ฉบับที่ 263 ปักษ์หลังก 16-30 กันยายน 2548

[01] บทนำข่าวอโศกระวัง! วิชามาร
[02] "เมื่อเจอผัสสะต้องอ่านที่ใจ"
[03] สถาบันบุญนิยมจัดอบรม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร
[04] บ้านราชฯจุดประกายความคิดขานรับนโยบาย จัดกิจกรรมระดมสมอง ร่วมกันประหยัดพลังงาน เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ
[05] ใช้ฟางข้าวเพาะเห็ด ๕ ชนิด นวัตกรรมใหม่แทนขี้เลื่อย
[06] สกู๊ปพิเศษ:
[07] ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯดูงานบ้านราชฯ เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน
[08] ศูนย์สุขภาพ:ศ
[09] ความเครียด'ทำให้อายุยืน'
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] ความเคลื่อนไหวของชาวดอยรายปลายฟ้า
[12] คกร.บูรณาการสื่อสาระ ข่ายแหชาวอโศก
[13] เขาคือใคร?
[14] อานิสงส์พระพยอมและน้องอุ๊งอิ๊ง!
[15] จิ้มจุ่ม - กระทะเจ เมนูสวนกระแสตลาดปิ้งย่าง:



ระวัง! วิชามาร

เวลาที่เราถูกผู้ใหญ่ที่เราเคารพรักศรัทธา ดุ หรือ ว่า หรือ ตำหนิเอา เราจะไม่กล้าคิดในทางไม่ดี หรือไม่ชอบใจต่อผู้ใหญ่ ดังกล่าว

แต่ถ้าเรามีมารในจิต ถ้ามันมีอำนาจ มันจะไม่ยอม

ถ้ามันไม่ยอม แล้วมันจะทำยังไง

มันก็พาลหาเรื่องต่อไปอีกนะสิ มารไม่ยอมโทษตัวเองหรอก มันก็จะหาเรื่องโทษคนอื่นว่า ใครไปฟ้อง ใครไปบอก ผู้ใหญ่ให้มาตำหนิ

นอกจากมารจะไม่มีนิสัยโทษตัวเองแล้ว มันยังชอบทำตามใจ เอาแต่ใจ รักความสะดวกสบาย ไม่อยากปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

ดังนั้น เราต้องเรียนรู้หน้าตาของมารให้ชัดเจนในการมาอยู่กับผู้มีศีล

และสร้างนิสัยใหม่ให้มีนิสัยตรงข้ามกับมาร

แล้วสมณะในใจจะมีอำนาจปราบมารในใจได้

ปัญหาต่างๆจะไม่บานปลาย จะจบ เพราะปัญหากลายเป็นปัญญารู้ทันมาร ควบคุม และเอาชนะมารหรือชนะผีได้นั่นเอง.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



เมื่อเจอผัสสะต้องอ่านที่ใจ (ตอนจบ)

การทำงานนี่เราสามารถที่จะมีโอกาสได้ฝึกฝนจิตใจได้อย่างมากทีเดียว ปฏิบัติธรรมอยู่ในการทำงาน ทำงานแล้วก็ปฏิบัติธรรม ไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ ทุกคนรู้แล้วก็คงจะเข้าใจดี อาตมาก็เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าอันนี้มาสอนอยู่ตลอดเวลา

ขอให้ทุกคนขยันหมั่นเพียร ขยันขันแข็งนะ ยังไงๆ ก็ฟังวันนี้ไว้ว่าอย่างนี้แหละ เข้าใจอย่างที่อาตมาพูดไปแล้ว แล้วก็จำอันนี้ไปฝึก ทุกๆเวลา ทุกๆวินาที ให้ได้จริงๆ รับรองว่าจะบรรลุอรหันต์อย่างนี้แหละ วิธีฝึกให้เป็นพระอรหันต์อยู่กับโลก ตัวลดกิเลส ไม่ติดยึด

ที่จริงแล้วที่พูดนี้เป็นเรื่องอัตตาทั้งสิ้นเลย ที่อธิบายมาทั้งหมดเมื่อกี้นี้เป็นเรื่องของอัตตา คนเรานี่ติดยึดในอัตตาของตัวเองนี่แหละ มโนมยอัตตา ปฏิบัติธรรมได้ เราลดเราละ อัตตาของเราก็จะลด ละ หมดได้ อย่างที่ อาตมาอธิบายให้คร่าวๆนี้ พอฟังได้นะ พอเข้าใจนะ เรียกว่าปฏิบัติกัน ให้ได้แล้วกัน

พ่อท่าน... แล้วที่ว่า ตลาดที่ขายผักไร้สารพิษอะไรต่ออะไร เป็นไง เดี๋ยวนี้ดีไหม?
บัวดาว... ก็ดีค่ะพ่อ มีผักพื้นบ้านเยอะเลยค่ะ แล้วก็ได้จากเครือข่ายของเราบ้างค่ะ
พ่อท่าน... อ้าว ! แล้วมีเครือข่ายของพวกเราเพิ่มขึ้นเยอะไหม?
บัวดาว... ยังไม่เพิ่มเท่าที่ควรค่ะ แต่มีปุ๋ยมีอะไรขึ้นมาแล้วก็เกษตรกรทางนี้สนใจมากค่ะ พวกเราก็ตื่นตัว ด้านผักไร้สารพิษ ขึ้นมา และผัก พื้นบ้าน ขึ้นมาค่ะพ่อ
พ่อท่าน... ชมร.พยายามเอาใจใส่ทางด้านนี้ มันจะได้เพิ่มปริมาณผู้ที่มาเอาใจใส่ในการผลิตสิ่งที่ดี เขาเข้ามาในหมู่เรา เขาจะได้สัมผัส กับหมู่เรา ได้ปฏิบัติธรรมด้วย แล้วก็เพิ่มกันขึ้นไปด้วย อาตมาอยากจะให้ขยายผลทางด้านผู้ที่จะมาเป็นเรียกว่า มาเป็นลูกแห มาเป็นมวล ที่จะมาร่วมกับ แม่ข่าย เราเป็นแม่ข่ายใช่มั้ย เราก็หาลูกแห ลูกข่าย หรือลูกแห มาเพิ่มเติมขึ้น

พ่อท่าน... ผลผลิตของพวกเราล่ะ?
บัวดาว... ของพวกเราก็พอบริโภคในชุมชนค่ะ
พ่อท่าน... บริโภคในชุมชนก็ยังดี
บัวดาว... ก็มีผักป่ามาจำหน่าย ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ค่ะ ผักพื้นบ้านค่ะพ่อ ผักป่า
พ่อท่าน... ขายได้ดีมั้ย?
บัวดาว... ขายได้ดีค่ะ
พ่อท่าน... ผักพื้นบ้านเนี่ยนะ
บัวดาว... ค่ะ ทางชมรมเราก็ซื้อมาประกอบอาหารด้วยค่ะ

พ่อท่าน... เออ...ก็ควรทำ พยายามปรุงเป็นอาหาร ทุกวันนี้เขากินของธรรมชาติ ของอะไรพวกนี้เข้าไปบ้าง อาตมาว่า มันไร้สารพิษด้วย แล้วมันก็... อะไรซับซ้อน หลายอย่าง อาตมาว่ามันดี เอาละทุกคนก็พยายามนะ... ที่อธิบายไปแล้ว ก็พยายามนำกลับไปทำ อาตมาว่าสำคัญ เหมือนกันแหละ ที่อธิบาย ไปข้างต้น เมื่อกี้นั้น กลับไปทำให้ได้ และขอให้บรรลุธรรมกันทุกๆ คนนะ
บัวดาว... ค่ะ กราบนมัสการค่ะ

พ่อท่านแม้งานจะมาก แต่เมื่อลูกๆ นิมนต์ให้แสดงธรรม พ่อท่านก็พร้อมเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล ก็พร้อมที่จะให้ธรรมะ เสมอ โดยเฉพาะ ในเรื่องการปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสอัตตา เมื่อเจอผัสสะ

นอกจากนี้ยังชื่นชมที่ ชมร.เชียงใหม่ สามารถนำผักพื้นบ้าน ผักป่า มาทำเป็นอาหาร มาจำหน่าย เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกค้า ซึ่งเป็นพืชผัก ไร้สารพิษ แล้วมันก็มีจุดดีที่ซับซ้อนหลายอย่าง

ธรรมะพ่อท่านครั้งนี้ ก็คงให้กำลังใจกับลูกๆ ทุกคนในการเผชิญผัสสะ แล้วเอามาผัดซะเพื่อจะได้ผัสสาหารที่ไร้สารพิษแก่ จิตวิญญาณ ทั้งภายใน และภายนอก.

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สถาบันบุญนิยมจัดอบรม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
เพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร

สถาบันบุญนิยม จัดอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทีมงานสามอาชีพกู้ชาติเมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ ที่หมู่บ้านราชธานีอโศก ในหัวข้อเรื่อง การประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรนี้เน้นการนำเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ อย่างมี ประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับ ทรัพยากรที่มีอยู่ ในแต่ละ ท้องถิ่น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อ ภาคกสิกรรม โดยตรง วัตถุประสงค์มีดังนี้

๑. เพื่อยกระดับความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพของทีมงานฝึกอบรมให้เป็นเชิงวิชาการ
๒. เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้กับพี่เลี้ยงและทีมงานที่ทำหน้าที่ด้านการฝึกอบรม
๓. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานให้มีประสิทธิภาพ

มีผู้เข้าร่วมการอบรมจากศูนย์บุญนิยมสิกขาต่างๆและเครือแห จำนวน ๘๕ คน กิจกรรมมีดังนี้
วันที่ ๒๗ สิงหาคม
๐๔.๓๐ น. กิจกรรมทำวัตรเช้าฟังธรรม จากสิกขมาตุกล้าข้ามฝันที่ศาลาเฮือนเพิงกัน สนทนาธรรมเจาะลึกรายละเอียดเรื่อง การอ่าน อารมณ์ ในขณะทำงาน มีการซักถาม ปัญหา เพื่อพัฒนาตนถึงเวลา ๐๗.๓๐ น. หลังจากนั้นพักผ่อนตามอัธยาศัย และลงทะเบียนที่ ชั้นสอง ตึกศูนย์สูญ

๐๙.๐๐ - ๐๙.๕๐ น. ฟังการปฐมนิเทศ จากสมณะเดินดิน ติกขวีโร ท่านกล่าวว่า การยกระดับศูนย์อบรมแต่ละแห่ง จำเป็นต้อง ชัดแจ้ง ชัดเจน ใน ๓ อาชีพกู้ชาติ การที่เราจะประสบความสำเร็จใน ๓ อาชีพกู้ชาติได้นั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติธรรมได้มากหรือน้อย และมีหัวใจ ที่จะมอบให้ แผ่นดิน ทำด้วยใจ ที่คิดจะให้ การที่เรายังไม่พัฒนาใน ๓ อาชีพกู้ชาติเท่าที่ควรเนื่องจากยังขาดความรู้อีกหลายด้าน คนชอบทำ แต่ไม่ชอบรู้ บางคนก็ชอบรู้ แต่ไม่ชอบทำ อยากให้พวกเรา ศึกษาเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด อย่างเป็นองค์รวม ต้องดูองค์ประกอบทุกส่วน และให้มี ความประณีตประหยัด ในวิถีชีวิตจริงๆ หลังจากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงเวลา ๑๐.๓๐ น. แล้วรับประทานอาหาร

๑๒.๑๕ - ๑๕.๓๕ น. การเรียนรู้เรื่องห่วงโซ่อาหาร สารชีวโมเลกุล เซลล์ของพืชและสัตว์ DNA คำสั่งชีวภาพ และเวลา ๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ปฏิบัติการ เตรียมวัสดุเพิ่มคุณภาพปุ๋ย โดยใช้วัตถุดิบเหลือใช้ แล้วรับประทานอาหารเย็น

ภาคเย็นตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. เป็นการบรรยายเรื่อง จุลินทรีย์ การใช้งานจุลินทรีย์ อาหารและการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ เพื่อการ กสิกรรม ทุกรายการ ในวันนี้บรรยาย โดยคุณแก่นฟ้า แสนเมือง

วันที่ ๒๘ สิงหาคม
๐๔.๐๐ - ๐๕.๓๐ น. ฟังธรรมรับอรุณ เรื่องศูนย์อบรมที่โดนใจ...ควรมีอะไร โดยสมณะติกขวีโร หลังจากนั้นเวลา ๐๕.๓๐ - ๐๗.๐๐ น. บริหารร่างกายใน เสร็จแล้ว รับฟังการบรรยาย เรื่องปุ๋ยเคมี กระบวนการผลิต ธาตุอาหารพืชและแหล่งของธาตุอาหาร โดยคุณ แก่นฟ้า แสนเมือง จนถึงเวลา ๑๐.๓๐ น. และฟัง การบรรยายต่อโดย คุณศิริธรรม สิงโต เรื่องกำเนิดของโลกและชีวิต และฟังการบรรยายโดย ดร.ราเชนทร์ วิสุทธิแพทย์ เรื่องเจาะลึก ให้ถึงแก่นชีวภาพ รายการบรรยาย เสร็จสิ้น ในเวลา ๑๗.๐๐ น. ภาคค่ำพักผ่อน ตามอัธยาศัย

วันที่ ๒๙ สิงหาคม
ช่วงเช้าตรู่ของวันสุดท้ายชมวีดิทัศน์เรื่องดินมีชีวิต และ ตัวอย่างสวนไร้สารพิษ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของคุณสมหมาย หนูแดง ดำเนินรายการ โดยท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร หลังจากนั้นออกกำลังกาย เสร็จแล้วเป็นรายการเปิดใจ ของผู้เข้าอบรม ที่ได้จากการเรียนรู้ ครั้งนี้ หลังจากนั้น ได้ไปเรียนรู้ ภาคปฏิบัติ ที่โรงปุ๋ย แล้วจึงกลับมาฟังสรุปและกล่าวปิดการอบรม จากท่าน สมณะเดินดิน ติกขวีโร และ รับประทาน อาหารร่วมกัน ก่อนเดินทางกลับ โดยสวัสดิภาพ

ความรู้สึกของผู้เข้ารับการอบรมมีดังนี้
คุณดวงฤดี แดงร่วม เครือแหเพชรผาภูมิ จ.กำแพงเพชร "เพิ่งมาอยู่ในชุมชน ได้ ๔ เดือน ได้ทราบข้อมูลจากส่วนกลาง ว่าจะมีการอบรม ครั้งนี้ขึ้น ก็มี ความรู้สึกว่า อยากมาอบรม อยากได้ความรู้ แล้วสิ่งที่ได้เมื่อมาอบรมก็มากกว่าที่คิดว่าจะได้ ประทับใจวิทยากร ให้ความรู้ ดีมาก สัมผัสได้ว่า ออกมาจากใจ ของวิทยากรจริงๆ และสถานที่ การอบรมก็ดีมากๆ เพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรกด้วย การต้อนรับดี สภาพ การอบรม โดยรวมแล้วดี อยากให้มีการอบรม ในลักษณะนี้ขึ้นอีก"

คุณอภิวัฒน์ แก้วอุ่นเรือน เครือแหสกลอโศก จ.สกลนคร "รู้สึกดี เพราะกำลังศึกษาเรื่องจุลินทรีย์อยู่ด้วยการปฎิบัติจริงและอ่าน จากหนังสือ ต่างๆ แต่เพราะ เป็นหนังสือแปล มาหลายทอด จึงคิดว่าผู้เขียนคงจะสื่อความหมาย ได้ไม่เต็มที่ แต่พอมาฟังการบรรยาย ก็เข้าใจได้มากขึ้น หลังจาก จบการอบรม ก็จะเอาความรู้ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดให้ผู้เข้ารับการอบรม จากศูนย์สกลอโศก ได้ร่วมเรียนรู้ด้วย เพราะเกษตรกร บางส่วน ก็คุ้นเคยกับการใช้ สารเคมี ในการทำ เกษตรกรรม จนเลิกยากเสียแล้ว แต่บางส่วนที่เคยประสบความล้มเหลว ก็จะเชื่อ และปฎิบัติ ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ประทับใจ การอบรมครั้งนี้ ตรงจุดที่ได้ทบทวน ตัวเราว่าเดินมาถูกทางหรือเปล่า ในเรื่องการทำ กสิกรรมธรรมชาติ เครือแหของเรา ก้าวหน้าไปมากขนาดไหน ข้อเสนอแนะ ของการอบรมครั้งนี้ คือ อยากให้ระบบ เครื่องเสียง ที่ใช้ในการบรรยาย ดีกว่านี้"

คุณบุญส่ง แก่นสน นิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิชชาเขตศาลีอโศก จ.นครสวรรค์ "เล็งเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์มาก จึงเข้ามา ทำงานตรงจุดนี้ การอบรมครั้งนี้ ช่วยขยายองค์ความรู้ขึ้นอีกมาก จากที่เคยทำแบบเดาสุ่ม ก็ได้รู้ที่ไปที่มาของเกษตรอินทรีย์ที่ตัวเองทำ จะเอา องค์ความรู้ที่ได้ ไปต่อยอด สู่ผู้เข้ารับการอบรม ในศูนย์อบรม ศาลีอโศก ถ้ามีโอกาสอยากให้ต่อยอด ความรู้ในลักษณะนี้อีก พัฒนา ไปเรื่อยๆ"

คุรุประนอม เดชธราดล อายุ ๕๑ ปี เครือแหทักษิณอโศก จ. ตรัง "เรื่องเกษตรอินทรีย์นี่สนใจมานานแล้ว ทำเกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษมา โดยตลอด ตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยายพาทำมา เดิมมีอาชีพทำสวนมะพร้าว"

คุณล้นบุญ สังคดา อายุ ๕๑ ปี เครือแหทักษิณอโศก จ.ตรัง "การอบรมครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจ อันที่จริงเคมีก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่การนำเอา ไปใช้ โดยตรง นั้นผิด ทำให้ดินเสีย การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราทำได้แล้วก็จริงแต่ก็ต้องเพิ่มข้อมูล ความรู้ ที่ไปที่มา ทางวิชาการ ให้มากขึ้น ซึ่งในงานนี้ พวกเรา ก็ได้เพิ่มเติม ตรงจุดนี้มากขึ้น การเปลี่ยนทัศนะความเชื่อของคนในสังคม ในเรื่องการทำ เกษตรอินทรีย์ อาจจะยาก แต่ก็เป็นงาน ที่เราจะต้องทำ เปรียบเทียบกับ การยิงธนู ให้ตรงเป้านั้น ต้องดึงสายธนูให้ตึง แน่นอนว่าต้องเหนื่อย เป็นธรรมดา แต่หลังจากปล่อยลูกธนูไปโดน ตรงเป้าแล้ว เราก็จะภูมิใจ และหายเหนื่อย ไปโดยอัตโนมัติ อยากให้มีการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง แล้วนำกลับไปปฎิบัติ มีการประมวลผลความก้าวหน้าชัดเจน จะทำให้ประสบ ความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม"

คุณดาวเย็น นาวาบุญนิยม อายุ ๔๐ ปี สมาชิกหมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก "ตั้งแต่เข้าวัดมาก็ทำงานเกี่ยวกับสามอาชีพกู้ชาติ มาโดย ตลอด เป็นงาน ที่มีใจรัก เนื่องจาก เล็งเห็นว่าเป็นงานที่เป็นแก่นสารของชีวิต เป็นงานบุญโดยตรง ยิ่งเป็นเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ ยิ่งมีบุญ มากขึ้นอีก เป็นทั้งประโยชน์ตน คือ ตัวเองได้บุญ เสียสละ และเป็นทั้งประโยชน์ท่าน คือ คนอื่นได้กิน ได้ใช้ด้วย งานอบรมครั้งนี้ ประทับใจว่า เป็นการต่อยอดให้ชาวอโศก ให้รู้ในเชิงลึก ยิ่งขึ้นไปอีก พวกเรายังขาด ความชัดเจน แม่นประเด็น อยากให้มีการอบรมในเชิงวิชาการ เช่นนี้ มานานแล้ว เรื่องเหล่านี้สอนเกษตรกร ให้รู้ถึงอาหารกาย และยังสามารถ ต่อยอด ถึงอาหารใจ คือ ธรรมะได้ด้วย ประทับใจ วิทยากร"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



บ้านราชฯจุดประกายความคิดขานรับนโยบาย
จัดกิจกรรมระดมสมอง ร่วมกันประหยัดพลังงาน เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๒ สิงหาคมช่วงเวลา ๑๘.๓๐ - ๒๑.๐๐ น. มีการจัดกิจกรรมระดมสมองของคนบ้านราชฯ โดยมีสมณะ สิกขมาตุ นิสิต ชาวชุมชน และนักเรียน ร่วมกิจกรรมประมาณ ๒๐๐ คน สืบเนื่องจากภาวะของโลกที่กำลังตื่นตัวให้ความสำคัญในเรื่องของพลังงาน ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร ได้กล่าว เกริ่นก่อน การระดม สมองว่า "เราต้องมาตระหนักในเรื่องของความประณีตประหยัด ทำอย่างไร ชาวบ้านราชฯ จะตระหนักว่านี่เป็นบุญ ธรรมะเป็นเรื่อง ทันสมัย ถ้าชาวบ้านราชฯ ทำได้จะติดวิญญาณซึ่งไปอยู่ที่ไหนจะไม่ทำให้อับจน"

หลังจากนั้นเป็นการชมวีดิทัศน์สารคดีเรื่องประหยัดพลังงานกอบกู้เศรษฐกิจ เป็นข้อมูลการสูญเสียพลังงานและตัวอย่าง การประหยัดพลัง หลังชมวีดิทัศน์ เป็นการรายงาน สถิติค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน ของจังหวัดอุบลฯ และของหมู่บ้านราชธานีอโศก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๔๘ โดยพระอาคันตุกะ เที่ยงทน หนึ่งในทีมงานวิศวกร ที่เป็นกลุ่มจุดประกายความคิด เรื่องพลังงานทดแทน เสร็จแล้ว แบ่งกลุ่มย่อย ระดมสมอง โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มนักบวช ๑ กลุ่ม นิสิตและชาวชุมชน ตามคุ้มหมู่บ้าน ๒ กลุ่ม คือคุ้มทิศตะวันออก และคุ้มทิศ ตะวันตก ส่วนนักเรียน แบ่งตามระดับชั้น ใช้เวลาในการระดมสมอง ประมาณ ๒๐ นาที แล้วมารายงานหน้าชั้น มีหัวข้อในการระดมสมอง ดังนี้
๑. ตัวเราเองใช้พลังงานอะไรบ้างในแต่ละวัน?
๒. คิดว่าตัวของเราสามารถลดค่าใช้จ่ายอะไรช่วยชุมชนได้บ้าง?
๓. อะไรในชุมชนที่เราจะนำมาเป็นพลังงานทดแทนได้บ้าง?

กิจกรรมในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ชมวีดิทัศน์สารคดีเรื่องสบู่ดำพลังงานทดแทนน้ำมัน และฟังการนำเสนอโครงการพลังงานทดแทน รวมทั้งแจ้ง โครงการ ต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้น ในหมู่บ้าน โดยทีมงานวิศวกร ซึ่งมีท่านสมณะถักบุญ อาจิตปุญโญ เป็นผู้นำทีม โครงการพลังงาน ทดแทน ที่ดำริจะมีขึ้นคือ การแก้ปัญหา เรื่องขยะวิทยา ซึ่งได้มีการดำเนินงานกันมาแล้ว ระดับหนึ่ง โดยทีมงานนิสิตสัมมาสิกขาลัย วังชีวิต ราชธานีอโศก เป็นผู้ประสานงาน ร่วมมือกับชาว ชุมชน และนักเรียน แล้วขยายผลไปสู่กระบวนการการศึกษา จนกระทั่ง ออกมาเป็น โครงการ ของโรงเรียน สัมมาสิกขาราชธานีอโศก คือบริษัท เมี่ยนเบิ๊ด (จัดการขยะทุกชนิด จนสะอาดเกลี้ยง) โครงการพลังงาน ทดแทน ที่กำลังจะก่อเกิดคือการจัดการกับขยะสด สิ่งที่จะได้จากการทำคือ ๑.ปุ๋ย ๒ แก๊สชีวภาพ จากขยะสด และจะมีการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนา ไปสู่การผลิต กระแสไฟฟ้า ใช้ในชุมชนจากขยะ ความคิดเห็นของผู้ร่วมกิจกรรม มีดังนี้

สมณะถักบุญ อาจิตปุญโญ "ตอนนี้มีวิศวกรมาอยู่ที่ราชธานีอโศกจำนวน ๖ ท่านทั้งพระทั้งโยม ก็เลยดำริว่าจะดึงศักยภาพของ แต่ละคน ออกมาใช้ ให้ตรงเป้า และได้ทำเรื่องสถานภาพพลังงานออกมา สิ่งที่เราเจอในขณะนี้คือระบบบัญชีมันไม่ลงตัว ทำให้การรวบรวมข้อมูล มีปัญหา ข้อมูลที่ออกมา จึงเป็นข้อมูล ที่ค่อนข้างหยาบ แต่ถึงแม้จะหยาบอย่างไรมันก็เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่ากลัว เมื่อเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ เรื่องการซ่อมเครื่องกลหนัก และเรื่องน้ำมันของเรา กับปีที่ผ่านๆมา จึงมีการสังเคราะห์ร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไข ตัวอาตมา เองจะรู้โครงการของพ่อท่าน ที่จะทำที่บ้านราชฯ และการใช้ พลังงาน ถ้าโครงการของพ่อท่าน เกิดจะต้องใช้พลังงาน อย่างมหาศาล หากเราไม่ประหยัดพลังงานตอนนี้ หรือไม่คิด แผนการรองรับ ถ้าถึงตอนนั้น เราลำบากแน่ ก็เลยช่วยกันระดมสมอง ว่าจะทำอย่างไร ในเรื่องพลังงานตรงนี้ ท่านเที่ยงทน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และเคยทำงานเกี่ยวกันมวลชน จึงหาช่วงเวลา ที่หมู่บ้านเรา ว่างจาก การอบรม มาอบรม พวกเรากันเอง ทีมงานจึงหาข้อมูล เอาตัวเลขออกมาให้เห็น เอาแผนงาน ที่เราจะดำเนินงานต่อ ในอนาคต การอบรม ๒ วันนี้อาตมาได้ข้อมูลกลับมาเยอะมาก ส่วนวันที่สอง ก็นำเสนอโครงการรวม ของบ้านราชฯ ทั้งหมดเพื่อจะได้รับรู้ ว่าจะมีทิศทาง ไปอย่างไร คนจะได้ช่วยคิด ผลจากตรงนี้ ญาติโยมก็ให้ข้อมูลอาตมาเพียบ ตอนนี้ข้อมูลเต็มเลย แล้วอาตมาจะค่อยๆ สังเคราะห์ และปรึกษาหารือผู้รู้ต่อไป

การสัมมนาครั้งนี้ข้อมูลที่ได้อ่านสิ่งที่ส่งมาให้ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เขาจะคิดก่อนจึงจะเขียนเป็นตัวหนังสือได้ แค่คิดว่าตัวเองจะประหยัด อย่างไร ก็คุ้มแล้ว เขาจะช่วยเหลือวัดอย่างไร และมุมมองที่มองว่า อะไรจะสามารถเป็นพลังงานได้บ้าง อาตมาอ่านแล้ว ก็ประทับใจ เพราะมี มุมมอง ที่แตกต่าง กันออกไป และขบวนการกลุ่ม ก็มีการคุยกันเยอะขึ้น เพราะวิศวกรเอง จะไม่เก่งเรื่องจิตวิญญาณเรื่องคน จะมีความสามารถ เรื่องวัตถุ ฉะนั้น การทำงานตรงนี้ เอานักวัตถุมารวมกัน และปรับกระบวนการทางความคิด ให้สามารถทำงานร่วมกับคนได้ ก็เป็นการประมาณ เป็นเรื่องปรโตโฆษะ โยนิโสมนสิการ เป็นการปรับ สัมมาทิฐิ ในการทำงานตรงนี้ รู้สึกว่า ทำงานครั้งนี้คุ้มนะ และคงต้อง มีอะไรต่อไปในอนาคต"

พระอาคันตุกะเที่ยงทน กุสลจิตโต "ก่อนที่จะบวชอาตมาทำงานอยู่ที่อาศรมพลังงาน ของสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม อยู่อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นองค์กรเอกชน ทำงานด้านพลังงาน มาประมาณ ๕ ปี ทำงานกับชุมชนประมาณ ๒๕ ปี เรื่องพลังงาน เป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็นต้องมาทำให้ชุมชน รับข้อมูลข่าวสาร ความรู้มากขึ้น เพื่อที่จะสู้กับปัญหาได้คิดจะทำพลังงาน ในชุมชน ราชธานีอโศก คิดมาตั้งแต่ เป็นฆราวาส อาตมาทำงาน เกี่ยวกับการจัดการ พลังงาน

ชุมชนใน ๕ พื้นที่ของภาคอีสานก็มีประสบการณ์ด้านลงชุมชน และการวางแผน ก็คิดอยู่เสมอว่าถ้ามาทำที่ชุมชนของชาวอโศก จะเป็น อย่างไร ชุมชนของชาวอโศก มีศักยภาพมากพอที่จะทำ มีคน มีวัตถุ มีทุน ถ้ามีการจัดการ บวกกับระบบกระบวนการ ให้ข้อมูล เรื่องพลังงาน มันคงจะยิ่งใหญ่น่าดู มีโอกาส มาทำครั้งแรกปี'๔๕ ก็ได้รู้ว่า ราชธานีอโศก ใช้ค่าใช้จ่ายพลังงานเท่าไร ปีนี้ มีโอกาสบวช และมาจำพรรษา ที่พุทธสถาน ราชธานีอโศก ก็มาทำสถานภาพ ให้และทำเรื่องพลังงาน ที่อยู่ในระดับล่าง ระดับชุมชน ระดับใหญ่ๆ ก็จะให้ข้อมูล และ ต้องปรึกษา คนอื่นอีกต่อไป การสัมมนาครั้งนี้ ก็ให้ชุมชนมาร่วม คิดวิเคราะห์ร่วมกัน ความพอใจของอาตมาก็ใช้ได้ เพราะเกิดการ ตระหนักรู้ และการใช้พลังงานทดแทน ในชุมชน มีทั้งด้านบวก ด้านลบ ด้านกลางๆ ถ้าวัดกันแล้ว ก็เป็นด้านบวก ที่จะทำให้เรา ทำงานได้ดีขึ้น

ถ้ามีคนสนใจการทำงานกระบวนการมีส่วนร่วมก็จะดีขึ้น ได้กระบวนการทางความคิดของชุมชนกลับมา ก็จะมีงานต่อไป ก็คือนำส่วนนี้ เอากลับไปคืน เพราะเรานำเสนอ ทั้งภาพรวมเล็ก รวมใหญ่ ของโครงการทั้งหมด ของราชธานีอโศกไว้แล้ว ก็จะเริ่มจากเรื่องเล็กๆขึ้นมา ก็เพื่อจะให้ชุมชน ร่วมเดินไปด้วยกัน ในอนาคตใกล้ๆนี้ ก็จะเอาข้อมูลนำมาผ่านทีมงาน แล้วเอามาเข้าสู่ ชุมชนอีก มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ ร่วมกันอีกที อาตมาคลุกคลีกับชาวอโศก มาตั้งแต่เด็ก ก็เห็นว่าคนมาที่นี่ เพื่อเสียสละ การทำงานก็ง่ายกว่าข้างนอก ในวันที่เราสัมมนากัน ถ้าข้างนอก ต้องใช้เวลาปีกว่าๆ จึงจะได้คนมากันเต็ม แล้วก็มีไฟ ทำงานกับเรา ที่นี่เราแค่ให้ข้อมูลไป เขาก็คิดตามเรา มันง่ายกว่ากัน ส่วนของ สมณะ ก็มีวิสัยทัศน์ที่ดี ยิ่งพ่อท่าน ยิ่งมองการไกลมาก และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และเพื่อสังคมโลก

คุณไว้ใจ แม้นมาลัย ชาวชุมชน"เรื่องการประหยัดพลังงานที่พวกเราได้ระดมสมอง มันเป็นการปลุกจิตสำนึกขึ้นมา เพราะโดยสภาพ ของการที่เราทำอะไร โดยการร่วมรวมกัน มันจะมีพลัง เรื่องการประหยัดพลังงาน สำหรับตัวผมเอง ก็ได้มีการปฏิบัติตนหลายๆ อย่าง เช่น ถ้าเราจะออก นอกชุมชน เราก็จะใช้จักรยานไป ระยะทาง ๕ -๑๐ กิโลเมตร ก็ไม่เห็นว่ามีความลำบากอะไร แม้ในชุมชน ถ้าเราใช้น้ำใช้ไฟ เราก็ตั้งสติ เราไม่ทำอะไร อย่างลวกๆ ซึ่งถ้าทุกคน ได้ช่วยกันทำ จะเป็นสิ่งที่เอื้อเพื้อ ต่อการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง หลังจาก การสัมมนา เกิดภาพของ การประหยัด ชัดเจนขึ้นมาก ทุกคนมีไฟ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ใช้ฟางข้าวเพาะเห็ด ๕ ชนิด นวัตกรรมใหม่แทนขี้เลื่อย

บันไดขั้นสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ "ครัวโลก" ได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากนโยบายของรัฐต้องชัดเจนแล้ว เกษตรกร ต้องปฏิบัติจริง อย่าง "หมู่บ้านเห็ดอินทรีย์" ที่ ต.บางงาม อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี นำฟางข้าวที่ปลูก ในระบบเกษตรอินทรีย์ มาใช้ทดแทน ขี้เลื่อย เพื่อทำก้อนเชื้อ เพาะเห็ดอินทรีย์ จำนวน ๕ ชนิด ทำให้คนในท้องถิ่น มีรายได้เข้ากระเป๋าตลอดปี

เส้นทางการก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ วรรษมล ดอกพุฒ เลขานุการหมู่บ้านเห็ดอินทรีย์ บอกว่า เป็นความร่วมมือของสมาชิก ๓๗ คน ที่ใช้เวลา ว่าง จากการทำนา มาเพาะเห็ด เป็นอาชีพเสริม โดยซื้อก้อนเชื้อที่ทำจากขี้เลื่อยราคาก้อนละ ๕ บาท เพื่อนำมาเปิดดอกขาย

ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๖ เธอได้เป็นตัวแทนกลุ่มเข้าอบรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และได้รับคำแนะนำจาก เจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริม การเกษตร จึงนำความรู้ทางวิชาการ ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยนำฟางข้าว ของชาวนาที่ปลูก ข้าวอินทรีย์ ในพื้นที่ อ.ศรีประจันต์ มาทำก้อนเชื้อเพาะเห็ด ทดแทนขี้เลื่อย ซึ่งมีราคาสูง และถ่ายทอด ให้สมาชิกในชุมชนต่อไป

"ก้อนเชื้อเห็ดจากฟางข้าวให้ผลผลิตเท่ากับก้อนจากขี้เลื่อย คือเก็บได้ต่อเนื่องนาน ๓ เดือน เฉลี่ยก้อนละ ๗-๘ ขีด แต่ลดต้นทุน ได้ก้อนละ ๑ บาท" วรรษมล กล่าว

สำหรับแผนบริหารหมู่บ้านเห็ดอินทรีย์ เธออธิบายว่า หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ เม.ย.๔๘ ตั้งเป้าผลิตเห็ด ๕ ชนิด ประกอบด้วย เห็ดลม เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู และเห็ดนางฟ้า ปีละ ๓ รุ่น รุ่นละ ๖ หมื่นก้อน ให้ผลผลิตเฉลี่ย ๔๘๐ กก. ต่อวัน

วรรษมล บอกอีกว่า ในส่วนของเธอมีโรงเรือนเพาะเห็ด ๒ ห้อง รองรับก้อนเชื้อ ได้ ๑.๕ หมื่นก้อน ด้านการตลาดมีพ่อค้ามารับซื้อถึง หมู่บ้าน ในราคาส่ง คือ เห็ดลม กก.ละ ๗๐ บาท เห็ดฟาง กก.ละ ๖๐ บาท เห็ดเป๋าฮื้อ กก.ละ ๔๐ บาท และเห็ดนางฟ้า กก.ละ ๓๐ บาท และ อีกส่วน สมาชิก บรรจุห่อ จำหน่ายเอง โดยเห็ดลม และเห็ดเป๋าฮื้อ ขนาด ๑๐๐ กรัม ราคา ๑๐ บาท ส่วนเห็ดฟาง ขนาด ๒๐๐ กรัม ราคา ๒๐ บาท

"ตอนนี้ฉันมีรายได้จากการขายเห็ดสด เดือนละ ๓-๔ หมื่นบาท และทำก้อนเชื้อเห็ดขาย มี ๒ แบบคือ ก้อนเชื้อที่เกษตรกร ต้องเปิดดอก เอง ก้อนละ ๔ บาท และก้อนที่พร้อมเก็บผลผลิตราคา ๕ บาทต่อก้อน ขายได้เดือนละ ๒ หมื่นบาท" เลขานุการหมู่บ้านเห็ดอินทรีย์ กล่าว

สำหรับการทำก้อนเชื้อเห็ดอินทรีย์ ๑,๐๐๐ ก้อน ใช้วัตถุดิบ ประกอบด้วยฟางข้าว ๑๐๐ กก. ยิบซัม ๒ กก. ปูนขาว ๑ กก. ดีเกลือ ๒ ขีด จากนั้น หมักทิ้งไว้ ๒-๓ ชั่วโมง แล้วบรรจุถุงพลาสติกขนาด ๖.๕ x ๑๒.๕ นิ้ว ให้เต็มถุงไม่ต้องยัดมาก นำเข้าเครื่องอัดให้แน่น ก่อนปิดปากถุง ด้วยจุดคอขวด

ขั้นต่อมานำก้อนเชื้อเข้าเครื่องอบที่อุณหภูมิ ๙๐-๑๐๐ องศาเซลเซียส นาน ๖-๗ ชั่วโมง ทิ้งไว้ ๒๔ ชั่วโมง จึงเติมเชื้อเห็ดโดยใส่เชื้อ เม็ดข้าวฟ่าง ๑๕-๒๐ เม็ดต่อก้อน (ทั้งนี้เห็ดแต่ละชนิดจะมีเชื้อเห็ดเฉพาะ) ส่วนการเปิดดอกต้องใช้เทคนิคเฉพาะ กล่าวคือ เห็ดหูหนู และเห็ดฟาง กรีดด้านข้างถุง พลาสติด ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดลม ใช้วิธีเปิดจุก แล้วรอเก็บเกี่ยวผลผลิต

ด้าน สุรพล จารุพงศ์ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี บอกว่า การดำเนินงานของหมู่บ้านเห็ดอินทรีย์นั้น นับว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เกษตรอินทรีย์ ของเมือง สุพรรณบุรี ที่เดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นผลิตพืชผักอินทรีย์

"กรณีฟางข้าว ในอดีตเคยรณรงค์ ไม่ให้เกษตรกรเผาฟางข้าวในนา เพราะจะส่งผลกระทบ แต่ไม่มีใครเชื่อ แต่พอแนะให้นำมา เพาะเห็ด ทุกคนเห็น ประโยชน์ ก็ไม่มีใคร เผาฟางทิ้งแล้ว" สุรพล กล่าวทิ้งท้าย.

(จาก นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๒๕ ส.ค.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



- สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร -

ด้วยนโยบายใหม่เพื่อการพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบ ชาวอโศกเราต้องเร่งพัฒนาตนเองให้ยิ่งๆขึ้น ฉบับนี้จึงขอนำข้อคิดจากสมณะ เดินดิน ติกขวีโร จะทำอย่างไรให้การทำงานและการปฏิบัติธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้? มาฝากทุกท่านค่ะ

# ในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ท่านมีอะไรที่อยากจะฝากให้กับพวกเราบ้าง?
ก็อยากจะฝากนโยบายที่สำคัญ ซึ่งพ่อท่านได้ให้ไว้ในการประชุมเครือแหของศีรษะอโศกและราชธานีอโศกในช่วงปลายเดือน กรกฎาคม พ่อท่าน ให้นโยบายที่สำคัญไว้อยู่ ๒ ข้อด้วยกันคือ

๑ ให้พยายามเร่งเครื่องขันชะเนาะกันให้มากขึ้นทั้งฆราวาสก็ตามหรือนักบวชก็ตาม ซึ่งพ่อท่านมองเห็นว่าในภาวะที่โลกร้อนแรง ใกล้กลียุค อย่างนี้ ทางออกของสังคมมันจะตีบตันขึ้นไปเรื่อยๆ กระแสการแสวงหาทางออก มันก็จะพุ่งเข้ามาหาพวกเรา เราจะต้องตั้งหลัก รับกันให้ อย่างสำคัญ โดยจะต้องมีความแน่นเนียนและแน่นในกันให้ได้จริงๆ ถ้าไม่อย่างนั้น เราจะไม่สามารถ รับคลื่นมหาชน ที่จะพุ่งเข้ามา หาพวกเราได้ ชาวอโศกทุกวันนี้อาตมาคิดว่า ถ้าเราได้รับคำตำหนิติเตียนจะไม่น่ากลัวเท่ากับเราได้รับคำยกย่องสรรเสริญ คำยกย่อง สรรเสริญ จะทำให้เราฟ่าม และก็ฟูฟ่องล่องลอยออกจากเป้าหมาย ในการปฏิบัติธรรม มากกว่า สิ่งที่อยากจะนำเสนอ ในการขันชะเนาะ ก็คือ

