page: 5/12

สารบัญ

ตักบาตร, อธิษฐาน, ชาติหน้า, ชู้รัก, ทาน [1] |

ผู้บรรลุอรหันต์คนแรก [2] |

คู่รัก, รักแล้วหย่า, ทำความดี, เกิดไม่ทุกข์, เพศหญิงชาย [3] |

สมาธิ, ความกังวล [4] |

ลูกสะใภ้กับแม่สามี, ถูกด่า [5] |

กรวดน้ำ, สวดมนต์อธิษฐาน [6] |

กลัวความตาย [7] |

หญิงจะบวชยังไง, ศาลพระภูมิ, พรหมลิขิต, สวรรค์ นรก ผี [8] |

ตกนรก [9] |

ทำใจให้สงบ, สนใจศาสนา [10]

มรรคผล [11]

ไม่เกิดอีก, บวชชี, วิธีหลุดพ้น [12]

 ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์    

ถาม[5] คำถามจาก: คุณแฟนดาราภาพ คนหนึ่ง ถนนเจริญผลตัดใหม่ พระนคร

๑. การที่ลูกสะใภ้ด่าแม่สามีบาปไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือการกระทำ เช่น
ด่ากระทบกระแทกต่าง ๆ นานา ?

การกระทำของคน มีอยู่ ๓ ประการ คือ ๑.คิด ๒.พูด ๓.ลงมือทำ การกระทำทั้ง ๓ นี้เรียกว่า “กรรม” ซึ่งคุณก็คงจะเคยได้ยินอยู่เสมอคำคำนี้

แปลตรง ๆ ตัว “กรรม” ก็แปลว่า “กระทำ” ดังนั้น เข้าใจคำว่า “กรรม” ให้ดี ให้ถูก อย่าไปเข้าใจผิด มีคนอยู่มากที่พอกล่าวคำว่า “กรรม” แล้วก็คิดไปแต่ว่า “เป็นเวรแต่ปางก่อน” ซึ่งไปหมายถึงสิ่งที่ได้สะสมได้สร้างมาแล้ว และมักจะเข้าใจไปในทางให้ผลไม่ค่อยดีเสียเลย

“กรรม” หมายความว่า “กระทำ” ตรงตัวทีเดียว ยังไม่ได้ทำอะไรเลยก็เรียกว่ายังไม่มี “การกระทำ” เกิดขึ้น คือยังไม่มี “กรรม” เกิดขึ้น ถ้า “ได้กระทำการพูด” ออกมาคำหนึ่งก็ดี ก็เรียกว่า “กรรม” ที่เป็น “วจีกรรม” คำหนึ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเราเป็นผู้กระทำ คำพูดคำนั้นก็เป็น “อดีตกรรม” อันได้เกิดแล้ว

หรือถ้า “ได้คิดว่าอยากได้เงินสักสองแสนบาท” ก็เรียกว่า “กรรม” ที่เป็น “มโนกรรม” เรื่องอยากได้เงินสักสองแสนบาทได้เกิดขึ้นแล้ว เป็น “กรรม” แล้ว “คือได้กระทำการคิดแล้ว และสิ่งที่ได้คิด” แล้วนั้น ก็จะกลายเป็น “กรรมเก่า” หรือ “อดีตกรรม” ไป

หรือถ้า “กำลังลงมือเขียนหนังสืออยู่” ก็เรียกว่า “กรรม” ที่เป็น “กายกรรม” ในการเขียนหนังสือได้กำลังเกิดอยู่ หนังสือตัวที่เขียนเสร็จแล้วก็เป็น “อดีตกรรม” ไป หนังสือตัวที่กำลังเขียนอยู่ก็เป็น “ปัจจุบันกรรม” ดังนั้นต้องเข้าใจคำว่า “กรรม” ให้ถูก ให้ตรง ให้ดีด้วย อย่าเข้าใจผิด

และโดยธรรมดาคนที่ยังมี “เจตนา” อยู่ จะทำ “กรรม” ทั้ง ๓ นี้ คือ คิด พูด ลงมือ เมื่อใด ก็จะมีผลออกมาเป็น ๓ อย่าง คือไม่ดี ก็ชั่ว หรือไม่รู้ว่าดีว่าชั่ว ดังนั้นคุณจะทำอะไรออกไป อย่าทำแต่ตามอารมณ์ ต้องใช้สติมีวิจัยตรองเสียก่อนจึงทำ เพราะถ้าคุณทำลงไปแล้วมันไม่ดี มันก็ชั่วเท่านั้น พออธิบายมาถึงตรงนี้ คุณลองคิดด้วยปัญญาของคุณเองซิว่า ลูกสะใภ้ “ด่า” ออกมานั้น ลูกสะใภ้ได้ “พูด” ออกมาใช่ไหม? และธรรมดา คนเรา “พูดอย่างด่า” ด้วยโกรธ ด้วยโลภ หรือ “พูดอย่างสุภาพ” ที่เราเห็นว่าดีกว่า ได้ตั้งสติไตร่ตรองจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าทำส่งเดชไปอย่างไม่รู้ในกรรม ถ้าทำดีผลก็เป็นบุญ ถ้าทำชั่ว ผลก็เป็นบาป คุณคิดดูแล้วเห็นไหมว่า ลูกสะใภ้ผู้ “ด่า” แม่สามีนั้น ได้”บุญ” หรือได้ “บาป”

