FMTV โทรทัศน์เพื่อมนุษยชาติ
560310_รายการวิถีอาริยธรรม โดยพ่อครูและส.ฟ้าไท
เรื่อง
อภิสังขารที่ผ่านวิโมกข์จะต้องมีผัสสะอยู่

ส.ฟ้าไทเปิดรายการที่เฮือนศูนย์ฯ ราชธานีอโศก

บ้านราชฯ เป็นชุมชนที่จะจัดงานตลาดอาริยะ ในวันที่ ๑๓-๑๕ เม.ย. ๕๖ จัดเพื่อให้ประชาชน ได้ซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ในราคาถูก วันนี้พ่อครู คงจะได้ตอบกับคุณ 8705 อีก ที่ได้ช่วยส่งประเด็น มาให้เราได้ศึกษาเพิ่มเติม

 

พ่อครู... ที่ผ่านมา ได้พูดเรื่องสังขารมาก เพราะสำคัญ ในสังขาร ๓ มี กายสังขาร จิตสังขาร วจีสังขาร

คนจะรู้จักวจีสังขารได้ โดยไม่ใช่เดาหรือใช้ตรรกะ คนต้องมีญาณอ่านรู้ จิตภายใน เพราะวจีสังขาร ไม่ใช่ตัวกาย มีแต่จิตอย่างเดียว คำว่าจิตสังขาร คือการปรุงของจิต ซึ่งโดยสามัญสำนึก ก็คือการปรุงแต่งในจิต ไม่เกี่ยวกับกาย แต่คำว่า วจีสังขาร นั้นเดาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของ จิตโดยตรง แล้วจะต้องรู้ว่า มันเกิดวจีอย่างไร (เป็นคำพูด แล้วแต่ภาษาของเรา เป็นภาษาไหน) ถ้าไม่สัมมาทิฏฐิ จะรู้ปน รวมๆ แตกไม่ออก แยกไม่ออก ปนมั่วๆกันไป ต่อไปก็จะอ่าน ของคุณ 8705 ดังนี้

