FMTV โทรทัศน์เพื่อมนุษยชาติ
560312_รายการสงครามสังคมธรรมะการเมือง โดยพค.
เรื่อง สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายคืออย่างไร?
 

พ่อครู เปิดรายการที่บ้านราชฯชั้น ๒ เฮือนศูนย์สูญ

วันเวลาผ่านไปเร็วมาก พ่อครูอาการหนักๆ คือวิ่งไล่เวลา เผลอแป็บเดียวหมด วิ่งไล่เวลาไม่ทัน

รายการนี้ บรรยายธรรมในช่วงนี้ ลึกซึ้งมาก หากไม่ตั้งใจฟัง ไม่รู้เรื่องแน่ ซึ่งกำลังขยายความ ตามพระไตรฯ เล่ม ๑๖ และตอนท้ายรายการ ก็จะตอบประเด็น ตามที่เคยทำมา

มาต่อกันด้วยธรรมะ ต่อจากวานนี้ ที่ได้พูดถึงรายละเอียด เจาะลึกถึงอาสวะ โดยการสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ด้วยสัมมัปปัญญา องค์ประชุม คือสิ่งที่มารวมกัน กาเยน ผุสิตฺวา คือรวมทั้งกายนอกกายใน วิหรติ คือเห็นกันอยู่หลัดๆ เลยทีเดียว

บุคคลที่มีกายสักขี ต้องมีการสัมผัสด้วยกาย แล้วก็จะมีญาณหยั่งรู้ตน ว่าอาสวะ สิ้นแล้วหรือไม่ สรุปว่า แม้จะปฏิบัติเก่งขนาดไหน เป็นสัทธานุสารี เป็นกายสักขี หากไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย ให้ครบองค์ประชุม ทั้งกายนอกกายใน ของพระพุทธเจ้า เป็นปกติลืมตา ใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะปฏิบัติ กามาวจร รูปาวจร หรือ อรูปาวจร แล้วก็มีนิโรธลืมตา อย่างโสดาบัน ยังไม่ถือว่ามีนิโรธ ก็เก็บหน่วยกิจ ไปเรื่อยๆ จนไปถึงอนาคามี  ก็ถือว่ามีนิโรธแล้ว ลืมตาสัมผัสอยู่ กิเลสก็ดับ ไม่มีกิเลสเกิดเลย สบาย แม้มีเหตุปัจจัยมาใหม่ มาแรงอย่างไรก็เฉย คือ ผู้มีเจโต และปัญญา อันไม่กลับกำเริบ

พวกที่นั่งเข้านิโรธ ขนาดนั่งตัวแข็ง แกะไม่ออกเลย แข็งเกร็งหมดเลย ผลักไม่ล้ม กลิ้งเหมือนลูกขนุนเลย (พรหมลูกฟัก) ส่วนผู้มีนิโรธพุทธแท้นั้น จะดูยาก ดูไม่ออก ลืมตา แต่ไม่มีกิเลส ทำอาสวะสิ้นไปได้หมด ต้องชัดเจนเลยว่า แบบไหนทำออกได้หมด แบบไหนไม่ได้ ถ้าไม่ชัดเจน ก็จะไม่ค่อยถูกต้อง

จะบรรลุได้ต้องสัมผัสด้วยองค์ประชุม ทั้งภายนอกภายใน พร้อมทั้งหมด (กาเยน ผฺสิตฺวา วิหรติ) เห็นอยู่หลัดๆ ด้วย ดังนั้น กายสักขีบุคคลผู้ใด ถ้ายังไม่ได้สัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย และเห็นด้วยปัญญา ที่สัมมาพร้อม ก็ทำให้อาสวะ สิ้นไปไม่ได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่า สายศรัทธาที่ปฏิบัติมาถึงขั้น กายสักขีปานนี้ ถ้าไม่ถูกต้อง หรือ สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วเห็นด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถทำให้ อาสวะสิ้นไปได้เลย เพราะถูกต้อง หรือ สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วเห็นด้วยปัญญา นั่นแหละ จึงมีผลอาสวะบางอย่าง ของผู้นั้นก็หมดสิ้นแล้ว แค่ระดับต้น ขั้นศรัทธาวิมุติ และศรัทธานุสารี จึงไม่ต้องพูดเลย

ส่วนสายปัญญานั้น ย่อมสัมมาทิฏฐิมาแล้วแต่ต้น ตั้งแต่ธัมมานุสารี ก็ต้องมีอาริยผล มาตามลำดับ (เพราะถ้าขนาด สายปัญญาแท้ๆ ยังสัมมาทิฏฐิ ไปตามลำดับไม่ได้ แล้วจะเป็นทฤษฎี สัมบูรณ์ได้อย่างไร) ยิ่งถึงขั้นทิฏฐิปัตตะ ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า ท่านเรียกว่า ทิฏฐิปัตตะ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ บรรลุแล้ว, ถึงแล้ว (ปัตตะ) จะบรรลุก็ต้องได้ ด้วยความเห็น (ทิฏฐิ) ที่เป็นสัมมาแน่นอน จึงจะบรรลุสัมมาผล ใช่มั้ย?

