560609_ทวช.งานอโศกรำลึกครั้งที่ ๓๒ ที่บ้านราชฯ โดยพ่อครูฯ
เรื่อง จะมีนิโรธสมาบัติต้องกำจัดไอ้แอบ

                วันนี้วันที่ ๙ มิ.ย. เป็นวันสำคัญ เป็นวันที่ในหลวงเราขึ้นครองราชฯ และตอนเย็น เราจะทำพิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
                ชาวอโศกเป็นมวลชนที่เป็นพุทธ รู้จักว่าชีวิตตน ควรวางตัวปฏิบัติตัว ใส่ใจในความเป็นชีวิตของตน และเมื่อปฏิบัติดี ก็มีผลดีต่อสังคม นี่คือวิชชาของ พระพุทธเจ้า ซึ่งรู้จักสูตรที่สำคัญ รู้จักทางแห่งชีวิต ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ (ถูกต้อง ชอบแล้ว ดีแล้ว) ชีวิตจึงดีต่อตนและสังคมพร้อม นี่คือความรู้หรือวิชชา ที่เลิศยอดที่สุด
                เพราะผู้ที่บรรลุธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว จะซื่อสัตย์บริสุทธิ์ ไม่คดโกงทำร้าย ไม่แย่งใครแล้ว จิตใจก็ยังเกื้อกูลคนอื่น เป็นพหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ ช่วยเหลือโลกอยู่ ไม่เฉพาะมนุษย์ แม้แต่ธรรมชาติเราก็ช่วย ไม่ทำร้าย เป็นสุดยอด แห่งความรู้ของมนุษย์
                โดยเฉพาะชาวพุทธแต่กำเนิด ที่มีสิ่งดีแล้ว แต่ไม่ใส่ใจ ไปหลงทฤษฎีโลก ถูกกิเลส จิกหัวใช้ แม้เรียนทางโลกสูงเท่าไหร่ ยิ่งฉลาดเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นทาสกิเลส ใช้ความสามารถ ทำร้ายสังคม หลอกว่า ฉันช่วยคุณช่วยโลก แต่แท้จริง ยิ่งซับซ้อน เอาเปรียบโลก ทำร้ายโลก ไม่ได้พูดลงโทษโลกเขาเกินไป แต่เป็นเรื่องจริง
                พ่อครูนำความรู้พระพุทธเจ้ามาเปิดเผย ด้วยความระมัดระวัง ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำ เพื่อโลกธรรม แต่ทำเพื่อความรู้ สัจธรรมพระพุทธเจ้า อย่างแท้จริง ทำมา ๔๐ กว่าปีแล้ว และจะขอทำไปอีก ๗๐ กว่าปี ก็มีผู้ระดม จะมาช่วยขยายอายุขัยอีก พ่อครู ก็พากเพียรอยู่แล้ว ก็เป็นบุญกุศลแก่โลก ถ้าสามารถขยายได้จริง ก็จะเป็นหลักสูตร ช่วยโลกได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกายภาพ หรือจิตภาพ พวกเราคงช่วย เสริมหนุน กันให้สำเร็จ ต้องมีการศึกษา ค้นคว้าทดลอง
                พ่อครูเอาความรู้มาในงานนี้ ก็ใช้ความรู้เรื่อง "รูป-นาม" และขยายองค์ ประชุมของ รูปและนาม เรียกว่า "รูปกาย" คือองค์ประชุมของรูป ส่วน "นามกาย" คือ องค์ประชุมของนาม
                รูปรูป คือ ที่เป็นเฉพาะตัวของสิ่งนั้น คือรูปที่ไม่มีนาม เรียกว่า มหาภูตรูป เป็นอุตุนิยาม หรือพีชนิยาม ก็ไม่มีวิญญาณ ถูกกำหนดรู้เรียกว่า รูปรูป ถูกกำหนดรู้ โดย สัญญา ที่เป็นเจตสิกของคน แม้ไม่ฝึกมา ก็กำหนดรู้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกก็ไม่รู้ และก็เก่ง ที่จะกำหนดรู้ "นามรูป" ได้อีกที
                นามรูป คือจิตเจตสิกที่ถูกรู้ โดยญาณอีกที ไม่ใช่แค่ตรรกะ แต่ได้รู้ แล้วปฏิบัติ จนเห็นจริง (ปัสสติ) เมื่อกระทบสัมผัส แล้วอาการของจิต เป็นเช่นนี้ เมื่อกำหนดหมายแล้ว ก็จะรู้ได้ ด้วย อาการ แล้วเราก็กำหนดหมาย ชัดขึ้น เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ตามลำดับ
                ไม่ใช่วิชาการตรรกะ ที่บัญญัติเรียนกันเท่านั้น แต่เป็นความรู้ยิ่ง เห็นจริง เป็นนามธรรม สัมผัสได้ เป็นธาตุนามธรรม รู้ได้ด้วยความเป็นนามรูป ถูกรู้โดย ญาณปัญญาเรา ด้วยตนเอง (เอโก) คนอื่นไม่รู้ด้วยเรา (อหเมตัง น ชานามิ อหเมตัง น ปัสสามีติ)
                เราจะเรียนรู้องค์ประชุมของ รูปกาย อย่างปัจจุบันธรรม เมื่อตาหูจมูก ลิ้นกาย เปิดสัมผัสอยู่ ไม่ได้ปิด ไม่ได้ดับตกภพในภวังค์ อย่างที่ท่านเข้าใจอยู่ ที่ต้องอธิบายซ้ำ เพราะท่าน ไปติดยึดของเก่า และที่พ่อครูอธิบาย เป็นเรื่องถูกต้อง ของพระพุทธเจ้า ที่ต้องมาแก้ไข อย่างซื่อตรงจริงใจ อย่างที่ท่านรู้น่ะ พ่อครูรู้ แต่อย่างที่พ่อครูรู้ ท่านเข้าใจไม่ได้
                ไม่ใช่แค่ทำกิณหะ ทำความมืดดำ ใส่ในใจตนเท่านั้น คือไปนั่งเข้าภพ ไม่รับรู้อะไร ไม่มีแสงสว่างอะไร มีแต่ดำมืด แล้วยึดถือว่านี่คือ "นิโรธ" ไม่ใช่นิโรธอริยสัจจ์ ไม่ได้ดับ สมุทัยอริยสัจจ์ ไม่ถูกฝาถูกตัว การปิดทวาร ๕ ไปอยู่แต่ทวารใจ เป็นนามกายอย่างเดียว และเป็นนามกายที่มืด ไม่ใช่พรหม เพราะพรหม คือผู้สว่าง
                ถ้าไม่รู้ก็จะไปยึดอัตตาที่สร้างมา เป็นนิโรธ ได้ภาวะนั้นเป็นอัตตา หรือตัวตน ถ้าเรียนรู้ไม่ดี ก็ไม่รู้หรอก ว่าเป็นอัตตา นี่คือ มโนมยอัตตา คือจิตตนปั้นเอง จนสำเร็จ อัตตา ที่สำเร็จด้วยจิต เป็นอสัญญีสัตว์ ไม่ใช่ของถูกต้อง
                ถ้าใครรู้เหตุที่ถูกต้อง เป็นสภาวะนามธรรม คุณก็รู้กาย (องค์ประชุม ทั้งทวาร ๖ นอกและใน) เชื่อมโยงทั้ง นอกและใน อย่างสำคัญ ซึ่งในชีวิตจริง เปิดทวารรับรู้ ไม่ได้ดับอยู่ในภพ แต่เราไปใส่ใจ ในนามธรรม ตาเราก็ยังเห็นอยู่ ไม่ได้พราก พอใส่ใจ ก็จะรู้ว่า ตาเรากระทบรูป หูเรากระทบเสียง ลิ้นเราสัมผัสรส กายสัมผัสเสียดสี แล้วกิเลส ก็กำลังเกิด ซึ่งรู้ทั้งเหตุนอกเหตุใน ถูกฝาถูกตัว ไม่มีลึกลับ รู้รอบ รู้ครบ ในขณะใด ที่เราใส่ใจสิ่งนั้น สิ่งอื่นก็ห่างไป ไม่ได้ดับ
                ในการจางคลายกิเลส ไปถึงกิเลสดับ ก็รู้ได้หมด จนถึงการรักษาผล เราปรุงแต่ง อย่างอภิ ให้กิเลสลดจนหมด แล้ว อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง สั่งสมเป็น จิตสมาธิ จิตตั้งมั่น อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา แน่วแน่ปักมั่นขึ้น ไม่ใช่เกิดจาก การนั่งสมาธิอย่างเดียว แล้วมันจะเกิดเอง
                จิตจะเป็นสมาธิตั้งมั่น เพราะมีเหตุที่เราสะสม ให้ควบแน่นมากขึ้น ให้ครบ ๓ กาล เป็นอุเบกขาฐาน ในเวทนา ๑๐๘ ซึ่งเราก็รู้เคหสิตะ เราไม่หนีโลก เราก็สัมผัสรู้อยู่ แต่เราเนกขัมมะได้ มีจิตที่เหนือสามัญ เป็นอุตริมนุสสธรรม
                เราทำได้ในปัจจุบัน รู้มันจางคลายอยู่ วิราคานุปัสสี แล้วทำจน มันหมดดับก็ นิโรธานุปัสสี แล้วเราก็ทำทวนทำซ้ำ ปฏินิสสัคคานุปัสสี ทำการรักษาผลอยู่
                ตรวจสอบด้วยอรูปฌาน ๔ ให้พ้นเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา จะว่าไม่รู้หรือรู้ ก็ไม่สงสัย พ้นอวิชชาสังโยชน์ พ้นอวิชชาสวะ เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ใช่แค่เวียนวน เป็นกิณหะ ให้ตนอาศัยชั่วคราว มีการเข้านิโรธ คือเข้าไปดับ แล้วออกมา จากนิโรธ มาเห็นแสงสว่างอีกที ก็วนเวียน แล้วๆเล่าๆ
                ความเป็นอาการของ ราคะ โทสะ โมหะ เราต้องกำหนดรู้ แล้วมันจะเหลือนิด เหลือน้อย ละอองธุลีอย่างไร เราต้องตรวจแล้วตรวจอีก ซ้ำซาก ด้วยอรูปฌาน ๔ จนเรา มั่นใจจริงๆ ว่าสัมบูรณ์ จะชัดเจนด้วยตนว่า อาสวะสิ้นเกลี้ยง ตลอดไป โดยรู้กาละ แม้อนาคต เท่าไหร่ เราก็สูญ เรามีอดีตที่ควบแน่น เป็นอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา เรากระทบสัมผัส โลกธรรมอย่างไร ก็ไม่หวั่นไหว ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตัง ยัสส น กัมปติ สัมผัสอย่างไร เราก็ไม่เปลี่ยนแปลง อนาคต เราก็ต้องสูญ แน่นอน เพราะเรามีคุณสมบัติ ถ้วนเต็ม ของอัปปนาสมาธิ เป็นจิตตั้งมั่น ที่ยิ่งยอด
                ผู้ดับกิเลสได้ จิตก็คือเข้าสู่ภูมิดับ "นิโรธสมาบัติ" หรือ อุปัชชติ คือเข้านิโรธ
                การทำ "ฌาน" คือภาคแรก คือการเผากำจัดกิเลส เมื่อดับกิเลสได้ ก็สั่งสมผลเป็น "สมาธิ" เป็นลำดับสภาวะ เมื่อเราดับกิเลสได้ ก็เรียกว่า "นิโรธ" หรือเรียกว่า "วิมุติ" คือเราออกจาก ที่เราติดยึดได้ คือเข้าภูมินี้ แล้วออกจากภูมินี้
                จะเรียกว่าเข้าออก คือออกจากภูมิต่ำ ไปสู่ภูมิสูง ออกจากสิ่งที่ผูกเราไว้ ที่เราติดยึดไว้
                ท้ายสุดก็ล่วงพ้น คือ สมติกฺกมติ ล่วงพ้นจากภาวะ ที่เราเอง อยู่ในภูมิต่ำ ล่วงพ้นภูมิต่ำ เจริญไปตามลำดับ การออกจากนิโรธ ก็คือ วุฏฐานะ

