560510_รายการเรียนอิสระ(ตามสำนึก) โดยพ่อครูและส.เพาะพุทธ
เรื่อง ดับตัวการในสังขารนั่นแหละคือนิโรธ

         ส.เพาะพุทธเปิดรายการที่ห้องกันเกรา สันติฯ ...

วันนี้พ่อครูจะนำเสนอเกี่ยวกับพระไตรฯ ล.๑๖ ข้อที่ ๑๙ เป็นต้นไป เป็น ปฏิปทาสูตร ที่จะปฏิบัติ ปฏิจจสมุปบาท อาจต่อเนื่องไปถึง วิปัสสีสูตร

วันที่ ๑๕ พ.ค. พ่อครูก็คงจะไปที่บ้านราชฯ ที่จะมีการจัดงานอโศกรำลึก ปีนี้จัดที่ บ้านราชฯ เมื่อสักครู่ พ่อครูใช้เวลาในการปล้ำปลุก กับนาฬิกาอันเก่า ที่พ่อครู ใช้มานาน เป็นเวลา ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว เป็นนาฬิกานี่ ต้องอยู่ในพิพิทธภัณฑ์แน่นอน พ่อครูสามารถ ใช้นาฬิกาเก่านี้ ได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นคนอื่น ก็จะหายไปหลายเครื่องแล้ว ได้ทราบจาก พระไตรฯ ว่าตระกูลจะตั้งอยู่ได้นาน ก็ต้องซ่อมของไว้ใช้ได้ เป็นต้น

พ่อครู....วันนี้ก็เข้าสู่เนื้อหาในพระไตรฯ ล.๑๖ ที่ท่านเรียบเรียงไว้ดีมาก ในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท

การกำหนดบริบทใน ปฏิจจสมุปบาท ต่างจากที่อื่น เช่น เวทนา ๖ ถ้าจะมีคนแย้งว่า เวทนามี ๓ อันนั้น มันคนละบริบทกัน หรือตัณหา ๖ กับตัณหา ๓ ก็เช่นกัน

ใน นามรูป ซึ่งท่านแจกเรื่อง นาม ว่าต้องกำหนดว่า นาม คือ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ซึ่งอันนี้เป็นบริบท ที่ท่านกำหนดใน ปฏิจจสมุปบาท แต่ในคำว่า นาม นั้นมีความหมายอีกหลายนัย จะยังไม่กล่าวถึงใน ปฏิจจสมุปบาท

ในวิภังคสูตร ท่านตรัสไว้ว่า [๑๘] ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือ สังขารจึง ดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้

คนคิดแบบพาซื่อ ก็จะดับหมดเลย ไม่รู้ว่าสิ่งไหนที่ควรดับ สิ่งไหนที่ควรเหลือ เมื่อล้างความไม่รู้ หรืออวิชชาได้ สำรอกไปเรื่อยๆ ก็จะเกิด วิชชา จะรู้ นามรูป อายตะ ผัสสะ....
                มาสู่สูตรต่อไปคือ
                ปฏิปทาสูตร
            [๑๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราจักแสดง มิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา พวกเธอจงฟัง ปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น  จงใส่ใจ ให้ดีเถิด เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
            [๒๐] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิปทา เป็นไฉน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะอวิชชา เป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขาร เป็นปัจจัยจึงมี วิญญาณ ... ความเกิดขึ้น แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ  อย่างนี้ นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา

พ่อครูว่า... เหมือนปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษา ก็คือความไม่รู้ หรือแม้แต่ศึกษา ก็ศึกษาผิดๆ ปฏิบัติผิดๆ ผู้ใดศึกษาแล้วก็นึกว่า ตนรู้ตนเข้าใจแล้ว สิ่งที่ตนรู้นั้นผิด ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ แล้วตัวปฏิบัติก็จะ มิจฉาปฏิบัติด้วย เช่น อริยสัจ ๔ ก็จะกำหนดรู้ ทุกข์ผิดๆ คำว่ามิจฉาทิฏฐิ กับ อวิชชา นั้นมีนัยยะแตกต่าง คำว่า อวิชชา นั้นรวมไปทั้ง มิจฉาทิฏฐิด้วย

ปริเยยะ เป็นคำกว้างๆ ว่าควรกำหนดรู้อย่างนี้ พึงกำหนดรู้อย่างนี้  ถ้าปฏิบัติจริงๆ ก็ใช้ตัว สัญญา เป็นตัวกำหนดรู้

[๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณ จึงดับ ... ความดับ แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา

พ่อครูอธิบายต่อว่า...สัมมาปฏิปทา ที่ว่าสังขารดับ ก็คือส่วนที่ต้องดับ จนดับโดยไม่เหลือ ก็เรียกว่า ดับหมด แต่สิ่งที่เป็นนัยยะสำคัญ สังขารที่จะให้ดับโดยไม่เหลือ คือสังขารอะไร (สังขาร มีกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร) คุณก็ต้องดับหมด ถ้าแปลอย่างพาซื่อ

ท่านจันทร์ว่า...โดยทั่วไปเขาคิดว่าการเข้านิโรธก็คือการดับเช่นกัน

พ่อครู.. ว่าเพราะพาซื่ออย่างนั้น ไม่ได้ลึกซึ้งในจุดมุ่งหมาย ซึ่งถ้านิโรธนั้นคือ การดับ ถ้าบอกว่า กายสังขาร ถ้านิโรธ คือ ดับสังขาร (กายสังขาร) ก็คือตาย ถ้าไปพาซื่ออย่างนี้ก็ ตายหมด แต่ความจริง ผู้บรรลุธรรม ก็ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น คำว่า นิโรธ นั้นก็ทิ้งว่ากายตายไปได้เลย ไม่ใช่แน่

แต่ผู้ที่เขาว่าการเข้านิโรธก็คือการดับ ก็จะไม่มีวจี ท่านไม่พูดแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ ของพระพุทธเจ้านั้น วจีสังขาร นั้นก็จะมีอยู่ แต่เป็นวจีกุศล ดับแต่วาจาทุจริต วาจาอกุศล

ในเรื่องของจิตสังขาร เป็นตัวหลักเลย ในการปรุงแต่งในจิต และก็ไม่ใช่ ดับจิตสังขาร ให้หมด อย่างพาซื่อ ซึ่งในนามขันธ์นั้น มี เวทนา สัญญา สังขาร ซึ่งวิญญาณ นั้นต้องมี เวทนา สัญญา สังขาร

แต่ถ้าไม่มีเวทนานั้น แม้จะมีสังขาร แต่ก็ไม่มีวิญญาณ จึงเรียกว่า อนุปาทินกสังขาร ได้แก่พวก พีชนิยาม พวกพืชมีแต่ สัญญากับสังขาร ดังนั้นต้องมี เวทนา สัญญา และ สังขาร จึงจะมี วิญญาณ

คำว่า นิโรธ นั้นสำคัญอยู่ที่ เวทนา จะต้องเข้าใจว่าจะ ดับในส่วนที่เป็นเวทนา ที่พระพุทธเจ้า ท่านแจกเวทนาไว้เป็น เวทนา ๖ (ในวิภังคสูตร) คือ

[๑๑] ก็เวทนาเป็นไฉน เวทนา หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา นี้เรียกว่า เวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา เมื่อเป็นปัจจัย ก็ต้องเกี่ยวกับ ตัณหา กับผัสสะ ที่ท่านแจกเป็น ตัณหา ๖, ผัสสะ ๖ , ก็ชัดเจนในการปฏิบัติ ว่าต้องเรียนรู้จาก ทางทวาร ๖

เมื่อมี ผัสสะ จึงเกิด อายตนะ ถ้าไม่มี ผัสสะ จะไม่เกิด อายตนะ และไม่เกิดวิญญาณด้วย ซึ่งมีคนท้วงพ่อครูมาว่า แม้ไม่มีผัสสะ แต่ในมนายตนะ กับธรรมายตนะ คือสิ่งที่ ทรงไว้ในใจ ก็จะมีวิญญาณ โดยไม่มีผัสสะ เพราะในใจสังขารกันได้ พ่อครูว่า ถ้าจะเรียกว่า อายตนะก็ได้ เพราะมีคู่คือ มนายตนะกับ ธรรมายตนะ แต่ไม่มี ผัสสะ เพราะไม่มี การกระทบ เพราะมันอยู่ด้วยกัน ในจิตมันอยู่อย่างอรูป เป็นนามธรรมแท้ๆ จิตวิญญาณ ไม่มีสีสันรูปร่าง (อสรีสัง)

ถ้ามีผัสสะจึงเกิดอายตนะ เมื่อหมดผัสสะก็ไม่มีอายตนะ พระพุทธเจ้าท่านว่า อายตนะเกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ก็ไม่มีอายตนะ อายตนะทำงาน ให้ผัสสะเท่านั้น เช่น ปากคุณหุบ ก็ไม่มีอายตนะทางลิ้นแล้ว

เบื้องต้นในการปฏิบัติ ต้องมี ผัสสะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ นาม ที่มี เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ

สัญญาเป็นตัวกำหนดรู้อดีต ด้วย โดยเฉพาะ มนายตนะ นั้นสำเร็จด้วยสัญญา

อายตนะ ไม่มีทั้งการมา การไป ไม่มีการตั้งอยู่ ไม่มีการจุติ อุบัติ อายตนะนั้น หาที่ตั้งไม่ได้ มันเป็นความลึกซึ้ง ในเรื่องของอายตนะ อายตนะนั้น จะเกิดจริงได้ ต้องมีผัสสะ โดยเฉพาะข้างนอก ปัจจุบันใด ที่คุณไม่มีผัสสะ อายตนะนั้นไม่เกิด หรือแม้แต่คุณสัมผัส แต่สัญญาคุณไม่ทำงาน เช่นมีเสียงเข้าหู แต่คุณไม่กำหนดรู้ คุณก็ไม่ได้ยินเสียง ถ้าเราไม่กำหนด ก็จะไม่มีอายตนะต่อ

นามรูป นั้น คำว่า นามรูป นี้คือนามธรรม ซึ่งในเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น คำว่า ชาติ หรือการเกิด นั้นคือการเกิดของ โอปปาติกโยนิ เท่านั้น ซึ่งมีผู้แย้งว่า การเกิดนั้น นับในภูมิ ๓๑ ด้วย อย่างนั้นมันกว้าง ไม่เข้าเป้า มันเข้าป่า

องค์ประชุมของนามรูป และ รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ เช่น ถ้าตาเราสัมผัสกับรูปภายนอก หูกระทบเสียง เสียงก็คือรูป ดังนั้น เสียงหรือรูปก็คือ สิ่งที่ถูกรู้โดยนามธรรม หรือ ปัญญาญาณ หรือ สัญญา ของเรานี่แหละ

นี่คือนามรูป ที่ต้องกำหนดรู้คือ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ซึ่งตัวที่ไปรู้คือ สัญญา และสัญญานั้น ก็รู้ตัวสัญญาเองด้วย มันก็รู้ของมันเองในใจได้

รูป นั้น แบ่งเป็น มหาภูตรูป และอุปาทายรูป ซึ่งเมื่อมี ผัสสะ ตาหูจมูกลิ้นกาย เปิดรับวิถี แล้วก็เกิด องค์ประชุม เข้าไปสู่ภายใน ซึ่งถ้าอวิชชา ก็จะปรุงไปเลย องค์ประชุม เข้าไปข้างใน เรียกว่า กายในกาย ก็ตามเข้าไปรู้ข้างใน พอกำหนดรู้กายใน ก็พิจารณา กายคตาสติ ที่ท่านมีรายละเอียด ให้กำหนดรู้หลายอย่าง แต่มันเป็นการกำหนดที่ กายยิกทุกข์ แต่ในอริยสัจ ท่านให้เรียนรู้ ทุกขอาริยสัจ

ทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้นั้นให้เห็นว่า มันไม่เที่ยงแค่นั้น เช่นทุกข์ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็เลี่ยงไม่ได้ เราต้องกำหนดรู้ ว่าไม่เที่ยง แล้วก็ไปบำบัดทุกข์

กายใน นั้นมันก็ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนเช่นกัน แต่เราต้องเริ่มที่ ตัว เวทนา เมื่อเราสัมผัส  ก็ปรุงเข้ามาข้างในเป็น กายสังขาร ถ้าอวิชชา ก็ปรุงแต่งอย่าง ไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าเรียนรู้ ก็จะเข้าใจความไม่เที่ยงของทุกอย่าง เมื่อกระทบทางตา แล้วมันปรุงแต่ง (สังขาร) มันสังขารมาเป็นเวทนาด้วย

ถ้ามันรู้ สักแต่ว่ารู้ มันก็จะรู้ เช่น ตากระทบรูป สีขาว สีเหลือง ของดอกลีลาวดี ก็รู้ว่านี่รูป เป็นกายในกาย ที่เป็นกายสังขาร ปรุงแต่งต่อไป ยังจิตสังขาร เมื่อเรากระทบรูป คือดอกไม้ ถ้าคนไม่รู้ มีอวิชชา ก็จะปรุงว่า สวย หรือแหวะ คือ ชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งมีเหตุ จากการปรุงแต่ง จากอวิชชา จึงมีการปรุงแต่ง ให้เกิด เวทนา ที่เหตุมาจาก ตัณหา อุปาทาน

เมื่อคุณเรียนรู้ คุณก็ต้องอ่าน ว่ามันปรุงแต่งมาจากเหตุอะไร ถ้าคุณไม่เก่ง ก็ต้องตั้งศีล เช่น กระทบรูปดอกไม้แล้วชอบ ก็ต้องเว้นขาด ไม่เอามา คือเวรมณี ไม่ให้มัน พอกระทบแล้ว เราตั้งศีล แล้วจะเห็นอาการดิ้น เมื่อไม่ให้มัน นี่แหละเหตุแห่งทุกข์ ถ้าไม่รู้ ก็จะเอามา ให้แก่ตน บำเรอกิเลสอยู่

ในเวทนาจะมีตัณหาเป็นปัจจัย ตัวตัณหานี่แหละคือ ทุกข์อาริยสัจ ให้สำรอกตัณหา เมื่อเราสำรอก ไปเรื่อยๆ โดยการ ปหาน ๕

๑.กดข่ม เพราะมันแรงมาก ซึ่งมันเป็นอัตโนมัติ ตามสัญชาตญาณสัตว์โลก แม้ไม่เรียนมา ก็จะมีการกดข่ม โดยปริยาย เป็นมารยาทสังคม เมื่อเรามีการปฏิบัติธรรม ก็จะมี วิกขัมภนปหาน ช่วย

แต่วิธีวิปัสสนา เมื่อคุณอยากก็ดูมันเลยว่ามันอยาก เอาสติปัญญา มาพิจารณาเลย ว่าที่เราอยากได้ แล้วเราไม่ให้มัน แล้วมันจะอยู่นิรันดรหรือไม่ มันไม่อยู่นิรันดรหรอก ถ้าคุณไม่ได้มา มันไม่ตายหรอก เมื่อเราไม่เอามาไม่ให้มัน ความอยาก มันก็หายไปได้ เพียงแค่นี้ เราก็เห็นอนิจจังแล้ว

แต่ตัวนี้มันเกิดอาการทุกข์ เพราะคุณไปยึดว่า น่ามีน่าได้น่าเป็น คุณจึงอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันจึงเป็นทุกข์ นี่คือการเห็นทุกข์ อันนี้สำคัญ การเห็นอนิจจัง  คือการได้เห็น ปรมัตถ์ เห็นว่ามันไม่เที่ยง แต่ที่สำคัญคือ เห็นความเป็นทุกข์ ซึ่งความทุกข์ ท่านแปลว่า ความตั้งอยู่ไม่ได้   คือความไม่สบาย ความลำบาก และถ้ายึดมาก ก็ทุกข์มาก จนไปก่อเรื่อง ก่อราว เช่นอยากได้ประเทศนี่ ถ้าเขาแพ้ เขาจะฆ่าตัวตายหรือไม่ เขาจองเวรว่า ถ้าผมอยู่ไม่ได้ ใครก็อยู่ไม่ได้ แล้วถ้าคนอื่นอยู่ได้ แล้วคุณจะเป็นอย่างไร?

เขากำหนดรู้ทุกข์ไม่ได้ ทุกข์นั้นเป็นสภาวะ เช่นเห็นดอกลั่นทม แล้วเราอยากได้ ถ้าไม่ได้มา มันจะตายไหม อันนี้มันไม่น่าได้น่ามีน่าเป็น แต่ถ้าคุณไปสำคัญมั่นหมาย ว่า ต้องได้ ต้องมีต้องเป็น ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรืออารมณ์ ถ้าคุณไม่ต้องได้อารมณ์เช่นนี้ จะได้ไหม เราได้ดอกลั่นทมมาก็เฉย ไม่ได้มาก็เฉย นี่แหละคือ อุเบกขา เป็นฐานของ มัชฌิมา

๑. อนิจจัง ๒. ทุกขัง ๓.อนัตตา ที่ว่ามันมีตัวตนนั้น มันไม่จริงเลย มันเป็นของหลอก เอาสิ่งที่คุณติดมันน้อย ถ้าไม่นึกถึงมันเลย คุณก็ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่พอคุณไปสัมผัส แล้วคุณก็จำได้ว่า มันน่าได้จังเลย แต่ถ้ามันเลือนมากเลย  แต่พอสัมผัส คุณก็ยังรู้สึกว่า น่าได้น่ามีน่าเป็น แต่ถ้าคุณยึดไว้บางเบา เมื่อคุณสัมผัส คุณก็จะรู้ว่า แต่ก่อน รู้สึกอยากได้แรง แต่ตอนนี้ ได้ก็ไม่เท่าไหร่ ไม่ได้ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าคุณวางไปเลย ไม่ยึดแล้ว เมื่อสัมผัสอีกที ก็อุเบกขา เฉยๆไปเลย

การที่คุณไปสัมผัสตอนนี้ แล้วคุณอุเบกขา แสดงว่า ตัวตน อยากได้อยากมีอยากเป็น ของแต่ก่อน คุณวางไปแล้ว มันอนัตตา มันไม่มีตัวตน

ถ้าคุณเข้าใจด้วยปัญญาญาณว่า ทุกอย่าง ถ้าคุณไปสำคัญ มั่นหมายว่า น่าได้น่ามีน่าเป็น เลยทุกอย่าง ก็เป็นอรหันต์เลย แต่อย่างนั้นมันยาก คุณต้องเรียนรู้ เป็นลำดับ ตั้งแต่แรกๆ ในอบาย คุณต้องทำให้ เมื่อสัมผัสแล้วก็อุเบกขา จิตมันวาง มันปล่อย ก็เรียกว่า อนัตตา แต่ จิตที่คุณไปยึดถืออยู่ เรียกว่า อัตตา คือตัวตนของ ตัณหาอุปาทาน

ถ้าหมดตัวตนแล้วคุณก็อยู่กับมัน เช่นเงินทองข้าวของ ถ้าใจคุณวางแล้ว เรามาปฏิบัติ ไม่ต้องใช้เงิน ก็ทำงานอยู่ในนี้ ได้สบายๆ ถ้าเราไม่ติดเงินแล้ว เงินเราเหลืออยู่ ก็ใช้ให้ส่วนรวมได้ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ แล้วเราทำงาน กับส่วนรวม เราก็บอกเขา บอกส่วนรวม ว่าต้องใช้เงินซื้อ ถ้าเขาเห็นว่าควรก็ให้ ถ้าไม่ควรก็ไม่ให้ จิตเราเมื่อไม่ได้ ก็ไม่ขุ่นเคือง เราก็หาอะไรมาทดแทนไป

ปัจจัย ๔ เรามีให้ไปรอด และจะมีบริขารที่จะทำงานใช้สอย ตามสมควร เขาก็รู้กัน สรุปแล้ว ถ้าใจเราไม่ยึด เราก็ใช้กับสาธารณโภคี นี่คือ สุดยอดของชีวิต เราก็มีกรรมการ ในการดูแล

การมีจิตเป็น อนัตตา ไม่ต้องเป็นเราเป็นของเราแล้ว เดิมที่เราอธิบายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และที่สำคัญคือ ถ้าเราไม่ยึดทุกอย่าง ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เราก็อยู่ตามมีตามได้ สบายที่สุด เพราะไม่สุข ไม่ทุกข์แล้ว

ตัวนิพพานคือตัว ไม่สุขไม่ทุกข์ ตัวนิโรธ คือตัวดับเหตุที่พาสุขพาทุกข์ได้ เหตุ คือ การยึด ว่าน่ามีน่าได้น่าเป็น อยากได้อยากมีอยากเป็น อันนี้คือนิโรธ ไม่ใช่การดับจิต หรือดับความคิด หรือการดับสังขาร หรือดับวิญญาณ ไม่ใช่ดับนามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา แต่ต้องดับที่ตัณหา คือตัวการใหญ่

ดับตัณหาไปเรื่อยๆจนหมดเกลี้ยงนั้นคือ ดับอาริยสัจ ๔ คือ ดับตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ โศกปริเทวทุกขโทมนัส อุปายาส ดับหมด ดับตัวปลายหมด

เหลือ ตัณหา เป็นมโนสัญเจตนา คือเจตนาที่เป็นกุศลเจตนา เป็นเจตนาดี ที่ไม่มีบาป ไม่มีบุญ เพราะได้ชำระจิตสันดานหมดจด แล้วเป็น อปุญญะ ไม่ต้องชำระอีกแล้ว

เมื่อเราละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดแล้วภิกษุนั้นก็ ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาปแล้ว

อปุญญะ คือปรุงแต่งชนิดที่ไม่ต้องชำระอีกแล้ว หรือเรียกว่า ไม่ต้องทำบาปอีกแล้วก็ได้ แต่ที่จริง ปุญญะ คือยังไม่หมด ต้องชำระต่อไป แต่ อปุญญะ คือไม่ต้องชำระแล้ว

เมื่อสามารถที่จะอ่าน นามธรรม (เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ) สัญญา เป็นตัวสำคัญมาก ที่ต้องใช้กำหนดรู้ การ มนสิการคือการจัดแจง หรือการทำใจเรา การจัดการ หรือจัดแจงใจ นั้นคือการสังขาร  หรือ คือการทำใจในใจ นั่นเอง

สังขาร นั้นอาจเรียกว่า การทำสัมประสิทธิ์ทางใจ ได้ ซึ่งมีทั้ง ตัวแปร (ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ) และตัวคงที่ (อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา) เมื่อปัจจุบัน ดำริเมื่อใด ถ้ามี กามหรือพยาบาท ไปวิตักกะด้วย เราต้องอ่านให้ทัน ธัมวิจัยสัมโพชฌงค์ ให้ทัน แล้วกำจัดให้ทัน มันจึงจะไป วิตักกะ จนไปถึง วจีสังขารที่ดีได้

วจีสังขารไม่ใช่คำพูด แต่เป็นนามธรรมในใจเรา ซึ่งเกิดจากการ มนสิการ มีสัญญา กำหนดรู้ ตัว กามหรือ พยาบาท ที่เป็นตัวเหตุที่จะไปปรุงแต่งร่วม แล้วคุณก็ปหานมัน เมื่อทำได้ จิตคุณก็สังขารได้โดยไม่มีเหตุนี้ ไปร่วมปรุงแต่ง นี่คือ อภิสังขาร เมื่อไม่มีเหตุ วจีสังขารก็เป็นกุศล เกิด สัมมาสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ที่เป็นสัมมา