สายปัญญา จึงปฏิบัติโดยมี สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย เห็นด้วยปัญญา มาตั้งแต่ ธัมมานุสารี เมื่อถึงขั้นปัญญาวิมุติ พระพุทธองค์ก็ตรัส ให้เห็นชัดว่า ไม่ต้องกล่าวหรอกว่า สายนี้จะต้อง สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย

พยายามทำความเข้าใจอย่างสำคัญ ตรงนี้ให้ดีๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่ได้สัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกายนะ จึงจะสามารถทำ อาสวะบางอย่าง สิ้นหมดไปได้บ้าง (อัฏฐ วิโมกเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จัสส ทิสฺวา เอกัจเจ อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ) แล้วจึงจะถึงขั้น ทำอาสวะของผู้นั้น หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา คำว่า เอกัจจ ซึ่งหมายถึง บางอย่าง ยืนยันอยู่ชัดๆ

                หากไม่สามารถถูกต้อง หรือสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย เพราะเห็นด้วยปัญญาแล้ว จะมีวิธีอะไร ที่จะดับสิ้นอาสวะ ลงได้บ้างล่ะ?

ถึงขั้นดับอาสวะ นะ หมายถึง ล้างเชื้อขั้นปลายสุด ของกิเลสกันทีเดียว เพราะอาสวะ คือ กิเลสที่นอนเนื่อง อยู่ในสันดาน ดังของหมักดองฉะนี้ เป็นกิเลส หรืออนุสัย ซึ่งเป็นอนุสัย นั้นก็คือ กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ถึงก้นบึ้งของจิตนี้ เป็นสังโยชน์ ขั้นปลายสุดท้าย  

ดังนั้น ผู้ที่สามารถทำอาสวะของผู้นั้น หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา จึงจะชื่อว่า อุภโตภาควิมุตติ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ ผู้มีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้

ตามคำตรัสที่ว่า ถูกต้องหรือสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะ ของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา (อัฏฐ วิโมกเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จัสส ทิสฺวา  อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ)

เพราะการบรรลุธรรม ขั้นอรหัตตผล ที่สัมมาทิฏฐิแบบพุทธนั้น ตัวจิต(เจโต) ก็ต้องวิมุตติ และตัวรู้ (ปัญญา) ก็ต้องรู้ตนเองของตนเอง ว่าเรามีวิมุตติแล้ว จึงจะชื่อว่าอรหันต์ ผู้บรรลุถึงที่สุดใน อรหะ (ตามพยัญชนะ คือภาวะหมดสิ้นความลับ ในเรื่องของกิเลส ตามอัตถะก็คือ ความไกลจากกิเลส)

ซึ่งบุคคลผู้เป็นปัญญาวิมุตติ ก็คือ คนที่อาสวะของผู้นั้น หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา เป็นผู้มีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ พระพุทธเจ้า ตรัสสำนวนอย่างนี้ไว้ มีมากมาย นับไม่ถ้วน ซึ่งหมายถึง ผู้ดับอาสวะสิ้นได้แล้ว ก็ต้องสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายแน่นอน เพราะการปฏิบัติ ที่สมบูรณ์ ด้วยสัมมาปฏิบัติของพุทธ ที่พระพุทธเจ้า จะต้องสมบูรณ์ด้วย ปฏิจจสมุปบาท ที่ครบบริบูรณ์ ทั้งรูปและนาม ทั้งภายนอกและภายใน

เช่น ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ผู้จะพ้นอวิชชา หรือทำให้อวิชชา ซึ่งเป็นเหตุต้นตอ ในปฏิจจสมุปบาท ถึงขั้นดับสนิทได้นั้น ท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง ในอายตนะ ๖ - สัมผัส ๖ - เวทนา ๖ - ตัณหา ๖ - วิญญาณ ๖ จึงจะสามารถรู้จัก รู้แจ้งรู้จริง ในความเป็น สังขาร ๓ (กายสังขาร, วจีสังขาร, จิตสังขาร) - นาม ๕ (เวทนา, สัญญา, เจตนา, ผัสสะ, มนสิการ) - รูป ๒ (มหาภูตรูป, อุปาทายรูป) - ชาติ ๕ (ชาติ, สัญชาติ, โอกฺกันติ, นิพพัตติ, อภินิพพัตติ) ได้ตามพระวัจนะ ที่ตรัสในวิภังคสูตร นี้แหละ (ในสูตรอื่นๆ มีอีกมาก)