                ภาวะที่เรียกว่า “นิโรธ” ๒ ขั้วสำคัญ ที่มีอยู่ในโลก ลองวิจัยแยกแยะ ความเป็น “นิโรธ” ๒ ขั้วนี้ กันละเอียดๆ ดูบ้างซิ
                (ก) “นิโรธ” ที่ไม่ใช่พุทธ หรือ ชาวพุทธที่ยัง “มิจฉาทิฏฐิ” ผลธรรมที่ได้ มักจะหมายถึง “มี” (โหติ) ภาวะอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกต้อง ตามเป็นจริง เพราะ“ผลธรรม” ที่ได้ ยังไม่ใช่ผลธรรม ที่เข้าขั้น “ความไม่มีในโลก” (โลเก นัตถิตา)อีก “ตลอดไป” ที่สำเร็จเด็ดขาด อย่างเป็นจริง “ภาวะ” ที่ได้ที่ชื่อว่า “นิโรธ” นั้นจึงคลาดเคลื่อน คือผิดไปจาก ภาวะอริยสัจ ที่ชื่อว่า “ นิโรธ”
                นิโรธ” ที่ได้ จึงไม่ใช่ “นิโรธอริยสัจ” เพราะ สัญญา” ยังวิปลาส เมื่อ วิปลาส “สัญญา” ก็กำหนดหมาย คลาดเคลื่อนไป จากความเป็นจริง ที่เป็นความจริงขั้น“อริยสัจ” หรือขั้น“ปรมัตถสัจจะ” (สิ่งที่เป็นจริง อันประเสริฐสุด)
                เมื่อ สัญญาที่มิจฉาทิฏฐิ จึงเป็น “คนละอย่าง” จากอริยสัจ เพราะจะ กำหนดหมายรู้ (สัญญา) เอาตาม“ทิฏฐิ” ของตน (นานัตตสัญญิโน) ก็ไปกำหนดรู้ องค์ประชุม ที่เป็นอัตตา ย่อมได้ผลตาม“ทิฏฐิ” ที่“ผิด” ไปจาก“อริยสัจ ๔” ก็จะได้ภาวะนั้นๆ ตามสมรรถนะ ของแต่ละคน
                กาย” ที่ได้ก็เป็น “องค์ประชุมของรูปของนาม” (กาย) ที่แตกต่างกันไปตาม “สัญญา” ที่มีภูมิรู้อย่างนั้นอย่างนี้ ของแต่ละคน“กำหนดหมาย” และเมื่อสร้าง หรือ อภิสังขารให้ได้ ก็ย่อมได้“กาย” ตามความสามารถต่างๆ และตามทิฏฐิของตน ที่สัมมา หรือมิจฉา (นานัตตกาโย) (ถ้าเป็นพุทธ นามกายไม่ได้ขาดจากรูปกาย) ดังที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน “สัตตาวาส ๙” ข้อที่ ๑ หรือ “วิญญาณฐิติ ๗ “ อันเป็นหลักธรรม ลึกซึ้งสำคัญ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๓๕๓, ๔๕๗ และเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๒๘ หรือในเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๓๕ และเล่ม ๒๓ ข้อ ๔๑)

        ถ้าคุณมีพลังฌานอันวิเศษ พลังปัญญาอันวิเศษ เผากิเลสได้เลยก็ดี แต่ถ้าไฟของคุณ ยังไม่มีอำนาจมาก พลังมาก เผาไปก็ไม่ได้ผล แต่ถ้ามีพลังมาก กิเลสก็ละลาย อย่างพระพาหิยะฯ ก็ฟังธรรมไม่กี่ประโยค ก็บรรลุธรรมได้
                ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ผลที่ถูกต้อง เรียกว่า เขายังมี โลเกนัตถิตา
                ผู้ที่ไม่รู้องค์ประชุมใน สัตตาวาส ๙ หรือ วิญญาณฐีติ ๗ คือทำนิโรธ แบบฤาษี ก็จะได้ผล อย่างฤาษี              
                ทั้งๆที่ภาวะของ “ผล” นั้น มิใช่ “ความไม่มี” ภาวะจริง ของ “นิโรธอริยสัจ” เพราะ มิใช่ “ความดับสนิทสิ้นของ กิเลสาสวะ” เพราะ “ ภาวะที่จะไม่ให้มี” นั้น(คือกิเลสาสวะ) ไม่ได้ถูกกำจัด จนกระทั่ง ไม่เหลือในจิตแล้ว ซึ่งจะต้อง “ไม่มี” (น โหติ) ความเป็น “กาย” ของ “ภาวะที่จะไม่ให้มี” อยู่ “ในโลก”  “ผล” ที่ได้จึงเป็น“ผล” ที่“ผิด”
                ทั้งๆที่ตน “หลงยึดภาวะ ความไม่มี ที่ผิด” นั้นอยู่ ผู้หลงผิดนี้ ก็ไม่รู้ได้ว่า ตน “มี” (โหติ) ความยึดนั้น
         ฉะนี้แลคือ “ความไม่มีในโลก” (โลเก นัตถิตา) ย่อมไม่มี (น โหติ) “โลก” ที่ว่า “ไม่มี” (น โหติ) นั้น ก็คือ ความไม่มี (นัตถิ) โลกนิโรธ เพราะเขายังมี  “โลกสมุทัย” อยู่ เขาจึง “ ไม่มี” ภาวะที่ “โลกทั้งโลกไม่ควรมี “ [ผู้สนใจค้นคว้าได้ จากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๔๓]
                ซึ่งความเป็น “นิโรธอริยสัจ” นั้น ต้องเป็น “ความไม่มีภาวะนั้นอีกแล้ว” ในความเป็นโลก เมื่อเขา “สัญญา” ผิด หรือ “ปฏิบัติผิด” เขาย่อม “ไม่มี” (น โหติ) ภาวะที่ควร “มี” สมจริงตามความรู้

                จะไม่แย่งชิงอะไร เรามักน้อยสันโดษ จิตเรารู้พอ มันเป็นสัจจะ ที่เราพอจริงๆ แล้วเราหัดล้าง เมื่อมันไม่หมด แล้วเราก็เข้าใจ ไม่ต้องอายกันหรอกว่ายังมี แต่ก็จะมี หิริโอตตัปปะ ละอายที่เรายังมีอยู่ ยกตัวอย่าง อย่างแหม่ม ที่เขายังต้องการ เงินเก็บอยู่ แต่อย่างตูน เขาไม่ต้องการ เงินเก็บแล้ว เราก็ยอมรับ ว่าเรายังมีอยู่ แต่ตูน เขาหาเงิน ไม่ได้เท่าแหม่ม ตอนนี้ เราก็จะไม่ดูถูกกัน ไม่เป็นมานะ
                พ่อครูให้นิมิตเชิงชื่นชม ก็อย่าเหลิง แต่ถ้าเป็นนิมิตเชิงติเชิงข่ม ก็ไม่ต้องเสียใจ ให้รู้ฐานะเรา ฝึกทำอย่างไม่มีมานะ เรารู้ความจริง ตามความเป็นจริง
                แยกองค์ประชุมของกายได้ นี่คือมานะ นี่คือกิเลส เราไม่เอา ผู้ใดมีสัญญา กำหนดรู้กาย อย่างไม่วิปลาส หรือวิปริต ถ้าคนวิปริต ก็จะไม่รู้ตัว ต้องฝึกกำหนดรู้

                นิโรธมีหลายรอบ กว่าจะสิ้นอวิชชาสวะ คนที่ยังเป็นผู้ยังผิดพลาด ทิฏฐิยังไม่ถูกต้อง ผู้ไม่เข้าใจนิโรธ ก็หลงนิโรธที่ตนได้ ผู้ที่ได้นิโรธจริง แบบแจ้ง ก็จะรู้ได้
                จิตเราเข้าไปสู่โลกใหม่ ก็คือจิตเราออกจากภูมิเก่า ที่เราเคยติด เรากำลัง สมติกมะ กำลังล่วงพ้น จนออกมาได้สนิท เป็นนิโรธ ดับสนิท ก็คือ ออกจากนิโรธ หมายความว่า เราดับแล้ว และพ้นจากดับแล้ว เรียกว่า ออกจานิโรธ เป็นการหยุดเกิด หยุดดับ ความไม่เกิด ไม่ดับแล้ว ก็คือการดับชาติ

                แต่ก่อน จิตเรายังไปแอบ เรียก "ไอ้แอบ" ต้องอ่านให้ออก จะถามความจริงว่า ใครไม่เคยมี "ไอ้แอบ" ยกมือ.... ไม่มีใครยกเลย ... ใครรู้จักหน้าตาของ "ไอ้แอบ" ดียกมือ.... ยกกันเพียบ
                เราพยายามปฏิบัติ ไม่ให้มีแลบเลีย แอบเสพ ต้องทำให้หมด สิ้นเกลี้ยง หมดชาติ จะหลุดพ้นโลกเก่า มาเกิดในโลกใหม่ เป็นสัมปรายิกภพ ข้ามชาติเลย หลุดพ้นจาก ชาติที่อยู่ในนรก มาอยู่ในอุบัติเทพ และวิสุทธิเทพ

                ผู้ที่ไม่รู้จักนิโรธแบบพุทธนั้น ยังไม่สามารถแยกความเป็น “กาย” ได้ จึง ยึดกาย” ที่ไม่ใช่ “นิโรธอริยสัจ” นั้นเป็น “อัตตา” อยู่ เพราะ “สัญญา” ยัง “วิปลาส” (บาลีคือ วิปัลลาส = ความคลาดเคลื่อน, กิริยาที่ถือโดย อาการวิปริต ผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจ คลาดเคลื่อน จากสภาพที่เป็นจริง)

                 “เหตุ” ที่ทำให้มีความคลาดเคลื่อน ผิดพลาดอยู่ ก็เพราะ...

๑. หลงว่าตนปฏิบัติมี “นิโรธ “ แล้ว แต่แท้จริงนั้น “นิโรธ “ ี่สามารถทำได้ ยังไม่ใช่ “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ที่เป็น “ความดับสิ้น อวิชชาสังโยชน์ หรือ อวิชชาสวะ”
                เพราะมิจฉาทิฏฐิอยู่ จึงสัญญาวิปลาส เพราะ กำหนดหมาย“นิโรธ” ไม่เป็นบ้าง กำหนด“นิโรธ” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป จากภาวะที่เป็น“สัมมานิโรธ” บ้าง เพราะกำหนด วิธีปฏิบัติผิด คลาดเคลื่อนไปจาก มรรคอริยสัจ ของพุทธบ้าง

๒. ตนยังมีกิเลสอยู่ แต่หลงว่าตนเองปฏิบัติ ถึงขั้น “ดับกิเลส” แล้ว เนื่องจาก สัญญาวิปลาส เพราะเข้าใจ ความเป็น“สัญญา” คลาดเคลื่อนไปบ้าง จึงกำหนดหมายปรมัตถธรรม ไม่ถูกต้องได้แท้จริง เพราะกำหนดหมาย ความเป็น“กาย” คลาดเคลื่อน ไปจาก สัจธรรมบ้าง ไม่ว่ารูปกาย” หรือ“นามกาย” โดยเฉพาะ กำหนดหมาย “ตัวตนของกิเลส” (อัตตา) ไม่ถูก “นามกาย” ของมัน จึงล่วงพ้น (สมติกฺกมติ) แม้แค่กิเลสขั้นต้น คือ วีติกกมกิเลส ไปตามลำดับ ก็ยังไม่ได้ จึงไม่ถูกต้อง (คือผิด ) ตั้งแต่เบื้องต้น

๓. กำหนดการเกิด(ชาติ) ยังไม่ “สัมมาทิฏฐิ” จึงยังผิดพลาด คลาดเคลื่อนอยู่ ก็ยังสัญญา วิปลาสอยู่ เช่น ต้องเข้า-ต้องออกอยู่ เมื่อ “เข้านิโรธ” ก็คือมี “การดับ” เมื่อ “ออกนิโรธ” ก็คือมี “การเกิด” เมื่อมี “การดับ-การเกิด” แล้วก็ต้อง “ดับอีก-เกิดอีก” ไม่มีการหยุดดับ-หยุดเกิด เด็ดขาด นั่นคือ ยังวนอยู่กับ การเกิด-การดับ จึงยัง  “ไม่มีความดับเหตุ ดับปัจจัย” กระทั่งสิ้น “ความไม่เกิด-ไม่ดับ” อีกแล้ว จึงไม่ใช่การดับ “ชาติ” จนสนิทเด็ดขาด
               เพราะยังมี “การเข้านิโรธ” แล้วยังมี “การออกนิโรธ” จึงยังมี “การดับ” แล้วก็วนเวียน มามี “การเกิด” แล้วก็ยังมี “การดับ-การเกิด” อีก แสดงว่า ไม่รู้จัก แม้แต่คำว่า “ชาติ” และ “ ชาติดับ” ที่เป็นปฏิจจสมุปบาท

๔. ยังมีโลก (ภพ) เพราะไม่ได้ “ดับเหตุ” แห่งการเกิดโลก (ภพ) แบบอริยสัจ ๔ ยังมีโลก (ภพ) เพราะยังไม่รู้จักโลก หรือภพ เช่น โลกที่เป็นโลกียะ นั้นเป็นไฉน โลกที่เป็นโลกุตระ นั้นเป็นไฉน แม้แค่ความเป็น  “โลกนี้ (อยังโลก) –โลกหน้า (ปรโลก)” ก็ยังไม่สัมมาทิฏฐิ จึงไม่สามารถปฏิบัติ “มรรค องค์ ๘” ให้เป็น “สัมมามรรค - สัมมาผล” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑) จึงยัง “มี” โลกสมุทัยอยู่ แน่นอน  “โลกนิโรธ” จึงยัง “ไม่มี” อยู่นั่นเอง 
        อริยะของพุทธ ก็ยังมีอวจรอยู่ในโลกอบาย เช่นเราไปพารากอน ที่มีอบายอยู่ มันมีรูปรูป และก็มีรูปกาย ในคนที่หนังไม่เหนียว มันจะเข้าไปกินเนื้อ กินหัวใจ แต่ของเรา มันไม่สัมผัสเราได้เลย เราไปเดินในไฟนรก พารากอน เขาเต้น เขายั่วยวน หรูหราฟู่ฟ่า น่ากินน่าได้ น่าใช้น่ามี น่าปล้น น่าตกใจ แล้วก็ไปคว้าเอาของเขา พวกเราก็ไม่ได้ทำแล้ว เหมือนเขา
        เราไปอยู่ในไฟนรก แต่เราก็เย็นสบาย แต่ของคนที่ยังไม่พ้น ก็มีสุขมีทุกข์เป็นนรก ถ้าเรามีนิโรธ ก็จะอยู่ยง คงกระพัน หนังเหนียว

๕. ยังมีความเป็นสัตว์ มีสังโยชน์ มีความเป็น “สัตตาวาส ๙” อยู่ “สัตว์” ในที่นี้คือ สัตว์โอปปาติกะ (สัตตา โอปปาติกา)
                สกิทาคามีจะยังไม่มีนิโรธ จะยังเหลืออยู่หน่อย ยังไม่หมด มีอากิญจัญญะ ต้องหมด จึงจะเป็นอนาคามี ไม่มีสัตว์แบบโลกอีก สกิทาคามี คือแปลว่า เกิดอีกชาติหนึ่ง

๖. ยังมี “กาย” ที่ไม่สัมมาทิฏฐิ เพราะความเป็นนิโรธ ของคนผู้นี้ยัง “มิจฉาทิฏฐิ” จึงได้ “นิโรธ” ที่ยัง “สัญญาวิปลาส” อยู่ เช่น นิโรธที่มีองค์ประชุม (กายที่ประชุม เข้าไปอยู่ภายในใจ) เป็นความมืดดำ (กิณหะ) หรือเป็นความสว่างใส (อาภัสสรา) ก็ยัง “หลง” กันได้ว่า เป็นแดนนิพพาน แดนพรหม ซึ่งเป็นองค์ประชุม ในจิตใจ [มิใช่หมายเอา “ร่างกาย” (สรีระ)นะ]
        แม้จะชื่อว่า ธรรมกาย ก็ยังเข้าใจกายไม่สัมมาทิฏฐิ กำหนดธรรมเพี้ยน ไปยึดเอา อาภัสราพรหม เป็นแดนพรหม เขาก็ไปได้อย่างนั้น ประกาศขายแดนนิพพาน คนก็ไปซื้อหา อุดหนุน ของเราเผยแพร่นิโรธ แต่ไม่ได้หาเงิน จากนิโรธเลย
                เพราะไม่ได้เรียนรู้ “กาย(ที่ชื่อว่า) ภายนอก กระทั่งถึงกาย (ที่ชื่อว่า) ภายใน” และ “สัญญา” ที่กำหนดหมายรู้ รูปกายและนามกาย ทั้งที่เป็นองค์ประชุม อันมีสัมผัส พร้อมด้วย วิญญาณ ๖ อายตนะ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ อย่างครบถ้วน ตามคำสอน อันเป็นพระวัจจนะ ของพระพุทธเจ้า (พตปฎ. เล่ม ๑๖ ข้อ ๑๐-๑๕)    
                จึงไม่สามารถสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วย “กาย” สำเร็จอิริยาบถอยู่ ย่อมไม่“เห็น” (ปัสสโต) ด้วยปัญญา อันชอบยิ่ง (สัมมัปปัญญา) จึงไม่สามารถ“เห็น” (ปัสสโต) แจ้ง(สัจฉิ) นิโรธหรือวิมุติ ซึ่งเป็นขั้น“สิ้นอาสวะ” ได้ (พตปฎ. เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๔๙ และ ๑๕๑) ไม่มี จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง

        เคยมีฝรั่งมาหาพ่อครู พูดถึงเซ็นบรรลุแล้ว แต่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าอยู่ พ่อครูก็เลยบอก ให้เขาไปเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ก่อน เขาก็บอกว่า ตัวตนไม่มี จะเอาที่ไหนไปปฏิบัติ สัพเพ ธัมมา อนัตตา อย่างนี้เป็น อัตตาวทุปาทาน ก็น่าสงสาร อย่างพวกเซ็นนี่

                เพราะไม่มี “ปัญญา” หรือแม้แค่ไม่มี “สัญญา” (ถึงจะมีก็ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูก เช่นตัวเราเอง เป็นคน เป็นสัตว์นรก ก็กำหนดผิด ว่าตนเป็นเทวดา เป็นต้น) ที่จะกำหนดหมายรู้ ความเป็น “สัตตาวาส ๙ หรือวิญญาณฐิติ ๗” หรือแม้จะ “กำหนดหมายรู้” ได้ ก็เป็น “สัญญาวิปลาส” แน่นอน จึงหลงผิด “ อสัญญีสัตว์ “ ว่าเป็น “สัญญาเวทยิตนิโรธ”

                ดังนั้น “นิโรธ” ที่ได้ก็ยังมี “กาย” ที่มืดดำ(กิณหะ) ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ด้วยปัญญา ตามความเป็นจริง เพราะไป“ดับสัญญา” ให้ตนกลายเป็น“อสัญญีสัตว์” จึงไม่รู้แจ้งว่า อะไรเป็น “ผล” ได้ “ความว่าง” แบบไหนกันแน่ จริงอยู่ในขณะนั้น อาจจะ“ว่างจากกิเลส ปรุงแต่งอยู่ ณ บัดเดี๋ยวนั้น (สัมปติ)” เพราะได้ “ถึงพร้อม, กลายเป็น, สำเร็จ” (สัมปัชชติ) ความมืดดำ (กิณหะ)นั้น หรือบางทิฏฐิยึด “ความสว่างใส อยู่ในภวังค์” (อาภัสสรา) เป็นวิมุติหรือนิโรธ ก็มี จึงยังมี “การเกี่ยวเนื่องกัน (สัมพันธะ), การผูกพัน (สัมพันธะ)”

                ซึ่งเป็น “การสัมผัส, การถูกต้อง” (สัมผัสสะ, สัมผุสติ, สัมผุสนา) ภาวะนั้นๆ อยู่ คือ สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับ “ความมืดดำ” (กิณหะ) หรือ “ความสว่างใส (ที่อยู่ในภวังค์)” (อาภัสสรา) ยังไม่เข้าใจความเป็น “กาย” ที่ชื่อว่า “เทพสุภกิณหะ” ยังไม่เข้าใจ ความเป็น “กาย” ที่ชื่อว่า “เทพอาภัสสรา”

        เพราะไม่ได้“สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา (อัฏฐ วิโมกฺเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จัสส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ)

                จึงไม่เป็นการสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับ “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ที่เป็น “ความดับ” (นิโรธ) ชนิดที่มี “ความว่าง” (สุญญตา) อันเป็น “ปรมัตถธรรม” ของโลกุตรภูมิ ขั้นที่ ๙ อย่างแท้จริง...

จบ          

             

 
๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถานราชธานีอโศก