FMTV
560401_รายการเรียนอิสระ(ตามสำนึก) โดยพ่อครูและส.ฟ้าไท
เรื่อง
หมดสุขคือหมดทุกข์วิเศษสุดคือสว่าง (อรูปฌานตรวจวิญญาณขั้นอนุสัย)


ส.ฟ้าไทเปิดรายการที่บ้านราชฯ

ชาวอโศกมีกิจกรรมมากมาย ต้องเคลื่อนกายย้ายจุด ทำให้ลดความติดยึดใน โอฬาริกอัตตาได้ วันนี้เราคงต้องมาเรียนรู้ธรรม ระดับปรมัตถ์ กับพ่อครูอีก

พ่อครูว่า มาฟังต่อ ก็ย้อนเรื่องเดิม แต่จะมีนัยะใหม่ๆเสมอ คนที่ฟังอย่างไม่มี มานะอัตตา จะได้ดี ได้ของใหม่ คนที่มีมานะอัตตา จะฟังแล้ว ว่าวนอยู่ที่เดิม ซ้ำอยู่กับของเดิม

พ่อครูก็ย้ำเสมอว่า สุขมันเป็นของเท็จ ก็เอาสภาวะที่รู้มาบอก เมื่อก่อนเราก็ว่า มันไม่มีไม่ได้ แต่ว่ามันก็เป็นได้เห็นว่า มันเป็นของเท็จได้ ภาวะสุขกับทุกข์ เป็นภาวะคู่ ที่แท้จริง

ถ้าผู้ใดไม่มีทุกขสัญญา คือไม่มีความกำหนดหมาย รู้ว่าเป็นทุกข์ หรือ ไม่มีการ กำหนดหมาย ให้มองเห็นสังขารที่เป็นทุกข์ ได้จริง ผู้นั้นก็ไม่สามารถ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ทุกขลักษณะ (เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดง ให้เห็นว่าเป็นทุกข์) ได้แก่

๑. ถูกการเกิดขึ้น และการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา [ผู้อวิชชาไม่รู้สึกหรอก ว่าภาวะเหล่านั้น บีบคั้นตน ยอมเป็นทาสให้บีบคั้น ไม่สามารถเลิกความบีบคั้น นั้นได้] หรอก ว่าภาวะเหล่านั้น บีบคั้นตน ยอมเป็นทาสให้บีบคั้น ไม่สามารถเลิกความบีบคั้น นั้นได้]

๒. ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ [ซึ่งหมายถึงอนิจจัง ผู้อวิชชาไม่รู้จักหรอก ว่า ภาวะเหล่านั้น มันเป็นดังที่ อาริยบุคคลรู้จัก ดังนั้น ผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริงอนิจจัง ดังว่านี้ได้ ก็ต้องมีภูมิ อาริยบุคคล]

๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ [ผู้อวิชชานั้นรู้ไม่ได้หรอก ว่า ภาวะเหล่านั้นเป็นที่ตั้ง แห่งความทุกข์ อย่างไร อยู่ที่ไหน และไม่คิดจะหาทางขจัดภาวะนี้ ออกไปจากจิต ให้หมดสิ้น]

๔. แย้งต่อสุข หรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข
                เมื่อปฏิเสธความสุข หรือแย้งความสุข มันก็คือทุกข์ นั่นเอง
                ทุกข์ จึงตรงกันข้ามกับสุข ตลอดกาลนาน เป็นภาวะคู่ ที่แท้จริง
                ถ้ายังมีสุข ก็ยังมีทุกข์ อยู่ ต้องหมดสิ้นสุข จึงจะหมดสิ้นทุกข์ แท้

                คนที่หลงติดสุข ว่าเป็นภาวะ ที่น่าได้น่ามีน่าเป็น จึงิ้นรนแสวงหาสุข อยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดสนิท ชนิดที่ไม่เกิดอีกเลย ตลอดกาลเด็ดขาด ก็ยังมีทุกข์

                แต่โดยสามัญปุถุชน คนทั่วไปก็ตาม ก็จะมีหยุด คือมีอารมณ์ไม่สุข ไม่ทุกข์ - อารมณ์เฉยๆ แบบพักยก ตามธรรมชาติ อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่า อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือ อุเบกขา (เคหสิตอุเบกขา) นี้จะพักนาน หรือจะพักสั้น เท่านั้นเอง

               ซึ่งมันก็ยังมีภาวะบีบคั้น ในใจอยู่ เพียงแต่ผู้มี นั้นไม่สามารถรู้ตัวเองได้ 

                ความบีบคั้นให้ดิ้นรนแสวงหา เพื่อมาบำเรอเวทนา ภาวะฉะนี้แหละ ที่เป็นตัวการ จริงๆ คือเหตุ แท้ จึงเป็นตัวทุกข์ แท้

                เวทน ที่ตนติดยึด (อุปาทาน)ว่า น่าได้น่ามีน่าเป็น อยู่ จึงดิ้นรน ไม่หยุด เด็ดขาดลงได้ จะต้องให้เกิดเวทนานั้น อยู่ไม่คราใด ก็คราหนึ่งจนได้ เมื่อมันเกิดการ บำบัดอารมณ์ ที่น่าได้น่าเป็นของตน ขึ้นมาทีไร ก็เรียกมันว่าสุข

                กระนั้นโดยธรรมชาติ มันก็ยังมีโอกาสที่ ไม่ทุกข์ไม่สุข (อุเบกขา) เป็นครั้งคราว

               ทว่าผู้หลงมัวเมาติดสุข ก็ยังไม่เข้าใจความไม่ทุกข์ไม่สุข หรืออุเบกขา นี้ ว่าเป็นความสงบ จากทุกข์จากสุข (วูปสมสุข = อทุกขมสุข, อุเบกขา) แม้จะเป็นอารมณ์ ที่เกิดโดยธรรมชาติ แค่มันพักยก ก็ตาม

                ซึ่งความสงบ นี้เป็นอารมณ์ที่ดีวิเศษกว่าอารมณ์สุข เพราะอารมณ์สุข (สุขเวทนา)นั้น เกิดขึ้นเฉพาะ ขณะที่บำเรอตัณหา - อุปาทาน อยู่เท่านั้น แล้วมันก็หายวับไป เมื่อหมดสิ้นสัมผัส (ผัสสะ) ลงคราใด ภาวะ นั้นก็หายไป ไม่มีอยู่

                ซึ่งปราชญ์และศาสดาทั้งหลาย ต่างยืนยันตรงกันว่า อารมณ์สงบ นี้แหละยิ่งกว่าสุ (ปรมัง สุขัง) หรือ สุขวิเศษกว่าสุขที่ไม่สงบ (วูปสมสุข) ผู้อวิชชา หรือหลงติดสุขอยู่ นึกไม่ออกแน่ๆ

                เอ๊..! อารมณ์สงบๆ ไม่มีอารมณ์จี๊ดจ๊าดจี๋จ๋า มันจะสุขวิเศษกว่าได้ยังไง???
                อารมณ์เฉยๆ มันจะสุขวิเศษยิ่งกว่า อารมณ์ที่มีความเอร็ดอร่อย มีความสนุกความรื่นเริง ที่โลกทั้งหลาย เขาล้วนแสวงหา อารมณ์เช่นนี้กัน ได้ยังไง?????

                เขาเดาลักษณะจิตใจ ของผู้เห็นจริงเป็นจริงแล้ว ไม่ได้จริงๆ [อตักกาวจร] ว่า สุขสงบ นี้แหละวิเศษกว่าสุขแบบโลกีย์ หรือสุขที่ต้องบำเรออารมณ์ (โลกียสุข)

                เพราะเขายังหลงจมดำฤษณา อยู่กับความสุขแบบโลกีย์ ยังไม่หมดเชื้อ
                เพราะผู้อวิชชา อยู่จริง จึงไม่รู้หรอกว่า สุข ที่ต้องบำเรออารมณ์นี้แหละ คือ ตัวหลอก เป็นเท็จ (สุขัลลิกะ) แท้ๆ..มันมีทุกข์ เป็นเหตุ อยู่ ยังยึด อยู่

                เรื่องความสงบ นี้ ยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่งอีก นั่นคือ ปราชญ์แต่ละท่าน ต่างก็จะมีมรรควิธ สร้างความสงบ หรือก่อให้เกิดความสงบ นี่แหละสำคัญมาก

               ดังนั้น ผล ที่เป็นความสงบ ก็ย่อมมีกาย แตกต่างกัน
                กาย คำนี้หมายความว่า องค์ประชุมของภาวะ สงบในจิตใจ ที่แตกต่างกัน (เป็นวิญญาณฐิติข้อ ๔) ภาวะของความสงบ ที่เป็นอารมณ์ หรือเป็นความรู้สึก นั้นแหละแตกต่างกัน

        วิญญาณฐิติข้อ ๔ กายอย่างเดียวกัน สัญญาอย่างเดียวกัน ปฏิบัติได้ความดับ เหมือนกัน ของฤาษีก็ดับได้เสพสภาพความมืด เขาไม่ได้นิโรธจริง ที่เป็นภาวะ ความดับกิเลส เขาได้แต่ภาวะความมืดที่สงบเหมือนกัน ของพุทธคือดับกิเลส ก็สงบได้จริง กายก็นิโรธคือ ไม่มีนิวรณ์อย่างเดียวกัน เวทนาของพุทธ เป็นเนกขัมสิตอุเบกขา ของฤาษีเป็น เคหสิตอุเบกขา สัญญาว่าดับเหมือนกัน แต่ว่าของฤาษี เป็นความดับเก๊ ของพุทธได้ความดับแท้ แจ้งสว่างเลย นิโรธแจ้งสว่างเลย

                ทำดับแบบมืดนั้นง่าย แต่เขาไม่ได้ดับกิเลส ของพุทธนั้น ดับแบบสว่างแจ้ง เขาก็เห็นว่า ไม่มีความสุข ในเหนือกว่าความสงบเหมือนกัน ของพุทธดับแบบสว่าง ดับอย่างยั่งยืน ไม่กลับกำเริบ

                ซึ่งผล ที่ได้มาเป็นความสงบ อย่างไร ก็ย่อมมาจากวิธี อย่างนั้น ที่เป็นเหตุ ให้เกิดผล นั้นๆ