0888705xxx ต่อไป..เป็นบทธรรมที่ปรับปรุงขยาย ให้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม (เมื่อศุกร์8มี.ค.) ..โดยหวังที่สุด แม้เป็นเพียงแสงอาทิตย์อุทัย ที่ราชธานีอโศก ก็พอ! ธรรมดาว่า ก่อนที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ จะตั้งปณิธานเป็นโพธิสัตว์ได้นั้น.. จักต้องได้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสียก่อน.. ถึงจะตั้งพระหทัย ปราถนาที่จะพาสัตว์ทั้งหลาย ให้พ้นทุกข์ ไปพร้อมด้วยกับพระองค์ได้! ซึ่งในขณะที่ทรงเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ถ้ากำลังความเพียร มีมากพอที่จะ ประคองสมาธิ ให้ตั้งมั่นอยู่ได้ละก็ (พ่อครูว่า สมาธิที่พ่อครูเข้าใจ คือการตกผลึกของจิต ที่สั่งสมมา แต่ไม่ใช่ประคอง แต่เป็นการสะสม ในคลังของเราเลย) ..(จิต)สังขารของโพธิสัตว์นั้น ย่อมจะไม่ดับ! และเรียกสภาวะนี้ว่า ตทังควิมุต! แต่ถ้าหากว่า ระหว่างที่ทรงกำลังเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่นั้น ถ้ากำลังความเพียร มีไม่พอ หรือไม่เสมอ=สมาธิแล้ว.. ก็จะไม่สามารถ ประคองสมาธิ(จิต) ให้ตั้งมั่นอยู่ได้ และเมื่อนั้น (จิต)สังขารของ โพธิสัตว์นั้นย่อมดับ! และเรียกสภาวะนี้ว่า วิขัมภะวิมุต! ซึ่งเมื่อ(จิต)สังขารดับ.. จะส่งผลให้ วิญญาณ(6) ย่อมดับ! ซึ่งเปรียบ(จิต)สังขาร เหมือนดั่งคัตเอ้าท์! ส่วนวิญญาณ(6) เปรียบเหมือน ดวงไฟ6ดวง คือจักษุวิญญาณ, โสตะวิญญาณ, ฆานะวิญญาณ, ชิวหาวิญญาณ, กายะวิญญาณ. มโนวิญญาณ ซึ่งเมื่อ(จิต)สังขารดับ ก็เปรียบเหมือนกับ การเอาคัตเอ้าท์ลง! (โดยอัตโนมัต).. และเมื่อนั้น.. ดวงไฟทั้ง6ดวง (=วิญญาณ6) ย่อมดับพรึบพร้อมกัน! แต่ก่อนที่วิญญาณ(6) จะดับนั้น.. จะมีญาณบอกให้รู้ว่า จะพ้นทุกข์แล้วนะ! และต่อด้วยวิญญาณ(6)นั้น.. ก็ดับลงทันที! จากนั้นสักพักใหญ่.. คัตเอ้าท์ก็จะเด้งขึ้นเอง โดยอัตโนมัต! คือหมายถึงว่า (จิต)สังขาร เริ่มเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง! และเมื่อนั้น.. ย่อมส่งผลให้ดวงไฟ ทั้ง6ดวง.. สว่างขึ้นพร้อมกัน! คือหมายถึงว่า วิญญาณ(6)นั้น.. ย่อมเกิดขึ้นใหม่ ฉับพลันนั้นเอง! และนี่แหละ=ตั้งปัญหา ให้โพธิสัตว์ ถามกับตนเองว่า เมื่อใดที่(จิต)สังขารดับ.. เมื่อนั้นวิญญาณ(6 )ย่อมดับ.. แต่แล้วเพราะเหตุใดฤาหนอ.. (จิต)สังขาร ถึงเกิดขึ้นใหม่ได้อีก? (=เพราะเหตุใด.. คัตเอ้าท์ถึงเด้งขึ้นเองได้?) ซึ่งที่โพธิสัตว์ ต้องการไขปริศนานี้.. ก็เพราะระลึกถึงว่า ตอนที่วิญญาณ(6) จะดับนั้น.. มีญาณบอกให้รู้ก่อน ว่าจะพ้นทุกข์แล้ว! ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ขณะที่วิญญาณ(6) ดับอยู่นั้น.. ย่อมไม่มีทุกข์นั่นเอง! แต่แล้วเมื่อ (จิต)สังขารเกิดขึ้น.. วิญญาณ(6) ถึงได้เกิดขึ้นตาม ซึ่ง=แสดงว่า เพราะสังขาร เป็นปัจจัย.. จึงเกิดวิญญาณได้ และย่อมตามมาด้วย กองทุกข์ทั้งมวล ฉะนั้นแล้ว เพื่อที่จะพ้นทุกข์ ถาวรเด็ดขาดได้.. โพธิสัตว์จึงจำต้อง รู้ให้ได้ว่า เพราะอะไรหนอ เป็นปัจจัย.. ถึงเกิด(จิต)สังขารขึ้นได้? ซึ่งโพธิสัตว์ทุกองค์ จะติดแหง๊กอยู่ที่ ปัญหานี้! เพราะไม่สามารถ จะไขให้กระจ่างได้ และแม้พระสมณะโคดมเอง ก่อนที่จะทรงตรัสรู้.. ก็ทรงมืด8ด้าน ติดอยู่ที่ปัญหานี้ เหมือนกัน จนเมื่อได้ตรัสรู้ อริยสัจจ์4แล้ว.. ถึงได้รู้ว่า เพราะความไม่รู้ อริยสัจจ์4นี้เอง.. ที่เป็นปัจจัยให้ (จิต)สังขารเกิดขึ้นได้ จึงทรงเรียก ความไม่รู้ อริยสัจจ์4 นี้ว่า..อวิชา (=มอเตอร์ไฟฟ้า)! กล่าวเสียใหม่ว่า เพราะอวิชา เป็นปัจจัย.. สังขาร(3) จึงเกิดขึ้นได้! และหลังจากที่ทรงได้ตรัสรู้ เป็นพระตถาคต อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าแล้ว.. สังขาร3 (=ความคิดนึก ปรุงแต่งทั้ง3) อันได้แก่ ปุญญาภิสังขาร, อปุญญาภิสังขาร, อเนญชาภิสังขาร ทั้ง3นี้ จึงดับหมดไม่เหลือ! โดยทรงไว้แต่พระญาณ เท่านั้น ซึ่งพระญาณของพระองค์ ในที่นี้ก็หมายถึง พระสัพพัญญุตญาณ นั่นเอง ฉะนั้น จึงขอให้พธร. โปรดจำไว้ว่า ปฏิจสมุปปาทนั้น ย่อมมาทีหลัง อริยสัจจ์4แน่นอน! และซึ่งปฏิจสมุปปาทนี้ พระองค์ได้ทรงทบทวน ขณะที่ทรงเสวย วิมุติสุขอยู่ถึง49วัน หลังจากที่ทรงตรัสรู้ เป็นพุทธเจ้าแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อ จะได้หาวิธี จำแนกแจกธรรม อันเป็นปรมัตถ์ ที่ยุ่งยากซับซ้อนนั้น.. โดยต้องทรงบัญญัตขึ้น ให้เป็นสมมุตภาษา ที่ง่ายที่สุด ต่อการทำความเข้าใจ ของพุทธบริษัทด้วย! และซึ่งธรรมของพระองค์นั้น ย่อมแบ่งเป็นทั้ง โลกียธรรม อันเหมาะกับฆราวาส และโลกุตรธรรม อันเหมาะแก่บรรพชิต อีกทั้งยังต้องคำนึงถึง ความเหมาะสม แก่ผู้ฟัง ที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ และผู้ฟังที่ อินทรีย์แก่กล้าด้วย และซึ่งธรรม บางบทนั้น.. ยังมีไว้เพื่อสอนแก่ พระเสขะโดยเฉพาะก็มี! เช่น ปฏิจสมุปปาท และมหาจัตตารีกสูตร เป็นต้น โดยมหาจัตตารีกสูตรนั้น.. กล่าวถึงเฉพาะ สัมมาสมาธิ ของอริยะ (หรือของผู้ที่ได้เห็น อริยสัจ4แล้ว) โดยทรงสอนอริยะ เพื่อให้เจริญอริยมรรค!. ด้วยวิธีให้ประกอบ สัมมาสมาธิขึ้น ด้วยองค์7 ..ก็จักสามารถ ให้อริยะนั้น ได้บรรลุมรรคผล ที่สูงยิ่งขึ้นไปได้ แต่ซึ่งปุถุชน ยังมีกำลังปัญญา สัมมาทิฐิ ไม่พอที่จะเข้าใจ หรือนำพระสูตรบทนี้ ไปใช้จริงได้ เพราะว่าปุถุชน มีสัมมาทิฐิ แค่ขั้นกัลยาณชน.. ยังไม่ถึงขั้น เห็นอริยสัจ4เลย! (=ขั้นเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค).. แล้วจะสามารถ เอาไปใช้อย่างไรได้! ทั้งนี้เพราะสัมมาทิฐิ ในมหาจัตตารีกสูตรนั้น.. ก็ได้บังคับ เอาไว้แล้วว่า จักต้องถึงขั้นเห็น ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค แล้วเท่านั้น มิฉะนั้น จะไม่สามารถนำไป เป็นต้นทาง เพื่อประกอบ ให้ครบองค์7 แล้วเป็นสัมมาสมาธิ ตามที่ประสงค์ นั้นได้เลย จึงขอให้พธร. ทบทวนพระสูตรนี้ให้ดีๆ มิฉะนั้น จะเข้าใจผิดได้ว่า ผู้ปฏิบัตินั้น จะสามารถเริ่มฝึกจาก สัมมาสมาธิ ในมหาจัตตารีกสูตร นี้ได้เลย! หรือเป็นเพราะ พธร. คงจะไม่ทราบว่า วิธีการปฏิบัติ เพื่อให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ที่พุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น.. หาใช่อริยมรรค มีองค์8ไม่! แต่แท้จริงแล้วก็คือ สติปัฏฐาน4 ไง! ฉะนั้น อริยมรรค มีองค์8 (หรือสัมมาสมาธิ อันประกอบด้วยองค์7) จึงมาทีหลัง ต่างหากเล่า! เพราะซึ่งวิธีหลังนี้ จะใช้ได้ก็เฉพาะ อริยะเท่านั้น หรือหลังจากเกิด สัมมาทิฐิ ขั้นเห็นอริยสัจ4 แล้วนั่นเอง ดังพุทธดำรัสที่ว่า.. หากผู้ใดไม่เจริญ สติปัฏฐาน4 ให้บริบูรณ์.. ผู้นั้นจะเจริญอริยมรรค มีองค์8 ให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปไม่ได้! และหากผู้ใด ไม่เจริญอริยมรรค มีองค์8 ให้บริบูรณ์. ผู้นั้นจะเจริญโพชฌงค์7 ให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปไม่ได้! และหากผู้ใด ไม่เจริญโพชฌงค์7 ให้บริบูรณ์.. ผู้นั้นจักทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุต และปัญญาวิมุต (อันหาอาสวะมิได้) ย่อมเป็นไปมิได้! ฉะนั้น จึงเห็นชัดว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องเริ่มจาก สติปัฏฐาน4 ไปก่อน!. มิใช่ไปเริ่มที่อริยมรรค มีองค์8 (=สัมมาสมาธิ อันประกอบด้วยองค์7) ได้เลย ก็หาไม่!

พ่อครูว่า... มีหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้อริยสัจ ๔ มาก่อนตรัสรู้ ซึ่งในอดีตชาติ ท่านเป็นโพธิสัตว์ มามากมายหลายชาติ แต่พอในชาติที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็เพียงแต่ทบทวน สัญญาเก่า และเป็นพุทธการกธรรม ที่เคยได้เทศน์ไว้ ก่อนหน้านี้แล้ว

และได้เกริ่นแล้วว่า วจีสังขาร นั้นเดาไม่ได้ แต่นำหรับคนอวิชชา มันก็มีวจีสังขารอยู่ และมีการคัดกรอง ตามสัญชาติญาณ ตามมารยาท แต่ถ้ากรองไม่ทัน ก็ออกไปเต็มๆ เช่นด่าเต็มๆ หรือมีการยับยั้งบ้างก็ได้ แต่ไม่ได้ศึกษา จึงไม่รู้ แยกแยะไม่เป็น ในสังกัปปะ ๗ ที่มีพฤติกรรม แต่ละขั้นตอนอย่างไร ก่อนจะปรุงไปเป็นวจีสังขาร และออกไปเป็น พฤติกรรม ทางกายและวาจา ซึ่งพลังงานที่จะปรุงนั้น มีทั้งด้านพลังงานจลน์ และพลังงานศักย์ มีแกนที่แน่นแข็งแรง ก็จะปรุงได้เร็วแรงไว

วจีสังขาร เป็นผลจาก ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ คนไม่รู้ จะปล่อยให้ กาม พยาบาท วิหิงสา มาปนปรุงร่วมด้วยมานานแล้ว แต่ว่ากว่าจะฝึกฝนมาได้ เป็นอัตโนมัติ ที่เป็นตถตา ที่จะปรุงอย่างไร้กิเลสนั้น ไม่ง่าย

"วจีสังขาร" ตัวนี้คือ "สังขาร" ขั้น ปรมัตถธรรม ที่ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริง จิตเจตสิกต่างๆ อย่างเป็นของจริงด้วยญาณ หรือด้วย วิชชา ของตน ซึ่งเป็นอุตตริมนุสธรรม ของพุทธ เช่น "วิญญาณ" หรือ "เวทนา" แม้แต่ "ตัณหา - อุปาทาน" ถึงขั้น "นิโรธ" เป็นต้น

ซึ่งผู้ศึกษาศาสนาพุทธ เมื่อสัมมาปฏิบัติจริง อวิชชาที่เป็นปัจจัยให้เกิด "สังขาร"นั้น และในตอนนี้ มีสัมมาทิฏฐิแล้ว พอลงมือปฏิบัติ จึง "ทำใจในใจ" (มนสิกโรติ) ให้เกิด "สังขาร" (ปรุงแต่ง) ขึ้นเป็น "สัมมาปฏิบัติ" จนกระทั่ง สามารถปรุงแต่งใจ ซึ่งก็คือ การทำใจในใจ (มนสิการ) ให้สำเร็จ "แยบคาย ลงไปถึงที่เกิด" (โยนิโส) เป็นวจีสังขาร ตามองค์ธรรม ๗ ของ "สังกัปปะ" ในมหาจัตตารีสกสูตร ล.๑๔ ข้อ ๒๖๓ มีผลถึงขั้นบุญ (ปุญญคือ การชำระกิเลส)ได้จริง จึงชื่อว่าอภิสังขาร แปลว่า การสังขารที่เป็นบุญ นั่นคือ การปรุงแต่งใจ ให้ชำระกิเลสได้

อภิสังขาร คือ การปรุงแต่งใจ ให้มีผลเป็นอุตตริมนุสสธรรม ไปตามลำดับ ถ้ายังไม่ถึงที่สุด เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ถ้าถึงขั้นที่สุด ก็เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ถ้ายังไม่ถึงขั้น อเนญชา (อเนญชาคือ สภาวะที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว) ก็ต้องทำอีกทำซ้ำ ทำให้คุ้น (อาเสวนา) อย่างที่ทำได้ผล มาแล้วนั้นแหละ (ภาวนา) ทำให้มากๆ (พหุลีกัมมัง) เป็นการเพียรรักษาผล (อนุรักขนาปธาน) จนกระทั่ง "รักษาผล" ถ้วนเต็มสัมบูรณ์

อภิสังขาร นี้มีคุณสมบัติค่า "สัมประสิทธิ์ทางใจไป ถึงขั้นมีค่าคงที่ส่วนหนึ่ง ของคุณสมบัติ เชิงควบแน่น (อัปปนา) และมีตัวแปรจัดแจงแต่งปรุง ให้ก้าวหน้า เจริญขึ้นๆๆ

"อภิสังขาร" ตัวนี้ คือ "วจีสังขาร" ตัวที่เกิดหลังจากการปฏิบัติเป็น "สัมมาสังกัปปะ ตัวที่ ๗" ที่ก้าวหน้า สู่กุศลยิ่งๆขึ้น ของพระโยคาวจร

ดังนั้น ปุญญาภิสังขาร จึงหมายถึง การสังขารของ เสขบุคคลขึ้นไป เป็นผู้มีปัญญาขั้น ปรมัตถธรรม เริ่มมี "วิชชา" เข้าถึงอริยสัจ ๔ หยั่งรู้ใจตนได้ รู้ "ทุกข์" รู้ "สมุทัย" เป็นผู้กำลังทำ "นิโรธ" ให้แจ้งต่อไป นั่นคือ การสร้างบุญ หรือกำลังตั้งใจในใจ (มนสิการ) ของตนให้เป็น "สัมมา" ไปตามลำดับ

"สังขาร" เข้าขั้น "อภิสังขาร" อย่างสัมมาทิฏฐิ คือการ รู้จักรู้แจ้งในใจ ซึ่งก็ "มนสิการ" (การทำใจในใจ) นั่นเอง ผู้มี "อภิสังขาร" นี้เป็นผู้ "ทำใจในใจ" ตนเองให้ "สัมมา" เป็นแล้ว

"อภิ" นี้ มีความหมายลึกซึ้ง เท่าที่ประมวลได้ ก็คือ เผชิญหน้าไปยังที่, มีอำนาจเหนือ, ทับ, ข้างบน, เพิ่มให้มากขึ้น, มากมาย, ใหญ่หลวง, เข้าครอบครอง, เป็นเจ้าของ, เป็นใหญ่, อุบัติขึ้น, งอกขึ้น

"สังขาร" มีคำแปลอยู่มาก เช่นว่า การจัดแจง, การตระเตรียม, การรวมการกระทำ, การรวมเหตุ, ศักยภาพที่ประกอบกันขึ้น, สิ่งที่เกิดร่วมกันทางใจ, การประกอบขึ้น, ธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ทางใจกับกายด้วย

สรุปก็คือ การรวมของสภาวะ หรือสมบัติที่สำคัญ เพื่อกระบวนการ หรือผลบางอย่าง

"สังขาร" ที่ว่านี้ จึงเป็นการสังเคราะห์ทางใจเป็นล่ำสัน เรียกว่า สังขารนั้น ก็โน้มไปในทาง ความหมายว่า เป็นที่รวมการกระทำ, เป็นการใช้ภูมิปัญญา ที่มีความประสงค์ ซึ่งเรียกว่า "อภิสังขาร"

"ปุญญาภิสังขาร" เป็น"สังขาร" ขั้น "อภิ" คือสังขารอย่างเป็น "บุญ"

"บุญ" มาจากภาษาบาลีคือ "ปุญญ" รากแห่งความหมายเดิม จริงนั้นคือ ชำระจิตสันดานให้หมด เป็นภาวะของ "ปรมัตถธรรม" โดยแท้ แต่กลายเป็น ความหมายทางโลกีย์ เกือบไม่เหลือเชื้อเค้าของ "ความเป็นสัจจะ" กันเสียแล้ว เมื่อ "ไม่ใช่บุญ" ก็ต้องเป็น "บาป" หนะซี! ก็เลยไปแปล "อปุญญ"กันว่า "บาป"

"อปุญญ" ก็เลยหมายถึง "บาป"กันไปเลย

ทาน-ศีล-ภาวนา จึงล้วนได้ "บุญ" ที่เป็นโลกียธรรม กันไปหมดแล้ว แม้แต่ "ภาวนา" ซึ่งเป็น "การเกิดผลของ การปฏิบัติธรรม" ที่มุ่งหมายนิพพานแท้ๆ "การเกิดผล" ของการปฏิบัติธรรม ก็ได้ ผลเป็นโลกียธรรม กันเสียทั้งนั้น

ดังนั้น "ทาน" จึงไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เพราะทุกวันนี้ "ทาน" กันแล้ว ไม่มี "ผล" ได้ "บุญ" คือ ไม่ได้ชำระจิต หรือไม่ได้ชำระกิเลส ให้หมดจด กันนั่นเอง เพราะทาน เป็นมิจฉาทิฏฐิ กันไปทั้งนั้น จึงชื่อว่า "นัตถิ ทินนัง" คือ "ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผลลดกิเลสโลภ" กันทั้งนั้น มีแต่ "ตั้งจิตตั้งใจ" (อธิษฐาน) ซึ่งก็คือ "การทำใจในใจ" นั่นเอง จึง "ทาน" ให้เกิดมรรคผล โลกุตรธรรม ไม่ได้แล้ว เพราะ "ทำใจในใจ" (มนสิกโรติ) ให้เป็น "โลกุตรธรรม" กันไม่เป็น ไม่ถูกต้อง มีแต่ "อยากได้" จึงมีแต่ "ทำใจอยากได้" ทำกันจริงๆนะ

ทั้งๆที่ "ทาน" คือการละความอยากได้ เอาออกจากตน, การสละออกไป, ละความโลภ, แต่ก็ทำใจในใจโลภ ทำใจในใจอยากได้ ทำใจในใจอธิษฐานขอเอา ตั้งใจเอา สอนกันให้ ตั้งจิตขอบุญ (อธิษฐาน)

แต่คำว่า "บุญ" ที่เขาขอนั้น หมายถึง "โลกธรรม" บางคนกล่าวคำว่า "ขอให้เป็นปัจจัย พาไปสู่นิพพาน” ด้วยนะ "คำพูด" นั้นจะเอานิพพาน แต่ "การทำใจในใจ" (มนสิการ) จริงๆนั้น กลับทำใจอยากได้ ทำใจอยากเอาบุญ ทำใจโลภจะเอา แทนที่จะ "ทำใจสละ ทำใจไม่โลภ" เพราะเข้าใจความหมายของบุญ ผิดถนัด (มิจฉาทิฏฐิ) ยังไม่เข้าใจว่า "ทำบุญ" นั้น ไม่ใช่ "ทำเอา" แต่เป็นการ "ทำออก" เป็นการ "ชำระใจโลภ"

จึงเข้าใจกันไม่ได้ว่า พระอรหันต์นั้น "อยู่พ้นทั้งบุญทั้งบาป" คืออย่างไร? ผู้บรรลุจริง ก็จะรู้ความจริงนี้ดี ซึ่งก็คือ พระอรหันต์นั้นทั้ง "ปุญญ" ก็ไม่ต้องทำ และทั้ง "อปุญญ" ก็ไม่ต้องทำ เพราะไม่ต้อง ชำระกิเลสแล้ว ทั้งสองอย่าง บุญ (การปฏิบัติชำระจิต หรือชำระกิเลส) ก็ไม่ต้องทำแล้ว บาปท่านก็หมดแล้ว ท่านไม่มีแล้ว ไม่เหลืออีกแล้ว จึงชื่อว่า "อยู่พ้นทั้งบุญและบาป" แม้จะทำกรรมใดอีก ทำการงานใด ในชีวิตที่มีอยู่ ก็ล้วนถึงพร้อมด้วยกุศล พร้อมไปด้วย คุณงามความดี (กุศล) ไม่ทำบาปทั้งปวงแล้ว จึงอยู่เหนือบุญเหนือบาป หรือ "อยู่พ้นทั้งบุญแลบาป" ด้วยประการฉะนี้

เห็นได้ว่า อรหันต์ คือ "คนไม่มีบุญแล้ว" ไม่ทำบุญแล้ว หรือ คนหมดบุญแล้ว คือ คนที่ไม่ต้อง ชำระกิเลสของตนแล้ว นั่นเอง เป็นคนอยู่พ้นบุญ แต่ไม่ใช่ "คนหมดกุศล" ยังเป็นผู้ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่กุศลได้ถึงพร้อม เพราะได้ชำระจิต ให้ผ่องใส สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

ผู้จบกิจ อภิสังขารขั้นต้องทำบุญ เมื่อทำจบแล้ว ก็ไม่ต้องทำอีก คือจบกิจของ "ปุญญาภิสังขาร" ก็เหลือแต่อภิสังขารที่เป็น "อปุญญ" นั่นคือ ไม่ต้องทำการชำระจิต ไม่ต้องทำการ ชำระกิเลสอีก แต่ในชีวิตที่มีอยู่ จะ "ทำ" อะไรอยู่ก็ "อยู่" ชนิดที่ "ทำ" กุศลให้ถึงพร้อม เป็นการกระทำ ก็คือ "กรรม" นั้นเอง ที่ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญ เป็นผู้มี "กรรมที่ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญ" แล้ว

ฉะนี้เอง คือ "อภิสังขาร" ที่เรียกว่า "อปุญญาภิสังขาร" ดังนั้น อปุญญาภิสังขาร จึงไม่ใช่สังขาร ที่ปรุงแต่งไปทางต่ำ เช่น ปรุงแต่งเป็นบาป เป็นต้น ซึ่งคือการแปล โดยระนาบง่ายๆตื้นๆ กลับหัวกลับหาง มิติเดียวเท่านั้น ว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป ไม่ถูกต้องแน่ "อภิสังขาร" ขั้น "อปุญญ" ก็ต้องหมายถึง การปรุงแต่ง ที่เป็นกุศลเท่านั้น ซึ่งเป็นการทำ "กุศล" ของอาริยบุคคล หรือโลกุตรบุคคล ไม่ใช่ "กุศล" แค่โลกียบุคคล ที่ยังเป็น วิบากบาป วิบากบุญอยู่

การสังขารที่มีความหมายถึง ใจที่มุ่งประสงค์ ชักนำการเกิดใหม่โดยเฉพาะ ได้แก่ การเกิดทางใจ คือ โอปปาติกโยนิ อันเป็นการเกิดของ "สัตว์" (ทางใจ) จึงไม่มีแล้ว ในใจผู้นี้ ความเป็นสัตว์ทางใจนะ ไม่ใช่เรื่องของสัตว์ที่มีรูปร่าง จึงคือผู้พ้นการเกิด ความเป็นสัตว์แล้ว (สัตตาวาส๙) เพราะ "พ้นสังโยชน์" ก็คือ "พ้นการถูกผูกสัตว์ไว้" แล้ว

ผู้ทำอภิสังขาร ถึงขั้นปุญญาภิสังขารได้ จึงเป็นผู้จะเจริญไปสู่ "อปุญญาภิสังขาร" และ "อเนญชาภิสังขาร"

สังขาร ที่มีความหมายคือ ก่อให้เกิดการเริ่มแรก แห่งปฏิสนธิวิญญาณ หากมีภูมิถึงขั้น "อภิสังขาร" จึงเป็น การสร้างวิญญาณ ให้เกิดใหม่ ไปในทางเจริญเท่านั้น

อธิศีลสิกขา ก็เจริญ อธิจิตสิกขา ก็เจริญ อธิปัญญาสิกขา ก็เจริญขึ้นไปโดยชอบ (สัมมา) ที่เป็นจริงตามลำดับ

อวิชชาก็ลดลงๆ วิชชา (ความรู้แบบพุทธ) เจริญๆขึ้น เป็นไปตามลำดับคือ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง "สังขาร" ได้ถึงขั้นวจีสังขาร ที่ยังอยู่ภายในใจ ยังไม่ได้ออกมา เป็นวจีกรรมข้างนอก โดยเฉพาะสามารถ รู้แจ้งเห็นจริง ในขณะที่กำลังมี โยนิโสมนสิการ (การทำใจในใจ อย่างถ่องแท้) อยู่ใน "สัมมาสังกัปปะ ๗" ตามสัมมทิฏฐิ ที่ทำ "สมาธิ" แบบพุทธ

เพราะอธิปัญญาสิกขา จะเริ่มพยายาม (สัมมาวายามะ) พัฒนารู้จักรู้แจ้งรู้จริง ใจที่เริ่ม "ดำริ" อันคือ "ตักกะ" แล้วมี "ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์" พยายามแยกแยะ จนจับตัว "มิจฉาสังกัปปะ" ซึ่งได้แก่ กามหรือพยาบาท เป็นต้น จับได้แล้วก็ "กำจัด" อกุศลเจตสิกนี้ ด้วยปหาน ๕ ให้บริบูรณ์ตามลำดับ นั่นคือ ผู้ปฏิบัติพยายาม มีการทำใจในใจ ให้แยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือให้ลงไปถึงที่เกิด (โยนิโส)

แล้วอะไรเกิดเล่า “เกิด” ใน “ที่เกิด” นั้น ก็คือ กิเลส นั่นเอง "เกิด" นี่แหละ "ตัวตน" (อัตตา) ที่เป็นตัวการ จะต้องกำจัด (ปหาน) เพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์ (ทุกขสมุทัย)  ให้ได้ด้วยปหาน ๕ เมื่อได้ผลไปตามลำดับ ก็คือการเจริญก้าวหน้า โลกุตรธรรม ไปตามลำดับ คำว่าได้ผล นี่ก็คือ ปโหติ ที่แปลว่า พอเหมาะได้ ปโหติ ที่ตามศัพท์ แปลว่า ดำเนินไป เกิดขึ้นหรือเพียงพอ หรือสามารถ “ด้วย”

ดังนั้นท่านสรุปไว้ว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้ (ปโหติ) ก็หมายความว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ จึงปฏิบัติสังกัปปะ ให้เกิดขึ้น (ปโหติ) เป็นสัมมา หรือ และดำเนินไป อย่างพอเหมาะ (ปโหติ) เพียงพอ (ปโหติ) สามารถ (ปโหติ) พัฒนาไปตามลำดับ และนัยในมรรคข้ออื่น ก็เช่นกัน ...........

ด้วยนัยะนี้เอง เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้

ข้ออื่นๆของ มรรค เจริญขึ้นเป็นผล ก็นัยเยี่ยงนี้

เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา จึงเพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ จึงพอเหมาะได้ ฯลฯ

จนเมื่อถึงสัมมาญาณ สัมมาวิมุติ จึงพอเหมาะได้ ที่สุดก็คือ เมื่อกำจัด อกุศลเจตสิกได้สิ้น ก็ไม่มีเหตุ “สมุทัย” เข้าไปร่วมปรุงแต่ง ในจิตเจตสิกของเรา เพราะเหตุ คืออกุศลจิต ไม่มีแล้ว ในการปรุงแต่ง (สังขาร)นี้ วจีสังขารของเรา ก็เป็นอภิสังขาร หรือวิสังขาร หากจะออกมาเป็น วจีกรรม ก็เป็น “การพูดจา” อันไม่มีเหตุ ให้เกิดวจีกรรม เป็นมิจฉาวาจา แต่จะเป็นสัมมาวาจา เพราะใจเป็นประธาน (มโนปุพพังฯ)

นั่นคือ สัมมาวาจา จึงจะพอเหมาะได้ ซึ่งผู้ที่ไม่รู้การปฏิบัติ ที่สัมมาปฏิบัติ ดังที่สาธยายมานี้ ก็จะทำได้แค่ การควบคุมวาจา ตามปุถุชนเท่านั้น ศาสนาไหน ก็ทำอยู่แล้ว หรือคนที่ใฝ่ดี เขาก็ทำเป็นธรรมดา ซึ่งยังไม่ใช่ การทำใจในใจ (มนสิการ) ดังที่สาธยายมา จึงไม่มีธรรมะที่มีผล (นัตถิ) แม้มี ก็ไม่แน่ ไม่เที่ยงแท้เด็ดขาด ก็ได้ แต่ได้ระยะหนึ่ง จะแปรปรวนไปตามกิเลส ที่ยังไม่ได้กำจัด เพราะไม่สัมมาทิฏฐิ จึงไม่หมดไป ไม่ลดไม่ละไป ชนิดที่ถูกตัวถูกตนของ "ตัวตนกิเลส" แท้ๆ ถึงปรมัตถธรรมแบบพุทธ

ดังนั้น ผู้ที่อธิบายกันว่า ศีลสามารถควบคุมได้แค่ กายกับวาจาเท่านั้น ส่วนใจ ให้ไปนั่งหลับตา ทำสามาธิเอานั้น จึงเป็นการปฏิบัติ ที่แยกไตรสิกขา ออกเป็นสามส่วน ต่างปฏิบัติกัน คนละอย่าง คนละส่วน ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ก็สามารถควบคุมวาจา ให้เป็นวาจาสุจริต ได้ สามัญคนทั่วไป ก็มีมารยาทสังคม ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว หรือโดยสัญชาติญาณสามัญ ก็ควบคุมระมัดระวัง กันอยู่แล้ว ตามแต่จะทำได้มากได้น้อย เท่าใดๆ ของตนๆ แต่ละบุคคล และแม้จะควบคุมได้ ก็ไม่เที่ยงแท้ หรือยั่งยืน เพราะไม่มีหลักประกัน

หรือแม้จะฝึกฝนกันอย่างตั้งใจทำสมาธิ แบบหลับตา สะกดจิต แล้วเชื่อว่า สมาธิจะมีพลัง มาบังคับควบคุม กายวาจาได้  “ใจ” อาจจะมีพลังควบคุม กายกับวาจาได้ ก็เหมือนคนทั่วไป เขาทำกันนั่นเอง ตามสัญชาติญาณ และมารยาทสังคม ที่ตนต้องระมัดระวัง และถ้ายิ่งนั่งสมาธิเก่ง จะทำได้ดีกว่า คนไม่ได้นั่งสมาธิ ก็อาจเป็นได้บ้าง ซึ่งแม้จะทำได้เก่ง ยิ่งขึ้นเท่าใด ก็ได้เท่านั้นๆ  แต่กระนั้น ก็ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน อย่างผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ที่มีวิธีปฏิบัติเข้าถึง การสัมผัสตัวตน ของกิเลส แล้วกำจัดกิเลส อย่างถูกตัวตน ตัวตนลดลงๆ จนตัวตนดับ และสัมผัส ความดับตัวตน ชนิดที่รู้จัก รู้แจ้งรู้จริง “อัตตา ๓” (ตัวตน ๓) แท้ ด้ยการสัมผัส “กาย” ของรูปนาม ทั้งหมด

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ในทักขิเนยบุคคล ๗ ต่อให้มีอาสวะบางอย่าง สิ้นไปได้ เช่น “กายสักขีบุคคล” พระพุทธเจ้า ก็ตรัสไว้ชัดว่า ยังไม่ถึงขั้น “อรหันต์” เพราะมีผลแค่ “อาสวะบางอย่าง เท่านั้นสิ้นไป” เพียงแค่เป็น “บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้ถูกต้อง วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะบางอย่าง ของผู้นั้น ก็หมดสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา นี้เรียกว่า บุคคลผู้เป็นกายสักขี เท่านั้น

ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า “กายสักขีบุคคล” นี้ มีโอกาสได้ "สัมผัสวิโมกข์๘ ด้วยกาย" อยู่บ้าง จึงเรียกว่า "กายสักขี" ถ้าผู้ปฏิบัติใด ต่อให้ปฏิบัติหนักแทบตาย นานแค่ไหน หากไม่ถูกต้อง หรือไม่สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วเห็นด้วยปัญญาบ้าง ซึ่งจะเป็นปัญญาชนิด "สัมมัปปัญญา" ทีเดียว ก็แน่นอน ผู้นี้ไม่สามารถ "ดับอาสวะ" ใดๆได้เลย

ท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ ให้ความหมาย "กายสักขี" ว่า "ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย" , "ผู้ประจักษ์กับตัว" พระอริยบุคคล ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จนถึงผู้ตั้งอยู่ใน อรหัตตมรรค ที่เป็นผู้มี สมาธินทรีย์แรงกล้า ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ (เมื่อบรรลุอรหัตตผล กลายเป็น อุภโตภาควิมุติ)

นั่นคือ คำแปลของท่านเจ้าคุณ พรหมคุณาภรณ์ ยังยืนยันว่า ต้องได้สัมผัส วิโมกข์ ๘ จึงจะบรรลุ อรหัตตผล ที่จริงต้องมีคำว่า "สัมผัสด้วยองค์ประชุม ทั้งภายนอกภายใน พร้อมทั้งหมด (กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ) เป็นอยู่หลัดๆ" ด้วย ดังนั้น "กายสักขีบุคคล" ผู้ใด ถ้ายังไม่ได้ "สัมผัส" วิโมกข์ ด้วยกาย และเห็นด้วยปัญญา ที่สัมมาพร้อม ก็ทำให้อาสวะ สิ้นไปไม่ได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่า สายศรัทธาที่ปฏิบัติมาถึงขั้น "กายสักขี" ปานนี้ ถ้าไม่ "ถูกต้อง หรือสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วเห็นด้วยปัญญา" ก็ไม่สามารถทำให้ "อาสวะสิ้นไปได้" เลย เพราะ "ถูกต้องหรือสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วเห็นด้วยปัญญา" นั่นแหละ จึงมีผล "อาสวะบางอย่าง ของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว" แค่ระดับต้นขั้น "ศรัทธาวิมุติ และศรัทธานุสารี" จึงไม่ต้องพูดเลย

ส่วน "สายปัญญา" นั้นย่อม "สัมมาทิฏฐิ" มาแล้วแต่ต้น ตั้งแต่ "ธัมมานุสารี" ก็ต้องมีอาริยผล มาตามลำดับ (เพราะถ้าขนาด สายปัญญาแท้ๆ ยัง "สัมมาทิฏฐิ" ไปตามลำดับไม่ได้ แล้วจะเป็นทฤษฏีสัมบูรณ์ ได้อย่างไร) ยิ่งถึงขึ้น "ทิฏฐิปัตตะ" ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า ท่านเรียกว่า "ทิฏฐิปัตตะ" ซึ่งหมายถึงผู้ที่ "บรรลุแล้ว, ถึงแล้ว" (ปัตตะ) จะบรรลุก็ต้องได้ด้วย "ความเห็น (ทิฏฐิ) ที่เป็นสัมมา" แน่นอน จึงจะบรรลุสัมมาผล ใช่มั๊ย?

สายปัญญา จึงปฏิบัติโดยมี "สัมผัสวิโมกข์๘ ด้วยกาย เห็นด้วยปัญญา" มาตั้งแต่ธัมมานุสารี เมื่อถึงขั้น "ปัญญาวิมุติ" พระพุทธเจ้า ตรัสให้เห็นชัดว่า ไม่ต้องกล่าวหรอกว่า สายนี้จะต้อง "สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย"

หากใครยังสงสัยอีก ก็ขอถามว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ต้องสัมผัสวิโมกข์๘ ด้วยกาย” จึงจะสามารถทำ “อาสวะ” บางอย่าง สิ้นหมดไปได้บ้างนั้น หากไม่สามารถ “ถูกต้องหรือสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย” แล้ว จะมีวิธีอะไรที่จะ “ดับสิ้นอาสวะได้” บ้างล่ะ?

เพราะกายสักขีบุคคล “ต้องสัมผัสวิโมกข์๘ ด้วยกาย เห็นด้วยปัญญา ที่เป็นสัมมัปปัญญา” ใช่ไหม จึงได้ทำให้ “อาสวะ” บางอย่าง สิ้นไปได้บ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้น “อาสวะ” ทั้งหลายของตน หมดสิ้นบริบูรณ์สัมบูรณ์

นั่นก็คือ การปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ถึงขั้น “ได้สัมผัสวิโมกข์ ด้วยกาย” และเห็นด้วยปัญญา ชนิดที่เรียกว่า “สัมมัปปัญญา” แล้วละก็ จะไม่สามารถ “ดับสิ้นอาสวะไปได้” สักอย่าง เพราะใน “วิโมกข์” นั้นสัมบูรณ์ถึงขนาด ต้องผ่าน “อรูปฌาน ๔” แบบพุทธ ขอยืนยันนะว่า “แบบพุทธ” ที่สัมมาทิฏฐิด้วย จึงจะถึงขั้น “สัญญาเวทยิตนิโรธ”

ซึ่งเป็น “นิโรธ” พิเศษ เป็น “คุณวิเศษ” (อุตตริมนุสสธรรม ) แท้ เป็นของพุทธเท่านั้น “นิโรธ” ชนิดนี้ มีในขณะลืมตา ชีวิตปกติสามัญ อันแตกต่างจาก “นิโรธ” ที่ไม่ใช่ของพุทธ เพราะนิโรธแบบนั้น มีได้ในขณะหลับตา อยู่ในภวังค์

คำตรัสนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า การปฏิบัติธรรมแบบพุทธต้อง “ต้องสัมผัสวิโมกข์๘” อย่างสัมมาทิฏฐิ เพราะ “สัมผัสเห็น” อยู่พร้อมทั้ง “กาย” ภายนอก

กายสักขี ก็คือ ผู้ที่ต้องเข้าถึง “กาย” เป็นพยาน (สักขี) ยืนยันกับตนเองได้ ว่า เป็นผู้มี “กาย” ซึ่งมีทั้ง “รูปกาย” คือองค์ประชุมของรูป และทั้ง “นามกาย” คือ องค์ประชุมของนาม

รูป หมายถึง สิ่งที่ “ตา หู จมูก ลิ้น กาย” กระทบ กับ “รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส” ก็จะมี “นาม” เกิดขึ้นมา “รู้ได้”

ภาวะที่เกิดจาก “ตากระทบรูป” ก็เรียกว่า “รูป”
ภาวะที่เกิดจาก “หูกระทบเสียง” ก็เรียกว่า “รูป”
ภาวะที่เกิดจาก “จมูกกระทบกลิ่น” ก็เรียกว่า “รูป”
ภาวะที่เกิดจาก “ลิ้นกระทบรส” ก็เรียกว่า “รูป”
ภาวะที่เกิดจาก “กายกระทบสัมผัส” ก็เรียกว่า “รูป”

“นาม” ตัวที่ได้กระทบสัมผัสนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ชัดว่าเป็น "วิญญาณ" ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เป็น"นาม" ในตอนแรก คือ รู้จักสิ่งที่ "สัมผัส" นั้น แล้วก็ปรุงแต่ (สังขาร) ทันทีด้วย อวิชชา จึงเป็นวิญญาณ ที่ถูกปรุงแต่ง ถ้าผู้นั้นมีอวิชชา ก็จะถูกปรุงแต่ง ด้วยกิเลสร่วมอยู่นั้น เรียก "นาม" ที่ปรุงแต่งนี้ว่า "จิตสังขาร"

ความหมายอีกนัยหนึ่ง ของคำว่า "รูป" หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อถูกรู้ ด้วย "ญาณ" จึงเรียกว่า "นามรูป" เพราะเป็น "นาม" ที่มาเป็น "รูป"

"นาม" หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวรู้ ธาตุที่ทำการรู้ เมื่อทำการรู้สำเร็จ ก็เรียกว่า "ญาณ" หรือ "ปัญญา"

"ฌาณ" หรือ "ปัญญา" ก็ "ถูกรู้" ได้ แต่เป็น "อรูป" คือ ไม่มีสรีระ ไม่มีร่างมีโฉม อันต้องกำหนดรู้ได้ด้วย "สัญญา"

"กาย" นั้น ไม่ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็น "กาย" คือ เป็น "องค์ประชุม" (กาย) ขึ้นเป็น "องค์ประชุมของเวทนา" ย่อมได้ ที่ใช้ภาษาเรียกว่า "เวทนาขันธ์" เป็นต้น สัญญา สังขาร ก็นัยเดียวกัน

“รูปรูป” นั้น มันถูกรู้ได้ ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่แล้ว เมื่อ “สัมผัส” รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

ส่วน "นามรูป" ที่เป็นภาวะของ "นามธรรม" ที่เมื่อเป็น "สิ่งที่ถูกรู้" ก็มีสภาพเป็น "รูป" จึงเรียกว่า "นามรูป" ไม่ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

“นามรูป” และ “นามกาย” จึงมีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ อยู่ฉะนี้ๆ

“กาย” หมายถึง “องค์ประชุม” เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

“กาย” คือ องค์ประชุมของ “รูป” และ “นาม” ทั้งนอกและใน ถ้าบริบูรณ์ ไม่ขาดส่วนใด ก็เป็นการถึงพร้อม หรืออยู่พร้อม ถ้าใครจะชี้เฉพาะ อธิบายเฉพาะ “รูปกาย” หรือเฉพาะ “นามกาย” ในบางครั้งบางคราว ก็ย่อมได้ แต่ในวิโมกข์นี้ ยืนยันว่า พร้อมทั้งภายนอก และภายใน ครบครัน บริบูรณ์อยู่อย่าง “เห็นๆ” (ปัสสติ) ด้วย

คำว่า “กาย” ใน “วิโมกข์ ๘” นี้ พระพุทธเจ้าทรงชี้ชัดว่าทั้ง “รูปกาย” และ “นามกาย” ทั้งภายนอกและภายใน ใน “วิโมกข์ ๘” ข้อที่ ๒ ก็ชี้ชัดอยู่แล้ว “อัชฌัตตัง อรูปสัญญี พหิทธา รูปานิ ปัสสติ” แต่ท่านก็ไปแปลกันว่า “ผู้ไม่มีความสำคัญในรูป ในภายใน ย่อมเห็นรูป ในภายนอก” ส่วนท่านพระพรหมคุณาภรณ์ แปลว่า “ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็น รูปทั้งหลายภายนอก”

คนไทยส่วนมาก ก็พึงทำความเข้าใจภาษา จากคำแปลนั้นๆ กันตามภาษาที่มีอยู่ เป็นภาษาไทย ก็ต่างเข้าใจ กันไปตามภูมิ ส่วนภูมิของพ่อครูนั้น เข้าใจว่า ผู้มี “วิโมกข์ ๘” ตามข้อ ๒ นี้คือ “ผู้มีทั้งรูปภายนอกทั้งหลาย ทั้งรูปภายใน และลึกสูงไปถึง ขั้นอรูป ก็กำหนดหมายรู้อย่าง (สัมผัส) เห็นได้” นี่แปลอย่างพ่อครู ที่มีจริงของตน เป็นตัวตั้ง อาศัย พยัญชนะบาลี ตามความเข้าใจของพ่อครู

ส.ฟ้าไทสรุปว่า บุญคือการเอาออก ไม่ใช่การเอาเข้า และเรื่องของวิโมกข์ ๘ สายศรัทธา ต้องมี การสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย จึงจะบรรลุธรรมได้ (ต้องเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง คือสัมมัปปัญญา) และเรื่องของนาม-รูป ก็ทำความเข้าใจ ได้ลึกซึ้งอีก คำว่า "รูปรูป" และคำว่า "นามรูป"นั้น เราก็ต้องกำหนดรู้ต่อไป ทำความเข้าใจตาม ให้มากขึ้นอีก ถ้าไม่ทบทวน ก็จะปฏิบัติไม่ถูกต้อง พ่อครูอธิบาย มีรายละเอียด เพิ่มขึ้นๆอีก เมื่อเราเข้าใจเพิ่ม เราก็จะปฏิบัติได้ชัดเจนขึ้น

.......จบ