ซึ่งในอัญญติตถิยสูตร (ข้อ ๗๑ เป็นต้นไป) พระองค์ก็ทรงเน้น ให้เห็นชัดว่า หากไม่มีผัสสะ (สัมผัส) เป็นปัจจัย  ก็จะไม่เห็นทุกข์เกิดขึ้น ให้เห็นเป็นของแท้ ประเด็นนี้ พระพุทธเจ้า ทรงเน้นสำคัญด้วยนะว่า ถ้าเข้าใจไม่ถ่องแท้ตรงนี้ คนมักจะกล่าวตู่ พระพุทธเจ้า คือ กล่าวผิดเพี้ยนไปจาก คำตรัสของพระองค์ จึงผิดไปจาก ความตรัสรู้ของท่าน

ผู้มีผัสสะ (สัมผัส) จึงจะรู้ตัวยึดถือว่า ตนเองมีความ(อุปาทาน) อยู่แท้ๆ เพราะภาวะ หรืออาการ ของอารมณ์สุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ อันเกิดจากสัมผัส ๕ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย ชื่อว่าโอฬาริกอัตตา (อัตตาหยาบ) ยังมีอยู่

ในทุกขนิโรธสูตร (ข้อ ๑๖๑ เป็นต้นไป) พระวัจนะก็ทรงยืนยันชัดว่า การประชุมแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ จึงจะสามารถศึกษา ทั้งรูปธรรม (อุปาทายรูป) และนามธรรม ที่เป็นวิญญาณ – เวทนา – ตัณหา – อุปาทาน – ภพ - ชาติบริบูรณ์

ในโลกนิโรธสูตร ต่อไปอีก (ข้อ ๑๖๔) จะรู้จักโลก จะเห็นความเกิดแห่งโลก ก็เพราะอาศัย ตาและรูป จึงเกิดวิญญาณทางตา (จักขุวิญญาณ) ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ เป็นผัสสะ เป็นต้น จึงจะได้รู้จักรู้แจ้งรู้จริง เวทนา -ตัณหา -อุปาทาน -ภพ(โลก) –ชาติ -ชราและมรณะ... ซึ่งเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ ยังไม่ดับ ชนิดที่สัมผัสเห็นอยู่โต้งๆ หลัดๆ ไม่ใช่จินตามยปัญญา เท่านั้น

แล้วจึงสามารถดับภาวะที่ควรดับ ต่างๆเหล่านั้น ได้อย่างเป็นจริง เห็นของจริง มีสภาวะจริง สัมผัสอยู่โทนโท่ เป็นภาวนามยปัญญา คือ ปัญญขั้นมีผล เกิดให้รู้เห็น นี่คือ โลกหยาบ ขั้นต้น ที่จะต้องมีผล ดับเหตุได้

ดังนั้น ในใจเองนั้น ถ้าไม่มีผัสสะ ไม่ต้องอาศัยสัมผัสภายนอก โอฬาริกอัตตา ย่อมไม่เกิด คือไม่เกิด อัตตาหยาบ ซึ่งเป็นอัตตาขั้นต้น ที่จะต้องเรียนรู้ได้ก่อน ลำดับแรก ก็ไม่ได้เรียนให้งาม ทั้งขั้นต้น –ขั้นกลาง -ขั้นปลาย จึงจะลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล สง่างดงาม ตามพระอนุสาสนี

ใจโดยไม่มีผัสสะ (สัมผัส) ก็เกิดอัตตาเองได้ เรียกว่า ธรรมารมณ์ ไม่เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งในภาวะที่เป็น มโนมยอัตตา ก็คือ รูปหรืออัตตา ที่สำเร็จด้วยจิต

ส่วนในภาวะที่เป็นอรูปอัตตาก็ อรูปหรืออัตตา ที่สำเร็จด้วยสัญญา ตามที่ตนพึงสร้าง เพราะความหลงยึดติด อันยังเป็นอุปาทานอยู่ของตน อีกหนะแหละ  
  
คำพูด หรือความคิดจินตนาการ นั้น เป็นแค่โวหาร (การกล่าว, การเรียก) จินตนาการ ออกมาเรียก จะเป็นอะไรก็ได้ มีได้เป็นได้ หรือไม่มีก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ก็แค่โวหาร ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสใน ชาณุโสณิสูตร (ข้อ ๑๗๒ เป็นต้นไป) ยังไม่ใช่ภาวะความจริง - ของจริง ตามที่มีให้สัมผัสได้จริง  

หรือแม้แต่ โลกายติกสูตร (ข้อ ๑๗๕ เป็นต้นไป) ทิฏฐิก็สามารถสร้างทิฏฐิ ด้วยการรู้ การเรียนได้แค่ความเข้าใจ, ความเห็น แค่โลกายตศาสตร์ (ประดาความรู้ ของชาวโลกทั้งหลาย ปรัชญาที่ประชาชนยึดถือ ที่ยังไม่สัมมาแบบพุทธ หรือยังไม่ใช่ โลกุตรศาสตร์) จะเห็นว่าอะไรมี (อัตถิ) หรืออะไรไม่มี (นัตถิ) ก็สามารถคิดเห็น หรือเข้าใจไปได้ทั้งนั้น จะโต่งไปข้างไหนก็ได้ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ยังไม่ใช่ความจริง ยังไม่ใช่ความแท้ ตอบข้างใดข้างหนึ่งว่า นั่นถูก นี่ผิด ใดๆยังไม่ได้

ต่อเมื่อเข้าข่ายเป็นอริยสาวก คือ ผู้ได้สดับ หรือได้ฟังธรรมที่เป็นพุทธ จนมิได้มีความสงสัย อย่างนี้ ว่า เมื่ออะไรมี (โหติ) อะไรจึงมีหนอแล เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี  เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี ฯ (อริยสาวกสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๗๘ เป็นต้นไป)
     
อริยสาวกคือ ผู้ได้สดับ หรือได้ฟังธรรมที่เป็นพุทธ จนมิได้มีความสงสัยอย่างนี้ ว่า เมื่ออะไรไม่มี (น โหติ) อะไรจึงมีหนอแล เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี ฯ  
 
แม้ได้ฟังคำตรัสแล้วปานฉะนี้ ก็ไม่ใช่เชื่อเลยว่า มี (โหติ) หรือไม่มี (น โหติ) จะต้องปฏิบัติ จนมีญาณ ในปฏิจจสมุปบาท ทั้งหลายนั้น โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น นั่นคือ สัมผัสภาวะนั้นๆ โดยตนเองของตนเอง (เอโก) เห็นโดยตนเอง (เอโก) หยั่งรู้โดยตนเอง (เอโก) ทั้งนาม ได้แก่ เวทนา – สัญญา – เจตนา – ผัสสะ - มนสิการ ทั้งรู้ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (อุปาทายรูป) จึงจะชื่อว่า ถูกต้อง หรือสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ว่า อาสวะหมดสิ้นแล้ว (อัฏฐ วิโมกเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จัสส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ)

ข้อ ๑๗๙ พระพุทธเจ้าตรัสว่า โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น นี่คือ การสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ สามารถรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงวิญญาณ ว่ามี ในอริยสาวกสูตร (ข้อ ๑๗๘) และสามารถรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงอวิชชา ว่ามี ในอริยสาวกสูตร (ข้อ ๑๘๓) มิใช่ไปเข้าใจผิด หรือมิจฉาทิฏฐิไปว่า อัตตาไม่ใช่อัตตา แล้วตีขลุมว่า อัตตานั้น มีก็ไม่ได้ ไม่มีก็ไม่ได้ ขืนใครมีหรือไม่มี นั่นแหละคือ พวกมิจฉาทิฏฐิ จัดอยู่ในพวกนิรัตตา ที่แท้ ผู้เข้าใจผิด ดังว่านั้นต่างหาก คือ ผู้นิรัตตา คือ ผู้ไม่มีอัตตาชนิดที่ มีก็ไม่ได้ ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะคนผู้นี้ ยึดได้แค่ อัตตาเป็นวาทะ คือ ยึดได้แค่คำพูดเท่านั้น

ตราบที่ผู้ใด ยังยึดด้วยอวิชชา ความยึดภาวะนั้นก็คือ อัตตาอยู่ทั้งนั้น ไม่ว่ารูปหรือนาม ไม่ว่ากาย หรือใจ ผู้มีสัมมัปปัญญา หรือมีวิชชา ย่อมรู้แจ้งเห็นจริง

ดังนั้น กายสักขีบุคคล ต้องสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย เห็นด้วยปัญญา ที่เป็นสัมมัปปัญญา ใช่ไหม จึงได้ทำให้ อาสวะบางอย่าง สิ้นไปได้บ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้น อาสวะทั้งหลาย ของตน หมดสิ้นบริบูรณ์สัมบูรณ์

นั่นก็คือ การปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ถึงขั้น ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย และเห็นด้วยปัญญา ชนิดที่เรียกว่า สัมมัปปัญญา แล้วละก็ จะไม่สามารถดับสิ้นอาสวะ ไปได้สักอย่าง เพราะในวิโมกข์ ๘ นั้นสัมบูรณ์ ถึงขนาดต้องผ่าน อรูปฌาน ๔ แบบพุทธ ขอยืนยันนะว่า แบบพุทธที่ สัมมาทิฏฐินะ จึงจะบริบูรณ์ถึงขั้น สัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งเป็นนิโรธพิเศษ เป็นคุณวิเศษ (อุตตริมนุสสธรรม) แท้ เป็นของพุทธเท่านั้น นิโรธชนิดนี้ มีในขณะลืมตา ชีวิตปกติสามัญ อันแตกต่างจาก นิโรธที่ไม่ใช่ของพุทธ เพราะนิโรธแบบนั้น มีได้ในขณะหลับตา อยู่ในภวังค์   

คำตรัสนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า การปฏิบัติธรรมแบบพุทธ ต้องสัมบูรณ์ด้วย วิโมกข์ ๘ อย่างสัมมาทิฏฐิ เพราะสัมผัสเห็นอยู่ พร้อมทั้งกายภายนอก 

กายสักขี ก็คือ ผู้ที่ต้องเข้าถึงกาย เป็นพยาน (สักขี) ยืนยันกับตนเองได้ ว่า เป็นผู้มีกาย และต้อง สัมผัสกายนี้ เห็นกายนี้ ชนิดที่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง สิ่งนั้น และภาวะนั้น อยู่ทุกอิริยาบถ

คำว่ากายที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกายนี้ คือ กายที่เป็นองค์ประชุม ของรูปของนาม ครบพร้อม รูปทั้งหลายภายนอก (พหิทธา รูปานิ) และสามารถ กำหนดหมาย รู้ได้ทั้งรูปทั้งหลายภายใน และละเอียดไปถึง อรูปภายใน (อัชฌัตตัง อรูปสัญญี) กันทีเดียว

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ตั้งแต่ข้อ ๒๑๐-๒๑๘ ท่านขยายความไว้ชัดเจน ทั้งรูปภายนอก ทั้งรูปภายใน ทั้งอรูปภายนอก ทั้งอรูปภายใน จะต้องกำหนดรู้ (สัญญา) ต้องทั้งรู้ (ชานาติ) ทั้งเห็น (ปัสสติ) และเลยไปถึงข้อ ๒๒๖ จนถึง ๒๔๖ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งบุคคลทำให้มากแล้ว เพื่อความเจริญทางโลกุตรธรรม คือ เป็นไปเพื่อ ความสังเวช เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ  เป็นไปเพื่อ สติสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อ ให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ ธรรมข้อหนึ่งนั้น คือ กายคตาสติ

กายคตาสติ ท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ แปลไว้ว่า สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากาย ให้เห็นตามสภาพ ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา ซึ่งเป็นไปเพื่อความละ หน่าย คลาย ถึงขั้นมุตโต หรือวิมุตติ หรือโมกโข คือ ถึงขั้นหลุดพ้น ขั้นจบเสร็จสิ้น พ้นแล้วทีเดียว

แต่พอเป็นคำว่า อธิมุตโต หรืออธิโมกโข ท่านแปลว่า โน้มใจเชื่อ เช่น สุภันเตว อธิมุตโต (หรือ อธิโมกโข) ท่านก็แปลว่า น้อมใจไปว่างาม แล้วมันจะสมคล้อยกับ... การละ หน่าย คลาย หรือหลุดพ้น กันได้ละหรือ?

แม้ในวิโมกข์ข้อที่ ๓ ท่านก็แปลกันว่า น้อมใจไปว่างาม หรือ กสิณเป็นของงาม อาตมาก็ขอแปลว่า  จิตเจริญโน้มไปสู่สุภ ซึ่งหมายถึง ความน่าพึงใจ

ดังนั้น ในสัตตาวาส ข้อ ๔ ที่แปล สุภกิณหะ กันว่า เทพที่มีแสงรุ่งโรจน์ หรือ พวกมีลำรัศมี กระจ่างจ้า อาตมาเห็นใจ ผู้ที่ออกจากทิฏฐิ ที่ยังเป็นเทวนิยมยังไม่ได้ ย่อมยังเข้าใจอัตตา เป็นตัวตน อัตตาหรือจิตใจวิญญาณ เป็นรูปร่างอยู่ หรือเห็นอัตตา เป็นภาวะที่มี มหาภูตรูป เหมือนสิ่งที่สัมผัสได้ทาง ตาหูจมูกลิ้นกายอยู่

อาตมาก็ขอเอาตามสภาวธรรม ที่อาตมามี อาตมาก็เห็นว่า อธิมุตต มันน่าจะนัย เยี่ยงเดียวกับคำว่า อธิศีล – อธิจิต - อธิปัญญา ที่แปลกันหมายไปสู่ ทางเจริญสูงขึ้นๆ ไปหาจุดหมาย คือ วิชชา และวิมุตติ มันไม่น่าจะขัดแย้งกัน ปานนั้น

อาตมาจึงขอแปล อธิมุตโต หรือ อธิโมกโข ว่า จิตเจริญโน้มไปสู่ที่หมายดังนั้น ผู้มีสภาวธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม ขั้นอาริยะตามแบบพุทธ ก็จะเข้าใจคำว่ากาย หรือคำว่าสัญญา ที่ท่านตรัสไว้ใน สัตตาวาส ๙ ก็ดี วิญญาณฐีติ ๗ ก็ดี ว่าหมายถึง สภาวะอย่างไร ต่างกันอย่างไร อย่างเดียวกันอย่างไร
               
ต่อไปเป็นการตอบประปัญหาและประเด็น

ชินชาในการทำดีทำชั่วแบบเฉยๆทั่วๆไป ต่างจากแบบพุทธอย่างไร? 

ตอบ... คำว่าชินชา หรือชาชิน มาจากบาลีว่า คำว่า ชิน คือชนะ คำว่า ชา คือ เผา เป็นคำที่ดี แต่ในภาวะที่มันเฉย แบบไม่สนใจทำดีทำชั่ว มันเป็นอัตตา เสพอัตตาตัวเอง ทำแต่เรื่องของตัว ไม่เกี่ยวกับคนอื่น คือพวกเฉยมิจฉาทิฏฐิ เฉยแบบพาล แบบนั้นมันเฉย แบบใจดำ ต่างจากการไม่ตกเป็นทาสอารมณ์ การไม่ตกเป็นทาส สิ่งเร้าภายนอก และไม่ตกเป็นทาสอารมณ์ตน หรือทาสอัตตาตน ไม่ตกเป็นทาสสิ่งเร้าภายนอก

ผมเคยตั้งกลุ่มสนทนาธรรมมานาน ก็พบว่าคนที่เรียนอภิธรรม มักใช้ สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปลายมาอ้าง เช่นต้องเห็นว่าเป็นอนัตตาก่อน

ตอบ.. พ่อครูว่า มันต้องมีการปฏิบัติ ที่เป็นเบื้องต้น ท่ามกลางบั้นปลาย ในมิจฉาทิฏฐิสูตร ต้องรู้เห็นความไม่เที่ยงของกิเลส ในสักกายทิฏฐิสูตร ต้องรู้ทุกข์ แล้วรู้เหตุแห่งทุกข์ คือกิเลสตัณหาอุปาทาน แล้วมีการปหาน ๕ อย่างมี อนุปัสสี ๔ แล้วจึงเป็น ความไม่มีตัวตน ของกิเลสได้จริง
 
ความถนัดในงานที่เราไม่ถนัดเอาซะเลย (พ่อครูว่าคุณไม่ถนัด ก็ทำให้ถนัดก็เก่งนะ) ทั้งจิตเรา ก็ไม่คิดจะฝึก เป็นกิเลสที่ขี้เกียจ หรือเป็นความพากเพียร ที่เราต้องทำต้องฝึก เพราะเป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อส่วนรวม

ตอบ.. สิ่งที่ควรทำควรฝึก เราก็ต้องทำ มันเป็นประโยชน์ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำจะด้วยขี้เกียจ หรือรังเกียจก็ตาม คนพวกนี้ไม่เจริญ เพราะว่ามีตัว อกุศลจิตพาเป็น เราควรฝึก ถ้าทำได้ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้ไม่ถนัดก็ตาม แต่ก็น่าจะมีงาน ที่เราถนัดบ้าง ที่มีประโยชน์

หลวงพ่อเคยมีเรื่องราวที่ฝังใจลึกมากไหม ทำอย่างไรจะลบได้

ตอบ... มี คือ ต้องเป็นโพธิสัตว์ อย่างอื่นไม่มี

ถ้าไปดูดดื่มในเรื่องใดก็ตามไม่ดี ทั้งเรื่องรัก เรื่อง พยาบาท ซึ่งพ่อครูเห็นว่า ตนมีน้อย เหมือนคนใจจืด แต่ไม่ใจดำ ไม่เห็นว่าตนมีความจี๋จ๋า ในเรื่องโกรธ ในเรื่องสัมพันธ์ ก็มีสัมพันธ์กัน แต่ไม่จี๋จ๋า ในอดีต พ่อครูพยายามมีเพื่อน แรกๆก็ผูกสัมพันธ์ มีเพื่อนมาก มีแฟนตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี พออายุ ๑๕ จบม. ๖ เข้ากทม. ก็จากกันไป ยังเคยแต่งเพลง รักไกลรักใกล้ ตอนนี้ก็ลืมไปแล้ว พ่อครูมีเพื่อนหรือแฟน ก็ไม่ได้จี๋จ๋า พยายามเป็นตัวหลัก ที่จะติดต่อเพื่อนๆ  มีเพื่อนรุ่นรร.เพาะช่าง เราเรียนจบ เรามีเงินซื้อรถ ติดแอร์แล้ว แต่เพื่อนรับราชการขี่รถหลวง  เดี๋ยวนี้ก็จางคลายไป แม้แต่เพื่อนเพาะช่าง ก็ตายไปหลายคน บางคนก็หาว่า พ่อครูกบฏต่อศาสนา ชิงชังก็มี ซึ่งพ่อครูก็เข้าใจ คนเรามีสิทธิ์เชื่อตามปัญญาตน ดังนั้นในเรื่องฝังใจ พ่อครูไม่ค่อยมี พระพุทธเจ้าว่าเป็นเรื่องล้างยาก ให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องอาศัยกัน หรือเพื่อมาใช้วิบากต่อกัน บางคนเป็นลูกเป็นพ่อแม่กัน ก็มาใช้วิบากกัน บางคนก็รัก ผูกพันกันหนัก ก็มีได้ทั้งสองทิศ ต้องเรียนรู้ดีๆ ว่าทุกอย่าง เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ต้องมีปรารถนาดีต่อกัน จะทำอย่างใด ให้ละล้างได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรจะไม่พรากจากกัน

เมื่อการรับรู้เวทนาตายลง กลายเป็นสัญญา การกำหนดรู้ต้องใช้สัญญาใช่ไหม? 

ตอบ.. ไม่ใช่ การที่เราจะรู้อารมณ์ เราต้องใช้เจตสิกเชิงปัญญา เราฝึกให้มันอ่าน นามธรรม ที่เป็นอารมณ์ สุข ทุกข์ โกรธ โลภ อ่านให้ออกในปัจจุบัน โดยใช้อาการ ลิงค นิมิต อุเทศ

ต้องเรียนรู้ นาม คือรู้จัก เวทนา สัญญา เจตนา  ผัสสะ มนสิการ  เมื่อเรามีญาณ รู้ในเวทนาได้ ก็ต่อเมื่อมันมีผัสสะ แล้วกิเลสเรา จะออกมาทำงาน ให้เรารู้ว่า  เป็นเวทนาอย่างไร และจะรู้ในเจตนา (ตัณหา) เพื่อให้เรามีมนสิการอย่างใด ให้กิเลสลด เจตนาคือ  (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) ต้องรู้ในเจตนาอะไร ในนามธรรมของเรา หรือเป็นขั้นสูงในรูปภพ อรูปภพ ทั้งหมดคือการทำใจในใจ คือกระบวนการจัดแจง ปรับปรุงทำการ ให้มีอภิสังขาร แล้วก็กำจัด สิ่งที่ควรกำจัด นี่คือนามธรรม เป็นโยนิโสมนสิการ การทำใจในใจ อย่างถ่องแท้แยบคาย อย่างหยั่งรู้ ไปถึงที่เกิด

ส่วนรูปนั้นมี มหาภูมตรูป และ อุปาทายรูป อาศัยกันก่อเกิด เนื่องไปถึงนามธรรมภายใน รูปคือสิ่งที่ถูกรู้ อย่างสภาวะจิตวิญญาณ เมื่อเรามีปัญญาอ่านออก หยั่งรู้นาม นามนั้น ก็กลายเป็นรูป หรือเรียกว่า นามกาย มันไม่มีตัวตน สีสันโฉมกาย แต่เรารู้ได้ด้วย อาการ ลิงค นิมิต อุเทศ

ทำอย่างไรจะเลิกซาดิสม์หรือมาซูคิสได้...

ตอบ... ต้องเรียนรู้ว่าเรามันจัดนะ เห็นคนเขาตีกันชกกัน เขาจัดจ้านกัน ในรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส ส่วนมาซูคิส คือเกิดในใจตน สะใจของตน เจ็บปวดของตนเอง.... ก็ต้องเห็นความจริงว่า ตนเองไปเสพสิ่งแรงๆ ก็เป็นภัยสิ ก็ต้องหัดลดละไป ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นลิ้น ก็ให้ลด รสจัดๆลง

ผู้บรรลุธรรม จำไม่ได้เพราะไม่ยึดเอา ไม่ให้ความสำคัญใช่ไหม?

ตอบ... จำไม่ได้เป็นอกุศล ที่จริงจำได้มากๆยิ่งดี พระพุทธเจ้าท่านระลึกชาติ ได้มากมายเลย เราต้องฝึก ว่าจะจำในสิ่งที่ควรจำให้ดี พ่อครูไม่พยายาม ไปใช้พลังงาน ในการจำ สิ่งที่ไม่ควรจำ มาใช้จำในสิ่งที่ควรจำ

ขอทราบความหมายของอุปกิเลส ๑๖ เป็นระดับจิตใด

ตอบ... อุปกิเลส ๑๖ คือ
๑. อภิชาวิสมโลภะ คือความเพ่งเล็งกล้าอยากได้ เป็นตัวแรกเลย นอกนั้นท่านไล่เป็นเชิงพยาบาทเสีย
๒. พยาปาทะ (ปองร้ายเขา)
๓. โกธะ (โกรธ)
๔. อุปนาหะ (ผูกโกรธ)
๕. มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน)
๖. ปฬาสะ (ยกตนเทียบเท่า, ตีเสมอท่าน)
๗. อิสสายะ (ริษยา ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดี)
๘. มัจฉริยะ (ตระหนี่)
๙.    มายายะ (มารยา, มารยาทเสแสร้ง) คือสิ่งที่เป็นมารยาท
๑๐. สาเฐยยะ (โอ้อวด, การโอ่แสดง) คืออยากแสดง อยากอวดอ้างอวดโอ่
๑๑. ถัมภะ (หัวดื้อ, เชื่อมั่นหัวตัวเองมาก)
๑๒. สารัมภะ (แข่งดี, เอาชนะคะคาน)
๑๓. มานะ (ถือดี-ยึดดี จนถือสา)
๑๔. อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน)
๑๕. มทะ  (มัวเมา)
๑๖. ปมาทะ  (ประมาทเลินเล่อ)

ในหลักการที่ว่า สันตติ คือหลักปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นสันตติใช่หรือไม่?

ตอบ... สันตติคือสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป ทำให้เหมือนกับอยู่กับที่ มันเคลื่อนไหว อยู่ตลอดเวลา แต่ก็เห็นเหมือนอยู่นิ่ง หลักปฏิจจสมุปบาท เป็นการต่อเนื่องอย่าง อิทัปปัจจยตา ไม่ใช่แบบสันตติ

คำว่า ญาณ กับฌานต่างกันอย่างไร?

 ตอบ... ญาณคือความรู้ ฌานคือไฟกองใหญ่อันวิเศษ ที่เผากิเลส ถ้าอธิบายอย่างฤาษี คือการเพ่งกสิณ ให้จิตสงบ แต่ของพุทธคือ ไฟที่ทำให้กิเลสตายไป หมดไป

ความหมายที่แท้จริงของความสุขคือ  ..

ตอบ.. อยู่ที่ตรงหมดความสุขโลกีย์ เป็นความสุขที่เที่ยง ไม่แปรปรวนเที่ยงแท้ ส่วนความสุขโลกีย์นั้นไม่เที่ยง วนเวียนหลงสุขๆทุกข์ ต้องมารู้จักสุขอย่างพุทธ แต่บางคน ก็หลงอยู่เฉยสงบสุข แต่ไม่เหมือนแบบพุทธ ที่เป็นวูปสโมสุข สุขอย่างไม่มีกิเลสกวน มีแต่เรื่องดีกุศล

สุตมยปัญญา กับ จิตตามยปัญญาอะไรมาก่อน

ตอบ... อะไรก่อนก็ได้ จะคิดก่อนฟัง หรือฟังก่อนคิดก็ได้

ปฏิบัติธรรมตามลำดับจนถึงโสดาบัน....

ตอบ... ก็สอนอยู่ทุกวัน ศีล ๕ เป็นหลักต้น ไม่ฆ่าสัตว์ ก็อ่านใจ ว่ามีพยาบาทไหม เราไม่ฆ่า ใครจะฆ่า เราก็จะไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมย ไม่เอาของเขา ให้ทำด้วยตนเอง ต้องเห็นว่า มันชั่ว มันไม่เที่ยง เป็นบาป ในเรื่องกามเบื้องต้น แค่ผัวเดียวเมียเดียว มีกามคุณ ๕ พอประมาณ ให้เลิกอบายมุข ที่ติดออกมา เบื้องต้นให้ไม่สุขทุกข์ กับอบาย นั้นคือโสดาบัน

สุญญตา คืออย่างไร?

ตอบ... สุญตาคือสูญ จะสูญอย่างไร ต้องเข้าใจให้ถูก พระพุทธเจ้าท่านว่า ศาลานี้ว่างจากช้าง ศาลานี้ว่างจากคน ศาลานี้ว่างจาก.... ก็ละเอียดไปเรื่อยๆ....

คนว่ายากสอนยาก กับอเวไนยสัตว์ ต่างกันอย่างไร

ตอบ...  อเวไนยสัตว์นั้น เป็นวิบากเขา สอนไม่ได้จริงๆ แต่คนที่ว่ายากสอนยาก อาจฉลาดเป็นกลด แต่มีมานะ สอนยาก พระพุทธเจ้าปรับสังฆาทิเสส

กินมังฯมา ๗ ปีเต็ม พบมะเร็งเต้านม จึงผ่าตัด แล้วหมอบอกให้กินเนื้อสัตว์ จึงจะไม่เป็นมะเร็งอีก? แต่ดิฉันไม่กิน ญาติให้กินไข่อาทิตย์ละ ๒ ครั้ง พออนุโลมได้ไหม

ตอบ.. ได้

อายุ ๗๘ มีพยาบาลถามว่า ยายกินอะไร ไม่มีไข้ไม่มีความดัน...จึงตอบไปว่า ยายกินมังฯ

ทุกข์ที่เป็นมาก พอผ่านไปทุกข์ก็หาย สิ่งที่จำได้เป็นสัญญาใช่ไหม?...

ตอบ... ใช่ ..แต่ที่มันจางอาจไม่หมด มันหลบอยู่ก็เป็นได้

จบ