               วิธี (มรรค)ของปราชญ์ท่านใดล่ะ ที่จะทำความสงบ ได้ดีวิเศษกว่ากัน ซึ่งวิธี ของแต่ละปราชญ์ หรือของแต่ละอาจารย์ ผู้รู้ทั้งหลาย นี่แหละคือ ทิฏฐิ หรือคือทฤษฎี หรือคือ หลักปฏิบัติ ที่สำคัญยิ่ง ที่ผู้แสวงหาต้องค้นหาให้ได้

                ผู้ใดจะสามารถทำให้ความสงบ ของตน สงบ ได้จริงแท้ แน่นอน ถาวร ยั่งยืน สุขุม ลึกซึ้ง วิเศษจริง และมีคุณค่าประโยชน์ สูงสุดยิ่งกว่ากัน

                ซึ่งลัทธิทั้งหลาย ที่แสวงหาความสงบ เช่นกันนั้น ล้วนยังค้นหาตัวตน ของเหตุที่เป็น “ตัวกา” ก่อความไม่สงบ คือ อัตตา หรืออาตมัน หรือปรมาตมัน ไม่ได้ ซึ่งตัวการแท้ตัวนี้ก็คือ อวิชชานุสัย นั่นเอง เขายังไม่สามารถ สัมผัสอัตตา ได้

                อันความเป็น อนุสัย นี้แหละ ต้องทำความเข้าใจให้สำคัญดีๆ มันคือ กิเลส ระดับละเอียด ระดับลึก ระดับปลาย ระบสุดท้าย ระดับที่ต้องหา วิธีไล่จับมัน เข้าไปให้ถึง.. ที่ลึก หรือ หาวิธีดันมัน ไล่มันออกมาจากก้นบึ้ง ของจิตใจให้ได้..ให้ตื้น

                เพราะแม้จะเป็นความหยาบ ในขั้นกามภพ ที่เป็นความหยาบใหญ่ ขั้นต้นนี้ มันก็ยังมี ขั้นต้นของกามภพ นั้น ๑ ขั้นกลางของกามภพ นั้น ๒ และที่สุด ขั้นปลายของกามภพ นี้ ๓ จึงจะเรียกว่า กามานุสัย

                และแม้แต่ความหยาบที่รองลงไป ในขั้นรูปภพ-อรูปภพ ที่เป็นความหยาบ ขั้นรอง และ ขั้นปลาย มันก็ยังมี ขั้นต้นของ รูปภพ-อรูปภพ นั้น ๑ ขั้นกลางของรูปภพ-อรูปภพ นั้น ๒ และที่สุด ขั้นปลายของรูปภพ-อรูปภพ นี้ ๓ จึงจะเรียกว่า ภวราคานุสัย หรือ ภวานุสัย แล้วจึงจะปลายที่สุด แห่งที่สุด คือ อวิชชานุสัย

                ซึ่งมันมีลึกเข้าไปในอัตตา ถึงที่สุดแห่งที่สุดคือ อวิชชานุสัย ปานฉะนี้ทีเดียว จึงจะเป็นขั้นสุดท้าย ที่เรียกว่า ละเอียดขั้นปลายสุดแท้ ของอรูปภพ  

                อากาสานัญจายตนะฌาน คือความว่างของแก้ว หรือความใสความว่าง ของลูกแก้ว วิญญานัญจายตนะ คือแก้วที่ว่างๆ หรือลูกแก้วที่ใสที่ว่าง แล้วเมื่อกระทบ สัมผัสอยู่ มันจะมีอะไรไม่ว่างไหม คือ อากิญจัญญายตนฌาน มีการสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย อยู่เป็นความว่าง อย่างไม่ได้สร้างภพ แต่คือการล้างภพไปเรื่อยๆ จึงจะเกิด ความอเนญชา ได้อย่างตั้งมั่น ส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนะ คือต้องกำหนดรู้ ให้สิ้นเกลี้ยงเลยว่า อากาสา - วิญญานัญจา - อากิญจัญยายตนะ มันเป็นอย่างไร ให้ชัดเจน ส่วน สัญญาเวทยิตนิโรธ คือสัญญา เคล้าเคลียอารมณ์ ให้หมดจด สะอาดเกลี้ยงแท้ ไม่มีอะไร แม้แต่ธุลีละออง พ้นอวิชชานุสัย              

                อนุสัย ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้จึงมีถึง ๗ ชนิด เรียงลำดับต้น, กลาง, ปลาย
                ได้แก่ ๑.กามราคานุสัย ๒.ปฏิฆานุสัย ๓.ทิฏฐานุสัย ๔.วิจิกิจฉานุสัย ๕.มานานุสัย ๖.ภวราคานุสัย ๗.อวิชชานุสัย

                อนุสัย ๗ มีนัยสำคัญที่ต่างกันกับ สังโยชน์ ๑๐ ก็คือ อนุสัย นี้หมายถึง กิเลสปลายสุด ส่วนสังโยชน์ นั้นหมายถึง หลักการใหญ่ ที่จะใช้วัดระดับ แห่งการปฏิบัติธรรม จึงแบ่งอออกเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นต้นกับชั้นปลายอีกที ซึ่งเรียกว่า
โอรัมภาคียสังโยชน์ เป็นชั้นต้นมี ๕ อุทธัมภาคียสังโยชน์ เป็นชั้นปลายมีอีก ๕

