมาเมืองไทยเมื่อ ๗-๘ ปีที่แล้ว แล้วไม่ได้มาอีกเลย ได้ทราบเรื่องสันติอโศก เกี่ยวกับเรื่อง organic ผักไร้สารพิษ จากหนังสือเรื่องสังคมชาวอโศก โดยพระจิ้งเซี่ยง ฝ่าซือ จึงได้ติดต่อมา และอยากจะเชิญ นักปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่อง organic มาดูว่าเมืองไทยเป็นยังไงบ้าง ที่สถาบันมีนักศึกษา มากมาย ซึ่งมาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย พูดถึงร้านมังสวิรัติ

ดิฉันได้รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องไร้สารพิษมา ๑๐ กว่าปีแล้ว ที่ไต้หวันมีกลุ่มบุคคล มีองค์กรปลูกพืชผักไร้สารฯ ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ มีร้านอาหารเจ ที่อเมริกาเวลาสอน เรื่อง organic ก็จะต้องพาคนไปดูงานว่ามีอยู่ตรงไหน แต่เดิมไม่มีความคิดเรื่องมังสวิรัติ ก็เปลี่ยนมาทำพวกไร้สารฯ เปิดร้าน นี่คือหน้าที่ของเรา ดิฉันทำพวกนี้มา ๑๐ กว่าปีแล้ว

ดิฉันคิดว่าสาเหตุที่คนสมัยนี้ป่วยไข้กันมาก เพราะสิ่งแวดล้อมเสียหายไปเยอะ เริ่มต้นจากกินนี่แหละ วิธีการจะป้องกัน โรคมะเร็ง จะต้องเริ่มต้นทำยังไง จะแก้ปัญหาโรคมะเร็งจะทำยังไง จะต้องเริ่มต้นจากการกินอาหารไร้สารพิษ ดิฉันไปพูดที่ ประเทศสิงคโปร์ ระดับรองประธานาธิบดี ๒ คน เป็นโรคมะเร็ง คนมาฟังเยอะมาก แล้วก็กลัว

จะเริ่มต้นยังไง จะต้องมาเปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อม มาป้องกันยังไง ข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่ไปทั่ว แต่ดิฉันไม่ค่อยรู้เรื่อง ประเทศไทยเลย ไม่เคยมาทำกิจกรรมที่นี่ ดิฉันมีองค์กรเผยแพร่อย่างนี้อยู่แล้ว ก็อยากจะพากลุ่มมาดูว่าที่เมืองไทย เผยแพร่ อย่างไร จะได้มารวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน ให้ดูด้วยว่าที่เมืองไทยมีองค์กรที่เผยแพร่อย่างจริงจัง คนจะได้มีความปีติ ร่วมยินดีกับเรา ทีหลังเวลาเขาจะมาเที่ยวเมืองไทยก็จะได้มาเที่ยวอย่างมีประโยชน์ มีคุณค่า

ตอนนี้ที่เมืองจีนทำลายสิ่งแวดล้อมสูงมาก พัฒนาไปทางด้านวัตถุ เดี๋ยวนี้ผลผลิตในระดับโลกก็น้อยลงๆ เพราะโลกร้อนขึ้น หากไม่มารับประทานอาหารมังสวิรัติ ไปกินแบบตะวันตก กินเนื้อสัตว์มากขึ้น ก็ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก

เมื่อก่อนประเทศจีนเป็นฝ่ายส่งออก แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นนำเข้าและยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลง อากาศก็เปลี่ยนแปลง อีกหน่อยโลกนี้ก็ตายแน่ ไม่มีใครที่จะคุ้มครองโลกใบนี้ได้ เดี๋ยวนี้กลายเป็นทุกคนนำเข้า ไม่มีคนผลิต และไปกินอาหารเนื้อสัตว์กันหมด แต่ถ้าเผื่อมากินอาหารพืชผักก็จะพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ถ้ากินเนื้อสัตว์จะไม่พอ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะร่วมมือช่วยเหลือกัน ดิฉันอยากจะช่วยเผยแพร่ เมืองไทยกำลังมีกลุ่มบุคคลที่กำลังทำงานทางด้านนี้ แล้วประเทศอื่นก็จะได้มาร่วมงานกับเรา มาแลกเปลี่ยนกับเราบ้าง

แต่ก่อนฝนน่าจะมากกว่านี้ใช่ไหม แต่ตอนนี้อากาศ ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ฝนตกน้อยลง เอ๊ะ...ทำไมน้ำน้อยเหลือเกิน แต่ก่อนตรงนี้น่าจะเป็นสระมีน้ำมากมาย ดิฉันว่าโลกใบนี้มันแย่ลงไปมากๆเลย น้ำเหลือน้อยลง ธรรมชาติถูกทำลายไป อย่างมากมาย ดิฉันเสียดาย มีแต่ตึกรามไปหมด ต้นไม้เหลือน้อยเหลือเกิน น้ำไม่พอที่จะหล่อเลี้ยง เราควรจะช่วยเหลือ ร่วมมือกัน " ดร.เหลยจิ่วหนาน กล่าวในที่สุด

สมณะกล้าตาย ตถภาโว สมณะที่ปรึกษาสวนสิบไร่ร่วมกับสมณะฝุ่นฟ้า อัคคชโย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมา
จนถึงปัจจุบันของสวนสิบไร่ว่า... "เริ่มจากสันติอโศกไม่เคยได้กินผักที่ปลูกเอง ก็เลยคิดกันว่าใครจะมีที่ให้เราได้ปลูกผักบ้าง ในกรุงเทพฯที่ไม่ไกลนัก พอดีคนได้ยินข่าวก็ไปถามญาติของญาติธรรมดู ผลออกมาเขากำลังมีสวนรกร้าง ซึ่งตอนแรก รกมากๆเลย เขาตกลงจะให้ทำ พวกเราก็เลยเข้าไปปี ๒๕๔๕ ก็ ๒ ปีกว่าๆที่อยู่มา ก็ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ คือเจตนาไม่ต้อง ลงทุนมาก เพราะหากลงทุนมาก เจ้าของจะตกใจ ถ้าเราเอารถไถไปไถ เขาจะตกใจ ขนาดเราทำบ้านดิน เขายังตกใจเล็กน้อย ทั้งๆที่จริงๆเราไม่มีเจตนาจะไปปักหลักอะไร

รู้สึกมันก็เหมาะสมลงตัว คือ เราก็ไม่ใช้น้ำประปา-ไฟฟ้าอะไร โยมเขาก็จะต่อให้ แต่เราก็ไม่เอา เตาแก๊สก็ไม่เอา เราพยายาม ให้เป็นธรรมชาติ ไม่มีคนเฝ้า ใช้น้ำบ่อ จะมีพวกเราและนิสิตม.วช.หมุนเวียน ไปทุกวันจันทร์ ไม่บังคับ

ปีนี้เพิ่งมีฐานให้นักเรียนสัมมาสิกขาไปร่วมด้วย ก็ช่วยกัน ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เราไม่ลงทุนมาก เขาจะเอาคืนเมื่อไหร่ก็ได้ เราพร้อมคืนให้ตลอดเวลา เราก็ถามเขาอยู่เรื่อยๆ เขาก็ยังไม่ได้กำหนด เจ้าของที่คือโยมศรี ฝ่ายสามีชื่อโยมมงคล เป็นมัคนายก วัดสุวรรณประสิทธิ์ เขาไม่ชอบถ้ามาใช้สารเคมี เขาแพ้ เขาสู้ไม่ได้ อย่างที่เราทำเขาก็ดีใจด้วยที่ไม่มีสารเคมี

บ้านดินช่วยกันสร้างมาเกือบปีแล้ว โดยไม่ใช้เงินสักสลึง ขนาดนี้ถือว่าใช้ได้แล้ว คุ้มค่าแล้ว มีคนไปประจำคือคุณรส คุณกิ๊ก คุณฟ้าใส คุณเฟย และอาตมา ส่วนคนอื่นๆ ก็จะหมุนเวียนกันไป เพราะเราไม่ได้บังคับ

ระดับชาติมาดูเราก็รู้สึกอายมาก เพราะเราไม่มีอะไรให้ดู ท่านสมณลักขโณบอกว่า มีให้ดูก็ดีแล้ว ในกรุงเทพฯได้ขนาดนี้ก็ดีแล้ว เพราะเราทำแบบเล็กๆน้อยๆ หากดูใหญ่ๆจะต้องไปดูที่บ้านราชฯ ศีรษะฯ ผักที่ได้ก็เก็บมาหมุนเวียนขึ้นศาลาให้สมณะ-สิกขมาตุ ญาติโยมได้ทานกัน เพราะเราทำกันเอง พื้นที่ ๑๐ ไร่ แต่เราทำจริงๆ ๗ ไร่โดยประมาณ ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ทำไม จึงปวดข้อ (ตอน ๒)