คนเรานั้น แม้แต่ “คิด” ก็เป็นการกระทำ ดังนั้น เพียงแต่”คิด” ก็ต้องระวัง พยายามคิดแต่ในทางที่ดี อย่าคิดในทางชั่วเป็นอันขาด เพราะแม้แต่ “คิด” ก็ให้ผลเป็นบุญหรือบาปทันทีที่ทำที่คิดจริง แม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่ตัวเองก็ได้ “คิด” แล้วจริงๆ ได้เกิด “มโนกรรม” แล้วจริงๆ ผลนั้นก็ย่อมเกิดจริงๆ จะเลี่ยงจะหลีกยังไง มันก็ไม่ได้

ถ้าเราโกรธใครแล้วก็เฝ้านั่งคิดด่าเขาในใจอยู่นั่นแล้ว เราก็ได้บาปอยู่นั่นแล้วเช่นกัน คิดด่าเขาหยาบเท่าใดหรือยิ่งโกรธแรงขึ้นเท่าใดก็ยิ่งได้บาปมากเท่านั้น

จะเข้าใจว่า เราด่าเขาในใจเขาไม่ได้ยิน ไม่มีใครรู้ แล้วไม่บาปนั้น เป็นไปไม่ได้ ลงเกิดมี “กรรม” คือมี “การกระทำ” ขึ้น ก็ต้องมี “ผลกรรม” เกิดขึ้นทันที แม้แต่ “มโนกรรม” คือ “คิด” หรือ “รู้”

พระพุทธองค์ ไม่เคยสอนว่า “กรรม” มีเพียง “วจีกรรม” กับ “กายกรรม” ท่านสอนว่ามี ๓ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรประมาทเป็นอันขาด แม้แต่ “คิด” หรือ “รู้” และก็การ “คิด” การ “รู้” นี่แหละ เป็นประตูของ “กรรม” ทั้งหลาย เราจะพูดหรือจะลงมือทำอะไร ก็ต้อง “คิด” ก่อนต้อง “รู้” ก่อน ให้ดีทั้งสิ้น ถ้าไม่รู้ไม่คิดให้ดีก่อนจะทำ “กรรม” อันเป็น “วจีกรรม” กับ “กายกรรม” จึงมักจะเป็นบาป เพราะจะเป็นกรรมที่ประกอบไปด้วยโลภหรือโกรธอยู่เกือบทั้งสิ้น

ดังนั้น “กรรม” ตัวรู้ตัวคิดวิจัยไตร่ตรองจึงสำคัญควรระมัดระวังที่สุด สำคัญที่สุดจึงคือ “มโนกรรม” คือ “ความคิด ความรู้” เพราะเหตุคนไม่ระวังความคิดไม่เรียนรู้กิริยาของจิต และเข้าใจว่า “คิด” ไม่มี “ผลกรรม” คนจึงได้กระทำชั่ว กระทำบาปกันอยู่ไม่ได้ว่างเว้น จึงต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ไม่ได้หยุด เพราะทำบาปโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

ถ้าใครอยากเป็นคนดี ก็ให้ระวัง “กรรม” อันเป็นประตูของ “กรรม” อื่นๆ นี้ให้ดี คือ “ความคิด” หรือ “การรู้ให้ดีจริงดีที่สุด” นี่เอง ถ้าใครคิดดีได้ตลอดเวลา แล้วฝึกฝนอบรมปรับกรรม แก้กรรมของตนๆ ให้ได้ รับรองว่า จะไม่มีการทำชั่วเลยเป็นอันขาด เพราะ “วจีกรรม” และ “กายกรรม” เกิดได้จาก “มโนกรรม” เป็นตัวนำตัวสร้าง เป็นตัวเบิกทางก่อน

๒. การที่เราถูกด่าอย่างหยาบๆ คายๆ ทั้งที่เรา ไม่ได้ตอบว่าอะไร แต่หนูยอมรับว่าโกรธค่ะ ที่คุณว่า คนด่า เราควรเฉยเสียนะ เราไม่ได้เป็นพระอิฐพระปูนนี่คะ จะได้ไม่มีความรู้สึกโกรธ หนูจะเป็นคนต่ำอย่างเขาหรือเปล่าคะ ?

ความจริง คือ ความจริง คุณต้องค้นหาความจริงในทุกสิ่งให้ได้ คุณถูก “ด่า” หยาบๆ คายๆ คุณเป็นคน “ด่า” หรือเปล่า? ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนกระทำการ “ด่า” นั้น คุณก็ไม่ได้ทำ “ชั่ว” นั้น คุณจะไปโกรธทำไม ในเมื่อคุณไม่ได้ทำชั่ว หรือทำบาป คนที่ด่าด้วยความโกรธด้วยโลภนั้นสิ น่าจะเสียใจ น่าจะโกรธตัวเองที่ปล่อยให้ตัวแสดงอาการชั่ว อาการต่ำนั้นออกมา ยิ่ง “ด่า” ได้หยาบคายด้วยโกรธด้วยโลภมากยิ่งเท่าใด คนด่าคนนั้นยิ่งชั่วมาก ยิ่งต่ำมาก เพราะเขาเป็นคนกระทำความชั่วนั้น ความต่ำนั้น อันคือ การกระทำการด่านั้นออกมา อาการ “ด่า” ด้วยโกรธ ด้วยโลภ หรือแม้ด้วยโมหะ ไม่ใช่การกระทำที่ด ีที่ใครยกย่องสรรเสริญ

ดังนั้น มันก็ต้องเป็นของชั่ว เป็นสิ่งต่ำ เป็นสิ่งเลว ผลที่ทำการด่าแบบดังกล่าวนั้นก็คือ บาป นั่นคือเขาทำบาป เราจะไปโกรธเขาทำไม เราควรสงสารเขา ที่เขาช่างโง่ ไม่รู้สึกตัวทำความชั่วออกมา

และโดยความจริงอีก เมื่อคุณได้รับคำด่า คุณเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา คุณก็บาปด้วย เพราะอาการโกรธนั้น ไม่ใช่อาการดีใช่ไหมล่ะ? เมื่ออาการโกรธไม่ใช่อาการดี ก็ต้องเป็นอาการชั่ว เมื่อเราได้ปฏิบัติอาการชั่ว ผลก็คือบาป นั่นคือ เราก็ทำบาปเช่นกันเมื่อเราโกรธ จึงไม่ควรจะโกรธเลยไม่ว่ากรณีใดๆ

พระพุทธองค์ ตรัสสอนไว้ดังนี้

“เมื่อบุคคลอื่นใด จะกล่าวในเวลาอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (พระพุทธองค์ตรัสสอนในหมู่ภิกษุ คำตรัสนี้จึงมีคำว่าภิกษุ) คำกล่าวเหล่านี้จงคิดตรองและเพียรทำให้ได้ดังนี้ คือ จิตของเราจะไม่แปรปรวน เราจะไม่เปล่งวาจาลามก เราจะช่วยเหลือเขาด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจะมีจิตเมตตา ไม่มีความโกรธในใจ เราจะแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลผู้นั้น และจะแผ่เมตตาจิตอันมากมายใหญ่ยิ่งให้จนประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ”

เราไม่ใช่พระผู้ผ่านพิธีบวชก็จริง แต่เราก็คือ มนุษย์ พระก็คือมนุษย์ หรือคือคนผู้ประเสริฐจริงทุกคน เราจะปฏิบัติดี เช่นที่พระปฏิบัติเป็นคนผู้ประเสริฐจริง จะไม่ดียิ่งแก่เราหรือ คำสอนของพระพุทธองค์ไม่ใช่คำสอนให้พระปฏิบัติเท่านั้น ท่านสอนไว้แก่คนที่รักดี อยากเป็นคนดี ให้ปฏิบัติเอา ใครปฏิบัติดี คนนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวช

ยิ่งถ้าเราฆราวาสปฏิบัติได้ ก็ยิ่งเก่งกว่าพระผู้ปฏิบัติไม่ได้เสียอีก หรือได้ชื่อว่า ผู้ประเสริฐ ชื่อว่า “พระ” ยิ่งกว่านักบวชที่ปฏิบัติไม่ได้จริงตามสัจธรรมทีเดียว

๓. เขาพยายามระรานเรา ควรจะทำอย่างไร นอกจากเฉยแล้ว ?

ก็ทำให้ได้ ดังพระพุทธดำรัสที่ข้าพเจ้านำมาอ้างให้ฟังนั้นแหละเป็นดีที่สุด

๔. เมื่อเราถูกผู้ใหญ่ดุเรา เรารู้สึกโกรธในใจ เราบาปไหมคะ ?

ตอบแล้วในข้อ ๒ พยายามอ่านดีๆ ช้าๆ ทำความเข้าใจให้ได้ ถ้ายังไม่เข้าใจกลับไปอ่านข้อ ๒ ใหม่


  ชีวิตนี้มีปัญหา
 
page: 5/12
   Asoke Network Thailand

อ่านต่อ หน้า 6