                ปราชญ์ที่ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีทั้งมรรควิธี และทั้งผล ที่ไม่เหมือนใคร ในมหาจักรวาล และ มีได้เฉพาะหนึ่งเดียว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้นในเอกภพ

                พระพุทธเจ้าจึงมีมรรควิธี ของพระองค์โดยเฉพาะ หนึ่งเดียวเท่านั้น
                นั่นคือ มรรคอันมีองค์ ๘ หรือเรียกเฉพาะว่า สัมมามรรค หรือ สัมมาอริยมรรค ที่ปฏิบัติอย่างเป็นระดับ มีขั้นต้น - ขั้นกลาง - ขั้นปลาย ที่มีระบบระเบียบงามยิ่ง ธรรมะที่เป็นระดับของ พระพุทธเจ้านี้ ลาดลุ่มงามเรียบราบวิเศษ ยิ่งกว่าฝั่งทะเล

                ผู้ที่ไม่มีความรู้ (อวิชชา) นั้นหมายถึง ไม่มีความรู้ธรรมะ ที่พระพุทธจ้าตรัสรู้
                ซึ่งเป็นความรู้ของพุทธโดยเฉพาะเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็น ผู้อวิชชา
                ไม่ใช่..ไม่มีความรู้ ที่เป็นความรู้สารพัดอื่น ต่างๆใดๆ ทั่วไปในโลก

                เพราะคำว่า อวิชชา ก็ดี วิชชา ก็ดี หรือวิชชา ๘ ก็ดี หรือแม้แต่คำว่า อวิชชา ๘ หรืออวิชชา ต่างๆใดๆที่ใช้ภาษาคำนี้ ต้องอยู่ใน บริบทแห่งพุทธธรรม ที่สัมมาทิฏฐิ ของพระพุทธเจ้า เท่านั้น ซึ่งเป็นความรู้ (วิชชา) หรือความไม่รู้ (อวิชชา) ที่พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ (สัมมาสัมพุทโธ) พระองค์รู้เอง ของพระองค์เอง ที่มีเอง (สยัมภู) ซึ่งไม่มีปราชญ์ใด ในมหาจักรวาล จะสามารถค้นพบ พุทธธรรม ที่เป็นความรู้เฉพาะของพุทธ เองนี้เองได้ นอกจากพุทธแท้เอง

                ถ้าแม้นไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระโพธิสัตว์ ทั้งหลาย, พระอเสขบุคคล, พระเสขบุคคล ซึ่งล้วนเป็นผู้มี สัมมาทิฏฐิ ในพุทธธรรมมาแล้ว จากพระพุทธเจ้า องค์ก่อนๆ สืบทอดกันมา ในส่วนที่ สัมมาทิฏฐิ ของแต่ละท่าน แล้วได้เปิดเผยพุทธธรรม นั้นขึ้นแก่โลก ก็จะไม่มีพุทธธรรม นั้นเกิดขึ้น ในโลกได้ ไม่ว่าจะมีปราชญ์ หรือศาสดาอื่นใด ในมหาจักรวาล ก็ไม่มีท่านใด จะสามารถรู้ พุทธธรรมนี้ได้เองเลย

                ดังนั้น ผู้สัมมาทิฏฐิ จริงเท่านั้น จึงจะพูดธรรมะที่เป็นพุทธ ถูกต้องจริงได้ เพราะมีญาณ สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ในความเป็นอัตตา ต่างๆ จึงเป็น ผู้มีความเห็น ว่าเป็นตัวตน (อัตตทิฏฐิ) ผู้สามารถมีความถึงพร้อมด้วยตัวตน (อัตตสัมปทา)

                จึงมีภาวะตามเห็นตัวตน (อัตตานุทิฏฐิ) จึงเห็นความรักตัวตน (อัตตกาม) เห็นการทรมานตน, การทำตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถะ) เห็นภาวะที่เป็นของตน (อัตตนีย) เห็นการมีตัวตน, การได้ตัวตน (อัตตปฏิลาภ) เห็นความเป็นตัวตน (อัตตภาพ) โดยเฉพาะจะ เข้าใจการยึดได้แค่ “คำพูด” ว่าเป็นตัวตน (อัตตวาทุปาทาน)

                ผู้มีอวิชชา ก็ดี อนุสัย ก็ดี นี้แหละคือ ตัวตน แห่งผีร้ายของตน ที่ตัวเองรู้ตัวตน ของตัวเองได้ยากยิ่งที่สุด

                หรือ แม้จะสามารถจับตัวตนของอัตตาได้แล้ว ก็ต้อง มีวิธีดับที่วิเศษสำคัญ อีกด้วย ถ้ายังไม่มี แม้แค่วิธีดับที่วิเศษ ก็ยังไม่สามารถดับตัวเหตุ ให้หมดเกลี้ยงสิ้นสนิท จนกระทั่ง ดับตัวตน ของเหตุหมดสิ้น อย่างละเอียดสัมบูรณ์ได้

                ด้วยประการฉะนี้เอง คำตรัสที่ว่า อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อม ด้วยตัวตน) ที่พระพุทธเจ้า ทรงเปรียบเหมือน แสงอรุณ ซึ่งต้องมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ขึ้นนั้น หมายถึง การปฏิบัติมรรค อันมีองค์ ๘

                ดังนั้น แสงอรุณ คือ มีความถึงพร้อมด้วยตัวตน (อัตตสัมปทา) ต้องมาก่อน ใช่ไหม ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสอยู่ชัดๆ ก่อนจะถึงพร้อม สัมมามรรค อันมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติอันเอก ได้

                เห็นชัด เข้าใจชัด ไหม ว่า มันต้องมีความถึงพร้อมด้วยตัวตน ก่อนอยู่โต้งๆ จึงจะเป็น ผู้มีสิทธิ์ปฏิบัติมรรค อันมีองค์ ๘ ได้

                ดังนั้น ถ้าใครไปหลงเพียงติดแค่คำพูด ว่า ทุกสรรพสิ่งไม่ใช่ตัวตน แล้วก็หลงผิด ว่า ตนได้บรรลุอนัตตา ไม่ต้องปฏิบัติ ให้ถึงพร้อมตัวตน ให้ได้ก่อน มันก็ปฏิบัติมรรค อันมีองค์ ๘ ไม่ได้ หนะซี! เพราะไม่มีภาวะแห่งตัวตน นั้นๆ ที่เป็น ภาวะแห่งตัวตนของทุกข์ ก็ดี ภาวะแห่งตัวตน ของสมุทัย ก็ดี ที่จะต้องปหาน ตามหลักอริยสัจ ๔ เลย ผู้หลงผิดเช่นนี้ ก็เป็นอัน มิจฉาทิฏฐิ แน่นอน

                ความจริงนั้น ความไม่ใช่ตัวตน หรืออนัตตา นั้น เป็นผล ขั้นปลายแห่งการ หมดสิ้นตัวตน ต้องบรรลุความหมดตัวตน สำเร็จแล้วจริง ผู้ปฏิบัติมีสภาวะ นั้นๆ จริงแล้ว จึงจะเห็นจริง ว่า ตัวตนใดๆ มันก็ไม่ใช่ตัวตน

                ไม่ใช่หลงแค่ความเข้าใจ พอได้ความเข้าใจ เท่านั้น แล้วก็หลงผิดว่า เราได้อนัตตา เราได้ความไม่ใช่ตัวตน แล้ว นั่นมันได้แค่คำพูด ที่ตนเองมี ความเข้าใจ ในคำพูดนั้น มาไตร่ตรอง ขบคิดเข้าใจเท่านั้น

                ผู้นี้ยังไม่ได้มีภาวะถึงพร้อมตัวตน หรือเข้าถึงตัวตน ก่อน (อัตตสัมปทา) ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในเรื่อง แสงอรุณ ในสุริยเปยยาลสูตร อยู่ชัดๆ

                ยังไม่ใช่ได้สภาวะแห่งความหมดตัวตนแล้ว แล้วผู้ปฏิบัติจึงจะมี ญาณทัสสนวิเศษ สัมผัสเห็นความไม่มีตัวตน ที่ตนบรรลุผลแล้วนั้น ผู้นั้นจึงจะเห็นแจ้งได้ว่า อ๋อ..ความเป็นตัวตน มันไม่ใช่ตัวตน มันเป็นเช่นนี้เอง (คือตถตา)

                ผู้ยังไม่มีภาวะแห่งความหมดตัวตนในตน ก่อน แล้วไปหลงว่า ตนเห็นความไม่ใช่ตัวตน นั้น ผู้นั้นคือ ผู้มีความยึดได้แค่คำพูด ว่าเป็นตัวตน ฉะนี้เองแล ผู้มีอัตตวาทุปาทาน ตัวแท้ๆ  

                ด้วยความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แท้ทีเดียว ศาสนาพุทธ จึงสามารถพิสูจน์ ด้วยของจริง ทำจริงบรรลุผล สำเร็จจริง แล้วยัง ตรวจแล้วตรวจอีก ด้วยทั้ง อรูปฌาน หรือ วิโมกข์ ๘ และทั้งปฏิบัติ จนกระทั่ง เกิดความตั้งมั่น ด้วยกาละ ๓ คือ อดีต - ปัจจุบัน - อนาคต โดยการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วย อาเสวนา – ภาวนา - พหุลีกัมมัง จนมั่นใจใน สัจจญาณ – กิจจญาณ - กตญาณ จึงถึงที่สุดแห่งความสงบ สัมบูรณ์แท้

                ดังนั้น ผู้ที่แม้แค่ความสงบ ก็ไม่มีปัญญารู้ว่าวิเศษกว่าสุข ผู้นี้ก็แก้ยากแน่

                คนที่ยังหลงผิด เชื่อว่า สุข ที่เป็นรสโลกีย์ (อัสสาทะ) มันเป็นของถาวร มันมีอยู่จริง ก็เพราะผู้นั้น ยังยึด มันไว้อยู่ในอนุสัย  

                ความยึด ว่าสุข อย่างนี้ๆเอง ที่ยึดว่าจริง ยึดว่าสูญสิ้นไปไม่ได้ ตนยังต้องได้ ต้องมี ฉะนี้แลคือ อุปาทาน ที่ฝังลึกอยู่สุดลึกในใจ อยู่นั่นแหละ..นี่หนึ่ง

                อีกอย่างหนึ่ง..ก็คือ ไปหลงสัญญา ซึ่งเป็นแค่ความจำ เท่านั้น ว่า เป็นความจริง คือ หลงเอาความจำ มาเป็นความจริง สดๆ นี่ก็หลงผิด แล้ว

                ที่แท้อารมณ์สุข นั้นมันมีความจริงสดๆ ขณะที่กำลังมีสัมผัส (ผัสสะ) อยู่จริงเท่านั้น แล้วมันจะหายวับไปทันที ตั้งแต่ไม่มีผัสสะ (สัมผัส)

                เมื่อหยุดผัสสะ ก็ไม่มีความจริงสดๆ ที่มี ที่เป็นอยู่ มันหายไปแล้ว
                ผู้แยกแยะได้ว่า ความจ ไม่ใช่ความจริง เพราะมีอาการแตกต่างกัน

                ภาวะที่สัมผัสอยู่สดๆ หลัดๆนี้ จริงกว่าภาวะที่เราไม่ได้สัมผัส อยู่สดๆ จริง ณ บัดนี้ ฉะนี้คือ วิทยาศาสตร์ ที่จริงทั้งเป็นสิ่ง มีอยู่โทนโท่ และ ทั้งปัจจุบันกาล

                ความจำ มันเป็นของแห้ง ที่ธรรมชาติของจิต มันเก็บไว้ได้เท่านั้น

                คนผู้ที่มีภาวะสดๆ สัมผัสอยู่ ก็รู้สึก หิริ ถึงขั้น โอตตัปปะ ในภาวะสดนั้นได้แล้ว

                โอตตัปปะ คือ ไม่ใช่มันแค่ละอายต่อบาป (หิริ) เท่านั้น แต่มันถึงขั้น กลัวบาป เลยทีเดียว มันจึงไม่กล้าทำบาปนั้น โดยเฉพาะในกามภพ  แต่ยังเหลือ ภาวะแห้ง อยู่บ้าง นั่นคือ ผู้สิ้นทุกข์ภายนอกได้  ถือว่า สิ้นกิเลสในกามภพ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง ถาวรยั่งยืน ก็นับเป็นผู้เข้าสู่ อนาคามีภูมิ  

                ผู้แยกความแตกต่างได้ว่า การระลึกเอาของแห้ง ขึ้นมา ระลึกเมื่อใด ก็เป็นของแห้ง เมื่อนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ของสด แล้วเห็นได้ว่า สดกับแห้งนี้ เข้าใจได้ว่า สด มันจริงกว่าแห้ง มันเป็นความจริง กันคนละระดับ ผู้นั้นก็มีภูมิรู้ ยิ่งกว่าสามัญ

                ผู้บรรลุธรรมสัมบูรณ์ของพุทธนั้น หมดสิ้นความสุขความทุกข์แท้ ในภาวะที่เป็นทั้งของสด ทั้งของแห้ง กล่าวคือ มีหรือไม่มีของสด อยู่ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์ มีหรือไม่มีของแห้ง อยู่ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์  หมายความว่า มีหรือไม่มี ก็ไม่สุขไม่ทุกข์

                แต่ความจำ ก็ยังมีได้ มีของแห้ง ได้ แม้ว่า ผู้นั้นจะระลึก นึกดึงเอาความจำ หรือของแห้ง นั้นๆมารู้อีกเห็นอีกอย่างไร มันก็ไม่มีความสุข และ ไม่มีความทุกข์ กันอีกแล้ว ซึ่งความจริงสดๆ นั้นไม่มีความสุข-ความทุกข์ แล้ว

                ผู้บรรลุพุทธธรรมต้องมีถึงขั้นดังว่านี้
                ดังนั้น แม้สัมผัส อยู่สดๆ มันก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ได้พิสูจน์กับตัวเองแล้วจริง
                และเป็นความสงบ ที่ปราศจากความสุขความทุกข์ ถาวรยั่งยืน ตลอดไป

                ความสงบ ที่..ไม่มีทั้งความสุข และไม่มีทั้งความทุกข์ นี้ แม้เราจะสัมผัสอยู่ กับเหตุปัจจัย ที่เราเคยหลงว่าสุข นั้นปานใด สำหรับผู้ บรรลุธรรมแบบพุทธ ที่เป็นโลกุตระ จริงนั้น จะไม่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้ง ๒ อย่าง

                แม้บัดนี้เราจะสัมผัสมันอยู่อย่างไร จิตใจเราก็ไม่มีอารมณ์สุข
                เพราะทุกข์ ที่มีเหตุปัจจัย เราได้กำจัดเหตุ นั้นหมดสิ้นแล้วสนิท
                ทุกข์ ก็ไม่มี เหตุแห่งทุกข์ ก็ไม่มีในใจเราอีกเลย
                สุข จึงไม่มี เพราะเหตุ แท้ เราได้ดับมันสนิท ไม่เกิดอีกถาวรแล้ว

                พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมาแต่เหตุ เมื่อเหตุ ดับ ทุกสรรพสิ่ง ย่อมดับ จึงเป็นสัจธรรมที่จบบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้

                เห็นได้ไหมว่า ทุกข์ ต่างหากที่มันเป็นสัจจะ ยิ่งกว่า เป็นต้นตอ ยิ่งกว่าสุข เพราะสิ่งนี้มี (คือทุกข์) สิ่งนั้นจึงมี (คือสุข) พระบรมศาสดา จึงตรัสเรียกทุกข์ ว่าทุกขสัจจ์  มีคำว่าสัจจะ กำกับอยู่ชัดๆ ส่วนคำว่าสุข นั้นท่านกลับตรัส เรียกสุข ตัวนี้ไว้ชัด อีกเช่นกันว่า สุขัลลิกะ มีคำว่าอลิกะ กำกับอยู่แท้ๆ

                ที่ว่าทุกข์ มันจริงกว่านั้น เพราะทุกข์ที่มีเหตุแห่งทุกข์ ของผู้อวิชชา นี้ มันฝังอยู่ในใจคน ผู้อวิชชา เรียกด้วยภาษาว่า อุปาทาน มันเป็นอนุสัย เชียวนะ

                อนุสัย นี้คือ กิเลสที่ฝังลึกอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ, กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน นี่แหละคือ จิตสันดานที่ต้องชำระ ให้หมดสิ้นเกลี้ยง ให้ได้

                อนุสัย หรือกิเลสตัวอื่นๆ ก็ล้วนเป็นตัวตนที่หยาบกว่า ตัวตนที่เรียกด้วยคำว่า อนุสัย ทั้งนั้น

                จริงๆนั้นอนุสัย หรือกิเลสทั้งหลาย มันไม่ใช่ตัวต ที่แท้จริงอะไรเลย มันแค่เป็น อาคันตุกะ แค่ตัวอื่น ไม่ใช่ตัวเรา แต่มันเข้ามาเยือนจิตใจเรา แล้วเราก็โง่ (อวิชชา)ไปหลงยึด ว่ามันเป็นตัวเรา มันจึงมีตัวตน (อัตตา) ฝังลึกอยู่ในตัวเรา ด้วยความโง่ คืออวิชชา แท้ๆ ที่เรียกว่าอนุสัย นี่ไง!

                คนที่หมดสิ้นอวิชชาสวะ หรือ อวิชชานุสัย จึงจะหมดสิ้นตัวตนเกลี้ยง  

                ถ้าใครมัวไปหลงอยู่แต่ว่า กิเลส ที่เราจะต้องเรียนรู้ตัวตน (อัตตา) ของมัน ที่มันฝังตัว อยู่ในจิตใจเรา แม้เราจะเข้าใจ ในความหมายแล้วล่ะว่า มันไม่ใช่ตัวตน, มันไม่ใช่ตัวเรา อะไรนั่นหรอก แต่มันมีตัวตน ในตัวเรา ไหมล่ะ?

                เราหมดสิ้นอวิชชาสวะ หรือ อวิชชานุสัยแล้วหรือ? กำจัดละล้างตัวตน ขั้นอนุสัย สุดท้าย ออกไปได้ หมดสิ้นเกลี้ยง จนเด็ดขาด จนกระทั่ง ไม่มีการวนกลับ มาเกิดอีก (อสังกุปปัง) ได้จริงแท้หรือยัง?  

                ถ้าผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริงว่า ในจิตใจเรานั้น หมดสิ้นอวิชชานุสัย แล้วจริง ราก็ไม่มีตัวตน ใดๆอีกแล้ว แต่ถ้าใครตรวจจิตใจตนเองได้ว่า ยังมีอนุสัย   

                ตราบใดที่ยังกำจัดชำระล้างอนุสัย ออกจากจิตใจไม่หมด ก็ยังไม่หมดตัวตน ยังไม่หมดสิ้น ทุกขอริยสัจ ยังไม่ชื่อว่า อรหันต์

                จึงยังเป็นผู้หลงใหลสุขโลกีย์ นี้อยู่ ว่า สุข นี้แหละ ต้องได้ต้องมีต้องเป็น เพราะไม่เห็นว่า สุข นี้เป็นเท็จ (อลิกะ) สุข นี้มันไม่ใช่ของจริง (อลิกะ) สุขนี้ มันผ่านมาหลอกคน แล้วก็ผ่านไป ไม่มีอะไรเหลือ, ว่างเปล่า, ไร้ประโยชน์ (ตุจฉ)

                ทุกข์ ต่างหากที่จริงกว่า บีบคั้น เราอยู่ ประจำชีวิตของผู้อวิชชา ตลอดที่มันยัง ไม่หมดตัวตน สิ้นเกลี้ยง ไปจากจิตใจเรา แล้วมันก็ บังคับให้ผู้อวิชชานั้น หลงเป็นทาส หาทางบำบัดทุกข์ อยู่ทุกลมหายใจ ที่ยังมีตัวตน

                ผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตัวตน แล้วกำจัดออกได้หมดสิ้น จนกระทั่งไม่มีตัวตน (อนัตตา) จึงเห็นชัดแจ้งได้ ว่า มีแต่ทุกข์ เท่านั้น เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป

                เพราะเห็นจริงว่า กามาวจร คือ ในขณะที่เรา ดำเนินชีวิตท่องเที่ยว อยู่กับกามภพ เป็นสามัญแล้ว ก็ยังเสพสุข รวมทั้งท่องเที่ยวอยู่กับ รูปภพ (รูปาวจร)ในภาวะที่ภูมิสูงขึ้นด้วย เราก็เสพสุข ตามที่มียืนยันอยู่ใน ปุญญาภิสังขาร นี้ จึงต้อง ชำระจิตสันดาน คือทำบุญ นี้ให้หมดจด กระทั่งสูงขึ้น สู่ความเป็น อปุญญาภิสังขาร จึงจะเห็นความจริงระดับ ปรมัตถธรรม ทุกภพทุกภูมิ อย่างสัมบูรณ์  