ทำที่จิตก่อนเลย ละกิเลสในจิตได้ กิเลสก็ไม่ปรุงแต่งเป็นวจีสังขาร ทำไมเรียก วจีสังขาร เพราะมันจะออกมา เป็นคำพูดในใจ เช่นเมื่อสัมผัสอันนี้ วจีสังขาร ออกมาเป็น เตะ ซึ่งถ้าเราคุมได้ เราก็ไม่ เตะ ออกไป

ในใจของคุณ คุณบอกว่า จะต้อง เอาเมกะโปรเจคอันนี้ แล้วก็เอามาทำการ ได้เปอร์เซ็นต์ หลายร้อยล้าน จิตมันก็เป็น กามสังกัปปะ จิตคุณรู้แล้ว เมื่อมีการกระทบเหตุการณ์นี้ สมมุติว่า เขาให้ทำเมกะโปรเจคนี้ คุณก็มีเล่เหลี่ยม จะทำทุจริต แต่คุณรู้ทันกิเลสคุณ คุณก็ละกิเลสได้ คุณก็หยุดโกง ไม่ทำมิจฉาชีพได้

นี่คือ นิโรธ คือดับเหตุ เมื่อดับเหตุแล้ว เวทนาก็จะไม่สุขไม่ทุกข์ ก็สั่งสมไป ในสามกาละ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยแยกแยะ มโนมวิจาร ๑๘ ที่มีเคหสิตเวทนา (เวทนาแบบ ชาวบ้านโลกๆโลกีย์) และเนกขัมสิตเวทนา (แบบโลกุตระ) เราไม่ทำเคหสิตเวทนา แต่ทำให้เกิด เนกขัมสิตเวทนาสั่งสม โดยทำจากการผัสสะทั้ง ๖ ทวาร นี่แหละ ที่จะเกิดสุข-ทุกข์-อุเบกขาได้ ทั้งทวารนอก และทวารใน

การเข้า-ออก สัญญาเวทยิตนิโรธเป็นไฉน ซึ่งภิกษุณีท่านอธิบาย แล้วไปหาพระพุทธเจ้า ให้อธิบายต่ออีก ซึ่งเนื้อความ ท่านอธิบายว่า สัญญาเวทยิตนิโรธนั้นไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออก

โดยทั่วไปคำว่า เข้านิโรธ คือไป นั่งดับ สัญญา จึงเกิดเป็น อสัญญีสัตว์ หรือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน หรือ อากิญจัญญายตนฌาน เขาว่านั่นคือ การเข้านิโรธ แบบฤาษี

แบบพุทธ นั้นไม่ใช่เรียกว่าการเข้าออก แต่นิโรธพระพุทธเจ้า คือดับเหตุ พอดับเหตุแล้ว พอสัมผัสก็รู้เข้าใจ กิเลสหมด สำรอกหมดอวิชชา นั่นแหละคือ นิโรธแจ้งๆ มีทั้ง เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ไม่ต้องหลับตา ได้แล้วไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออกเลย นี่คือของพุทธ

สรุป นิโรธแบบพุทธ นั้นคือดับเหตุ คือทุกขอาริยสัจ อย่างเที่ยงแท้ แน่นอน สมบูรณ์ ไม่ต้องเข้าต้องออก

เช่น พ้นจากนิวรณ์ ในรูปฌาน แต่ ยังไม่พ้นจาก วิตก วิจาร คือมีการทำ ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ

ตักกะ คือจิตเริ่มดำริ คุณต้องรีบอ่าน ถ้าไม่รู้มันก็ปรุงด้วย กาม ด้วยพยาบาท เรียกว่า สำเร็จด้วยตักกะ ก็ออกมาเป็น วจีสังขารด้วยกาม

การเข้า คือเข้าสู่ภูมิ เช่นได้ภูมิฌาน ๑ คือทำวิตก วิจาร คืออ่านตัวบทบาท ลีลาในจิต แล้วกำจัด ตัวกาม ตัวพยาบาท ที่เป็นเหตุ เมื่อกำจัดได้ ได้ภูมิที่สอง ก็พ้นจาก วิตก วิจารได้ ไม่มีกิเลสเป็นตัวจาร หรือพฤติกรรม ก็เป็นพฤติกรรม ที่เป็นวจีสังขารออกไป ตัวที่ผ่านวิตกวิจาร ก็ผ่านไปสู่ปีติ ดีใจที่ลดกิเลสได้ อย่าไปติดปีติ ที่ติดว่า จะต้องได้ อาการอย่างนั้น มันเป็นอุปกิเลส (อุพเพงคาปีติ) ให้มันเป็น ผรณาปีติก็พอ ยิ่งไม่ต้อง มีปีติเลย ก็เป็นอุเบกขาเลย แต่ก็ไปติดยึดอารมณ์สุข ก็ไม่ดีอีก หนักหนา ไม่ได้ก็ไม่ดีอีก

ฌานหรือนิโรธ หรือสมาธิก็ลืมตา คือสั่งสมจนจิตตั้งมั่น เรียกว่าสมาธิ ตัวฌาน คือเผากิเลส จนดับได้เรียกว่านิโรธ ตัวที่เป็นเจโต จะสั่งสมเป็น อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา เป็นพลังงานที่เป็นนิวเคลียส แต่ท่านละ แต่ตัวที่เป็นโทษ มีแต่ตัว ที่เป็นประโยชน์

สัมมาปฏิปทา เพราะอวิชชาดับ สำรอกกิเลสไม่เหลือ ดับสังขาร คือดับเหตุ ที่ไปปรุงแต่ง สังขาร จนมีแต่สังขารที่ดี ออกมาเป็น วจีสังขารดี มาเป็น สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ที่สัมมา เราสังขารอย่าง อภิสังขาร สั่งสมเป็น อเนญชาภิสังขาร ยิ่งทำยิ่งเป็น อเนญชา เป็นธรรมชาติ เราทำอาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง สั่งสมจิตตั้งมั่น แข็งแรง ถาวรมั่นคง จริงจังเรื่อยไป

สังขารดับ(ดับเหตุ) วิญญาณผีก็ดับ ตั้งแต่อบายภูมิ ๔ (ดับสัตว์นรก-เปรต-อสุรกาย-เดรัจฉาน) แล้วมาเป็นเทวดา ๖ ภูมิ มาเป็นพรหมอีก ๒๐ ภูมิ มีมนุษย์ ๑ ภูมิ รวมเป็น ภูมิ ๓๑ ผู้ปฏิบัติได้คือ ผู้มีจิตสูง คือมนุสโส นี่คือ สภาวะจิตทั้งหมด ไม่ใช่ไปที่วิมาน แดนไหน พระพุทธเจ้า ท่านเปิดโลก เห็นเทวดา มาร พรหม คือเห็นด้วยปัญญาญาณ นั่นเอง

            ล. ๑๗   ข้อ . นิโรธสูตร ว่าด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ
            [๕๑๗]
     ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เสียได้โดยประการทั้งปวงอยู่. อาวุโส เรามิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ หรือว่าเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว หรือว่า ออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว. แท้จริง ท่านพระสารีบุตร ถอนอหังการ มมังการ และ มานานุสัยออกได้นานแล้ว ฉะนั้น ท่านพระสารีบุตร จึงมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ หรือว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว หรือว่า ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว.

ท่านจันทร์สรุป  นิโรธ ไม่มีออก-เข้า หรือจะเข้าออก ก็ต้องรู้แบบพุทธ นิโรธคือ ดับกิเลสตัณหา เป็นนิโรธพุทธสว่างไสว แต่หากดับนิโรธจิต แสดงว่า เข้าใจแบบ ฤาษีตาไฟ ไม่ใช่พุทธ....

จบ
              

 
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถานสันติอโศก