580216_พระนิสิต มจร. ( มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
มาเยือนราชธานีอโศก

คณาจารย์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขต จ.อุบลราชธานี นำโดย พระอาจารย์ ดร.ปัญญา เขมวีโร พร้อมพระนิสิต ร่วมกว่า ๖๗ รูป มาเยือน ราชธานีอโศก พร้อมสนทนากับ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น.

คุณดินดอน ขึ้นต้นแนะนำว่า ราชธานีอโศก เป็นชุมชนที่จน เป็นอันดับ ๕ ในจ.อุบลฯ

คำว่าจน คำนี้เป็นความลึกซึ้ง ซับซ้อนมาก คำว่าจนคำนี้ ไม่ได้หมายถึง จนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก ขี้เกียจ ไร้สามารถ สุรุ่ยสุร่าย ทำผิดพลาด แล้วเป็นคนจน ถ้าเผื่อว่า คนที่มีความรู้ มีความสามารถ ขยันหมั่นเพียร ขยันแล้วไม่เก็บ ไม่สะสม อปจยะ ตามคำสอนพระพุทธเจ้า มีการเกื้อกูลสงเคราะห์ สังคหะ ออกไปช่วย ผู้อื่นจริงๆ ตนเองเป็นคน ไม่สะสมแล้ว มีเพียงพอกินใช้สอย แล้วมั่นใจใน ความรู้ ความสามารถของตน กับความขยัน เป็นทรัพย์อย่างยิ่งในตน ที่โจรมาปล้นไม่ได้ แล้วทำงานทุกวัน ก็พึ่งกินใช้ ในแรงงานของตน ทุกวัน อาจมีสะสม เป็นรองรัง เผื่อป่วยเจ็บ เล็กๆน้อยๆ ไม่ติดใจสะสมมาก ยิ่งอย่างชุมชน ชาวอโศกทุกแห่ง ปฏิบัติตามหลัก ธรรมพระพุทธเจ้า คือ ลาภธัมมิกา มีลาภโดยธรรม ก็เอามารวม เป็นสาธารณโภคี ก็ยืนยันชัดเจนว่า การมีสาธารณโภคี มีของส่วนกลาง แบ่งกินแบ่งใช้กับ ของกองกลาง สาธารณโภคี ก็ไม่ต้อง สะสมเงินทอง ทรัพศฤงคาร ของตนเองเลย เป็นอนาคาริกชน เป็นคนจน อันดับหนึ่ง ของโลกเลย หมู่บ้านนี้ เป็นหมู่บ้านคนจน อันดับหนึ่ง ของโลกเลย

คือทุกคนที่มานี่ เป็นคนกล้าจน อัปปิจฉะ ผมแปลเช่นนี้ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวอด เรามั่นใจในความรู้ ความสามารถ และความขยัน อันเป็นทรัพย์ของเรา ก็อยู่ได้ อาจบกพร่อง ป่วยเจ็บบางครั้ง ก็พึ่งพา สาธารณโภคี พึ่งแก่ เจ็บตายกันได้ เป็นชุมชน ที่มีคนจนมาก หรือมีคนจนทั้งสิ้น อาจมีทรัพย์สิน ส่วนตนพออาศัย ไม่ได้ติดยึด จริงๆแล้ว เอาทรัพย์มารวมกับของกลาง แล้วกองกลาง ก็ไม่สะสม สะพัดไปสู่สังคมอีก
 มีวรรณะ ๙.....
๑.     เลี้ยงง่าย  (สุภระ)
๒.     บำรุงง่าย, ปรับให้เจริญได้ง่าย  (สุโปสะ)
๓.     มักน้อย, กล้าจน (อัปปิจฉะ) . . 
๔.     ใจพอ สันโดษ (สันตุฏฐิ)
๕.     ขัดเกลากิเลส (สัลเลขะ)
๖.     เพ่งทำลายกิเลส  มีศีลสูงอยู่ปกติ (ธูตะ, ธุดงค์)
๗.     มีอาการน่าเลื่อมใส (ปาสาทิกะ) 
๘.     ไม่สะสม ไม่กักเก็บออม (อปจยะ) ตรงข้าม อวรรณะ๙ 
๙.     ขยันเสมอ, ระดมความเพียร (วิริยารัมภะ)

จึงเป็นสังคมที่ปฏิบัติตามแนวทาง ของพระพุทธเจ้า ที่มีผลสำเร็จจริง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในสาราณียธรรม ๖ นี่ มีเมตตา กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม แล้วมีลาภโดยธรรม เอามารวมกัน เป็นสาธารณโภคี แล้วมี ศีลสามัญตา ทิฏฐิสามัญตา ๖ หลักนี้ เป็นธรรมะที่ยืนยันได้ในสังคม ที่มี มโนบุพพังคมา ธัมมา มีจิตที่มีคุณธรรม ตามพุทธพจน์ ๗ ….
๑.     สาราณียะ (รู้จักระลึกถึงกัน คำนึงถึงคนที่ควรเอื้อ)
๒.     ปิยกรณะ (รักกันสัมพันธ์ดี-ปรารถนาดีต่อกัน) .
๓.     ครุกรณะ (เคารพกัน รู้จักฐานะ รู้จักคุณวุฒิ)
๔.     สังคหะ (สงเคราะห์เกื้อกูลช่วยเหลือกัน) . . .
๕.     อวิวาทะ (ไม่วิวาทแตกแยกกัน) .
๖.     สามัคคียะ (พร้อมเพรียงกัน มีพลังรวมยิ่งใหญ่) .
๗.     เอกีภาวะ (เป็นปึกแผ่น มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)

ไม่ใช่ว่า ปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ต้องคิดถึงใคร ไม่เกี่ยวกับใคร ไม่ใช่เลย แต่ว่าธรรมะพระพุทธเจ้า มีต้น กลาง ปลาย มีความลาดลุ่ม เหมือนฝั่งทะเลย ไม่ใช่ไปนั่งปฏิบัติหลับตา แบบทฤษฎีโบราณ ไม่ได้มีมรรคผล ของพุทธเลย ธรรมะที่ทำแล้ว จึงไม่เกิดผล ตามที่พระพุทธเจ้าสอน กลายเป็นเรื่อง ออกนอกรีต นอกทาง เหมือนกลองอานกะ ที่เนื้อแท้นั้น ถูกปฏิรูปไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อพุทธ แต่เนื้อแท้ ไม่ได้เป็นพุทธเลย ให้ตรวจสอบ ตามคำสอน พระพุทธเจ้า ก็ไม่ลงตัว

ผมพาทำมานี่ ตรวจสอบก็ตรงตาม พระพุทธเจ้าสอน ที่มาทำแบบคนจนนี่ ในหลวงท่าน ก็ให้หลักไว้ ว่าให้ทำแบบคนจน ในหลวงเรานี่ มีพระราชปรีชาญาณ ระดับพระโพธิสัตว์ มีพลังอำนาจโดยธรรม ไม่เป็นโลกาธิปไตย หรือ อัตตาธิปไตย แต่เป็นธรรมาธิปไตย พวกเราก็ทำได้ ก็เอามาเผยแพร ่ประกาศออกไป ก็ได้มีคนเข้าใจ คนรู้สึกว่า มันใช่ มันถูกต้องก็มีอยู่ ก็ได้เท่าที่ได้ คือศาสนาพระพุทธเจ้า ไม่ใช้วิธีการ โฆษณาหลอกลวง อย่างโลกเขาทำ แต่มีอะไรก็แสดงให้เขารับรู้ ให้เขาใช้ปัญญา ตัดสินเอง เป็นอิสรเสรีภาพ

นอกจากสิ่งที่ไม่ดี ก็ต้องข่ม นิคคัณเห นิคคหารหัง สิ่งดีก็ควรยก ปัคคัณเห ปัคคหารหัง ซึ่งความไม่ดีนี่ ต้องรีบบอกรีบเตือน ให้สติกัน แต่พูดสิ่งไม่ดี ก็กระทบเขา เขาก็โกรธ ที่โกรธเพราะ ตนเอง มีความไม่ถูกต้องในตน ก็เลยยึดตัวตน มีอัตตามานะ โกรธไม่ชอบใจ แล้วตนเอง ก็อวิชชาด้วย คนเขามาว่า เราไม่ดี แล้วเราก็ไม่ดีจริงๆด้วย ก็จะไปโกรธเขาได้อย่างไร ตนเองควรจะขอบคุณเขา ด้วยซ้ำ แต่เขาไม่มีความรู้เช่นนี้ ก็เป็นธรรมดา

ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะขัดเกลาใจ ปฏิโสตัง ไม่ได้บำเรอกิเลส เป็นเช่นนั้น จริง ผู้ที่ตำหนิ ให้ผู้อื่นดื่มได้ จึงเป็นปิยวาจา เพราะเก่งที่สามารถตำหนิ ให้คนอื่นดื่มได้ ต้องมีศิลปะ ที่จะตำหนิ ผู้สามารถเช่นนั้น ถือว่ามีปิยวาจา ทำคำพูดคำสอน ให้คนอื่นฟังแล้ว เขาชอบใจ เกิดรักด้วยซ้ำไป ผู้นั้นจึงเป็น ผู้ธัมมกถึก เป็นผู้เผยแพร่ธรรม ประกาศธรรม เป็นพระธัมกถึกที่ดี

เวลาอันจำกัดก็คิดว่า ผมได้พูดเป้าหลัก เนื้อแท้ของศาสนาพุทธ จุดนี้มีก็ได้พูดไป ไม่ได้มีเวลาพูด ในภาคปรมัตถ์ ถ้าท่านมีอะไรที่จะซักถาม เท่าที่มีเวลา ก็เชิญ

ต่อไปเป็นการตอบประเด็นหรือคำถาม?

- เคยพบพ่อท่าน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ เคยไปพบครั้งแรก ที่คลองกุ่ม ไปกับท่านอ.ธรรมชาติ ท่านเป็นผู้พา อาตมาบวช ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ก็ยังเหมือนเก่า ไม่ดูแก่เลย … อาตมามาอยู่อีสาน ปีนี้ปีที่ ๒๕ บวชมา ๓๐ ปี ที่พ่อท่าน กล่าวถึงหลัก สาธารณโภคี ถ้าใครนำไปปฏิบัติ จะทำให้สังคม อยู่เย็นเป็นสุข อยากทราบว่า พ่อท่าน จะมีนโยบายอย่างไร ที่จะให้หลักนี้ แพร่ขยาย ให้มีผลสำเร็จที่สุด?

ตอบ... ถามสิ่งที่ผมเองก็ได้ทำ ตามที่ท่านว่าอยู่ คือพยายามเผยแพร่บอกกล่าว ให้ได้มากได้เร็ว มีมโนสัญเจตนา เช่นนี้ ให้ได้ดีถูกต้องตรง ก็ทำสุดที่ ไม่ได้ออมมือ ก็ตอบได้ว่า ทำอย่างที่ผม พาทำมาตลอด คือความสามารถ ทำเต็มที่แล้ว ทำตามหลัก มหาปเทส ๔ สัปปุริสธรรม ๗ เท่าที่เราจะไปร่วมกับ สังคมได้ ทำตัวของเรา ทำคุณอันสมควรแก่ตนก่อน จึงไม่มัวหมอง เราก็ประมาณ มัตตัญญุตา ตามที่เราจะทำได้ ผมทำมา ๔๐ ย่างเข้า ๕๐ ปีแล้ว ก็เห็นผลตามลำดับ ถามว่าทำอย่างไร ก็ทำอย่างใช้ สัปปุริสธรรม ๗ กับ มหาปเทส ๔

- พ่อท่านได้นำหลักธรรม อปจยะ และวิริยารัมภะ ในการขับเคลื่อนองค์กรให้สำเร็จ สองหลักนี้ พ่อท่านอธิบายต่อ

ตอบ..คำว่า อปจยะ และวิริยรัมภะ คนเราหากมีความขยันหมั่นเพียร ก็สร้างสรรไปได้ มีอยู่มีกิน เหลือกินได้ มีเด็กเขาถามผมว่า คนขอทาน ทำไมเขาขอทาน ผมก็ตอบเปรี้ยงให้ว่า ที่เขาต้องขอทาน เพราะขี้เกียจ แม้คนพิการเหลือเท้านิดเดียว เขาก็ทำอยู่ทำกิน สร้างสรรได้ คนเป็นอัมพฤกษ์  เขาก็ยังพยายาม ก็เหลือกิน เหลือใช้ แค่คนขี้เกียจ อย่างเดียวนี่แหละ ก็เลยไปขอทาน แม้ร่างกายครบ ๓๒ ก็ไปขอทาน ดีไม่ดี มันไปปล้นจี้ด้วย เลวกว่าขอทาน หากเรารู้จักเพียร จะรู้สัมมา กัมมันตะ อาชีวะ หรือสัมมาวาจา เราก็เลิกละ มิจฉาอาชีวะ ๕ ปฏิบัติเลิก กุหนา ลปนา เนมิตตกตา จนสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็ลดละ กินน้อยใช้น้อย มักน้อย กล้าจนเพิ่มขึ้น ใช้ให้น้อยทำให้มาก ไม่สะสม เป็นสาธารณโภคี จึงเข้าหลัก คนจนมหัศจรรย์ เป็นการพิสูจน์ ยืนยันว่า สังคมเรา เป็นสังคมคนจน แต่เขาก็มาเห็นว่า มีอะไรใหญ่โตมากมาย เกินกว่าเขา ทั้งที่สร้างหมู่บ้านมา ไม่นานกว่าเขา เป็นเรื่องยืนยันว่า ของส่วนกลางมีมาก แต่ของส่วนตัว เขามีไม่มาก ผมเคยบอกว่า หมู่บ้านเรา หมู่บ้านคนจน หมู่บ้านคุณ เป็นหมู่บ้านคนรวย เขาก็ไม่เชื่อ ผมก็ว่า เอาอย่างนี้เลย ควักเงินหรือทรัพย์สมบัติ ออกมาจากตัวเลย แต่ละคน ของเรามีน้อยกว่า พวกคุณแน่ อันนี้คือสัจจะ ของคนที่ได้ฝึกฝน ตามพระพุทธเจ้าสอน จะเป็นคนจนได้จริง ไม่สะสม ทำมากเหลือเผื่อแผ่สังคม

- พ่อท่านตั้งหมู่บ้าน ราชธานีอโศก มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายอย่างไร?

ตอบ...คือ ผมรู้เท่าที่รู้ตามภูมิว่า คนมันต้องอยู่กันเป็นโขลง ต้องอยู่ร่วมกัน และก็รู้ว่า ศาสนาพุทธ ไม่ได้มีความรู้อะไร เก่งเท่ากับ รู้เรื่องมนุษย์กับสังคม พระพุทธเจ้า ท่านศึกษาอื่นๆ แต่ท่านเห็น ความสำคัญว่า ในชีวิตของท่าน จะทำงานอย่างเดียว คือสอนมนุษย์ กับสร้างสังคม ท่านทิ้งความสามารถอื่นๆ ท่านมาเอางานสร้างมนุษย์ เป็นคนดี แล้วมาเป็นสังคมดี รวมกันอยู่ ท่านเป็นพระพุทธเจ้า องค์ปลาย ในภัทรกัปป์ จึงแสดงอย่าง หมดเนื้อหมดตัว ให้เป็นความมักน้อย สันโดษ อย่างชัดเจนที่สุด ผมเอง ก็เข้าใจความหมาย ของท่านที่ทำ ผมก็จึงทำเหมือนอย่างท่าน ผมเห็นว่ายุคนี้ เป็นยุคปัญญาชน แสวงหาได้มาก เป็นยุคที่ไม่มีอะไรปิดกั้น การสื่อสาร คมนาคม สะดวกมาก ต่อไป จะเปิดหมดทั้งโลก การเปิดหมดนี่ เป็นปัญญาของ มนุษย์โลกยุคนี้ ที่เห็นว่า ทุกคนต้องเผื่อแผ่ เกื้อกูล ช่วยเหลือกัน เขาเห็นจริงเลย เขาเข้าใจแล้ว ลึกๆเขายังทำไม่ได้ ไม่รู้ละเอียด แต่เขารู้แล้วว่า ต้องการเช่นนี้ ผมเอง ก็ไม่เจตนาทีเดียวว่า สังคมต้องกลายเป็น สาธารณโภคีเช่นนี้ มาสร้างราชธานีอโศก มีคนบริจาคที่ให้ ผมก็ทำ มีคนบริจาคเนื้อที่ให้ ก็ทำเป็น หมู่บ้านชุมชนก็ทำ ที่จริงเรามี หมู่บ้านแรก ที่ปฐมอโศก ที่เป็นชุมชน สาธารณโภคี ชุมชนแรกแล้ว เราได้ฝึกฝนมา แล้วทำอีกหลายชุมชน ทุกชุมชนเป็น สาธารณโภคีเอง ตามจิตที่เป็นประธาน ทุกชุมชน

มาอยู่ที่ราชธานีอโศก ตอนแรก ก็ไม่ได้คิดว่า จะเป็นสาธารณโภคี ก็ให้จองที่อยู่ ทุกคนก็ตั้งหลักมาว่า เราจะไม่โลภมาก ไม่เอาเปรียบ เราจะมาทำ สัมมาอาชีวะ กัมมันตะ อย่างที่พระพุทธเจ้าพาทำ แล้วแต่ละคนที่มา ก็จะทำงาน ทำน้ำดื่ม ทำโรงเห็ด ทำงานของแต่ละคน ที่มีแนวคิด อยู่อย่าง มีศีลมีธรรม เป็นชุมชนศีล ๕ ไม่มีอบายมุข แต่พอทำไปทำมา ไม่ได้เลย ต้องมาเป็นสาธารณโภคี ทำอะไรขาย ก็ไปไม่ค่อยได้ แต่สรุปแล้ว จิตมันเป็นสาธารณโภคีด้วย เหตุปัจจัย ไม่เอื้อด้วย สุดท้าย ต้องมาเป็น สาธารณโภคี

สาธารณโภคีในยุคพระพุทธเจ้า ทำได้แต่ในวงการสงฆ์ เพราะเป็นยุคทาส เป็นสมบูรณาญาสิทธิราช ทำให้ ในวงฆราวาส ทำไม่ได้ แต่ในยุคนี้ เป็นยุคอิสรเสรีภาพ ทำได้ ในวงการฆราวาสได้ด้วย

- ท่านพระสิทธิศักดิ์ บอกว่า ระบบการปกครองที่นี่ ทางการเมือง เป็นอย่างไร และการเลือกตั้ง สมาชิกสภา ที่นี่มีส่วนร่วมไหม?

ตอบ...การปกครอง นี่พระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ปกครองบริหาร คำว่าปกครองบริหาร คืองานการเมือง ศาสนาพุทธ ไม่ได้แยกการเมือง ออกจากศาสนาเลย แต่ว่าเพราะเล่ห์กล ของนักการเมือง ที่ได้แยกศาสนา ออกจากการเมือง เขาจะได้ทำชั่วได้ง่าย แล้วทางศาสนาธรรมะ ก็จำนนด้วยว่า จะไม่เข้าไปร่วมการเมือง การเมืองก็เลยทำ อกุศลทุจริต ได้เต็มที่เลย นี่คือ นักการศาสนา ถูกนักการเมืองหลอก

งานการเมืองก็คือ งานทำเพื่อบ้าน เพื่อเมือง เพื่อประชาชน อะไรที่เหมาะสม จะไปร่วมก็ไป อะไรไม่สมควร ก็ไม่ไปร่วม

- ตลาดอาริยะ ความหมายและหลักการปฏิบัติ

ตอบ... ของเราใช้คำว่า อาริยะ คำนี้มาจากคำของ พระศรีอาริยเมตตรัย ที่เป็นตำแหน่งของ พระพุทธเจ้า องค์ถัดไป เป็นชื่อตำแหน่ง จะมีอยู่ตลอดกาลนาน จะเป็นชื่อพระพุทธเจ้า องค์ข้างหน้า ผมก็เอาคำว่า อาริยะ นี้มาใช้ ถ้าเข้าใจไม่ได้ ก็ใช้ไม่เป็น คำว่าอารยะ และคำว่าอริยะ ก็เพี้ยนไปหมดแล้ว ก็เลยต้องมาใช้คำว่า อาริยะ ใช้อำนาจทาง ธรรมาธิปไตย โดยประสมส่วน ระหว่าง โลกและอัตตา อย่างเหมาะสม

ตลาดอาริยะ เป็นการขาย จึงต้องขายอย่างอาริยะ อาริยะคือผู้ที่ ขาดทุนของเรา คือกำไรของเรา ทำอย่าง เสียสละ อย่างในหลวงตรัส เราก็ทำตลาดอาริยะ เป็นครั้งคราว แต่ว่าชีวิตประจำ เราก็ทำแบบขาดทุน คือกำไรอยู่ตลอด สมมุติ ค่าแรงเรามี ๕๐๐ เราก็เสียสละ ให้สังคมไป ๓๐๐ เรากินใช้แค่ ๒๐๐ นั่นคือ ขาดทุนของเรา คือกำไรของเรา คือกุศลแท้ เราเสียสละแท้

- แต่ละปีรายได้ราชธานีอโศก มีรายได้เท่าไหร่

ตอบ... จริงๆเราอยากให้มาตรวจสอบ เรามีรายได้น้อย และไม่มีความซับซ้อนไม่มาก ไม่มีเหลี่ยมโกง เราจริงใจ สรุปคำถามมา ก็ตอบไปว่า ปีละเท่าไหร่นี้ ตอนนี้ เรายากที่จะตอบ เพราะว่า เราอยู่ในขั้น กำลังก่อร่าง สร้างตัว เราพึ่งคนอื่นมาก คืออโศกจะไม่เรี่ยไร คนที่ไม่ได้มาเป็นสมาชิก ฆราวาส ถ้าจะมาบริจาค ถ้าไม่ได้มาศึกษา กับพวกเราครบ ๗ ครั้ง ก็ไม่รับเงินบริจาค เราก็เลยได้รับเงิน เกื้อกูล จากพี่ๆน้องๆ พวกเรา เราไม่รับจากภายนอก ไม่มีดอกเบี้ย เรามีเงินเกื้อ ไม่มีดอกเบี้ย เอาชาวอโศก ที่มีรายรับ รายจ่าย ชัดเจน ก็ต้องไปดูที่ปฐมอโศก ที่ลงตัวแล้ว ในรายรับรายจ่าย แต่ที่ราชธานีอโศกนี่ เงินไหลออกมาก เพราะกำลัง ก่อร่างสร้างตัว แต่เป็นระบบ ที่น่าศึกษามาก เป็นเศรษฐศาสตร์ ที่น่าศึกษามาก จะเป็นหลักของ คาร์ล มากซ์ ก็สู้ของพระพุทธเจ้าไม่ได้ ของพระพุทธเจ้านี่ มหาอภิสังคมนิยม จนไม่มีตัวตน ทำเพื่อสังคม