ก. ขันชะเนาะทางความคิด เราต้องยอมรับความจริงว่าทุกวันนี้ความคิดเราคิดกันได้เป็นร้อย แต่เวลาทำจริงๆ เราทำกันได้น้อย นิดเดียว ทำกันได้ ไม่มากเท่าไหร่ ด้วยเงื่อนไขของเวลา ด้วยเงื่อนไขของการที่เราต้องสวมหมวกหลายใบ ทำอะไรในหลายๆด้านไปพร้อมๆ กัน ถ้าอย่างนั้นเราจะค่อยๆ คิดค่อยๆทำกันได้ไหม คิดกันทีละก้าวและทำกันไปตามทีละก้าว เพราะมิฉะนั้นเราจะเอาเวลาส่วนใหญ่ไปถกเถียง ไปวิเคราะห์ ไปโต้แย้งกันเรื่องแผนงานโครงการในอนาคตกันมาก ทั้งที่ในปัจจุบันเรายังทำอะไรกันได้ไม่มากเลย เหมือนกับ เราประชุม ข้อกำหนด ของการสร้างชุมชนบุญนิยมยังทำกันได้ไม่เท่าไหร่ ตอนนี้เราก็ต้องมาวิเคราะห์กันว่า ศูนย์บุญนิยมสิกขาจะเป็นอย่างไร ซึ่งโครงการ อันดับสอง อันดับสาม มันเข้ามาแล้ว ทั้งที่หนึ่ง เราก็ยังไม่ได้เริ่มต้นทำ แต่เราต้องมาวางแผนกันว่า ๙๙ และ ๑๐๐ จะเป็น อย่างไร แล้วตอนนี้ความคิดเราก็ไปถึงขั้นว่า เราจะไปสร้างชุมชนต้นแบบให้กับหมู่บ้านต่างๆ ที่เราอบรมไปกันอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อเรา ย้อนกลับมา ตรวจตัวเราเองเราจะพบว่า ชุมชนของเราแต่ละแห่งเรายังมีอะไรที่ต้องทำกันอีกมากทีเดียว ที่จะทำให้มันดีได้ มากกว่านี้ แต่ตอนนี้ ความคิดเราเลยออกจากที่จะทำตัวเองให้ดีขึ้นแล้ว แต่กำลังจะพุ่งไปตรงที่ว่าจะไปช่วยชาวบ้าน ให้ดีขึ้นได้อย่างไร แล้วเราก็ต้อง เอาเวลา มาวางแผนวิเคราะห์ วิจัยทุ่มเทไปกับตรงนั้นอีก มันก็เลยรู้สึกว่า โครงการแผนการเราต้องเดินทางไปประชุมกัน วางแผนการกัน จนแทบจะไม่มีเวลาที่จะทำอะไรให้กับชุมชนตนเองให้มันเป็นเนื้อเป็นแน่นกันขึ้นมา

และในยุคประหยัดพลังงานกันอย่างนี้ ถ้าเราแม้แต่ประหยัดพลังทางความคิดได้ด้วย ก็จะดี คือคิดกันไว้น้อยๆ แล้วเวลามาประชุม ก็พยายาม ที่จะรับฟัง ซึ่งกันและกัน แล้วก็สังเคราะห์ความคิดซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่ว่า ปักหลักตอกเสาเข็มทางความคิด มาตั้งแต่อยู่บ้าน หรืออยู่วัดมาแล้ว และพอมาถึงที่ประชุม ก็จะเอาให้ได้อย่างที่ตัวเองคิด นี่ก็จะทำให้ที่ประชุมเขาไม่สนุกเท่าไหร่และเราก็ไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะว่าจะเอา อย่างที่เราคิดให้ได้ การมาประชุมก็คือว่าการมาประชุมทางความคิด แต่ไม่ได้หมายความว่า มาประชุม เพื่อที่จะเอาให้ได้ อย่างที่เราคิด แต่การประชุมจริงๆ คือ มาประชุมทางความคิดกัน แล้วก็เอามาสังเคราะห์กัน แล้วก็สรุปความคิด ที่มีทั้งหมด ให้ได้ค่า ที่ดีที่สุดออกมา ดังนั้นถ้าใครสามารถที่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมที่พยายามไม่ยึดความคิดของตัวเอง ไม่ให้ความสำคัญ ของความคิด ตัวเองมากไป พยายามที่จะรวบรวมเอาความคิดของหมู่กลุ่มเป็นใหญ่ ก็จะเป็นผู้ที่ใช้พลังงานน้อย และก็จะเป็นนักประสาน สัมพันธ์ เป็นนักการศาสนา ที่แท้จริง เพราะศาสนาเป็นพลังที่รวมสังคม

ข. การขันชะเนาะทางการปฏิบัติ บางครั้งเราใช้เวลามากในการที่คิดจะช่วยเหลือสังคมคิดช่วยเหลือชาวบ้าน จนบางครั้ง เราก็ไม่ค่อย มีเวลา ที่จะมาคิดขันชะเนาะ ในการปฏิบัติธรรมให้กับตัวเอง ในการที่จะทำอธิศีล อธิจิตและอธิปัญญาของเราให้เจริญขึ้น แม้แต่เวลา ฟังธรรม ก็แทบไม่มี จนบางครั้งจะต้องนั่งซดกาแฟไปคิดที่จะช่วยเหลือสังคมไป หรือไม่ก็ต้องแวะเข้าร้านไอสครีมบ้าง แวะไปเที่ยว ห้างสรรพ-สินค้าบ้าง เพื่อที่จะได้กำลังมาช่วยสังคมใหม่ ซึ่งตรงนี้คือค่ายกลของมาร เพราะว่าการแก้ปัญหาใดๆ จะแก้ปัญหาได้ ก็ต่อเมื่อตัวเราเอง เจริญขึ้นในอธิศีล อธิจิต ในอธิปัญญา แต่ว่าการแก้ปัญหาทั้งหลายจะแก้ไม่ได้เลย ถ้าเราเอง ไม่ได้เจริญในการปฏิบัติธรรม เป็นแต่เพียง เราไปคิด ให้คนอื่นเจริญ อันนี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาในโลก ที่มีมากอยู่แล้ว ให้มีมากขึ้นอีก ด้วยซ้ำ

ทำอย่างไรเราถึงจะขันชะเนาะเพื่อที่จะมุ่งมั่นในการล้างกิเลสที่เป็นสักกายะทั้งหลายอย่างสำคัญ?
พ่อท่านได้กำชับกำชาพวกเราที่อยู่วัดกัน มานานๆ ว่าต้องพยายามหาวิธีการที่จะลดละกำราบกิเลสร้ายของเรา มันต้องมีตบะ มีการบำเพ็ญ ให้กับตัวเอง พ่อท่านเน้นย้ำว่าเราจะต้องมุ่งมั่นทำจริงๆ ซึ่งเราเองจะต้องไปทบทวนว่าแต่ละคนมีสักกายะในเรื่องอะไร ใครมีสักกายะ ในเรื่องกาม หรือมีสักกายะในเรื่อง อัตตามานะก็ดี มีสักกายะในเรื่องการพูดจาว่าร้าย หรือพูดจาทำให้เกิด ความแตกแยก กันก็ดี ก็จะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะหาวิธีการ หาตบะ หาข้อบำเพ็ญในการที่จะฝึกฝนตัวเราเอง เพื่อทำให้กิเลสมันเบาบาง มันอ่อนแรง ลงไป เพราะไม่เช่นนั้น ถ้าเราไม่หาทาง จัดการมันจริงๆ กิเลสมันก็จะแก่ตัวเจริญเติบโตมาเล่นงานเรา แม้เราจะอายุมาก แต่กิเลสมันจะมี กำลังมากตาม อายุของเราไปด้วย สุดท้ายมันก็จะมาจัดการเล่นงานเราในที่สุด การขันชะเนาะมุ่งมั่นกวาดล้างสักกายะ กวาดล้างนิสัย เก่าๆของเรา มิฉะนั้นมันสามารถพร้อมที่จะมาตลบหลัง ทำ ให้เราต้องเจ็บปวดในการปฏิบัติธรรม เพราะพ่อท่าน เคยให้โศลกไว้ อย่างสำคัญว่า ระวังทำชั่วหนึ่งที ทำดีร้อยหนป่น ถ้าเราไม่มุ่งมั่นเอามันลงจริงๆ มันจะทำให้ความดีที่เราทำมามาก มายพลอยป่นปี้ กับนิสัยเก่าๆ สักกายะร้ายๆของเรา ที่เราไม่ได้มุ่งมั่นมันให้ได้ อย่างจริงจัง

๒. พ่อท่านให้นโยบายสำคัญกับพวกเราก็คือต้องพยายามเน้นการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการทำงานท่านให้โอวาทด้วยประโยค ที่ว่า "ต้องแยกให้ออก ว่างานกับการปฏิบัติธรรมนั้นมันอยู่ด้วยกัน" ซึ่งทำอย่างไร ที่จะทำให้เราสามารถ ทำงานไปด้วย และปฏิบัติธรรมไปด้วย ควบคู่กันได้ รายละเอียดในเรื่องนี้ ก็คงต้องขอยกออกมาจากในหนังสือ วิถีพุทธหน้า ๑๑ ซึ่งพ่อท่านได้เขียนเอาไว้ว่า

"ผู้ที่ชื่อว่าโลกุตระบุคคลนั้นหมายความว่าเป็นผู้อยู่ในโลกโลกีย์นี้แหละ แต่ไม่ได้ทุกข์สุขไปตามโลกีย์ เพราะได้ปฏิบัติ จนสามารถอยู่เหนือ โลกีย์สำเร็จ ไม่เป็นทาสโลกีย์ได้จริง แต่ก็อยู่กับโลกีย์นั้นเองไม่ได้หนีไปไหน สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ตามปกติ

โดยขณะปฏิบัติให้เกิด "สัมมาสังกัปปะ" ก็จะรู้เท่าทันกิเลสภายในจิตที่กำลัง "ดำรินึกคิด" (สังกัปปะ) และกำจัดหรือ "ดับ" กิเลสอย่างรู้ๆ (ชานาติ) เห็นๆ (ปัสสติ) ตัวตนของมันในทันทีที่ยังมีกรรมกิริยา "ดำรินึกคิด" อยู่นั่นเอง ไม่ใช่ "ดับ"เวทนาและสัญญาทั้งหมด เป็นคน ไม่มีความรู้สึกใดๆ แน่ๆ

ในขณะปฏิบัติให้เกิด "สัมมาวาจา" ก็จะรู้เท่าทันกิเลสภายในจิตที่กำลัง "พูดจา" (วาจา) และกำจัดหรือ

"ดับ"กิเลสอย่างรู้ๆ (ชานาติ) เห็นๆ (ปัสสติ)ตัวตนของมันในทันทีที่ยังมีกรรมกิริยา "พูดจาปราศรัย" อยู่นั่นเองไม่ได้

"ดับ"เวทนาและสัญญาทั้งหมด เป็นคนดับความรู้สึกใดๆ ไม่รู้เรื่องอะไรอย่างที่หลงผิดกันแน่ๆ

หรือในขณะปฏิบัติให้เกิด "สัมมากัมมันตะ" ก็ดีก็จะรู้เท่าทันกิเลสภายในจิตที่กำลัง ทำการทำกิริยาใดๆอยู่(กัมมันตะ)และกำจัด หรือดับ "กิเลส อย่างรู้ๆ (ชานาติ)เห็นๆ (ปัสสติ) ตัวตนของมันในทันทีที่ยังมีกรรมกิริยา"ทำการทำกิริยานั้นๆ" อยู่นั่นเอง ไม่ได้"ดับ" เวทนาและสัญญา ทั้งหมด อย่างพาซื่อ

แม้ในขณะปฏิบัติให้เกิด "สัมมาอาชีวะ" ก็ตาม ก็จะรู้เท่าทันกิเลสภายในจิตที่กำลัง "ประกอบอาชีพอยู่(อาชีวะ)และกำจัดหรือ "ดับ"กิเลส อย่างรู้ๆ (ชานาติ) เห็น(ปัสสติ)ตัวตนของมันในทันทีที่ยังมีกรรมกิริยา "ประกอบอาชีพ" อยู่นั่นเอง ไม่ได้"ดับ"เวทนาและสัญญาทั้งหมด ดังที่หลงผิด กันอยู่ส่วนมาก

ซึ่งล้วนสามารถรู้เท่าทัน"กิเลสภายในจิต" ในขณะที่กำลังกระทำ"กรรม"ทั้งหลายเป็นปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็กำจัดกิเลสอย่างรู้ๆ เห็นๆ "ตัวตน" (อัตตา) ของมันได้ กิเลสตายมากตายน้อยก็รู้แจ้งเห็นจริง อารมณ์ในขณะที่กิเลสยังมีอยู่ก็รู้ หรืออารมณ์ขณะที่กิเลสดับสนิทไปแล้ว ก็รู้แจ้ง เห็นจริง จะรู้แจ้งเห็นจริงภายนอกภายใน อย่างครบครัน ไม่ต้องหนีห่างจากสังคม จากโลกีย์ภายนอกใดๆไปเลย เป็นการปฏิบัติธรรม ในขณะที่ ปฏิบัติกิจ ประกอบการงานอยู่ ในชีวิตประจำวันนั้นแล แต่ดับเฉพาะอารมณ์ หรือเวทนาที่เป็นโลกีย์เท่านั้น...ฯลฯ"

บทสรุป
การทำงานและการปฏิบัติธรรม จะไม่สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมที่

ก. มากด้วยอคติฝังใจ เป็นนักปฏิบัติธรรมที่ขึ้นอยู่กับความชอบใจและไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจก็ใช้อิทธิบาท ๓ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ แต่ไม่มี วิมังสา ถ้าไม่ชอบใจก็ใช้อิทธิบาท ๐ คือยกทิ้งไปเลย

ข. มากด้วยภพน้อยภพใหญ่ มีภพฤาษีที่ยังไม่ได้ล้าง หรือมีภพของฝ่ายซ้ายที่ฝังใจกับพวกนายทุน หรือมีภพของทุนนิยม แม้พูดแต่บุญนิยม แต่ว่าใจก็คิดถึง แต่เรื่องจะร่ำจะรวย หรือเป็นภพของพวกสุขนิยม อยู่สุขสบายไปวันๆ ก็ไม่สามารถจะทำงานกับการปฏิบัติธรรม ควบคู่กันไปได้

