คาถาธรรม ๗

รู้เท่าทันโลก

ชีวิตมนุษย์ ถ้าไม่มีอุปสรรค ผู้นั้นย่อมไม่ฉลาด ย่อมไม่แข็งแกร่ง ถ้าผู้ใดชีวิตมีอุปสรรค มีสิ่งที่จะต้องทำให้เราต่อสู้ ด้วยความพยายาม ผู้นั้นจึงจะมีความฉลาด มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถ

เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความฉลาด ไม่มีความแข็งแรง ไม่มีความสามารถอันใดเลย ก็เท่ากับเกิดมาเสียเปล่า

ผู้ปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จะปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะมาหลบไปหยุด ไม่มีอะไรจะกระทบกระเทือน ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราจะต้องเกิดปัญหา และเกิดความแข็งแกร่ง เกิดความแข็งแรงของจิตใจ พร้อมกันกับมีความสามารถในการที่จะประหารกิเลส สามารถที่จะประสานชีวิต ให้อยู่กับมนุษย์ที่มีกิเลส ซึ่งมีอยู่ทั่วไปได้แล้วละก็ ผู้นั้นก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่สามารถจะปราบกิเลสของตนๆ ให้หาย ให้สูญสิ้นไปจากตนได้ เพราะฉะนั้น การที่มีอุปสรรค แม้จะเป็นอุปสรรคของธรรมชาติ หรืออุปสรรคของบุคคล ที่ก่อเกิดกระทำขึ้นมาให้แก่ตน แก่ตนนั้น ย่อมเป็นแบบฝึกหัดที่เราไม่ได้จ้าง เป็นบทที่จะพิสูจน์ ให้เราได้กระทำตน เพื่อความแข็งแรง เพื่อความมีปัญญา เพื่อการมีความสามารถให้แก่ตน

ถ้าผู้ใดเข้าใจไม่ดี ไม่มีสัมมาทิฏฐิ เห็นอุปสรรค แม้จะเป็นธรรมชาติก็ตาม หรือยิ่งจะเป็นมนุษย์ ที่สามารถสร้างอุปสรรค อันจะก่อยั่วยวนให้กิเลสเราเกิดได้ เราไม่รู้เท่ารู้ทัน หลีกเร้นหลบเลี่ยง และคิดว่า สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นคุณ ไม่เป็นประโยชน์ ผู้นั้นย่อมพลาดโอกาส ย่อมเดินช้า หรือไปไม่ถึงที่สุดได้

แต่ถ้าผู้ใดมีสัมมาทิฏฐิ เข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้ อันจะต้องมีแก่มนุษย์แน่นอน ทั้งธรรมชาติ ทั้งก่อเกิดจากมนุษย์ ที่จะเป็นแบบฝึกหัดให้แก่เรา ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิดีจริงแล้ว ผู้นั้นก็ตั้งใจแบ่งรับ ในส่วนที่เขาสามารถสู้ได้ ไปตามอินทรีย์พละ ซึ่งการแบ่งรับนั้น เขาถือว่าเป็นศีล เป็นหลักประพฤติ ตามที่เราได้ตั้ง ตามอินทรีย์พละของตนๆ เขาก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ได้อย่างงาม อย่างดี

ทุกคนตั้งใจให้ดี มีสติสัมปชัญญะ ปัญญา และกระทำตนอย่าเป็นคนขี้เกียจ อ่อนแอ ท้อถอย ต้องเป็นคนขยันแข็งแรง กล้าต่อสู้ต่ออุปสรรคดังกล่าวแล้ว เราจึงจะเป็นผู้ที่สามารถเดินทางไปได้ด้วยดี สามารถถึงที่สุดได้อย่างเร็ว

๒ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

วุฒิ ๔

พระพุทธเจ้า สอนเราไว้ว่า
คบผู้ที่เป็นสัตบุรุษ ๑
หมั่นฟังธรรม คำสั่งสอน ๑
ตั้งใจพิจารณาให้แยบคาย กระทำให้ถึงใจอีก ๑
และ ตั้งใจปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม อีก ๑
ธรรมะ ๔ อย่างนี้ เรียกว่า วุฒิ

วุฒิ หมายความว่า เจริญยิ่งอยู่ ยิ่งอยู่ ผู้ที่โชคดี มีสัตบุรุษให้คบให้คุ้น ให้สัมพันธ์อยู่ โชคดีที่ได้ฟังธรรม และตนเองก็ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจที่จะฟังธรรม พร้อมกันนั้นก็ตั้งใจที่จะพิจารณาแยบคายถ่องแท้ กระทำให้ละเอียดถึงจิตถึงใจ และสุดท้าย ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม ตามฐานะของตนๆ ให้มีบทปฏิบัติ ที่ทำขณะไม่ให้ล่วงไปได้มาก พยายามที่จะตั้งอกตั้งใจ มีสติ มีธัมมวิจัย มีความพากเพียร สอดส่องดูตน มีสติ ควบคุมตนเสมอๆ มีธัมมานุธัมมปฏิปัตติ มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่จริง มรรคย่อมได้ ผลย่อมได้ ความเป็นไปย่อมเจริญ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ตรัสไว้ จริงแล้วดีแล้ว แท้แน่นอน

แต่ผู้ที่มีสัตบุรุษให้คบให้คุ้น ทว่าตนเองกลับหมางเมินเหินห่าง ไม่เหลียวแล ไม่เอาใจใส่ มีธรรมะให้ฟัง แต่ตนเองก็เมินเฉย ไม่ใส่ใจ แม้แต่แค่ฟังธรรม เป็นคนหยาบ ไม่ทำความแยบคาย ไม่พยายามไตร่ตรองตริตรอง ปล่อยปละละเลยไปตามอารมณ์ที่มีกิเลสเข้าครอบงำอยู่เสมอ และไม่ได้ปฏิบัติเอาจริงเอาจังอะไรเลย ตรงกันข้ามกับ วุฒิ ๔

แน่นอนที่สุด บุคคลนั้นย่อมเหลว ปราศจากผล แม้จะว่าให้ทำตนเป็นผู้ปฏิบัติธรรม แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรแน่นอน เช่นเดียวกัน

๘ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

ผู้เดินทาง

ผู้ที่มีทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง แต่เป็นผู้ที่ไม่พากเพียร เป็นผู้ที่ไม่พยายามประกอบตนอย่างมีโพชฌงค์ คือ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม รู้จักตัวกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม และผัสสะทั้ง ๖ ที่เราจะต้องระมัดระวัง มีวิจัยธรรม แล้วก็พยายามปรับตนสู่กุศลเสมอ แม้จะมีทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องในธรรมะ ตามทางของมรรคองค์ ๘ หรือของพระพุทธองค์อย่างไร แต่ไม่มีโพชฌงค์ ๗ เกิด ไม่ได้วิริยะพากเพียร เพื่อกระทำให้แก่ตนดังกล่าวแล้ว ก็จะไม่ได้รับผลอะไรเลย และเช่นเดียวกัน

แม้ว่าผู้ใดจะมีความขยันหมั่นเพียร จะมีสติ มีธัมมวิจัย มีการปฏิบัติ เดินทางประหนึ่งโพชฌงค์ กระทำอยู่เท่าใดๆก็ตาม พากเพียรอุตสาหะวิริยะยิ่งก็ตาม แต่ถ้าเผื่อว่าทิฏฐินั้นผิด เข้าใจไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัตินั้นก็ไม่ได้ผล คือไร้ผลที่จะเดินทางเข้าไปสู่นิพพาน ตรงตามที่พระพุทธองค์พาเป็น เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญ ๒ สิ่ง ที่เราจะต้องมีทิฏฐิให้ถูกต้องแน่นอน กับเราจะต้องมีความเพียร ในการที่จะเดินโพชฌงค์ หรือพยายามที่จะต้องมีอุตสาหะวิริยะ ปฏิบัติตนให้ได้เสมอๆ ในชีวิตประจำวัน

สองจุดนี้ เป็นความสำคัญที่เราจะต้องตรวจตรา และรู้ตัวว่า เรายังมีครบบริบูรณ์อยู่หรือไม่ ถ้าหากขาดร่วง หรือตกหล่นไป ไม่สิ่งใดก็สิ่งหนึ่งก็ตาม เราก็เป็นผู้ที่พลาด เป็นผู้ที่ไร้ประโยชน์ในทางธรรม ต้องตรวจจริงๆ พยายามกระทำตนให้เป็นผู้ที่อย่าตกหล่น อย่าทำขณะให้ร่วง เพราะเรามีสองสภาพนี้ให้ได้ แล้วเราจะเป็นผู้เจริญ เป็นผู้เดินทางไปตามที่เรามั่นหมาย

เพื่อไปสู่ความประเสริฐของความเป็นมนุษย์ หรือ ไปสู่ที่สุดแห่งนิพพาน

๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

นิ่ง

เรามาปฏิบัติธรรม ก็เพื่อว่าจะเป็นผู้ที่มีความนิ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า หยุดอยู่เฉยๆ

คำว่านิ่ง หมายความว่า เราไม่หวั่นไหว เราไม่แปรปรวน เราไม่ไป เราไม่มา เราไม่เข้า เราไม่ออก เราไม่ขึ้น เราไม่ลง เราไม่สงสัยที่จะวกวนที่จะวกเวียน ที่จะกลับไปกลับมา ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้สึก มีแต่ความแน่มั่น เรียกว่า นิ่ง มีแต่ความไม่สะดุ้งสะเทือน เรียกว่านิ่ง มีแต่ความเป็นหนึ่ง เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่มีเป็นอื่นอีก เรียกว่า นิ่ง

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เรายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ทำให้เข้าใจ เข้าใจด้วยความรู้ เป็นเพียงรู้ แต่ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นให้ถึง

เมื่อเราปฏิบัติจนเป็นจนถึง จนสัมผัสจริง รู้ยิ่งเห็นจริง เข้าเป็นจริงในสิ่งนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของการละล้างกิเลส ออกจากจิตจริง แล้วได้อารมณ์ของนิพพาน สภาพของวิมุติที่เป็นสภาพรู้ด้วยตน เป็นปัจจัตตัง เมื่อแน่นิ่ง ว่ากิเลสเป็นเช่นนั้น การเอากิเลสออกได้ ก็รู้จริง ออกหมดจนเป็นวิมุติ จนเข้าสภาพนิพพานดังกล่าวแล้ว เราจะซับซาบเองว่า ความสุดเป็นหนึ่ง นิ่งแน่นอน ไม่วนเวียน มั่นคงที่สุด เป็นเช่นนั้นๆ ด้วยเหตุปัจจัย ที่เป็นกิเลสอย่างใดๆ

เมื่อเราจับแม่น จับมั่น และตามปฏิบัติ จนรู้แจ้งเห็นจริง ตรัสรู้แต่เฉพาะตน แม้แต่ละเรื่องแต่ละเกร็ด เราก็สามารถกระทำได้ ผู้นั้นจะรู้เองว่า ความแน่นิ่ง ความเป็นหนึ่ง ไม่เป็นอื่นอีก หมดวัฏสงสาร ไม่เวียนวน นั้นมีความหมายเช่นใด

แล้วผู้นั้น ก็ทำในกรณีอื่น ในกิเลสอื่น ในประเด็นอื่น จนเรามีสภาพมากพอ เราก็จะมีกำลัง และทำได้รวดเร็ว เสร็จแล้วเราก็จะถึงที่สุดได้ เป็นแน่นอน

๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

ความหมาย ๒ นัย ของความเพียร

ผู้จะเจริญได้ จะต้อง เพียรให้หนัก พักให้พอ

คำว่า เพียรนั้น มีความหมาย ๒ นัย ผู้เพียรเพื่อการงานทั่วไปนั้น ๑ และ ผู้เพียรในการที่จะรู้กิเลสอกุศลของตนๆ และเพียรละกิเลสอกุศลของตน อีก ๑

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราสอนไว้ว่า ให้เป็นผู้สร้างที่พึ่งในทางธรรมให้แก่ตน โดยเป็นคนเพียร ทั้ง ๒ อย่างนี้

การเพียร ในการงานทั่วไปนั้น เราย่อมเมื่อยย่อมเหนื่อย เมื่อเราได้กระทำงาน เราจึงต้องรู้การพักผ่อน ให้สมดุล ให้เพียงพอ แต่ก็ควรเพียรให้จริงจัง หนักแน่น

ส่วนการเพียรในการละกิเลสนั้น ไม่ต้องพัก ทำขณะอย่าให้ล่วง จะต้องมีขณะทุกขณะ แม้แต่นอน เราก็จะต้องรู้ตน เพียรทั้งนอนหลับ ทั้งตื่น ตลอดระยะเวลา เราจะต้องเป็นผู้เพียรอยู่ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องพัก เพื่อที่จะรู้ตัวทั่วพร้อม

มีธัมมวิจัย มีวิริยะ ทำความเป็นจริงให้แก่ตนๆ โดยละอกุศลกิเลสทุจริตทั้งปวง เพราะฉะนั้น คำว่า เพียรให้หนัก พักให้พอ จึงต้องรู้ให้ละเอียดลออ ดังที่กล่าวนี้

เมื่อทำได้ถูก ทำได้ตรง ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้นั้นหวังความเจริญ แม้ที่สุด ถึงนิพพาน ได้แล

๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

ธรรมชาติของวัฏฏะ

ธรรมดาธรรมชาติของวัฏฏะ ย่อมมีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ มีดับไป หมุนวนเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนั้นๆ ถ้าเราไม่รู้เหตุแห่งความเกิด และเราไม่ดับเหตุแห่งความเกิดจนสิ้นสนิทได้ ความเป็นวัฏจักร ที่เป็นธรรมดาธรรมชาติ ย่อมเกิดแล้วเกิดอยู่ เมื่อเรามาศึกษาถึงเหตุเกิด และเราก็ได้ศึกษาวิธีที่จะดับเหตุเกิด จนเราได้ดับจริงๆ ฝึกฝนอบรมตน จนได้ดับเหตุนั้นสนิท ถอนสิ้นอาสวะอนุสัย ก็จะไม่เกิดอีก จะดับสนิท รู้ความดับสนิท เห็นความจริง เห็นของจริงแห่งการดับสนิท

ดังนั้น คำว่าการเกิด จึ่งเป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องศึกษา ที่เราจะต้องรู้เหตุแห่งการเกิด ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่จะให้เกิดให้ยิ่ง ทั้งที่จะไม่ให้เกิดอีกเลย ดังนั้น ในความหมาย หรือในความจริงแห่งสิ่งที่จะเกิดอยู่ หรือไม่ให้เกิดอยู่ จนกระทั่ง ไม่มีเกิดขึ้น ไม่มีตั้งอยู่ สูญสนิท ดับสนิทอยู่

สิ่งใดเล่าที่เราจะไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้ตั้งอยู่ สูญสนิท ดับสนิท หมดวัฏฏะ เป็นธรรมชาติไม่มี แต่เป็นธรรมะอันเป็นอมตะ เป็นธรรมะอันวิเศษยิ่ง มันจะอยู่ที่ใด เราจะต้องค้นคว้าให้เจอ และเป็นผู้ที่รู้ความจริงของวัฏฏะ หรือธรรมดาธรรมชาติอันเกิดขึ้น และยิ่งเรายิ่งจะให้เกิดให้ยิ่ง ให้ตั้งอยู่ให้นาน และไม่ให้เสื่อมไม่ให้ดับไปได้ โดยเจตนารมณ์ ก็ย่อมมีสิ่งนั้นอยู่จริง ด้วยความปรารถนาดี เช่น เราต้องการให้ศาสนาเกิดขึ้น ให้ศาสนาตั้งอยู่ ให้ศาสนาไม่เสื่อม ดังนี้เป็นต้น นั่นคือ สิ่งที่เราจะให้เกิด

แต่สิ่งที่เราจะไม่ให้เกิดอย่างยิ่ง ให้ดับสนิท ให้ไม่ให้เกิดอีกเลย ก็คือ กิเลสตัณหาอุปาทาน ซึ่งอาศัยจิตเป็นแดนเกิด เพราะฉะนั้น เราจะต้องพบตัวเกิดอยู่ในจิต เป็นแดนเกิด แต่แท้จริง มันเป็นกิเลสตัณหาอุปาทาน ที่อาศัยภพของจิต เท่านั้น

ผู้ค้นพบ ผู้รู้วิธีดับ ผู้ดับได้ ผู้นั้นแล เป็นผู้พบอมตธรรมแล้ว

๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

อย่าเผลอใจ อย่าได้ห่างใจ

หลักเกณฑ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านให้เราไว้ว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้น

มีฉันทะเป็นมูล มีมนสิการเป็นแดนเกิด มีผัสสะเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง มีสมาธิเป็นประมุข

ในระดับเพียง ๕ ระดับนี้ เราจะศึกษา และเห็นความจริง เข้าใจความจริงได้ โดยเฉพาะ การเกิดในแดนเกิดที่เป็นจิต ไม่ใช่การเกิด ที่เป็นแดนเกิดที่อยู่ที่อื่น

นี่เป็นหลักการที่เป็นหลักยืนยันว่า เราจะต้องรู้ และจะต้องมีความจริง มีการเกิดจริงที่จิต

จิตของคนเรานั้น เหมือนมันไม่เกิด เหมือนมันตาย หรือ เหมือนมันถูกครอบงำ มันไม่เป็นอิสระ มันไม่เป็นจิตที่จริง มันเป็นชีวิตที่ถูกคุมขัง หรือถูกกิเลสครอบงำอยู่ อย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นจิตของจิตเอง เพราะฉะนั้น

จะต้องให้จิตนั้น เกิดเป็นไทแก่ตัว ให้จิตบริสุทธิ์ขึ้นมา ให้จิตเป็นจิตของตัวเองอย่างแท้จริง แล้วเราจะรู้ได้ก็เพราะ มีผัสสะเป็นสมุทัย เป็นเหตุเกิด เราจึงจะต้องเรียนรู้ โดยมีสมุทัยเป็นเหตุเกิด ตั้งแต่ผัสสะนอก จากทวารข้างนอกที่รับรู้ จนกระทั่งถึงใน ที่เป็นผัสสะด้านใน และจะรวมประชุมลงที่เวทนา ความรับรู้สึก ความรับรู้ แล้วก็ไปปรุงสร้าง ประชุมลงที่จิตหรือตัวเจตสิก ที่เรียกว่าเวทนา และเราจะได้ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงในสิ่งเหล่านั้น ให้แข็งแรงมั่นคง จนเป็นสมรรถภาพ ที่นำชีวิต เป็นสมาธิ เป็นหัวหน้า นำชีวิตไปเพื่อความเจริญขึ้น เจริญขึ้น

ถ้าเราไม่ได้เช่นนั้น เราก็จะไม่ได้ความเจริญเหล่านั้น จนกระทั่งต่อทอดสูง กระเถิบระดับขึ้นไปๆ จนกระทั่งถึงนิพพาน ตามที่เราได้ศึกษานั้นเป็นแน่แท้

จึงขออย่าให้พวกเราได้เผลอใจ อย่าได้ห่างใจ เรามีผัสสะ มีมรรคองค์ ๘ เป็นทางเอกวิเศษ ที่ได้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีอิริยาบถ กิริยาความเป็นอยู่ มีความประชุมของภายนอกของภายใน เราจะสามารถศึกษา มีแบบฝึกหัดที่แท้จริง กระทำของจริงให้เป็นกุศล ให้เดินทางไปสู่ความเจริญ ความดีได้

ผู้ทำถูกทำเป็น ได้จริงเป็นจริง จึงจะถึงที่สุดเป็นปริโยสาน คือ นิพพานได้จริง

๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

ลูกศิษย์ของตถาคต

ในความเป็นมนุษย์ ถ้าผู้ใดที่ไม่ทำความดีที่สุด นั่นก็คือความเลวของมนุษย์แล้ว เพราะฉะนั้น ป่วยการกล่าวไปไย ถึงความดีที่ลดหย่อนกว่านั้น เราก็ยังไม่ทำ หรือความดีที่ง่ายกว่าดีที่สุดนั้น ทั้งๆที่เรารู้อยู่ด้วยอีก เราก็ยังไม่ทำ เราจะเลวสักปานใด

มนุษย์ผู้ที่ใฝ่ความเจริญ เพื่อหวังความเจริญ ทำตนให้ประเสริฐขึ้น ในวันในเวลาที่ผ่านไป กว่าจะตาย เราหวังความประเสริฐจริง หวังความเจริญจริง

ถ้าผู้ที่หวังความเจริญจริง หวังความประเสริฐจริง ต้องสำนึก ต้องสังวร มีมรรคองค์ ๘ มีโพชฌงค์ ๗ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม มีธัมมวิจัย รู้ความดีความไม่ดี แล้วก็ประพฤติตนกระทำตน ด้วยกายกรรมวจีกรรมมโนกรรม สู่ดี สู่กุศล สู่สุจริต ให้ได้มากขณะที่สุด ด้วยเจตนารมณ์ ด้วยความสบายใจ ที่เราเจริญได้อยู่ทุกขณะ เพราะเราเดินโพชฌงค์ ๗ อย่างเต็มที่ เท่าที่เราจะทำได้ นั่นแลคือ

ผู้ที่เดินโพชฌงค์ อยู่ในมรรคของพระพุทธเจ้า ตามที่เรามีสัมมาทิฏฐิ เท่าที่เราจะมีปัญญาได้

ผู้นั้นก็จะเจริญและประเสริฐได้ ชื่อว่า ลูกศิษย์ของตถาคตแท้

๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

สัจธรรมปรากฏ

หากสัจธรรมปรากฏ ผู้คนมีดวงตาแห่งธรรม บทบาทของธรรมกระจายไปทั่ว ประดุจดังตะวันทอฟ้า ผู้คนยินดีปลาบปลื้ม รับฤทธิ์แรงแสงแห่งพระธรรมมาให้แก่ตน ผู้คนยินดี มีปีติปราโมทย์ในธรรม ต่างขวนขวายศึกษาอบรมปฏิบัติ โดยเฉพาะ เดินทางด้วยมรรคองค์ ๘ ของพระพุทธองค์ถูกทาง มีชีวิตเดินทางเข้าสู่ความเป็นอิสรภาพ มีความเป็นภราดรภาพ หมู่ชนเดินทางเข้าสู่สันติภาพ และเมื่อปฏิบัติถูกธรรม ของพระพุทธองค์พระบรมศาสดา มนุษย์ทั้งหลายย่อมมีสมรรถภาพ เขาก็หวังว่า สักวันหนึ่ง ก็คงจะถึงซึ่งบูรณภาพ และเมื่อนั้น ในบรรยากาศสังคมนั้น คงจะเด่นตระหง่านไปด้วยทิวธรรม

๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

พุทธศาสตร์

ผู้เรียนพุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งพระบรมศาสดาเจ้า อย่างถูกทาง และปฏิบัติจนมีธรรมะ อันเป็นอริยธรรม จะเป็นผู้ที่รู้จักการเกิด ในสภาพการเกิดนั้น มีทั้งหยาบกลางละเอียด และการเกิดที่เป็นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า ขั้นปรมัตถสัจจะ ก็คือการเกิดที่จิตใจ มีการเกิดของอาการกิเลส การเกิดของอาการจางคลาย และการเกิดของอาการวิมุติ

มนุษย์ปุถุชน ไม่รู้จักการเกิดในสภาพจิตใจ หรือจิตวิญญาณ ไม่รู้อาการ ไม่รู้ความแตกต่าง ไม่รู้นิมิตหมาย นำขึ้นแสดง ชี้แจง กล่าวถึงได้ยาก

แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง จับสภาวธรรมเหล่านั้นได้แม่นชัด และสามารถเห็นจริง ในความเกิด ความตั้งอยู่ และความดับไป โดยความสามารถของผู้ปฏิบัติ จะสามารถทำให้เสื่อมไป จางไป ดับไป จนดับสนิท จึงจะชื่อว่าผู้ดับการเกิด หรือดับชาติ ดับชรา มรณะ เพราะฉะนั้น คำว่า การไม่เกิดอีก จึงเน้นหมายเข้าที่เป้าตรง ปรมัตถสัจจะ คือจิต เจตสิก ดังนี้

เมื่อผู้ที่ได้กระทำอย่างแท้จริง ปฏิบัติอย่างแท้จริง มีผลอย่างแท้จริง ผู้นั้นจึงจะรู้แจ้งเห็นจริง เป็นการตรัสรู้ ว่าเป็นผู้ไม่มีการเกิด ไม่มีการตั้งอยู่ มีแต่ความดับสนิท จึงจะเป็นผู้ที่ไม่พาให้สิ่งอื่น ที่เป็นความเลวร้าย ที่มาจากเหตุ คือกิเลสตัณหาอุปาทาน หรือโลภโกรธหลง ทั้งหยาบกลางละเอียด ที่เป็นตัวการแห่งการนำเกิด ซึ่งความเลวความชั่ว หรือบาปทั้งปวง

แต่ผู้ดับการเกิดแห่งความชั่วทั้งปวง บาปทั้งปวงเหล่านี้ ได้อย่างสิ้นสนิทแล้วนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ยังมีการเกิดแห่งกุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยความขวนขวาย ขยันหมั่นเพียร มีจิตเมตตาอนุเคราะห์โลกอยู่ จึงไม่ได้หมายความว่า การไม่เกิดอีก นั้นคือการตายเน่าของร่างกาย ในความหมายของพุทธศาสนา

การไม่เกิดอีกนั้น จึงคือการไม่เกิดกิเลสตัณหาอุปาทาน อย่างชัดแท้ ถูกตัวถูกสภาวะ และเป็นจริงได้แท้จริง สำหรับแต่ละผู้ที่ปฏิบัติถูกต้อง ยืนยันสัจธรรมอย่างนี้

คนผู้ปฏิบัติ ดับการเกิดแห่งกิเลสตัณหาอุปาทานได้แล้วจริง จึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก แต่ยังเป็นผู้เป็นไปอยู่ ที่ชื่อว่า สุคโต หรือ สัมมัคคโต โดยเฉพาะอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เรียกว่า ตถาคโต คือ ผู้ยังเป็นไปอยู่ ดำเนินไปอยู่ อย่างดีแล้ว

๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

มาวัด อยู่วัด เพื่ออะไร

พุทธสถาน หรือที่เราเรียกกันในไทยว่า วัดนั้น เป็นสถานที่ปฏิบัติประพฤติธรรม ผู้มาอยู่ในวัด ผู้เข้ามาในวัด ก็พยายามจะมาประพฤติ "วัตร"

"วัตร" หรือการประพฤติ ก็คือผู้ที่อยู่ในศีล ในการบำเพ็ญประพฤติ เรียกว่า "วัตร" หรือเรียกว่า "พรต" การประพฤติพรต บำเพ็ญพรต หรือบำเพ็ญวัตร จึงเป็นการกระทำเพื่อสังวรระวัง มีหลักประพฤติ เพื่อขัดเพื่อเกลาตนเอง ให้เป็นคนเสียสละ ให้เป็นคนละกิเลส ให้เป็นคนมีความละอาย ให้เป็นคนรู้จักตัวเอง รู้จักความชั่วความไม่ดีของตนเอง แล้วละ แล้วเลิก พยายามปลดปล่อยให้จริง

ผู้ไม่มีความละอาย เรียกว่า "อลัชชี" ผู้ไม่มีความละอาย ไม่ได้สังวรระวัง ไม่ได้ขัดเกลาตน ย่อมไม่ใช่คนวัด แต่เป็นคนมาทำความเสื่อมให้แก่วัด ดังนั้น ผู้ใดที่มาในวัดหรืออยู่วัด ย่อมจะต้องสำนึก และตรวจตรา ตรวจทานตน ว่าตนเป็นคนสร้างวัด กระทำให้วัดเจริญ หรือตนเป็นคนทำลายวัด และทำให้วัดนั้นเสื่อมไป

ผู้ทำให้วัดเจริญ ย่อมมีบุญของตน และวัด และศาสนา
ส่วนผู้ทำลายวัด หรือทำวัดให้เสื่อม ย่อมมีบาปแก่ตน และทำลายวัด ทำลายศาสนา

๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

ต้นทางของการปฏิบัติธรรม

ผู้ปฏิบัติธรรมที่ฉลาด จะทำจิตใจของตน ให้เบิกบานแจ่มใสเอาไว้ก่อนอื่น พยายามแก้ พยายามปรับ แม้เราจะยังไม่เป็นผู้รู้ เรายังไม่ตื่นเต็ม เพราะมีสติ อันประกอบด้วยปัญญาและวิมุติ ก็ตาม

เมื่อเราได้ทำตนให้เบิกบานแจ่มใส ย่อมชื่อว่า "พุทธะ" ในเชิงหนึ่ง ในความหมายแท้ ผู้ที่ปฏิบัติธรรม เข้าใจจุดว่า เมื่อเราทำตนให้เบิกบานแจ่มใส เราจะเป็นผู้ได้กำไรก่อนอื่น และนั่นคือ การปฏิบัติที่เข้าสู่หลักว่า สุขาปฏิปทา ได้ในแง่หนึ่ง

ดังนั้น หากแม้นผู้ใดจะปฏิบัติธรรม จะได้ผลน้อยสักปานใด ก็ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ได้พ้นทุกข์แล้วในจุดหนึ่ง อันเป็นต้นทางของการปฏิบัติธรรม ทีเดียว

๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๗


 

 

สัมมาทิฏฐิ สูงสุด

พระโยคาวจร เมื่อได้ใส่ใจ ใช้สัมมาวายามะ สัมมาสติ ห้อมล้อมในการปฏิบัติ ตามสัมมาทิฏฐิของตนๆ ที่แน่ชัด ความเจริญย่อมเกิดขึ้น เมื่อความเจริญเกิดขึ้น ผลเกิดขึ้น ความเห็นจริง ก็เป็นผลแห่งยถาภูตญาณทัสสนะ ตามมา เกิดเป็นปัญญา เกิดเป็นปัญญินทรีย์ และเกิดเป็นปัญญาผล ตามไปขึ้นไปเรื่อย ด้วยสัมโพชฌงค์ และเสริมสัมมาทิฏฐิ เจริญยิ่งๆขึ้น ที่สุดองค์แห่งมรรคจะสมบูรณ์ สอดคล้องครบครัน เป็นสุจริตธรรม มีความเป็นสัมมาถ้วนทั่ว

ทั้งสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แข็งแรงตั้งมั่นสมบูรณ์ขึ้น สมบูรณ์ขึ้น เป็นสัมมาสมาธิ ทิฏฐิย่อมเจริญสู่สุดสูง สอดซ้อนขึ้น เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล สอดซ้อนอยู่ด้วยธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิย่อมสูงขึ้นๆ ลึกซึ้งขึ้น

เมื่อครบองค์แห่งมรรค จึงจะเห็นความจริง เป็นสัมมาญาณ เพราะมีสัมมาวิมุติเป็นตัวจริง ที่ให้เรารู้ ให้เราเห็น ตามของจริงที่เป็นจริง ชื่อว่า วิมุติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิสูงสุด จึงคือ ญาณทัสสนวิเศษ ด้วยประการฉะนี้ .

๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๗


สมณะโพธิรักษ์

คาถาธรรม ๘ / คาถาธรรม ๙ / คาถาธรรม ๑๐ .