คาถาธรรม ๑๖

ความเห็นอันพร้อมเพรียงกัน

เมื่อชนมีความเห็นอันพร้อมเพรียงกัน มีความเห็นอันสอดคล้องตรงกัน มีความเห็นเสมอสมานกัน เป็นทิฐิสามัญญตา แม้ว่าจะขัดกันบ้างในรายละเอียด แต่ความเห็นหลักเป้าหมายใหญ่ อุดมการณ์สุดยอดตรงกันแล้วไซร้ ก็ย่อมจะทำให้ชนหมู่นั้นกลุ่มนั้น สามารถจะนำพา การกระทำก็ดี สิ่งที่จะสร้างสรรก็ดี ไปสู่ทิศทางเป้าหมายได้อย่างมีพลัง ยิ่งประพฤติตน สังวรตน ไม่มีมานะอัตตา หรือพยายามลดมานะอัตตา

พยายามเห็นความสำคัญของความสามัคคี ความปรองดอง รวมกันอยู่เป็นเอกภาพได้มากเท่าใด ชนผู้นั้นยิ่งจะมีกำลัง มีสมรรถภาพ สามารถสร้างสรรจรรโลง สิ่งที่มุ่งหมาย อุดมการณ์ที่ปรารถนา ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งๆ กำลังของความเห็นที่รวมกัน ความเข้าใจที่ตรงกัน และการลดมานะกิเลส สองจุดใหญ่ๆนี้ จะทำให้กำลังของหมู่ชน สมรรถภาพ ประสิทธิภาพของหมู่ชน กลุ่มใดก็ตาม เป็นหนึ่ง เป็นเอก เป็นเลิศ ในโลก

๖ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

สุขาปฏิปทา เป็นอย่างไร

ผู้เป็นพระโยคาวจร พึงสังวรตนอยู่ มีสติปัฏฐานสี่ มีสัมมัปปธานสี่ มีอิทธิบาทสี่ พึงทำตนสังวรตน ตามฐานะที่ตนยังจะต้องสังวร มีความเพียรเคร่งครัด ก็จะทำให้ตนเองนั้น ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งตนอยู่ในความลำบากพอสมควร กุศลธรรมจึงจะเจริญยิ่ง

ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักการปฏิบัติธรรม ไม่สังวรตน กระทำตามอำเภอใจ ที่ยังมีกิเลสเป็นพื้นจิต ก็จะทำตนตามสบาย เป็นยถาสุขัง กุศลธรรมก็ย่อมไม่เกิด แต่อกุศลธรรมก็จะเจริญยิ่ง ผู้ยังไม่เข้าใจธรรมะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า ปฏิบัติธรรมนั้น มีหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิบัติให้เป็นกลาง ปฏิบัติให้เข้าสู่จุดเป้าหมายใหญ่ คือมัชฌิมา คิดเอาว่า ไม่โต่งไปในทางทรมานตน แล้วก็เข้าใจผิดว่า การปฏิบัติทรมานตน คือทำให้ตนตั้งตนลำบาก จึงได้ทำตนตามสบาย แล้วก็หลงว่าการตั้งตนอยู่อย่าง ยถาสุขัง คือตามสบายนั้น เป็นการปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา

แท้จริงแล้ว นั่นคือ ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสเข้าครอง ทำตามสบายก็คือทำตามใจของกิเลส สนองกิเลส อยู่อย่างพอสบายๆ ผู้ไม่ได้เรียนรู้ที่แท้จริง จึงหลงเข้าใจความหมายนี้ว่า เป็นการปฏิบัติอย่างมัชฌิมา หรือสุขาปฏิปทา คำว่า สุขาปฏิปทา ไม่ใช่ ยถาสุขัง

ยถาสุขังนั้นเป็นอกุศล ส่วนสุขาปฏิปทานั้นเป็นกุศล ที่มีความรู้อย่างลึกซึ้ง ว่าปฏิบัติตนอย่างเป็นสุขได้นั้น จะต้องจัดตนเอง ปฏิบัติที่มีทั้งสติปัฏฐาน ๔ มีทั้งสัมมัปปธาน ๔ มีทั้งอิทธิบาท ๔ หรือมีโพธิปักขิยธรรมอันพอเหมาะพอดี และต้องสอดคล้องกับคำว่า ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ คือตั้งตนอยู่ในความลำบาก กุศลธรรมจะเจริญยิ่ง ดังนั้น ผู้เข้าใจเพี้ยนเข้าใจเผิน จึงตีความรวมไปว่า ผู้ปฏิบัติด้วยสัมมาอริยมรรคองค์ ๘ คือ ผู้ปฏิบัติอย่าง ยถาสุขัง และหลงว่าเป็นสุขาปฏิปทา เขาจึงเจริญด้วยอกุศล อยู่ตลอดเวลา

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตน อย่างศึกษาถูกต้อง จะเข้าใจถึงคำว่าสัมมาปฏิบัติ หรือมัชฌิมาปฏิปทา นั้นเป็นผล ไม่ใช่เหตุ ต้องปฏิบัติ จัดแจงตนเอง จนลงตัวเป็นกลางได้ คือเกิดอุเบกขาฐาน เป็นสภาพที่จัดให้พอเหมาะพอดี จึงเรียกสัมมาปฏิปทา ไม่เพี้ยน ไม่โต่ง ไม่ผิด ไม่เป็นไปเพราะกิเลส ยังเป็นอำนาจกิเลส ยังเป็นเจ้าเรือน ยังเหลือน้อยเท่าใด ยิ่งมัชฌิมาเท่านั้น กิเลสหมดสุดนั่นเอง จึงจะชื่อว่า มัชฌิมาสมบูรณ์ เรียกว่าเป็นกลางแล้ว ไม่อยู่ใต้อำนาจกิเลสผลักหรือดูด ดังนั้น ผู้เข้าใจโดยเดา โดยคาดคะเนตื้นๆเผินๆ จึงเข้าใจทฤษฎีเอก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิด และปล่อยตัวปล่อยตน ปฏิบัติอย่างมักง่าย เป็นยถาสุขัง กันอยู่อย่างมากกว่ามาก ผลของการปฏิบัติธรรมจึงไม่มี แต่กลับเจริญด้วยอกุศลทั้งปวง ธรรมะจึงเพี้ยน ศาสนาจึงตกต่ำ

ขอให้สาธุชนทั้งหลาย จงศึกษาจงดี พิจารณาจงดี และปฏิบัติอย่างตั้งตน สังวรตน เป็นสัมมาปณิธิ กันทุกๆคนเทอญ

๗ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

ชีวิตก็คือตัวคุณค่า

ชีวิตคือการศึกษา และชีวิตก็คือตัวคุณค่า ดังนั้น ผู้ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นชีวิตที่จะต้องดำเนินไป ด้วยการศึกษาตลอดไป

แต่การศึกษานั้น ในศาสนาพุทธกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้ศึกษา จนกระทั่งละกิเลส ถอนอนุสัยอาสวะสิ้นแล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นผู้จบการศึกษา เรียกว่าอเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษาอีก เพราะมนุษย์ควรรู้ ควรจะได้ประสบสิ่งที่ตนควรได้ควรเป็น สำหรับตนนั้น จะบกพร่องก็เพราะไร้การศึกษา และจะเจริญสุดก็เพราะจบการศึกษาเพียงเท่านี้ เท่านั้น

แม้แต่มนุษย์ ที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างถูกต้อง ตามทฤษฎีทางศาสนาพุทธ ได้กำหนดยืนยันให้มนุษย์แล้ว ก็ยังพยายามที่จะทำตนเป็นผู้มีคุณค่า มีประโยชน์ แต่ความไม่รู้ ความหลงผิด ส่วนมาก จึงทำตนไม่มีประโยชน์ แต่หลงตนว่ามีประโยชน์ มีคุณค่าน้อย หลงตนว่ามีคุณค่ามาก

เพราะอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ไม่เข้าใจความจริง ที่เป็นตัวเหตุปัจจัยใหญ่ ทำให้กระทำกลับกัน หรือผิดไป

ดังนั้น การศึกษาที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ การศึกษาที่มีบทปฏิบัติ มีผลในการปฏิบัติให้เป็นมนุษย์ผู้เจริญ เพราะได้ลดละจางคลาย ในกิเลสตัณหาอุปาทาน หรือลดโลภโกรธหลง ได้อย่างแท้จริง จึงเป็นชีวิตที่มีหลักประกันในคุณค่า ในประโยชน์ของมนุษย์ที่มีชีวิต

ยิ่งลดความโลภความโกรธความหลง ได้มากเท่าใด ตามทฤษฎีของศาสนาพุทธแล้ว คนผู้นั้นยิ่งมีคุณค่า ยิ่งมีประโยชน์ ทั้งต่อตนและต่อสังคมมนุษยชาติ ในโลกได้อย่างแท้จริง มากขึ้นเท่านั้นๆ

คุณค่าประโยชน์นั้น เหลือจะบรรยาย เพราะเป็นคุณค่าที่จะรังสรรค์ ทั้งวัตถุธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ความเป็นมนุษยสัมพันธ์ ความเป็นพี่-น้อง ความเป็นสันติภาพในโลก การศึกษาที่ศึกษาผิด ทำให้โลกฉิบหาย เสื่อม และบรรลัยลงไปทุกวัน ๆ การศึกษาที่ไม่มีหลักทางจริยธรรมของวิญญาณ เป็นการศึกษาที่ทำลาย ดังที่เห็นประจักษ์อยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้น ผู้ใดได้รู้แท้เห็นจริง ว่าเกิดมาเป็นชีวิต จะต้องศึกษาอย่างจริงจัง เมื่อยังไม่จบ ยังไม่เป็นอเสขบุคคล จงอย่าได้ประมาทเลย

เมื่อเราเป็นผู้ที่อยู่ในหลักการ มีสติปัฎฐาน ๔ มีสัมมัปปธาน ๔ มีอิทธิบาท ๔ พากเพียรปฏิบัติอยู่ในหลักโพชฌงค์ ๗ และมรรคองค์ ๘ อย่างแท้จริง สร้างอินทรีย์ ๕ พละ ๕ อยู่เสมอๆ อย่างถูกต้องแล้วไซร้ แม้ชาตินี้จะยังไม่จบการศึกษา ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณค่า มีประโยชน์อยู่ในโลก ชีวิต ไม่ใช่ชีวิตสูญเปล่า เพียงแต่ว่าจะเป็นผู้ที่มีประโยชน์มาก หรือมีประโยชน์น้อย ก็เพราะโลภโกรธหลงน้อยลงๆได้ ก็จะมีประโยชน์มาก ถ้าความโลภโกรธหลงยังมาก ก็จะมีประโยชน์น้อย หรือไม่มีประโยชน์เลย เป็นผู้ผลาญพร่าอยู่ในโลกเท่านั้น จงศึกษาให้ดีๆ เถิด

เมื่อผู้ใดมีทฤษฎีสำหรับตนที่มีชีวิตอยู่ จะได้ศึกษาอย่างถูกต้อง นี้เป็นความสำคัญที่มนุษย์จะต้องรู้อย่างจริงจัง แม้นไม่รู้แล้วยังไปหลงการศึกษาของโลก ผู้นั้นจะมีบาปกับบาปเท่านั้น ที่จะสั่งสมให้แก่ตนอยู่ในโลก น้อยกว่าน้อยนักที่จะมีบุญ แม้จะได้ศึกษาทางโลกสูงเท่าใดก็ตาม ยิ่งสูงยิ่งน่าสลดใจ เพราะยิ่งสูงยิ่งก่อหนี้ ก่อเวรก่อบาป ด้วยความโลภความโกรธ หรือ ความหลงตนหลงตัว มีมานะ มีอำนาจ จึงกลายเป็นผู้ทำลายตน ทำลายสังคมอยู่อย่างน่าสังเวช โลกนี้มีจิตวิญญาณที่มืดมัวกันอยู่มาก ผู้ที่ได้มีทิศทาง ได้มีความเห็นที่ถูกทางถูกต้องแล้ว จงได้เมตตาสงสารเพื่อนมนุษย์ชาวโลกกันให้มาก เราสงสารเขามากเท่าใด เราก็จะมีความอุตสาหะ มีความพากเพียรปฏิบัติประพฤติ ด้วยการเดินโพธิปักขิยธรรมให้จริงจัง มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ หรือสติปัฏฐาน ๔ มีสัมมัปปธาน ๔ มีอิทธิบาท ๔ ให้ละเอียดลออ สังวรตนให้มาก ประหารกิเลสให้ได้สม่ำเสมอ ให้เกิดผลแห่งการปฏิบัติธรรมอยู่ ให้ถี่ให้มากที่สุดเสมอๆ รักษา ทรงไว้ ซึ่งผลของการปฏิบัติ ให้ยั่งยืนถาวร แน่นแฟ้น

เราทำได้สูงสุด เท่าที่จะพากเพียรได้เท่าใดๆ นั่นคือสิ่งสูงสุดของมนุษย์ ที่พึงกระทำอย่างเจตนาและพากเพียร เท่านั้นๆ มนุษย์ทั้งหลายพึงช่วยตน และช่วยมนุษยชาติในโลก ด้วยประการดั่งนี้ เทอญ

๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

ฝึกตนเป็นคนดี

คนดี ได้ฝึกตนเป็นคนดี จะดียิ่ง ก็เพราะเรารู้ว่าเราไม่หลงตน ไม่หลงในดี และไม่ทำกระด้าง ไม่ทำตนเบ่งข่ม ไม่ดูถูกดูแคลนผู้อื่น แต่ยิ่งจะมีความเห็นจริง ว่าผู้ที่ไม่ดีเท่าเรานั้น เป็นผู้ที่น่าสงสาร เป็นผู้ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ เป็นผู้ที่น่าเห็นใจ ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะต้องถูกข่ม ทว่า เราจะต้องมีวิธีการ จะต้องฉลาด รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะข่มความเลว แต่ไม่ใช่ดูถูกคนเลว จะกระหนาบความเลว ไม่ใช่กระหนาบคนเลว จะต้องทำให้ความเลวนั้นเกรงกลัวความดี แต่ไม่ใช่ให้คนดีไปข่มคนเลว จนคนเลวเกลียดชังคนดี หรือคนดีไปข่มคนเลว จนคนเลวต่อสู้กับคนดี ไม่กลัวคนดี

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกปรือ จะต้องหัดกระทำ คนดีจะต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คำว่า "ถ่อมตน" ไม่ใช่คำว่า "โกหก" เราดี เราไปบอกว่าไม่ดี เราดีมาก เราไปบอกว่าเราไม่ดีมาก หรือดีน้อย ซึ่งเป็นคำโกหกนั้น ไม่ใช่คำถ่อมตน ไม่ใช่การถ่อมตน

คนแข็งแรงไปแสดงความอ่อนแอ ก็ไม่ใช่การถ่อมตน แต่เป็นการหลอกลวงหรือโกหก คนทำได้ดี ก็ไม่ทำหย่อนข้อทำความไม่ดี นั่นไม่ใช่การถ่อมตน เป็นการโกหก เป็นการหลอกลวง, การถ่อมตนหรือการอ่อนน้อมนั้น จึงจะต้องศึกษาและจะต้องฝึกฝน ทำให้ถูกตรง ทำให้ดียิ่ง แต่ไม่ดูแข็งกระด้าง ไม่ดูข่มเบ่ง ไม่ดูอวดเด่นอวดดีเกินไป ไม่ดูท่าที ทั้งกายและวาจา ที่มันมีผลกระทบบาดเสียด ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องศึกษา จะต้องฝึกฝนทดลองกระทำ ดูให้พอเหมาะพอดี และจะต้องประมาณ ผู้ที่จะได้รับสัมผัสนั้นๆด้วย ว่าสนิทอย่างไร เลื่อมใสอย่างไรกับเรา แล้วเราจะทำได้มากน้อยแค่ใด เหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็จะต้องศึกษาให้ดียิ่ง และต้องใช้กระทำ ยังมีเหตุผลและข้อมูลอื่นๆ อีก ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น กว่าจะเป็นคนดีที่ดีสมบูรณ์ได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย จงศึกษาให้ตนได้ดี อย่าให้ความดีนั้นฆ่าตน และไร้ประโยชน์ต่อผู้อื่นเลย

๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้ที่มีจิตสงบจากกิเลส

ชุมชนที่มีสามัคคี จะต้องมีสมรรถนะ มีความสามารถ มีความรู้ สามารถสร้างสรร สามารถกระทำอะไรๆ ที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรสร้างสรร ควรจะได้กระทำให้เจริญ อุดมสมบูรณ์อยู่ได้อย่างดี และชุมชนนั้นจะต้องมีมนุษย์ที่สุภาพ รู้จักภาวะอันดี รู้จักพฤติภาพพฤติกรรม รู้จักมารยาทกิริยามนุษย์ รู้จักกายกรรมที่เป็นกุศล วจีกรรมที่เป็นกุศล มโนกรรมที่เป็นกุศล หรือ รู้จักกายกรรมวจีกรรม มโนกรรมที่เป็นสุจริต เป็นผู้ที่มีจิตสงบจากกิเลส เป็นผู้ที่มีจิตรู้แจ้ง-รู้สว่าง ในเรื่องของตน กิเลสของตน และการยังมีชีวิตอยู่ ว่าชีวิตคืออะไร อยู่ไปเพื่อความประเสริฐอย่างไร ที่สุด เป็นชีวิตที่มีจิตอันสะอาดจากกิเลส อย่างแท้จริง

สะอาดชนิดที่แม้จะถูกกวน ถูกคน ถูกกระทุ้งกระแทก ถูกย้อน ถูกมอมเมาอย่างไรๆ จิตนั้นก็ยังสะอาดอยู่ ไม่ว่าโลกียะหรือกิเลสในโลกจะย้อมมอมเมา จะกระทุ้งกระเทือนกระแทก จะพยายามดูดและผลักสุดแรงอย่างไรก็ตาม จิตนั้นก็แข็งแรงมั่นคง สภาพของจิตดังกล่าวนี้ เป็นความสำคัญมาก ที่จะก่อให้เกิดสามัคคี เพราะทั้งแข็งแรง ทั้งมีความรู้อย่างรู้แจ้งสว่าง จิตนั้นนิ่งสนิทอยู่ ก่อให้เกิดความสงบจากตนเอง จึงจะเชื่อมโยงไปถึงผู้อื่น ด้วยการปรับกิริยา พฤติกรรมกายวาจาใจ ให้สุภาพ ให้ดี พร้อมกันนั้น ก็เป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้กระทำกิจการ อันมนุษย์เจริญ พึงกระทำอยู่ได้สามัคคี ที่มีความพร้อมด้วย ๕ ส ดังกล่าวนี้ จึงเป็นสามัคคีอันสมบูรณ์ยิ่ง

๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

ใจอันสะอาดผ่องแผ้ว

ใจก็ดีเป็นของตน กายก็ดีเป็นของตน ผู้ศึกษาดี เข้าใจกาย เข้าใจแม้แต่จิตใจของตน และได้พยายามขจัดสิ่งที่เราเรียกว่าอกุศล ทั้งกายและใจ ออกไปได้อย่างแท้จริง ผู้นั้น ก็จะสามารถมีกายและมีใจอันสะอาดผ่องแผ้ว และเบิกบานแจ่มใส ภาษาพระเรียกว่า พ้นทุกข์ ภาษาคนเรียกว่า เป็นสุข

ผู้ได้จริงเป็นจริง เกิดญาณทัสสนะ ตรัสรู้ เห็นแจ้งความจริงนั้นเองเท่านั้น จึงจะรู้ว่าสุขนั้นเป็นเช่นไร เรียกว่า พ้นทุกข์นั้น เป็นเช่นไรแท้ๆ

๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

ความสมานสามัคคีกลมเกลียว

ครอบครัวแต่ละครอบครัว มิตรสหายแต่ละคู่ หรือมากกว่านั้น คนในสังคมทั้งสังคม พลโลกทั้งโลก ล้วนต้องการความสมานสามัคคีกลมเกลียว ต้องการความเข้ากันได้อย่างอบอุ่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ความต้องการที่ไม่มีวิธีทำ หรือมีวิธีทำที่ไม่เป็นไปได้ ไม่ถูกทางอันแท้จริง ก็ย่อมจะไม่สมประสงค์ เมื่อคนสองคนหรือมากกว่านั้น หรือแต่ละครอบครัว แต่ละสังคม รู้ทิศทาง รู้วิธีการอันเลิศ ที่สามารถจะทำความสามัคคี ทำความเป็นภราดรภาพได้แล้วไซร้ ก็จงได้พยายามพากเพียรกระทำ แต่ละคนแต่ละคน พากเพียรกระทำ เพื่อให้เกิดสามัคคี และความกลมเกลียว ความเป็นภราดรภาพอันอบอุ่นนั้นๆขึ้น ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม แก่โลกเทอญ

๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

 

*เนื่องในวันครบรอบ
การบรรพชาของพ่อท่าน
สมณะโพธิรักษ์ ๑๖ พรรษา*

คาถาธรรม ตั้งแต่วันนั้น จวบจนวันนี้ ข้าพเจ้ายิ่งมีความรู้สึกว่า
ข้าพเจ้าจะต้องยิ่งพลีชีวิต เพื่อ ศ า ส น า ตราบนิรันดร์กาล

๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

 

ผู้ฉลาดตลอดนิรันดร์

นักปฏิบัติธรรม ที่จับสภาพ ปรับตนเองให้ปฏิบัติธรรม อยู่อย่างสุขาปฏิปทา คือปฏิบัติตน ทำตนให้อยู่ได้อย่างพอสบาย เป็นสุข ผู้ที่รู้จุด รู้เคล็ดในการปฏิบัติธรรม ได้ดูตน รู้ตน และก็ทำใจของตน ให้ปฏิบัติธรรมด้วยความเบิกบานแจ่มใส รู้ทีรับ รู้ทีรุก คล่องแคล่ว ด้วยโพชฌงค์

ผู้ที่มีสติรู้ตัว และปรับตนได้ดังนั้น จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องระเหเร่ร่อน ไม่ต้องเดือดร้อน เปลี่ยนที่ เปลี่ยนผู้คน เปลี่ยนเพื่อนฝูง เปลี่ยนครูบาอาจารย์ แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม จะเปลี่ยนที่ก็ได้ จะเปลี่ยนเพื่อนฝูง เปลี่ยนครูบาอาจารย์ก็ได้ ผู้ที่รู้วิธีการ รู้เคล็ดลับดังกล่าวนั้น ชื่อว่า ผู้ฉลาดเป็นเบื้องต้น และเป็นผู้ฉลาดตลอดนิรันดร์ ไปจนถึงที่สุดเอง แล

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

 

ผู้หมดโลภหมดโกรธ
อยู่ท่ามกลางความโลภความโกรธ

นักปฏิบัติธรรม พบอุปสรรคหรือพบสัมผัส ที่ก่อให้เกิดความโกรธ ก่อให้เกิดความโลภ จะเห็นและจะรู้ว่า นั่นคือโจทย์ที่เราจะได้ปฏิบัติอันแท้จริง ส่วนคนในโลกนั้น ถ้าได้รับสัมผัส สิ่งที่ก่อให้เกิดโลภ ก่อให้เกิดโกรธ จะไม่รู้ตัวว่า นั่นคือโจทย์ที่ให้ปฏิบัติธรรม แต่จะกลับเห็นว่า นั่นคือตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่รู้ทุกข์, หรือเป็นสุข แต่ก็ไม่รู้ว่านั่นคือผีร้าย เขาก็จะกระโดดเข้ากระทำการให้ยิ่งโลภ กระทำการให้ยิ่งโกรธ เพิ่มเติมยิ่งขึ้น ลักษณะธรรมดาดังกล่าว สองอย่างนี้ นักปฏิบัติธรรมพึงสังวรและพึงรู้ให้มั่นเถิด ว่าเมื่อเราได้รับโจทย์ หรือได้รับสัมผัส และมีสติรู้ตัวว่า เรากำลังจะถูกล่อให้โกรธ ถูกล่อให้โลภ

ยิ่งมีสติ มีธัมมวิจัย รู้ตัวทั่วพร้อมชัดแท้ และสามารถไม่ให้เกิดโกรธ ไม่ให้เกิดโลภได้แต่ละขณะ แต่ละขณะ สม่ำเสมอ เป็นประจำชีวิต พร้อมกับรู้ตัวว่า โจทย์ที่หนักขึ้น สัมผัสที่ซับซ้อนลึกซึ้ง กระทำให้โกรธอย่างแนบเนียน หรือรุนแรงยิ่งขึ้น แต่เราก็วางใจได้ ไม่ให้เกิดความโกรธ ไม่ให้เกิดความโลภได้อย่างแท้จริง นั่นคือแบบฝึกหัดที่แท้จริง จะมีอยู่ในชีวิตประจำวัน มีอยู่ในโลก อันไม่หายจางไปเลย เราได้ปฏิบัติธรรมที่มีผลจริงหรือไม่จริง ก็อยู่ที่ความจริงของเรา ว่าเราจะรู้เท่าทัน และลดโกรธละโลภได้จริง รู้จักความโกรธความโลภจริง และรู้จักความหมดอย่างลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนบาง สลับซับซ้อนได้จริงหรือไม่

จงพยายามรู้ให้ยิ่งเป็นให้จริง ให้เป็นผู้หมดโลภหมดโกรธ อยู่ท่ามกลางความโลภความโกรธ ของโลกนั้นเทอญ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

 

สามัคคี ในหมู่สังคมมนุษย์

ความเป็นสามัคคี ในหมู่สังคมมนุษย์ทุกหมู่ ก็คงประสงค์และปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าสมาชิกในสังคมนั้นสังคมนั้น แต่ละคนไม่ลดพยาบาท ไม่ลดอาฆาต ไม่ลดจิตถือสา หรือแม้ความชิงชัง ความไม่ชอบใจของตน ของตนเองแล้วละก็ สามัคคีจะเกิดไม่ได้เลย จะทำด้วยวิธีใดๆในโลก ก็ไม่เกิดสามัคคีที่แท้จริงได้

แต่ถ้าสมาชิกของสังคมนั้น ลดพยาบาท ลดอาฆาต ลดความถือสา ลดความไม่ชอบใจหรือความชิงชัง ออกจากจิตอย่างแท้จริงให้ได้ ยิ่งสมาชิกแต่ละคนแต่ละคน รู้จริง เข้าใจจริง และทำการลดโทสมูลจิต ดังกล่าวนั้น ได้ลงอย่างจริงจังแล้วละก็ สามัคคีในสังคมนั้นสังคมนั้น จะต้องเกิดได้อย่างจริงจังที่สุด

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

 

ความสามัคคี

ความสามัคคีนั้น เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ และของสังคมทุกเหล่า แต่ความสามัคคีจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าคนยังมีความโกรธ ความพยาบาท ชิงชัง แม้ความไม่ชอบใจ โดยเฉพาะความโกรธ ความพยาบาทนั้น คนก็เข้าใจกันดีว่า ย่อมจะทำให้เกิดความสามัคคีไม่ได้ แต่ความโลภหรือราคะของมนุษย์ ก็ทำให้เกิดความสามัคคีไม่ได้ อย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน เพราะความโลภ หรือราคะนั้น เป็นตัวความเห็นแก่ตัวโดยตรงโดยแท้ หากเกิดในคน เกิดในหมู่ผู้ที่อยู่รวมกันแล้วละก็ ความเห็นแก่ตัว ย่อมทำการประสาน ทำการเกี่ยวเกาะให้เป็นสัมพันธ์อันดี เป็นสามัคคีสมบูรณ์ไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น มนุษย์ผู้ที่ได้ศึกษาดี เรียนรู้อารมณ์ เรียนรู้กิเลส ละโทสมูลละโลภะ หรือราคมูลให้สิ้นซาก มีแต่ความปรารถนาดี มีแต่ความเสียสละ ละล้างความไม่เห็นแก่ตัวออกสิ้นซากได้ ความสามัคคีจึงจะเกิดในมนุษย์ ในสังคมนั้นๆ

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ .


สมณะโพธิรักษ์

คาถาธรรม ๑๖ /