ค. มากด้วยการเอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่จะทำอะไรก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็จะทำให้เป็นคนที่โต่งไปโต่งมา ก็ไม่สามารถจะหา ทางสายกลาง ให้กับตัวเองได้

ง. มากด้วยการขาดการพิจารณาทบทวนทั้งบุพเพฯทั้งเตวิชโช จึงปฏิบัติธรรมอย่างไร้ทิศทางสะเปะสะปะ

จ. มากไปด้วยอดีตและอนาคตจนขาด การเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่กับปัจจุบัน ก็จะไม่สามารถทำงานและปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปได้ ซึ่งสติสัมโพชฌงค์ เป็นตัวจักรแก้ว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เราจะทำงานไปด้วยปฏิบัติธรรม ไปด้วยควบคู่กันได้ อาหารของสติสัมโพชฌงค์ นั้นก็คือ การที่เรามีโยนิโสมนสิการ มีการพิจารณาทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย อาหารของโยนิโสมนสิการก็คือการมีศรัทธา และอาหารของ การมีศรัทธา ก็คือการได้ฟังสัทธรรม ส่วนอาหารของการได้ฟังสัทธรรมก็คือการได้พบสัตบุรุษ สุดท้ายก็สติสัมโพชฌงค์ ที่ทำให้เราอยู่กับ ปัจจุบัน อ่านจิตอ่านกิเลสได้ในปัจจุบันนั้นมันก็ต้องมาเริ่มต้นกันตั้งแต่ได้คบสัตบุรุษและได้ฟังสัทธรรมเป็นหลัก อยู่ในวงจรของ การล้าง อวิชชา ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ที่ไม่ค่อยได้คบสัตบุรุษ ไม่ค่อยได้ฟังสัทธรรม ไม่ได้เป็นผู้ที่เจริญในศรัทธา ก็ต้องให้รู้ว่า เรากำลังเป็นนักปฏิบัติธรรม ที่กำลังเจริญรุ่งเรืองในอวิชชา

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯดูงานบ้านราชฯ
เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน ส่งผลต่อวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

ทีมงานศีรษะฯ สาธิตการทำปุ๋ยอินทรีย์
ประธานโครงการฯ เห็นด้วยที่เริ่มจากเล็กๆ
บางท่านสงสัยเรื่อง พระโพธิสัตว์

เมื่อวันที่ ๕ ก.ย.๒๕๔๘ ที่หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. มีกิจกรรมต้อนรับคณะผู้บริหาร การพัฒนา การเกษตร และสหกรณ์ระดับสูง (ซี ๘) มาศึกษาดูงานเพื่อรับฟังการบรรยาย และเยี่ยมชมกิจการของหมู่บ้าน ดูงานเกษตรอินทรีย์ และ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ดำเนินงานโดยสถาบันเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ระหว่างวันที่ ๕ - ๗ ก.ย.๔๘

กิจกรรมที่ราชธานีอโศกมีดังนี้
เวลา ๐๙.๐๐ น. ทีมงานต้อนรับ คณะศึกษา ดูงานบริเวณชั้นล่างตึกศูนย์สูญ ชมวีดิทัศน์แนะนำชุมชน และวีดิทัศน์ การทำเกษตรอินทรีย์ ของหมู่บ้าน (สวนไวพลัง) แล้วพักรับประทานของว่างซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนคือ คุ๊กกี้ผักพื้นบ้าน (คุ๊กกี้ผักมังกรหยก, คุ๊กกี้เสาวรส, คุ๊กกี้ข้าวโอ๊ต) นมลูกเดือยและกาแฟธัญพืช หลังจากนั้นเดินชมหมู่บ้านและฟังการบรรยาย และสาธิต เรื่องปุ๋ยอินทรีย์โดย คุณขวัญดิน สิงห์คำ และทีมงานกสิกรรมไร้สารพิษ

เวลา ๑๑.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ฟังการบรรยายธรรมโดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ และตอบปัญหาข้อสงสัย แล้วรับประทานอาหารเที่ยง ที่ศาลา เฮือนเพิงกัน ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาดูงาน ในที่ต่อไป ในเวลา ๑๓.๐๐ น.

สำหรับความรู้สึกของผู้มาศึกษาดูงานมีดังนี้
คุณมาลัย เนียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "ที่มาเพราะเราเป็น กระทรวงเกษตรฯ ครั้งแรก นี่เราไป ที่โรงเรียนผู้นำฯ และดูแล้วว่าการเกษตร ควรไปในทิศทางนี้ เริ่มมีการอบรมของนักบริหาร ของกระทรวง ซึ่งจะเป็นการทำงาน เกี่ยวข้องกัน โครงการนี้ จึงพาเขามาดูเพื่อว่า เขาจะได้นำความรู้ที่เห็น เอาไปเผยแพร่ให้กับ คนที่จะต้องลงไปในพื้นที่ นักบริหารที่มาครั้งนี้ ก็มาจากทุกกรม ของกระทรวงเกษตรฯ ทั่วประเทศที่เราคัดมาแล้วว่าเขามีความเหมาะสมที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของเราต่อไป เรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ เท่าที่มาสัมผัสรู้สึกว่าที่นี่มีความสุข ทุกคนยิ้มแย้ม คนไทยเวลาเจอกัน ไม่ค่อยทักทายกัน แต่มาที่นี่พอลงจากรถ มีคนมาสวัสดี มาทักทาย ทำให้เราเป็นสุข และรู้สึกแปลกใจ และไหว้กันมาเรื่อยๆ เป็นวิถีชีวิต อย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้น ตอนนี้ยุค ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจไม่ดี สุขภาพจิตดี ส่วนเรื่องสุขภาพกาย อาหารมังสวิรัติ ทุกคนต้องยอมรับว่า ทานมังสวิรัติ มีผลดีต่อสุขภาพ และพืชผักปลอดภัย ที่นี่เป็นเกษตรอินทรีย์ ถ้าทั้งเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ประเทศชาติ ก็จะดีตาม

อาจารย์สวนิต พูนพิพัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ผู้ประสานงาน "ตั้งแต่มาประสานงานกับที่นี่ จนถึง วันนี้ เริ่มติดใจว่า วันนี้มาช้าไปหรือเปล่า เราน่าจะมาตั้งแต่อายุน้อยกว่านี้ ประทับในหลายๆ อย่าง เช่น ความพร้อมเพรียง และก็ได้รับ บรรยากาศ ของความเอื้ออนุเคราะห์ ทุกคนดูสงบ ทำให้คนที่อยู่ในเมือง ที่มีความรุ่มร้อน รู้สึกเป็นอีกมุมหนึ่งของเรา ที่ห่างจาก ความรุ่มร้อน ที่นี่สงบเยือกเย็น และทุกคน อัธยาศัยดีมาก ก่อนจะมาที่นี่ ยอมรับว่ากังวล ไม่ทราบว่า เมื่อเรามาแล้ว จะมีอะไร ที่เป็นความต่างกัน บ้างหรือเปล่า แต่พอได้เข้ามาสัมผัส ได้พูดคุย ก็ไม่เห็นความต่างตรงนั้น"

คุณยุทธชัย อนุรักษ์ติพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน "มาที่นี่รู้สึกประทับใจ แต่ก็ยังไม่เข้าใจ เพราะว่าตัวเองยังมีความบกพร่อง ทางด้านศีล และ ก็มีข้อสงสัย หลายเรื่อง โดยเฉพาะคำประกาศของท่านโพธิรักษ์ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ตามที่ผมเรียนมาว่า พระพุทธเจ้าท่านประกาศ ห้ามพระอรหันต์ว่า อย่าอวดอุตริมนุสสธรรม นั่นคือสิ่งที่เราจำได้ แต่เราก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เห็นท่านปฏิบัติ ท่านไม่ได้เบียดเบียนสังคม เราก็ดีใจแล้ว สังคมนี้พึ่งพาตนเอง เป็นชุมชนขนาดเล็ก และก็มีเครือแห ภูมิใจที่คนไทยของเรา ทำงานแบบเกษตรอินทรีย์ น่าสนใจ และน่าประทับใจ แต่อยากให้คิดอีกสักนิดหนึ่ง ว่าวิธีการดีๆอย่างนี้ ทำอย่างไร จึงจะออก ไปข้างนอกได้ โดยที่สังคม จะไม่ต่อต้านมากนัก เพราะเท่าที่ ท่านโพธิรักษ์พูด กรอบ กติกาสังคม มันแตกต่างโดยเด่นชัด เมื่อความแตกต่างโดยเด่นชัด ท่านเอง ก็ต้องยอมรับ ความเป็นจริง ท่านเคย นุ่งห่มขาว ท่านเคยเป็นพระ และผมเองก็คิดว่า ใจของท่านก็เป็นพระด้วย แต่ผมก็ยังสงสัยหลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่อง ธรรมกาย จริงๆแล้ว ผมนับถือผ้าเหลือง ผมไม่ได้นับถือตัวบุคคล ผมคิดว่าเมื่อท่านบวชเป็นพระ ท่านควรเจริญในศีล สมาธิ และเจริญใน สติปัญญา ด้วยความเป็นพุทธะ เราคิดอย่างนั้นจริงๆ แต่สงสัยว่า ทำไมท่านจึงเปรียบเทียบให้เห็นว่า ที่อโศกแตกต่างอย่างชัดเจน จากธรรมกาย ด้วยความชัดเจน อย่างนี้อย่างนั้น ผมคิดว่าในส่วนของศีล ที่เคร่งครัด ก็ดีอยู่แล้ว เขาทำสมาธิ ทำวิปัสสนากรรมฐาน ก็ดีอยู่แล้ว เพื่อไปสู่หนทาง ของความหลุดพ้น สนามหลวงไม่ได้ไปด้วยทางเดียว ผมเชื่อว่าอย่างนั้น จึงเป็นข้อสงสัย แต่ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นว่า อยากให้พวกท่าน สัมพันธ์ในวงกว้าง อยากให้พวกท่าน ขยายวง แนวคิดท่านดี แต่มีความเสียดทาน จากข้างนอก เยอะ"

คุณจะเด็ด กลิ่นชื่น จนท. บริหารงานทั่วไป สถาบันเกษตรธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "การทำงานของสถาบัน จะเป็นเรื่อง การพัฒนาบุคลากร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เข้าอบรมทั้งหมดที่มาเป็นผู้บริหารผู้อำนวยการกองทั่วประเทศ ทุกหน่วยงาน ในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มาดูงานที่นี่ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยส่งข้าราชการ มาฝึกอบรม ก็อยากให้ผู้บริหาร ในระดับ ผู้อำนวยการกอง ได้มาศึกษาและดูงานที่นี่บ้าง เพื่อจะได้ไปปรับใช้ มาที่นี่ได้เห็นรูปแบบหนึ่งของวิถีชีวิต รู้สึกว่าต้องกลับไป ทบทวนแล้ว ในบางสิ่งบางอย่าง ที่เราเคยดำเนินการมา อะไรที่ปรับได้ เราก็จะไปปรับ ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา"

คุณวิไล ปราสาทศรี นักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร "มาดูงานที่นี่รู้สึกประทับใจ ร่มรื่นทำให้จิตใจสบายขึ้น จะนำสิ่งที่ได้พบเห็น ไปประยุกต์ กับงานที่ทำ ซึ่งปกติค่อนข้างจะเครียด ก็ดูว่าจะทำจิตใจของเราให้สงบ ที่นี่ดูดีมากจะนำไปทบทวน และประทับใจ อาหาร รับประทานข้าว ได้มากทีเดียว ชอบแบบนี้อยู่แล้ว"

ดร.สุนทร พูนพิพัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ประธานโครงการการฝึกอบรม หลักสูตรนักบริหาร การพัฒนา การเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการซี ๘ "โครงการนี้เป็นการฝึกอบรมเพื่อยกระดับตำแหน่ง ของเขาให้สูงขึ้น ต่อไป ในส่วนหนึ่ง ของโครงการ จะมีวิธีการพามาศึกษา ภายในพื้นที่จริงด้วย เพื่อเรียนรู้ในรูปแบบการเกษตรสมัยใหม่ เรื่องของการค้าชายแดน ในจังหวัด อุบลฯ และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ในทัศนคติของผม การมาที่นี่ได้เรียนรู้ แนวทางการดำเนินชีวิตของชุมชน ที่อยู่บนพื้นฐาน ของเศรษฐกิจ พอเพียง แล้วก็มีหลักศาสนา เป็นตัวค้ำ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติบางอย่างก็เป็นแนวทางของภูมิปัญญาชาวบ้านก็เป็นสิ่งที่ดี ผมคิดว่า เริ่มต้น จากกลุ่มเล็กๆอย่างนี้ไปก่อนแหละดี มุ่งไปที่เยาวชน ยุวชนอย่างนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าจะเปลี่ยนอะไร ก็ต้องเปลี่ยน จากฐานล่าง จากชุมชน เป็นหลัก".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ความเครียด'ทำให้อายุยืน'
- ก. รายงาน -

โดยปกติเป็นที่รับรู้กันว่า "ความเครียด" เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เรา แต่การค้นคว้าทดลองที่ไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะ จากฝากฝั่ง ตะวันตก จึงทำให้มีข้อมูลใหม่ๆ มาหักล้าง โต้แย้ง หรือให้มุมมองใหม่ๆอยู่เสมอ

ล่าสุดก็มีมุมมองใหม่ หรือข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ "ความเครียด" ที่บอกว่า "ความเครียดเพียงเล็กน้อย จะช่วยให้มนุษย์อายุยืนยาวขึ้น"

การค้นพบนี้เป็นของนักวิจัยชื่อ ดร.ริชาร์ด โมริโมโตะ แห่งมหาวิทยาลัย นอร์ธอีสเทิร์น ซึ่งระบุว่า ความเครียดมากๆ และเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง ถาวร ไม่เป็นผลดีกับมนุษย์ แต่พบว่าการมีความเครียดเป็นครั้งคราวและในระดับต่ำๆ จะช่วยให้เรามีสุขภาพดี และอายุยืน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความเครียดอย่างอ่อนๆที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนี้จะไปทำให้โปรตีนในร่างกายของเราทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยปกป้อง เซลล์ของร่างกาย ไม่ให้ถูกทำลายจากสภาวะแวดล้อม และกำจัดโปตีนที่ผิดรูปร่าง

ผลวิจัยบอกว่า โดยปกติโปรตีนเป็นเกราะป้องกันเซลล์ในร่างกายของเรา และการที่โปรตีนจะทำหน้าที่เป็นเกราะให้กับเซลล์ได้ โปรตีน ก็จะต้อง มีการจัดรูปทรงที่เหมาะสม และการจะจัดรูปทรงที่เหมาะสมได้ ก็ต้องมีอณูที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือควบคุม ซึ่งอณู พี่เลี้ยง ของโปรตีนนี้ ถูกสร้างขึ้นในขณะที่ร่างกายเราตอบสนองต่อความเครียด

ผลการทดลองนี้ได้ใช้ตัวหนอนเป็นสัตว์ทดลอง ซึ่งมีโครงสร้างทาง ชีวภาพคล้ายมนุษย์ จึงอาจกล่าวได้ว่า การทดลองนี้ สามารถใช้ได้ กับมนุษย์เช่นกัน.

(*จาก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ ๒๕ ธ.ค.๒๕๔๖)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี

เมื่อวันที่ ๓๑ ส.ค. - ๔ ก.ย.๔๘ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้รับนิมนต์จากศูนย์คุณธรรมให้ไปศึกษาดูงานของมูลนิธิฉือจี้ ประเทศไต้หวัน โดยมีสมณะเดินดิน ติกขวีโร สมณะณรงค์ จันทเสฏโฐ และผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวศ, ดต.วิชัย สุริยุทธ (คนปลูกต้นไม้จากปรางค์กู่) ชาวอโศกที่ร่วมเดินทางไปด้วยก็มี คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์, คุณแซมดิน เลิศบุศย์, คุณขวัญดิน สิงห์คำ, อ.รัศมี กฤษณมิษ และตัวแทนของพุทธ, คริสต์, อิสลาม, ซิกส์ รวมทั้งหมด ๔๕ ชีวิต โดยมี อ.นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผอ.ศูนย์คุณธรรม เป็นผู้ประสานงาน นำทีมไป

การเดินทางตั้งใจไปไต้หวันโดยตรงแต่ได้แถมที่ฮ่องกงอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจาก เครื่องบินลงไต้หวันไม่ได้ เพราะเจอไต้ฝุ่นพอดี ต้องย้อน ไปลง ฮ่องกง ค้างฮ่องกง ๑ คืน การเดินทางคราวนี้ประทับใจการต้อนรับของชาวฉือจี้เป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่มายืนรอต้อนรับที่ สนามบิน ดูแล ตลอดเส้นทาง ด้วยลักษณะเด่นของชาวฉือจี้คือ "ยิ้มงาม ถามไถ่ เต็มใจบริการ" ได้เห็นการทำงาน การเสียสละ ต่อสังคมของชาวฉือจี้ จนสามารถ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และมีสถานีวิทยุโทรทัศน์ของตัวเอง โดยอาศัยรายได้จาก การบริจาค และ จากการแยกขยะ สร้างได้ใหญ่โตมโหฬาร แต่ที่อยู่ที่ปฏิบัติธรรมเรียก สมณราม กลับเรียบง่าย สมถะ ปลูกผักกินเอง สถานที่สะอาด เก็บของ เป็นที่เป็นทาง มีโรงเก็บไม้เก็บฟืน เก็บใช้ประโยชน์หมด ไม่ทิ้งง่ายๆ คนที่ละเอียดในสิ่งเล็กน้อย ย่อมทำงานใหญ่ ได้สำเร็จ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๖๓ (๒๘๕) ปักษ์หลัง ๑๖ - ๓๐ ก.ย.๔๘
เจริญธรรม สำนึกดี เวียนมาพบกับสารพันข่าวภายในแวดวงชาวอโศกกันอีกเช่นเคย ฉบับนี้มีดังนี้

สุขภาพสมณะผู้ใหญ่... จิ้งหรีดจากบ้านราชฯ จี๊ดๆมาบอกว่า สมณะที่บ้านราชฯ ส่วนใหญ่สบายดี ก็มีท่านเดินดิน ซึ่งเพิ่งบินกลับจาก ไต้หวัน ที่รู้สึก ไม่ค่อยสบาย คงจะเพลียจากการเดินทางไกลก็เป็นได้ ท่านเดินดินคุยให้จิ้งหรีดฟังว่า ตอนนั่งเครื่องบินขาไปนั้น พอถึงไต้หวันแล้ว บินลงไม่ได้ เพราะพายุกำลังเข้าไต้หวันพอดี พอเครื่องบินลดเพดานลงต่ำ เจ้าพายุมันก็ตีใต้ท้องเครื่องดังสนั่นกันไปทั้งลำ แถมหลายครั้ง ซะด้วย ในที่สุดกัปตัน ต้องขับเครื่องบิน ไปลงที่สนามบินฮ่องกง รอให้พายุอ่อนตัวลงแล้ว จึงได้บินกลับไปไต้หวันอีกครั้ง ในช่วงที่เครื่องบิน ถูกพายุ พัดกระหน่ำ ท่านเดินดินบอกว่า หลายคนต่าง ก็ต้องท่องอิติปิโสกันแล้วล่ะ...

ส่วนพ่อท่านในพรรษานี้ มีคนบอกว่า สุขภาพดีมากเลย โดยออกกำลังกายแบบโยคะทุกเช้าตอนตี ๔ ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง หลังจากนั้น ก็ออก บิณฑบาตตอนตี ๕ ครึ่ง พอกลับจากบิณฑบาตก็จะสรงน้ำ ในเรื่องการขบฉัน พ่อท่านได้เปลี่ยนเวลาฉันจากใกล้เที่ยงวัน มาเป็นเวลา ๐๙.๓๐ น. เพราะหมอแนะนำว่าเป็นเวลาที่เหมาะกับสุขภาพที่สุด นอกจากนี้พ่อท่านยังไปเทศน์ที่อุทยานบุญนิยมทุกครั้งหากอยู่ที่บ้านราชฯ วันอาทิตย์ ที่ผ่านมา ได้เทศน์ในหัวข้อเรื่อง "ยิ่งจนยิ่งพ้นทุกข์" คนก็มาฟังกันราว ๑๐๐ คน เดี๋ยวนี้การเทศน์ที่อุทยานแต่ละครั้ง จะตั้งชื่อ เรื่องก่อน แล้วเขียนลงแผ่นป้าย ติดบอกผู้สนใจล่วงหน้า ๑ สัปดาห์...ใครอยู่ที่อุบลฯ ถ้าสนใจก็ไปฟังกันได้นะฮะ เพราะการฟังธรรม ช่วยให้ ไม่เสื่อม จากธรรม...จี๊ดๆๆๆ .....

ประหยัด... ตอนนี้ที่บ้านราชฯ แก้ปัญหาน้ำท่วมแปลงผักโดยการทำแพไว้ปลูกพืชผักสวนครัว ดังนั้นทำเสร็จก็ไม่กลัวน้ำท่วม และยุคนี้ เป็นยุคประหยัด เพราะน้ำมันแพง ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตของคนเราส่วนใหญ่ ก็สูงขึ้นตามไปด้วย ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางบ้านราชฯ เมืองเรือ ก็ได้จัดสัมมนาเรื่องของการประหยัดพลังงาน และช่วยกันหาวิธีประหยัดพลังงาน ก็มีผลให้ชาวบ้านราชฯ มีการตื่นตัว ที่จะร่วมมือกันในทุกๆ ด้าน ที่จะพัฒนาตัวเองและหมู่กลุ่มชาวอโศกให้ก้าวหน้าต่อไป ความจริงก็บูมตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๒ ส.ค. มีการทำวัตรเย็น พิเศษ พระเที่ยงทนนำระดมสมองเรื่อง การประหยัดพลังงาน ก็เพิ่งรู้ว่า เขาจัดเรื่องไม่มีลูก ก็เป็นการช่วย ลดพลังงาน ยิ่งถ้าไม่แต่งงาน ก็ยิ่งจะประหยัดพลังงานไปได้มากๆ เลย

ส่วนทางด้านจิตใจ ก็มีส่วนสำคัญยิ่งในการประหยัดพลังงาน ถ้าเราฝึกตั้งตน อยู่บนความลำบาก(ตามอินทรีย์พละของแต่ละคน) โดยเฉพาะ การลดราคะ โทสะ โมหะ ก็จะช่วยให้เราประหยัดพลังงานในตัวเอง ไม่สร้างทุกข์ทับถมตนและคนอื่นได้ยิ่งๆขึ้น

อย่างน้อยก็ไม่เพิ่มกิเลสให้กับจิตใจตัวเองจนสร้างปัญหานานาชนิดให้แก่ตนและสังคมต้องทุกข์เดือดร้อนอยู่เสมอๆ...จี๊ดๆๆๆ .....

ข่าวจากใต้...จิ้งหรีดทางภาคใต้รายงานข่าวมาว่า คุณจินตนา ลำเลิศประเสริฐกุล ขยันไปร่วมงานชาวอโศกไม่ว่าจะเป็นงาน อโศกรำลึก หรือ แม้แต่ไปร่วมคัดค้านการรับอบายมุขเข้าตลาดหลักทรัพย์ เธอก็เสียสละเวลาไปร่วมใน กทม. ....

ส่วนคุณเพ็ญแข ที่ไม่ค่อยสบาย พอได้ไปอยู่ทักษิณอโศก เจอะเจอเพื่อนๆในทางธรรมรุ่นเก่าๆ ก็สบายใจมาก จนช่วยงานวัดได้ หลายอย่าง จิ้งหรีด ก็ขออนุโมทนานะฮะ ที่แม้จะห่างวัดไปนาน ก็ยังไม่ลืมวัด ซึ่งเป็นที่พึ่งทั้งทางร่างกาย และจิตใจ....

คุณเมี้ยว น้องสาวคุณอำนวย เอกทักษิณ ก็ไปร่วมคัดค้านเบียร์-เหล้าเข้า ตลท. แม้จะเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่ก็มีอุดมการณ์เพื่อสังคม....

คุณอำนวย เอกทักษิณ ก็เพิ่งรู้ข่าวการจากไปของคุณพอทีจากคุณยอมจริง เพราะคุณพอทีเคยช่วยขับรถให้ แม้จะป่วย พอรู้อีกที ก็รู้ว่า ได้เสียชีวิต และเผาไปเมื่อ ๓๑ ก.ค.๔๘ ซึ่งชาวทักษิณอโศกไปร่วมงานเผาที่ปฐมอโศก คุณยอมจริงโทร.บอกคุณอำนวยเมื่อวันที่ ๒ ส.ค. ที่ผ่านมา คุณอำนวย ก็รู้สึกเสียใจมาก แต่จิ้งหรีดคิดว่า ปัจจุบันคงทำใจได้แล้วล่ะ เพราะคุณอำนวย ก็ได้ศึกษาธรรมะมานาน จริงไหมฮะ....

จิ้งหรีดรู้สึกประทับใจคุณอำนวยที่ได้ อยู่ดูแลเตี่ยและแม่ ในขณะที่พี่และน้อง อีก ๖ คนต่างมีครอบครัว มีหน้าที่การงาน จำเป็นต้องอยู่ กทม. และต่างจังหวัด อีกทั้งพี่ๆน้องๆก็ไว้วางใจที่คุณอำนวยได้ อยู่บ้านกับพ่อและแม่ (แม่อายุ ๗๒ ปี) ก็ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนคุยกับเตี่ย ดูแลแม่ ที่ป่วยไข้ ก็ถือว่าเป็นการปรนนิบัติ รับใช้เทียบได้กับการปฏิบัติธรรม ๑ ข้อ ของท้าวสักกเทวราช ซึ่งคุณอำนวยก็บอก กับจิ้งหรีดว่า มีปีติใจ และภาคภูมิใจ ในบทบาทของตัวเอง สาธุ...จี๊ดๆๆๆ .....

ย้ายร้าน... คุณงามดอกหญ้า นาวาบุญนิยม แจ้งมายังจิ้งหรีดว่า ร้านมังสวิรัติที่ขายอยู่ในตัวเมือง ได้หยุดกิจการ แล้ว โดยมาเปิดร้าน ในที่แห่งใหม่ที่ ๒๗ ม.๑๕ บ้านดงน้อย ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ๔๗๑๕๐โทร.(๐๔๒)๗๘๑๑๙๘ อยู่ห่างจากชุมชนสกลอโศก ไม่มากนัก ประมาณ ๖ หมู่บ้านติดๆกันก็จะถึง การย้ายมาที่นี่ก็เพื่อให้สะดวกในการทำงานกับหมู่กลุ่ม คือจะได้ทำงานกันได้มากขึ้น นี่ก็ใกล้ เทศกาลกินเจ คุณงามดอกหญ้าก็คงหนักอีกครา ก็ถือว่าเป็นการทำบุญช่วย ชีวิตสัตว์ จะได้ไม่เกิดจิตเรียกร้องคนนั้นคนนี้ มาช่วย ก็ถ้าใจเราพร้อม ทำดีแม้คนเดียว จะทำให้เราสบายใจ...จี๊ดๆๆๆ .....