ฉบับที่แล้วเราก็ได้พูดถึงธรรมชาติ และส่วนประกอบของข้อกันไปแล้ว นะคะว่า มีความพิสดารอย่างไรบ้าง คราวนี้ คงต้องลงไปตรงจุดถึงความเจ็บปวดข้อกันบ้าง การปวดของข้อคงหลีกไม่พ้นจากสองสาเหตุคือ ความเสื่อมและการอักสบของข้อ เริ่มที่การอักเสบของเยื่อบุภาย ในข้อ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ พบได้ทุกวัย การอักเสบนี้อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือวัณโรค อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เกิดจากแรงกดบนข้ออย่างต่อเนื่อง หรือเฉียบพลัน ข้อได้รับการกระทบกระเทือน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื้อเอง ซึ่งเป็นภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เช่น โรครูมาตอยด์,เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง )

การอักเสบก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ผิดปกติในข้อ ทำให้ข้อมีอาการบวม แดง ร้อน หนาขึ้น น้ำไขข้อที่ผลิตจะเต็มไปด้วย เซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม ตามกลไกของระบบภูมิคุ้มกันโรค โดยเซลล์เม็ดเลือดขาว จะกัดกินทุกอย่างที่มันสงสัยว่าจะทำอันตรายต่อข้อ และมันอาจทำอันตรายต่อกระดูกอ่อนด้วย ทำให้กระดูกอ่อนที่เคยเป็นมันวาววับกลับเป็นหลุมเป็นบ่อ ก่อให้เกิดอาการปวดข้อยามเคลื่อนไหว ถ้ายังไม่รับการรักษาอย่างถูกวิธี กระดูกอ่อนอาจสลายไปจนหมด ทำให้กระดูกจริงชนกัน เมื่อกระดูกอ่อนสลายตัว จะทำให้เกิดการแตกร้าว หรือมีหลุมบ่อที่ผิวหน้ากระดูกลึก และอาจทำให้กระดูกบริเวณนั้นหนาขึ้น ถึงน้ำและข้อยุบตัวลง จะทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้มีหลายประการ

เหตุปัจจัยที่เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้คือ การกิน การดำเนินชีวิต การพักผ่อน ความเครียด เป็นต้น การกินก็ต้องกินให้พอดี ไม่มากเกินจนน้ำหนักตัวมาก

การที่ข้อของเราต้องแบกภาระรับ น้ำหนักเกินอยู่เสมอ ก็ย่อมเสื่อมเร็วเป็นธรรมดา หรือการใช้ข้อมากเกินไปโดยไม่พักผ่อน ก็ทำให้เสื่อมเร็วขึ้นอีกเป็นธรรมดา การออกกำลังกายให้เหมาะสม จะทำให้กระดูกและข้อแข็งแรง ชะลอความเสื่อมได้ อาหารที่เสริมสร้างกระดูกและข้อคือ แมกนีเซียม และแคลเซียม ซึ่งอาหารประเภทนี้มีอยู่มากในผักใบเขียวเข้ม เช่น ใบยอ คะน้า บรอคโคลี ถั่วและงา

คุณไม่ควรดื่มกาแฟจัด เพราะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้แคลเซียมสลายออกจากกระดูกอย่างรวดเร็ว

ค่ะ ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ จงสร้างเหตุและระงับเหตุ ที่ก่อให้เกิดตามความปรารถนาได้ตามอัธยาศัยนะคะ.

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เปิดมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน พร้อมหอพุทธศิลป์ สมาชิกร่วมงานบุญคึกคัก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนทำบุญเปิดอาคารสำนักงาน มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน () เลขที่ ๖๙/๑๕๔ ซ.ประสาทสิน (นวมินทร์ ๔๘ ) แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐

๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ แสดงธรรม "พุทธที่ไปนิพพาน " ดำเนินรายการโดย สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ณ พุทธสถานสันติอโศก

๑๒.๓๐-๑๔.๐๐ น. อภิปราย หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า " ประกอบด้วย สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ, ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ประธานมูลนิธิฯคนแรก, นายแพทย์วิสุทธิ์ ต่างใจ ประธานมูลนิธิฯคนที่สอง, ดร.สมมาต อิชโรจน์ ประธานมูลนิธิฯคนปัจจุบัน, นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้ให้กำเนิดมูลนิธิฯ, ผู้พิพากษากุสุมา คูหาวิไล ผู้อนุญาตให้ใช้บ้านเป็นสำนักงานกว่าสิบปี, คุณป้าทุเรียน ทองเงิน ผู้บริจาคที่ดิน สร้างตึกมูลนิธิฯหลังปัจจุบัน ดำเนินรายการโดย นายสงกรานต์ ภาคโชคดี เลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิฯ

๑๔.๐๐-๑๕.๐๐ น. ขับเพลง "อิฐเก่าเล่าตำนาน " และเพลงปลุกเสกอื่นๆ โดย ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ

๑๕.๐๐-๑๗.๐๐ น. อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ นักพูด นักเพลง บรรเลงอารมณ์ พูด "เหลียวหลังแลหน้า...แก้ปัญหาชีวิต " และอาจารย์ผานิต กันตามาระ เดี่ยวไมโครโฟน

รายการสุดท้ายเป็นการประมูลภาพ พุทธศิลป์และประมูลของรักที่บริจาคมา เป็นที่น่าสังเกตว่า วันนี้มีแฟนรายการวิทยุของท่านจันทร์ฯและญาติธรรมที่มาร่วมฟังธรรมจำนวนมากกว่าวันอาทิตย์อื่นๆที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวได้กราบขอโอกาสสัมภาษณ์ ท่านจันทร์ฯ ถึงความเป็นมาของมูลนิธิและอาสาสมัครผู้ร่วมงาน ดังนี้

สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ "ตึกมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนหลังปัจจุบันเป็นตึก ๕ ชั้น สร้างขึ้นมาโดยอาศัยความเมตตาจากพ่อท่านให้ใช้สถานที่ของวัด คือที่ของมูลนิธิธรรมสันติ ซึ่งเป็นองค์กรแม่ของมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน โดยคุณทุเรียน เป็นผู้บริจาคที่ให้กับวัด แล้วมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนใช้ที่นี่สร้างตึกมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง อาคาร ประมาณ ๘ ล้านบาท รวมการตกแต่งภายในประมาณ ๒ ล้าน รวมเบ็ดเสร็จก็เฉียดๆ ๑๐ ล้าน ก็ยังเป็นหนี้เป็นสินอยู่ประมาณ ๑ ล้าน ก็เป็นหน้าที่ของมูลนิธิที่จะต้องรับผิดชอบกันต่อไป

พ่อท่านพร้อมปัจฉาสมณะก็ได้มีโอกาสขึ้นมาที่นี่ ที่จริงก็ไม่คิดจะจัดงานเปิดอะไรหรอก เพราะว่าทำเสร็จก็ใช้ได้แล้ว แต่มีกระแสว่าเมื่อไหร่จะทำบุญเปิด ก็เอาวันที่พ่อท่านอยู่คือวันที่ ๑๒ ด้วยเหตุผลว่า ท่านก็จะได้เป็นผู้ใหญ่ในการเปิด และมีกิจกรรมอื่นร่วมอยู่ในวันนี้ด้วย

ลักษณะงานก็ดำเนินมาอย่างราบรื่น มีผู้คนมาร่วมงานมากมาย ซึ่งพ่อท่านใช้คำพูดว่าผู้ที่มาร่วมงานกันมากก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาท่านจันทร์ อาตมาก็เขินพอสมควร จริงๆเป็นผู้ฟังรายการ แล้วเขาก็ได้รับประโยชน์จากรายการ แล้วมีส่วนในการสร้างสรรค์พัฒนามูลนิธิ ช่วยกันสร้างตึกขึ้นมา ดีใจมากที่มีคนมาฟังเทศน์พ่อท่านกันเยอะ แล้วพ่อท่านก็เทศน์นัยที่ลึกซึ้งและชวนให้เกิดความดีงามในจิตใจ

ภายในตึกก็จะมีภาพพุทธศิลป์สวยๆติดอยู่ตามชั้นต่างๆ ได้รับบริจาคแบบให้ยืมใช้มาจากศิลปินต่างๆ ตั้งแต่อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ บริจาคมา ๓ ภาพ โดยให้ยืม ๒ ภาพ บริจาค ๑ ภาพ ในส่วนที่บริจาคนั้น คุณวันทนา เหลืองธรรมชาติ ประมูลได้ ๑ แสนบาท ซึ่งเงินที่ได้ก็นำเข้ามูลนิธิ และภาพก็ได้มอบให้มูลนิธิเหมือนกัน

อาตมามีความตั้งใจว่า ตึกก็เป็นวัตถุชนิดหนึ่งใช้สำหรับทำงาน เวลามีคนมาเยี่ยมแล้วบอกว่าตึกสวยๆ ให้มาบอกว่ามีภาพสวยนี้จะดีกว่า และภาพก็ให้แง่คิดทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะสร้างสรรค์กว่าบอกว่าตึกสวยๆ ซึ่งไม่ดี อันนี้เป็นเหตุผลที่ไม่เคยบอกที่ไหนมาก่อน เพิ่งจะมาเปิดเผยกับข่าวอโศกเป็นสื่อแรก

ในวันเปิด มีคนขึ้นมาดูภาพพุทธศิลป์แต่ละชั้นๆมากมาย ซึ่งภาพพุทธศิลป์ก็กล่อมเกลาจิตวิญญาณคนได้ดีเหมือนกัน คนได้มีโอกาสพักสายตาดูภาพดีๆ ก็ตั้งใจว่าจะใช้ตึกมูลนิธิส่วนนอกที่ไม่เกี่ยวกับห้องทำงานเป็นหอพุทธศิลป์ ก็จะหาภาพดีๆมาเปลี่ยนเรื่อยๆ ต่อไปจะมีบทกวีเพราะๆให้คนได้รับประโยชน์กัน ก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง คือเห็นพ่อท่านพยายามทำอยู่ที่ใต้ถุนโบสถ์เหมือนกัน แต่ไม่เวิร์คเพราะสถานที่ไม่อำนวย คิดว่าตึกมูลนิธิเป็นสถานที่จำเพาะเจาะจงมากกว่า และสะดวก ก็เลยตัดสินใจที่จะทำ

ส่วนรายละเอียดของตึก ชั้น ๑ เป็นชั้นเผยแพร่เท็ป ซีดี หนังสือ, ชั้น ๒ (เล็ก ) เป็นห้องสมุด ส่วน ชั้น ๒ (ใหญ่ ) เป็นที่พักของคุณทุเรียน, ชั้น ๓ (เล็ก ) เป็นห้องทำงานของทีมงานมูลนิธิ ชั้น ๓ (ใหญ่ ) เป็นห้องรวมของคนทำงานมูลนิธิ, ชั้น ๔ (เล็ก ) เป็นห้องทำงาน ของผู้ช่วยอาตมา ส่วน ๔ (ใหญ่ ) เป็นห้อง ทำงานของอาตมาสำหรับทำรายการ, ชั้น ๕ เป็นห้องรับรองสมณะ เท่าที่เปิดมาก็ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

ใครที่มาตึกมูลนิธิก็อย่าพูดว่าตึกสวย ขอ ให้พูดว่าภาพสวย แล้วข่าวลือที่ว่าท่านจันทร์รวย ตอนนี้เป็นหนี้อยู่ ๑ ล้าน ก็ช่วยๆกันหน่อย

ที่ทำการของมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน () เริ่มแรกตั้งอยู่ที่ซอยนวมินทร์ ๔๖ ซึ่งเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ของผู้พิพากษากุสุมา คูหาวิไล อนุญาตให้ยืมใช้ทำงาน สำหรับที่เช่าอยู่ในซอย วัดสุวรรณประสิทธิ์เป็นมูลนิธิฯ () เป็นที่พักของฝ่ายหญิง และตึกปัจจุบันเรียกว่ามูลนิธิ ()

ส่วนศูนย์ปฏิบัติพุทธเมตตาธรรมเป็นส่วนงานของมูลนิธิ เป็นที่ของมูลนิธิ เป็นสาขา ของมูลนิธิ สำหรับทำกิจกรรมของคนในพื้นที่นั้น อยู่ที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร กิจกรรมส่วนใหญ่จะทำในวันหยุด "

นายชลธิศ รมณียางกูร อาสาสมัคร อายุ ๒๘ ปี "จบ ม.รังสิต คณะสถาปัตย์ฯ มาช่วยงานที่นี่ประมาณ ๔ เดือนกว่าๆ เคยฟังรายการของท่านจันทร์ช่วงมาติดต่อที่มูลนิธิหลายครั้ง มาซื้อเท็ปบ้าง มาบริจาคของบ้าง ในช่วงรายการท่านบอกว่าใครที่เป็นผู้ชายอายุ ๒๐ ขึ้นไปและยังไม่แต่งงาน เป็นโสด และตั้งใจที่จะถือพรหมจรรย์ ท่านจะตั้งเป็นชมรม เป็นเพื่อนกัน ก็เลยโทร.เข้ามาและได้พูดคุยกับท่าน ท่านก็เกริ่นๆชวนมาช่วยงานมูลนิธิ ตอนนั้นผมยังไม่พร้อม ก็เลยกลับไปคิดประมาณปีกว่าๆ คืออยากจะทำแล้วทำไปตลอด ไม่อยากมาแล้วหายไป ก็เลยใช้เวลาในการคิดค่อนข้างนานว่าเราพร้อมจริงหรือเปล่า ผ่านมาปีกว่าจนรู้สึกว่าถ้าคิดนานกว่านี้คงจะไม่ได้เข้ามาเพราะว่ามันก็จะคิดไปเรื่อยๆ ก็เอาตัวเข้ามาเลย พอดีเข้าไปทางเว็บไซต์ prajan.com แล้วลงกระทู้เอาไว้ว่า จะขอปวารณาตัวเข้ามาช่วยเหลือ ท่านก็เลยให้ มาพบที่มูลนิธิ ตอนนี้ช่วยดูแลทางด้านเว็บไซต์

เคยอยู่บริษัทสถาปนิกแถวรามคำแหงประมาณ ๑ ปี แล้วลาออกมาทำงานส่วนตัวก่อนที่จะมาทำงานที่มูลนิธิ มาช่วยงานประจำทุกจันทร์-อังคาร-พุธ-ศุกร์ ที่เหลือก็จะทำงานส่วนตัวที่บ้าน มาทำงานตรงนี้เป็นอาสาสมัคร ไม่มีรายได้

เงินที่ได้จากการทำงาน ผมไม่ค่อยได้นำไปใช้ทางสุรุ่ยสุร่าย มีเพียงนิดหน่อยก็พอใช้ ส่วนตัว จึงไม่จำเป็นต้องหาเงินเอาไว้เยอะๆเพื่อซื้อความสะดวกสบายต่างๆ คิดว่าแค่เวลาส่วนตัวก็เพียงพอแล้วที่จะหาเงินเอาไว้ใช้ส่วนตัว เวลาที่เหลือเอามาปฏิบัติตัวให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมบ้าง

ส่วนที่ได้หลังจากมาปฏิบัติธรรมคือการรู้จักมองตัวเองมากขึ้น สมัยก่อนเมื่อมีอะไรมากระทบกระทั่งอารมณ์ มันจะไปก่อน บางทีเราตามไม่ทัน แต่ตอนนี้เราเริ่มรู้แล้วว่ามีอารมณ์กระทบ เราเริ่มจะตามอารมณ์ทัน มีสติตามรู้ทัน

สำหรับแฟนรายการและผู้ที่ยังไม่เคยฟัง แต่อยากจะเข้ามาสัมผัส บางคนมองภายนอกอาจจะเป็นงานที่ยาก และจะต้องเสียสละพอสมควร แต่จริงๆแล้วไม่ถึงขนาดนั้น ก็ลองมาดูก่อน ไม่ต้องถึงอยู่ประจำ เพียงแต่พาตัวเข้ามาบ่อยๆ มารับรู้ว่าในมูลนิธิทำอะไรกันบ้าง มีเวลานิดหน่อยแต่ละสัปดาห์ก็มาช่วยเหลือกันได้ ก็ถือว่าช่วยเหลือมากแล้วครับ "

นายปราสัย จันทิพาภรณ์ อาสาสมัคร อายุ ๗๔ ปี "มีคนช่วยงานประจำประมาณ ๑๐ คน มาทำงานที่นี่ประมาณ ๓-๔ ปี มาช่วยรับโทรศัพท์ อธิบายธรรมะกับผู้ที่มีความทุกข์ร้อนเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวบ้าง ติดตามท่านไปตามที่ต่างๆ เป็นมัคนายก รับผิดชอบร้านเผยแพร่เท็ปและซีดี ที่มูลนิธิ "

สุมาลีดา ดวง อาสาสมัคร อายุ ๓๐ ปี ชาวกัมพูชา "เคยฟังรายการของท่านจันทร์ที่ พระตะบองทางสถานีอุดรฯและที่เสียงสามยอด ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ โดยบังเอิญ หลังจากนั้นติดตามและติดต่อทางจดหมาย ได้ฟังเท็ปและอ่านหนังสือจากมูลนิธิฯมาเรื่อยๆ และหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติ ตอนท่านจันทร์ไปเขมร ก็ติดตามมาดูการทำงานของมูลนิธิ ก็มั่นใจและได้มาช่วยงานที่นี่ ไม่มีเงินเดือน แต่มีสวัสดิการให้เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ที่นี่คนหลากหลาย ที่ไม่ถูกจริตของเราก็มี ก็ได้ทำใจ ยอม จากเคย กินหลายมื้อก็มากิน ๒ มื้อ อังคาร-พฤหัสฯ รับโทรศัพท์, ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์อยู่ที่ห้องเผยแพร่ธรรมะ วันจันทร์หยุด มีความสุขดี "

นายนิคม นาทนงศ์ อาสาสมัคร อายุ ๖๐ ปี "ช่วยงานได้ ๑ ปีแล้ว เมื่อก่อนเป็นคนกินเหล้าเมายา เรียกว่าไม่กินเฉพาะเวลาหลับเท่านั้น เปิดฟังรายการ เกิดศรัทธา ก็หักดิบเลย ลงแดงเหมือนกัน มีลูกสาวชื่อกันยาช่วยงานที่สวนเกษตร ผมช่วยงานตั้งแต่ศูนย์พุทธเมตตาเริ่มสร้างจนเสร็จและที่นี่จนเสร็จ ช่วยแผนกทั่วไป อยู่ที่นี่สบายใจ ไม่มีเงินเดือน แต่ก็มีคนให้ใช้บ้าง

ทานมังฯมาได้ปีเศษๆ ตี ๔ ก็กวาดลานวัด พระวิหารชั้นบน เสร็จแล้วจึงมาช่วยงานที่มูลนิธิ ท่านจันทร์ทำอะไรก็เหมาะควรตามพระธรรมวินัย เพราะผมเคยบวชมาก่อน "

นางสอยดาว เทพประสิทธิ์ อายุ ๕๔ ปี อาสาสมัคร "ฟังรายการทุกวัน มาช่วยงานเป็นครั้งคราวที่มีเวลาว่าง ปกติจะหยุดวันอาทิตย์ เป็นแฟนรายการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๓ ดีมาก เมื่อก่อนจะโมโห เครียดกับลูก เดี๋ยวนี้ปล่อยวางได้ จิตใจเมตตา เขาอารมณ์ร้ายมาเรากลับดีตอบ อารมณ์เย็น เมื่อก่อนไม่คิดว่าจะทำได้ แต่เราก็ทำได้ "

สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการรายละเอียดตารางออกอากาศรายการ "ทุกข์ปัญหาชีวิต " ทางวิทยุ-โทรทัศน์ ดำเนินรายการโดย "ท่านจันทร์ " ก็ติดต่อขอได้ที่มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนทุกวัน.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๔๕ (๒๖๗ ) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗

ปีวอกกำลังจะไป ปีไก่กำลังจะมา นสพ.ข่าวอโศก ฉบับนี้รายงานข่าวในช่วง ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ให้ได้ทราบถึง ความเคลื่อนไหวในหมู่ชาวเราอีกวาระหนึ่ง เพื่อจะได้ระลึกถึงกัน ช่วยเหลือกัน เป็นหมู่มวลแก่กันและกัน เสริมสาราณียธรรม ของชาวเราให้เจริญมั่นคงต่อไป ก็ต้องขออนุโมทนากับทีมงานและญาติธรรมทุกท่าน ทั้งที่ช่วยเหลือ ให้ข่าว รวมไปถึงติดตามข่าวจากทุกสื่อของชาวเรามาโดยตลอด สาธุ

ที่นี่ปฐมอโศก...หลังงาน ๕ ธันวาฯ มหาราช ท่านนาไท พาหนุ่มๆออกเดิน จาริก พลิกจิตวิญญาณให้เกิดความมั่นคงในทางธรรม หมอแก้งก็ร่วมขบวนจาริก ด้วย ใครเจ็บป่วยระหว่างทางคงหายห่วง เพราะมีหมอไปร่วมเดินด้วยนั่นเอง...ส่วน ม.วช.หยก กับต่าย ก็ได้ช่วยงาน รร.สัมมา สิกขา สมกับเป็นสายพันธุ์ลูกหม้อ แต่เวลาจิตตก จะมีโอกาสเดินจาริกหรือเปล่าหนอ ยังไงๆ ถ้ายกจิตไม่ขึ้น ก็อย่าลืมครูบาอาจารย์ให้ท่านช่วยนะหนูนะ... ส้ม (เวียงฟ้า ยะโสธร ) หวังจะไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย กลับถูกรถเก๋งชนจนกระดูกสะโพกทั้งหักและร้าว ต้องรีบเดินทางกลับมาที่บ้านทาวน์เฮ้าส์ข้าง ปฐมอโศก เพื่อรักษาตัว ตอนนี้ก็อาการดีขึ้นเยอะ กราบสมณะได้ ช่วงนี้ก็กำลังฝึกตัวเองให้หมั่นระลึกถึงศีลให้ได้บ่อยครั้งขึ้น จิ้งหรีดได้ข่าวว่า กำลังค่อยๆดีขึ้นตามประสาวัยรุ่นที่ว้าวุ่นมานาน ได้ยินส้มพูดกับสมณะว่า ตอนนี้ดูตัวเองจะเป็นผู้ใหญ่กว่าเดิม เพราะคิดถึงคนอื่นไม่เอาแต่ใจตัวมากขึ้นและเห็นพิษภัยของมือถือ จิ้งหรีด ก็หวังว่าในอนาคตคงเป็นกำลังของ รร.สัมมาสิกขา ช่วยดูแลน้องๆให้อบอุ่นต่อไป...

ผ่าตัดครั้งที่ ๒ แล้วสำหรับ สิกขมาตุมนทิพย์ เรืองศรี ตอนนี้ท่านอายุก็ ๕๘ ปีแล้ว ป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกคอ (๗ ข้อ ) เสื่อมไปซะ ๓ ข้อ (ข้อที่ ๔-๕-๖ ) ผ่าครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ ส.ค.๓๘ เป็นกระดูกข้อที่ ๔-๕ ส่วน ผ่าครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๗ ธ.ค.ที่ผ่านมานี่เอง ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นดูอาการ ก่อนหมอจะนัดผ่าอีกครั้ง...

สิกขมาตุแสงฝน เข้าวัดมาตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี อยู่ฐานะคนวัดมา ๑๐ ปี เป็นปะ ๕ ปี เป็นกรัก ๘ ปี รวม ๒๓ ปี จึงได้บวชเป็นสิกขมาตุเมื่อวันอังคารที่ ๓๐ พ.ย.๔๗ ที่พุทธสถานปฐมอโศก จิ้งหรีดได้ข่าวจากวงในมาว่า จะมีการเลือกปะหญิงคนใหม่ที่บ้านราชฯแทน ปะน้ำใจ ที่ได้เลื่อนฐานะเป็นกรัก ใครจะได้รับเลือกเป็นปะหญิงคนใหม่ จิ้งหรีด จะคอยติดตามมาเสนอต่อไปนะฮะ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

นกสันติภาพ...หลังจาก ชมร.ช.ม. ส่งนกกระดาษสันติภาพให้ทางกองทัพอากาศนำไปโปรยเป็นกำลังใจให้พี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปได้ไม่กี่วัน ก็มีเด็กโทรศัพท์มาจากภาคใต้บอกว่า
ได้รับนกกระดาษแล้ว ก็ขอขอบคุณชาว
ชมร.ช.ม.ที่ส่งกำลังใจไปให้ ชาว ชมร. ช.ม.ก็รู้สึกปลื้มไปตามๆกันในกุศลธรรม ที่ทำไป แหม ! จิ้งหรีดเองได้ยินก็พลอยยินดีไปกับเขาด้วย นี่แหละหนอ ค่าของน้ำใจ ความรัก ความเมตตาที่คนเรามีให้กันนั้น มันนับค่าเป็นเงินเป็นทองไม่ได้เลยจริงๆนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ทายาทบุญ...คุณกรักน้ำเย็น ตอนนี้เบาแรงไปอีกเยอะ เพราะมีทายาทมาสานงานต่ออย่างขยันขันแข็ง ซึ่งตอนเย็นๆ เราจะได้เห็นคุณทองใบ (ตะวันงาย ๑ ) เข็นรถแยกทอง จากขยะจนมืดค่ำ พอได้เต็มรถแล้วก็มา แยกประเภทที่โรงแยกขยะอีกที จิ้งหรีด เห็นแล้วก็ให้รู้สึกชื่นชมและอนุโมทนากับคุณทองใบจริงๆ...จี๊ดๆๆๆ...

นานทีปีละหน...ที่เด็กๆ พุทธธรรม วันอาทิตย์ สันติอโศก ได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิตติดดิน นั่งกินกับทราย ร่วมกันเก็บผักที่สวน ๑๐ ไร่ ก่อกองไฟ หุงข้าว ทำกับข้าวกันเอง เด็กๆ สนุก สนานกันใหญ่ ใช้ใบตองแทนจานข้าว กินกันชนิดนับเม็ด เพราะกว่าจะได้อาหารมื้อนี้มา ต้องหิวเสียจนตาลาย ทำให้ได้เห็นถึงความสามัคคี รวมพลังสู้ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

ช่วงงานปีใหม่...ใครอยากใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ขอเชิญช่วยกันบรรจุฝรั่ง, ส้ม ใส่ถุงสำหรับขายให้พี่น้องประชาชนที่มาร่วมงานตลาดอาริยะที่ร้านกู้ดินฟ้า และใครมีถุงที่ใช้แล้วแต่สภาพดี ก็รับบริจาคด้วนะฮะ เพื่อจะได้นำมาใช้บรรจุผลไม้ขายในงานเดียวกันนี้ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

ขอความร่วมมือ...งานตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๘ นี้ ขอให้ผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ชาวชุมชน คนวัด นิสิตฯ หรือผู้มาช่วยงานปีใหม่ กรุณาติดบัตรประจำตัวหรือบัตรสีเหลืองก็ได้ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ว่า อยู่ในฐานะเจ้าภาพร่วมกันนะฮะ สาระก็คือ สามารถรับประทานอาหารที่ตลาดอาหารได้ฟรี และสามารถถูกเรียกให้ช่วยงานได้ตลอดเวลาเหมือนกัน เหตุเพราะปีนี้เรามีนักเรียนมาช่วยงาน น้อยกว่าปีที่แล้ว เลยต้องขอเชิญชวนให้ร่วมสั่งสมบุญคนละไม้คนละมือก็แล้วกันนะฮะ พอเอ่ยถึงตอนนี้ ก็ได้ยินเสียงเอ่ยขึ้นเล่นๆว่า "เอ ! จะมีใครติดบัตรเฉพาะตอนกินหรือเปล่าหนอ " จิ้งหรีดฟังแล้วก็ขำ เพราะนึกไปถึงว่า น่าจะเป็นมุขให้ทีมวาดการ์ตูน ๓ ช่อง "ยิ้มนิด สะกิดธรรม " ในข่าวอโศกวาดนะเนี่ย แต่แหม ! ก็ขอให้เป็นแค่เพียงช่องที่ ๔ ที่เอ่ยพอขำๆก็พอนะฮะ อย่าให้มีจริงๆเลย เพี้ยง...จี๊ดๆๆๆ...

น่าทึ่ง...จิ้งหรีดมีโอกาสไปร่วมงานประกาศเกียรติคุณ โดยมูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีปฯ ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

ช่วงที่ได้ฟังการประกาศเกียรติคุณองค์กรดีเด่นประจำปี ๒๕๔๗ แก่เครือข่าย ชุมชนชาวอโศก จิ้งหรีดก็คิดไม่ถึงว่า เขาจะเขียนรายละเอียดความเป็นมาของชาวอโศกได้ละเอียดลออขนาดนั้น จนเกิดความรู้สึกว่า เอ ! หรือจะเป็น อ.ขวัญดีเขียนให้หรือเปล่าหนอ เพราะ อ.ขวัญดี ก็ศึกษาพวกเรามามาก

ด้วยความอยากรู้ ก็เลยไปสอบถาม อ.ขวัญดี ว่าใครหรือที่เขียนคำประกาศ นี้นะ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เป็นคนเขียนเอง

พอจิ้งหรีดได้ฟังก็ต้องร้อง โอ้โห่ ! เพราะรู้สึกทึ่งว่า อาจารย์ ส.ท่านเขียนได้ขนาดนี้เชียวหรือ ? น่าทึ่งๆๆ จริงๆ เพราะจิ้งหรีดรู้สึกว่า แม้ในชาวอโศกเอง บางคนก็ยังไม่รู้รายละเอียดและสามารถเรียบเรียงได้ดีขนาดนี้ จริงไหมฮะ...
จี๊ดๆๆๆ...

ขยัน...แม้จะจบ ม.๖ รร.สัมมาสิกขาศีรษะอโศก เธอก็ยังตั้งใจอยู่วัด ช่วยงานวัด ตอนนี้เธอก็ช่วยทำงานด้านเอกสารทางวิชาการของโรงเรียน สส.ษ. พอญาติป่วยเธอก็พามาดูแลที่ชุมชนติดวัด มีอาเปิ้มและผู้ใหญ่หลายท่านคอยให้กำลังใจ จะไปฝึกตัวเองบนดอย ผู้ใหญ่ก็สนับสนุนถ้าเธอมีความพร้อม จะให้อบรมเด็กๆ เธอก็พอมีความสามารถ ไม่เชื่อถามจุ๋ม (ศิษย์เก่า สส.ษ.รุ่นน้อง ) ที่ช่วยงานเธออยู่ก็ได้ พอถามว่ามีผู้ชายมาเกาะแกะไหม แม้ว่าเวลาส่วนใหญ่เธอจะทุ่มเทอยู่กับงาน แต่เรื่องนี้จิ้งหรีดขอไม่บอกดีกว่า ถ้าใครสงสัยก็ถามเธอนะฮะ แต่ขอบอกใบ้ให้ก็ได้ว่า ไม่ใช่ คนเดียว แม้หน้าตาจะอย่างนี้ก็เถอะ คงเพราะเธอมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ขยันขันแข็งกระมัง ที่เป็นเสน่ห์มัดใจ
ผู้เข้าใกล้ เธอเคยบอกจิ้งหรีดว่าอยากอยู่เป็นโสด แต่ผู้ใหญ่บางคนช่วยเธอไม่ได้กลับผลักให้เธอเข้าสู่ประตูวิวาห์ เธอคิดยังไงกับผู้ใหญ่คนนั้น ก็คงต้องไปถามเธอเอง จิ้งหรีดรู้แต่ว่า เธออยากเป็นโสดจิ้งหรีดคิดว่า ถ้าใครช่วยให้เธอทำงานดูแลน้องๆ ฝ่ายหญิงได้ คงช่วยให้ความตั้งใจของเธอเป็นจริง เอ ! แล้วใครล่ะจะช่วยเธอในเรื่องนี้ได้ จิ้งหรีดก็สุดจะรู้ ได้แต่ขออวยพรให้เธอได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการดูแลน้อง เพราะจะหาคนมีบุคลิกอย่างนี้ก็ยาก เอ ! เล่ามาทั้งหมดเนี่ยก็ยังไม่ได้บอกชื่อเธอเลยนะ ถ้าอยากรู้คงต้องเป็นปริศนาซ้อนปริศนาให้ไปหาเอาเองนะฮะ...นี่ก็อีกราย ก็มีคนชมท่านถ่องแท้ให้จิ้งหรีดฟังว่า เดี๋ยวนี้ท่านนิ่งดีนะ ขนาดพ่อท่านให้ขุมทรัพย์หนักเป็นตัน ท่านก็น้อมรับได้ และพยายามปรับตามผู้ใหญ่ที่เมตตาชี้แนะ นี่แหละลูกผู้ชายถ่องแท้จริงๆ ที่มีความขยันเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวอโศก สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

คติธรรม-คำสอนประจำฉบับ

สาเหตุ ๑๐ประการที่ทำให้หล่น (ตุ้บ ) จากหมู่
๑. มีความไม่ชอบใจในประธานหรือหัวหน้า
๒. มีความไม่ชอบใจในหมู่
๓. มีความไม่ชอบใจในความเห็นของประธาน
๔. มีความไม่ชอบใจในความเห็นของหมู่
๕. แก้ไขความเป็นอยู่ของตน เข้ากับหมู่ไม่ได้
๖. มีความขยันเกิน จนเข้ากับหมู่ไม่ได้
๗. มีความขี้เกียจเกิน จนเข้ากับหมู่ไม่ได้
๘. อยู่กับหมู่ไม่มีความปราโมทย์
๙. เห็นหมู่อื่นดีกว่า
๑๐. เห็นว่าตนดีกว่าหมู่
(จากหนังสือ โศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๑๐๘ )

ฉบับนี้ลาไปก่อน พบกันใหม่ฉบับ ต้อนรับปีใหม่'๔๘ นะฮะ

- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ปฐมอโศก - อินทร์บุรี

พิสูจน์ความมหัศจรรย์ของปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ ยิ่งใช้ดินยิ่งดี ส่วนปุ๋ยเคมียิ่งใช้ดินยิ่งเลว !

ที่นาของชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี เริ่มทำนาอินทรีย์เมื่อปลายปี ๒๕๔๖ ทำนาปีละ ๒ ครั้ง ใช้แต่ปุ๋ยหมักและน้ำชีวภาพที่ทำเองมาตลอด ทำมาสองครั้งได้ผลดี ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ วันเกี่ยวข้าวก็เชิญผู้ใหญ่ของจังหวัดและอำเภอไปร่วมพิธีทำขวัญข้าว เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่าทำไมเราทำได้

หลังจากทำนาครั้งที่สองเสร็จแล้ว ก็ปล่อยน้ำหมักฟาง มีฟางหนามากเพราะข้าวสมบูรณ์ จากนั้นก็ไม่มีเวลาไปทำนาอีกเลย เพราะมีคนไปดูงาน มาอบรมบ่อยมาก ของก็ขายดี วิ่งส่งแทบไม่ทัน เป็นห่วงนาที่ทิ้งไว้เปล่าๆ ปล่อยไว้ประมาณ ๓-๔ เดือน ก็พากันไปดู ปรากฏว่า ข้าวขึ้นเต็มทุ่ง ราวกับมีใครมาทำไว้ให้ ข้าวสูงใหญ่ผิดปกติ สูงท่วมหัวแม้คนที่สูงถึง ๑๗๔ ซ.ม. ข้าวก็ยังสูงเลยหัว กำลังออกรวงเต็มทุ่ง ในเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่

ณรงค์ สิทธิพันธ์ เจ้าของนาดีใจมาก เพราะทำนาแต่ละครั้งเหนื่อยมาก ต้องสูบน้ำเข้าน้ำออก ต้องจ้างรถตีฟาง หว่านปุ๋ยหมักชีวภาพ มาคราวนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ข้าวกลับสูงใหญ่กว่าเก่า นาที่อยู่รอบๆติดกัน หว่านก่อนเกือบสองเดือน ต้นยังสูงไม่ถึงครึ่งของเรา รวงก็เล็กนิดเดียว แถมต้องฉีดยาฆ่าแมลงเป็นประจำ ของเราไม่มีแมลงศัตรูพืชเลย

เราได้ไปถ่ายทำเป็นวิซีดีไว้ และเชิญเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอไปร่วมวิจัยด้วย ชาวนาแถวนั้นก็สงสัย พูดกันว่า ไม่เห็นเจ้าของมาทำอะไรเลย ทำไมข้าวต้นใหญ่จัง รวงก็ดก เรานับต้นได้ถึง ๑๑๕ ต้นต่อ ๑ กอ เลยตั้งข้อสังเกตกันว่า ขอให้ดินดีและอย่าเผาฟาง จุลินทรีย์จะแตกตัว ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ เพิ่มสารอาหารให้กับพืชอย่างรวดเร็วและมากมายมหาศาล

หวังว่า สักวันหนึ่งชาวนาคงจะคิดได้ และทางอื่นก็ตันหมดแล้ว สารเคมีมีแต่ช่วยให้จนลง ทำลายดินจนจะปลูกอะไร
ไม่ขึ้นอยู่แล้ว เรามีวิซีดีการทำนาตั้งแต่ต้น ถ่ายไว้ทุกระยะ มาจนถึงทำนาไร้สารพิษชนิดไม่ต้องลงทุน ทำได้อย่างไร

สนใจวิซีดี ติดต่อ สมณะเสียงศีล ชาตวโร โทร.๐-๑๘๓๕-๖๑๐๘ หรือ ติดต่อ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ตู้ ปณ. ๖๗ ปทจ.นครปฐม ๗๓๐๐๐.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นายสมประสงค์ ปริกัมศีล
เกิด ๑๒ ธ.ค. ๒๔๗๘ อายุ ๖๙ ปี
ภูมิลำเนา กรุงเทพฯ
การศึกษา ปริญญาตรี (บัญชี ) ม.ธรรมศาสตร์
สถานภาพ แต่งงานแล้ว บุตร ๕ คน
ส่วนสูง ๑๖๙ ซ.ม.
น้ำหนัก ๕๕ กก.

 

 

คุณลุงสมประสงค์ ญาติธรรมรุ่นแรกๆของชาวอโศก มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ คำว่า ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด นี่ถูกใจลุงมากๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจค่ะ

*** งานคือชีวิต
มีพี่น้องแม่เดียวกัน ๓ คน ผมเป็นลูกคนโต พ่อทำโรงพิมพ์ สมัยพิมพ์ไทย สยาม นิกร พ่อทำงานเก่งแต่เงินหมด เพราะเล่นการ พนัน ผมช่วยงานโรงพิมพ์ตั้งแต่อยู่ประถมฯ

จบ ม.๖ ที่ร.ร.วัดบวรฯ ต่อพาณิชยการ พระนคร ๓ ปี สมัยเรียนพาณิชย์เรียนตอนเช้า-บ่ายโมง จากบ่ายโมงก็ช่วยงานโรงพิมพ์ ตลอด ปี ๒๔๙๙ จบพาณิชย์ก็ไปเข้าธรรมศาสตร์ แผนกบัญชี โรงพิมพ์ประมูลหนังสือราชกิจจาฯ ได้ต้องพิมพ์ทั้งปี เหนื่อยมาก สมัยก่อนใช้มือพิมพ์ หนี้สินหมด โรงพิมพ์ก็เป็นของเรา

ปี ๒๕๐๐ ประมูลได้อีกแสนเล่ม พิมพ์เสร็จ ส่งเสร็จ ผมไอเป็นเลือด เป็นทีบี ทำงานหนักไม่ได้ ต้องพักเฉยๆ เพราะงานโรงพิมพ์มันหนัก เลยสอบเข้ารับราชการ สอบ ได้หลายแห่ง แต่เลือกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพราะสามารถไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ได้สะดวก

ทำงานที่สหกรณ์ก็พบกับแม่บ้านซึ่งสอบเข้าทำงานรุ่นเดียวกัน แต่ยังไม่ให้ใครรู้เพราะผมยังเรียนไม่จบ พอจบปริญญาก็เขียนจดหมายถึงแม่บ้าน แล้วปลูกบ้านที่พระโขนง แต่งงานตอนปี ๒๕๐๖ ผมอายุ ๒๘ ปี แม่บ้านอ่อนกว่า ๕ ปี เป็นคนฝั่งธนฯ มีบุตร ๕ คน (ชาย ๓ หญิง ๒ )

*** คนไม่รู้ฟ้าสิรู้
ผมไปทำงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นปลัดอำเภอกบินทร์บุรี ปี ๒๕๒๐ เป็นนายอำเภอบ้านผือ จ.อุดรฯได้ ๑ ปี ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหาว่าทุจริตโครงการเงินผัน สมัยพล.อ.เปรมเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งปีนี้ผมได้ ๒ ขั้น ผมทำงานจริงจัง ทำตามระเบียบทุกอย่าง บางอย่างก็ดีกว่าระเบียบเสียอีก ต่อสู้กับเจ้าพ่อที่มีอิทธิพล อำเภออื่นทุจริตกลับไม่ถูกสอบสวน แต่ผมไม่เอากลับถูกตั้งกรรมการ ถูกย้ายไปนครราชสีมา สอบสวนอยู่ ๓ ปีปรากฏว่าแค่ว่ากล่าวตักเตือน ปีที่ ๔ เงินเดือนขึ้น ๕ ขั้น เข้าโรงเรียนนักปกครองระดับสูง ได้ซี ๗ ไปอยู่กรมการปกครองแผนกเงิน หัวหน้าฝ่ายพัสดุและงบประมาณ

*** ไม่หยุดอยู่ในกุศล
ปี ๒๕๒๔ ได้รับหนังสือสารอโศกกับแสงสูญ ตรงไหนสำคัญผมก็ขีดดินสอดำ บอกลูกๆทั้ง ๕ คนว่าว่างๆให้อ่านตรงที่ขีดดินสอดำไว้ ปีใหม่ ๒๕๒๗ ที่บ้านทั้งหมดตกลงเลิกกินเนื้อสัตว์ ตอนผมเล็กๆแม่บอกว่าให้มีศีล ๕ อย่าฆ่าสัตว์ อย่าตบยุงนะ ในชีวิตผมไม่เคยฆ่าสัตว์เลย

ปี ๒๕๓๑ ผมนึกอยู่ในใจ เอ๊ะ... คนเรานี่เหมือนสัตว์ แล้วได้มาฟังเทศน์ก็ตกลงถือศีล ๘ กับแม่บ้าน ตัดเรื่องกามออกไป ก็ยิ่งรักกันแบบเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือกัน ช่วยทำงานบ้าน ชวนกันมาวัด มันเบาสบาย สุขภาพก็ดี

แม่บ้านอยู่กับลูกสาวที่บ้านท่าพระ ส่วนผมอยู่คนเดียวที่บ้านพระโขนง ลูกชาย ๒ คนอยู่ที่สันติฯและปฐมอโศก มาศึกษาทางธรรมะแล้ว เราก็รู้ว่าชีวิตมันก็ไม่มีอะไร เกิดมา แต่งงาน มีครอบครัว เท่านี้เอง

*** ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน
"ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด " ถูกใจผมมาก กางเกงที่ใส่อยู่นี่ก็ของคนอื่น ผมแก้เอวก็ใส่ได้แล้ว เสื้อเขาก็ให้ ผมไม่ได้ประหยัด แต่คิดว่าต้องไปเสียเงินทำไม ตอนเด็กแม่ผมเป็นคนตัดผมให้ พอมีลูกผมก็ซื้อปัตตาเลี่ยนตัดให้ลูกๆ แล้วให้เขาฝึกตัดกันเอง เมื่อเขาแยกย้ายกันไป ผมก็ตัดผมเอง

ผมทำได้ทุกอย่าง แต่ที่เกินพื้นฐานก็อาศัยช่าง ผมมีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง ขับรถมาไม่เคยเสียเงินเกิน ๑,๐๐๐ บาท ปีที่เขาบังคับให้ทำประกันภัยต้องเสียเงิน ๑,๒๐๐ บาท ผมเจ็บใจ เลยขายรถเอาเงินไปซื้อจาน ให้บ้านราชฯตอนเปิดใหม่ๆ ทุกวันนี้นั่งรถเมล์ ทีวีก็ไม่ดู ฟังแต่ข่าววิทยุ

คนที่สุรุ่ยสุร่ายผมคิดว่าเพราะว่าเขาไม่ได้รับคำสอนที่ถูกต้อง แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่ทำเป็นตัวอย่าง

ถุงพลาสติกผมก็ใช้จนเก่า มีคนให้ถุงผ้าแต่ผมจะใช้เวลามีงาน ถุงพลาสติกมันสะดวก ไม่ต้องซัก ไม่เปียกน้ำ ขาดแล้วก็เปลี่ยนใหม่ได้ ถุงที่บ้านก็มีเยอะ ไปตลาดผมไม่เคยเอาถุงแม่ค้า

*** ฝากสุดท้าย
คนเราต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ เรามีหน้าที่อะไรต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ รับผิดชอบอะไรต้องทำเรื่องนั้นให้ตลอด และการประมาณตัวเองว่าทำได้แค่ไหนอย่าทำเกินฐาน

คุณลุงไม่หยุดอยู่ในกุศลธรรม เป็นบุคคลที่ควรสรรเสริญยิ่งนัก ปีใหม่ นี้มาเพิ่มอธิศีลเป็นของขวัญล้ำค่าให้แก่ตัวเองกันดีไหม ?

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวหินผาฯช่วยดับไฟป่า ด้วยสำนึกนักอนุรักษ์ เพื่อประเทศชาติ ที่ภูแลนคา

วันพุธที่ 8 ธ.ค. 47 ชาวหินผาฟ้าน้ำ ไปส่งพ่อท่านและสมณะขึ้นเครื่องบินที่ จ.ขอนแก่น หลังจากเสร็จงานบุญลอมข้าว (ข้าวรวมกอง พี่น้องรวมใจ ) กลับมาพักผ่อน ก่อนนอนประมาณเกือบสี่ทุ่ม สมณะฉันทโสก็ไปปลุกสมณะโสรัจโจ ให้มาดูไฟไหม้ป่าบนภูแลนคา ซึ่งได้ไหม้มาหลายวันแล้ว ได้ลุกลามมาเรื่อยๆ ใกล้จะถึงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนลำประทาว วันรุ่งขึ้นสมณะประชุมกันหลังฉัน ตอนแรกก็คิดว่าจะไปสำรวจดูก่อน โดยมีสมณะและเด็กผู้ชายเพียงไม่กี่คน แต่พอเย็นวันที่ ๙ ธ.ค. เด็กๆ มาทานอาหารกันที่โรงครัวกลาง กำลังพลบค่ำ พอเด็กผู้ชายรู้ข่าว ต่างก็อยาก จะไปช่วยดับไฟป่ากัน ทานอาหารเสร็จก็รีบไปเตรียมอุปกรณ์ มี ไม้กวาด ไฟฉาย น้ำดื่ม รองเท้า กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ เป็นอันว่ามีสมณะ 3 รูป (ท่านโสรัจโจ ท่านฉันทโส ท่านอุชุจาโร คุรุแผนผา คงนาวัง และเด็กผู้ชายรวม ๒๒ คน ประมาณ ๑ ทุ่ม ทุกคนขึ้นรถหกล้อเตรียมพร้อม ก่อนขึ้นรถก็มีการปลุกใจ และเน้นย้ำความปลอดภัยไว้ก่อน ทำงานกันเป็นทีมไม่ทิ้งกัน

เมื่อรถไปจอดที่ตีนภู ใกล้บริเวณน้ำตกสาวน้อย ได้ปรึกษากันแล้วตกลงว่าพวกเราจะขึ้นไปดับไฟที่ไหม้บนภูก่อน แล้วค่อยทยอยดับลงมา ทุกคนจึงเดินแถวขึ้นบันได พอเดินขึ้นไปถึงยอดภู แล้วเดินเลียบไปทางขวา ประมาณครึ่งกิโล พวกเราก็ได้ประจันหน้ากับกองไฟที่กำลังรุกแดงอยู่ พอเด็กๆเห็นกองไฟ ก็เข้าไปดับไฟกันอย่างสนุกสนาน สณะโสรัจโจนำทีมดับไฟไปข้างหน้า ส่วนท่านฉันทโส กับท่านอุชุจาโรระวังหลังคอยเตือนเด็กๆ เพราะบางช่วงเป็นภูที่ชันมาก บางครั้งที่ดับไปแล้ว กลับลุกลามติดขึ้นมาอีก ก็ต้องเดินย้อนกลับไปตีจนดับหมด เนื่องจาก ทีมหลังเก็บรายละเอียดในการดับไฟให้สนิท ก็เลยช้า ทีมหน้าตีดับไปจนถึงตีนภูเขา ก็ไปก่อกองไฟนอนพักผ่อนกันรอบกองไฟ และตะโกนเรียกหากันก้องป่า จนมีชาวบ้านบางคนล้อเลียนกันว่าผู้อนุรักษ์ป่าŽ ทีมคุรุแผนผากับเด็กนักเรียน หลังจากพักหายเหนื่อยกันแล้ว ก็ได้ย้อนกลับไปช่วยกองหลังดับต่ออีก จนดับหมด เหลือแต่ไฟที่ไหม้ตอแรงมาก ไม่สามารถที่จะดับได้ ก็อาศัยเขี่ยใบไม้ เพื่อกันไม่ให้รุกลามไป เสร็จแล้วก็หาทางลง บางช่วงต้องบุกป่า เพราะไม่มีทางเดิน สุดท้ายทุกคนก็ลงมาได้ด้วยความปลอดภัย ห้าทุ่มพวกเราจึงมาถึงรถ มองเหลียวไปดูก็ยังเห็นไฟบางส่วนที่ยังรุกอยู่ พวกเรารีบเกินไป จึงทำให้ขาดความละเอียด แต่ก็โชคดี หลังจากรุ่งเช้า ออกบิณฑบาตมองย้อนกลับไปดู ไฟได้ดับหมดสนิท ถือว่าด้วยพลังแห่งความสามัคคี ทำให้พวกเราสามารถเอาชนะไฟป่าได้

ตอนเช้าก่อนฉัน พวกเราก็ได้มาสรุปบทเรียน ประสบการณ์ที่พวกเราได้ไปดับไฟป่า หลายคนถือว่าเป็นครั้งแรก ที่ได้ทำงานอย่างนี้ เด็กๆบางคนก็ได้เปิดใจว่า กลิ้งไปสามตลบ บางคนไปตำเอาหนามงิ้ว บางคนล้มเข่ากระแทกหิน แต่หลายคนรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนช่วยสรรพสัตว์หลายชีวิตที่จะต้องถูกไฟครอกตาย ได้ช่วยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ฝึกขบวนการกลุ่ม และก็พร้อมที่จะไปช่วยดับอีก ถ้าไฟมันรุกไหม้ขึ้นมาอีก

มาทราบสาเหตุของไฟไหม้ป่านั้น เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร และวิบากนั้นมันก็จะย้อนมาหามนุษย์นี่เอง อย่างน้อยการที่ชาวบ้านได้เห็นสมณะและเด็กนักเรียนไปช่วยกันดับไฟป่า ก็หวังว่าคงจะได้ช่วย กระตุ้นมโนสำนึกของพวกเขาได้บ้าง ดีกว่าต่างคนต่างก็ดูดาย ไม่ช่วยกันรับผิดชอบ ต่อธรรมชาติเลย ถ้ามนุษย์ช่วยกันดับไฟกิเลสได้แล้ว ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ก็จะกลับคืนมา.

- สมณะ ฉันทโส -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ

ทำไม้ ! ถึงทำกับฉันได้
ลูกค้า... "ขอเปลี่ยนสินค้าลูกบัวแห้งที่ซื้อไปมีปัญหา วันก่อนโทร.มาแล้ว ทางบริษัทบอกว่าเปลี่ยนได้ "
พนักงาน.. "ถ้าสินค้าเรามีปัญหาก็เปลี่ยนได้ คืนได้ตามเงื่อนไขของบริษัท ขอดูสินค้าหน่อยนะคะ (พิจารณาสินค้า ) "ซื้อตั้งแต่เมื่อไรคะ "
ลูกค้า... "ก็ไม่นาน น่าจะ... เออ...เดือนที่แล้วมั้ง "
พนักงาน... "แต่ดูสินค้าแล้วเก่ามาก น่าจะซื้อนานแล้ว เดี๋ยวจะขอเทียบกับสินค้าที่ชั้นก่อนนะคะ (เดินไปหยิบลูกบัว มาเปรียบเทียบ ) มันต่างกันมากเลยนะ เอ๊ะ ! ป้ายราคาที่ติดราคาก็ต่างกันมาก ถุงใหม่นี้ราคา กก.ละ ๘๐ บาท ของคุณดูซิ ! ติดราคา ๖๗ บาทเท่านั้น "
ลูกค้า... "แต่จำได้ว่าซื้อไม่นานนี้เอง "
พนักงาน... "ราคาใหม่นี้เราก็เปลี่ยนมาเป็นเดือนแล้ว จากราคาเดิมก็ กก.ละ ๗๗ บาท แล้วของคุณ กก.ละ ๖๗ บาท อย่างน้อยสินค้าต้อง ๖ เดือนผ่านไปแล้ว ซึ่งแน่นอนสินค้าต้องเก่าและเสียหาย ถ้าคุณกินไม่หมดและเก็บเอาไว้ "
ลูกค้า... (หน้าโกรธเสียงดัง ) "ตอนโทร.มาถามก็บอกว่า เปลี่ยนได้ "
พนักงาน... "คุณให้ข้อมูลไม่ครบ อย่างนี้ถ้าเราเปลี่ยนสินค้าให้คุณก็คือ ต้องนำไปทิ้ง ทางบริษัทเราก็ขาดทุน เราค้าขาย ในระบบบุญนิยม ขายถูกเอากำไรนิดเดียว คุณเป็นลูกค้าประจำก็คงทราบดี ถ้ารับของเสียคืนด้วย บริษัทเราคงอยู่ไม่ได้แน่ ขอให้เห็นใจด้วยนะคะ "
ลูกค้า... (หน้ายอมรับเสียงอ่อนลง ) "ถ้าอย่างนั้นก็ต้องทิ้งใช่ไหม "
พนักงาน... "ใช่ค่ะ ทิ้งได้เลย ทิ้งขยะนี้ก็ได้ (เลื่อนถังขยะข้างโต๊ะให้ด้วยความยินดี ) ขอบคุณมากนะคะที่เข้าใจเรา ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

เก็บมาฝาก - โดยเศษเหล็ก -

'กระถางย่อยสลาย' จากใบไม้ แปลกใหม่ฝีมือเด็ก-ครู

หลังจากที่ครูและลูกศิษย์โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ อ.เมือง จ.สงขลา ตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุดิบจากธรรมชาติ
ที่นำมาทำกระถางต้นไม้อย่างดินเหนียวที่กำลังลดลงนั้น จึงได้คิดหาวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างอื่นมาใช้ทดแทนดินเหนียว ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเมื่อสามารถนำเอาขี้เลื่อยและใบไม้มาแปรรูปเป็น "กระถางย่อยสลาย " ได้สำเร็จ

กระถางต้นไม้ฝีมือนักเรียนนี้ ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากชาวบ้านในพื้นที่แวะเวียนมาซื้อ ครั้งละประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ใบ ซึ่งทำให้นักเรียนมีรายได้เสริมระหว่างเรียนอีกด้วย

นายอำนวย รัตนชบ อาจารย์โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ บอกว่า ที่ผ่านมากระถางต้นไม้ที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ทำมาจากดินเหนียว ทำให้ทุกวันนี้ดินเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญเริ่มขาดแคลน ส่งผลให้กระถางต้นไม้มีราคาสูงขึ้น เมื่อมองเห็นปัญหาดังกล่าว เขาและนักเรียน ที่เรียนวิชาโครงงานเกษตร จึงช่วยกันทดลองผลิตกระถางต้นไม้จากวัสดุอย่างอื่น อย่างขี้เลื่อยและใบไม้ นำมาเป็นอุปกรณ์ในการทำ

ช่วงแรกพวกเราใช้พลาสติกเป็นแม่พิมพ์ในการผลิตกระถางต้นไม้ ต่อมาได้มีการพัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อลดกำลังในการผลิตให้มากขึ้น คือ "เครื่องบดใบไม้ "ได้ทำการศึกษามาจากเครื่องบดน้ำแข็งและเครื่องตีไข่ สำหรับหลักการทำงานของเครื่องดังกล่าวนั้น อาศัยใบมีดเป็นตัวแปรสภาพวัสดุ อีกส่วนเป็นเครื่องผสมส่วนประกอบวัสดุที่จะทำกระถาง ก่อนนำออกมาผสมกับน้ำ ก่อนนำไปอัดลงในแบบ จนกระถางย่อยสลายสมบูรณ์

นายอำนวย บอกอีกว่า ขณะนี้มีผู้สนใจกระถางย่อยสลายรับไปจำหน่ายและซื้อไปใช้เองเป็นจำนวนมาก ส่วนรายได้ก็จะนำมาซื้ออุปกรณ์การเรียน การสอนและแบ่งให้นักเรียน

"ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวสวนในพื้นที่และเป็นโรงเรียนจากต่างจังหวัด และจะมีผู้มารับซื้อบ้างจากจังหวัดใกล้เคียง ส่วนใหญ่จะสั่งซื่อครั้งละมากประมาณครั้งละ ๑,๐๐๐-๕,๐๐๐ ใบ ทางโรงเรียนจำหน่ายใบละ ๕ บาท ในอนาคตจะคิดค้นรูปแบบการทำกระถางย่อยสลายแบบใหม่ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น และจะสั่งทำเครื่องจักรที่สามารถผลิตกระถางได้ครั้งละมากๆ ซึ่งผมคิดว่า จุดเด่นของกระถางย่อยสลายก็คือ ราคาถูกและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการเสริมสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย "

ด.ช.พงศกร ทองสุวรรณ นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ บอกว่า ขั้นตอนการผลิตกระถางย่อยสลาย อันดับแรกต้องเตรียมส่วนผสมคือ ขี้เลื่อย ใบไม้ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอกเปียก ดินเหนียวเหลว ปูนขาว น้ำมันยาง และสารเร่งราก ต่อมาจึงนำส่วนผสมทั้งหมดมาบดให้ละเอียด แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนนำไปอัดขึ้นรูปในแท่นพิมพ์ จากนั้นจะต้องเคลือบด้วยน้ำมันยางทั้งภายในและภายนอก ผึ่งแดดไว้ ๒-๓ วัน ก็จะได้กระถางย่อยสลายสำเร็จรูป

ต้องยอมรับว่า การสอนให้นักเรียนผลิต "กระถางย่อยสลาย " ของอาจารย์ที่โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ นั้น นอกจากจะช่วยให้เด็กมีความรู้แล้ว ส่วนหนึ่งยังส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักหารายได้อีกด้วย.

(จาก นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๑๑ พ.ค.๔๗ โดย นพดล เพชรรัตน์ )

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ปฏิทินงานอโศก

ตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๘ พุทธสถานราชธานีอโศก พฤหัสฯที่ ๓๐ ธ.ค.๒๕๔๗ - อาทิตย์ที่ ๒ ม.ค.๒๕๔๘

ฉลองหนาวธรรมชาติอโศก ศุกร์ที่ ๒๘ - อาทิตย์ที่ ๓๐ ม.ค.๔๘

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]