                จึงรู้ตัวเองว่าเป็นคน ผู้ยังไม่หมดอวิชชา เพราะรู้จักสังขาร ฉะนี้เอง

                แล้วก็ปฏิบัติความเป็นสังขาร นั้นๆอย่างมีวิชชาให้ได้ (อภิสังขาร) จนกระทั่ง สามารถชำระจิตสันดาน ให้หมดจด (ปุญญ)ได้ไปตามลำดับ ถึงขั้นสำเร็จ ก็เข้าสู่ภูมิ อปุญญาภิสังขาร ซึ่งปฏิบัติที่ รู้จักรู้แจ้งรู้จริงกิเลส ทั้งในกามาวจร และรูปาวจร จึงเหลือก็แต่ อรูปาวจร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในภูมิที่เป็น อาเนญชาภิสังขาร

                ผู้ใดไม่รู้ภพภายนอก ตั้งแต่กามาวจรและรูปาวจร จึงขาดธาตุรู้ คือ วิญญาณ ๖ ที่ต้อง ร่วมรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ทั้งรูปธรรม และนามธรรม ครบหมดทุกภพภูมิ

                หากขาดธาตุรู้ คือ วิญญาณ ๖ ก็รู้รูปธรรมนามธรรมภายนอก ไม่ได้

               จะรู้ความเป็นกาย ไม่ครบ ก็ไม่สามารถจะ สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๕๑ สำเร็จสัมบูรณ์ไม่ได้

                การปฏิบัติธรรมของพุทธ จึงต้องมี วิญญาณ ๖ ทำงานร่วมอยู่ตลอด จึงจะชัดเจนใน วิญญาณฐิติ ๗ และมีวิโมกข์ ๘ สัมบูรณ์ 

                แต่ถ้าปฏิบัติปิด ทวารภายนอก หมดสนิทแล้ว ก็ย่อมไม่พ้นอวิชชา แน่นอน

                จึงไม่สามารถรู้กาย ต่างๆตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในวิญญาณฐิติ ๗ หรือ สัตตาวาส ๙ เพราะไม่มีวิโมกข์ ๘ ที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า

                วิญญาณฐิติ ๗ คือธาตุรู้คือวิญญาณ ๗
๑. สัตว์บางพวก กายต่างกัน สัญญาต่างกัน (คือปุถุชนทั้งหลาย) เช่น พวกมนุษย์ เทพบางเหล่า พวกวินิปาติกะ บางเหล่า เช่นฝรั่งหรือไทย ก็เข้าใจเทวดาต่างกัน เห็นผีในลักษณะต่างกัน คือไปสัญญาบวกกับอุปาทาน ปั้นออกมาเป็น มโนมยอัตตา ต่างกัน ผีฝรั่งก็ไม่เหมือนผีคนไทย ผีกระสือของแต่ละคน ก็กำหนดหมายต่างกัน เทวดาก็ต่างกัน มนุษย์ก็ต่างกัน แม้ในจิตวิญญาณ

๒. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน  เช่น เหล่าเทพจำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิ ปฐมฌาน เป็นต้น เช่นพุทธสัมมาทิฏฐิ กับพวกมิจฉาทิฏฐิ ก็สัญญาว่า ไม่มีนิวรณ์ เหมือนกัน แต่ว่า พุทธแท้จะลืมตาปฏิบัติ ปฐมฌาน ฤาษีกับแบบพุทธ จะมีกายต่างกัน แต่สัญญาอย่างเดียวกัน ตรงกันที่ ไม่มีนิวรณ์ ๕ นั้นสัญญาตรงกัน แต่ได้สภาวะ ขององค์ประชุมต่างกัน การนั่งหลับตา ก็ได้สภาวะ ไม่มีนิวรณ์ อยู่ในภวังค์ แต่ของพุทธ ลืมตาเปิด ก็ได้สภาวะไม่มีนิวรณ์ กายก็ต่างกัน ลืมตากับหลับตา


ส.ฟ้าไท พ่อครูอธิบายซ้ำ ก็มีความต่างไปอีก ละเอียดชัดเจนขึ้นอีก ขยายขึ้นอีก ให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้น ได้รู้ว่าสุขกับทุกข์ เป็นภาวะคู่กัน สุขเป็นของหลอก ทุกข์เป็นของแท้

การตรวจสอบโดยอรูปฌาน ๔ พ่อครูก็อธิบายละเอียดมาก มีรูปธรรมของแก้ว กับลูกแก้ว มาเปรียบเทียบ ทำให้เข้าใจ ในสภาวะธรรมมากขึ้น ของพุทธ มีการตรวจสอบ ที่ละเอียดมาก ไม่ไว้ใจกิเลส แม้แต่เล็กน้อย ... สุดท้ายเราได้เรียนรู้เรื่อง อัตตสัมปทา ได้รู้ว่าอัตตวาทุปาทาน ชอบพูดโก้ ว่าไม่มีตัวตนหรอก เราต้องหัด ฉีกหน้ากิเลสมากขึ้น

.....จบ