ปฐมอโศก...ช่วงนี้ปฐมอโศกกำลังฟื้นฟูการทำนา จิ้งหรีดจากปฐมฯ รายงาน มาว่า เมื่อวันที่ ๒๙ ส.ค.ที่ผ่านมา พ่อท่านแวะมาประชุม ชุมชน ซึ่งเรื่องฮ็อตๆ ก็คือ เรื่องทำนา พ่อท่านเชิญชวนให้พวกเราช่วยกันทำ เพราะมีญาติโยมถวาย หรือยกให้ชั่วคราว ก็ไม่รู้กี่ปี เนื้อที่ก็ ประมาณ ๔๐ กว่าไร่ ดินดี น้ำดี เคยเป็นที่ของอดีตนายกฯเกรียงศักดิ์ ขายทอดกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นของญาติคุณพิภพ พ่อท่านตั้งชื่อที่ดินนี้ว่า เป็นนา "แรงรัก"

ในเช้าวันรุ่งขึ้นพ่อท่านก็เทศน์ปลุกไฟเรื่องการทำนาอีก พ่อท่านแนะนำว่า เรื่อง กสิกรรมไร้สารพิษ เราจะต้องพยายามทำให้ครบวงจร เรื่องประหยัดน้ำมัน

พ่อท่านก็นำมาเทศน์ด้วย เพราะต่อไปน้ำมันจะแพงขึ้น แต่เราจะต้องเริ่มทำ "ไบโอดีเซล" ซึ่งสกัดจากน้ำมันเก่า ส่วนโครงการต่อไป ก็เป็นการปลูก ต้นสบู่ดำ เป็นผลให้เกิดความคึกคักดีมาก ช่วงเช้าเวลา ๐๖.๐๐ น.จึงมีการออกเดินธรรมยาตราไปนากันแทบหมดวัด นำโดยสมณะ นาไท สมณะหินเพชร คุรุ เด็ก ระยะทางประมาณ ๔ กม.

พอวันต่อมาทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ สมณะมาจากสันติอโศกร่วม ๑๐๐ กว่าชีวิต มาช่วยกันทำนาที่นาแรงรักเต็มไปหมด เป็น ที่สนุกสนาน ก็ถือว่า เป็นนิมิตหมายอันดี การดำนานี้เร็วมาก แต่จะช้าตรงที่ต้องไถ ต้องปรับ ต้องคราดดิน

งานนี้ก็ถือว่าได้ผ่อนคลาย เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ โดยมีคุณทองเหมาะ แจ่มแจ้ง มาถ่ายทอดให้ในห้องเรียนแบบธรรมชาติ

จิ้งหรีดขอให้ข้อคิดตบท้ายว่า อดีตจะหมดจด อนาคตจะสดใส ต้องแก้ไขที่ปัจจุบัน...จี๊ดๆๆๆ .....

ท่านปองสูญ...หลังจากประสบอุบัติเหตุล้มก้นกระแทกขณะช่วยลากเรือ ที่บ้านราชฯ เมื่อก่อนเข้าพรรษา หลังจากเข้ามาอธิษฐาน พรรษา ที่สันติอโศก เพียงไม่กี่วัน ก็เข้ารักษาตัวที่ รพ.วชิระ จนหมอพบว่า เส้นเลือดในสมองตีบ ส่งผลให้เป็นอัมพาตครึ่งตัว นอกจากนี้ ยังมีปัญหา เกี่ยวกับไต อีกด้วย หลังจากได้รักษาตัวที่ รพ.วชิระ จนพ้นขีดอันตรายแล้ว ก็ได้ย้ายไป รพ.หัวเฉียว ฝังเข็มเพื่อรักษาอาการอัมพาต จนบ่าย วันศุกร์ที่ ๒๓ ก.ย.ก็ได้กลับมาพักที่ชั้น ๓ ตึก ฟ้าอภัยใหม่ สำหรับอาการตอนนี้ ท่านสามารถนับเลข ๑-๑๐ ได้แล้ว แต่ยังคงต้องไปฝังเข็ม อาทิตย์ละ ๔ ครั้งที่ รพ.หัวเฉียว...จี๊ดๆๆๆ .....

มรณัสสติ
นายบัวโรจน์ ทาทิพย์ อายุ ๗๓ ปี บิดาของนางกิ่งธรรม (ผู้เขียนบทความศูนย์สุขภาพในข่าวอโศก) เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ก.ย. ๒๕๔๘ ศพตั้งที่ วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เสร็จ พิธีได้มอบศพให้ รพ.สวนดอก เป็นอาจารย์ให้หมอฝึกหัดต่อไป

ก่อนจบของฝากคติธรรม-คำสอนของพ่อท่านที่ว่า
งานที่ปราศจากแรงบันดาลใจ
จะเป็นงานหนักหรือไร้ค่า
แต่งานที่พร้อมด้วยแรงบันดาลใจ
จะกลายเป็นงานที่น่าปีติยินดี.
(ปลุกเสกฯ ๔-๑๐ ก.พ.๓๓)
(จากหนังสือโศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๙๓)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ความเคลื่อนไหวของชาวดอยรายปลายฟ้า

"ทุกนาทีเป็นนาทีแห่งบุญ" ชาวดอยรายปลายฟ้าก็ได้ยึดโศลกธรรมอันนี้ พยายามสะสมบุญกันอย่างเต็มที่ เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต นั่นเอง กิจกรรมบุญที่ดอยรายปลายฟ้าในช่วงที่ผ่านมาก็มีอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เมื่อวันที่ ๒๔-๒๘ ส.ค.๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ก็ได้มีการ อบรม สัจธรรมชีวิต รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ ๓๘ แล้ว มีผู้เข้าอบรมกว่า ๖๐ คน ส่วนวันที่ ๒๙ ส.ค. ชาวดอยรายฯก็ได้มีการสรุปงาน ที่เกษตรกร มาพัฒนาชุมชนเพื่อส่งให้ ส.ส.ส. ๑๐ กลุ่มด้วยกัน แถมด้วยสรุปงาน พฟด. (เชื่อมร้อยเครือข่าย) อีก

วันที่ ๓๐ ส.ค. สรุปงานต่อ ในขณะที่บางคนก็ต้องแบ่งไปต้อนรับกลุ่มที่มาพัฒนาจากบ้านป่าดึงอีก ๔๔ คน ได้งาน เอาหญ้าออกจากสวน สะบ๊ะ, คัดถั่วส่งโรงพยาบาล, เอาฟืน, เอาหญ้าในนาข้าว, ก่อนกลับรับธรรมะจากท่านสมณะฉันทโส นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล ก่อนกลับด้วยทุกครั้ง

๓๑ ส.ค. สะสางงานส่งต่อ ในขณะที่อีกคณะก็ทำน้ำพึ่ง น้ำนัว ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ส.ค. เพื่อขายในชุมชน และฝากมาขายที่ ชมร.ช.ม. ด้วย มีเกษตรกร กลุ่มแม่สุก หมู่ ๙ ประมาณ ๒๐ คน มาดูงานและสอบถามการมาเยี่ยมพัฒนาชุมชนในโอกาสต่อไป ตอนเย็น ท่านสมณะ ฉันทโส กับคณะในชุมชนราว ๙ คน ออกไปพักค้างที่บ้านป่าแดด อ.ป่าแดด เพื่อติดตามหาญาติ ๑ คืน

๑ ก.ย. กลับเข้าเยี่ยมญาติใน อ.เมืองเชียงราย ๒-๓ แห่ง แล้วเข้าชุมชนตอนเย็น ประมาณทุ่มครึ่งถึงสามทุ่ม เรียนธรรมะ บนกระดานดำ
๒ ก.ย. ทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ถึงหกโมงเช้า ช่วงนี้ฝนตกบ่อยมาก.
- น.ส.เวียงคำ มหาวงศ์ รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คกร.บูรณาการสื่อสาระ ข่ายแหชาวอโศก

ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (Information Technology : IT) เข้ามามีบทบาทร่วมกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น อย่างปฏิเสธ ไม่ได้ ตราบใด ที่มนุษย์เรานั้นยังต้องสื่อสารซึ่งกันและกัน

สังคมอโศก (Asoka Society) เป็นสังคมที่มุ่งเน้นความเรียบง่าย ใช้หลักของศีลธรรมนำวัตถุ ประกอบกับการเนินนานวัน หมู่กลุ่มชาวอโศก เริ่มขยาย วงกว้างขึ้น การเลือกใช้เทคโนโลยี และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับ วัฒนธรรมสังคมชาวอโศก และก่อให้เกิด ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ต่อหมู่กลุ่มสังคมและประเทศชาติ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๘ ก.ย. ๒๕๔๘ โครงการอบรมพัฒนาสื่อสาระข่ายแหชาวอโศก (ในโครงการพลังกู้ดินฟ้า ประชาเป็นสุข ปีที่ ๒) ที่ศูนย์ บุญนิยมสิกขา ปฐมอโศก จัดโดยเครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษแห่งประเทศไทย ลักษณะการอบรมเชิงปฏิบัติการ ( Workshop) ภาคเช้า เรียนทฤษฎี ภาคบ่ายลงมือปฏิบัติจริง

วันแรก ๑๔ ก.ย. ปฐมนิเทศ อบรม งานด้านบันทึกเสียงด้วยคอมพิวเตอร์
๑๕ ก.ย. อบรมด้านถ่ายภาพนิ่ง ดิจิตอล การใช้โปรแกรมแต่งภาพ
๑๖ ก.ย. อบรมด้านวิดีโอ การใช้โปรแกรมตัดต่อภาพ
๑๗ ก.ย. อบรมด้านอินเตอร์เน็ต
๑๘ ก.ย. สรุปบทเรียน ปิดการอบรม เดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ.
- คนเดินทาง -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เขาคือใคร?

"คุณศศิธร คำชัยวงศ์" เขาคือใคร? ประจำฉบับนี้ มีชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย เธอมีฐานะทางโลก แต่ทำไมถึงได้ละทิ้งงานโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจ ส่วนตัว แล้วผันตัวเอง มาใช้ชีวิตอย่างชาวนา อย่างคนสมถะ เป็นชาวชุมชน ภูผาฟ้าน้ำ อย่างเต็มตัว

ผู้สื่อข่าวได้ข้อมูลมาว่า คุณศศิธร คำชัยวงศ์ มีชื่อใหม่ในหมู่ชาวอโศกว่า "ภูงาม" ขณะนี้อายุ ๔๑ ปี ปัจจุบันเข้ามาเป็นชาวชุมชน ภูผาฟ้าน้ำ พร้อมกับครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างชาวบุญนิยม พอถามถึงภูมิหลัง เธอก็ได้ย้อนหลังชีวิตของเธอ ให้ผู้สื่อข่าวได้ฟังว่า ตัวเธอเอง เป็นลูกคนที่ ๘ จบการศึกษา ขั้น ป.ว.ช. แต่งงานแล้ว และมีบุตรสาว ๑ คน ชื่อต้นข้าว ชีวิตการแต่งงาน ก็ราบรื่นปกติดี ก่อนหน้าที่จะมาเป็น ชาวชุมชน เธอทำธุรกิจ ส่วนตัว เป็นงานด้านโรงแรม

จนกระทั่งสมัยที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี'๓๒ ก็ได้เริ่มรู้จักกับชาวอโศก พอปี'๔๑ ถึงได้เริ่มปฏิบัติ อย่างจริงจัง แล้วชีวิตของเธอและครอบครัว ก็เปลี่ยนไป ลด ละ ได้มากขึ้นๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พบสัจธรรมชีวิตและเมื่อเกิดปัญหา ใช้วิธีแก้ไขอย่างไร คุณภูงามก็เล่าต่อว่า พบสัจธรรมตอนได้ฟังธรรมะ จากพ่อท่านว่า ชีวิตมันไม่เที่ยง คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมและสร้างความดีต่อไปชาติหน้า ทรัพย์สมบัติที่หาไว้ มันเอาไปด้วยไม่ได้ มันไม่ใช่ ความสุข ที่แท้จริง จนปัจจุบันได้ทิ้งอาชีพทางโลก มาใช้ชีวิตตามแนวทางบุญนิยมที่ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ซึ่งขณะนี้งานหลัก ที่รับผิดชอบ ในชุมชน คือ การทำนา

ส่วนเมื่อเกิดปัญหาในชีวิต ก็จะใช้วิธีแก้โดย นึกถึงธรรมะ นึกถึงพ่อท่าน นึกถึงแนวทางคำสอนของสมณะ

เมื่อถามว่า มีอะไรแนะนำเด็กๆ บ้าง เธอก็บอกว่า เด็กๆอยู่ในนี้ถือว่า เป็นคนมีบุญที่ได้มาอยู่ในนี้ คือเหมือนอยู่ในวงล้อมที่ดี ที่ปลอดภัย เพราะว่า ทุกคนที่อยู่ในอโศก ล้วนแล้วแต่เป็นคนดี มีความจริงใจ เป็นคน มีคุณธรรม มีสมณะช่วยสอนช่วยชี้แนะ ถ้าอยู่ภายนอก มีอันตราย รอบด้าน ไม่มีความ จริงใจเหมือนชาวอโศก มีสิ่งยั่วยอมมอมเมาเยอะ พอคบเพื่อนก็มีแต่เพื่อนไม่ดี พาไปสู่ชีวิตที่ตกต่ำง่าย บางคน อาจจะคิดว่า อยู่ข้างนอกมีงานทำมีเงินซื้อ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นกลลวงของชีวิต พอมีเงินแล้วก็ยิ่งอยากมีอีก ชีวิตก็ต้องถลำไปใช้ชีวิต ตกต่ำไปเรื่อยๆ

ส่วนข้อเสียของชีวิตในเมือง เธอว่า ผู้คนมีแต่ความมายา มีแต่ความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ผู้คนไม่มีศีลธรรม ไม่มีความจริงใจ อาหาร อากาศก็ไม่บริสุทธิ์มีแต่สารพิษ เมื่อเด็กคนไหนคิดที่จะออกไปอยู่ข้างนอก จะต้องไปดิ้นรนทำงานหาเงินมาใช้ ในสิ่งฟุ่มเฟือย ที่ไม่ใช่ สิ่งจำเป็น ต่อชีวิต นั้นก็คือตามใจกิเลส คือความอยากได้ อยากมีอยากเป็น อาจจะถลำลึกถึงขั้นมีครอบครัว ซึ่งหลงคิดว่ามีความสุขที่แท้จริง

คนภายนอกจะคิดว่า ความสุขที่แท้จริง ของชีวิต ก็คือ มีงานทำที่ดี, มีบ้านมีรถ, มีครอบครัว คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือที่สุดของชีวิต แต่สำหรับ ทางธรรมนั้น มันไม่ใช่ มันคือทางแห่งความทุกข์ ทางสู่ความทุกข์ ชีวิตครอบครัวเปรียบเหมือนเม็ดยาขมที่เคลือบด้วยน้ำตาล ซึ่งจะมีกลิ่น หวาน และหอม แต่พอหมดความหวานนั้นจะมีความขมเป็นแกนกลาง ซึ่งใครที่ไม่เจอกับตัวเองจะไม่รู้ ส่วนมากอยากจะทดลอง ชีวิตอย่างนี้ แต่เมื่อรู้ตัวก็สายเสียแล้ว.
- น้ำยา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อานิสงส์พระพยอมและน้องอุ๊งอิ๊ง!

ปัญหาเด็กและเยาวชน ที่หมักหมมมานาน เริ่มเห็นแสงสว่างรำไร เมื่อบุคคล ระดับผู้นำประเทศ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาพูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา หลังจากเข้าไปนมัสการพระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว อันเป็นหนึ่ง ในกิจกรรม ครบรอบวันเกิดบุตรสาวคนเล็กคือ "น้องอุ๊งอิ๊ง" หรือแพทองธาร ชินวัตร เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

ต้องยกความดีให้กับเจ้าของวันเกิด และพระพยอม!

ทั้งนี้นายกฯ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า พระพยอมย้ำนักย้ำหนา ให้ช่วยดูแลปัญหาสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ขณะข้อมูลอีกทางหนึ่ง ได้รับฟัง จากลูกสาว (น้องอุ๊งอิ๊ง) ที่เล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้วัยรุ่นเขามีเด็ก ไนต์สแตนด์ เที่ยวเดินเตร็ดเตร่ ตอนกลางคืน เพื่อหาผู้ชาย พอผู้ชายเข้าไปจีบ ก็ออกเดตกันเลย และก็มีเยอะมาก!

ข้อมูลแบบนี้ อย่าว่าแต่นายกฯ เลย ที่เป็นห่วง! คนที่เป็นพ่อแม่ และผู้ปกครอง ก็อดเป็นห่วงและสลดใจกับปรากฏการณ์แบบนี้

ยิ่งได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้อมูลจากอาจารย์อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่แสดงความเห็น เรื่องนี้ รวมไปถึง ข้อมูล จากศูนย์วิจัยและพัฒนาเพศศาสตร์ศึกษา สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ ก็จะยิ่งสลดใจมากขึ้น!

ทั้งนี้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ชัดว่า ปัญหาไนต์สแตนด์ มีมานาน ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเด็กวัยรุ่น ที่ผ่านมา มีการจับกุม เยาวชนหญิง ที่มีพฤติกรรม ส่อมาเตร็ดเตร่ ตามสถานบันเทิงแล้วกว่า ๑ หมื่นคน

อ.อมรวิชช์ นาครทรรพ กล่าวว่า "เรื่องนี้มีมานานแล้วและมีมากขึ้น เป็นลักษณะการไปเที่ยวสถานบันเทิงยามราตรี เมื่อฝ่ายหญิง ถูกใจชาย ก็จะเข้าไปชวนพูดคุย และพากันไป มีเพศสัมพันธ์ แม้จะเพิ่งรู้จักกันไม่นาน เป็นพฤติกรรมเลียนแบบต่างประเทศ" พร้อมกันนี้อาจารย์ อมรวิชช์ ยังแนะนำว่า การแก้เรื่องนี้ จะต้องเข้าใจปัญหา การแก้ปัญหาเด็กเป็นการปฏิรูปสังคม ต้องขวางประโยชน์ธุรกิจอบายมุข

ทำให้หลายๆ ฝ่ายต้องออกมาเรียกร้องให้นายกฯ นั่งหัวโต๊ะเป็นผู้นำ ในการแก้ปัญหาและชูปัญหาเด็ก เยาวชนเป็น วาระแห่งชาติ เหมือนอย่าง การปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด

เหตุที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องเช่นนี้ เพราะการแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน มีหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน จะต้อง มีผู้นำในการกำกับ และสั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน การปล่อยให้แต่ละกระทรวง แก้ปัญหา ตามลำพัง จะประสบความสำเร็จยาก

ขณะที่นายกฯ ยืนยันว่า "ตนมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้" พร้อมกับบอกว่า จะต้องไปวางแผนก่อนว่า จะแก้ปัญหาแบบไหน ใครเกี่ยวข้องบ้าง และจะแบ่งงานกันอย่างไร โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้านพื้นฐานมาแล้ว อีกไม่นาน จะเรียกประชุมอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า "หากตนนั่งเป็นประธานก็จะสำเร็จได้เร็วกว่า เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ซึ่งเป็นปัญหา ที่เรื้อรัง มานาน บนความเฉยเมย ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งตนจะต้องผลักดันให้เดินหน้าต่อไป" นี่คือคำตอบจากใจนายกฯ

อย่างไรก็ตามการชูประเด็นแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน เป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องดีและถูกต้อง แต่มิใช่ว่าจะเป็นแค่ทางออกทางเดียว เท่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกฝ่ายจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะจะต้องเริ่มกันตั้งแต่ บ้านหรือครอบครัว อันเป็น จุดเริ่มต้น หรือต้นตอแห่งปัญหา

เริ่มกันตั้งแต่ทัศนคติของคนในครอบครัว อาทิ พ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อกัน จัดแบ่งเวลาให้ถูกต้อง ผมเห็นด้วยกับ แนวคิดนายกฯ ที่ว่า

"ทุกครอบครัวจะต้องแบ่งเวลาให้ลูกและภรรยา" ซึ่งผู้เริ่มต้นจะต้องเป็น พ่อ หรือ แม่ ฐานะหัวหน้าครอบครัวต้องแบ่งเวลาให้เป็น และควรมี ปฏิสัมพันธ์ กับคนในครอบครัว ให้คำปรึกษาและให้สติกัน รวมทั้งยึดมั่นในจริยธรรม ศีลธรรมตามหลักศาสนาที่ แต่ละครอบครัว นับถือ

เมื่อครอบครัวแข็งแรง โอกาสติดเชื้อ(โรค)จากภายนอกก็จะยากขึ้น!.
(จาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๒๕-๒๗ ส.ค.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

จิ้มจุ่ม - กระทะเจ เมนูสวนกระแสตลาดปิ้งย่าง

ธุรกิจร้านอาหารจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับรสชาติของอาหารที่แต่ละร้าน จะมีสูตรเด็ดเคล็ดลับ ในการปรุง อาหาร ให้ถูกปาก เพื่อมัดใจลูกค้าให้ต้องแวะกลับมา รับประทานอีก

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การคิดค้นเมนูชูโรงจานใหม่ๆออกมาสร้างสีสัน เฉกเช่น นงลักษณ์ ศักดิ์พงศ์ เจ้าของ ร้านอาหาร "ป้าตุ๊เจ้าตำรับ" ที่กล้าครีเอตอาหารเพื่อสุขภาพในรูปแบบ จิ้มจุ่ม-กระทะเจ ออกมา ท่ามกลางวงล้อมของ ร้านจิ้มจุ่มหมู-เนื้อกระทะ ที่กำลังฮอตฮิต ติดลมอยู่ในขณะนี้

# พลิกแพลงเมนูใหม่เสริมรายได้
นงลักษณ์เปิดร้านอาหารมังสวิรัติเป็นของตัวเองในซอยโบสถ์พราหมณ์ แถวเสาชิงช้า แต่เธอก็ยังมาตั้งบูธขายอาหารมังสวิรัติ ภายใน บริเวณ "บ้านสวนไผ่สุขภาพ" ริมถนนพหลโยธิน โดยเมนูเด็ดที่ทางร้านนำเสนอคือ ยำผัก ๔ ธาตุ และก๋วยเตี๋ยวต้มยำผักพื้นบ้าน ซึ่งเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๓.๐๐ น. แต่สำหรับจิ้มจุ่ม-กระทะเจนี้เป็นเมนูใหม่ล่าสุดที่เธอคิดค้นสูตรขึ้นมา โดยได้แรง บันดาลใจ จาก บุฟเฟ่ต์จิ้มจุ่มหมู-เนื้อกระทะที่ปัจจุบันเปิดร้านขายกันอย่างแพร่หลาย แต่เธอนำมาดัดแปลงใหม่ด้วยการใช้ "เห็ด" เป็นวัตถุดิบหลัก ในการย่าง ทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ ทั้งนี้เธอตั้งใจจะขายจิ้มจุ่มมังสวิรัติเป็นเมนูเสริมในช่วงเย็นทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐-๑๙.๐๐ น. เพื่อรองรับกลุ่มคนรักสุขภาพที่แวะเวียนเข้ามาหาอาหารเย็นมื้อเบาๆ รับประทานกัน ในเบื้องต้น เธอลงทุนเพิ่มเติม ด้วยการซื้อ เตาไฟฟ้า จำนวน ๕ เตา ในราคาเตาละ ๔,๐๐๐ บาท เบ็ดเสร็จลงทุนทั้งสิ้น ๒๐,๐๐๐ บาท โดยเตาไฟฟ้านี้ มีความพิเศษตรงที่ มีทั้งหม้อน้ำซุป และกระทะย่าง อยู่ในเตาเดียว

# เห็ดครึ่งหนึ่ง ผักพื้นบ้านครึ่งหนึ่ง
เมนูมังสวิรัติถูกใจคนรักผักนี้ จะจำหน่ายเป็นชุด ชุดเล็กราคา ๑๕๐ บาท สำหรับทาน ๒-๓ คน และชุดใหญ่ ๓๐๐ บาท สำหรับทาน ๔-๕ คน ถ้าเทียบราคาต่อหัว จะตกคนละประมาณ ๕๐-๖๐ บาท โดยอาหารชุดหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ เห็ดสารพัดชนิด เป็นต้นว่า เห็ดเป๋าฮื้อหลวง โคนเห็ดหอม ลูกชิ้นเห็ดหอม เห็ดนางรมหลวง สำหรับย่างบนกระทะให้หอม แล้วจิ้มทานกับน้ำจิ้มสูตรเด็ด ๓ ขนาน ได้แก่ น้ำจิ้มข่า น้ำจิ้มซีฟูด และน้ำจิ้มสุกี้ อีกส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่แตกต่างของที่นี่ คือ การสรรหาผักพื้นบ้าน นานาชนิด มาให้ชาวมังสวิรัติ ได้เด็ดใบ ใส่หม้อน้ำซุป รับประทานกัน ไม่ว่าจะเป็นผักหวาน ใบตำลึงทอง ใบแมงลัก ใบโหระพา ผักชีฝรั่ง ฯลฯ

โดยผักพื้นบ้านที่คุณนงลักษณ์เลือกใช้เป็นวัตถุดิบหลัก มีจุดเด่นตรงที่เป็นผักตามฤดูกาลที่สำคัญปลอดภัยจากสารเคมี เพราะปลูก ด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งส่งตรงจาก จ.กาญจนบุรี สระบุรี และนครปฐม ส่วนบรรดาเห็ดนานาชนิดจะส่งมาจาก จ.เชียงใหม่ ก่อนเธอ จะนำไปปรุงเป็นอาหารมังสวิรัติ ที่มีรสชาติอร่อยเอร็ด ชนิดไม่ต้องพึ่งพาสารปรุงแต่งใดๆ อย่างน้ำซุปจะมีรสหวาน ตามธรรมชาติ อันเกิดจาก การต้มข้าวโพด และเห็ด ๓ อย่างรวมกัน

# ทำเลตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
ตอนแรก นงลักษณ์ตั้งใจจะประเดิมขายจิ้มจุ่ม-กระทะเจ ที่ร้านอาหารของเธอเอง แต่เนื่องจากตัวร้าน มีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด เธอจึงเปลี่ยน ความตั้งใจ หันมา ขายที่บ้านสวนไผ่สุขภาพ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นร้านอาหารมังสวิรัติกลางกรุง ที่มีอาหารสุขภาพ จำหน่าย หลากหลาย รายการ นอกจากนี้บรรยากาศโดยรวม ยังร่มรื่นน่านั่ง แถมมีที่จอดรถพร้อม จึงมีผู้คนแวะเวียนมาหาเมนูมังสวิรัติรับปประทานกัน เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน และข้าราชการที่ทำงาน อยู่ในละแวกนั้น รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มารับประทานอาหาร ที่นี่กันเป็นประจำ ในช่วง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยมีที่นั่งรองรับราว ๑๐๐ ที่ได้

เท่ากับว่าเธอไม่ต้องเหนื่อยแรงกับการทำประชาสัมพันธ์เมนูใหม่อย่างจิ้มจุ่ม-กระทะเจมากนัก เพราะทุกๆคนที่เดินทางมาที่นี่ ต่างมีจุด มุ่งหมายเดียวกัน คือมาเพื่อหาอาหารมังสวิรัติ รับประทาน

# สร้างเครือข่าย ขยายตลาดสุขภาพ
เมนูสุขภาพนี้เริ่มนำเสนอแก่ชาวมังสวิรัติตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา แม้ช่วงแรกจะขายๆหยุดๆ เนื่องจากทุกอย่าง ยังไม่เข้าที่ เข้าทางดี แต่วันไหนที่เปิดร้านขาย ก็จะมีลูกค้าขาประจำ แวะเวียนมาลิ้มลอง วันละไม่ต่ำกว่า ๒ เตา และเนื่องจาก เตาไฟฟ้า มีจำนวน จำกัด แค่ ๕ เตา ถ้าลูกค้าคนไหนสนใจ อยากจะชิมจิ้มจุ่มมังสวิรัติ คุณนงลักษณ์แนะนำ ให้โทร.จองล่วงหน้า ที่เบอร์ ๐-๖๕๑๐-๙๗๒๖ หรือ ๐-๒๖๑๕-๑๕๘๓

สำหรับจิ้มจุ่ม-กระทะเจนี้ เธอบอกว่าไม่หวง หากใครคิดนำไอเดียไปขยายทำตลาดเพิ่มเติม ทั้งยังไม่ถือว่าเป็นคู่แข่ง ในตลาด แต่มองว่า เป็นผู้ร่วมสนับสนุน ให้ตลาดอาหารสุขภาพ เติบโตมากกว่า.

(จาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๒๕-๒๗ ส.ค.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,600 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]

อ่านฉบับย้อนหลัง: